เสื่อกกบ้านหนองนกชุม ตำบลทุ่งทราย อำเภอทรายทองวัฒนา จังหวัดกำแพงเพชร

จาก KPPStudies
รุ่นแก้ไขเมื่อ 22:15, 12 เมษายน 2564 โดย Admin (คุย | มีส่วนร่วม) (ลักษณะ)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

บทนำ

         เสื่อกก เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีใช้กันอยู่ทั่วไปทั้งในประเทศหรือต่างประเทศ ทั้งนี้เพราะต้นกกเป็นพืชธรรมชาติที่ขึ้นอยู่ทั่วทุกภูมิภาค และภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นที่นำต้นกกมาแปรสภาพก็มีลักษณะคล้ายกัน หรือได้อิทธิพลทางความคิดจากกันและกัน ทำให้เสื่อกกถูกจัดได้ว่าเป็นปัจจัยจำเป็นอย่างหนึ่ง ต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในอดีต
         การทอเสื่อกก เป็นภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น ที่นำเอาต้นกกมาแปรสภาพให้เป็นเส้น แล้วสานทอให้เป็นแผ่นผืน เพื่อนำมาใช้ปูลาดรองนั่งหรือนอนหรือทำธุรกรรมต่าง ๆ ตลอดจนทำพิธีกรรมทางศาสนา และความเชื่อ

คำสำคัญ : เสื่อกก, กลุ่มทอเสื่อกก, บ้านหนองนกชุม

ประวัติกก

         กก เป็นไม้ล้มลุก (herb) อยู่ในวงศ์ (family) Cyperaceae มีชื่อสามัญเรียกว่า Sedge พบกระจาย อยู่ทั่วโลก มีประมาณ 4000 ชนิด ชอบที่ชื้นแฉะ ขึ้นในที่ระดับต่ำตามหนอง บึง ทางระบาย คันคูน้ำและโคลนเลน ใน 46 ประเทศจัดกกเป็นวัชพืชในนาข้าว และกกทรายหรือกกหัวแดง (Cyperus iria) พบใน 22 ประเทศ มีหลายชนิดใช้เป็นอาหาร เช่น Eleocharis toberosa และ Scirpus toberosus และหลายชนิดใช้สานเสื่อทำกระจาด กระเช้า หมวก เช่น Scirpus mucronatus, Lepironia mucronata, Carex brizoides เป็นต้น

ลักษณะ

         กกนั้นมีรูปร่างลักษณะและนิเวศวิทยาเหมือนหญ้ามาก มีลักษณะที่แตกต่างจากหญ้า คือ กกมักมีลำต้นตัน (solid) และเป็นสามเหลี่ยมหรือสามมุม (three-amgled) บางชนิดมีผนังกั้นแบ่งเป็นห้อง ๆ (septate) มีกาบใบอยู่ชิดกันมาก และที่สำคัญคือเกือบไม่มีลิ้นใบ (ligule) บางชนิดไม่มีเลย ลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่งของกก คือ ดอกแต่ละดอกจะมี glume ห่อหุ้มหรือรองรับเพียงอันเดียว กกมีไหล (rhizome) เลื้อยไปใต้ดินและจากไหลก็จะแตกเป็นลำต้นเรียกว่า culm ที่ตัน (solid) โผล่พ้นขึ้นมาเหนือดิน และเมื่อผ่าลำต้นดูตามขวาง (cross-section) จะมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมหรือสามมุมดังได้กล่าวมาแล้ว ลำต้นกกจะไม่แตกกิ่งเหมือนพืชชนิดอื่น ใบของกกเหมือนกับใบของหญ้า แต่จะเรียงตัวอัดกันแน่นเป็นสามมุมหรือสามตำแหน่งรอบโคนต้นและมีกาบ (sheath) ห่อหุ้มลำต้นและไม่มีลิ้นใบ (ligule) 
         ช่อดอกกกจะเกิดที่ปลายลำต้นเป็นหลายแบบ เช่น panicle, umbel หรือ spike และมีดอกขนาดเล็กเป็นทั้งดอกที่สมบูรณ์และไม่สมบูรณ์เพศ โดยมีดอกรวมเรียกว่า spikelet ซึ่งประกอบด้วยดอกย่อย (floret) หนึ่งหรือหลายดอก แต่ละดอกมี glume หรือริ้วประดับ (bract) รองรับส่วนกลีบดอกหรือ perianth นั้นไม่มีหรืออาจมีแต่เปลี่ยนรูปร่างไปเป็นเกล็ด (scale) หรือขนแข็งเล็ก ๆ (bristle) ในดอกกกจะมีเกสรเพศผู้ (filament) แยกกันอยู่ ส่วนเกสรเพศเมียจะมีก้านแยกเป็นสอง – สามแฉกหรือบางครั้งแยกเป็นสอง – สามเส้น และมีรังไข่อยู่เหนือกลีบดอก (supreior) ภายในมีห้องเดียวและมีหนึ่งเมล็ด

ชนิดของกก

         Carex เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายฤดู ลำต้นตั้งตรงเป็นสามเหลี่ยม บางชนิดมีไหลเลื้อยไปใต้ดิน ใบเรียวแคบช่อดอกมีทั้ง panicle, raceme และ spike มีดอกรวมหรือ spikelet ประกอบด้วย ดอกย่อย (floret) เพียงดอกเดียว หรือ spikelet เท่ากับ floret มีทั้งดอกที่มีก้านและไม่มีก้านดอก และไม่มีกลีบดอก ส่วนดอกเป็นดอกไม่สมบูรณ์เพศหรือมีเพศแยกกันอยู่คนละดอก แต่อยู่ในช่อดอกเดียวกันและเกสรเพศผู้มี 3 อัน เนื่องจากกกมีลักษณะคล้ายหญ้าจึงทำให้มีผู้เรียกเป็นหญ้าด้วย แต่ความจริงแล้วน่าจะเรียกว่ากกมากกว่า ซึ่งจะได้แยกออกไปจากหญ้าได้บ้าง เช่น
         1. หญ้าคมบาง (กกคมบาง) Carex baccans Nees
         2. หญ้าคมบาง (กกคมบาง) Carex stramentita Boot
         3. หญ้าคมบางเล็ก (กกคมบางเล็ก) Carex indica Linn
         4. หญ้าคมบางขาว (กกคมบางขาว) Carex cruciata Vahl
         5. หญ้ากระทิง (กกกระทิง) Carex thailandica T. Koyama
         6. หญ้าดอกดิน (กกดอกดิน) Carex tricephala boeck
ภาพที่ 1 หญ้าคมบางเล็ก.jpg

ภาพที่ 1 หญ้าคมบางเล็ก (กกคมบางเล็ก) Carex indica Linn

(ที่มา : หมู่บ้านต้นกก : ชนิดของกก, ออนไลน์. 2562.)

         สกุล Carex มีหลายชนิดที่ใช้ประโยชน์ได้แต่ไม่มีในเมืองไทย เช่น
             1. Carex atherodes  ในทวีปอเมริกาใช้ทำหญ้าแห้ง (hay)
             2. Carex brizodies  ในยุโรปใช้สานกระจาด กระเช้า
             3. Carex dispalatha  ในญี่ปุ่นใช้ทำหมวก
ภาพที่ 2 กกขนาก.jpg

ภาพที่ 2 กกขนาก cyperus differmis L.

(ที่มา : หมู่บ้านต้นกก : ชนิดของกก, ออนไลน์. 2562.)

         Cyperus เป็นไม้ที่มีอายุฤดูเดียวและหลายฤดู มีทั้งต้นตั้งตรง ลำต้นตันเป็นสามเหลี่ยม บางครั้งก็กลม ใบเหมือนใบหญ้า ใบที่อยู่แถบโคนต้นจะเปลี่ยนเป็นเกล็ดหรือแน่นห่อหุ้มโคนต้นและไหล ช่อดอกเกิดที่ปลายต้นเป็นหลายแบบ ดอกรวม (spikeltet) ประกอบด้วยดอกย่อย (floret) ดอกเดียวหรือหลายดอกและเป็นดอกที่สมบูรณ์เพศ มีเกสรเพศผู้ 1–3 อัน เกสรเพศเมีย 2–3 แฉก พืชสกุลนี้ มีหลายชนิดเป็นวัชพืช เป็นสมุนไพรประกอบยารักษาโรค เป็นอาหารและใช้ทำภาชนะเครื่องใช้ต่าง ๆCyperus ชนิดต่าง ๆ ได้แก่
         กกขนาก cyperus differmis L. เป็นวัชพืชในนาข้าวและพืชไร่ ลักษณะคล้ายกกทั่วไป แต่ที่สังเกตง่ายคือ ดอกมีขนาดเล็กจะรวมกันอยู่เป็นกลุ่มคล้ายหัวกลมๆ
         กกทรายหรือกกหัวแดง Cyperus iria เป็นวัชพืชพบในนาข้าวและพืชไร่ เช่นเดียวกับกกขนากลักษณะที่เด่นของวัชพืชนี้คือรากมีสีแดงปนเหลือง ช่อดอกสีเหลืองกระจายกว้าง ใบประดับ   อันล่างสุดที่รองรับช่อดอกมีความยาวกว่าช่อดอก
         กกชนิดอื่น ๆ ที่เป็นวัชพืชยังมี เช่น
             1. กกขี้หมา (Cyperus polystachyos Roxb) สามารถใช้เป็นสมุนไพรประกอบ ยารักษาโรคได้
             2. กกนา Cyperus haspan Linn.)
             3. กกรังกา (Cyperus digitatus Roxb.)
             4. กกรังกาป่า (Cyperus cuspidatus Kunth.)
             5. กกลังกา (Cyperus alternifollius Linn.)
             6. กกเล็ก (Cyperus pulcherrimus Willd. & Kunth)
         กกบางชนิดที่ใช้เป็นสมุนไพรประกอบยารักษาโรคได้ ได้แก่
             1. กกขี้หมา (Cyperus polystachyos Roxb.)
             2. กกสามเหลี่ยม (Cyperus malaccensis Lamk.) ใช้ไหล (rhizome) แก้โรคกระเพาะและแก้อาการท้องผูก
ภาพที่ 3 กกขี้หมา.jpg

ภาพที่ 3 กกขี้หมา (Cyperus polystachyos Roxb.)

(ที่มา : หมู่บ้านต้นกก : ชนิดของกก, ออนไลน์. 2562.)

         กกหลายชนิดที่ใช้เป็นอาหารได้แต่ไม่มีในเมืองไทย เช่น Cyperus esculentus ภาษาอังกฤษเรียกว่า Chuta earth almond, tiger nut หรือ rush nut มีไหลซึ่งเป็นที่เก็บอาหารใช้กินได้ มีกกอีกหลายชนิดใช้ประโยชน์ได้แต่ไม่พบในเมืองไทย เช่น Cyperus articulatus และ Cyperus longus ภาษาอังกฤษเรียก galin gale มีไหลที่มีกลิ่นหอมใช้ในอุตสาหกรรมทำน้ำหอมได้ Cyperus malacopsus และ Cyperus tegetiformis ภาษาอังกฤษเรียก Chinese mat grass ใช้ทำเสื่อเช่นเดียวกับกกสานเสื่อหรือกกจันทบุรี(Cyperus corymbosus) ซึ่งมีปลูกกันแพร่หลายในเมืองไทย ส่วนกกอียิปต์ (Cyperus papyrus Linn.) ภาษาอังกฤษเรียก papyrus หรือ paper reed นั้น แพร่เข้ามาในเมืองไทยนานแล้ว ชอบขึ้นในที่มีน้ำขังมีลำต้นกลมผิวลำต้นเขียวเป็นมัน ดอกออกเป็นช่อกระจุกกลม ๆ ที่ปลายต้นช่อดอกแต่ละช่อจะมีก้านเป็นเส้นเล็กฝอยชูช่อยาวออกไปเหมือนคนผมยุ่ง ในอียิปต์ในโบราณใช้ลำต้นทำกระดาษ แต่ในปัจจุบันเลิกใช้แล้ว
         Fimbristylis เป็นไม้ล้มลุกอายุฤดูเดียวและหลายฤดู มีไหลสั้นๆ ลำต้นตั้งตรงมีทั้งต้นกลมและเป็นเหลี่ยม ใบรวมกันอยู่ที่โคนต้น ช่อดอกเกิดที่ปลายต้นคล้ายสกุล Cyperus มีดอกรวม (spikelet) ประกอบด้วยดอกย่อย (floret) ตั้งแต่หนึ่งถึงหลายดอกและเป็นดอกที่สมบูรณ์เพศมีเกสรเพศผู้ 1-3 อัน เกสรเพศเมียมี 2-3 แฉก กกสกุลนี้ป่วนมากเป็นวัชพืช พวกที่ใช้เป็นสมุนไพรประกอบยารักษาโรค เช่น กกรัดเขียด (หญ้าหนวดแมว) (Fimbristylis milliaces Vall) และกกหัวขอ (หญ้าหัวขอ) (Fimbrilstylis aestivalis Vahl) ใช้ทาแผลงูกัดและแก้โรคผิวหนัง ตามลำดับ สำหรับพวกที่เป็นวัชพืชและพบบ่อยในนาข้าวและแปลงปลูกพืช เช่น กกเปลือกกระเทียมทราย (Fimbristylis acuminata Vahl) กกนิ้วหนู (Fimbristylis dichotoma Vahl) กกกุกหมู (Fimbristylis monostachyos Hassk.) เป็นต้น
ภาพที่ 4 Fimbristylis.jpg

ภาพที่ 4 Fimbristylis (Cyperus polystachyos Roxb.)

(ที่มา : หมู่บ้านต้นกก : ชนิดของกก, ออนไลน์. 2562.)

         Scirpus เป็นไม้อายุฤดูเดียวและหลายฤดูมีไหลใต้ดิน ลำต้นตั้งตรงเป็นเหลี่ยมบางครั้งเกือบกลม   บางชนิดจมอยู่ใต้ดินหรือลอยที่ผิวน้ำ ใบมีรูปร่างแตกต่างกันออกไป บางครั้งก็ไม่มีช่อดอกเกิดที่ปลายต้น หรือบางครั้งเกิดที่ด้านข้างของลำต้นแต่ค่อนไปทางส่วนยอด ดอกรวม (spikelet) ประกอบด้วยหลายดอกย่อย (floret) และเป็นดอกที่สมบูรณ์เพศมีเกสรเพศผู้ 1-3 อัน และเกสรเพศเมีย 2-3 แฉก พวกที่เป็นวัชพืชและรู้จักกันดีคือ กกสามเหลี่ยมหรือกกตะกรับ (Scirpus grosus L.f) มีลำต้นตั้งตรงมีขนาดใหญ่และเป็นสามเหลี่ยม ผิวลำต้นเรียบเป็นมัน ช่อดอกเกิดที่ปลายต้น ในสมัยอินเดียโบราณใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย และลำต้นใช้สานเสื่อและทำเชือกได้ ส่วนกกทรงกระเทียม (Scirpus articulatus Linn.) ใช้เป็นยาระบายหรือยาขับถ่าย อีกชนิดหนึ่งมีปลูกกันมากในจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย คือ กกกลมหรือ  กกยูนนาน (Scirpus mucronatus Linn.) ใช้ทำเชือกและสายเสื่อโดยเฉพาะ มีลำต้นเกือบกลมตั้งตรงมีความสูงกว่ากกกลมเล็กน้อย แต่ที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด คือ ช่อดอกจะเกิดเป็นช่อกระจกทางด้านข้างของลำต้นและค่อนไปทางส่วนปลายต้น ช่อดอกเกิดจากจุดเดียวกันและกระจายออกไปรอบด้านเหมือนรูปดาว ชาวบ้านจะแยกไหลจากคอเดิมไปขยายพันธุ์และจะตัดเมื่อมีอายุราว 3 เดือน ก่อนที่ต้นจะออกดอกใช้เวลาตากแดด 4-5 วัน ในต่างประเทศ เช่น อเมริกาเหนือและใช้ลำต้นของ Scirpus lacustris สานทำกระจาดที่นั่งและสานเสื่อ อีกชนิดหนึ่ง คือ Scirpus tatara ใช้ทำแพและเรือคานู (canoe) ส่วนในจีนและญี่ปุ่นใช้กินหัวของ Scirpus tuberosus ทั้งสามชนิดดังกล่าวไม่มีในบ้านเรา

ประวัติการทอเสื่อ

         มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แสดงว่ามีการใช้เสื่อในประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ดังปรากฏในบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ซึ่งพระนิพนธ์ไว้ในเอกสาร คราวเสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองฝั่งตะวันออกที่เมืองจันทบุรี ในราว พ.ศ.2450 มีหลักฐานสำคัญที่ทำให้เห็นว่าเสื่อจันทบูรนั้นได้ริเริ่มขึ้นโดยฝีมือของชาวญวนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในจังหวัดจันทบุรี ในพื้นที่บริเวณหลังวัดโรมันคาทอลิค ต.จันทนิมิต อ.เมือง จ.จันทบุรี ประวัติการเข้ามาของชาวญวนมีหลักฐานปรากฏในปี พ.ศ.2254 (อยุธยาตอนปลาย) ที่บันทึกว่าพระสังฆราชปิออง ซีเอซ ได้ให้คุณพ่อเฮิ้ต (Hentteh) เดินทางจากประเทศญวนมาดูแลชาวญวนที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคอทอลิค ในจังหวัดจันทบุรี พบว่าในขณะนั้น   มีชาวญวนคาทอลิคราว 150 คนที่มาอยู่ที่จันทบุรี ก่อนหน้านั้นหลายปี
         จนกระทั่งปี พ.ศ.2377 (รัชกาลที่ 3) วัดโรมันคาทอลิคถูกสร้างขึ้น ณ บริเวณ ต.จันทนิมิต ในปัจจุบันเป็นที่อยู่ของคนญวนเดิม และอพยพเข้ามาตั้งแต่ช่วงต้นรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา ชาวญวนเหล่านี้นับถือพุทธศาสนา ซึ่งต่อมาไม่นานก็ผสมผสานกลมกลื่นเข้ากับชุมชนในท้องถิ่น (ขจัดภัย บุรุษพัฒน์ .2518 : 154 – 155) ต่อมาในช่วงสมัยฝรั่งเศสยึดครองจันทบุรี (รศ.112) พ.ศ.2436 ยังปรากฏว่าชาวญวนก็เข้ารีต (สมัครใจนับถือศาสนาคริสต์) และทหารญวนในอาณัติฝรั่งเศสเข้ามาในเมืองจันทบุรีอีกมาก ทั้งนี้กินเวลาที่ชาวญวนมาอยู่จันทบุรี รวมเวลามากกว่า 286 ปี คนญวนได้ชื่อว่า หลวงสาครคชเขตต์ ได้กล่าวถึงเสื่อจันทบูรในหนังสือ “จดหมายเหตุความทรงจำสมัยฝรั่งเศสยึดจันทบุรี ตั้งแต่ พ.ศ. 2436–2447” ความว่า
         การทำเสื่อญวนนั้นตามธรรมดาเชื้อชาติญวนนับว่าเป็นผู้ที่มีความชำนิชำนาญในการพลิกแพลงจัดทำยิ่งกว่าบุคคลชาติไทยด้วยกัน ซึ่งพวกนักบวชชีแห่งสำนักวัดโรมันคาทอลิคด้วยแล้วก็เกือบจะต้องนับว่า เขามีความรู้ความชำนาญมากที่สุด ฉะนั้นเสื่อจันทบุรีที่มีลวดลายลักษณะดอกดวง งดงาม หรือจะเป็นภาพสัตว์ต่าง ๆ ตลอดจนแม้ที่สุดจะประดิษฐ์ เป็นตราอาร์มของรัฐบาล ดังเช่น รูปช้าง รูปครุฑ เหล่านี้ เขาจะทำได้เป็นอย่างดี นอกจากเขาจะทำเป็นเสื่อสำหรับใช้ธรรมดาแล้วในเวลานี้พวกช่างทอเสื่อยังได้ประดิษฐ์เป็นภาชนะเครื่องใช้ต่าง ๆ อีกหลายอย่าง ดังเช่น การทำกระเป๋าเสื่อชนิดใส่เสื้อผ้า สิ่งของเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ จนถึงขนาดเล็กใส่สตางค์เป็นที่สุด หรือจะทำเป็นหมอนอิง เบาะ เก้าอี้ โดยจะผลิตเป็นลวดลายขนาดใด ๆ ก็ย่อมจัดทำได้สุดแต่ผู้ต้องการ  จะให้ทำ เขาก็รับจัดทำให้ทั้งนั้น นับได้ว่าสินค้าเสื่อกับกระเป๋าเหล่านี้ เป็นสินค้าสำคัญของชาวจันทบุรี อีกประเภทหนึ่ง (หลวงสาครคชเขตต์ .2515 : 259 – 262)
         การผลิตเสื่อกกในสมัยแรกเริ่มของชาวญวนในจังหวัดจันทบุรีนั้น ต้องไปหาต้นกกจากพื้นที่ที่สามารถปลูกได้ คือที่หมู่บ้านเสม็ดงาม อ.เมือง และหมู่บ้านบางสระเก้า อ.แหลมสิงห์ เพราะพื้นที่ทั้งสองหมู่บ้านนี้เป็นพื้นที่ลุ่ม มีน้ำขัง มีต้นกกขึ้นอยู่ทั่วไป ด้วยเหตุนี้อาชีพการทอเสื่อจึงได้แพร่กระจายเข้ามาในหมู่บ้านทั้งสองแห่งนี้ในเวลาต่อมา (ศักดิ์สิทธิ์ สีขาวอ่อน, 2555)
         ชาวญวนมักจะเหมาซื้อกกจากชาวบ้านเป็นไร่โดยไปตัดเก็บและขนแบกกันมาเอง แล้วคัดขนาดที่มีความยาวตั้งแต่ 2 - 3 คืบ ถึง 8 - 9 คืบ จักแต่งอย่างดีแล้วนำไปตากแดดให้แห้งสนิทก่อนจึงนำมาย้อมสี หลังจากย้อมสีและตากแห้งดีแล้วจึงนำเสื่อกกมาทอเป็นผืนเสื่อ และเย็บริมให้เรียบร้อย สมัยก่อนถ้าต้องการสีแดงเขาใช้เปลือกไม้ฝาก ซึ่งหาได้ตามป่าเมืองจันทบุรี ถ้าต้องการสีดำก็นำไปคลุกโคลน แต่หากโดนน้ำก็จะหลุดลอกง่าย ด้วยเหตุนี้มักเป็นที่เข้าใจว่า สีเสื่อกกดั้งเดิมของเสื่อจันทบุรีนั้นมีเพียงสีดำและแดงเท่านั้น
         ต่อมากิจการทอเสื่อของชาวญวนค่อยๆลดจำนวนลง เพราะอาชีพค้าพลอยเริ่มเข้ามาในหมู่บ้านเรื่อยมาจนในช่วงปี พ.ศ.2522 – 2523 ตลาดพลอยเมืองจันท์รุ่งโรจน์ เจริญเติบโตสูงสุด ชาวญวนส่วนใหญ่ที่ประกอบอาชีพทอเสื่อต่างพากันละทิ้ง หันมาค้าพลอยซึ่งทำรายได้ดีกว่า อีกทั้งการได้มาเป็นตัวเงินนั้นก็ได้เป็นกอบเป็นกำ ไม่ใช้เวลานานเท่ากับการทอเสื่อขาย เป็นสาเหตุให้กิจการทอเสื่อของชาวญวนลดน้อยลงมาก แต่ก็เหลืออยู่บ้าง เช่น กิจการทอเสื่อของคุณลุงนิคม  เขมาวาสน์ เจ้าของร้านจำเนียรหัตถกรรมอยู่บริเวณวัดจันทนิมิต
         พื้นที่บริเวณหลังวัดโรมันคาทอลิค ซึ่งอดีตแทบทุกหลังคาเรือนจะมีอาชีพทอเสื่อกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบันนี้จะพบเห็นทอเสื่อบ้างแต่น้อยมาก และจะเห็นได้ว่าชาวญวนบริเวณหลังวัดในปัจจุบันมีอาชีพ ค้าพลอย เจียระไรพลอย กันเป็นส่วนมาก จึงเป็นสาเหตุให้กิจการทอเสื่อในบริเวณหลังวัดโรมันคาทอลิคลดลง 

ชนิดของเสื่อ

         1. เสื่อกก เป็นเสื่อที่ผลิตจากต้นกก ซึ่งเป็นพืชล้มลุกมีหัวคล้ายข่า แต่เล็กกว่า ปลายลำต้นมีดอก แพร่พันธุ์ด้วยหัว ด้วยการแตกแขนงเป็นหน่อ กกจัดเป็นพืชเส้นใย ปลูกและเจริญงอกงามได้ดีในประเทศไทย ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากต้นกกพันธุ์ต่าง ๆ ได้แก่
             1.1 เสื่อจันทบูร เป็นเสื่อที่ผลิตจากกกจันทบูร ซึ่งเป็นกกที่มีลักษณะลำต้นกลม จึงอาจเรียกว่า กกกลม หรือกกเสื่อ ลำต้นเรียวคล้ายต้นคล้า ผิวสีเขียวแก่ ข้างในลำต้นมีเนื้ออ่อน สีขาว เป็นกกที่ปลูกกันมานานแล้วในภาคตะวันออก คือ จังหวัดจันทบุรี ระยองและตราด ซึ่งมีการปลูกมากที่สุดในจังหวัดจันทบุรี ทั้งนี้หากเป็นกก ที่ปลูกในแหล่งน้ำจืด เส้นใยกกจะไม่เหนียว แต่หากปลูกในแหล่งน้ำกร่อย (ที่แถบชายฝั่งทะเล) จะได้เส้นใยที่เหนียว 
             1.2 เสื่อกกที่ทอจากกกลังกา เป็นกกที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ต้นค่อนข้างกลม ใช้ทอเสื่อในบางจังหวัด เช่น สกลนคร ขอนแก่น กาฬสินธุ์ กกจันทบูร กกกลมและกกลังกา มีลักษณะลำต้นกลมคล้ายกัน บางครั้งอาจมีความสับสนในการเรียกชื่อ
             1.3 เสื่อกกที่ทอจากกกสามเหลี่ยม ซึ่งพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนำกกชนิดนี้มาใช้ ซึ่งชาวบ้านจะเรียกว่า กกผือ หรือต้นปรือ หรือกกควาย เช่นในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี มหาสารคาม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ หนองคาย (ศักดิ์สิทธิ์ สีขาวอ่อน.2555) กกสามเหลี่ยม มีลักษณะลำต้นเป็นรูปสามเหลี่ยม ด้านทั้งสามเว้าเข้าหาแกนกลาง ผิวสีเขียวอ่อน สูงประมาณ 1 เมตร ผิวแข็งกรอบและไม่เหนียว
         2. เสื่อกระจูด (กะจูด) หรือสาดจูด ทอจากกกกระจูด ซึ่งเป็นพืชน้ำจำพวกกกชนิดหนึ่ง แหล่งที่มาพบมากอยู่ทางหมู่เกาะมาดากัสการ์ มาริเซียส ลังกา สุมาตราและแหลมมลายู ในประเทศไทยจะมีทางภาคใต้ และ  ภาคตะวันออก ปลูกตามหนองบึง หรือบริเวณที่มีน้ำขัง หรือที่เป็นดินโคลนชื้นแฉะหรือที่เรียกว่า พรุ ลำต้นกระจูดคล้ายกับต้นกกที่ใช้ทอเสื่อ แต่กกกระจูดจะมีลำต้นกลมกว่าและข้างในกลวง เมื่อโตเต็มที่จะสูงประมาณ 2 เมตร ก่อนนำกกกระจูดมาสานต้องนำมาทุบให้แบนเสียก่อน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกกกระจูดสามารถทำได้หลายประเภท เช่น ทำเป็นเสื่อรองนั่งและปูนอน ทำกระสอบใส่ข้าวสารหรือของแห้งต่าง ๆ ทำเชือกมัดของและทำเป็นใบเรือเดินชายฝั่งทะเล การปลูกต้นกระจูดและผลิตภัณฑ์เสื่อกระจูดมีมากในหลายอำเภอของจังหวัด สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และนราธิวาส (วิวัฒน์ชัย บุญศักดิ์ .2532 : 14)
         3. เสื่อเชียงราย เป็นเสื่อที่ผลิตจากกกยูนาน ซึ่งได้นำเข้ามาพร้อมกับการอพยพของจีนฮ่อ จากมณฑลยูนานทางตอนใต้ของจีนเข้ามาในภาคเหนือของไทย เมื่อราวร้อยกว่าปีมาแล้ว ปลูกมากที่ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
         4. เสื่อลำเจียกหรือเสื่อปาหนัน เป็นเครื่องจักสานเฉพาะถิ่นทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกของไทย โดยเฉพาะที่จังหวัดกระบี่ เป็นเสื่อที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ทำจากใบลำเจียกหรือใบปาหนันซึ่งเป็นต้นไม้จำพวกเตย นำมาสานเป็นเสื่อ กระสอบ (หรือสอบ) สำหรับใส่ข้าวสารหรือพืชผล สำหรับการทอเป็นเสื่อปูรองนั่งที่วัดหรือสุเหร่า โดยเฉพาะผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม สำหรับคู่แต่งงานใหม่ จะสานเสื่อเพื่อใช้ปูนอนเป็นที่นอน โดยต้องใช้เสื่อประมาณ 12 – 30 ผืน ซึ่งผืนที่อยู่ด้านบนสุดที่เรียกว่า “สาดยอด” หรือ “ยอดสาด” หรือ “ยอดเสื่อ”จะสานเป็นลวดลายสวยงาม อาจประดับด้วยกระจก ปักด้วยไหมและดิ้นทอง
         5. เสื่อหวาย เป็นเสื่อที่ผลิตจากเส้นหวาย มีลักษณะเป็นเถายาว มักพบในป่า มีคุณสมบัติ เหนียว แข็งแรง ทนทาน มีแหล่งผลิตอยู่ที่ จังหวัดบุรีรัมย์ ศรีษะเกษ สุรินทร์และภาคกลางที่จังหวัดนครสวรรค์
         6. เสื่อคล้า เป็นเสื่อที่ผลิตจากต้นคล้า ซึ่งเป็นต้นไม้ป่าชนิดหนึ่งลักษณะคล้ายต้นข่าหรือต้นกก ใบเรียวคล้ายใบข่าแต่สั้นกว่า เป็นพืชที่มีผิวเหนียวทนทานมาก จะต้องคัดเลือกต้นคล้าที่มีลำต้นตรงยาวประมาณ 80 – 100 ซม. นำมาตากแดดจนเป็นสีน้ำตาลไหม้ ก่อนนำมาสานจะพรมน้ำให้ผิวคล้านุ่มจะทำให้สานง่ายขึ้น เสื่อคล้าผลิตใช้ในครัวเรือนทางภาคตะวันออก จังหวัดจันทบุรีแถบตำบลขโมง อำเภอท่าใหม่ ตำบลชำโสม อำเภอมะขาม ชุมชนชาวชอง กิ่งอำเภอเขาคิชกูฎ ส่วนทางภาคใต้นิยมนำคล้ามาสานทำเป็นภาชนะต่าง ๆ เช่นเดียวกับไม้ไผ่หรือหวาย (วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. 2532 : 97)
         7. เสื่อลำแพน เป็นเสื่อที่ผลิตจากผิวของต้นไผ่ ซึ่งนำมาจักเป็นตอกให้แบนใหญ่แล้วสานด้วยลายสองหรือลายสาม มักใช้ไม่ไผ่เฉี้ยะหรือไม้ป้าว เพราะเป็นไม้เนื้ออ่อนนำมาจักเป็นเส้นตอกได้ดี เสื่อลำแพนนิยมสานเป็นผืนใหญ่ ๆ ใช้ทำฝาบ้านหรือเพดานบ้าน บางบ้านก็นำไปใช้ ปูนั่ง ปูนอน หรือบางทีก็นำไปใช้ตากพืชพันธุ์ ตากปลา ตากกุ้ง เป็นต้น
         8. เสื่อแหย่ง นิยมนำมาสานเสื่อสำหรับปูนั่งนอน มีทำไม่มากนัก “แหย่ง” เป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่ชาวเหนือนำมาใช้ทำเครื่องสาน แหย่งมีลักษณะคล้ายไม้ไผ่ แต่อ่อนนุ่มกว่า ไม่มีข้อแข็งกว่าหวาย ใช้ได้ทนกว่ากก ชอบขึ้นตามที่ชื้นแฉะในเขตภาคเหนือของไทย นิยมนำมาสานเสื่อสำหรับปูนั่งนอน หรือเป็นส่วนประกอบของบ้าน เช่น ฝาบ้าน เพดานบ้าน หรือสานเป็นแผ่น ใช้ประโยชน์ในลักษณะต่างๆ กันได้ดี เพราะมีผิวสีเหลืองสวย เมื่อใช้ไปนาน ๆ จะขึ้นเป็นมันเงา แหย่งในภาคเหนือในปัจจุบัน มีทั้งที่ขึ้นเองและที่ชาวบ้านนำมาปลูกเอาไว้ใช้
         9. เสื่อดอกอ้อ ทำที่เมืองจันทบุรี โดยการนำเอาก้านดอกของต้นอ้อมาผ่า แล้วนำมาทอเป็นเสื่อสีเหลืองโดยธรรมชาติ ไม่ต้องย้อม ไม่เป็นสินค้าซื้อขาย เพียงแต่ทอไว้มอบให้กัน (วัฒนะ จูฑะวิภาต .2537 : 81)

ประโยชน์ของต้นกก

         1. ทำเป็นเสื่อสำหรับนอน สำหรับปูพื้นในห้องรับแขกแทนพรมและปูลาดตามพื้นโบสถ์ วิหาร        เพื่อความสวยงาม
         2. ทำเป็นกระเป๋าแทนกระเป๋าหนัง ทำเป็นรูปต่าง ๆ ได้หลายแบบแล้วแต่ผู้ประดิษฐ์คิดค้นแบบต่าง ๆ กัน ทำเป็นกระเป๋าสตางค์ ทำเป็นกระเป๋าหิ้วสตรี กระเป๋าใส่เอกสาร แต่ปัจจุบันมีผู้ทำกันน้อย เพราะกระเป๋าหนัง กระเป๋าพลาสติก ราคาถูกลงมากการทำไม่ค่อยคุ้มค่าแรงงาน
         3. ทำเป็นหมอน เช่น หมอนรองที่นั่ง หมอนพิงพนักเก้าอี้ เรียกว่า หมอนเสื่อ
         4. ทำเป็นกระสอบ เรียกว่ากระสอบกก
         5. ทำเป็นเชือกสำหรับมัดของที่ห่อแล้ว ตามร้านค้าทั่วไปนิยมใช้เชือกกก เพราะราคาถูกมาก
         6. ทำเป็นหมวก ใช้กันแดด กันความร้อนจากแสงแดด กันฝนหรือเพื่อความสวยงาม
         7. ทำเป็นกระจาดใส่ผลไม้ หรืออาหารแห้ง
         8. การใช้งานด้านภูมิทัศน์ ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับริมสระน้ำในสวนหรือปลูกในภาชนะร่วมกับไม้น้ำอื่น ๆ
        9. เป็นแหล่งหลบซ่อนตัวของสัตว์น้ำวัยอ่อน และต้นกกมีคุณสมบัติในการบำบัดน้ำเสีย ปรับสมดุลนิเวศน์วิทยา
        10. ใช้เป็นยารักษาโรค  เช่น
             -  ใบ ตำพอกฆ่าพยาธิบาดแผล
             -  ต้น รสเย็นจืด ต้มเอาน้ำดื่ม รักษาโรคท่อน้ำดีอักเสบ ขับน้ำดี
             -  ดอก รสฝาดเย็น ต้มเอาน้ำอม แก้แผลเปื่อยพุพองในปาก
             -  เหง้า รสขม ต้มเอาน้ำดื่มหรือบดเป็นผงละลายน้ำร้อนดื่ม บำรุงธาตุ เจริญอาหาร แก้เสมหะ ขับน้ำลาย
             -  ราก รสขมเอียน ต้มเอาน้ำดื่ม หรือตำกับเหล้า คั้นเอาน้ำดื่ม แก้ช้ำใน ขับโลหิตเน่าเสีย

กระบวนการผลิต

         ขั้นเตรียมต้นกก
             - ตัดหรือเก็บเกี่ยวต้นกกที่ปลูกไว้ในบริเวณพื้นที่บ้านของตน 
             - นำต้นกกมาแยก และเลือกกกที่มีขนาดเท่ากัน
             - นำต้นกกที่คัดเลือกได้ขนาดที่ต้องการแล้ว มาสอยเป็นสอง สาม หรือสี่ส่วน ตามขนาดลำต้นของต้นกก ถ้าเส้นเล็กผืนเสื่อกกจะทอได้ละเอียดและแน่นหนา
             - นำเส้นกกที่สอยเสร็จแล้วมาผึ่งแดดให้แห้ง ประมาณ 4-5  วัน
ภาพที่ 5 ต้นกกที่สอยเสร็จแล้วผึ่งแดดให้แห้ง.jpg

ภาพที่ 5 ต้นกกที่สอยเสร็จแล้วผึ่งแดดให้แห้ง

(ที่มา : สุวลัย อินทรรัตน์, 2562)

         การทอเสื่อกก
             1. กางเครื่องทอเสื่อกก
             2. นำฝืนมาวางไว้ในช่องของเครื่องทอ (กี่)
             3. สอดด้ายไนล่อนใส่ในรูฟืมโดยรูแรกและรูสุดท้ายใช้ด้าย 4 เส้น จากนั้นก็สอดด้าย ตามรูที่เรากำหนดแบบไว้
             4. วางไม้ขื่อบนหัวเสาเครื่องทอ (กี่) เพื่อให้เส้นด้ายตึง
             5. ลงมือทอโดยใช้ไม้สอดเส้นกกใส่ตามฟืมคว่ำหรือหงายสลับกันทุกครั้ง คนทอจะเก็บปลาย(ไพ) กกสลับซ้ายขวา
ภาพที่ 6 ใช้ไม้สอดเส้นกกใส่ตามฟืมคว่ำ.jpg

ภาพที่ 6 ใช้ไม้สอดเส้นกกใส่ตามฟืมคว่ำหรือหงายสลับกัน

(ที่มา : สุบัน พุธสม, สัมภาษณ์. 2562)

             6. เมื่อทอได้พอขนาดจะต้องเก็บม้วนผืนเสื่อโดยยกไม้ขื่อลงแล้วม้วนเสื่อ
ภาพที่ 7 ตัดตกแต่งปลายกกริมทั้ง 2 ด้าน.jpg

ภาพที่ 7 ตัดตกแต่งปลายกกริมทั้ง 2 ด้าน

(ที่มา : สุบัน พุธสม, สัมภาษณ์. 2562)

             7. เมื่อทอเสร็จก็ตัดเสื่อออกจากเครื่องทอ (กี่) แล้วมัดปลายเชือกให้เรียบร้อย
             8. ใช้กรรไกรตัดตกแต่งปลายกกริมด้านซ้ายและด้านขวาให้เรียบร้อย
ภาพที่ 8 เสื่อที่เย็บผ้ากุ้นริมพร้อมจำหน่าย.jpg

ภาพที่ 8 เสื่อที่เย็บผ้ากุ้นริมพร้อมจำหน่าย

(ที่มา : สุบัน พุธสม, สัมภาษณ์. 2562)

บทสรุป

         เสื่อกก เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีใช้กันอยู่ทั่วไปทั้งในประเทศหรือต่างประเทศ ทั้งนี้เพราะต้นกกเป็นพืชธรรมชาติที่ขึ้นอยู่ทั่วทุกภูมิภาค และภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นที่นำต้นกกมาแปรสภาพก็มีลักษณะคล้ายกัน หรือได้อิทธิพลทางความคิดจากกันและกัน ทำให้เสื่อกกถูกจัดได้ว่าเป็นปัจจัยจำเป็นอย่างหนึ่ง  ต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในอดีต
         การทอเสื่อกก เป็นภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น ที่นำเอาต้นกกมาแปรสภาพให้เป็นเส้น แล้วสานทอให้เป็นแผ่นผืน เพื่อนำมาใช้ปูลาดรองนั่งหรือนอนหรือทำธุรกรรมต่าง ๆ ตลอดจนทำพิธีกรรมทางศาสนา และความเชื่อ
         กลุ่มทอเสื่อบ้านหนองนกชุม หมู่ 2 ตำบลทุ่งทราย อำเภอทรายทองวัฒนธรรม จังหวัดกำแพงเพชร อาศัยความรู้และภูมิปัญญาที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งอพยพมาจากภาคอีสาน จัดตั้งกลุ่มทอเสื่อกก บ้านหนองนกชุม เมื่อปี พ.ศ.2546 เพื่อเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่ชุมชน โดยได้รับพระราชทานพันธ์ ต้นกกจากสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และได้ขยายพันธ์เพื่อให้ชาวบ้านมาปลูกในบริเวณพื้นที่บ้านของตน ซึ่งพันธ์ต้นกกพระราชทานนี้จะมีความพิเศษ คือ ลำต้นจะมีขนาดใหญ่และมีความเหนียวเป็นพิเศษ
         สมาชิกในกลุ่มจะทำการทอเสื่อที่บ้านตนเอง เมื่อทอเสร็จจะนำมาสินค้ารวมที่กลุ่มเพื่อจำหน่ายในงานประจำปีของจังหวัดกำแพงเพชร เป็นของที่ระลึกสำหรับแขกผู้ใหญ่ที่มาเยี่ยมชมหมู่บ้าน ใช้ในงานบุญงานประเพณีต่าง ๆ ของหมู่บ้าน แม้กระทั่งลูกหลานที่ไปทำงานต่างจังหวัดกลับมาบ้านก้อซื้อไปจำหน่ายต่อ เป็นต้น โดยผลกำไรจะนำเข้ากลุ่มและมีเงินปันผลให้แก่สมาชิกในกลุ่ม (สุบัน  พุธสม, สัมภาษณ์, มีนาคม 2562)