ศาสนสถานและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตำบลนครชุม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

ศาสนสถานและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตำบลนครชุม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร

บทนำ

         วัดหรือศาสนสถานในปัจจุบันได้กลายเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่ผู้คนต่างให้ความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆและเป็นเหตุให้วัดหรือศาสนสถานบางแห่งได้ปรับบทบาทใหม่  เพิ่มจากเดิมที่เคยจำกัดไว้สำหรับเป็นสถานที่ปฏิบัติกิจของสงฆ์และศาสนพิธีของชาวบ้าน หรือเป็นสถานที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันของผู้คนในชุมชนที่แต่ละวัดนั้นตั้งอยู่ กระทั่งกลายมาเป็นสถานที่รองรับนักท่องเที่ยวที่มาจากต่างถิ่น มีสาเหตุมาจากการที่วัดได้ขยายบทบาท โดยอาศัยคุณสมบัติของศาสนาสถานเป็นแรงจูงใจให้เกิดการท่องเที่ยว ซึ่งการปรับแต่งบทบาทของวัดในมิติของการท่องเที่ยวการไม่สูญเสียสภาพเดิมนี้ (กรรณิกา คำดี, 2558, หน้า 175-191) โดยประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนามีวัดเป็นศูนย์กลางของสังคม สามารถช่วยพัฒนาจิตใจควบคู่กับส่งเสริมความเป็นไทย ทั้งยังเป็นการสืบสานศาสนาและศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของไทยให้เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่คู่ประเทศชาติ
         ตำบลนครชุมเป็นชุมชนเก่าแก่ในจังหวัดกำแพงเพชร มีหลักฐานทางโบราณสถานโบราณวัตถุปรากฏมากมาย อดีตนครชุมมีวัดและพระจำนวนมาก ตามศิลาจารึกหลักที่ 8 (ศิลาจารึกเขาสุมนกูฏ) มีการเรียกเมืองนครชุมว่า “นครพระชุม” ซึ่งอาจจะมีความหมายถึงเป็นเมืองที่รวมของพระ หรืออาจหมายถึงมีพระมาก และเปลี่ยนมาเป็นนครชุมในปัจจุบัน ซึ่งในครั้งที่มีการรื้อพระศรีรัตนมหาธาตุเจดีย์ ที่วัดพระบรมธาตุนครชุม สถานที่ค้นพบศิลาจารึกหลักที่ 3 (ศิลาจารึกนครชุม) ก็มีการพบพระพิมพ์เป็นจำนวนมาก และนับว่าเป็นต้นตอของพระเครื่องตระกูลทุ่งเศรษฐี ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดกำแพงเพชร ดังในพระราชนิพนธ์เรื่อง เสด็จประพาสต้นครั้งที่สอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวไว้ว่า “ของถวายในเมืองกำแพงเพชรนี้ ก็มีพระพิมพ์เป็นพื้น” ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นขนบธรรมเนียมอย่างหนึ่งของชาวกำแพงเพชรในการให้พระเครื่องเป็นของที่ระลึก สำหรับผู้ที่เคารพนับถือและมิตรสหาย นครชุมยังคงรักษาเอกลักษณ์ของชุมชนเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 700 ปี และยังคงต้นแบบความย้อนยุคของสถานที่และวัฒนธรรม ซึ่งที่นี่ถือว่าเป็นต้นตำรับ ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงและนำเสนออย่างมีเอกลักษณ์ นอกจากเมืองยังคงเอกลักษณ์แบบย้อนยุคไว้แล้ว นครชุมยังมีโบราณสถานที่เก่าแก่ควรค่าแก่การเรียนรู้อีกมากมาย บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาศาสนสถานและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของตำบลนครชุม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ได้แก่ 1) วัดพระบรมธาตุนครชุม 2) วัดสว่างอารมณ์ 3) วัดเจดีย์กลางทุ่ง 4) วัดหม่องกาเล 5) วัดหนองลังกา 6) วัดหนองยายช่วย 7) วัดซุ้มกอ

คำสำคัญ : ศาสนสถาน, สิ่งศักดิ์สิทธิ์, นครชุม, จังหวัดกำแพงเพชร

วัดพระบรมธาตุนครชุม

         วัดพระบรมธาตุนครชุม เป็นวัดที่อยู่คู่เมืองกำแพงเพชรมาตั้งแต่สมัยเป็นเมืองนครชุมยาวนานมากกว่า 700 ปี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นมาในสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี สร้างโดยกษัตริย์ในสมัยกรุงสุโขทัย คือพระมหาธรรมราชาลิไทหรือพระยาลิไท สร้างขึ้นในปี 1900 เพื่ออุทิศถวายพ่อขุนศรีอินทราทิตย์องค์หนึ่ง พ่อขุนรามคำแหงองค์หนึ่ง และพระเจดีย์ประจำรัชกาลองค์อีกหนึ่งองค์ และได้นำพระบรมสารีริกธาตุ 9 องค์ สถาปนาไว้ในพระเจดีย์องค์กลาง และพระองค์ได้เสด็จมาพระมหาธาตุเจดีย์เป็นประจำทุกปี ซึ่งในสมัยสุโขทัยนั้นวัดพระบรมธาตุนครชุมมีความเจริญมากเพราะเป็นวัดพระอารามหลวงประจำเมือง
         พระบรมธาตุนครชุม มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นมหาเจดีย์ทรงสูงใหญ่ สวยงามไปด้วยสถาปัตยกรรมและสีทองอร่ามทั้งองค์เสมือนดั่งเจดีย์ชเวดากองในเมืองพม่า เป็นพระบรมธาตุเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จำนวน 9 องค์พระบรมธาตุเจดีย์ เดิมนั้นเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ (ทรงดอกบัว) สามองค์ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ภายในวัดก็มีแหล่งความรู้ที่สำคัญ คือ ศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลนครชุม โดยจัดแสดงเป็นอาคารทรงไทยสวยงาม ทำด้วยไม้สักทองทั้งหลัง ภายในจัดแสดงวัตถุโบราณและ ข้าวของเครื่องใช้ในอดีตมากมาย และแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อีกหลายอย่าง แสดงวิถีชีวิตของชาวเมือง นอกจากนี้ยังมีศาลาการเปรียญ พระอุโบสถ ศูนย์การศึกษาพระปริยัติธรรมสำหรับพระภิกษุและสามเณร และมีกุฏิจำนวน 23 หลัง สถานสำคัญของวัดพระบรมธาตุ คือ
         1) พระบรมสารีริกธาตุ บรรจุอยู่ในสำเภาเงินมีพระบรมธาตุอยู่ถึง 9 องค์ ปัจจุบันประดิษฐานไว้ในองค์พระบรมธาตุ มีความเชื่อว่า ผู้ใดได้บูชาพระบรมธาตุเหมือนกับได้พบพระพุทธเจ้าด้วยตนเอง ทำให้ประชาชนพากันมาสักการบูชาพระบรมธาตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันมาฆบูชาและวันสงกรานต์ 
         2) พระศรีมหาโพธิ์ ชาวกำแพงเพชรเชื่อกันว่าพระศรีมหาโพธิ์ที่พระยาลิไททรงปลูกเมื่อ พ.ศ.1900 เป็นต้นโพธิ์ขนาดมหึมา คนโอบ 9 คน ในพุทธศาสนาเดิมกล่าวว่า ถ้าผู้ใดไหว้บูชาต้นโพธิ์เสมือนได้บูชาพระพุทธเจ้าเช่นกันแต่ปัจจุบันความเชื่อนี้ได้จางหายไปจากสังคม
ภาพที่ 1 วัดพระบรมธาตุนครชุม.jpg

ภาพที่ 1 วัดพระบรมธาตุนครชุม