หัตถกรรมเป่าแก้วบ้านโนนจั่น ตำบลทุ่งทราย อำเภอทรายทองวัฒนา จังหวัดกำแพงเพชร

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

บทนำ

         แก้ว วัสดุคุ้นเคยที่ทุกคนรู้จัก ด้วยคุณสมบัติทางวิทยาศาสตร์ที่ดี 3 ประการคือ ความโปร่งใส ความแข็งแกร่ง และความทนทานต่อสารเคมี หลายคนคงเคยได้เห็นความสวยงามของหลอดแก้วในรูปทรงแบบต่าง ๆ ซึ่งนับเป็นความสวยงานที่เกิดขึ้นจากวิทยาศาสตร์และศิลปะศาสตร์ควบคู่ด้วยกัน เราเรียกศิลปะสิ่งนี้ว่า ศิลปะของการเป่าแก้ว  
         การเป่าแก้วในปัจจุบัน มีอยู่ 2 รูปแบบคือ การเป่าเพื่อใช้ในทางวิทยาศาสตร์ กับการเป่าเพื่อความสวยงามหรือศิลปะ โดยในทางวิทยาศาสตร์ก็เพื่อการสร้างวัสดุอุปกรณ์เครื่องแก้วต่าง ๆ ที่ใช้ในงานทดลองและวิจัย ในด้านศิลปะก็ทำเพื่อความสวยงาม เป็นของประดับตกแต่งซึ่งทำเป็นรูปทรงต่าง ๆ เช่น ดอกไม้ เครื่องประดับ เป็นต้น
         แต่เดิมการเป่าแก้วจะไม่ใช้ตะเกียงเหมือนปัจจุบัน โดยใช้วิธีการเป่าลมผ่านเข้าไปในด้านหนึ่งของท่อโลหะกลวง (Blowing pipe) โดยที่ปลายด้านหนึ่งคือหลอดแก้วที่หลอมเหลวรวมกันเป็นก้อน การเป่าแก้วสามารถที่จะควบคุมรูปร่างขนาดได้ตามความต้องการในขณะที่แก้วนั้นกำลังร้อนอยู่ การเป่าแบบนี้จะใช้เวลานานต้องมีเตาหลอมแก้ว อาจใช้คนจำนวนมากในการทำ
         นายณรงค์ แสงอโน ราษฎรบ้านโนนจั่นได้ไปทำงานที่กรุงเทพฯได้ศึกษาหนังสือเกี่ยวกับวิธีการเป่าแก้ว  ที่ได้มาจากญาติ ที่ทำงานอยู่สถาบันวิจัยแห่งชาติ จากนั้นก็ได้ทำการทดลองทำ ดัดแปลงเป่าเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เริ่มมีความชำนาญ จึงได้เปิดร้านเพื่อผลิตและจำหน่ายอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ไม่เป็นที่นิยม ต่อมาเมื่อสมรสจึงกลับมาบ้าน แล้วชักชวนชาวบ้านมาฝึกโดยไม่คิดค่าฝึกสอนแต่ประการใด จากนั้นก็ได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานต่างๆ และทางกลุ่มจดทะเบียนเมื่อ ปี 2541 สมาชิกจะทำการผลิตที่บ้านตนเอง ซึ่งในปัจจุบันทางกลุ่มมีเตาสำกรับเป่าแก้ว ประมาณ 70-80 เตา และรวมกันจัดตั้งศูนย์แสดงสินค้า โดยผลกำไรของศูนย์  จะนำเข้ากลุ่ม แล้วจะมีเงินปันผลให้

คำสำคัญ : เป่าแก้ว , หัตถกรรมเป่าแก้ว , บ้านโนนจั่น

ที่มา

         ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มนุษย์รู้จัดและคุ้นเคยกับแก้วเป็นอย่างดี อุปกรณ์ ของใช้ ภาชนะต่าง ๆ มากมายทำขึ้นมาจากแก้ว ทั้งนี้เนื่องจากแก้วที่มีใช้งานกันอย่างกว้างขวางนั้นมีสมบัติที่ดี 3 ประการ คือ มีความโปร่งใส (Transparency) , มีความแข็งแกร่ง (Hardness)  และมีความทนทานต่อสารเคมี (Chemical Resistance) นอกจากนี้การปรับปรุง เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของแก้วชนิดพิเศษต่าง ๆ ถูกคิดค้นเพื่อการนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด ถึงแม้ความก้าวหน้าทางด้านพลาสติกและเทคโนโลยีของโพลิเมอร์จะพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ขนทำให้พลาสติกถูกผลิตออกมาใช้งานอย่างกว้างขวางในทุกกิจการก็ตาม แต่พลาสติกก็ไม่อาจ จะทดแทนแก้วได้อย่างสมบูรณ์

ประวัติของแก้ว

         สันนิษฐานว่า แก้วกำเนิดขึ้นครั้งแรกโดยธรรมชาติ โดยเกิดจากหินหลอมเหลงจากภูเขาไฟ                       โดยหินหลอมเหลวนี้ไหลออกจากภูเขาไฟขณะภูเขาไฟมีการระเบิด ในขณะที่ไหลไปตามพื้นจะเกิดการหลอมละลายพวกหินและทรายและแร่ธาตุต่าง ๆ รวมไว้มากมาย ต่อมาเมื่อเย็นตัวลงจึงแข็งตัวกลายเป็นของแข็งที่มีสีสัน แวววาว และมีความคมอยู่ตัว ซึ่งในปัจจุบัน เรียกว่า หินออบซิเดียน (Obsidian) มนุษย์ใน  ยุคนั้นจึงนำหินดังกล่าวมาทำเป็นอาวุธ ทำหอก ทำมีด เป็นต้น พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่พอจะทำให้เชื่อได้ว่า มนุษย์รู้จักการผลิตแก้วขึ้นครั้งแรกในอียิปต์และซีเรีย เมื่อประมาณ 4,000 ปีมาแล้ว โดยได้พบลูกปัดแก้ว (Glass beads) และภาชนะต่าง ๆ ที่ทำขึ้นจากแก้ว

ศิลปะของการเป่าแก้ว ถูกค้นพบแถบตะวันออกกลาง บริเวณชายฝั่งทะเลที่ชาวโพลีนีเซียน (Phoenician) อาศัยอยู่จากบันทึกและนิยายพื้นบ้านนั้น พ่อค้าชาวโพนิเซีย (ประเทศซีเรีย) พบแก้วโดยบังเอิญขณะตั้งค่ายพักแรมริมชายทะเล โดยพบว่าบริเวณหาดทรายที่ใช้ก่อเตาประกอบอาหารมีของเหลวใสเกิดขึ้น ในการก่อเตานั้นพ่อค้าใช้หินโทรนา (Trona) (มีสูตรเคมีเป็น Na2CO3.NaHCO3.2H2O) มาวางบนหาดทรายสำหรับเป็นที่รองรับราวแขวนหม้อประกอบอาหาร ความร้อนจากไฟทำให้ทรายและหินโทรนาหลอมรวมกัน เมื่อดับไฟจึงเกิดการเย็นตัวลงของส่วนผสม ทำให้ได้วัสดุใหม่ คือ แก้ว ที่เราใช้ปัจจุบันนี้ มีนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ คิดว่าพ่อค้าเหล่านั้นคงจะโยนเปลือกหอยหรือกระดองปูเข้าไปในกองไฟด้วย จึงทำให้เกิดแก้วขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากส่วนผสมระหว่าง Na2O กับ –SiO2 นั้นละลายน้ำได้ง่าย ต่อเมื่อมี CaO จึงจะคงรูปอยู่ได้

         ก่อนคริสตศักราช 20 ปี มีการค้นพลกรรมวิธีในการทำเครื่องประดับจากแก้ว, ภาชนะที่ทำจากแก้วและของมีค่าอื่น ๆ ที่ทำด้วยแก้วในซากปรักหักพังของเมืองปอมเปอี  การผลิตภาชนะหรืองานศิลปะต่าง ๆ จากแก้ว ยังคงใช้วิธีการเป่าแก้วมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นั่นก็คือ การเป่าลมผ่านเข้าไปในด้านหนึ่งของท่อโลหะกลวง (Blowing pipe)  โดยที่ด้านตรงข้ามเป็นแก้วที่หลอมเหลวถูกหมุนจนรวมกันเป็นก้อน ผู้ที่เป่าแก้วสามารถควบคุมรูปร่าง ขนาด ได้ตามต้องการในขณะที่แก้วกำลังร้อนอยู่ โดยการใช้อุปกรณ์ตกแต่งที่ทำด้วยไม้หรือการเข้าเตาหลอมหลายครั้ง
         การเป่าแก้วในปัจจุบัน มีอยู่ 2 รูปแบบ คือ 
             1. การเป่าแก้ววิทยาศาสตร์ (Scientific glassblowing)  หมายถึง การเป่าแก้วเพื่อการสร้างหรือซ่อมอุปกรณ์เครื่องแก้ววิทยาศาสตร์ที่ใช้ในห้องปฏิบัติการ สำหรับใช้ประกอบการทำการทดลองและวิจัยทางเคมีหรือสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยผลงานที่ออกมามักมีรูปแบบ ลักษณะและขนาดที่ค่อนข้างแน่นอน เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น ท่อนำก๊าซ, หลอดหยด, คอนเดนเซอร์ หรือชุดกลั่น เป็นต้น
ภาพที่ 1 ผลงานการเป่าแก้วทางวิทยาศาสตร์.jpg

ภาพที่ 1 ผลงานการเป่าแก้วทางวิทยาศาสตร์

(ที่มา : S P Glass เป่าแก้ว จำหน่ายเครื่องแก้ววิทยาศาสตร์, 2560)

             2. การเป่าแก้วศิลป์ (Artistic glassglowing) หมายถึง การเป่าแก้วเพื่อให้ได้ผลงาน                        ที่สวยงาม สำหรับทำเป็นเครื่องประดับ เครื่องตกแต่ง ทำของชำร่วยต่าง ๆ โดยผลงานที่ออกมามักมีรูปแบบไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับจินตนาการ, ความถนัดและการออกแบบของช่างเป่าแก้วแต่ละบุคคล เช่น เป่าแก้วเป็นรูปสัตว์, ดอกไม้ หรือ เรือ เป็นต้น
ภาพที่ 2 ผลงานการเป่าแก้วทางศิลป์.jpg

ภาพที่ 2 ผลงานการเป่าแก้วทางศิลป์

(ที่มา : กระทรวงวัฒนธรรม, 2558)

         การเป่าแก้วจำแนกตามกรรมวิธีในการเป่าแก้ว ได้ 2 ชนิด คือ
             1. การเป่าแก้วโดยไม่ใช้ตะเกียงเป่าแก้ว  เป็นวิธีการเป่าแก้วที่เก่าแก่ โดยเริ่มจากแก้ว                      ที่หลอมเหลว (แก้วที่หลอมอาจมาจากการผสมสารต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบของแก้วหรือมาจาก               เศษแก้วแตก) นำเอามารวมกันไว้ที่ปลายของท่อเหล็กที่จะเป่า (Iron blowpipe) และมีการตกแต่งรูปร่างโดยใช้แผ่นไม้  จากนั้นทำการเป่าลมเข้าไปในท่อเหล็กเพื่อให้แก้วที่หลอมเหลวพองตัวออก                  มีรูปร่างและขนาดตามต้องการ การเป่าโดยวิธีนี้ต้องอาศัยช่างเป่าแก้วที่มีความชำนาญเป็นพิเศษ ข้อเสียของวิธีนี้คือต้องใช้เวลามาก, ต้องมีเตาหลอมแก้ว, เสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง นอกจากนั้นบางครั้งช่างเป่าแก้วไม่สามารถทำงานโดยลำพังตนเองต้องมีผู้ช่วยร่วมทำงานด้วย
ภาพที่ 3 การเป่าแก้วโดยใช้ท่อเหล็ก.jpg

ภาพที่ 3 การเป่าแก้วโดยใช้ท่อเหล็ก

(ที่มา : ณัฐดนัย เนียมทอง, 2561)

             2. การเป่าแก้วโดยใช้ตะเกียงเป่าแก้ว เป็นวิธีการเป่าแก้วที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้มีความสะดวกและง่ายในการเป่าแก้ว ง่ายในการฝึกฝนเรียนรู้ถึงหลักการเบื้องต้น สามารถปฏิบัติการเพียงคนเดียวโดยไม่ต้องมีผู้ช่วย จะทำเมื่อใดและนานเท่าใดก็ได้ วิธีการเป่าแก้วโดยวิธีนี้เริ่มจากการ ใช้ตะเกียงเป่าแก้วเผาแท่งแก้วหรือหลอมแก้วให้เปลี่ยนเป็นรูปต่าง ๆ ที่มีความสวยงามในแง่ศิลปะหรือทำเป็นเครื่องแก้ววิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ได้ ศิลปะการเป่าแก้วของช่างแต่ละคนจะมีขอบเขตจำกัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจินตนาการและความชำนาญอย่างไรก็ดีความชำนาญจะเกิดขึ้นได้หากมีการปฏิบัติการบ่อย ๆ 
ภาพที่ 4 การใช้ตะเกียงเป่าแก้วขึ้นรูปม้าน้ำ.jpg

ภาพที่ 4 การใช้ตะเกียงเป่าแก้วขึ้นรูปม้าน้ำ

(ที่มา : สุวลัย อินทรรัตน์, 2562)

อุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในการเป่าแก้ว

         สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการเป่าแก้ว คือ อุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในการเป่าแก้ว ซึ่งมีจำนวนมากมาย สำหรับผู้เริ่มต้นใหม่อาจต้องการอุปกรณ์ที่จำเป็นเพียง 2-3 อย่างเท่านั้น แต่ที่สำคัญต้องมีตะเกียงเป่าแก้ว
         1. ตะเกียงเป่าแก้ว มีหลายชนิดแตกต่างกันไปตามบริษัทที่ผลิต แต่หลักการจะคล้ายคลึงกัน คือ การผ่านเชื้อเพลิง (อาจใช้ก๊าซบิวเทน, ก๊าซถ่านหิน, ก๊าซไฮโดรเจน, ก๊าซธรรมชาติ) เข้าไปในท่อหนึ่งและก๊าซออกซิเจนอีกท่อหนึ่ง ก๊าซทั้งสองจะพบกันที่หัวเตาหรือผสมกันก่อนถึงหัวเตาก็ได้ เมื่อจุดไฟจะได้เปลวไฟที่ร้อนมาก ตะเกียงเป่าแก้วสามารถจำแนกได้ 3 ระดับ ตามชนิดของเชื้อเพลิงที่ใช้ ดังนี้
             1.1 ตะเกียงเป่าแก้วความร้อนสูง โดยออกแบบมาเพื่อใช้ก๊าซบิวเทนผสมกับออกซิเจนเป็นเชื้อเพลิง อุณหภูมิของเปลวไฟ ประมาณ 1,800–2,200°C ตะเกียงเป่าแก้วชนิดนี้ใช้สำหรับดัดแปลงรูปร่างแก้วที่เป็นแก้วแข็ง เช่น แก้วโบโรซิลิเกต เป็นต้น การจุดไฟนั้นต้องจุดตอนที่ผ่านก๊าซบิวเทนเพียงเล็กน้อยไปยังหัวเตาก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มปริมาณก๊าซบิวเทน ในขณะเดียวกันค่อย ๆ เพิ่มก๊าซออกซิเจน เปลวไฟที่เกิดจากปฏิกิริยาของก๊าซทั้งสองนี้จะมีความร้อนสูงมาก
             1.2 ตะเกียงเป่าแก้วความร้อนต่ำ ออกแบบเพื่อให้ก๊าซบิวเทนกับอากาศผสมกันเป็นเชื้อเพลิง  เปลวไฟที่ได้จะมีอุณหภูมิประมาณ 800°C ตะเกียงเป่าแก้วชนิดนี้ใช้สำหรับเป่าแก้วอ่อน เช่น แก้วโซดา
             1.3 ตะเกียงเป่าแก้วความร้อนปานกลาง ตะเกียงเป่าแก้วชนิดนี้ใช้ก๊าซบิวเทน, ก๊าซออกซิเจนและอากาศผสมกัน ความร้อนของเปลวไฟที่ได้จะมีอุณหภูมิไม่สูงและไม่ต่ำจนเกินไป คือ ประมาณ 1,600°C นิยมใช้กันมากในประเทศเยอรมัน คือ ข้อดีของตะเกียงเป่าแก้วแบบนี้ คือ สามารถใช้กับแก้วที่แข็งและแก้วอ่อนได้ โดยการปรับอัตราการไหลของก๊าซทั้งสามตามต้องการ
             ดังนั้น การเลือกใช้ตะเกียงเป่าแก้ว ต้องคำนึงถึงงานที่จะทำเป็นสำคัญ โดยจะต้องพิจารณาเชื้อเพลิงที่ใช้, ความร้อนที่ต้องการ, ความทนทานต่อความร้อนของหัวเป่าแก้ว และขนาดของหัวเป่าแก้วด้วย ซึ่งในปัจจุบันมีตะเกียงเป่าแก้วถูกผลิตออกมามากมายหลายลักษณะ