ฐานข้อมูล เรื่อง พิธีกรรมซ้อนขวัญ บ้านคลองไพร จ.กำแพงเพชร
เนื้อหา
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อเรียก
ซ้อนขวัญ
ชื่อเรียกอื่น
-
เดือนที่จัดงาน
ไม่มีการกำหนด สามารถประกอบพิธีกรรมได้ทุกเดือน
เวลาทางจันทรคติ
จะประกอบพิธีกรรมช่วงเวลาเย็นประมาณ 16.00 - 18.00 น. วันที่จะประกอบพิธีกรรมต้องไม่เป็นวันเสีย (วันจม) คือวันที่ต้องห้ามไม่ทำงานมงคลในแต่ละเดือน ซึ่งจะมีการกำหนดในปฏิทินทางจันทรคติ ผู้จะประกอบพิธีกรรมจะต้องศึกษาว่าเดือนนี้วันอะไรห้ามกระทำการมงคล โดยการนับจะใช้การนับเดือนทางจันทรคติ
สถานที่
ประกอบพิธีกรรมจะเป็นบริเวณที่ผู้นั้นประสบอุบัติเหตุ
ประเภทประเพณี
ความเชื่อและสร้างขวัญและกำลังใจให้ผู้ประสบอุบัติเหตุมีกำลังใจขึ้น
ประวัติความเป็นมา
ไม่พบหลักฐานปรากฏว่าเกิดขึ้นเมื่อใดแต่ได้รับการถ่ายทอดจากพ่อแม่และบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งผู้ที่ให้ข้อมูลคือ นางผัด จันทร์นิ้ว (หล้า) อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 2/1 หมู่ 4 บ้านคลองไพร ต.โป่งน้ำร้อน อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร ได้ให้ข้อมูลว่า พิธีกรรมซ้อนขวัญ เป็นพิธีกรรมที่ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ปู่ย่า โดยจะเป็นพิธีกรรมที่ใช้เฉพาะผู้หญิงเป็นผู้ประกอบพิธีกรรม ซึ่งจะใช้ในกรณีที่คนในครอบครัวประสบอุบัติเหตุ เมื่อคนในครอบครัวประสบอุบัติเหตุ เช่น รถล้ม รถชน แม่หรือ ย่ายาย จะเป็นผู้ไปซ้อนขวัญ ถ้าหากคนในครอบครัวไม่สามารถทำได้ ก็จะไปบอกให้ผู้หญิงผู้เฒ่าผู้แก่ท่านอื่นที่เคารพและสามารถประกอบพิธีกรรมได้เป็นผู้กระทำให้ แต่ในปัจจุบันพิธีกรรมซ้อนขวัญไม่ค่อยได้มีการปฏิบัติหรือมีให้เห็นบ่อยครั้งนัก เพราะเด็กสาวไม่ค่อยให้ความสำคัญและมองว่าเป็นพิธีกรรมที่งมงาย เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิทยาการทางการแพทย์ เมื่อประประสบอุบัติเหตุก็จะไปรักษาที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลในท้องถิ่น อีกทั้งผู้ที่รู้จักและผู้ที่จะประกอบพิธีกรรมซ้อนขวัญเหลือน้อยทั้งยังเป็นการประกอบพิธีกรรมของคนไทยกลุ่มเหนือ และเป็นพิธีกรรมที่จะประกอบกันในแต่ละครอบครัวเท่านั้น
ภาพที่ 1 แสดงข้าวเหนียวและสายสิญจน์ที่ใช้ประกอบพิธีกรรมซ้อนขวัญ บ้านคลองไพร
ผู้ที่จะประกอบพิธีกรรมนี้ได้ต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น จะเป็นแม่ ย่า หรือยายของผู้ประสบอุบัติเหตุก็ได้หากผู้ที่เป็นแม่ ย่าหรือยาย ไม่สามารถประกอบพิธีกรรมได้ก็จะไปเชิญผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นผู้หญิงมากระทำให้
ภาพที่ 2 แสดงการสาธิตผูกสายสิญจน์ที่ข้อมือที่ใช้ประกอบพิธีกรรมซ้อนขวัญ บ้านคลองไพร
การแต่งกายของผู้ประกอบพิธีกรรมนั้นไม่มีการกำหนดจะแต่งกายอย่างไรก็ได้แล้วแต่ความสะดวกของผู้ประกอบพิธีกรรมแต่ต้องสำรวมและสุภาพ วันที่ใช้ประกอบพิธีกรรมนั้นจะต้องไม่เป็นวันเสีย (วันที่ต้องห้ามประกอบพิธีกรรมหรือการมงคลของภาคเหนือตามจันทรคติแต่ละเดือนซึ่งกำหนดวันไม่ตรงกันหรือคนไทยทางภาคกลางเรียกว่าวันจมและไม่นิยมกระทำกันในวันพระ) เวลาที่จะใช้ประกอบพิธีกรรมนี้จะประมาณตั้งแต่ 16.00-18.00 น.กล่าวคือไม่ร้อนจนเกินไปเมื่อแดดเริ่มอ่อนแสงและไม่เย็นค่ำจนมองอะไรไม่เห็นเนื่องจากจะทำให้ผู้ไปประกอบพิธีกรรมได้รับอุบัติเหตุเองหรือพบกับสัตว์เลื้อยคลานมีพิษจำพวกงูหรือตะขาบ แมงป่องได้ อุปกรณ์ที่ประกอบพิธีกรรม คือ หิงหรือสวิง กล้วยน้ำว้าสุก 2 ผล ไข่ต้มจะเป็นไข่เป็ดหรือไข่ไก่ก็ได้ 2 ฟอง ข้าวนี่งหรือข้าวเหนียวหุงสุก 2 ปั้นพอประมาณ ด้ายสายสิญจน์สำหรับผูกข้อมือ ตามจำนวนที่จะผูกให้ตัดความยาวพอผู้ข้อมือผู้ประสบอุบัติเหตุได้ ประวัติผู้ให้ข้อมูล
ชื่อ นางผัด จันทร์หนิ้ว
เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน 3 6023 00031 82
เกิดวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2509
อายุ 52 ปี
ที่อยู่ 2/1 หมู่ที่ 4 ต.โป่งน้ำร้อน อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร 62000
อาชีพ เลี้ยงสัตว์
หมายเลขโทรศัพท์ 097-9899121
1.1.8. ความสำคัญ ความเชื่อเรื่องขวัญของคนไทยทุกภูมิภาคมีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังจะปรากฏในการดำเนินวิถีชีวิต ตั้งแต่เกิด คือเมื่อมีเด็กเกิด จะมีการรับขวัญเด็กที่เกิด หรือแม้กระทั่งการประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำนาซึ่งถือว่าเป็นอาชีพหลักของคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ขณะที่ข้าวจวนตั้งท้องก็ได้มีการทำขวัญข้าว ที่แสดงออกถึงความเคารพพระแม่โพสพ ซึ่งเป็นอีกประเพณีหนึ่งของทางภาคกลาง เมื่อชายไทยมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ที่นับถือพระพุทธศาสนาจะต้องมี การบวชเป็นพระ ซึ่งถือเป็นประเพณีนิยมของคนไทยที่นับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งในการบวชจะต้องมีการทำขวัญเรียกว่า “ทำขวัญนาค” เพื่อเป็นการอบรม สั่งสอนให้ผู้บวชได้ระลึกถึงพระคุณของบิดามารดา หรือผู้มีพระคุณที่เลี้ยงดูมา ชาวไทยทางภาคเหนือและอีสานเมื่อมีการเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ จะมีการเรียกขวัญเพื่อให้ ผู้ที่เจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ มีขวัญและกำลังใจจะเรียกพิธีนี้ว่า ช้อนขวัญ ซ้อนขวัญ หรือ ส้อนขวัญ บ้างตามแต่ละท้องถิ่น เรไร ไพรวรรณ์ (2551, หน้า 258 -266) กล่าวไว้ดังนี้ ถ้าจะพิจารณาถึงเหตุที่มีการทำขวัญ จะมีสาเหตุใหญ่ 2 สาเหตุ คือ 1. เหตุอันเนื่องมาจากสิ่งดีที่เกิดขึ้น หรือได้รับ เช่น ได้รับโชคลาภ การเลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่ง แต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ เจ้านายหรือผู้ใหญ่ที่เคารพมาเยือน ได้รับลาภพิเศษจากสัตว์ใหม่ เป็นต้น จึงจัดพิธีขึ้นเพื่อเป็นสิริมงคล 2. เหตุอันเนื่องมาจากสิ่งไม่ดีที่เกิดขึ้น หรือได้รับ จึงจัดพิธีทำขวัญขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาเคราะห์ ปัดเสนียดจัญไรต่างๆ ให้พ้นไป เช่น การเจ็บไข้ได้ป่วย ได้รับอุบัติเหตุ ได้รับความตกใจจากเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เคราะห์ร้ายเสียทรัพย์สินเงินทอง เกิดคดีความ สัตว์หรือสิ่งของหายไปแล้วได้คืน เป็นต้น ประคอง นิมมานเหมินทร์ ( 2521, หน้า 108-109) อธิบายความหมายของ “ขวัญ” ไว้ทำนองเดียวกัน แต่ให้เหตุผลเชิงจิตวิทยาประกอบด้วย ดังนี้ ขวัญ คือ พลังหรือกำลังใจของคนเรา ที่มีการเรียกขวัญเมื่อเกิดหกล้มหรือเคราะห์ร้าย ก็เพราะปกติของคนเรามักมีจิตใจอ่อนแอ เมื่อมีเหตุให้ตกใจหรือเสียใจก็เกิดความหวั่นไหวเสียกำลังใจได้ บรรพบุรุษจึงมีวิธีการช่วยให้กำลังใจคืนมาเกิดความมั่นใจขึ้น การเรียกขวัญในคราวเจ็บป่วยบางทีก็ทำควบคู่ไปกับพิธีสืบชะตา ซึ่งก็เป็นพิธีทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจและสบายใจขึ้นเช่นกัน การเรียกขวัญจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตใจ ทำให้ผู้ได้รับการเรียกขวัญเกิดความเข้มแข็งขึ้น มีพลังขึ้นและมีความอบอุ่นใจขึ้น จากข้อความข้างต้น สรุปได้ว่า “ขวัญ” คือสิ่งที่มีอยู่ในสิ่งมีชีวิตทุกอย่าง เป็นพลังหรือกำลังใจที่ส่งผลให้คนหรือสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ได้มีความปกติสุข ในการดำรงอยู่
1.2. ข้อมูลการสำรวจ
1.2.2. วันเดือนปีที่สำรวจ
10 มีนาคม 2560
1.2.3. วันปรับปรุงข้อมูล
10 พฤษภาคม 2561
1.2.4. ผู้สำรวจข้อมูล
จิรัฎฐ์ เพ็งแดง
1.2.5. คำสำคัญ (tag)