ฐานข้อมูล เรื่อง ศิลปะแบบสุโขทัยในจังหวัดกำแพงเพชร
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:11, 28 กุมภาพันธ์ 2564 โดย Admin (คุย | มีส่วนร่วม)
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อเรียกทางการ
พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร
ชื่อเรียกอื่น ๆ
-
ที่ตั้งแหล่งค้นพบ
โบราณสถาน ในอุทยานประวัติศาสตร์เมืองกำแพงเพชร
ที่ตั้งพิกัดทางภูมิศาสตร์
16°30'30.1"N 99°31'06.3"E
หน่วยงานที่ดูแลรักษา
สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย กรมศิลปากร
ผู้ค้นพบ
กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
สถานะการขึ้นทะเบียน
ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นศาสนวัตถุ/ศิลปวัตถุ ของกรมศิลปากร
สถานที่เก็บรักษา
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร
ข้อมูลทางโบราณคดี
ประวัติความเป็นมา/คำบอกเล่า/ตำนาน
ภาคเหนือตอนล่าง ราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 เป็นจุดผ่านระหว่างเมืองเหนือ-ใต้ ตะวันออก-ตะวันตก ทำให้มีการติดต่อกับโลกภายนอก อันมีผลให้เกิดความเจริญ จากหมู่บ้านกลายเป็นชุมชนใหญ่ พัฒนาจนเป็นชุมชนใหญ่ พัฒนาจนเป็นบ้านเมือง ผู้คนต่างพื้นที่ไปมาหาสู่ติดต่อค้าขายต่อกัน ทำให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมกับคนในพื้นที่ ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 วัฒนธรรมขอม (ปัจจุบันคือเขมร) เป็นส่วนสำคัญในกลุ่มชนชั้นปกครองของสุโขทัย ดังหลักฐานทางด้านสถาปัตยกรรมและประติมากรรมแบบขอม ปราสาทแบบขอมที่วัดเจ้าจันทร์ ศรีสัชนาลัย คือหลักฐานอีกแห่งหนึ่งที่บ่งบอกถึงการมีอยู่ของวัฒนธรรมขอม ศิลปกรรมเหล่านี้มีมาก่อนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญของสุโขทัย อิทธิพลจากวัฒนธรรมขอมในสุโขทัยและศรีสัชนาลัยซึ่งแพร่หลายเข้ามาทางตะวันตก เริ่มเสื่อมถอยหลังจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สวรรคตในราว พ.ศ.1760 อาณาจักรสำคัญทางตะวันตกคือพุกาม ศูนย์กลางแห่งความเจริญรุ่งเรืองของประเทศพม่าก็เสื่อมโทรมเป็นลำดับมาจากการรุกรานของกองทัพมองโกลตั้งแต่ พ.ศ.1820 และล่มสลายลงหลังจากนั้นราว 10 ปี ท่ามกลางความถดถอยของศูนย์อำนาจภายนอก พ่อขุนผาเมืองกับพ่อขุนบางกลางหาวของไทย ผู้มีความเกี่ยวโยงบางอย่างกับเมืองบางยาง ได้ร่วมกันกำจัดอำนาจขอมสมาดโขลนลำพง ที่สุโขทัยและศรีสัชนาลัยได้สำเร็จราว พ.ศ.1782 ต่อมาพ่อขุนรามคำแหง โอรสพระองค์หนึ่งของพ่อขุนบางกลางหาว (ศรีอินทราทิตย์) เสด็จขึ้นครองราชย์ ต่อจากพ่อขุนบาลเมือง สุโขทัยในรัชกาลของพระองค์เจริญรุ่งเรือง ดังระบุอยู่ในศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ 1 หลังจากนั้นจึงเป็นการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพญาเลอไท มาจนถึงพญาลิไท (พระมหาธรรมราชาที่ 1) เป็นลำดับ พุทธศาสนาในสุโขทัยระยะนั้นจึงเจริญรุ่งเรืองดีแล้ว พญาลิไททรงฝักใฝ่ในทางศาสนา ทรงสร้างวัตถุธรรมทางศาสนา เช่น วัดวาอาราม พระพุทธรูป อันเป็นช่วงแห่งความเจริญรุ่งเรืองทางด้านศิลปกรรมของสมัยสุโขทัย อย่างไรก็ตามอำนาจทางด้านการเมืองของสุโขทัยในรัชกาลของพระองค์คงถดถอยลง จึงต้องทรงพยายามขยายอาณาเขต โดยรวบรวมเมืองทางใต้คือ กำแพงเพชร นครสวรรค์ ทางตะวันออกคือ แพร่ น่าน พระองค์ต้องเสด็จไปประทับที่เมืองพิษณุโลกระหว่าง พ.ศ.1905-1911 เพี่อจะสามารถคุมเมืองทางแม่น้ำป่าสักได้และประวิงการคุกคามของกรุงศรีอยุธยาซึ่งสถาปนาขึ้นแล้วเมื่อ พ.ศ.1893 แต่ในที่สุดกองทัพของกรุงศรีอยุธยาก็สามารถขึ้นมาลิดรอนอำนาจของสุโขทัยได้ และเสริมสร้างสุโขทัยให้เป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจโดยสมบูรณ์ เริ่มขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18 หรือต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ศิลาจารึกบางหลักของสุโขทัย เรียกศรีสัชนาลัยควบคู่กับสุโขทัย (ศรีสัชนาลัย-สุโขทัย) หรือเรียกสลับว่า สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย อันเป็นที่มาของคำว่า ราชธานีแฝด สมัยสุโขทัยเป็นวัฒนธรรมที่เจริญขึ้นในบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19–21 โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองสุโขทัย ทั้งนี้ในสมัยสุโขทัยราวพุทธศตวรรษที่ 19–20 พื้นที่ริมสองฝั่งแม่ปิงในเขตจังหวัดกำแพงเพชร ปรากฏร่องรอยเมืองโบราณที่สำคัญหลายแห่งที่มีหลักฐานอยู่ในสมัยสุโขทัย เช่น เมืองไตรตรึงษ์ เมืองคณฑี เมืองเทพนคร บ้านคลองเมือง เมืองนครชุม และเมืองกำแพงเพชร โดยเฉพาะเมืองนครชุม และเมืองกำแพงเพชร โดยเฉพาะเมืองนครชุมที่ตั้งอยู่ริมคลองสวนหมากทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิงอาจจะเกิดขึ้นก่อนเมืองกำแพงเพชร เมืองโบราณสมัยสุโขทัยในจังหวัดกำแพงเพชรที่สำคัญ คือ เมืองนครชุม ซึ่งเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิงด้านตรงข้ามกับเมืองกำแพงเพชรในปัจจุบัน ลักษณะผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมนและวางตัวตามแนวการไหลของแม่น้ำปิง คูเมือง มีขนาดกว้าง 400 เมตร ยาว 2,900 เมตร เมืองนครชุมถือว่าเป็นเมืองสำคัญของอาณาจักรสุโขทัย โดยปรากฏเรื่องราวในศิลาจารึกหลักที่ 3 (จารึกนครชุม) ที่กล่าวถึงเหตุการณ์พระมหาธรรมราชา (ลิไท) กษัตริย์สุโขทัยโปรดฯ ให้นำพระศรีรัตนมหาธาตุ และต้นศรีมหาโพธิ์ ที่นำมาจากอาณาจักรลังกา มาประดิษฐานไว้กลางเมืองนครชุม เมื่อ พ.ศ.1900 สันนิษฐานว่า คือ เจดีย์วัดพระบรมธาตุซึ่งปัจจุบันเป็นเจดีย์ทรงพม่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า เจดีย์องค์เดิมคงเป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูมหรือเรียกอีกอย่างว่าพุ่มข้าวบิณฑ์ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอนุญาตให้พ่อค้าไม้ชาวพม่าชื่อ พระยาตะก่า ซ่อมแซมปฏิสังขรณ์และก่อใหม่จนกลายเป็นรูปแบบพม่าดังเช่นปัจจุบัน หลักฐานทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของเมืองนครชุมในสมัยสุโขทัย ปัจจุบันเมืองเก่าสุโขทัย ศรีสัชนาลัย รวมทั้งกำแพงเพชรอีกหนึ่งในเมืองเครือข่ายของสุโขทัยได้รับยกย่องจากองค์การนานาชาติยูเนสโก (UNESCO) ว่าเป็นมรดกโลก ความหมายของ มรดกโลก จะสมบูรณ์ เมื่อการฟื้นฟูใดๆ ของเมืองหรือศาสนสถานร้างเป็นไปด้วยความเหมาะสมแก่บริบทของแต่ละแห่ง ด้วยความรู้และความเข้าใจเพียงพอ อันสะท้อนถึงการให้ความเคารพต่อภูมิปัญญาบรรพชน ศิลปะสุโขทัย พุทธศาสนาเถรวาทจากประเทศลังกา โดยเฉพาะจากเมืองมอญทางตอนใต้ของพม่า ได้เข้ามาแทนที่วัฒนธรรมขอม ความเชื่อในพุทธศาสนาเถรวาทสะท้อนผ่านงานช่างที่งามลึกซึ้ง เช่น พระพุทธรูปสุโขทัยที่เรารู้จักดี ศาสนสถานขนาดเล็กตามสัดส่วนกับพื้นที่ ย่อมเป็นภาพสะท้อนวิธีคิด วิถีแห่งสังคม วัฒนธรรมของสุโขทัย โดยจะเห็นชัดเจนขึ้นเมื่อเทียบความงามของเทพเจ้าและความเชื่อในศาสนาฮินดู หรือความลึกลับในพุทธศาสนาเถรวาทของอาณาจักรพุกาม คุณค่าอันแท้จริงของศิลปะสุทัยอยู่ที่ภูมิปัญญาช่างในการปรับเปลี่ยนแรงบันดาลทางศาสนา และศิลปะจากแหล่งที่เจริญขึ้นก่อน เช่น พม่า กัมพูชา รวมทั้งแหล่งความเจริญร่วมสมัยคือ ล้านนา โดยนำมาผสมผสานสร้างสรรค์อย่างกลมกลืนในสภาพแวดล้อมของสุโขทัย จนเป็นแบบฉบับเฉพาะตัวได้อย่างน่าสนใจ อัตลักษณ์ของศิลปะสมัยสุโขทัยสืบเนื่องมาจนถึงเวลาที่ราชสำนักสุโขทัยหมดความสำคัญลง งานช่างจึงขาดการเกื้อหนุนส่งเสริม แต่แบบฉบับความงามของศิลปะสุโขทัยก็ยังเป็นแรงบันดาลใจ และอิทธิพลแก่ช่างแคว้นล้านนา กรุงศรีอยุธยา รวมทั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งยังมีการสร้างพระพุทธรุปแบบสุโขทัยอยู่ในปัจจุบัน ประติมากรรม ช่างสมัยสุโขทัยถนัดงานปั้นปูน และปั้นขี้ผึ้งเพื่อผ่านกระบวนการหล่อเป็นรูปสำริด ส่วนงานสลักหินในวัฒนธรรมขอมมีอยู่ก่อนสมัยสุโขทัย ก่อนสุโขทัย หลักฐานทางด้านประติมากรรมก่อนสมัยสุโขทัย นอกจากพระพุทธรุปทรงเครื่องแบบลพบุรี มีขนาดเล็ก หล่อด้วยสำริด ยังพบประติมากรรมลอยตัว สลักจากหินทราย เป็นรูปเทวดา เทวนารี จำนวน 6 รูป มีทั้งขนาดเท่าคนและเล็กกว่า ที่มีความชำรุดเสียหายลวดลายสลักในส่วนของเครื่องประดับ เช่น กรองศอ เข็มขัด มีพู่ห้อย ตลอดจนการนุ่งผ้า ชักชายผ้ายาว เทียบได้กับศิลปะขอมแบบนครวัด โดยสืบต่อมาในศิลปะแบบบายน พระพุทธรูปศิลปะสมัยสุโขทัย มีความแตกต่างจากพระพุทธรูปทรงเครื่องของฝ่ายมหายาน เพราะพระพุทธรูปในศิลปะสมัยสุโขทัยตามแบบแผนของชาวพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ถ่ายทอดผ่านรูปทรงอันเกิดจากสัดส่วน เส้นอก และปริมาตรซึ่งประสานกลมกลืนกันอย่างเรียบง่าย นักวิชาการได้แบ่งลักษณะของพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยออกเป็น หมวดวัดตะกวน หมวดใหญ่ หมวดพระพุทธชินราช และหมวดกำแพงเพชร อนึ่งความเชื่อในศาสนาฮินดูมีอยู่ด้วยแต่เป็นส่วนน้อย ปะปนกับพุทธศาสนาได้ปรากฏอยู่ที่การสร้างเทวรูป เช่น พระนารายณ์ พระพรหม พระอิศวร ด้วยสุนทรียภาพไม่แตกต่างจากพระพุทธรูป ทั้งนี้ มีช่วงพัฒนาการ ราว พ.ศ.2508 นักโบราณคดีได้พบพระพุทธรูปปูนปั้นซึ่งเปื่อยยุ่ยจนรักษาไว้ไม่ได้ พระอุระของพระพุทธรูปองค์นี้บรรจุชิ้นส่วนของพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดเล็ก เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรประกอบชิ้นส่วนดังกล่าวได้เป็นพระพุทธรูปเพียงครึ่งท่อนบน ทรงเครื่องจีวรเฉียงเปิดพระอังสาขวา บนพระอังสาซ้ายมีชายจีวรสั้นพาดอยู่ ชายจีวรหยักแยกสองแฉกคล้ายเขี้ยวตะขาบหักหลุดไปบางส่วน เม็ดพระศกค่อนข้างเล็ก อุษณีษะหรือกะโหลกเศียรที่โป่งนูน อันเป็นหนึ่งในลักษณะมหาบุรุษ รัศมีที่หักหายคงเป็นทรงดอกบัวตูม พระพักตร์กลม พระนลาฏค่อนข้างกว้าง แนวเม็ดพระศกหย่อนเล็กน้อยที่กลางพระนลาฏ พระขนงโก่ง หัวพระขนงไม่ชิดกัน พระเนตรหรี่ลงต่ำ พระนาสิกโด่ง แต่ค่อนข้างสั้น พระโอษฐ์อิ่ม พระหนุ (คาง) เป็นปม ลักษณะดังกล่าวควรเป็นพระพุทธรูประยะแรกของศิลปะสุโขทัย ในครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 19 สอดคล้องกับการกำหนดอายุจากหลักฐานการขุดแต่งอีกครั้งของกรมศิลปากร ระหว่าง พ.ศ.2528-2529 ที่เจดีย์สี่เหลี่ยมซึ่งอยู่ทางด้านหน้าของวัดนี้ ลักษณะของพระพุทธรูประยะแรกของสุโขทัย เรียกกันมาก่อนว่า หมวดวัดตะกวน เพราะพบที่คล้ายคลึงกันเป็นครั้งแรกที่ วัดตะกวน สุโขทัย การเปรียบเทียบพระพุทธรูปแบบนี้กับพระพุทธรูปแบบเชียงแสนรุ่นแรกของแคว้นล้านนา ราวครึ่งแรกของพระพุทธศตวรรษที่ 19 พบว่ามีส่วนคล้ายคลึงกัน แหล่งบันดาลใจจากเมืองมอญ-พม่า โดยเฉพาะในช่วงปลายสมัยเมืองพุกาม ย่อมเป็นต้นแบบระยะแรกทั้งศิลปะของเเคว้นล้านนาและสุโขทัย พระพุทธรูปรุ่นแรกของสุโขทัยเป็นงานปูนปั้น ทำให้ทราบได้ว่างานหล่อสำริดของแคว้นล้านนาเจริญมาก่อน จนเมื่อล่วงเข้าสู่ครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 19 งานหล่อสำริดในศิลปะสุโขทัยจึงเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการหล่อพระพุทธรูปสำริดจำนวนมาก และมีคุณภาพ ความสมบูรณ์ของรูปแบบ รวมถึงความงามอย่างอุดมคติของพระพุทธรูปหมวดใหญ่ในศิลปะสุโขทัย ก่อนจะพัฒนามาเป็นลักษณะของพระพุทธรุปหมวดใหญ่ แนวโน้มการคลี่คลายเชื่อว่าปรากฏอยู่ที่พระพุทธรูปที่เจดีย์วัดช้างล้อม ศรีสัชนาลัย บรรดาพระพุทธรูปปูนปั้นที่ชำรุดของเจดีย์องค์นี้ประดิษฐานอยู่ภายในจระนำห้าช่อง เรียงรายที่แต่ละด้านของฐานสี่เหลี่ยมเหนือลานประทักษิณ พระพุทธรูปเหล่านั้นประทับขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ทั้งสองแสดงปางมารวิชัย ทรงครองจีวรห่มเฉียงเปิดพระอังสาขวา ชายจีวรยาวพาดเหนือพระอังสาซ้าย โดยจีบทบเป็นริ้ว พระพักตร์คลี่คลายจากลักษณะกลมไปบ้าง เม็ดพระศกเล็ก พระนลาฏยังค่อนข้างกว้าง อุษณีษะนูน รัศมีหักหายไป พระขนงวาดเป็นวงโค้ง หัวพระขนงจรดกันโดยต่อเนื่องลงมาเป็นสันโด่งของพระนาสิก ชายจีวรหรือสังฆาฏิที่จีบทบกันเป็นริ้วเป็นแบบอย่างพิเศษ ปรากฏในช่วงเวลาสั้นๆ โดยอาจมีต้นแบบจากพระพุทธรูปนาคปรก หล่อด้วยสำริด พบที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พระพุทธรูปองค์นี้มีศักราชระบุว่าหล่อขึ้นใน พ.ศ.1834 แบบอย่างพิเศษของชายจีวรได้พบที่พระพุทธรูปลีลาพระพักตร์รูปไข่ ปั้นด้วยปูนแบบนูนสูง ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เชลียง จัดอยู่ในพระพุทธรูปหมวดใหญ่ พระพุทธรูปนาคปรก ปั้นด้วยปูน พบน้อยมากในศิลปะสุโขทัย องค์หนึ่งมีอยู่ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เชลียง ได้รับการบูรณะแล้ว อีกองค์หนึ่งประดิษฐานในจระนำของเจดีย์ราย ด้านหลังของเจดีย์ประธานวัดเจดีย์เจ็ดแถว ศรีสัชนาลัย
ภาพที่ 1 พระพุทธรูปศิลปะหมวดวัดตะกวน
พระพุทธรูปลีลา จากพุทธประวัติ ตอนพระพุทธองค์เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นมีอยู่ก่อนในจิตรกรรมฝาผนังของศิลปะลังกาและศิลปะพุกาม จึงสันนิษฐานว่าได้ว่า การสร้างพระพุทธรูปลีลาเริ่มขึ้นในศิลปะล้านนาก่อน ต่อมาจึงสร้างกันในศิลปะสุโขทัย บรรดาพระพุทธรูปปูนปั้นแบบนูนสูง มีทั้งพระพุทธรูปยืนและพระพุทธรูปลีลารวม 28 องค์ ตามจำนวนของพระอดีตพุทธเจ้า ประดิษฐานในจระนำของเจดีย์บริวารประจำทิศหลักและทิศเฉียงรวม 8 องค์ ของเจดีย์พระศรีมหาธาตุ วัดมหาธาตุสุโขทัย จำนวน 12 องค์ ของเจดีย์ประจำทิศหลัก พระพุทธรูปลีลาส่วนใหญ่ปั้นปูนแบบนูนสูง เริ่มมีแบบอย่างที่ได้สัดส่วนดีแล้ว เช่นที่ประดิษฐานภายในจระนำของเจดีย์รายบางองค์ ในวัดเจดีย์เจ็ดแถว ศรีสัชนาลัย เมื่อพญาลิไทเสด็จขึ้นครองราชย์ที่สุโขทัยแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดตระพังทองหลาง สุโขทัยซึ่งมีงานปูนปั้นแบบนูนสูง ประดับผนังจระนำขนาดใหญ่ของมณฑปจระนำด้านทิศใต้ ประดับพุทธประวัติตอนพระพุทธองค์เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์ พระพุทธองค์ในพระอิริยาบถลีลา เสด็จลงทางบันได มีเหล่าเทวดาตามเสด็จ พระพุทธรูปทรงครองจีวรห่มเฉียง ชายจีวรเป็นแถบเล็กและยาวลงมาจรดพระนาภี พระพุทธรูปลีลานูนสูง ในศิลปะสุโขทัย นิยมสร้างไว้ร่วมกับพระพุทธรุปในพระอิริยาบถอื่นด้วย คือ นั่ง นอน ยืน รวมเรียกว่า พระสี่อิริยาบถ ปั้นไว้ขนาดใหญ่ ประดิษฐานที่ผนังของแกนสี่เหลี่ยม พระพุทธรูปลีลา จะปั้นไว้ที่ผนังด้านตะวันออกเสมอ พระพุทธรูปยืนที่ผนังด้านตะวันตก พระพุทธรูปนอนอยู่ทางด้านเหนือ และพระพุทธรูปนั่งไว้ด้านใต้ แต่บางแห่งก็สลับที่กัน นอกจากขนาดสูงใหญ่ของพระพุทธรุปและแกนสี่เหลี่ยมแล้ว ตำแหน่งที่สร้างมีความสำคัญ คือมีวิหารต่อเนื่องไปทางตะวันออก แกนสี่เหลี่ยมนี้จึงแทนเจดีย์ ประธานของวัด
ภาพที่ 2 พระพุทธรูปลีลา ศิลปะสุโขทัย
พระพุทธรูปหมวดใหญ่ เป็นที่รู้จักกันดี โดยเฉพาะพระพุทธรูปประทับขัดสมาธิราบ พระหัตถ์แสดงปางมารวิชัย ทรงครองจีวรหรือชายสังฆาฏิยาว ปลายเป็นรูปเขี้ยวตะขาบอยู่ที่ระดับพระนาภี ขมวดพระเกศาใหญ่อย่างสมส่วน อุษณีษะนูนทรงมะนาวตัด รัศมีรูปเปลว แนวขมวดพระเกศาโค้งลงเป็นมุมแหลมที่กลางพระนลาฏ พระขนงวาดโค้ง สันพระนาสิกต่อเนื่องจากแนวที่จรดกันของของหัวพระขนง พระเนตรหรี่ลงต่ำ พระนาสิกโด่ง (งุ้มเล็กน้อย) ลักษณะเช่นนี้คงสร้างขึ้นในปลายพุทธศตวรรษก่อน สืบเนื่องมาถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 อยู่ในช่วงรัชกาลพญาลิไท และแม้ผ่านเลยมาสู่รัชกาลต่อๆมา ก็ยังรักษาเค้าความงามตามอุดมคติดังกล่าว ในรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระศาสดาจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก ปัจจุบันในวิหารวัดบวรนิเวศฯ พระศรีศากยมุนี หล่อด้วยสำริด ในวิหารหลวงวัดสุทัศน์ฯ กรุงเทพฯ อัญเชิญมาในรัชกาลพรบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพักตร์ของพระศรีศากยมุนี ค่อนข้างเหลี่ยมหรือกลมเกินกว่าจะเป็นรูปไข่แบบพระพุทธรูปหมวดใหญ่ อนึ่งคำว่าหมวดใหญ่ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงขนาด แต่หมายถึงกลุ่มพระพุทธรูปที่พบจำนวนมาก ที่มีลักษณะอันเป็นแบบแผนชัดเจนในรัชกาลของพญาลิไท ซึ่งโดยทั่วไปของพระพุทธรูปหมวดใหญ่เท่าที่เคยพบขนาดใหญ่ราวหนึ่งหรือสองเท่าของสัดส่วนคน ขนาดของพระศรีศากยมุนีเกินกว่าสัดส่วนคนหลายเท่า หากเชื่อว่าสร้างขึ้นในรัชกาลของพญาลิไท ก็สามารถสันนิษฐานได้ว่าพระศรีศากยมุนี เป็นฝีมือช่างที่ถนัดงานสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ซึ่งมีเงื่อนไขและกรรมวิธีพิเศษไปกว่าการสร้างพระพุทธรูปขนาดเล็ก เป็นผลให้พระพักตร์ของพระศรีศากยมุนีแตกต่างจากพระพักตร์รูปไข่ของพระพุทธรูปหมวดใหญ่ แม้สร้างในช่วงเวลาร่วมสมัยกัน เพราะงานสร้างพระพุทธรุปขนาดใหญ่ให้มีสัดส่วนสมบูรณ์งดงาม ย่อมต้องการช่างปั้นและช่างหล่อที่มีความสามารถขั้นสูงแล้วเท่านั้น
ภาพที่ 3 พระพุทธรูปหมวดใหญ่ ศิลปะสุโขทัย
พระพุทธชินราช ประดิษฐานในวิหารหลวง วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก ลักษณะโดยรวมอยู่ในเค้าเดียวกับพระศรีศากยมุนี เพราะมีขนาดใหญ่ไล่เลี่ยกัน และต่างก็มีนิ้วพระหัตถ์ยาวเสมอกัน ด้วยเพราะพระพุทธชินราช นั้นมีความสำคัญในประวัติศาสตร์และมีชื่อเสียงในด้านความงดงามสมส่วน จึงใช้เป็นชื่อหมวดหนึ่งของพระพุทธรูปสุโขทัย โดยมีข้อสังเกตว่าพระพุทธชินราชมีลักษณะอ่อนช้อยกว่าพระศรีศากยมุนี พระพุทธชินราช จึงอาจสร้างขึ้นหลังกว่าเล็กน้อย คือ สมัยพญาไสลือไท พระพุทธรูปสุโขทัยหมวดใหญ่จำนวนมาก หล่อด้วยสำริด มีตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่เท่าคน หรือใหญ่กว่าเล็กน้อย คงเกิดจากการทำสืบทอด ทำซ้ำจำลองกันมานาน จนล่วงมาในครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 20 ก็ยังทำกันอยู่ อย่างไรก็ตาม โอกาสที่ลักษณะบางประการจะแตกต่างกันไปบ้าง ตามพื้นเพของช่างและฝีมือช่าง เช่น พระพักตร์แปลกจากกันไปบ้าง แต่ยังรักษาลักษณะโดยรวมของพระพุทธรูปหมวดใหญ่เอาไว้
ภาพที่ 4 พระพุทธรูปหมวดพระพุทธชินราช ศิลปะสุโขทัย
ช่วงปลายสมัยสุโขทัย ยังคงมีเกี่ยวเนื่องที่พบได้ คือ ช่างปั้นพระพุทธรูปของเมืองต่างๆ ที่รับอิทธิพลของพระพุทธรูปหมวดใหญ่ของสุโขทัย เช่น ช่างกำแพงเพชร ได้สร้างพระพุทธรูปหมวดกำแพงเพชร ของตน ที่มีพระนลาฏกว้างและพระหนุ (คาง) เสี้ยม พระพักตร์เช่นนี้พบได้น้อย อยู่ในช่วงกลางของพุทธศตวรรษที่ 20 พระพุทธรูปแบบอู่ทองรุ่นที่ 3 ของกรุงศรีอยุธยา ได้พบจำนวนมากในกรุของปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ พระนครศรีอยุธยา ซึ่งก่อสร้างขึ้นใน พ.ศ.1967 พระพักตร์ของพระพุทธรูปอู่ทองรุ่นนี้ กลายจากเหลี่ยมเป็นรูปไข่ คือหนึ่งในหลายลักษณะจากพระพุทธรูปหมวดใหญ่ ในส่วนของพระพุทธรูปหมวดใหญ่แบบสุโขทัย ทั้งแบบอิริยาบถนั่ง และพระพิมพ์ในพระอิริยาบถลีลาที่เรียกกันว่า กำแพงเขย่ง ได้พบภายในกรุนี้ด้วย ล่วงมาถึงพุทธศตวรรษ ที่ 21 แบบอย่างของพระพุทธรุปหมวดใหญ่ ยังคงป็นแรงบันดาลใจสำหรับช่างล้านนา โดยนำเข้ามาผสมผสานลักษณะกับพระพุทธรูปแบบเชียงแสนรุ่นแรก กลายเป็นแบบที่เรียกว่า พระพุทธรูปเชียงแสงรุ่นหลัง สุโขทัยเสื่อมความสำคัญมาเป็นลำดับ สิ้นสุดลงใน พ.ศ.1981 ตรงกับรัชกาลของพระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล)
ภาพที่ 5 พระพุทธรูปหมวดกำแพงเพชร ศิลปะสุโขทัย
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร กำแพงเพชร เป็นดินแดนที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน ดังปรากฏหลักฐานความเจริญรุ่งเรืองในด้านต่างๆ ทั้งด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปกรรม ความสำคัญของเมืองกำแพงเพชร เห็นได้จากการที่องค์การยูเนสโก ประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร เป็นมรดกโลก เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2534 ในฐานะเป็นตัวแทนที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ด้านศิลปกรรมที่งดงาม และเป็นผลงานชิ้นเอกที่ได้รับการสร้างสรรค์จากอัจฉริยภาพด้านศิลปะอย่างแท้จริง รวมทั้งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ที่หาได้ยากยิ่ง ตลอดจนเป็นประจักษ์พยาน มีหลักฐานแสดงให้เห็นถึงขนบธรรมเนียมประเพณี หรืออารยธรรมที่ยังคงหลงเหลืออยู่ หลักฐานที่แสดงให้เห็นความเจริญรุ่งเรืองของเมืองกำแพงเพชร ได้เก็บรวบรวมและรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อเก็บรวบรวมสงวนรักษา และจัดจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่ได้จากการดำเนินงานทางโบราณคดี ภายในเขตจังหวัดกำแพงเพชร และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปกรรมท้องถิ่นของจังหวัดกำแพงเพชร มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2514 โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นายสุกิจ นิมมานเหมินทร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในขณะนั้น เป็นผู้แทนพระองค์
ภาพที่ 6 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร
เมื่อแรกสร้าง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร มีอาคารทรงไทยประยุกต์สองชั้น ก่ออิฐถือปูนเพียงหลังเดียว ชั้นล่างจัดแสดงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดกำแพงเพชร ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ รวมทั้งเรื่องราวทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย ชั้นบนจัดแสดงโบราณวตถุ ศิลปวัตถุ ศิลปะสุโขทัยและศิลปะอยุธยาที่พบในจังหวัดกำแพงเพชร และจังหวัดใกล้เคียง หลังจากนั้นการจัดแสดงมีการปรับปรุงเล็กน้อย ด้วยข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ จนต่อมาได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมอีก 3 หลัง โดยมีทางเชื่อมระหว่างอาคารแต่ละหลังโดยรอบ ใน พ.ศ.2552 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร ได้รับการจัดสรรงบประมาณในการปรับปรุงนิทรรศการในส่วนครึ่งหลัง การจัดแสดงนิทรรศการถาวรจึงแบ่งออก ดังนี้ อาคารนิทรรศการ 1 จัดแสดงเรื่องราวของเมืองกำแพงเพชรตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมาจนถึงยุคประวัติศาสตร์ โดยแบ่งยุคสมัยเป็น สมัยทวารวดี สมัยลพบุรี และสมัยสุโขทัย อาคารนิทรรศการ 2 จัดแสดงยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ โดยต่อเนื่องมาจากอาคารนิทรรศการ 1 แบ่งเป็นสมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ อาคารนิทรรศการ 3 จัดแสดงนิทรรศการถาวรในส่วนสุดท้าย คือ กำแพงเพชรในปัจจุบัน และชนกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเชื่อมต่อกับโถงประชาสัมพันธ์และแนะนำจังหวัดกำแพงเพชร ทั้งนี้ ในส่วนของอาคารนิทรรศการ 1 เป็นส่วนที่จะกล่าวถึง เนื่องจากมีนิทรรศการถาวรของพระพุทธรูปที่เป็นศิลปะสุโขทัยอยู่ในส่วนที่ได้รับการค้นพบภายในเขตจังหวัดกำแพงเพชร โดยมีการจัดแสดงอยู่ ดังนี้ 1. พระพุทธรูปลีลา (เลขทะเบียน 16/1/2543 , สำริด, ขนาดสูง 93 เซนติเมตร, ศิลปะสุโขทัย, พุทธศตวรรษที่ 20-21 : พบจากการขุดแต่งโบราณสถานวัดกรุสี่ห้อง เขตอรัญญิก นอกเมืองกำแพงเพชรด้านทิศเหนือ )
ภาพที่ 7 พระพุทธรูปลีลา ศิลปะสุโขทัยในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร
พระพุทธรูปลีลาองค์นี้ได้ค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2542 บริเวณอาคารหมายเลข 1 (วิหาร) ขณะขุดโบราณสถานวัดกรุสี่ห้อง ในเขตอรัญญิก มีพุทธลักษณะตามแบบศิลปะสุโขทัย องค์พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถเดินหรือกำลังเคลื่อนไหว พระชงฆ์ขวาเหลื่อมถอยหลังไปเล็กน้อย พระกรซ้ายชำรุด พระหัตถ์หักหายไป แต่สันนิษฐานว่าคงยกพระหัตถ์ซ้ายนี้ขึ้นหันฝ่าพระหัตถ์ไปข้างหน้า ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งปางแสดงธรรม (วิตรรกะมุทรา) หรือปางประทานอภัย (อภัยมุทรา) โดยอาจเทียบได้กับพระพุทธรูปลีลาลอยตัวจากวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพฯ และองค์ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง จังหวัดสุโขทัย ทั้งนี้คติการสร้างพระพุทธรุปลีลา เชื่อกันว่าน่าจะมาจากพุทธประวัติตอนเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ภายหลังจากพระพุทธองค์เสด็จขึ้นไปเทศนาโปรดพุทธมารดาเป็นมารดาเป็นเวลา 3 เดือน แล้วจึงเสด็จกลับโลกมนุษย์ ณ เมืองสัวงกัสสะ พระอินทร์ได้เนรมิตรบันไดทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ บันไดแก้วอยู่ตรงกลางเป็นที่เสด็จลงของพระพุทธองค์ บันไดทองอยู่ด้านขวาของพระพุทธองค์ได้เป็นทางลงของพระอินทร์ และด้านซ้ายเป็นบันไดเงินทางลงของพระพรหม เหตุการณ์ในพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์นั้น เป้นตอนที่พระพุทธองค์อยู่ในอิริยาบถลีลา ได้ปรากฏหลักฐานเป็นภาพปูนปั้นที่มณฑปวัดตระพังทองหลาง และมณฑปวัดตึก จังหวัดสุโขทัย รวมทั้งภาพจารด้านหนึ่งของศิลาจารึกรูปใบเสมาที่ได้จากวัดสรศักดิ์ จังหวัดสุโขทัย โดยอีกด้านหนึ่งของศิลาจารึกมีข้อความกล่าวถึงการสร้าง “พระเจ้าหย่อนตีน” กับ พระเจ้าจงกลม” ซึ่งอาจมีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธรูปลีลา ทั้งนี้การทำพระพุทธรูปลีลาในศิลปะสุโขทัยอาจได้รับแรงบันดาลใจมาจากศิลปะลังกา สมัยโปลนนารุวะ เมื่อช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ดังมีหลักฐานเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังแสงภาพพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์ที่วิหารติวังกะ (Tivanka Pilimage) เมืองโปลนนารุวะ ประเทศศรีลังกา 2. เศียรพระพุทธรูป (เลขทะเบียน 16/340/2513 , สำริด, ขนาดสูง 67.5 เซนติเมตร, ศิลปะสุโขทัย, พุทธศตวรรษที่ 20 : รับมอบมาจากศาลากลางจังหวัดกำแพงเพชร)
ภาพที่ 6 เศียรพระพุทธรูป ศิลปะสุโขทัยในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร
เศียรพระพุทธรูปนี้มีลักษณะเช่นเดียวกันพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยหมวดใหญ่ทั่วไป แต่ที่ต่างออกไปคือ การทำพระนลาฏกว้าง และพระหนุเสี้ยม ซึ่งจัดเป็นลักษณะเฉพาะของศิลปกรรมสกุลช่างกำแพงเพชร 3. พระพุทธรูปปางมารวิชัย (1) (เลขทะเบียน 16/271/2513 , สำริด, ขนาดสูง พร้อมฐาน 27.5 เซนติเมตร, หน้าตักกว้าง 20 เซนติเมตร, ศิลปะสุโขทัย, พุทธศตวรรษที่ 20-21 : พบจากการขุดแต่งโบราณสถานวัดพระแก้ว กลางเมืองกำแพงเพชร)
ภาพที่ 9 พระพุทธรูปปางมารวิชัย 1 ศิลปะสุโขทัยในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร
พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานหนเกระดานเรียบ ลักษณะพระพักตร์แสดงเอกลักษณ์ทางศิลปกรรมของฝีมือช่างกำแพงเพชร โดยเฉพาะมีพระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชงฆ์ ปลายนิ้วพระหัตถ์ชี้ลงเบื้องล่างเพื่อเรียกพระแม่ธรณีมาเป็นพยานว่าในชาติก่อนๆ พระองค์ได้สั่งสมบำเพ็ญบารมีมาเป็นพยานว่า ในชาติก่อนๆ พระองค์ได้สั่งสมบำเพ็ญบารมีมาเพียงพอที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในชาตินี้ แม่พระธรณีจึงบีบมวยผมหลั่งน้ำออกมาไหลท่วมเหล่ามาร 4. พระพุทธรูปปางมารวิชัย (2) (เลขทะเบียน 16/234/2534 , สำริด, ขนาดสูง พร้อมฐาน 69 เซนติเมตร, หน้าตักกว้าง 45 เซนติเมตร, ศิลปะสุโขทัย, พุทธศตวรรษที่ 20-21 : เดิมประดิษฐานอยู่ในห้องผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร รับมอบวันที่ 21 ตุลาคม 2534)
ภาพที่ 10 พระพุทธรูปปางมารวิชัย 2 ศิลปะสุโขทัยในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร
พระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์นี้ ยังคงแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยหมวดใหญ่ แต่มีรายละเอียดบางประการที่อาจจัดได้ว่าเป็นฝีมือสกุลช่างกำแพงเพชร โดยเฉพาะได้แก่ พระนลาฏกว้าง พระหนุเสี้ยม ลักษณะพระพักตร์ค่อนข้างยาว รวมทั้งความนิยมในการทำวงแหวนคั่นกลางระหว่างพระอุษณีษะกับพระรัศมี นับว่าเป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย สกุลช่างกำแพงเพชร ที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์มากที่สุดองค์หนึ่ง 5. พระพุทธรูปปางมารวิชัย (3) (เลขทะเบียน 16/758/2518 , สำริด, ขนาดสูงพร้อมฐาน 46.5 เซนติเมตร, หน้าตักกว้าง 28.5 เซนติเมตร, ศิลปะสุโขทัย, พุทธศตวรรษที่ 20-21 : พบที่วัดพระธาตุ กลางเมืองกำแพงเพชร)
ภาพที่ 11 พระพุทธรูปปางมารวิชัย 3 ศิลปะสุโขทัยในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร
การสร้างพระพุทธรูปที่ทำด้วยโลหะของชาวไทยนับตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นต้นมานั้น ได้ใช้วิธีการหล่อโลหะแบบสูญขี้ผึ้ง (lost wax method) โลหะที่ใช้เป็นวัตถุดิบหลัก คือ ทองแดงและดีบุก หรือที่เรียกว่ากันว่า สำริด นอกจากนี้อาจมีการผสมโลหะและให้น้ำโลหะไหลเข้าไปในแม่พิมพ์อย่างทั่วถึง การหล่อโลหะดังกล่าวสามารถสรุปวิธีการทำได้ดังนี้ ขั้นตอนแรกจะต้องทำหุ่นแกนดินให้เป็น เค้าโครงของประติมากรรม ตอกหมุดโลหะที่เรียกว่า ทอย ฝังลงในหุ่นแกนดินโดยรอบเพื่อยึดให้มีความมั่นคง แล้วนำน้ำผึ้งมาพอกทับ ตกแต่งรายละเอียดต่างๆ ตามต้องการ โดยต้องปั้นขี้ผึ้งให้มีความหนาของเนื้อโลหะ จากนั้นจึงนำดินผสมมูลวัวมาทาบนผิวขี้ผึ้งแล้วจึงนำดินมาพอกทับอีกครั้ง ติดสายกระบวน สายชนวน และรูล้น สำหรับเป็นทางไหลของขี้ผึ้ง และโลหะหลอมเหลว จึงนำชิ้นงานนี้ไปเผาไฟให้ความร้อน จะทำให้ขี้ผึ้งหลอมละลาย เมื่อขับหรือไล่ขี้ผึ้งออกหมดแล้วจะทำให้เกิดช่องว่างให้นำโลหะที่หลอมละลายแล้วเทกลับลงไปในแบบพิมพ์เพื่อแทนที่ขี้ผึ้ง จากนั้นจึงทิ้งแบบพิมพ์ไว้ให้เย็นแล้วทุบดินชั้นนอกออก จะได้ชิ้นงานรูปประติมากรรมที่ทำไว้ตามรูปหุ่นขี้ผึ้ง 6. พระพุทธรูปปางมารวิชัย (4) (เลขทะเบียน 16/341/2513 , สำริด, ขนาดสูงพร้อมฐาน 25 เซนติเมตร, หน้าตักกว้าง 18.5 เซนติเมตร, ศิลปะสุโขทัย, พุทธศตวรรษที่ 21 : พบที่วัดพระธาตุ กลางเมืองกำแพงเพชร)
ภาพที่ 12 พระพุทธรูปปางมารวิชัย 4 ศิลปะสุโขทัยในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร
มีพุทธลักษณะ แสดงถึงอิทธิพลศิลปะล้านนนา กำหนดอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งที่เมืองกำแพงเพชรได้พบพระพุทธรุปลักษณะนี้อยู่หลายองค์ เป็นต้นว่า หลวงพ่อเพชร วัดบาง พระพุทธรุปสำริดที่มีจารึกที่ฐาน วัดคูยาง รวมทั้งพระพุทธรุปปูนปั้นภายในมณฑปวัดสว่างอารมณ์
ยุคทางโบราณคดี
สุโขทัย
สมัย/วัฒนธรรม
ศิลปะสุโขทัย
อายุทางโบราณคดี
ราว 400 – 500 ปี (อยู่ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 20-21)
อายุทางวิทยาศาสตร์
-
อายุทางตำนาน
-
ประเภทของแหล่งโบราณคดี
พิพิธภัณฑสถาน / อุทยานประวัติศาสตร์
ข้อมูลจำเพาะวัตถุโบราณ
คำอธิบาย/ลักษณะ/รูปพรรณ
1. พระพุทธรูปลีลา มีพุทธลักษณะตามแบบศิลปะสุโขทัย คือ พระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่งต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรเรียวเล็ก และเหลือบลงต่ำ พระนาสิกโด่งปลายงุ้ม พระโอษฐ์อมยิ้มเล็กน้อย ขมวดพระเกศารูปก้นหอย พระอุษณีษะทำเป็นต่อมนูนใหญ่ พระรัศมีหักหายไป พระกรรณยาว ส่วนปลายพระกรรณงอนออกเล็กน้อย พระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์เล็ก จีวรบางแนบพระวรกาย ครองจีวรห่มเฉียงเปิดพระอังสาขวา ชายจีวรยาวลงมาจรดพระนาภีปลายเป็นลายเขี้ยวตะขาบ 2. เศียรพระพุทธรูป ลักษณะพระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่งต่อกันเหนือสัน พระนาสิก พระเนตรเรียวเหลือบตาต่ำ พระนาสิกโด่งเป็นสัน ปลายงุ้มเล็กน้อย พระโอษฐ์บางหยักเป็นรูปคลื่น พระกรรณยาว ปลายพระกรรณงอนออก ขมวดพระเกศารูปก้นหอย ขนาดค่อนข้างใหญ่ ไม่มีไรพระศก พระอุษณีษะเป็นต่อมนูนใหญ่ พระรัศมีหักหายไป เศียรพระพุทธรูปนี้มีลักษณะเช่นเดียวกับพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยหมวดใหญ่ทั่วไป แต่ที่ต่างออกไปคือ การทำพระนลาฏกว้าง และหนุเสี้ยม เป็นลักษณะสกุลช่างกำแพงเพชร 3. พระพุทธรูปปางมารวิชัย (1) ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานหน้ากระดานเรียบ ลักษณะพระพักตร์แสดงเอกลักษณ์ทางศิลปกรรมของฝีมือช่างกำแพงเพชรโดยเฉพาะ คือ พระนลาฏกว้าง พระหนุเสี้ยม พระขนงโก่งต่อกัน เหนือสันพระนาสิก พระเนตรเรียวและเหลือบลงต่ำ พระนาสิกโด่งปลายงุ้มเล็กน้อย ขอบพระโอษฐ์ด้านบนบาง ฝีพระโอษฐ์ล่างหนาเต็มอิ่ม อมยิ้มเล็กน้อยแฝงความเมตตา พระกรรณยาว ปลายพระกรรณโค้งงอน ขมวดพระเกศาเล็ก พระอุษณีษะทำเป็นต่อมนูนใหญ่ทรงมะนาวตัด พระรัศมีรูปเปลวเพลิง ส่วนยอดเปลวชำรุดหักไป พระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์เล็ก ครองจีวรห่มเฉียงเปิดพระอังสาขวา ชายจีวรบนพระอังสาซ้ายได้ยาวลงมาจรดพระนาภี ปลายชายจีวรตัดตรง พระหัตถ์ซ้ายวางเหนือพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชงฆ์ 4. พระพุทธรูปปางมารวิชัย (2) พระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่ง พระเนตรเรียวเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์บาง อมยิ้มเล็กน้อย พระกรรณยาวปลายงอนออก ขมวดพระเกศาค่อนข้างใหญ่ พระรัศมีรูปเปลวเพลิง ระหว่างพระอุษณีษะกับพระรัศมีมีชั้นวงแหวนคั่นกลาง พระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์คอดเล็ก จีวรบางแนบพระวรกาย ครองจีวรห่มเฉียงเปิดพระอังสาด้านขวา ชายจีวรบนพระอังสาซ้ายยาวลงมาจรดพระนาภี ส่วนปลายของชายจีวรเป็นรูปเขี้ยวตะขาบ พระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชงฆ์ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายเหนือพระเพลา ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนอาสนะฐานหน้ากระดานสามขา 5. พระพุทธรูปปางมารวิชัย (3) พระพักตร์รูปไข่ค่อนข้างยาว พระนลาฏกว้าง พระหนุเสี้ยม พระขนงโก่ง พระเนตรเรียวเล็กเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์อมยิ้ม ขมวดพระเกศาค่อนข้างเล็ก พระอุษณีษะเป็นต่อมนูนใหญ่ พระรัศมีรูปเปลวเพลิง พระกรรณยาว ระหว่างพระกรรณกับพระอังสามีตัวเชื่อมหรือยึดไว้ให้ติดกันซึ่งคงเกิดขึ้นจากเทคนิควิธีในการหล่อโลหะ พระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์คอดเล็ก ครองจีวรห่มเฉียงเปิดพระอังสาด้านขวา ชายจีวรบนพระอังสาซ้ายยาวลงมาจรดพระนาภี ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนอาสนะฐานหน้ากระดาน 6. พระพุทธรูปปางมารวิชัย (4) พระพักตร์กลม พระขนงโก่งต่อกันเหนือสันพระนาสิก พระเนตรเหลือบลงต่ำ เปลือกพระเนตรนูนรูปกลีบบัว พระนาสิกโด่งเป็นสัน พระโอษฐ์บางอมยิ้ม พระหนุเป็นปมกลม ขมวดพระเกศาใหญ่ พระอุษณีษะเป็นต่อมนูน พระรัศมีรูปดอกบัวตูม พระวรกายอวบอ้วน พระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์คิดเล็ก ครองจีวรห่มเฉียงบางแนบพระองค์ ชายจีวรสั้นปลายตัดเฉียงอยู่เหนือพระถัน ประทับนั่งขัดสมาธิเพชรบนฐานหน้ากระดานสี่ขา
วัสดุผลิตภัณฑ์
สำริด
ประเภทการใช้งาน
เป็นศาสนวัตถุในทางพุทธศาสนา
กระบวนการผลิต/ขั้นตอนการใช้งาน
ข้อมูลการสำรวจ
วันเดือนปีที่สำรวจ
30 เมษายน 2561 และ 4 พฤษภาคม 2561
วันปรับปรุงข้อมูล
-
ผู้สำรวจข้อมูล
อ.พิมพ์นารา บรรจง
คำสำคัญ (tag)
พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย หมายถึง พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยที่มีลักษณะเฉพาะตัวคือความวิจิตรอ่อนช้อยและงดงาม เป็นที่ยกย่องว่า เป็นพระพุทธรูปที่สวยสดงดงามมากที่สุด แบ่งออกเป็น 5 หมวด ตามลักษณะดังนี้ 1. หมวดใหญ่ มีลักษณะที่สำคัญที่ปรากฏพอประมวลได้คือ พระพักตร์เป็นรูปไข่ พระรัศมีเป็นแบบเปลวเพลิง ขมวดพระเกศาเล็กแหลม พระขนงโก่ง บางครั้งเป็นจุดแหลมกลางพระนลาฏ พระนาสิกงุ้ม ไม่มีไรพระศก พระโอษฐ์บางเล็ก มีปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ไม่เสมอกัน พระหนุเป็นปมมีเปลวชายจีวรยาวถึงพระนาภีทำเป็นลายเขี้ยวตะขาบ มีรอยขีดบนพระศอ ไหวง่าย งามสง่า ฐานเป็นหน้ากระดานเรียบไม่มีบัวรองรับ มักนั่งขัดสมาธิราบ 2. หมวดกำแพงเพชร มีลักษณะโดยทั่วไปเหมือนในหมวดใหญ่ แต่มีลักษณะของวงพระพักตร์ตอนบนจะกว้างกว่าตอนล่างมากอย่างสังเกตเห็นได้ชัด พบที่จังหวัดกำแพงเพชร 3. หมวดพระพุทธชินราช มีลักษณะที่สำคัญที่ปรากฏพอประมวลได้คือ พระพักตร์รูปไข่ มีเปลวบนยอดพระเกตุค่อนข้างสูงกว่าหมวดใหญ่มาก พระพักตร์ค่อนข้างกลม นิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวเสมอกัน บางครั้งมีฐานบัวรองด้วย 4. หมวดพิษณุโลก มีลักษณะทรวดทรงยาว ไม่อ่อนช้อย จีวรมีลักษณะแข็ง ชายจีวรมักทำเป็นงอ ๆ เหมือนกับขมวดม้วนของชายผ้า ส่วนใหญ่มักทำเป็นพระยืนสร้างขึ้นหลังจากที่สุโขทัยตกเป็นเมืองขึ้น ของอยุธยาแล้ว 5. หมวดวัดตะกวน หมวดนี้มีลักษณะเป็นแบบผสมคือ การผสมระหว่างศิลปะแบบเชียงแสน แบบลังกา และแบบสุโขทัยเข้าด้วยกัน มีลักษณะที่สำคัญที่ปรากฏพอประมวลได้คือ พระพักตร์กลม มีรัศมีแบบลังกา บางองค์มีชายผ้าสังฆาฏิสั้น พระนลาฏแคบ จาก ลักษณะของพระพุทธรูปดังกล่าวข้างต้น สามารถประมวลสรุปเป็นลักษณะที่สำคัญ โดยภาพรวมดังนี้คือ พระพักตร์เป็นรูปไข่ พระเกตุมาลาเป็นเปลวรัศมี ขมวดพระเกสาเล็กเป็นวงก้นหอย พระกรรณยาว พระขนงโก่ง พระหนุเป็นปม พระนาสิกงุ้ม พระโอษฐ์เล็กและบาง พระโอษฐ์อมยิ้ม พระอังสาใหญ่ ชายจีวรยาวลงมาถึงพระนาภี ปลายเป็นเขี้ยวตะขาบ เปลือกพระเนตรอวบอูมมีลักษณะดุจกลีบบัว ไม่มีไรพระศก ชอบทำปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิราบ และยังพบพระพุทธรูปปางลีลา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร หมายถึง แหล่ง/สถานที่เก็บสำหรับรวบรวมสงวนรักษา และจัดจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่ได้จากการดำเนินงานทางโบราณคดี ภายในเขตจังหวัดกำแพงเพชร และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปกรรมท้องถิ่นของจังหวัดกำแพงเพชร ภายใต้การดูแลของสำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย กรมศิลปากร