ความเชื่อที่ปรากฏจากอาหารในพิธีกรรมเสนเรือนของชาวไททรงดำ
รุ่นแก้ไขเมื่อ 12:14, 11 มกราคม 2564 โดย Admin (คุย | มีส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย "== บทนำ == พิธีเสนเรือน หรือเสนเรือนคือ พิธีเซ่นไหว้ผ...")
บทนำ
พิธีเสนเรือน หรือเสนเรือนคือ พิธีเซ่นไหว้ผีเรือนของผู้ไทยดำ ผีเรือนก็คือ ผีบรรพบุรุษ ที่ได้เชิญมาไว้บนเรือน และจัดให้อยู่ ณ มุมห้องหนึ่งที่จัดไว้โดยเฉพาะเรียกว่า “กะล้อห่อง” ซึ่งแปลว่า “มุมห้อง” ซึ่งถือเป็นกลาโหมของบ้าน (ถนอม คงยิ้มละมัย , 2544, น.11) ตามปกติพิธีเสนเรือนจะปฏิบัติกันทุกครอบครัวเป็นประจำ 2-3 ปีต่อครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฐานะและความพร้อมของครอบครัว เพื่อคุ้มครองบุตรหลานให้อยู่เย็นเป็นสุข ทำมาหากินเจริญก้าวหน้า ผู้ประกอบพิธีกรรมคือ “หมอเสน” ส่วนผู้ร่วมพิธีได้แก่บรรดาลูกหลานและญาติ ๆ รวมทั้งแขกเชิญ ญาติที่มาร่วมงาน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือญาติสืบสายโลหิตจะแต่งกายแบบธรรมดา และญาติจากการแต่งงานได้แก่ฝ่ายเขยหรือสะใภ้ จะแต่งกายพิเศษด้วยชุด “เสื้อฮี” หรือเสื้อยาวเพื่อเป็น การเคารพผีเรือนและเป็นที่สังเกตให้ผู้มาร่วมงานรู้ว่าเป็นเขยหรือสะใภ้ ก่อนทำพิธีเสนเรือนจะจัดเตรียมสิ่งของที่ใช้ประกอบพิธีกรรม ได้แก่ เหล้า หมู 1 ตัว พิธีเสนเรือน เริ่มตั้งแต่ในตอนเช้า โดยมีหมอเสนเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมในห้อง ผีเรือน ผู้เข้าร่วมพิธีได้แก่ญาติที่อยู่ในสิงหรือตระกูลผีเดียวกัน (ปัณณธร เธียรชัยพฤกษ์, 2559, น.40) พิธีเสนเรือน เป็นพิธีสำคัญของลาวโซ่ง ซึ่งจะขาดหรือละเลยไม่ได้ เนื่องจากเชื่อว่าเป็น การกระทำที่เพิ่มความเป็นสวัสดิมงคลแก่ครอบครัว จะต้องจัดปีละครั้งเป็นอย่างน้อย คำว่า เสน แปลว่า เซ่น หรือสังเวย เสนเรือน หมายถึงการเซ่นไหว้ผีเรือน ได้แก่ การเซ่นไหว้ ปู่ย่า ตายาย รวมทั้งบรรพบุรุษทุกคน มนู สิงห์เรือง (2550, น.48) ได้ศึกษาความเปลี่ยนแปลงประเพณีไทยทรงดำ:กรณีศึกษาประเพณีเสนเรือนของชาวไทยทรงดำบ้านหนองเต่าดำ หมู่ที่ 4 ตำบลวังอิทก อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายในการศึกษาสภาพความเปลี่ยนแปลงประเพณีเสนเรือน และปัจจัยที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงประเพณีเสนเรือนของชาวไทยทรงดำบ้านหนองเต่าดำ หมู่ที่ 4 ตำบลวังอิทก อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ผลการวิจัยพบว่า หมู่บ้านหนองเต่าดำเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชนบทของจังหวัดพิษณุโลก จากคำบอกเล่าและเอกสารหลักฐานแสดงถึงหมู่บ้านหนองเต่าดำก่อตั้งมาเกือบ 100 ปี ในอดีตและปัจจุบันหมู่บ้านหนองเต่าดำมีสภาพเศรษฐกิจแบบสังคมเกษตรกรรม ปลูกข้าว ทำนาเป็นหลัก ชาวไทยทรงดำบ้านหนองเต่าดำมีความเชื่อต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่อยู่เหนือธรรมชาติมาก เพื่อให้เกิดความมั่นใจแก่ตนเองและเกิดความสบายใจ ความเชื่อที่มีมาตั้งแต่อดีตจะแฝงไปด้วยคุณค่าและความหมายและจะออกมาในรูปแบบการประกอบพิธีกรรม ปัจจุบันนี้รูปแบบการปฏิบัติพิธีเสนเรือนของชาวไทยทรงดำได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตและให้ความสำคัญกับประเพณีเสนเรือนน้อยลง เพราะว่าชาวไทยทรงดำในปัจจุบันไม่ทราบถึงคุณค่าและความหมายของประเพณีเสนเรือน เพียงแต่ยึดถือและปฏิบัติตามบรรพบุรุษที่เคยประกอบพิธีเท่านั้น สาเหตุเหล่านี้เกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ปัจจัยที่ทำให้ประเพณีเสนเรือนเปลี่ยนแปลงไป ได้แก่ ปัจจัยทางด้านเทคโนโลยี ปัจจัยทางด้านการศึกษา ปัจจัยทางวัฒนธรรม ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ และปัจจัยทางด้านประชากร นอกจากนี้ยังส่งผลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยทรงดำที่เปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย ในพิธีเสนเรือน ของชาวไทยดำนั้น อาหารเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากเพราะเป็นทั้งเครื่องเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่แสดงถึงความเคารพและระลึกถึง อีกทั้งยังใช้เป็นเครื่องประกอบพิธีกรรมด้วย และใช้เลี้ยงแขกที่มาร่วมงานด้วย พิธีเสนเรือนของชาวไทยดำนั้นจะขาดอาหารไม่ได้ ผู้วิจัยเห็นความสำคัญและต้องการเก็บรวบรวมองค์ความรู้ด้านความเชื่อที่ปรากฏจากอาหารในพิธีกรรมเสนเรือนของชาวไทยทรงดำ ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชรเพราะอาหารของชาวไทยทรงดำในยามภาวะปกติจะไม่แตกต่างจากชาวไทยทั่วไป แต่หากมีพิธีกรรม อาทิ พิธีเสนเรือน เสนเรียกขวัญ เสนผีขึ้นเรือน ฯลฯ จำเป็นต้องมีอาหารพิเศษซึ่งจัดเป็นอาหาร สำหรับงานพิธีดังกล่าวโดยเฉพาะ อาหารในพิธีเสนเรือนของชาวไทยดำ ในตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร จะต้องมีดังต่อไปนี้ 1. หมู 1 ตัว 2. แกงหน่อส้ม (แกงหน่อไม้ดองใส่ไก่) 3. แกงบอน 4. จุ๊บผัก (ยำผัก) 5. ต้มมะแฟงใส่กระดูกหมู (ต้มจืดฟักใส่กระดูกหมู) 6. ไก่ซ้อง (ไก่ที่ต้มในน้ำแกงหน่อส้ม) 7. เลือดต้า (ลาบเลือดดิบ) โดยในการประกอบพิธีเสนเรือนดังกล่าวจะต้องประกอบจากหมู 1 ตัว หากไม่มีอาหารดังที่กล่าวมา จะไม่สามารถประกอบพิธีเสนเรือนได้ ซึ่งจะขอกล่าวถึงส่วนประกอบและวิธีทำของอาหารดังกล่าว ดังนี้ 1. แกงหน่อส้ม หรือ แกงหน่อไม้ดองใส่ไก่ (ไก่ซ้อง) ในการแกงหน่อส้มของชาวไทยดำ ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร
ภาพที่ 1 แกงหน่อส้มของชาวไทยดำ ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร
ส่วนประกอบของแกงหน่อส้ม ประกอบด้วย 1. หน่อส้ม (หน่อไม้ดอง) 2. กะทิ 3. ไก่ (พร้อมเครื่องใน) 4. เครื่องแกง ประกอบด้วย พริกแห้ง หอมแดง กระเทียม กะปิ 5. น้ำปลา
ภาพที่ 2 หน่อไม้ดอง (หน่อส้ม) เครื่องแกง และไก่ ส่วนประกอบในการทำแกงหน่อส้มของชาวไทยดำ ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร
วิธีทำ 1. ต้มหน่อไม้ดองในน้ำเปล่าให้หายกลิ่นหืนและลดความเปรี้ยวลง
ภาพที่ 3 แสดงการต้มหน่อไม้ดองเพื่อลดความเปรี้ยว
2. ตำเครื่องแกงให้แหลก และใส่กะปิหลังสุด