ลาวคั่ง อำเภอทรายทองวัฒนา จังหวัดกำแพงเพชร
เนื้อหา
บทนำ
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พบว่าบรรพบุรุษอพยพมาจากอาณาจักรเวียงจันทร์ และหลวงพระบาง พร้อมกับเหตุผลที่ทางการเมืองและเป็นเชลยศึกยามสงคราม อาศัยอยู่บริเวณภาคกลางของประเทศไทยได้กล่าวว่า ลาวคั่งเป็นชื่อของภาษาและกลุ่มผู้มีเชื้อสายลาวกลุ่มหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในภาคกลางของประเทศไทย เช่น ในจังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดชัยนาท จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดกำแพงเพชร ฯลฯ ลาวคั่งมักจะเรียกตนเองว่า “ลาวขี้ครั่ง” หรือ “ลาวคั่ง” ความหมายของคำว่า “ลาวคั่ง” ยังไม่ทราบความหมายที่แน่ชัด บางท่านสันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “ภูฆัง” ซึ่งเป็นชื่อของภูเขาที่ลักษณะคล้ายระฆัง อยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของหลวงพระบางในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอันเป็นถิ่นฐานเดิมของลาวคั่ง ถูกกวาดต้อนเข้ามาในประเทศไทยในรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ปีพุทธศักราช 2321 และในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในปีพุทธศักราช 2334 ไม่ปีใดก็ปีหนึ่งอย่างแน่นอน เพราะไทยยกทัพไปตีเมืองหลวงพระบางและกวาดต้อนครอบครัวของชาวลาวมาในช่วงนั้นเนื่องจากแพ้สงคราม ลักษณะทั่วไปของลาวคั่ง คือมีรูปร่างค่อนข้างไปทางสูงหรือสันทัด ทั้งหญิงและชายผิวค่อนข้างเหลือง ตาสองชั้น ใบหน้าไม่เหลี่ยมมาก จมูกมีสัน ผมเหยียดตรง ชอบนุ่งผ้าสิ้นคลุมเข่า นุ่งซิ่นมัดหมี่ดอก ลาวคั่งมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ในการทอผ้าเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน และใช้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะ
คำสำคัญ : ลาวคั่ง, ชมรมลาวคั่ง, ทุ่งทราย, ทรายทองวัฒนา
กลุ่มชาติพันธุ์ ชุมชนและสังคม
อำเภอทรายทองวัฒนา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียง ดังนี้ ทิศเหนือติดต่อกับอำเภอไทรงาม ทิศตะวันออกติดต่อกับอำเภอบึงสามัคคี ทิศใต้ติดต่อกับอำเภอบึงสามัคคีและอำเภอคลองขลุง ทิศตะวันตกติดต่อกับอำเภอคลองขลุง อาณาจักรลาวคั่งในกำแพงเพชร ..ทางใต้ โนนปอแดง หนองเหมีอด ดงดำ ท่าแต้ ดอนแตง ดอนเหียง ดอนโค้ง บ้านไร่ดอนแตง โคกเลาะ โค้งตาเถร (โค้งวิไล) แม่ลาด หนองเต็งหัวรัง ดอนสมบูรณ์ หนองหล่ม ทุ่งเชียก กะโดนเตี้ย ทุ่งมน หนองเม่น หนองแห้ว โนนดุม โนนทัน ปรึกมะกรูด ทุ่งเศรษฐี ทุ่งตาพุก บ่อสามแสน ทางฝากแม่น้ำตะวันออก บ้านชายเคืยง บึงบ้าน ทุ่งรวงทอง ไทรงาม แม่ยื้อ นับไม่ถ้วน เป็นซุมที่เป็นบ้านเก่าแก่ (บ้านที่อายุเก่ากว่า70 ปี - 150 ปี ขึ้น) นามสกุลคนลาวคั่งกำแพงเพชรที่เจอบ่อย ได้แก่ พิมพา สบายเมือง เหล่าเขตกิจ เขตกัน บุญมาสอน มีศรี สุวรรณ พิลึก จันทร์ศรี “อำเภอทรายทองวัฒนา เป็นอำเภอหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลมาจากชมรมลาวคั่ง ตำบลหนองเหมือด อำเภอขาณุวรลักษบุรี และจังหวัดชัยนาท กระผม ครูยอร์ช มีสุข ซึ่งเป็นอาจารย์ ได้มีโอกาสไปร่วมงานลาวคั่งของจังหวัด สังเกตว่า ชมรมลาวคั่งมีทั่วประเทศประมาณ 4 ล้านกว่าคนตามข้อมูลที่บอกมา เป็นลาวคั่งแท้ ๆ เลย แต่ว่าลาวคั่งของอำเภอทรายทองวัฒนาเป็นลาวคั่งที่อยู่มาตั้งแต่เกิด ตั้งแต่ผมเกิดมา ตั้งแต่ พ.ศ.2500 จำความได้ว่าลาวคั่งเยอะที่สุด แต่ตอนนี้ได้แยกย้ายออกไปส่วนใหญ่ ที่เข้ามาอยู่ใหม่ก็จะเป็นคนจีน ลาวคั่งนั้นเป็นคนสงบนิ่งแล้วก็ทำมาหากิน ได้แยกย้ายไปอยู่ตามป่า ชมรมลาวคั่งของเรานั้นก็ได้ถือว่าอพยพมาจากจังหวัดเลย จังหวัดเพชรบูรณ์ เนื่องจากเราย้ายมาจากเวียงจันทร์ หลวงพระบาง โดยการเดิน การนั่งเกวียน การนั่งม้า ขี่วัว ขี่ควาย ที่อพยพนี่ไม่ใช่ว่าเราตั้งใจมา เพราะว่ามีศึกสงครามสมัยกรุงธนบุรี ที่มาเรานี่เป็นเชลยศึกอยู่ในสมัยกรุงธนบุรี สมัยนั้นสงครามมันเยอะก็ถูกต้อนมา ก็เลยอพยพมาจากเพชรบูรณ์หรือจังหวัดเลยก็มาอยู่แถวนี้ก็นาน ก็มีหลายอำเภอที่ล่วงเลยมา เช่น วังทอง ไทรงามนี่ก็ลาว บางที่ทางนี้อพยพมาจากนครสวรรค์บ้างก็มี เพิ่งย้ายมาทีหลังก็มาสมทบกันระหว่างภาคกลางกับภาคเหนือ ย้ายทุกทิศทุกทางเพราะว่ากำแพงเพชรเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ ฟ้าอากาศก็อยู่เย็นเป็นสุขเพราะว่าลมพัดก็บ่เท่าใดน้ำท่วมก็บ่เท่าใด เป็นภาคเหนือตอนล่าง แล้วก็ภาคกลางตอนบน ก็ถือว่าลาวคั่งของอำเภอทรายทองนี่อพยพมาจากหลายจังหวัด ลาวคั่งในอำเภอ ทรายทองวัฒนา มีลาวคั่งประมาณ 65% ลาวคั่งอยู่กันกระจัดกระจายกันไป ส่วนใหญ่อยู่ในตำบลทุ่งทรายที่จะมีก็มีบ้านหนองไผ่ บ้านศรีอุดมธัญญะ บ้านน้อย บ้านทุ่งตากแดด” (ครูยอร์ช มีสุข, สัมภาษณ์, 6 พฤษภาคม 2561) ภาษาที่ใช้พูดคือภาษาลาวครั่ง เป็นภาษาที่จัดอยู่ในตระกูลไท – กะได คล้ายคลึงกับภาษาลาว ในแถบภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เช่น แขวงหลวงพระบาง แขวงไชยะบุรี รวมทั้งภาษาพูดที่พูดในจังหวัดเพชรบูรณ์และจังหวัดเลย ซึ่งอยู่ใกล้กับแขวงดังกล่าว นอกจากนี้ยังคล้ายคลึงกับภาษานครไทย ภาษาที่พูดกันเป็นส่วนใหญ่ในอำเภอนครไทยจังหวัดพิษณุโลก “พยัญชนะในภาษาลาวครั่งมี 20 หน่วยเสียง ได้แก่ (ก) (ข) (ค ฆ) (ง) (จ) (ซ ส) (ด) (ต) (ท ธ ฒ) (น) (บ) (ป) (พ ผ) (ม) (ฟ) (ญ ย) (ว) (ล) (ห ฮ) (อ) ทั้งหมดเป็นหน่วยเสียงพยัญชนะต้นได้ แต่เป็นหน่วยเสียงพยัญชนะท้ายได้ 9 หน่วยเสียง ได้แก่ (-ก) (-ง) (-ป) (-ด) (-น) (-ม) (-ย) (-ว) และ (-อ) หน่วยเสียงพยัญชนะควบกล้ำมักจะไม่ปรากฏทั่วไปในภาษาลาวครั่ง เช่น พริก เรียก พิก ปลา เรียก ปา และ ช ใช้ ซ เช่น ช้าง เป็น ซ้าง สระในภาษาลาวครั่งมี 18 หน่วยเสียง ได้แก่ (อิ) (อี) (เอะ) (เอ) (แอะ) (แอ) (อึ) (อื) (เออะ) (เออ) (อะ) (อา) (อุ) (อู) (โอะ) (โอ) (เอาะ) (ออ) และสระประสม มี 6 หน่วยเสียง ได้แก่ (เอียะ) (เอีย) (เอือะ) (เอือ)(อัวะ) (อัว) แต่เดิม ในภาษาลาวครั่งไม่มีเสียงสระเอือ เช่น เกลือ ออกเสียง เกีย เสือ ออกเสียง เสีย วรรณยุกต์มี 5 หน่วยเสียง แต่อาจจะมีความแตกต่าง กันไปบ้างในแต่ละท้องถิ่น ลักษณะเด่นของภาษาลาวครั่งที่แตกต่างจากภาษาลาวกลุ่มอื่น ๆ นอกจากลักษณะทางเสียงแล้ว เรื่องคำลงท้าย ก็เป็นเอกลักษณ์ทางภาษาของกลุ่ม”แม้จะออกเสียงและสำเนียงเพี้ยน ๆ ไป แต่รู้สึกมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เกิดมาเป็นลูกหลานลาวครั่งที่มีแต่มรดกทางวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามที่ต้องช่วยกันสืบสานอนุรักษ์ไว้ให้ยั่งยืนต่อไป (ลูกหลานลาวครั่ง (นามแฝง), 2556) “ภาษาเขียนเป็นภาษาไทย ก็จะมีคนแก่ก็จะออกเป็นภาษาขอมแต่หาดูยากไม่มีแล้ว ส่วนมากที่เราเน้นก็คือ ภาษาไทย เพราะเราเรียนมา ครูไม่ได้สอนวิชาอื่นเลย ก็สอน ก-ฮ แล้ว ก็เลยไม่ได้ใช้ภาษาขอม แต่วิธีนับก็จะคล้าย ๆ กัน แต่จะมีการออกเสียงที่ต่างกัน เช่น เสือ เป็น เสีย เป็นต้น บางทีมันออกมาไม่ตรงกัน ถ้าเป็นภาษาเขียนก็จะเขียนยาก เวลาครูสอนเขาจะเน้นให้เป็นลาวห้าง บางที่สอนให้ออกเลียงด้วยใช้ลิ้น ทำให้เด็กปัจจุบันพูดภาษาไทยแล้วส่วนมาก แล้วแต่ว่าบางคนก็สอนลูกให้พูดลาวไว้ก่อน เพราะลาวพูดยาก ส่วนไทยพูดตอนไหนก็ได้ พ่อแม่บางคนคุ้นคอยกับลูกเวลากินข้าว “กินข้าวเด้อล่าเอ๋ย” พูดกับลูกบ่อย พ่อแม่ “แซบบ่” ลูกตอบ “แซบ” เด็กก็จะจดจำ คนเพชรบูรณ์ ต.ปากช่อง คนที่ขายหวยส่วนมากเป็นลาวครั่ง แต่จะเหน่อต่างกัน มี หล่มเก่า ผมไปกีฬาแห่งชาติ เขาบอกว่า อาจารย์ภาคลาวเด้อ มีผมภาคอยู่คนเดียว ไปเลยเขาก็ให้ผีโขนก็ไปภาคเป็นภาษาลาวครั่ง เขาก็หัวเราะกัน มีอาจารย์ยอร์ช คนเดียวที่สื่อภาษาลาวได้ แล้วผมเคยไปตัดสินที่ลาวเวลาทำสนามผมเป็นคนสื่อสารกับลาว เพราะไปแข่งที่หลวงพระบาง อาจารย์ยอร์ชสื่อสารเลย “เฮ็ดอย่างงี้เด้อ เดี๋ยวยกเก้าอี้มาวางนี้ กางเต็นท์ดึงสาย” บางคนเขาพูดไทยก็จะฟังยาก เราก็อาศัยว่าเราก็คุยเป็นภาษาลาวแต่ก็ยังฟังง่ายกว่าภาษาอีสานเพราะภาษาอีสานฟังยาก” (ครูยอร์ช มีสุข, สัมภาษณ์, 6 พฤษภาคม 2561)
ภาพที่ 1 ลักษณะรูปร่างหน้าตาบุรุษและสตรีเชื้อสายลาวคั่ง
(ที่มา : ลูกหลานลาวครั่ง (นามแฝง), 2559)
วิถีชีวิตชองชาวลาวคั่ง
สามารถแบ่งวิถีชีวิตของชาวลาวคั่ง อำเภอทรายทองวัฒนา จังหวัดกำแพงเพชร ได้ดังต่อไปนี้
1. การประกอบอาชีพ
อาชีพหลัก ได้แก่ ทำนา ทำไร่ ทำสวน อาชีพเสริม ได้แก่ เป่าแก้ว, การทำสารสกัดจากสมุนไพร, ทำผ้าฝ้าย, ทำเครื่องเบญจรงค์, ทำกล้วยอบเนย, ทำกระยาสารท, ทำผลิตภัณฑ์ศิลปะประดิษฐ์จากแป้ง, ทำข้าวซ้อมมือ
2. ลักษณะการแต่งกาย
การแต่งกายของคนไทยเชื้อสายลาวครั่ง จะมีแบบฉบับเป็นของตนเองซึ่งนำวัสดุธรรมชาติ ในท้องถิ่นคือ ฝ้ายและไหมที่เป็นวัสดุการทอ เทคนิคที่มีทั้งการจกและมัดหมี่ ผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของชาวลาวคั่งคือ ผ้าซิ่นมัดหมี่ ต่อตีนจก ซึ่งมีลายผ้าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น และผ้าขาวม้า 5 สี มีลวดลายหลากหลาย และสีที่ใช้เป็นสีที่ได้จากธรรมชาติ เช่น สีเหลืองนำมาจากหัวขมิ้น สีดำนำมาจากมะเกลือ + เทา (ตะไคร่น้ำ) สีครามได้ มาจากต้นครามผสมกับปูนกินหมาก สีแดงได้มาจากครั่ง นอกจากจะทอไว้เพื่อใช้ในครัวเรือนแล้ว ยังทอเพื่อการจำหน่าย เป็นรายได้เสริมจากอาชีพหลัก “การแต่งกายก็อาจจะมีสีเทา สีขาว สีแดง สีน้ำเงิน ถ้าเป็นสีออกสีขาวก็จะเป็นไปในงานศพ สีแดงงานรื่นเริง สีเทาวันสำคัญ แต่ลาวคั่งเราจะเน้นสีแดง ผ้าถุงนี่ตีนจกแล้วก็สไบ เครื่องประดับบางคนก็ใช้ทองแท้ๆ ทำบางคนก็หาซื้อตามตลาดนัดไว้เป็นประดับ ดอกจำปา ดอกจำปี ประจำของลาวคั่งเป็นดอกประจำของเรา” (ครูยอร์ช มีสุข, สัมภาษณ์, 6 พฤษภาคม 2561)
ภาพที่ 2 การแต่งกายสตรีและบุรุษสูงศักดิ์ชาวลาวคั่ง
(ที่มา : สันติ อภัยราช, 2555)
ภาพที่ 3 การแต่งกายสตรีชาวลาวคั่งในงานประเพณี
(ที่มา : ลูกหลานลาวครั่ง (นามแฝง), 2559)
ภาพที่ 4 ครูยอร์ช มีสุข สวมเสื้อสีแดง แต่งกายลาวคั่งร่วมงานวันชาติลาว 2 ธันวาคม 2555
(ที่มา : ชมรมลาวคั่งจังหวัดกำแพงเพชร, 2556)
3. วิถีชีวิตความเป็นอยู่
ชาวลาวครั่งจะมีความสามัคคีกันเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มของเครือญาติหรือเพื่อนบ้าน เช่น ลงแขกเกี่ยวข้าว ทำไร่ หรือแม้แต่งานบุญ งานศพ งานรื่นเริงต่าง ๆ ชาวบ้านก็จะมาช่วยงานกันเป็นจำนวนมากตั้งแต่เริ่มเสร็จเรียบร้อย “วิถีชีวิตที่เป็นอยู่เหลักฐานมันมองไม่เห็นเพราะว่าตอนนี้มีคนซื้อของเก่าไปประดับบ้าน เช่น เกวียนแอกควายไถ่นา ซื้อไปประดับ แต่ที่หนองเหมือดเขาเตรียมไว้เลยเขาให้ชาวบ้านเอาของเก่า ๆ ไปไว้วัดของเราก็มี แต่ว่าหลวงพ่อเข้าไม่ได้เก็บ บางคนเอาไปโชว์แล้วก็หายไปเลยอย่างวิลัยครูเคยเอาไปโชว์แล้วกลับมาไม่เหมือนเดิม เพราะว่ามันมีค่าไงแง่ความหาดูยาก แล้วก็หนังควายที่มันเกาะสำหรับไถ่ คันไถ่เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีบ้านช่องก็เหมือนกับงานที่ผ่านมา กระท่อมนั้นแหละครับก็จะมีลักษณะนั้น ก็จะมีนอกชาน มีที่ทำอาหารข้างล่างแต่ไม่สูงไม่ต่ำเกินไป การแต่งตัวส่วนใหญ่แต่งไปโชว์งานก็จะเป็นสีแดง ผู้ชายจริง ๆ ต้องใส่กางเกงขาก๊วย พอมาเป็นยุคทันสมัยก็จะใส่กางเกงสแล็ค ใส่สโร่ง แต่ว่าชัยนาทใส่โจงเบน ชุดพวกนี้ก็จะใส่ช่วงที่มีงานหรือช่วงสำคัญถ้าปกติก็จะใส่ทำนาก็เสื้อม่อฮ้อม ลาวคั่งส่วนใหญ่ผู้ชายจะทำงานหนัก ตื่นตี 04.30 น. พอตื่นก็ต้องล้างควายและนำควายไปไถ่นา ผู้หญิงก็ทำกับข้าวพอสัก 07.30 น. ก็ต้องเอาข้าวไปส่ง เสร็จแล้วก็ไปช่วยแฟนทำนา พักกินข้าว นอนพักสักพักให้วัวควายได้พักพอหายเหนื่อยแล้วค่อยไปทำต่อ สมัยก่อนมันไม่มีรถเกี่ยวเราก็จะใช้ควายย่ำเป็นแถว สองแถว แล้วเอาขอดึงฟางขึ้นมาแล้วมันพลิกเราก็เอาควายย่ำอีก เสร็จตรงไหนที่มันไม่หมดเราก็ใช้ ไม้ฟาดแล้วกองข้าวขึ้นไป เค้าเรียกแม่โพธิ์สุขโพธิ์ศรี คนลาวเขานับถือ แม่ธรณี นางไม้ ก่อนจะเอาไปขายก็ต้องทำพิธี นับถือมากที่สุดห้ามเดินข้ามข้าว กินก็ต้องกินให้หมด เราจะบอกลูกหลานเลยว่าเราอพยพมาได้บารมีของในหลวงของเราตั้งแต่ราชวงศ์จักรีมาเราก็ไม่ได้กลับบ้านเลย” (ครูยอร์ช มีสุข, สัมภาษณ์, 6 พฤษภาคม 2561)
วัฒนธรรมและประเพณีของชาวลาวคั่ง
1. ศาสนา ความเชื่อและพิธีกรรม
พิธีกรรมและความเชื่อชาวลาวคั่ง มีความเชื่อในเรื่องผีบรรพบุรุษเป็นอย่างมาก การนับถือผีของชาวลาวคั่งเป็นการถือผีตามบรรพบุรุษคือผีเจ้านายและผีเทวดา การนับถือมีอิทธิพลต่อชาวลาวคั่งมาก แม้แต่ในแง่ของการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการประกอบพิธีกรรมหรือการดำรงชีวิตประจำวันก็จะต้องไปข้องเกี่ยวกับผีของบรรพบุรุษเนื่องจากอาชีพหลักของชาวลาวครั่ง คือการทำนา จึงมีประเพณีความเชื่อที่ถือปฏิบัติกันมา เพื่อความอุดมสมบูรณ์ คือ พิธีบูชาเซ่นสรวงแม่ธรณี และแม่โพสพ ก่อนหว่านข้าวเป็นการบอกกล่าวแม่ธรณี โดยจัดวางเครื่องเซ่นไว้บนพื้นดินบริเวณหัวคันนาและกล่าวแก่แม่ธรณีว่า จะทำนาแล้วขอให้คนและควายอยู่ดีมีสุขสบาย คราดไถอย่าให้หักบ่ได้มาแย่งดินขอเพียงแค่ทำกิน พิธีนี้ภาษาถิ่นเรียกว่า พิธีแฮกนา พิธีที่เกี่ยวกับความเชื่ออีกวิธีหนึ่งคือ พิธีศพ เมื่อนำศพผู้ตายใส่ลงหีบ ถ้าเป็นชายก็จะใช้ผ้าขาวม้าของผู้ตายคลุมทับผ้าขาวบนฝาหีบ ถ้าเป็นหญิงก็จะคลุมหีบด้วยสไบของผู้ตาย และจะเผาเครื่องนุ่งห่มต่าง ๆ ของผู้ตาย เช่น ผ้าขาวม้าไหม โสร่งไหมผ้าพุ่งไหม ผ้าม่วงโรง หรือผ้าซิ่นมัดหมี่ ผ้าสไบ เสื้อฯลฯ เผาไปด้วย นอกจากนี้ยังมีความเชื่อที่เกี่ยวกับเรื่องการแบ่งแยก ระหว่างโลกของวิญญาณ และ โลกของมนุษย์ และ วิญญาณที่ดีสามารถช่วยเหลือมนุษย์ได้โดยผ่านคนทรง (ธวัช ปุณโณทก, 2530 หน้า 390-392
ภาพที่ 5 การเข้าทรงนางกวัก ของลาวคั่ง
(ที่มา : สันติ อภัยราช, 2555)
สำหรับบุคคลที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงที่จะต้องคอยปฏิบัติในการประกอบพิธีกรรม คือ กวนจ้ำ สำหรับกวนจ้ำนั้น จะเป็นบุคคลที่ชาวบ้านเลือก โดยเลือกเอาบุคคลผู้ที่มีความรู้ทั้งด้านเกี่ยวกับพิธีกรรมมีคุณงามความดี เป็นบุคคลที่ชาวบ้านยอมรับว่ามีความเหมาะสมที่จะเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ได้ เป็นที่เคารพนับถือของคนในหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังเป็นผู้สืบทอดมาจากบรรพบุรุษที่ได้รับการถ่ายทอด “เรื่องไสยศาสตร์ก็ยังมีอยู่ เช่น เรื่องสักยัน เรื่องประวัติความเป็นมาของผีโพงผีเป่า ถ้าใครไปเจอมากำลังกินอาหารอยู่ถ้ามันอยากให้เราเป็นต่อมันถุยน้ำลายใส่เราปั๊ปเราเป็นเลย ผีโพผีเป่าเป็นไง คือ เรานอนแล้วจิตวิญญาณเราออกจากร่าง จะสังเกตเรากลับมาปั๊ปจะเห็นรอยเท้าเราเอง เราไม่รู้สึกตัวนะ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีแล้ว เพราะกลัวคนเห็น ถ้ามีคนเห็นก็จะถุยน้ำลายใส่เรา นั้นเราคือทายาทเขาละ และนี่ก็เป็นประวัติที่ปู่ย่าตายายเล่าก็กันมา ความเชื่อทางศาสนาพุทธกับศาสนาพราหมณ์ขัดกันไม่ได้ ลาวคั่งก็นับถือศาสนาพุทธกับศาสนาพราหมณ์ นับถือไปด้วยกัน ผมเกิดมาก็เห็นเค้าทำปน ๆ กัน ไม่ใช่พุทธจริงทุกประเพณี อย่างประเพณีขึ้นบ้านใหม่ก็จะเหมือนๆ กัน แต่พราหมณ์จะน้อยกว่าพุทธ การทำบุญกับพ่อแม่ที่ล่วงลับไปแล้วเข้าชื่อกันว่าพ่อแม่ยังอยู่และเรื่องผีด้วย เรื่องไสยศาสตร์ ลุงจันทร์ทรนี่จะทำบายศรีสู่ขวัญ บายศรีนาคเป็นภาษาลาวคั่ง เค้าแหล่เป็นภาษาลาวคั่ง เวลามีพิธีก็จะเอาลุงจันทร์ทรมานี่แหละ อีกด้านความเชื่อด้านเลี้ยงผีก็ยังมีผีปลวก ผีเจ้าที่ สู่ขวัญข้าวเขาก็เอาข้าวขึ้นมาตั้งเป็นกอง มีไก่ เหล้า อย่างการทำของก็ยังมีบางเป็นบางครอบครัว” (ครูยอร์ช มีสุข, สัมภาษณ์, 2561)
2. วัฒนธรรมและประเพณี
ประเพณียกธง เป็นวัฒนธรรม ประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษยังคงอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ที่ยังยึดถือและสืบต่อปฏิบัติกันมาโดยจัดขึ้นในเดือนเมษายนของทุกปี สำหรับประเพณียกธงนั้น เป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีและร่วมมือร่วมใจของประชาชนในท้องถิ่น ประเพณีสารทลาว เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ วันสารทลาว คือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ชาวลาวคั่งจะรวมกลุ่มกัน ทำกระยาสารท และ ขนมเพื่อใช้ในการทำบุญตักบาตรในตอนเช้าปัจจุบันก็ยังมีการสืบทอดประเพณีกันอยู่ แต่กระยาสารทในปัจจุบันส่วนมากนิยมซื้อแทนการทำ มีบางบ้านยังทำอยู่ อัตลักษณ์ศิลปะการแสดงหรือการละเล่นต่าง ๆ ของชนชาติติพันธ์ลาวคั่ง มีเอกลักษณ์โดดเด่น เป็นของตนเองและมีจุดที่แสดงให้เห็นว่าเป็นมนต์ขังในพิธีกรรมนั้น ๆ การเดินแสดงเรื่องการละเล่นต่าง ๆสมัยก่อนอาจจะเป็นเรื่องจริงหรือเท็จก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ แต่แท้ที่จริงแล้วอย่าไปพิสูจน์เลยเพราะ มันเป็น กุศโลบาย ของคนสมัยโบราณที่ให้ลูกหลานมารวมตัวไม่ลืมกันให้รักพี่รักน้องและสอนให้รักสามัคคีกัน
ภาพที่ 6 การแสดง “นางด้ง”
(ที่มา : ลูกหลานลาวครั่ง (นามแฝง), 2556)
บทสรุป
กลุ่มชาติพันธุ์ ชุมชนและสังคม : ลาวคั่ง อำเภอทรายทองวัฒนา จังหวัดกำแพงเพชร มีอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ลาวคั่งในด้านภาษา วัฒนธรรม ประเพณี และการแต่งกายที่สวยงามและโดดเด่น ทั้งนี้ ลาวคั่งในอำเภอทรายทองวัฒนา ได้ก่อตั้งเป็นชมรม โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ระดับที่ 1 คือ ลาวแท้ ๆ ระดับที่ 2 คือ วิสามัญที่ว่าเมียที่พูดลาวแต่ผัวเป็นไทย และระดับที่ 3 คือ สมทบ ก็คือที่ปรึกษาหรือ ผู้ที่มีงบประมาณสนับสนุน อาทิเช่น หลวงพ่อ(เจ้าอาวาสวัดแก้วศรีวิไล) สท. นายกเทศบาล มีสมาชิกลาวคั่งอยู่ในชมรมประมาณ 400 กว่าคน และมีโครงการจะรวบรวมสมาชิกให้ได้ 1,000 คน โดยมีแผนที่จะกำหนดให้ ผู้ที่มีอายุ ตั้งแต่ 15 ปี สามารถสมัครเข้าชมรมลาวคั่ง เพื่อเป็นการสืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณีอันดีของลาวคั่งให้คงอยู่สืบไปไม่ให้สูญหาย