ดาบโบราณเมืองกำแพง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร

จาก KPPStudies
รุ่นแก้ไขเมื่อ 09:06, 12 เมษายน 2565 โดย Admin (คุย | มีส่วนร่วม) (ประเภทของดาบโบราณ)
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

บทนำ

         เมืองกำแพงเพชรในประวัติศาสตร์ขึ้นชื่อว่า เป็นเมืองหน้าด่านที่มีการก่อสงครามอยู่ไม่ขาดสาย และมีป้อมปราการรายล้อมพร้อมคูเมือง เนื่องจากมีสงครามและเพื่อปกป้องบ้านเมือง จึงจำเป็นต้องมีศาสตราวุธคู่กายเพื่อนำมาป้องกันตัวและต่อสู้ ในขณะเดียวกันก็เป็นยุคสมัยที่ดาบสามารถนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายเนื่องจากวัตถุดิบที่หาได้ง่าย ทั้งนี้ดาบที่ผู้ถือครองนั้นก็มีความแตกต่างออกไปตามบทบาทและหน้าที่ อาทิ ทหารศึกที่มีไว้เพื่อรบศึกสงครามโดยเฉพาะ หรือชาวบ้านที่มีไว้เพื่อป้องกันตัว แต่ยังมีดาบอีกประเภทที่สามารถบ่งบอกถึงชนชั้น ความสามารถ ไปจนถึงความยิ่งใหญ่ซึ่งถือได้ว่าการจะได้ดาบเล่มนี้มาย่อมจะต้องมีความ สามารถสูงและแลกมากับความพยายามอย่างสุดความสามารถดังเช่นความเป็นมาของดาบโบราณของจังหวัดกำแพงเพชรที่มีประวัติที่แสนวิเศษโดยมีเรื่องราวกล่าวกันว่าดาบเล่มนี้เคยเป็นดาบประจำตระกูลของพระยากำแพงผู้ปกครองเมืองกำแพงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น และถูกเปลี่ยนมือมารุ่นสู่รุ่นจนหมดวาระการถือครองและได้ถูกเปลี่ยนไปเป็นดาบประจำเมือง โดยมีชื่อเรียกว่า พระแสงราชศัสตรา โดยบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) ประวัติและความเป็นมาของดาบประจำเมือง 2) ประเภทของดาบโบราณ 3) วิธีการตีดาบ

คำสำคัญ : ดาบพระแสง,ดาบโบราณ,พระแสงราชศัสตรา

ประวัติและความเป็นมาของดาบประจำเมือง

         จังหวัดกำแพงเพชร เป็นเมืองเก่าที่นับว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยทวารวดี เป็นที่ตั้งของเมืองโบราณหลายเมืองเช่น เมืองชากังราว เมืองนครชุม เมืองไตรตรึงษ์ เมืองเทพนคร และเมืองคณฑี นอกจากนี้เมืองกำแพงเพชรยังเป็นเมืองที่สองที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ครองเมือง มีบรรดาศักดิ์เป็น "พระยาวชิรปราการ" ต่อมาในปี พ.ศ.2459 ได้เปลี่ยนเมืองกำแพงเพชรเป็นจังหวัดกำแพงเพชร ตามประวัติศาสตร์ กล่าวว่า กำแพงเพชรเป็นเมืองหน้าด่านของสุโขทัยมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงเดิมเรียกชื่อว่า "เมืองชากังราว" และมีเมืองบริวารรายล้อมอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ไตรตรึงษ์ เทพนคร ฯลฯ การที่กำแพงเพชรเป็นเมืองหน้าด่านรับศึกสงครามในอดีตอยู่เสมอ จึงมีหลักฐานปรากฎอยู่มากมาย เช่น กำแพงเมือง คูเมือง ป้อมปราการ จากหลักฐานดังกล่าวจึงสันนิษฐานว่า จังหวัดกำแพงเพชรเดิมเคยเป็นที่ตั้งของเมือง 2 เมืองคือ เมืองชากังราว และเมืองนครชุม เนื่องจากเป็นเมืองหน้าด่านในฐานะเมืองลูกหลวงและมีการรับศึกสงครามอยู่เสมอ ในการสงครามย่อมจะต้องมีอาวุธคู่กาย โดยอาวุธก็จะมีความแตกต่างในการใช้งานหลายรูปแบบตามความถนัดและการฝึกฝนของทหารแต่ละคน อาทิ ทวน หอก ดาบ ธนู หลาว เป็นต้น แต่อาวุธที่เห็นในสนามรบ ได้บ่อยที่สุดนั้นก็คือ ดาบ การใช้ดาบเป็นอีกหนึ่งอาวุธที่เป็นส่วนสำคัญในการทำศึกสงคราม เนื่องจากเป็นอาวุธที่มีความคล่องตัวและพกพาสะดวก ทั้งนี้ดาบต่อสู้นั้นเรียกได้ว่ามีหลากหลายประเภท หลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม ความเชื่อ แนวคิดของแต่ละเมือง นอกจากนี้ดาบไม่ใช่เพียงเป็นสิ่งที่นำมาต่อสู้เพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในทางด้านอื่น ๆ ได้ ซึ่งวัตถุประสงค์ในการใช้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบจากดาบทั่วไป ดาบที่กล่าวถึงนั้นจะมีแสงญานุภาพมากกว่าการรบในสงคราม นำมาซึ่งเกียรติยศ เป็นดาบคู่บ้านคู่เมือง ซึ่งเรียกขานกันในนาม พระแสงราชศัสตรา ประจำเมืองกำแพงเพชร ซึ่งดาบเล่มนี้เป็นดาบฝักทองลงยาที่งดงาม มีความเชื่อกันว่าเป็นดาบวิเศษ แสดงถึงพระราชอำนาจสูงสุดของพระมหากษัตริย์ ในการปกครองบ้านเมือง
ภาพที่ 1 พระแสงราชศัสตราเมืองกำแพงเพชร.jpg

ภาพที่ 1 พระแสงราชศัสตราเมืองกำแพงเพชร (พระยากำแพงเพชร, 2557)

         ในสมัยนั้น รวมทั้งเป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์ในกรณีย์ที่ทรงพระราชทานสิทธิ์แก่ขุนนาง ข้าราชการที่ใช้อำนาจแทนพระองค์ ในการปฏิบัติราชการแทนพระองค์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีศึกสงครามหลวงพิพิธอภัย (หวล) ผู้ถวายพระแสงราชศัสตรา แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2449 เดิมเป็นดาบประจำตระกูลเจ้าเมืองกำแพงเพชร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระราชทานแก่พระยากำแพงเพชร(นุช) เป็นบำเหน็จเมื่อครั้งไปราชการทัพ หลวงพิพิธอภัย(หวล) บุตรพระยากำแพงเพชร(อ้น) นำฝักดาบทองประจำตระกูลทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกำแพงเพชร เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2449 พระองค์ทรงรับและพระราชทานให้เป็นพระแสงราชศัสตราประจำเมืองกำแพงเพชร โดยพระยาวิเชียรปราการ ผู้ว่าราชการเมืองกําแพงเพชร เป็นผู้รับพระราชทาน นับเป็นความโชคดีของชาวกำแพงเพชร รวมถึงทายาทพระยากำแพงเพชรตลอดจนชาวไทยทุกคนที่ เรื่องราวของพระแสงราชศัสตราองค์นี้มีการบันทึกไว้อย่างดีในพระนิพนธ์ “เสด็จประพาสต้น” ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพดังนี้
         “วันที่ 26 หมายจะยังไม่ตื่นแต่หมาเข้าไปปลุก 2 โมงเศษกินข้าวแล้วออกไปแจกของ ให้ผู้ที่มาเลี้ยงดูและรับผู้หญิงผู้ชาย หลวงพิพิธอภัยผู้ช่วย ซึ่งเป็นบุตรพระยากำแพง(อ้น) นำดาบฝักทอง ซึ่งพระพุทธยอดฟ้าพระราชทานพระยากำแพง(นุช) เป็นบำเหน็จมือ เมื่อไปทัพแขก แล้วตกมาแก่พระยากำแพง(นาค) ซึ่งเป็นสามีแพง บุตรีพระยากำแพง(นุช) และแพงภรรยาได้เป็นผู้ว่าราชการเมืองกำแพงต่อมา 4 คน คือพระยากำแพง(บัว) พระยากำแพง(เถื่อน) พระยากำแพง(น้อย) พระยากำแพง(เกิด) ได้รับดาบเล่มนี้ต่อ ๆ กันมา ครั้งพระยากำแพง(เกิด) ถึงอนิจกรรม ผู้อื่นนอกจากตระกูลนี้มาเป็นพระยากำแพงหลายคน ดาบตกอยู่แก่นายอ้นบุตรพระยากำแพง(เกิด) ซึ่งเป็นบิดาหลวงพิพิธอภัย ภายหลังนายอ้นได้เป็นพระยากำแพง ครั้นพระยากำแพง อ้นถึงแก่กรรม   ดาบจึงตกอยู่กับหลวงพิพิธอภัยบุตรผู้นำมาให้นี้ พิเคราะห์ดูก็เห็นจะเป็นดาบพระราชทานจริง เห็นว่าเมืองกำแพงเพชร ยังไม่มีพระแสงสำหรับเมืองเช่นแควใหญ่ ไม่ได้เตรียมมา จึงได้มอบดาบเล่มนี้เป็นพระแสงสำหรับเมืองให้ผู้ว่าราชการรักษาไว้สำหรับใช้ในการพระราชพิธี แล้วถ่ายรูปพวกตระกูลเมืองกำแพงที่มาหาตั้งต้นคือท่านผู้หญิงทรัพย์ ภรรยาพระยากำแพง(เกิด) อายุ 93 ปีจอ เห็นจะเป็นปีจอ ฉอศก จุลศักราช 1176 ยังสบายแจ่มใส พูดจาไม่หลง เดินได้เป็นต้น กับลูกที่มา 2 คนคือผึ้ง ซึ่งเป็นภรรยาพระพล(เหลี่ยม) อายุ 73 ปี ลูกคนสุดชื่อ ภู่ เคยไปทำราชการในวังครั้งรัชกาลที่ 4 แล้วมาเป็นภรรยาพระยารามรณรงค์(หรุ่น)อายุ 64 ปี หลานหญิงชื่อหลาบเป็นภรรยาหลวงแพ่ง อายุ 64 ปี หลานหญิงชื่อเพื่อนเป็นภรรยาพระพล อายุ 46 ปี หลานหญิงชื่อพัน ภรรยาหลวงพิพิธ อายุ 44 ปี
         จากวิทยานิพนธ์เรื่อง เสด็จประพาสต้น ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ได้มีการกล่าวถึงดาบพระแรงราชศัสตราไว้ ได้มีการบรรยายถึงเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับดาบเล่มนี้โดยตรงอีกทั้งยังมีการบรรยายถึงความเป็นมาของดาบอย่างชัดเจน ซึ่งได้กล่าวไว้ว่าพระแสงราชศัสตราประจำเมืองกำแพงเพชรสำหรับใช้ในพระราชพิธีสำคัญพระแสงราชศัสตราประจำเมืองนี้มีธรรมเนียมออกใช้ในวโรกาสที่สำคัญดังนี้ 
         1. อัญเชิญพระแสงราชศัสตราในพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ในมณฑลพิธีเมื่อเสร็จพิธีอัญเชิญไปประดิษฐานดังเดิม
         2. เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงประทับแรม ณ เมืองนั้นถวายพระแสงราชศัสตราทรงรับรักษาไว้และพระราชทานคืนเมื่อเสด็จกลับ 
         3. ทูลเกล้าฯ ถวายพระแสงราชศัสตราประจำเมืองเมื่อคราเสด็จเยี่ยมราษฎรเมื่อเสด็จกลับจะพระราชทานคืนตามธรรมเนียมน่าเสียดายที่พระแสงราชศัสตราประจำเมืองกำแพงเพชรที่หาค่ามิได้นี้มิได้มีบทบาทดังกล่าวในพระราชพิธีเลยแต่เราชาวกำแพงเพชรก็ภูมิใจในดาบฟักทองพระราชทานเล่มนี้เป็นที่สุดและให้ประชาชนได้รับรู้ทั่วกันว่าดาบฟักทองเล่มนี้เป็นสมบัติแห่งแผ่นดินกำแพงเพชรที่ได้รับพระราชทานจากสองมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ขอให้ชาวกำแพงเพชรทุกผู้ช่วยกันพิทักษ์ให้ดาบวิเศษนี้อยู่คู่แผ่นดินกำแพงเพชรตลอดไป
ภาพที่ 2 พระยารามณรงค์สงครามและหลวงพิพิธอภัย.jpg

ภาพที่ 2 พระยารามณรงค์สงครามและหลวงพิพิธอภัย (สันติ อภัยราช, 2544)

         เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ขึ้นครองราชย์ ประสงค์จะไปตีปัตตานี ส่งราชวังบวรไปพร้อมกับมหาดเล็ก พระยากำแพงนุชหรือนายนุชไปปัตตานีไปรบชนะพระบาทสมเด็จ-พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) พระราชทานพระแสงราชศัสตราดาบฝักทองให้ และเมืองกำแพงเพชรให้พร้อมภรรยา 1 คน ดาบด้ามทองคำ ใบเป็นเหล็กกล้า ตามประวัติสามารถทำคนที่มีศัสตราคมฟันได้ แทงได้ คาดเดาว่าอาจจะเป็นดาบทางลาวทางเหนือทางล้านนา โดยที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า-จุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ไปตีได้มา เมื่อเจ้าเมืองกำแพงเพชรเป็นเจ้าของดาบมาเรื่อย ๆ พระยารามไม่ได้เป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรแล้ว ดาบจึงตกเป็นของลูกหลานของเจ้าเมืองตระกูลพระยากำแพงเก่าไม่ได้เป็นผู้ปกครองเมืองกำแพงแล้ว พระยากำแพงองค์ใหม่ก็ไม่ได้เป็นเจ้าของดาบ จึงถวายคืนแก่พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 5 และทรงพิจารณาแล้วว่าเป็นดาบแท้จริง จึงพระทานคืนเป็นดาบพระแสงประจำเมืองกำแพงดาบเล่มนี้เป็นเพียงดาบพระแสงประจำตระกูล ดาบมีหน้าที่แสดงอาญาสิทธิ์เหนือเมือง เป็นกุญแจเพื่อถวาย แก่กษัตริย์ยามเสด็จมาเยี่ยมเยือนเมือง พอเสด็จกลับจึงคืนเพื่อเป็นดาบประจำเมืองกำแพง (สันติ อภัยราช, การสัมภาษณ์, 3 กันยายน 2564)
          สรุปได้ว่าดาบเป็นอีกหนึ่งอาวุธที่เป็นส่วนสำคัญในการศึกสงครามเนื่องจาก เป็นอาวุธที่มีความคล่องตัว และพกพาสะดวก ดาบสำหรับต่อสู้นั้น เรียกได้ว่ามีหลากหลายประเภท หลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมความเชื่อแนวคิดของแต่ละเมืองนอกจากนี้ดาบไม่ใช่เพียงเป็นสิ่งที่นำมาต่อสู้ได้เพียงอย่างเดียวแต่ยังมีดาบที่ใช้ประโยชน์ในทางด้านอื่นๆซึ่งในการใช้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเมื่อเปรียบเทียบจากดาบทั่วไป ดาบที่กล่าวถึงนั้น มีแสงญานุภาพมากกว่าการรบในสงคราม นำมาซึ่งเกียรติยศ เป็นดาบคู่บ้านคู่เมือง ซึ่งเรียกขานกันในนาม พระแสงราชศัสตราประจำเมืองกำแพงเพชร มีความเชื่อกันว่า เป็นดาบวิเศษแสดงถึงพระราชอำนาจสูงสุดของพระมหากษัตริย์ในการปกครองบ้านเมือง ในสมัยนั้น 

ประเภทของดาบโบราณ

         ดาบไทยในอดีตที่ผ่านมาถูกสร้างขึ้นมาร่วมกับศาสตราวุธอื่นๆ เช่น หอก ทวน เป็นต้น เพื่อใช้ในการรบป้องกันชาติบ้านเมืองจากศัตรูผู้รุกราน ใช้ในการรบเพื่อขยายอาณาเขตดินแดน กระทั่งใช้ในการรบเพื่อกอบกู้เอกราชของชาติ หรือมีไว้เพื่อป้องกันตัวเอง นับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ลพบุรี อยุธยาเรื่อยมาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ มีช่างตีดาบฝีมือดีเกิดขึ้นทุกยุคสมัย รูปแบบของดาบในแต่ละยุคจึงแตกต่างกันไปตามความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือกองทัพเพื่อใช้ในการรบและรองลงมาคือ คนชาวบ้านทั่วไปที่มีไว้เพื่อป้องกันตัว ดาบพระแสงราชศัสตรานั้นมีการพิจารณาจากรูปพรรณของตัวดาบว่ามีลักษณะเป็นดาบของล้านนา คนล้านนา มักมีดาบประจำกาย เพื่อใช้ในโอกาศต่างๆ ดาบล้านนามีหลายชนิดแบ่งแยกตามลักษณะปลายดาบ เช่น ปลายบัว ปลายใบข้าวใบคา ซึ่งเป็นลักษณะของดาบทางภาคเหนือตอนบน จึงไปสอดคล้องกับหนังสือวิถีศาสตราและการให้สัมภาษณ์ของ อาจารย์สันติ อภัยราช (การสัมภาษณ์, 3 กันยายน 2564) ที่มีการกล่าวถึงลักษณะของดาบว่ามีองค์ประกอบเหมือนดาบทางภาคเหนือซึ่งรวมไปถึงจังหวัดกำแพงเพชร โดยมีลักษณะที่กล่าวถึงคือ มีฝักเป็นทองคำ ด้ามจับเป็นไม้หอม ส่วนเล่มดาบเป็นเหล็กกล้าหรือเหล็กน้ำพี้ ทั้งนี้การรวบรวมข้อมูลจึงเป็นส่วนของดาบล้านนา โดยดาบล้านนาหรือที่เรียกว่าดาบเมืองนั้นมีลักษณะเฉพาะแตกต่างไปจากดาบไทย ดาบญี่ปุ่น หรือดาบของชนชาติอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของใบดาบก็ดี ลักษณะของฝักดาบก็ดี ลักษณะของเหล็กที่ใช้ตีเป็นใบดาบก็ดี ทั้งหมดนั้นจะส่งผลต่อการใช้งาน ซึ่งหากได้ศึกษาให้ละเอียดลึกซึ้งแล้ว เราอาจจะได้องค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์จากการศึกษาดาบก็เป็นได้
         เนื่องจากในอดีตกาล ผู้คนในดินแดนล้านนาตลอดจนดินแดนที่อยู่เหนือขึ้นไป เช่น เชียงตุง สิบสองปันนา ล้วนแต่มีการไปมาติดต่อกันเป็นประจำ แต่ละพื้นที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์และธรณีวิทยาที่แตกต่างกันไป จึงทำให้มีของดีของงามไม่เหมือนกัน เหมือนกับวัสดุที่ใช้ทำดาบก็เช่นกัน ดังมีคำกล่าวว่า “เหล็กดี เหล็กเมืองหนอง” หมายถึง เหล็กที่ดีมีคุณภาพสำหรับตีเป็นใบดาบ ต้องเป็นเหล็กจากเมืองหนองหรือหนองอินเล ประเทศพม่า ซึ่งก็คือพื้นที่ของกลุ่มชาวไทใหญ่หรือรัฐฉานในปัจจุบันนั่นเอง 
         ดาบล้านนามีเอกลักษณ์ ลักษณะการใช้งาน และสามารถแบ่งประเภทดาบได้ดังนี้
         1. ประเภทของดาบ ครูธนชัย  มณีวรรณ์ แบ่งประเภทของดาบตามยุคสมัยได้ ดังนี้
             1) ดาบสู้ศึกสงคราม คือ ดาบที่ใช้สู้รบในศึกสงคราม มีความแข็งแรง ทนทาน แต่ไม่ยาวใหญ่มากเหมือนในปัจจุบัน เพราะต้องการความแข็งแรงในการเข้าปะทะ
             2) ดาบใช้งาน คือดาบที่นำมาใช้งานจริงๆ นอกเหนือจากการใช้งานในศึกสงคราม ดาบประเภทนี้    พบได้ทั่วไปในอดีต ไม่ว่าจะเป็นดาบที่พ่อค้าวัวต่าง ม้าต่างใช้พกพาเวลาเดินทางไปค้าขายก็จะมีไว้เพื่อป้องกันตัว หรือมีไว้กับบ้านเรือนเพื่อใช้ป้องกันตัว ข่มขวัญให้โจรผู้ร้ายครั่นคร้าม หรือจะเป็นดาบชะตาที่เป็นดาบประจำตัวของผู้ชายในอดีต รวมไปถึงการใช้งานสารพัดประโยชน์ เช่น ใช้ไปดายหญ้า ฟันต้นไม้ ฯลฯ
             ดาบที่เป็นที่รู้จักและสนใจกันมากในกลุ่มของดาบใช้งานคือ ดาบชะตา เป็นดาบประจำตัวของชายหนุ่มชาวล้านนาในอดีต ผู้ชายชาวล้านนามักจะมีดาบประจำตัวเพื่อเป็นสิ่งเสริมมงคลชีวิต
             ดาบชะตานั้นจะมีลักษณะปลายดาบ ความยาว สี ของเชือกดาบแตกต่างกันไป ตามแต่ดวงชะตาของเจ้าของ ซึ่งจะมีโฉลกดาบกำกับไว้เพื่อเลือกความยาวดาบที่ดีต่อคนเป็นเจ้าของ
             3) ดาบของที่ระลึก เมื่อถึงยุคที่การท่องเที่ยวเริ่มได้รับความนิยม ดาบจริงนั้นไม่สามารถพกพาไปไหนมาไหนได้เพราะถือเป็นอาวุธ อีกทั้งความนิยมในการสร้างดาบชะตาก็แทบจะหมดไปแล้ว จึงเกิดการสร้างดาบของที่ระลึกขึ้นมา
             ดาบที่ระลึกนี้ทำจากเหล็กและไม้เหมือนดาบจริง แต่ฝีมือในการสร้างดาบนั้นค่อนข้างหยาบ ไม่ประณีต อย่างไรก็ตาม ดาบในกลุ่มนี้ก็ยังมีความสำคัญต่อกลุ่มของคนทรงเจ้าหรือที่เรียกว่า ม้าขี่ ในพิธีฟ้อนผี กลุ่มคนทรงก็จะใช้ดาบเหล่านี้ในการฟ้อน
         ส่วนทัศนะของครูพรชัย ตุ้ยดงนั้นเห็นว่าสามารถแบ่งประเภทดาบเป็น 3 ประเภท คล้ายๆ กับทัศนะของครูธนชัย คือ
         1. ดาบยศ คือ ดาบที่ใช้ประกอบบรรดาศักดิ์ของชนชั้นปกครอง มีทั้งใช้ออกรบได้และประกอบฐานะเจ้าผู้ปกครองแคว้นและอาณาจักรนั้น ๆ ดาบยศมักประดับด้วยเงิน ทอง นาค อัญมณี งา และของมีค่าต่าง ๆ ด้วยฝีมืออันประณีตสวยงาม มักพบใช้ในงานราชาภิเษกและโองการแช่งน้ำ (พิธีดื่มน้ำสาบานของเสนาอำมาตย์) การบวงสรวงเทวดาอารักษ์เมือง เป็นต้น
         2. ดาบชะตา คือ ดาบที่พลเรือนใช้ทั่วไปมีทั้งหวายล้วนและประกอบปลอกเงิน ปลอกทองแดง สำริด เขา งา ใช้ในศึกสงครามและในพิธีต่างๆ ตามความเหมาะสม เช่น พิธีขึ้นบ้านใหม่  แต่งงาน งานศพ เป็นต้น
         3. ดาบใช้ คือ ดาบที่เหมาะสำหรับใช้งานเฉพาะ เช่น เดินทางไกล ค้าขาย ใส่ขันครู หรือใช้ฟ้อน มีทั้งดาบจำลองและดาบใช้จริง อาจไม่ต้องอิงโฉลก แต่ให้เหมาะกับงาน มักจะมีขนาดเท่ากับดาบที่ใช้ในการรบจริง ๆ (เทศบาลตำบลน้ำแพร่พัฒนา, 2556)
         อาวุธสกุลช่างล้านนาหรือดินแดนภาคเหนือของไทยในปัจจุบัน ในอดีตชาวสยามหมายรวมดินแดนแห่งนี้เป็นหัวเมืองลาวเช่นเดียวกับล้านช้างล้านนามีประวัติศาสตร์ความเป็นมากว่า 700 ปี เคยมีความรุ่งเรืองมากในช่วงสมัยราชวงศ์มังราย (พ.ศ. 2439-2303) ก่อนที่จะตกเป็นประเทศราชของพม่าเป็นเวลากว่า 200 ปีต่อมาช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ล้านนาได้เข้ามาเป็นประเทศราชของสยามจนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 5 ผลจากการปฏิรูปการปกครองทำให้ล้านนากลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสยามโดยสมบูรณ์สืบเนื่องมาจนถึงยุคปัจจุบันเนื่องจากล้านนาเคยอยู่ในสภาพ“เมืองร้าง” ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 จากศึกสงครามกับพม่าปรากฏการณ์“เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” หรือการทำสงครามกวาดต้อนไพร่พลจากดินแดนใกล้เคียงอาทิ เชียงตุง เมืองยองสิบสองปันนาหัวเมืองไทใหญ่ ฯลฯ โดยผู้นำล้านนายุคนั้นนับเป็นการฟื้นฟูบ้านเมืองขึ้นมาอีกครั้งมูลเหตุดังกล่าวทำให้ล้านนาเต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายต่างชาติพันธุ์ไม่ว่าจะเป็นไทใหญ่ ลื้อยอง ภายใต้ปฏิสัมพันธ์ที่ผู้คนเหล่านี้มีต่อกันกระบวนการหลอมหลวมจนกลายมาเป็น“คนเมือง”นับเป็นปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ร่วมที่สำคัญของผู้คนและสังคมในดินแดนแห่งนี้ ดังที่กล่าวมา ศาสตราวุธอันเป็นวัตถุทางวัฒนธรรมที่ปรากฏอยู่ในล้านนาจึงแตกต่างหลากหลายไปตามชาติพันธุ์ต่างๆทั้งในเขตพื้นราบและกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูงบ่อยครั้งที่อาวุธปรากฏลักษณะแบบสกุลช่างล้านช้างและสกุลช่างภาคกลางรวมอยู่ด้วยกระทั่งอาจกล่าวได้ว่ากรณีของล้านนาเป็นเรื่องยากที่จะหาเอกลักษณ์อันแท้จริงของอาวุธในดินแดนแห่งนี้
ภาพที่ 3 ดาบล้านนาสกุลช่างไท (1).jpg

ภาพที่ 3 ดาบล้านนาสกุลช่างไท [1] (ปริญญา สัญญะเดช, 2554)

         ดาบล้านนาสกุลช่างไท [1] สกุลช่างไทหรือเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่าสกุลช่างไตใช้เรียกขานงานช่างแถบภาคเหนือของไทย (ปริญญา  สัญญะเดช, 2554, หน้า 95) ดาบล้านนาบางเล่มมีลักษณะผสมผสานระหว่างดาบของคนไทในเขตพื้นราบกับกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูง ดังเช่นดาบเล่มนี้ที่มีใบแบบดาบเมืองซึ่งเป็นที่นิยมในแถบเมืองเชียงราย เชียงแสน และดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ ในส่วนของด้ามดาบหุ้มด้วยแผ่นเงินและทองแดง ปลายด้ามเป็นหัวบัวขนาดใหญ่ ฝักดาบเป็นหลูบเงินรัดด้วยวงแหวนเงินจํานวนมาก ต่างไปจากดาบลาวที่มัก หลูบเงินแบบเกลี้ยงทั้งเล่ม ทั้งนี้จำนวนวงแหวนเป็นตัวเลขมงคลที่ถูกโฉลกกับผู้ใช้ ปลายฝักดาบมีการประดับประดาด้วยลวดลายเส้นเงินขด ซึ่งเป็นลักษณะความนิยมของเย้าและมูเซอ 
         นอกจากนี้ข้อสังเกตประการหนึ่งของดาบที่ได้รับอิทธิพลจากกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูงคือ เมื่อเก็บดาบเข้าฝักแล้วมักเหลือพื้นที่ความยาวระหว่างใบดาบกับตัวฟัก กล่าวคือ ฝักดาบมักจะมีความยาวกว่าใบดาบ ดังจะเห็นได้จากดาบเล่มนี้ด้วยเช่นกัน สิ่งนี้จึงอาจแสดงถึงค่านิยมเรื่องการประดับดาบให้สวยงามของผู้ใช้มากกว่าให้คุณค่าในเรื่องรูปทรง และโครงสร้างของใบดาบซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกเก็บอยู่ในฝัก 
ภาพที่ 4 ดาบล้านนาสกุลช่างไท (2).jpg

ภาพที่ 4 ดาบล้านนาสกุลช่างไท [2] (ปริญญา สัญญะเดช, 2554)

         ดาบล้านนาสกุลช่างไท [2] ดาบลักษณะนี้พบแถบเมืองเชียงราย เชียงแสน รวมไปถึงลาวตอนบน      โดยภาพรวมมีความคล้ายคลึงกับดาบล้านนาสกุลช่างไท [1] กล่าวคือ เป็นดาบที่ผสมผสานระหว่างดาบของคนไทในเขตพื้นราบกับกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูง นอกจากนี้ที่ใบดาบยังปรากฏลักษณะเฉพาะแบบดาบสกุลช่างล้านช้างนั่นคือ แนวกระดูกดาบบริเวณสันดาป ด้ามดาบถูกหุ้มด้วยแผ่นเงินมีหัวบัวขนาดใหญ่ที่ท้ายด้าม ฝักดาบเป็นหลูบเงินรัดด้วยวงแหวนเงินและลวดลายประดับประดาด้วยเส้นเงินขด ซึ่งเป็นลักษณะที่นิมยมของเย้าและมูเซอ (ปริญญา  สัญญะเดช, 2554, หน้า 97)
ภาพที่ 5 ดาบล้านนาสกุลช่างลื้อ.jpg

ภาพที่ 5 ดาบล้านนาสกุลช่างลื้อ (ปริญญา สัญญะเดช, 2554)

         ดาบล้านนาสกุลช่างลื้อ ดาบลักษณะนี้พบมากแถบเมืองลำปาง เป็นดาบสกุลช่างลื้อซึ่งมีจุดสังเกตอยู่ที่บริเวณหน้าบ่าของดาบที่มักจะเก็บงานได้ไม่ละเอียดนัก ทั้งนี้เนื่องจากคนลื้อมักใช้ดาบในการหั่น ตัด และประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันตลอดเวลา กั่นดาบ จึงต้องมีขนาดใหญ่เพื่อความแข็งแรง ด้วยเหตุนี้ที่หน้าบ่าของดาบจึงมักพบรอยกระเดิดจากการใช้งานอยู่เสมอ ดาบเล่มนี้เป็นการหลูบเงินทั้งเล่ม ทั้งนี้หากมีการขัดทำความสะอาดแล้วจะได้สีออกแดงเหมือนนาก ด้ามดาบมีการประดับวงแหวนเงิน ใช้เชือกหรือหวายมัดเพื่อให้จับถือได้ถนัดมือ เป็นดาบที่สามัญชนใช้กันทั่วไป (ปริญญา  สัญญะเดช, 2554, หน้า 99)
ภาพที่ 6 ดาบล้านนาสกุลช่างล้านนาตอนล่าง.jpg

ภาพที่ 6 ดาบล้านนาสกุลช่างล้านนาตอนล่าง (ปริญญา สัญญะเดช, 2554)

         ดาบล้านนาสกุลช่างล้านนาตอนล่าง เป็นดาบที่มีความยาวเป็นพิเศษ พบการกระจายตัวตั้งแต่เมืองลำปางลงมาจนถึงเมืองตาก สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร อันเป็นเขตวงปริมณฑลทางอำนาจของกรุงเทพฯ ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ บางครั้งยังพบดาบลักษณะนี้กระจายตัวไปถึงชายขอบดินแดนล้านนาต่อเนื่องกับล้านช้างด้วย
         ลักษณะสำคัญคือ ใบคาบที่เป็นรูปทรงแบบดาบไทยภาคกลาง สะท้อนการได้รับอิทธิพลดาบสกุลช่างอยุธยา ใบดาบเล่มนี้ยังมีปรากฏลายหยักคลื่นบริเวณใกล้ปลายคมและคอของสันดาบ สันนิษฐานว่า               เป็นสัญลักษณ์ของ “นาค” สัตว์มงคลของคนล้านนา ทั้งนี้หากเป็นในเขตวัฒนธรรมฮินดู-พุทธที่เคร่งครัดกว่าเช่นลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง สัญลักษณ์นี้อาจตีความได้เป็น “วัชระ” อาวุธของพระอินทร์ 
         ในส่วนของด้ามดาบเป็นการหุ้มเงินประดับวงแหวนเงิน ฝักดาบเป็นหลูบเงินเกลี้ยงทั้งฝัก บางครั้งพบว่า มีการหลูบคำ (หุ้มทองคำ) ด้วย เนื่องจากเป็นดาบที่มีความยาว รูปทรงสง่างาม ตามลักษณะนี้จึงมักใช้เป็นเครื่องประดับยศเจ้านาย โดยเฉพาะกลุ่มเจ้านายล้านนาในช่วงราวต้นพุทธศตวรรษที่ 25 สำหรับดาบเล่มนี้สันนิษฐานว่ามีอายุราว 150 ปี (ปริญญา  สัญญะเดช, 2554, หน้า 101)
ภาพที่ 7 ดาบล้านนาสกุลช่างไทใหญ่.jpg

ภาพที่ 7 ดาบล้านนาสกุลช่างไทใหญ่ (ปริญญา สัญญะเดช, 2554)

         ดาบล้านนาสกุลช่างไทใหญ่ เป็นดาบสกุลช่างไทใหญ่ที่มีพื้นที่การกระจายตัวอยู่ในดินแดนล้านนาอย่างกว้างขวางและอาจมีลักษณะแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตามเอกลักษณ์ร่วมของคาบสกุลช่างนี้อยู่ที่ใบดาบที่มีปลายโค้งมนเรียกกันว่า“ ปลายบัว” อาจเป็นเพราะรูปทรงละม้ายดอกบัว ซึ่งบางทฤษฎีที่กล่าวว่า“ปลายบัว” เป็นคำที่เพี้ยนเสียงมาจากคำว่า “ปลายปัว” และคำว่า“ บัว” หมายถึง งูใหญ่ หรือพญานาค จึงน่าจะหมายถึง ดาบที่มีลักษณะคล้ายงู 
         ลักษณะสันดาบของกลุ่มไทใหญ่มีหลายรูปแบบทั้งแบบที่ผายออกเป็นหน้าจั่ว สันโค้งมนเล็กน้อยหรือแบบเรียบ ๆ ก็มี สำหรับดาบเล่มนี้มีสันดาปแบบโค้งมน ด้ามดาบประกอบขึ้นจากงาช้าง รูปทรงหน้าตัด มีการหุ้มเงินประดับด้วยวงแหวนเงินในรูปแบบที่เรียบง่าย ในส่วนของฝักเป็นหลูบเงินรัดด้วยวงแหวน ประดับประดาด้วยลวดลายเฉพาะซึ่งอาจเป็นลวดลายมงคล ลายยันต์ หรือทำขึ้นตามจินตนาการของช่างก็เป็นได้
         ดาบเล่มนี้มีอายุราว 50 ปี แม้จะไม่เก่าแก่นัก หากแต่ก็สะท้อนวัฒนธรรมการใช้ดาบในวิถีชีวิตของกลุ่มคนไทในล้านนาและดินแดนใกล้เคียงเช่นรัฐฉานของพม่าที่สูญหายไปช้ากว่าพื้นที่อื่น ๆ (ปริญญา  สัญญะเดช, 2554, หน้า 103)
ภาพที่ 8 ดาบล้านนาทรงหน้าจรด.jpg

ภาพที่ 8 ดาบล้านนาทรงหน้าจรด (ปริญญา สัญญะเดช, 2554)

         ดาบล้านนาทรงหน้าจรด ดาบล้านนาบางเล่มมีลักษณะผสมผสานกันจนไม่สามารถระบุสกุลช่างอย่างหนึ่งอย่างใดได้อย่างชัดเจน ดังเช่นดาบที่พบที่เชียงใหม่เล่มนี้ ลักษณะใบดาบเป็นทรง “หน้าจรต” หรือ “หัวปลาหลด” ตามขนบดาบไทยภาคกลางที่ใบดาบปรากฏลายหยักคลื่น หรือลายนาค ซึ่งอาจตีความได้ถึงสัญลักษณ์ “วัชระ” ด้ามดาบเป็นงาช้างประดับเงินหากพิจารณาอย่างเผิน ๆ ดูคล้ายคลึงกับ “ด้ามพริก” แบบล้านช้างสกุลช่างจำปาสัก โดยที่อาจมีความเกี่ยวข้องกันทางใดทางหนึ่งหรือเป็นเรื่องบังเอิญก็เป็นได้ 
         ดาบลักษณะนี้เป็นดาบที่พบทั่วไปทั้งในเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน ถือเป็นดาบที่ใช้กันทั่วไปของคนล้านนา การที่ดาบมีการกระจายตัวอย่างกว้างขวางอาจเป็นเพราะดาบได้เดินทางตามเส้นทางการค้าของผู้คนสมัยโบราณ (ปริญญา  สัญญะเดช, 2554, หน้า 105)   
         ดาบล้านนาที่นิยมในหมู่พ่อค้ามาจนถึงช่วงทศวรรษ 2500 
ภาพที่ 9 ดาบล้านนาที่นิยมในหมู่พ่อค้ามาจนถึงช่วงทศวรรษ 2500.jpg

ภาพที่ 9 ดาบล้านนาที่นิยมในหมู่พ่อค้ามาจนถึงช่วงทศวรรษ 2500 (ปริญญา สัญญะเดช, 2554)

         ดาบลักษณะนี้เชื่อว่าดีโดยกลุ่มช่างไทใหญ่เมืองเชียงใหม่ เป็นดาบที่พบเห็นได้ทั่วไป มีขนาดกะทัดรัดไม่ยาวนัก ถือเป็นดาบที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในดินแดนล้านนาต่อเนื่องเข้ามาจนถึงภาคกลางตอนบนแถบเมืองนครสวรรค์ ชัยนาท สาเหตุที่การกระจายตัวของดาบลักษณะนี้เป็นไปอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามแนวทิศเหนือ-ใต้ นั้น สันนิษฐานว่า เป็นผลจากเส้นทางการค้าทางน้ำตามสายน้ำปิง-แม่น้ำเจ้าพระยา ในยุคก่อนที่ทางรถไฟจะตัดขึ้นไปถึงเชียงใหม่ (พ.ศ.2464) นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการค้าระหว่างล้านนากับเมาะละแหม่งของพม่าในยุคที่การทำไม้สักยังรุ่งเรือง ด้วยขนาดของดาบที่กะทัดรัดพกพาสะดวกเหมาะกับการเป็นอาวุธติดกาย ดาบจึงเดินทางมาพร้อมกับการค้า พบการใช้งานของดาบลักษณะนี้ต่อเนื่องมาจนกระทั่งทศวรรษ 2480-2500 
         ดาบเล่มนี้มีปรากฏตัวเลข 1938 อยู่ที่ท้ายด้ามดาบ ซึ่งอาจตีความได้ว่าเป็นเลขมงคลของผู้เป็นเจ้าของหรืออาจเกี่ยวข้องกับปีคริสตศักราช เนื่องจากดาบลักษณะนี้เคยใช้กันอยู่ในกลุ่มพ่อค้าข้ามพรมแดนในช่วงสมัยอาณานิคม (ปริญญา สัญญะเดช, 2554, หน้า 107)   
         สรุปได้ว่า ดาบไทยในอดีตที่ผ่านมาถูกสร้างขึ้นมาร่วมกับศาสตราวุธอื่น ๆ เช่น หอก ทวน เพื่อใช้ในการรบป้องกันชาติบ้านเมืองจากศัตรูผู้รุกราน ใช้ในการรบเพื่อขยายอาณาเขตดินแดน กระทั่งใช้ในการรบ เพื่อกอบกู้เอกราชของชาติ หรือมีไว้เพื่อป้องกันตัวเอง นับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ลพบุรี อยุธยา เรื่อยมาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ดาบแต่ละชนิดแต่ละประเภทก็มีลักษณะแตกต่างกันไปแต่ละยุคแต่ละสมัย แต่ละพื้นที่ในสมัยก่อนจะมีจุดเด่นไม่เหมือนกัน ดาบส่วนใหญ่ก็เอาไว้ใช้รบ และรองลงมาก็คือ ดาบของชาวบ้านซึ่งมีไว้เพื่อป้องกันตัวเอง

วิธีการตีดาบ

         การตีดาบของไทยก็ได้รับความนิยมอย่างมากมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะไทยเป็นประเทศแรกที่ทำการตีดาบ ซึ่งการตีดาบนั้นก็จะแตกต่างกันออกไป เพราะในสมัยก่อนประเทศไทยตีดาบเพื่อเป็นอาวุธในการปกป้องประเทศ รบกับข้าศึก และยังใช้เพื่อการทำอาชีพอีกด้วย เพราะในสมัยก่อนนั้นเราใช้ดาบในการเอาไว้ตัดผักต่าง ๆ และยังได้ใช้ประโยชน์ต่าง ๆ จากดาบอีกด้วย และยังมีการรับจ้างตีดาบเป็นอาชีพในสมัยก่อนอย่างมากด้วย (Yearoftheblacksmith, 2560) 
         ซึ่งดาบในสมัยก่อนนั้นได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะว่าดาบของแต่ละเมืองนั้นจะมีรูปทรงการออกแบบที่ต่างกันออกไป ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพหลักๆของคนในสมัยนั้นเลยก็ว่าได้ นอกจากนั้นแล้วเรายังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างอีกด้วยในสมัยนั้น เพราะถ้าบ้านใครมีดาบนั้นถือว่าตัดอะไรก็ได้และยังสามารถป้องกันตัวอริราชศัตรูได่ ในสมัยก่อนการตีดาบให้มีความคมและออกมาเงางามได้นั้น ต้องมีเหล็กที่ดีและสามารถทนทานกับการตีได้ในแต่ละครั้ง และต้องมีช่างตีดาบที่เก่งเพราะถ้าได้ช่างตีดาบที่เก่งแล้ว ไม่ว่าดาบจะเป็นอะไรหรือวัสดุจะดีแค่ไหนก็จะได้ดาบที่ดีออกมา แต่ถ้าได้ช่างที่ไม่มีฝีมือมาตี ดาบนั้นก็เหมือนดาบที่ไม่มีคุณภาพนั้นเอง 
         กระบวนการทำดาบเป็นส่วนสำคัญที่จะรังสรรค์อาวุธออกมาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ โดยต้องมีวัตถุดิบในการประกอบแต่ละส่วนให้เกิดเป็นรูปร่างของดาบขึ้นมาได้ ตามประวัติที่มีการกล่าวถึงวัสดุของดาบพระแสงราชศัสตรา ที่มีส่วนประกอบแต่ละส่วนดังนี้ ฝักดาบเป็นทองคำแท้ ส่วนด้ามดาบเป็นเหล็กกล้าหรือเหล็กน้ำพี้ ซึ่งเหล็กน้ำพี้ เป็นบ่อแร่ที่ข้างในเป็นแร่เหล็กกล้าที่มีโครงสร้างระดับโมเลกุลที่ประกอบด้วยธาตุคาร์บอนหลากหลาย ทำให้เมื่อนำมาเผาและตีทำมีดจะได้มีดที่แข็งแกร่งทนทานกว่าที่ทำจากแร่เหล็กทั่ว ๆ ไป ภาควิชาวิศวกรรมโลหการ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งประเทศไทยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกรมวิทยาศาสตร์ทหารบก ได้เคยนำตัวอย่างสินแร่จากจากบ่อพระแสงและบ่อพระขรรค์ไปทำการทดลองเพื่อวิเคราะห์หาคุณสมบัติต่าง ๆ ด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ พบว่า (เทศบาลตำบลน้ำแร่พัฒนา, 2564) แร่เหล็กน้ำพี้มีองค์ประกอบของแร่ธาตุที่หาได้ยาก เป็นแร่เหล็กที่มีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัว มีความแข็งและเหนียวเป็นพิเศษ มีคุณลักษณะอ่อนในแข็งนอก 
         วิธีการทำดาบเหล็กน้ำพี้นั้น มีขั้นตอนค่อนข้างซับซ้อน แต่ก็น่าศึกษาไว้เพราะเป็นสิ่งที่น่าสนใจและเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาชนรุ่นก่อนไว้ด้วย ขั้นตอนการทำดาบเหล็กน้ำพี้มีดังนี้คือ
         1. นำแร่เหล็กน้ำพี้ไปทำเป็นรูปร่างที่ต้องการเสียก่อนด้วยวิธีการเรียกกันว่าผนึกดาบน้ำพี้ โดยช่างเองจะเป็นผู้กำหนดรูปทรงและน้ำหนักว่าควรจะมีรูปทรงและน้ำหนักประมาณเท่าไหร่ ซึ่งต้องใช้ความชำนาญและการคำนวณจากประสบการณ์ของช่าง แต่สำหรับบางเล่มที่ผู้มาสั่งทำอาจจะกำหนดน้ำหนักตามต้องการให้ทำก็ได้ ขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
         2. เมื่อได้เหล็กน้ำพี้ผนึกเป็นรูปทรงตามต้องการแล้วก็จะนำไปเผาให้เหล็กแดงและร้อนด้วยเตาเผา จากนั้นก็จะนำออกมาตีขณะที่ยังร้อนและแดงอยู่ ในขั้นตอนของการตีใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงและใช้ช่างในการทำดาบน้ำพี้แต่ละเล่ม 2 ถึง 3 คน
         3. ขั้นตอนต่อมาคือการตกแต่งให้สวยงามด้วยการขัดด้วยตะไบหรือเครื่องเจียร ให้เกิดความคมแวววาวและสวยงาม ขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง
         4. ขั้นตอนต่อมาคือการลงลายตัวดาบเหล็กน้ำพี้และอาจจะเป็นการลงอัคระคาถาต่างๆ ให้เกิดความขลังตามความเชื่อด้วย แต่ถ้าลูกค้าต้องการให้ใส่ลายที่ยากขึ้นก็ย่อมได้ โดยขั้นตอนนี้จะใช้เวลาอย่างต่ำครึ่งชั่วโมงขึ้นกับความยากง่ายของลวดลาย
         5. ขั้นตอนสุดท้ายจะเป็นการขัดเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยสวยงามอีกครั้ง แล้วจึงนำไปรมดำก็จะได้ดาบเหล็กน้ำพี้ที่เป็นเอกลักษณ์สวยงามและมีคุณค่าตามที่ได้ทำกันมาแต่โบราณ
         ดาบเหล็กน้ำพี้นั้นมีแหล่งการทำอยู่จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งมีแหล่งแร่น้ำพี้อยู่ที่นี่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ทำจากเหล็กน้ำพี้ 100% บริสุทธิ์ ซึ่งมีขนาดและราคาแตกต่างออกไป อีกทั้งยังมีมีดเหล็กน้ำพี้เป็นสินค้าอีกอย่างที่ทำขายด้วย (Yearoftheblacksmith, 2560)
         สรุปได้ว่า การตีดาบเป็นที่นิยมสมัยโบราณ เพราะด้วยวัสดุอุปกรณ์ที่สะดวกและหาง่ายในยุคสมัยก่อนนั้น ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ตีดาบเอง ซึ่งการตีดาบจะแตกต่างกันออกไป เพราะประเทศไทยตีดาบ เพื่อมาเป็นอาวุธรบและมาปกป้องประเทศ และยังมาใช้ในการประกอบอาชีพ เพราะในสมัยก่อนนั้นเราใช้ดาบในการเอาไว้ตัดผักต่าง ๆ และยังได้ใช้ประโยชน์ต่างๆจากดาบอีกด้วย และยังมีการรับจ้างตีดาบเป็นอาชีพในสมัยก่อนอย่างมากด้วย ซึ่งดาบในสมัยก่อนนั้นได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะว่าดาบของแต่ละเมืองนั้นจะมีรูปทรงการออกแบบที่ต่างกันออกไป ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพหลักๆของคนในสมัยนั้นเลยก็ว่าได้ เพราะเรายังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างอีกด้วยในสมัยนั้น

บทสรุป

         ในยุครัชสมัยกรุงรัตนโกสิทร์ที่มีการก่อสงครามอยู่บ่อยครั้ง โดยมีกำแพงเพชรเป็นเมืองหน้าด่านในการออกศึก ซึ่งการทำศึกจะต้องมีการใช้ศาสตราวุธในการป้องกันตัว และที่เห็นได้ชัดและพบได้ง่ายคือดาบเนื่องจากมีการสร้างขึ้นอย่างแพร่หลายและหาวัสดุได้ง่าย อีกทั้งดาบเป็นประโยชน์หลายด้าน เช่นการทำครัว ป้องกันตัว แสดงยศ หรือเป็นของที่ระลึก ดาบที่แสดงถึงอาญาสิทธิ์ที่อยู่เป็นดาบคู่บ้านคู่เมืองประจำจังหวัดกำแพงเพชร นั่นก็คือดาบพระแสงราชศัสตรา โดยมีพื้นเพจากดาบประจำตระกูลพระยากำแพงที่ตกทอดรุ่นสู่รุ่นจนถูกแต่งตั้งเป็นดาบประจำเมือง โดยตัวดาบนั้นมีลักษณะเป็นฝักทองทั้งเล่ม ด้ามจับเป็นไม้หอม ปลายดาบเป็นเหล็กกล้า ซึ่งยังบอกอีกว่าเป็นดาบที่มีลักษณะของดาบล้านนา โดยมีการแยกประเภทของดาบเป็นดาบของที่ระลึก ดาบยศ ดาบสงคราม ดาบชะตา ดาบใช้โดยดาบแต่ละประเภทก็จะมีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงทางรูปลักษณ์ แต่ด้วยวิธีการตีดาบนั้นมีมาแต่โบราณทั้งยังแสดงถึงความแตกต่างของความสามารถของช่างตีโดยขั้นตอนจะมีการนำแร่น้ำพี้มาเปลี่ยนรูปร่าง และกำหนดลวดลาย แล้วลงน้ำหนักการตีอย่างพอเหมาะ ต่อมาก็ถึงคราวของการทำลวดลายให้สวยงาม พร้อมลงอัครอาคมแสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์สุดท้ายนำดาบไปรมดำเพื่อให้ตัวดาบมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

บรรณานุกรม

เทศบาลตำบลน้ำแพร่พัฒนา. (2556). ดาบล้านนา1. เข้าถึงได้จาก http://www.namphrae.go.th/tips.php?id=69
ปริญญา สัญญะเดช. (2554). วิถีศาสตรา: ปริศนา ศรัทธา และอาคมแห่งอาวุธไทย. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
พระยากำแพงเพชร. (2557, 24 สิงหาคม). พระแสงศัสตรา มรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า. [Facebook]. เข้าถึงได้จาก https://m.facebook.com/193823697384574/posts/531644820269125/
สันติ อภัยราช. (2544). ตามเสด็จประพาสต้น พระพุทธเจ้าหลวง ณ เมืองกำแพง. กำแพงเพชร : หจก.ศรีสวัสดิ์การพิมพ์.
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์. (2559). บ่อเหล็กน้ำพี้. เข้าถึงได้จาก https://www.m-culture.go.th/uttaradit/ewt_news.php?nid=657&filename=index
Yearoftheblacksmith. (2560). การตีดาบของประเทศไทย. เข้าถึงได้จาก https://www.yearoftheblacksmith.com/การตีดาบของประเทศไทยแล/        
----------. (2560). วิธีการและขั้นตอนการทำดาบเหล็กน้ำพี้. เข้าถึงได้จาก https://www.yearoftheblacksmith.com/วิธีการและขั้นตอนการทำ/