ชนเผ่าเมี่ยน หรือ เย้า ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร

จาก KPPStudies
รุ่นแก้ไขเมื่อ 15:39, 20 มกราคม 2564 โดย Admin (คุย | มีส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย "== บทนำ == เมี่ยนได้ย้ายถิ่นมาพื้นที่จังหวัดกำแพงเพช...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

บทนำ

         เมี่ยนได้ย้ายถิ่นมาพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร เพราะการกระทำของมนุษย์ การแทรกแซงของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติซ้อนทับพื้นที่ของหมู่บ้านชาวเขาเผ่าเมี่ยน จึงถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ป่ามายังพื้นที่ราบทำให้ไม่มีที่ดินทำการเกษตร จึงต้องปรับตัวด้วยการนำอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่าย งานสร้างสรรค์นี้คือ มีการปักผ้าลายเจ้าสาวทั้งที่เป็นกางเกงแบบสั้นและแบบยาว อีกทั้งมีลายผ้าประยุกต์ เพื่อนำชิ้นผ้าไปสร้างสรรค์ผลงานต่อไป ทางด้านองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นผ้าปักชาวเขาถือว่ามีความจำเป็นต่อวิถีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย การปักผ้าของชาวเมี่ยนนี้ นอกจากจะช่วยสร้างรายได้แล้ว ยังมีการปักผ้าส่งศูนย์ศิลปาชีพ ซึ่งถือว่าเป็นการถ่ายทอดความรู้จากผู้หญิงรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเกี่ยวกับ 1) ความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์เมี่ยน 2) ภาษาพูดและภาษาเขียน 3) ที่อยู่อาศัยและความเป็นอยู่ 4) การแต่งกาย 5) วัฒนธรรมความเชื่อและพิธีกรรม และ 6) ศิลปะการแสดง

คำสำคัญ : กลุ่มชาติพันธุ์, เมี่ยน, กำแพงเพชร

ความเป็นมาของชนเผ่าเมี่ยน

         ตามปกติแล้วกลุ่มชาติพันธุ์อิวเมี่ยน เรียกตัวเองว่า อิวเมี่ยน หรือ เมี่ยน เพราะเป็นภาษาที่พวกเขาเหล่านี้เรียกแทนตัวเองตั้งแต่จำความได้ แต่มาภายหลังชนเมืองได้เรียกกันว่าชาติพันธุ์เย้า ในจังหวัดกำแพงเพชรจะมีชนเผ่าเมี่ยน 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มคลองเตย และกลุ่มคลองลาน ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน กลุ่มชาติพันธุ์เมี่ยนตั้งอยู่ในละติจูด : 16° 15' 36" N และลองจิจูด : 99° 13' 5" E และประชากรเย้ากระจายตัวอยู่ใน 10 จังหวัด ของประเทศ จำนวนประชากร 45,571 คน ชนเผ่าเย้า เดิมอาศัยอยู่ตามภูเขาในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ซึ่งในประเทศจีน เย้าแบ่งเป็นกลุ่มย่อยตามลักษณะของอาชีพเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ที่อยู่อาศัย และความเชื่อโดยแบ่งเป็นพวกแพนเย้า (pan Yao) คือพวกมีอาชีพทางแกะสลักไม้ พวกฮุงเย้า (huagnyao) เป็นพวกที่พันศีรษะด้วยผ้าแดง และพวกนานติงเย้า (nan ting Yao) เป็นพวกที่สวมเสื้อผ้าสีน้ำเงินล้วน
         หลังจากที่ถูกจีนรบกวน ชาวเย้าได้อพยพหนีเข้ามาอยู่ชายแดนพม่า อินโดจีน และเขตไทย เย้าที่เข้ามาอยู่ในเขตไทยนั้นเป็นพวกฮุงเย้า (hung yao) อาศัยอยู่บนถูกเขาในจังหวัดเชียงราย คือ เขตอำเภอแม่จัน อำเภอเชียงคำมีอยู่บนดอยผาแดง อำเภอเชียงของที่ดอยหลวง อำเภอพานอยู่บนภูเขาทางทิศตะวันตกแม่ใจ และอำเภออื่นๆ ก็มีบ้าง ทั้งนี้ชาวเย้าที่อาศัยอยู่ในอำเภอเทิงแถบชายแดนติดต่อเขตเชียงของ ผู้หญิงแต่งกายผิดจากอำเภออื่นๆ คือใช้ผ้าแดงโพกศีรษะ
         ชาวเมี่ยนเป็นชนชาติเชื้อสายจีนเดิม ชนเผ่านี้เรียกตัวเองว่า เมี่ยน หรือ อิ้วเมี่ยน ซึ่งแปลว่า มนุษย์มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เย้า
         ถิ่นเดิมของเมี่ยนอยู่ทางตะวันออกของมณฑลไกวเจา ยูนนาน หูหนาน และกวางสีในประเทศจีน ต่อมาการทำมาหากินฝืดเคืองและถูกรบกวนจากชาวจีนจึงได้อพยพมา ทางใต้ เข้าสู่เวียดนามเหนือ ตอนเหนือของลาว และทางตะวันออกของพม่า บริเวณรัฐเชียงตุง และภาคเหนือของไทย ชาวเมี่ยนที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย อพยพมาจากประเทศลาวและพม่า ปัจจุบันมีชาวเมี่ยนอาศัยอยู่มากในจังหวัด เชียงราย พะเยา และน่านรวมทั้งในจังหวัด กำแพงเพชร เชียงใหม่ ตาก เพชรบูรณ์ ลำปาง สุโขทัย อดีตเย้าตั้งบ้านเรือนอยู่บน ไหล่เขาที่มีน้ำบริบูรณ์ อากาศบริสุทธิ์และพื้นที่เหมะสำหรับการทำไร่ หมู่บ้านหนึ่งมี 15 – 40 หลังคาเรือน แต่ละหมู่บ้านตั้งอยู่ห่างไกลกันบนพื้นดินซึ่งเทลาดลงไปในราว 30 องศา ร้านที่ปลูกคร่อมบนพื้นดินเป็นรูปสี่เหลี่ยมผื้นผ้า ฝาไม้ไผ่สานขัดแตะ หันหลังติดกับเชิงเขา หน้าบ้านทำเป็นพื้นดินกว้าง 1 เมตร เป็นทางเดินรอบบ้าน ภายในบ้านเกลี่ยพื้นดินให้เรียบเสมอกัน มุงหลังคาด้วยใบก๊อ ใบหญ้าคา ใบหวาย แต่บางครั้งใช้ไม้ไผ่สับแผ่เป็นแผ่น บางหลังใช้ไม้ไผ่ผ่าครึ่งตามทางยาวใช้ประกบกันทำเป็นหลังคาบ้าน ฝาผนังเตี้ย บางทีก็ใช้ไม้ผ่าด้วยลิ่มเป็นแผ่นกระดานตั้งทำเป็นฝาโดยมีไม้ขนาบ เพื่อใช้เป็นที่กำบังลมไปด้วย น้ำบริโภคนั้นมักใช้ไม้ซางต่อเป็นลำรางจากน้ำตกมาใช้ภายในบ้านเรือน
         บ้านของชาวเย้ามีแบบแปลน คล้ายกันทุกบ้าน คือมีประตูเข้าบ้าน ทางซ้ายมือยกร้านเป็นห้องรับแขก และห้องนอนติดกันไป มีเตาไฟอยู่ 2 เตา คือ เตาข้างหน้าใช้สำหรับตั้งกาน้ำรับแขกทำอาหาร เตาหลังทำอาหารให้สัตว์เลี้ยง มีครกตำข้าวอยู่ในบ้าน พื้นดินในบ้านถูกปรับให้เรียบเสมอกัน บางบ้านไม่ยกร้านแต่ใช้หนังสัตว์ปูลงบนพื้นดิน และนอนกับพื้น ทำแท่นบูชาหรือหิ้งดวงวิญญาณบรรพบุรุษไว้ภายในบ้านทุกหลังคาเรือนทำโรงม้า ยุ้งข้าว คอกหมู เล้าไก่ ไว้รอบบ้านโดยทำเพิงต่อจากชายคาบ้านออกไป แต่บางบ้านก็ทำโรงเลี้ยงสัตว์ไว้ต่างหาก
         การตั้งหมู่บ้านของเย้า มักจะเป็นการรวบรวมกันระหว่างกลุ่มแซ่ตระกูลหรือกลุ่มญาติพี่น้อง โดยจะเลือกตั้งหมู่บ้านอยู่บนที่ราบตามไหล่เขา บริเวณต้นน้ำลำธารหรือบริเวณหุบเขาในระดับความสูง 1,000 –1,300 เมตร จากระดับน้ำทะเลและจะต้องเป็นบริเวณที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์สามารถนำมาใช้ในหมู่บ้านได้ 
         เย้านิยมจะสร้างบ้านหันหน้าออกจากภูเขาหรือมักจะอยู่ทางทิศตะวันออกของภูเขา โดยจะปลูกบ้านเรียงรายตามแนวสันเขา เพราะตามประเพณีไม่นิยมบ้านซ้อนกันซึ่งจะทำให้บ้านของตนไปตรงกับประตูผีบ้านคนอื่น เย้าเชื่อว่าสิ่งชั่วร้ายที่ถูกขับไล่ออกทางประตูผีนี้จะไปเข้าบ้านที่อยู่ตรงกับประตูผีในระยะใกล้ ๆ กัน 
         ตามประเพณี เย้าจะปลูกบ้านคร่อมดินโดยใช้พื้นดินเป็นพื้นบ้าน ผังของบ้านมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านยาวเป็นหน้าบ้านและหลังบ้าน ด้านหน้ามีประตูผีบานหนึ่งเรียกว่าประตูใหญ่ หรือประตูผี (ต้ม แกง) มีขนาดเล็กและมักปิดอยู่ตลอดเวลา จะเปิดเมื่อทำพิธีขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกจากบ้าน นำศพผู้อาวุโสออกจากบ้าน นำเจ้าสาวออกจากบ้าน และนำเจ้าสาวเข้าบ้านด้านข้างของบ้านทั้งสองด้านจะมีประตูด้านละหนึ่งประตูเปิดใช้เข้าออกในชีวิตประจำวัน ด้านยาวที่ไม่มีประตูนั้นจะกั้นเป็นด้านตามยาวจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยจะถือเอากลางบ้านเป็นหลักส่วนด้านประตูผีนั้นจะเป็นส่วนของผู้ชายซึ่งใช้สำหรับรับแขกและประกอบพิธีกรรมต่างๆ ส่วนทีเหลือนั้นจะเป็นส่วนของผู้หญิงที่ซึ่งจะเป็นที่ทำอาหาร สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบ้านมีหิ้งผี (เมี้ยน ป้าย) ซึ่งจะอยู่ตรงข้ามกับประตูผีพอดี แต่สำหรับบ้านของคนที่เคยผ่านพิธีโตโซหรือผู้ที่มีรูปผีใหญ่นั้น หิ้งผีของเขาจะมีลักษณะเป็นตู้เรียกว่า เมี้ยนเตียจง หิ้งผีจะใช้สำหรับเชิญผีมาสิงสถิต เพื่อการเซ่นไหว้ (สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของขาวไทยภูเขาในประเทศไทย, 2562, ออนไลน์)

ภาษาที่ใช้พูดเขียน/เขียน

         ภาษาเมี่ยนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับภาษาม้งมากกว่าภาษาชาวเขาอื่นๆ ภาษาเขียน เมี่ยนได้รับอิทธิพลจากจีนมาก เป็นคำเดียวโดดๆไม่มีภาษาเขียนเป็นของตนเอง เมี่ยนที่อยู่ในเมืองไทยส่วนใหญ่พูดภาษาไทยเหนือหรือคำเมืองพอรู้เรื่อง บางคนพูดภาษาไทยกลางได้ คนที่มีอายุพูดภาษาจีนกลางและจีนฮ่อได้ เย้ามีภาษาคล้ายภาษาจีน และมักพูดภาษาจีนกลางได้ ตัวหนังสือเขียนอย่างจีนทุกตัวอักษร ชื่อผู้ชาย เช่น แฉ่งฟิน อู้เฟ ซานโจ ซู่จ้อย อู้ก๋วย ฟุเจียว หวั่นเจียม จันฟุ แส้งเซี่ยว ต่อออน กิมฮิน หว่านเอี๋ยน อ้วนจิ่ว ฯลฯ ชื่อผู้หญิง เช่น มะเหม อิ๋มเฟ๋ มามัน อิ๋มฟาม กุเหมย ม่วยไหน มุ่ยเฟย มุ่ยลั่ว ฯลฯ ชื่อสัตว์สิ่งของ เช่น เอี้ยน-ถ้วย เฮ้-รองเท้า มั่ว-หมาก ดุย-เสื้อ หาง-ข้าว อวม-น้ำ ตูง-หมู ใจ-ไก่ ราง-บ้าน ฮวบติ้ว-ดื่มสุรา ฮวยอวม-ดื่มน้ำ มิ่งหายต้าย-ไปไหนมา  เยี้ยมนงยั่นนง-สบายดี ย่านฮางเมียะ-รับประทานอาหารหรือยัง มิ่งย่าว-ไปเที่ยว ล่งอี้ล่ง-เอาหรือไม่ ปั้วอิน-สูบฝิ่น อื่กะยั้น-ยังไม่ได้รับประทานอาหาร ฯลฯ การเรียนหนังสือนั้น แม้ไม่มีโรงเรียนสอนแต่ก็อาศัยเรียนกับชาวจีนฮ่อ บิดา ปู่ หรือลุงเพราะชาวจีนฮ่อมักอยู่รวมกับชาวเย้าเสมอ เครื่องดนตรี มีฆ้อง กลอง ปี่ ฉิ่ง ฆ้องใช้ในงานพิธีต่างๆ เช่น แต่งงาน ศพ งานปีใหม่ ฯลฯ (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, 2562, ออนไลน์)
ภาพที่ 1 หมวดคำอักษรจีน ปัจจุบันชาวเมี่ยนก็ยังใช้อยู่.jpg

ภาพที่ 1 หมวดคำอักษรจีน ปัจจุบันชาวเมี่ยนก็ยังใช้อยู่

ที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, 2562, ออนไลน์

การนับเวลาชนเผ่าเมี่ยน

         ปี ภาษาเมี่ยนเรียกว่า เฮยี๋ยง เมี่ยนมีการกำหนดให้หนึ่งรอบปีมี 12 ปี และใช้ชื่อของสัตว์แทนชื่อปี ทั้งสอบสองปี คือ คำนำหน้าชื่อสัตว์ทั้งสิบสองปี จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะ ครบรอบ 5 รอบ หรือ 60 ปี ชาวเมี่ยนเมื่ออายุครบ 60 ปี จะถือว่าครบรอบวันเกิด เมื่ออายุครบ 60 ปีแล้ว เมี่ยนจะถือว่าหมดอายุแล้ว เพราะตามตำนานนั้น ได้สร้างให้มนุษย์มีอายุเพียงแค่ 60 ปีเท่านั้น ดังนั้นคนที่มีอายุครบ 60 ปี จะต้องทำบุญวันเกิดทุกปี เพื่อเป็นการต่ออายุ และจะมีพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการ ต่ออายุ ชื่อเรียกปีใน 5 รอบของชาว เมี่ยน คือ เมื่อนับครบรอบที่ 5 และขึ้นรอบที่ 6 ก็จะมาเริ่มนับรอบที่ 1 ใหม่ เช่น เมื่อนับครบรอบที่ 5 คือ ก้วยหอย (ปีหมู) นับแต่ต้นปีจนจบปีสุดท้าย แล้วก็นับเริ่ม จากปีแรกหรือจากต้นปี (จาบจช้าง, ปีชวด) ใหม่ หรืออธิบายได้อีกแบบหนึ่ง คือ เมื่ออายุครบรอบ 60 ปี (ก้วยหอย, ปีกุน) แล้ว จะเริ่มการนับจากต้นปีใหม่ คือ จาบจช้าง (ปีชวด) ยกตัวอย่างเช่น เมื่ออายุครบ 72 ปีก็แปลว่า กำลังอยู่ในช่วงปีกุนอยู่ คือ เหยียดหอย แล้วก็นับต่อ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนครบรอบวันเกิด ในรอบที่สองใหม่ การนับปีของเมี่ยนนี้ ปัจจุบันคนวัยกลางคนจะนับได้ หากถามว่าอายุเท่าไหร่ เขาจะบอกได้ทันที เพราะรู้ว่าเกิดในรอบปีไหน และปีชื่ออะไร ที่สำคัญต้องดูจากลักษณะหน้าตาด้วยในการบอกทายอายุ (มูลนิธิกระจกเงา, 2562, ออนไลน์)
ภาพที่ 2 ปฏิทินการนับเวลาของชาวเมี่ยน.jpg

ภาพที่ 2 ปฏิทินการนับเวลาของชาวเมี่ยน

ที่มา : มูลนิธิกระจกเงา, 2562, ออนไลน์

อยู่อาศัย/ความเป็นอยู่

         ในหมู่บ้านเมี่ยนจะเอากระบอกไม้ไผ่ผ่าครึ่งทำเป็นท่อหรือรางน้ำเพื่อรองน้ำจากลำธารมาใช้ภายในหมู่บ้านได้ ชาว เมี่ยนปลูกบ้านคร่อมดิน ใช้พื้นดินเป็นพื้นบ้าน บ้านมีลักษณะรูป สี่เหลี่ยมผืนผ้ามุงหลังคา ด้วยหญ้าคา หรือใบหวาย ฝาบ้านทำจากไม้เนื้ออ่อนที่ผ่าด้วยขวานและลิ่มถากให้เรียบกั้นฝาในแนวตั้ง บางหลังใช้ไม้ไผ่ หรือฟางข้าวผสมดิน โคลนก่อเป็นกำแพงเป็นฝาผนัง ถ้ามีสมาชิกหลายคนจะแบ่งเป็นห้อง ๆ หน้าบ้านมี ประตูเรียกว่า ประตูผี ประตูนี้จะ เปิดใช้เมื่อส่งตัวบุตรสาวออกไปแต่งงาน หรือนำลูกสะใภ้เข้าบ้าน และใช้เวลายกศพออกจากบ้าน ตรงกับประตูหน้า จะมีหิ้งผีติดข้างฝาเรียกว่า “เมี้ยนป้าย” เป็นที่สิงสถิตของผีบรรพบุรุษ บางบ้านมีหิ้งผีอีกแบบหนึ่งเรียกว่า “เมี้ยน เตี่ย หลง”
ภาพที่ 3 การสร้างบ้านของชนเผ่าเมี่ยน.jpg

ภาพที่ 3 การสร้างบ้านของชนเผ่าเมี่ยน

ที่มา : อภิสิทธิ์ อภิชิตศศิวิมล, 2562, ออนไลน์

         เย้าตั้งบ้านเรือนอยู่บน ไหล่เขาที่มีน้ำบริบูรณ์ อากาศบริสุทธิ์และพื้นที่เหมะสำหรับการทำไร่ หมู่บ้านหนึ่งมี 15 – 40 หลังคาเรือน แต่ละหมู่บ้านตั้งอยู่ห่างไกลกันบนพื้นดินซึ่งเทลาดลงไปในราว 30 องศา ร้านที่ปลูกคร่อมบนพื้นดินเป็นรูปสี่เหลี่ยมผื้นผ้า ฝาไม้ไผ่สานขัดแตะ หันหลังติดกับเชิงเขา หน้าบ้านทำเป็นพื้นดินกว้าง 1 เมตร เป็นทางเดินรอบบ้าน ภายในบ้านเกลี่ยพื้นดินให้เรียบเสมอกัน มุงหลังคาด้วยใบก๊อ ใบหญ้าคา ใบหวาย แต่บางครั้งใช้ไม้ไผ่สับแผ่เป็นแผ่น บางหลังใช้ไม้ไผ่ผ่าครึ่งตามทางยาวใช้ประกบกันทำเป็นหลังคาบ้าน ฝาผนังเตี้ย บางทีก็ใช้ไม้ผ่าด้วยลิ่มเป็นแผ่นกระดานตั้งทำเป็นฝาโดยมีไม้ขนาบ เพื่อใช้เป็นที่กำบังลมไปด้วย   น้ำบริโภคนั้นมักใช้ไม้ซางต่อเป็นลำรางจากน้ำตกมาใช้ภายในบ้านเรือน
         บ้านของชาวเย้ามีแบบแปลนคล้ายกันทุกบ้าน คือมีประตูเข้าบ้าน ทางซ้ายมือยกร้านเป็นห้องรับแขก และห้องนอนติดกันไป มีเตาไฟอยู่ 2 เตา คือ เตาข้างหน้าใช้สำหรับตั้งกาน้ำรับแขกทำอาหาร เตาหลังทำอาหารให้สัตว์เลี้ยง มีครกตำข้าวอยู่ในบ้าน พื้นดินในบ้านถูกปรับให้เรียบเสมอกัน บางบ้านไม่ยกร้านแต่ใช้หนังสัตว์ปูลงบนพื้นดิน และนอนกับพื้น ทำแท่นบูชาหรือหิ้งดวงวิญญาณบรรพบุรุษไว้ภายในบ้านทุกหลังคาเรือนทำโรงม้า ยุ้งข้าว คอกหมู เล้าไก่ ไว้รอบบ้านโดยทำเพิงต่อจากชายคาบ้านออกไป แต่บางบ้านก็ทำโรงเลี้ยงสัตว์ไว้ต่างหาก (อภิสิทธิ์  อภิชิตศศิวิมล, 2562, ออนไลน์)
         1. ครอบครัว
             ครอบครัวของเมี่ยนมีทั้งครอบครัวเดี่ยวและขยาย ถ้าเป็นครอบครัวขยายนิยมขยายทางฝ่ายชาย ในทัศนะของเมี่ยน คำว่า ญาติพี่น้อง นอกจากจะหมายถึงญาติพี่น้องทาง สายโลหิตแล้ว ยังรวมถึงชนชาติอื่นๆ ที่เข้ามารวมอยู่ในชุมชนของชาวเมี่ยนด้วย ในเรื่องญาติพี่น้องของเมี่ยนนั้น มิได้หมายถึงความเกี่ยวพันทางสายโลหิตดังที่เข้าใจกัน แต่ เกี่ยวพันกันในทางวิญญาณของบรรพบุรุษ
             เย้ามีรูปร่างหน้าตา คล้ายชาวจีนยูนนาน แต่ภาษาผิดเพี้ยนกันไป ใช้ตัวหนังสือจีน เครื่องแต่งกายของชายเหมือนกับชาวยูนนานหลายอย่าง แต่แตกต่างเพียงเครื่องแต่งกายผู้หญิง ซึ่งเป็นไปคนละแบบ ถ้าจะกล่าวถึงขนบประเพณีแล้ว ชาวเย้าก็ไม่แตกต่างอะไรกับจีนฮ่อ เข้าใจว่าคงเป็นชนชาติจีนเผ่าหนึ่งที่ใช้ภูเขาสูงเป็นที่พำนัก ผู้ชายไว้ผมม้า คือมีผมหย่อมเดียวตรงกลางขวัญ โพกศีรษะด้วยผ้าสีดำ หรือสวมหมวกกลมมียอดเป็นจุก ปัจจุบันตัดผมสั้นแบบธรรมดา สวมเสื้อดำหลวมๆ แขนยาวผ่าอก ป้ายข้าง กางเกงสีดำขายาวแบบจีน ถ้าเป็นคนแก่เวลาไปประกอบพิธีอะไรมักจะมีผ้าขาวพาดบ่า เด็กหนุ่มติดผ้าสีขาวตามขอบริมชายเสื้อ และปักลวดลายเป็นจุดสี่เหลี่ยมเล็กๆ ตรงใต้อกด้านใดด้านหนึ่ง ที่เสื้อผ่าข้างติดกระดุมโลหะเงินกลมๆ เป็นแถวลงมา (อภิสิทธิ์ อภิชิตศศิวิมล, 2562, ออนไลน์)
         2. อาชีพ
             กระบวนการจัดการความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของศูนย์หัตถกรรมผ้าปักชาวเขา ประกอบด้วย 8 ขั้นตอน คือ

ขั้นตอนที่ 1 การระบุความรู้ที่ต้องการ ตามความเชื่อของชนเผ่า เน้นคติด้านวัฒนธรรม ประเพณี ค่านิยมในท้องถิ่นที่ชาวบ้านมุ่งอธิบายตามปรากฏการณ์และสร้างสรรค์ลายผ้าปักเลียนแบบธรรมชาติรอบตัว

             ขั้นตอนที่ 2 การจัดหาความรู้ที่ต้องการ การรับความรู้มาจากบรรพบุรุษ การแสวงหาความรู้การปักผ้าจากสมาชิกในครัวเรือน
ภาพที่ 4 ภาพวัฒนธรรมการปักผ้าของชาวเมี่ยน.jpg

ภาพที่ 4 ภาพวัฒนธรรมการปักผ้าของชาวเมี่ยน

ที่มา : คุณจิรพงษ์ เทียนแขก , 2562, ออนไลน์

ภาพที่ 5 ภาพลายปักผ้าชนเผ่าเมี่ยน.jpg

ภาพที่ 5 ภาพลายปักผ้าชนเผ่าเมี่ยน

ที่มา : ศูนย์วัฒนธรรมชาวเขา คลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร

             ขั้นตอนที่ 3 การสร้างพัฒนาความรู้ใหม่ การถ่ายทอดความรู้จากบรรพบุรุษร่วมกันอย่างใกล้ชิด และการพัฒนาความรู้ที่มีในแต่ละบุคคลผนวกเข้ากับความรู้ในกลุ่มเครือญาติการสร้างจากความเชื่อแลความสัมพันธ์ของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และตามความต้องการของศูนย์ศิลปาชีพ 
             ขั้นตอนที่ 4 การถ่ายทอดความรู้ เป็นการถ่ายทอดความรู้ไม่ที่เป็นทางการตามธรรมชาติและไม่มีแบบแผนที่เป็นทางการ เกิดขึ้นจากการดำเนินชีวิตประจำวัน และการปฏิบัติหน้าที่ของผู้หญิงชนเผ่า
             ขั้นตอนที่ 5 การจัดเก็บความรู้  และเก็บแบบลายผ้าปักหรือชิ้นผ้าเป็นความรู้ที่ฝังลึกอยู่ในตัวบุคคล ใช้วิธีการจดจำของแต่ละบุคคล ยังไม่มีการจัดเก็บความรู้ที่เป็นระบบ และไม่ได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร
             ขั้นตอนที่ 6 การนำความรู้มาใช้ได้พัฒนาลายผ้าปักส่งศูนย์ศิลปาชีพ สืบทอดภูมิปัญญาปักผ้าของชนเผ่า และนำความรู้ถ่ายทอดให้แก่เด็กและเยาวชนผ่านเอกสารเผยแพร่ผ้าปักชาวเขาสู่สถานศึกษาที่อยู่ในชุมชนท้องถิ่น ส่วนการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นหัตถกรรมผ้าปักชาวเขาสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ มีการขับเคลื่อนกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ ด้วยการแสวงหาโอกาส มุ่งเน้นพึ่งพาตนเองบนฐานของศักยภาพและทรัพยากรทางวัฒนธรรม การสร้างมูลค่าจากการผลิตสินค้าผ้าปักชาวเขากระเป๋าสตางค์ พวงกุญแจ กระเป๋าเป้ รองเท้า เครื่องเงิน มีนวัตกรรมและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าที่ชนเผ่าผลิต การสร้างเครือข่ายด้านการพัฒนาต่อยอดเพิ่มคุณภาพสินค้า และการจัดการด้านการตลาด
             ขั้นตอนที่ 7 ด้านเกษตรกรในอดีตของกลุ่มชาติพันธุ์เมี่ยน ในอดีต ช่วง พ.ศ.2493 ชาวเย้ามีอาชีพทางทำไร่ฝิ่น ข้าวเจ้า ข้าวโพด ยาสูบ และพืชไร่อย่างชาวเขาเผ่าอื่นๆ โดยเริ่มหว่านฝิ่นในเดือนกันยายน พอเดือนธันวาคม – มกราคม ก็ลงมือกรีด นอกจากทำการปลูกแล้วยังทำการค้าด้วย เช่น ที่ดอยภูลังกา เขตอำเภอปง ติดต่อดอยผาแดง อำเภอเชียงคำ มีชาวเย้าหลายหมู่บ้านแต่ละหมู่มีชาวเย้าไม่ต่ำกว่า 100 คน หัวหน้าชาวเย้าที่ดอยภูลังกาเป็นราชาแห่งการปลูกฝิ่น มีบ้านใหญ่โตอยู่บนเขา ชาวเย้าบริเวณนั้นขึ้นตรงต่อราชาคนดังกล่าวทั้งหมด ผู้ใดปลูกฝิ่นต้องนำมามอบให้เขาเป็นผู้จำหน่ายพืชไร่อื่นมีฤดูปลูกต่าง กัน คือ ปลูกข้าวเจ้าพันธุ์เบาในปลายเดือน 7 เหนือ (พฤษภาคม) เก็บเกี่ยวในเดือน 12 (ตุลาคม) ข้าวโพดปลูกเดือน 5 (มีนาคม) เก็บเกี่ยวเดือนกันยายน ในการปลูกนั้นใช้ไม้ทิ่มลงไปในดิน และหย่อนเมล็ดข้าวโพด 2-3 เมล็ดลงไปแล้วเอาดินกลบ พอฝนตกลงมาสัก 2-3 ห่า พืชก็งอกขึ้น ข้าวโพดปลูกไว้สำหรับใช้เป็นอาหารของม้า หมูและไก่ ส่วนไร่ฝิ่นเลือกสถานที่ที่มีอากาศเย็น วิธีการปลูกก็คือขุดดินพลิกขึ้นก่อนแล้วหว่านเมล็ดฝิ่นลงไป พอต้นกล้าโตขึ้นก็ถอนให้ห่างกันประมาณ 1 คืบ พอต้นฝิ่นโตออกดอกออกผล จึงเอามีดกรีดยางจากผลเก็บไว้ เริ่มหว่านฝิ่นในเดือนกันยายน กรีดในราวเดือนธันวาคมถึงปลายเดือนมกราคมก็หมด การเลี้ยงสัตว์มีเลี้ยงม้า ลา หมู ไก่ สุนัข สำหรับม้าและลานั้นเลี้ยงไว้ใช้เป็นยานพาหนะเดินทางไปตามไหล่เขา
ภาพที่ 6 จอบชาวเมี่ยนเรียกว่า พอง, งิว.jpg

ภาพที่ 6 จอบชาวเมี่ยนเรียกว่า พอง, งิว

ที่มา : ศูนย์วัฒนธรรมชาวเขา คลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร

ภาพที่ 7 ขวานชาวเมี่ยน.jpg

ภาพที่ 7 ขวานชาวเมี่ยนเรียกว่า เป๊อว, มีดปลายแหลมเรียกว่า จุไหล่

ที่มา : ศูนย์วัฒนธรรมชาวเขา คลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร

             ขั้นตอนที่ 8 หัตกรรมกรรมเครื่องเงินกลุ่มชาวพันธุ์เมี่ยน ชาวเขาเผ่าเย้า หรือเมี้ยน ทำเครื่องเงินเพื่อประดับชุดผู้หญิงของเขาอยู่ที่บ้านเขาน้อย หมู่ที่ 1 ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งนิยมสร้างบ้านบริเวณที่ลาดชันตามไหล่เขา ผู้หญิงชาวเย้า จะแต่งตัวด้วย เครื่องเงินที่งดงามมาก มีน้ำหนักหลายกิโลกรัม แต่ละชุดจะมีมูลค่าของเครื่องเงินนับแสนบาท จึงทำให้ชายชาวเขาเป็นช่างที่ทำเครื่องเงินได้งดงามมากและหลากหลายรูปแบบมาก จากการสัมภาษณ์ นายขวานทอง จ๋าวเสรี (กวานตอง แซ่จ๋าว) นายช่างทำเครื่องเงิน ชาวเย้า ขณะนี้ เขามิได้ทำเครื่องประดับชุดการแต่งกายสุภาพสตรีชาวเย้าแต่อย่างเดียว แต่เขาทำส่งประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย สุภาพสตรี  ชาวเย้าที่ เป็นแบบให้เรา บันทึกภาพ และเป็นนางแบบในการแสดงชุดของหญิงชาวเย้าในชุดแต่งกาย ที่งดงามราวกับเจ้าหญิงคือ คุณสุมาลี หงิงเส็ง (แซ่จ๋าว) น้องสาวนายขวานทอง ผู้จัดทำเครื่องเงินประดับให้น้องสาว ในชุดแต่งงานที่งดงาม โดยเฉพาะผ้าคลุมไหล่ ที่มีเครื่องเงินจำนวนมากประดับอยู่มีมูลค่ามหาศาล ผ้าโพกศีรษะ จะพันด้วยเครื่องเงินราวกับมงกุฎ (คุณจิรพงษ์ เทียนแขก, 2562, ออนไลน์)
ภาพที่ 8 การทำผลิตภัณฑ์เครื่องเงินของชนเผ่าเมี่ยน.jpg

ภาพที่ 8 การทำผลิตภัณฑ์เครื่องเงินของชนเผ่าเมี่ยน

ที่มา : บ้านเขาน้อย หมู่ที่ 1 ตำบลคลองลานพัฒนา ตำบลคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร

ภาพที่ 9 เครื่องเงินชาวเมี่ยน.jpg

ภาพที่ 9 เครื่องเงินชาวเมี่ยน

ที่มา : บ้านเขาน้อย หมู่ที่ 1 ตำบลคลองลานพัฒนา ตำบลคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร

การแต่งกาย

         วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาวเมี่ยนก็คือเครื่องแต่งกาย เนื่องด้วยชาวเมี่ยนนิยมแต่งกายด้วยผ้าสีทึบ อย่างไรก็ดี เสื้อผ้าสำหรับการแต่งกายของชายหญิงจะแบ่งเป็อป 2 ประเภท คือ เสื้อผ้าที่ใช้ใส่ในชีวิตประจำวัน และ เสื้อผ้าสำหรับใส่ในงานประเพณีหรืองานบุญต่าง ๆ 
         1. ผู้หญิง
          ประกอบไปด้วยกางเกงขาก๊วย ซึ่งเต็มไปด้วยลายปักเสื้อคลุมตัวยาวถึงข้อเท้า มีไหมพรมอยู่รอบคอ ผ้าคาดเอวและผ้าโพกศีรษะ การพันศีรษะต้องพันศีรษะ ด้วยผ้าพื้นเป็นชั้นแรก จากนั้นก็มาพันชั้นนอกทับอีกที การพันชั้นนอกจะใช้ผ้าพันลายปัก ซึ่งมีลักษณะการพันสองแบบคือแบบหัวโต (ก่องจุ้น) และแบบหัวแหลม (ก่องเปลวผาน) และผ้านี้จะพันไว้ตลอดแม้ในเวลานอน หญิงเมี่ยนนุ่งกางเกงขาก๊วยสีดำด้านหน้ากางเกงเป็นลายปักที่ละเอียด และงดงามมาก ลวดลายนี้ใช้เวลาปัก 1 - 5 ปี ขึ้นอยู่กับความละเอียดของลวดลาย และเวลาว่างของผู้ปักเป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้หญิงเมี่ยนจึงอวดลายปักของตน ด้วยการรวบปลายเสื้อที่ผ่าด้านข้าง ทั้งสองมามัดด้านหลัง และใช้ผ้าอีกผืนหนึ่งทำหน้าเป็นเข็มขัดทับเสื้อ และกางเกงอีกรอบหนึ่ง โดยทิ้งชายเสื้อซึ่งปักลวดลายไว้ข้างหลัง การตัดเย็บจะตัดเย็บด้วยผ้าฝ้ายพื้นสีดำ ยกเว้นเสื้อคลุมซึ่งอาจใช้ผ้าทอเครื่องในบางกรณี การปักลายของเมี่ยนตามบางท้องถิ่นอาจเหมือนหรือแตกต่างกันบ้างตามความนิยม