ศาลพระอิศวรเมืองกำแพงเพชร
รุ่นแก้ไขเมื่อ 15:35, 22 ธันวาคม 2563 โดย Admin (คุย | มีส่วนร่วม)
เนื้อหา
บทนำ
การค้นพบโบราณวัตถุที่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ทั้งที่เป็นหินและโลหะในเขตพื้นที่เมืองกำแพงเพชร หรือจังหวัดกำแพงเพชร โดยเฉพาะพื้นที่ 2 ฝั่งของแม่น้ำปิง แสดงถึงการมีชุมชนโบราณมาแต่ครั้งยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทวารวดี ที่สำคัญดินแดนแถบนี้ยังมีภูมิหลังมาแต่ครั้งประวัติศาสตร์ร่วมสมัยกับอาณาจักรสุโขทัย อยุธยา และเชียงแสนล้านนา จึงเป็นผลทำให้จังหวัดกำแพงเพชรมีความหลากหลายทางศิลปะและวัฒนธรรม อย่างไรก็ดี เมืองกำแพงเพชรในฐานะที่เป็นเมืองบริวารของอาณาจักรสุโขทัยจึงได้รับการรับรองจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในปีพ.ศ. 2534 นับแต่นั้นมา ศาลพระอิศวรเมืองกำแพงเพชร เป็นเทวสถานโบราณในศาสนาฮินดู โดยมีปรากฏเพียงแห่งเดียวในเมืองกำแพงเพชร ประมาณอายุความเก่าแก่ที่อยู่คู่เมืองกำแพงเพชรมากว่า 500 ปี ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังของศาลเยาวชนจังหวัดกำแพงเพชร มีความสูงจากตำแหน่งระดับน้ำทะเลปานกลาง 82 เมตร จัดอยู่ในกลุ่มภายในกำแพงเมืองโบราณ จากทั้ง 4 กลุ่มโบราณสถานเมืองกำแพงเพชร ซึ่งได้มีการจัดแบ่งขึ้นตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 84 ตอนที่ 51 วันที่ 7 พฤษภาคม 2511 ได้แก่ กลุ่มที่ 1 กลุ่มภายในกำแพงเมือง มีโบราณสถาน 14 แห่ง เนื้อที่ 503 ไร่ กลุ่มที่ 2 บริเวณอรัญญิกโบราณสถานทางด้านทิศเหนือนอกกำแพงเมือง มีโบราณสถาน 40 แห่ง เนื้อที่ 1,611 ไร่ กลุ่มที่ 3 บริเวณนอกเมืองด้านทิศตะวันออกมีโบราณสถาน 15 แห่ง เนื้อที่ 16 ไร่ 3 งาน กลุ่มที่ 4 บริเวณทุ่งเศรษฐี ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง(เมืองนครชุม) มีโบราณสถาน 12 แห่ง เนื้อที่ 30 ไร่ 4 งาน เอกสารนำชมอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ได้กล่าวถึงศาลพระอิศวรในปัจจุบันว่า ศาลพระอิศวรแห่งนี้ ได้รับการบูรณะพัฒนาฟื้นฟูปรับปรุงขุดแต่งพร้อมกลุ่มโบราณาสถานเมืองกำแพงเพชร โดยได้เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2508 ในสมัยของรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นการพัฒนาไปพร้อม ๆ กับเมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัย ในส่วนของเมืองกำแพงเพชรได้ดำเนินการฟื้นฟูขึ้นจำนวนทั้งสิ้น 18 แห่ง ได้แก่ ศาลพระอิศวร วัดพระธาตุ วัดพระแก้ว พระราชวัง(สระมน) ป้อมเพชร ป้อมเจ้าจันทร์ ป้อมเจ้าอินทร์ ป้อมมุมเมือง ป้อมวัดช้าง ป้อมทุ่งเศรษฐี วัดพระนอน วัดพระสี่อิริยาบถ วัดช้างรอบ วัดอาวาสใหญ่ วัดกะโลทัย วัดซุ้มกอ วัดช้าง และวัดอาวาสน้อย การพัฒนานี้ได้ดำเนินการต่อเนื่องเรื่อยมาโดยตลอดจนถึง ปี พ.ศ. 2525 กรมศิลปากรได้บรรจุงานบูรณะปรับปรุงโบราณสถานเมืองกำแพงเพชรไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2526) โดยใช้ชื่อโครงการว่า “โครงการอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร” และต่อเนื่องมาจนถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530-2535) กระทั่งเสร็จสิ้นและกรมศิลปากรได้ดำเนินการเปิดอุทยานประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน 2534 โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธี (สถาพร เที่ยงธรรม, 2557 หน้า 169-170)
คำสำคัญ : ศาลพระอิศวร, เมืองกำแพงเพชร
ภาพที่ 1 ศาลพระอิศวรเมืองกำแพงเพชร
การกำเนิดศิลปะและวัฒนธรรมในเมืองกำแพงเพชร
เมืองกำแพงเพชรเป็นเมืองโบราณที่มีความสำคัญในหลายยุคหลายสมัย เพราะเนื่องจากมีการค้นพบหลักฐานการมีอยู่ของชุมชนมนุษย์ นับแต่ยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นต้นมาจนถึงยุคทวารวดี กระทั่งถึงยุคประวัติศาสตร์ร่วมสมัยกับอาณาจักรสุโขทัย อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา และเชียงแสนล้านนา โดยเมืองกำแพงเพชรในอดีตนั้น ถือว่าเป็นเมืองบริวารของอาณาจักรสุโขทัยก่อนที่จะขึ้นตรงกับอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาในภายหลัง ด้วยความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองเช่นนี้ จึงย่อมทำเกิดการถ่ายเทรูปแบบของวัฒนธรรมและระบบความเชื่อเข้าหากัน ตัวอย่างเช่น วัดเจดีย์กลางทุ่งที่มีลักษณะแบบเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์หรือทรงดอกบัวตูม อันเป็นลักษณะศิลปะแบบสุโขทัยแท้ โดยเมื่อเมืองกำแพงเพชรเป็นบริวารสำคัญถือเป็นเมืองหน้าด่านกันชน จึงได้สร้างเจดีย์ที่มีลักษณะเฉพาะตามรูปแบบศิลปะของแคว้นสุโทขัยอันเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรก็เพื่อหวังแสดงถึงขอบเขตอำนาจ ต่อมาเมื่อเมืองกำแพงเพชรเป็นส่วนหนึ่งในอำนาจปกครองของแคว้นอยุธยาในสมัยอยุธยายุคต้น จึงได้มีการสร้างพระนั่งพระนอนตาม พุทธลักษณะของศิลปะอยุธยายุคต้น (แบบอู่ทอง) ขึ้นที่วัดพระแก้วอันเป็นวัดสำคัญในเขตพระราชวังโบราณก็ด้วยเหตุผลเดียวกันนั่นเอง แม้ว่าจะเป็นการบูรณปฏิสังขรณ์ก็ตาม แต่ก็เป็นการยึดถือตามผู้นำในยุคนั้น ๆ เนื่องจากถือว่าผู้นำ คือผู้ที่มีอำนาจสูงสุด ในการปกครองดูแลและควบคุมทรัพยากรต่าง ๆ ทั้งผู้คนและบ้านเมือง อำนาจนี้ถือว่าเป็นอำนาจที่ศักดิ์สิทธิ์ตามระบบความเชื่อที่สั่งสมมา หลักฐานที่เป็นสิ่งยืนยันสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนพบได้อยู่โดยทั่วไปอันเป็นซากโบราณสถานและวัตถุ มีทั้งที่เป็นขนาดเล็ก กลาง ถึงใหญ่โตกินพื้นที่กว้างขวาง โดยมีปรากฏอยู่ทั้งในเมือง นอกเมือง มีทั้งที่เสื่อมสภาพตามกาลเวลาและมีทั้งที่ได้รับการพัฒนาฟื้นฟูให้กลับมาคงสภาพที่ใกล้เคียงดังเดิม บางแห่งก็ยังคงมีการใช้เพื่อประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อที่ส่งต่อ ๆ กันมาด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ระบบความเชื่อ ย่อมรวมถึงศาสนา และความเชื่อในลัทธิต่าง ๆ ศาสนาในความหมายกว้างๆ คือการบวงสรวงบูชาหรือการสร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างมนุษย์กับอำนาจศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ซึ่งมนุษย์เชื่อว่าสามารถควบคุมหรือมีอิทธิพลเหนือวิถีทางของธรรมชาติและวิถีชีวิตของมนุษย์ ศาสนาตามทัศนะทางมานุษยวิทยาจึงบ่งบอกนัยถึงการขยายความสัมพันธ์ทางสังคมของมนุษย์ออกไปสู่ ความสัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีอำนาจเหนือมนุษย์และธรรมชาติ ดังนั้นศาสนาและความเชื่อทางศาสนาจึงเป็นสิ่งสากลที่เราพบเห็นได้ในทุกสังคมตลอดมาทุกยุคทุกสมัย (ยศ สันตสมบัติ, 2537 หน้า 214) ในสมัยโบราณ มนุษย์ดำเนินชีวิตท่ามกลางปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าใจได้ ไม่ว่าจะเป็นความมืด ความสว่าง ความร้อน ความหนาว พายุฝน ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ภาวะเกิด แก่ เจ็บ ตาย สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้มนุษย์เกิดความกลัวและเชื่อว่าต้องมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอำนาจลี้ลับอยู่เหนือปรากฏการณ์ เหล่านี้ ซึ่งสามารถที่จะบันดาลคุณและโทษแก่มนุษย์ได้ มนุษย์จึงพยายามหาวิธีการอ้อนวอนเอาใจหรือ ต่อรองกับ อำนาจลึกลับด้วยการบูชา บนบานหรือเซ่นไหว้ จนกระทั่งมีพัฒนาการรูปแบบความเชื่อด้วย หวังให้ได้ใกล้ชิดอำนาจเหล่านี้ ด้วยการสร้างรูปเคารพโดยจำลองเอาลักษณะทางกายภาพของมนุษย์เป็นต้นแบบด้วยการลดทอนเพิ่มเติมรายละเอียดเข้าไปให้แลดูทั้งมีความเมตตา ความเข้มแข็ง และความงดงามเปี่ยมไปด้วยพลังอำนาจอันเป็นไปแบบอุดมติ ศาสนาพราหมณ์ถือว่าเป็นศาสนาที่มีบทบาทในดินแดนของไทยจากเหนือจรดใต้ ซึ่งได้เข้ามาปะปนอยู่ในคติความเชื่อและวัฒนธรรมไทยหลายรูปแบบโดยมีมาก่อนการเข้ามาของพระพุทธศาสนาในเมืองไทย พระครูวามเทพมุนี (ชวิน รังสีพราหมณกุล) ได้ให้สัมภาษณ์วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 17 ฉบับที่ 1 ไว้ว่า มีเทพเจ้าหลายองค์ในศาสนาพราหมณ์ที่กลายมาเป็นที่เคารพนับถือของชาวไทย เช่น พระพรหมที่คนไทยนิยมไปกราบไหว้บนบาน พระอิศวร พระพิฆเนศวร เทพแห่งศิลปะ หรือพระอินทร์ ซึ่งปรากฏในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากคุณลักษณะเฉพาะของเทพแต่ละองค์ ตามตำนานเทวกำเนิดแล้ว ก็จะพบว่าอุปนิสัยของเทพเหล่านี้ สะท้อนถึงภาวะหมุนเวียนของโลก โดยเริ่มจากพระอิศวรซึ่งมักให้พรคนที่บำเพ็ญตบะแก่กล้า ผู้ได้รับพรก็มักลืมตัวใช้อิทธิฤทธิ์ ก่อความวุ่นวาย ความทุกข์ร้อนแก่สังคม จนพระนารายณ์ต้องลงมาปราบด้วยวิธีล้างโลกด้วยไฟประลัยกัลป์ ต่อจากนั้นพระพรหมก็จะสร้างโลกขึ้นใหม่หมุนเวียนไปเช่นนี้ ประจักษ์ สายแสง ได้กล่าวถึงเมืองกำแพงเพชร ในรายงานการสัมมนา เรื่อง กำแพงเพชรอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ไว้ว่า “คนกำแพงเพชรดั้งเดิมนั้น มีความเชื่อที่หลากหลายทั้งทางพุทธ ฮินดู และผี ไม่ต่างไปจากผู้คนในภูมิภาคอื่น ๆ เช่น คนในภาคอีสานจะเชื่อในเรื่องปู่สังกะสา ย่าสังกะสี ปู่อึ้ม ย่าเผิ้ง ปู่เยอ ย่าเยอ ผีปู่ตา ผีแถน ส่วนผู้คนทางล้านนาจะมีความเชื่อเกี่ยวกับ ผีปู่แสะ ย่าแสะ ขณะเดียวกันคนกำแพงเพชรดั้งเดิม จะมีพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น รดน้ำพระอีศวรในวันสงกรานต์ การผูกข้อมือลูกหลาน ผูกเครื่องใช้ หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยง เพื่อการให้พรในวันพระยาวัน ก็ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน” (วิทยาลัยครูกำแพงเพชร, 2533 หน้า 271)
ภาพที่ 2 ภาพพระอิศวรพระพิฆเนศ และศิวลึงค์ ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีของศาล
ศาลพระอิศวรเมืองกำแพงเพชร
ศาลพระอิศวรเมืองกำแพงเพชร ตั้งอยู่ในตำแหน่งพิกัดทางภูมิศาสตร์ ละติจูด 16°29’24’N ลองจิจูด 99°31’48’E มีหน่วยงานที่ดูแลรักษา ได้แก่ กรมศิลปากรและหน่วยงานยูเนสโก มีสถานะการขึ้นทะเบียน ดังนี้ 1. ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตามประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478 2. ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตามประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 54 วันที่ 3 มกราคม 2480 3. ประกาศขึ้นทะเบียนกำหนดขอบเขตอีกครั้งในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 85 ตอนที่ 41 วันที่ 7 พฤษภาคม 2511 4. ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก (UNESCO) เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2534 (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), ม.ป.ป.)
ภาพที่ 3 ศาลพระอิศวรในปัจจุบัน
ภาพที่ 4 ศาลพระอิศวรในปัจจุบัน
ศาลพระอิศวรเป็นโบราณสถานที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นศาลหรือเทวาลัยในศาสนาฮินดู ตั้งอยู่ใน เขตกำแพงเมืองโบราณกำแพงเพชรและอยู่ด้านทิศตะวันออกของเขตพระราชวังโบราณ อันเป็นพื้นที่ส่วนทางทิศใต้ตอนกลางของเมือง ปัจจุบันอยู่ในเขตตัวอำเภอเมืองกำแพงเพชรและเขตเทศบาลเมืองกำแพงเพชร ตัวศาลในปัจจุบันได้ถูกบูรณะปรับแต่งให้ใกล้เคียงกับแบบสัณฐานเดิมมากที่สุด ซึ่งมีลักษณะโครงสร้างแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยศิลาแลง ยกพื้นสูง 1.5 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เครื่องบน สันนิษฐานว่า เครื่องบนน่าจะเป็นไม้เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่มีอยู่มากมาย พิทยา คำเด่นงาม ได้ร่วมกับกรมศิลปากรทำการศึกษาเมื่อ ปีพ.ศ. 2509 เพื่อบูรณะปรับแต่งด้วยการทำผังจากการขุดแต่งพบว่าศาลพระอีศวรเป็นอาคารผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยศิลาแลง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ฐานชุกชีด้านบนเป็นแท่นตั้งเทวรูป จากหลักฐานพบว่าเคยเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปพระอิศวรพระนารายณ์และพระอุมา สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยา ตลอดจนทำการบูรณะและเสริมความมั่นคงศาลพระอิศวรและปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ จากหลักฐานที่พบสันนิษฐานว่ามีการใช้พื้นที่ศาลพระอิศวรช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 - 23 สมัยอยุธยาตอนกลางถึงตอนปลาย (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), ม.ป.ป.)
ภาพที่ 5 จารึกฐานพระอิศวรเมืองกำแพงเพชร
(ที่มา : พราหมณ์ ชาคริต, ม.ป.ป.)
การพบข้อความจารึกที่บริเวณฐานเทวรูปพระอีศวรเมืองกำแพงเพชร ส่งผลให้เทวรูปนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์กำแพงเพชร สุโขทัย อยุธยา เนื่องจากจารึกดังกล่าวเป็นการบันทึกเรื่องราวการสร้างและเหตุการณ์ต่าง ๆ ขณะช่วงเวลานั้น มีทั้งสิ้น 3 บรรทัด โดยเฉพาะในบรรทัดที่ 1 ซึ่งระบุตรงกับปีพุทธศักราช 2053 ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ ต่อมาจารึกทั้ง 3 บรรทัดนี้ ได้ถูกแปลโดย ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (George Coedes) นักวิชาการชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เดินทางมารับราชการในตำแหน่งบรรณารักษ์ใหญ่ประจำหอพระสมุดวชิรญาณ เมื่อพ.ศ. 2461 ต่อมาเปลี่ยนเป็นหอสมุดแห่งชาติ ทำให้ทราบถึงกรณียกิจที่เจ้าเมืองขณะนั้นที่ได้ดูทุกข์สุขของผู้คนในเมืองของตนอย่างไร ซึ่งได้ความว่า “ศักราช 1432 มะเมียนักษัตร อาทิตยพารเดือน 6 ขึ้น 14 ค่ำ ได้หัสฤกษ์เพลารุ่งแล้ว 2 นาฬิกา จึงเจ้าพรญาศรีธรรมาโศกราชประดิษฐานพระอีศวรเป็นเจ้านี้ไว้ให้ครองสัตว์สี่ตีนสองตีนในเมืองกำแพงเพชรแลช่วยเลิกศาสนาพุทธศาสตร์แลไสยศาสตร์แลพระเทพกรรมมิให้หม่นหมองให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว แลซ่อมแปลงพระมหาธาตุแลวัดบริพารในเมือง นอกเมืองและที่แดนเหย้าเรือน ถนนทลาอันเป็นตรธานไปเถิงบางพาน ขุดแม่ไตรบางพร้อ อนึ่งย่อมขายวัวไปแก่ละว้าอันจะขาย ดุจก่อนนั้น ก็ห้ามมิให้ขาย อนึ่งเมื่อทำนาไซร้ย่อมข้าวพืช ข้าวในนานั้นปลูกเอง มิได้เอาข้าวในยุ้งไปหว่านไปดำทั้งหลาย อนึ่งท่อปู่พญาร่วงทำเอาน้ำไปเถิงบางพานนั้น ก็ถมหายสิ้นและเขาย่อมทำนาทางฟ้าแลหาท่อนั้นพบ กระทำท่อเอาน้ำเข้าไปเลี้ยงนา ให้เป็นนาเหมือนนาฝาย มิได้เป็นทางฟ้า อันทำทั้งนี้ถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จบพิตรพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์” ศักราชที่ปรากฏข้างต้นเป็นมหาศักราช ตรงกับพุทธศักราช 2053 จารึกนี้ให้ข้อมูลประวัติศาสตร์ดังนี้ เมืองกำแพงเพชรสมัยนั้นมีผู้ปกครองเมืองนามว่า พรญาศรีธรรมาโศกราช และเป็นผู้บัญชาให้สร้างปฏิมากรรมพระอีศวรองค์นี้ขึ้น เพื่อให้เป็นเทพคุ้มครองประชาชนและสิ่งมีชีวิตทั้งปวงในเมืองกำแพงเพชร ทั้งกล่าวถึงการฟื้นฟูลัทธิศาสนาที่ประชาชนเชื่อถือในเมืองกำแพงเพชรในเวลานั้น อันได้แก่ พระพุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูที่นับถือเทพเจ้าและไสยศาตร์ซึ่งหมายถึงมนตรยานหรือลัทธิตันตระและการฟื้นฟูสิ่งก่อสร้างเนื่องในศาสนา กล่าวถึง การฟื้นฟูระบบชลประทานจากที่เคยมีการวางรากฐานไว้แล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย เพื่อสามารถทำนาปลูกข้าวได้ดีกว่าเดิม โดยไม่ต้องทำนาโดยอาศัยเพียงน้ำฝนตามฤดูกาลเท่านั้น และเมื่อฟื้นฟูระบบชลประทานแล้วย่อมต้องใช้วัวในการไถนา จึงประกาศไม่ให้ขายวัวให้กับพวกละว้าซึ่งน่าจะหมายถึงพวกลัวะ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่อยู่ตามหุบเขาในเขตจังหวัดตาก แม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่นอกจากนั้นยังกล่าวถึงการสร้างพระอีศวรเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลให้กับพระเจ้าอยู่หัว 2 พระองค์ ซึ่งน่าจะหมายถึงพระเจ้าแผ่นดินที่ปกครองกรุงศรีอยุธยาในเวลานั้นองค์หนึ่ง อีกองค์หนึ่งอาจเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ล่วงลับไปแล้วก่อนหน้า องค์ปัจจุบัน หากสันนิษฐานเช่นนี้ ก็น่าจะหมายถึง สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (ครองราชย์ พุทธศักราช 2034 ถึง 2072) และ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 (ครองราชย์ พุทธศักราช 2031 ถึง 2035 ) ตามลำดับ อนึ่งอาจวิเคราะห์ว่า องค์ที่ 2 อาจหมายถึง ผู้ปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือซึ่งรวมถึงเมืองกำแพงเพชรด้วย หรือเมืองลูกหลวงของกรุงศรีอยุธยาซึ่งมีเมืองหลักอยู่ที่เมืองพิษณุโลกในสมัยนั้น คือ สมเด็จพระอาทิตยเจ้า ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์โตในสมเด็จ พระรามาธิบดีที่ 2 และโปรดฯให้ไปครองเมืองพิษณุโลกซึ่งเป็นเมืองลูกหลวงที่เคยเป็นราชธานีของกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (มนต์นัทธ์, 2560) ต่อมาจารึกนี้ได้ขึ้นทะเบียนบัญชีโบราณวัตถุ ดังนี้ (1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “กพ. 2” (2) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1 กำหนดเป็น “หลักที่ 13 จารึกบนฐานพระอิศวรจังหวัดกำแพงเพชร” ส่วนการเรียกพระนาม “อีศวระ” ปัจจุบันคนไทยได้เขียนผิดเพี้ยนไปเป็น “อิศวร” ซึ่งไม่ถูกต้อง การค้นพบจารึกวัดป่ามะม่วง พ.ศ.1904 อันเป็นหลักฐานในสมัยสุโขทัย ทำให้ทราบว่าคนสุโขทัยสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท เรียกพระศิวะว่า พระอิศวรและพระมเหศวร (จาก) พระสทาศีพ (มาจาก พระสทาศิวะ) ศาลพระอิศวรเมืองกำแพงเพชรแต่เดิมนั้น พบว่าได้มีการประดิษฐานปฏิมากรรมเทวรูปสัมฤทธิ์ที่สำคัญ จำนวน 3 องค์ ได้แก่ เทวรูปพระอิศวรเทวรูปพระนารายณ์ และเทวรูปพระแม่อุมาเทวี ทั้งนี้ปฏิมากรรมเทวรูปสัมฤทธิ์พระอิศวรเมืองกำแพงเพชร มีประวัติการค้นพบการสูญหายและการได้กลับคืนมาในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จนกระทั่งได้นำกลับคืนมาสู่เมืองกำแพงเพชร เรื่องราวเหล่านี้ได้เริ่มต้นขึ้นโดยเมื่อครั้งนายแม็คคาธี นายช่างสำรวจทำแผนที่ฯ มาสำรวจทำแผนที่เมืองกำแพงเพชร เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2425 ได้มีบันทึกการพบเห็นเทวรูปสัมฤทธิ์พระอิศวร ณ ศาลพระอิศวรว่า “ตั้งอยู่ในกลางเมืองห่างบ้านพระยากำแพงเพชรเดินสักสิบมินิตเท่านั้น เทวรูปนี้ว่าเป็นที่คนนับถือว่าศักดิสิทธิ เป็นที่บูชาเส้นสรวงกันอยู่
ภาพที่ 6 ภาพเทวรูปและเทวสตรีที่ศาลพระอีศวรเมืองกำแพงเพชร ก่อนถูกเคลื่อนย้ายและบูรณะ
(ที่มา : สุขใจดอทคอม, 2556)
อีก 2 ปีต่อมา นายรัสต์มัน (J.E. Rastmann) พ่อค้าชาวเยอรมันและเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจการของพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาแห่งเบอร์ลิน ได้ทำการค้าขายขึ้นล่องระหว่างกรุงเทพฯ กับหัวเมืองภาคเหนือ พระยาสุจริตรักษา ผู้สำเร็จราชการเมืองตาก ได้มีรายงานบันทึกกล่าวถึงพฤติกรรมของนายรัสต์มันว่า “มาครั้งใดก็ได้เที่ยวเก็บเอาพระพุทธรูปหล่อไปครั้งละร้อยสองร้อยองค์ทุกครั้งไป ถ้าเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ มิสเตอรอศแมนให้ลูกจ้างตัดเอาแต่พระเศียรไป” เมื่อนายรัสต์มันมาพบเห็นเทวรูปที่ศาลพระอิศวรเมืองกำแพงเพชรเห็นว่าเป็นที่เคารพบูชาของคนในเมืองนี้ จึงอุบายแจ้งไปยังกงสุลเยอรมันประจำกรุงเทพฯ ว่า “เป็นของที่ถูกทอดทิ้งอยู่กลางป่าแล้วถ้าตนนำไปก็จะเป็นการล้างผลาญศาสนาพราหมณ์ อันจะทำให้ศาสนาของพระพุทธเจ้าเจริญขึ้น ขอให้กงศุลฯ ขอพระราชทานพระราชานุญาติจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ” ระหว่างที่รอโปรดเกล้าฯ ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่นั้นปรากฏว่านายรัสต์แมนได้ลักลอบตัดพระเศียรและพระกรของเทวรูปทั้ง 3 ที่ประดิษฐานอยู่ ณ ศาลนี้ส่งลงมายังกรุงเทพฯ ทว่ากงสุลเยอรมันไม่เห็นชอบด้วยจึงอายัดไว้ เรื่องราวดังกล่าวได้ปรากฏในพระราชหัตถเลขาซึ่งทรงมีไปยังสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ตอนหนึ่งว่า “มาบัดนี้กงศุลเยอรมันมีหนังสือขึ้นมาถึงเทวัญ ว่าอ้ายราสแมนไปขโมยเอาหัวกับแขนเทวรูปนั้น ลงมาแล้ว แต่กงศุลพูดจาดี ไม่เห็นชอบในการที่ราสแมนทำให้ยึดเอาของที่ราสแมนเอานั้นไว้ที่ศาลกงศุล ขอให้เทวัญฤาใครลงไปดู” ราวเดือนเมษายน พ.ศ. 2427 ระหว่างที่กรมหมื่นพิชิตปรีชากรเสด็จฯขึ้นไปเชียงใหม่ผ่านเมืองกำแพงเพชร ได้มีหนังสือกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ความตอนว่า “อนึ่งข้าพระพุทธเจ้าออกมาถึงเมืองกำแพงเพชรครั้งนี้ ได้เห็นเทวรูปพระอิศวรที่มิสเตอร์ราษแมนเอาพระเศียรไปนั้นเห็นเป็นของประหลาดงดงามมาก หล่อด้วยทองเหลืองเนื้อหนาและลวดลายวิจิตบันจงมาก พุทธเจ้าได้สั่งให้พญากำแพงเพชรนำเทวรูปทองสำฤทธที่มิสเตอราษมันเอาพระเศียรไปรูปหนึ่งกับศิลาจาฤกอักษรแผ่นหนึ่งเป็นของสำหรับกับพระมหาธาตุเมืองกำแพงเพชร แต่องค์พระมหาธาตุนั้นล้มทำลายเสียเมื่อครั้งแผ่นดินไหว มีผู้ยกเอาแผ่นศิลานี้มาทิ้งไว้ที่สเดจหน้าเมืองกำแพงเพชร ข้าพระพุทธเจ้าเห็นว่าเป็นของโบราณ ประหลาดควรอยู่ ณ กรุงเทพฯ จึงส่งลงมาทูลเกล้าถวาย ควรมิควรสุดแล้วแต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ” เมื่อส่วนองค์ของเทวรูปส่งลงมายังกรุงเทพฯ จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ อธิบดีกรมช่างสิบหมู่ผู้ทรงเป็นช่างหลวงนำพระเศียรและพระหัตถ์ติดเข้ากับองค์เทวรูปพระอิศวรดังเดิม ครั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จประพาสต้น ณ เมืองกำแพงเพชรระหว่างวันที่ 18-27 สิงหาคม พุทธศักราช 2449 ทรงเสด็จพระราชดำเนินมา ณ ศาลพระอีศวรเมืองกำแพงเพชรแห่งนี้ ทรงตรัสว่า “ที่นี่ ซึ่งคนเยอรมันได้มาลักรูปพระอิศวร (ที่อยู่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์) เดี๋ยวนี้ไปตามกลับมาได้ยังคงเหลือ...บัดนี้ แต่พระอุมาและพระนารายณ์ซึ่งเอาศีรษะไปเสียแล้ว” (มนต์นัทธ์, 2560) เทวรูปพระอิศวรสัมฤทธิ์ที่ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีในปัจจุบัน ณ ศาลพระอิศวรเมืองกำแพงเพชร ได้จำลองขึ้นในสมัยที่นายเชาวน์วัศ สุดลาภา (พ.ศ. 2525-2527) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนเทวรูปพระอิศวรสัมฤทธิ์องค์จริง ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร รูปแบบของเทวรูปพระอิศวรเมืองกำแพงเพชรนี้ เป็นงานศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนต้นที่รับอิทธิพลมาจากศิลปะเขมรแบบบายน มีอายุ ทางโบราณคดีอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-22 พระอิศวรองค์นี้ถือว่าเป็นรูปเคารพในศาสนาฮินดูที่คู่บ้านคู่เมืองกำแพงเพชรมาอย่างยาวนาน ทั้งยังเป็นเทวรูปสัมฤทธิ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นโบราณศิลปวัตถุชั้นยอดเยี่ยมชิ้นหนึ่งของชาติและมีเพียงชิ้นเดียวในประเทศไทย
ภาพที่ 7 ภาพเทวรูปพระอิศวรสัมฤทธิ์องค์จริง
(ที่มา : สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกำแพงเพชร, 2561)
ภาพที่ 8 ภาพเทวรูปพระอิศวรสัมฤทธิ์องค์จำลอง ณ ศาลพระอิศวรเมืองกำแพงเพชรในปัจจุบัน
(ที่มา : สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกำแพงเพชร, 2561)
ปัจจุบันถือว่าศาลพระอิศวรเมืองกำแพงเพชรเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดกำแพงเพชร เนื่องจากจัดอยู่ในกลุ่มโบราณสถานกลุ่มภายในกำแพงเมืองโบราณ สามารถเข้าชมได้ทุกวัน ไม่มีเวลาเปิด–ปิด ไม่เสียค่าธรรมเนียมเข้าชม เป็นที่เคารพสักการะของผู้คนโดยทั่วไป
คาถาบทสวดมนต์บูชาพระอิศวร (โดยย่อ)
โอม นะมัส ศิวายะ (สามจบ)
กระบวนการในการสักการะบูชาและองค์ประกอบการบูชาพระอิศวร
1. โต๊ะหรือแท่นบูชา สามารถประดิษฐานร่วมกับเทพองค์อื่น ๆ ได้ เช่น พระพรหม พระวิษณุ ศิวลึงค์ หรือครอบครัวของพระองค์ คือ พระแม่อุมา พระแม่กาลี พระแม่ทุรคา พระพิฆเนศ พระขันทกุมาร และควรปูโต๊ะหรือแท่นบูชาด้วย ผ้าสีขาว สีแดง สีเงิน เชื่อว่าผ้าพิมพ์ลายหนังเสือ (หนังเสือเทียม) ท่านจะโปรดมาก แท่นหรือโต๊ะควรเป็นลายไม้ธรรมชาติ หรือทาสีด้วย สีดำสนิท สีแดง สีเงิน ไม่ควรมีลายสีทอง (เนื่องจากพระองค์ไม่โปรดสัญลักษณ์ที่สื่อถึงทองคำ เพราะพระองค์ปฏิบัติโยคะอย่างสูงสุด มีความสมถะ เรียบง่าย) 2. เครื่องสังเวย ของถวายควรมีน้ำดื่ม นมสด รสจืดหรือหวาน ไม่มีการปรุงแต่งกลิ่นหรือสี 3. ดอกไม้ สามารถใช้ดอกดาวเรือง ดอกบัว ดอกกุหลาบ ดอกไม้ป่าต่าง ๆ ได้ทุกสี ทุกพันธุ์ กำยาน กลิ่นควรใช้กลิ่นจันทน์ กลิ่นดอกบัว กลิ่นสมุนไพรและพรรณไม้ต่าง ๆ 4. ผลไม้ ควรถวายทั้งเปลือก หรือเป็นลูกๆ เช่น กล้วยทั้งหวี แต่มะพร้าวจะต้องผ่าหรือใช้น้ำมะพร้าวเทใส่แก้ว ขอให้มีกลิ่นหอม รสชาติอ่อน ๆ ไม่เปรี้ยวจัด ไม่หวานจัด หรือขมจัดเกินไป ผลไม้ไม่ควรปอกเป็นคำๆ 5. ขนม ควรถวายขนมรสหวาน มีกลิ่นหอม ห้ามถวายอาหารคาวและเนื้อสัตว์ หากธัญพืช เช่น งา ลูกเดือย ข้าวตอก ใบมะตูม หญ้าคา เผือก มัน เมล็ดถั่ว เมล็ดข้าว พริกไทย เครื่องเทศต่าง ๆ ได้เช่นกัน
บทสรุป
ศาลพระอิศวรเมืองกำแพงเพชร เป็นเทวสถานโบราณในศาสนาฮินดูที่สำคัญและมีปรากฏเพียงแห่งเดียวในจังหวัดกำแพงเพชร ด้วยเป็นโบราณสถานที่มีคุณค่าต่อประชาชนในจังหวัดกำแพงเพชรและประชาชนทั่วไป อยู่ 2 ประการ ได้แก่ ประการแรก ถือเป็นโบราณสถานที่มีคุณค่าสำหรับการศึกษาเรียนรู้ในข้อมูลยุคประวัติศาสตร์ชาติไทยของเมืองกำแพงเพชร อันเป็นการร่วมสมัยของการเมืองการปกครองระหว่างรัฐสุโขทัยยุคปลายกับรัฐอยุธยายุคต้นที่ได้เข้ามามีบทบาทในดินแดนแถบนี้ เนื่องด้วยการค้นพบจารึกที่บริเวณฐานของเทวรูปข้อความนี้ได้ระบุถึงผู้สร้างและระยะเวลาการสร้างอย่างชัดเจน แสดงถึงความเชื่อมโยงการเมืองการปกครองและระบบความเชื่อของผู้นำที่มีต่อผู้คนเมืองกำแพงเพชรในระยะต่อมาถึงปัจจุบัน ประการที่สอง ศาลพระอิศวรเมืองกำแพงเพชร เป็นโบราณสถานที่จัดอยู่ในกลุ่มโบราณสถานในเขตกำแพงเมืองโบราณที่สำคัญแห่งหนึ่ง จากทั้งสิ้น 4 กลุ่มโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก นับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อันจะเห็นได้จากการที่มีทั้งผู้คนจากต่างถิ่นต่างประเทศเข้ามาเพื่อชมความงามและความเก่าแก่ของโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ ตลอดจนผู้ที่มีความศรัทธาต่อองค์พระอีศวรมาสัการะบูชากันอย่างไม่ขาดสาย จากคุณค่าทั้ง 2 ประการนี้ จึงสมควรอย่างที่ได้อนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นมรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมคู่เมืองกำแพงเพชรต่อไป