ตำนานท้าวแสนปม

จาก KPPStudies
รุ่นแก้ไขเมื่อ 13:25, 26 มกราคม 2564 โดย Admin (คุย | มีส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย "== บทนำ == วรรณกรรมที่เป็นผลงานอันเกิดจากการคิด และจิ...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

บทนำ

         วรรณกรรมที่เป็นผลงานอันเกิดจากการคิด และจินตนากาแล้วเรียบเรียง นำมาบอกเล่า บันทึก ขับร้อง หรือสื่อออกมาด้วยกลวิธีต่างๆ โดยทั่วไปแล้ววรรณกรรมเป็นภาษาศิลป์ที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมสะท้อนให้เห็นถึงศิลปะการพูด การคิดคำกลอนและจินตนาการในยุคนั้นของผู้คนในแต่ละภูมิภาค ซึ้งในแต่ละภูมิภาคนั้นอาจจะมีภาษาหรือจินตการที่แตกต่างกันออกไปเนื่องจากแต่ละภูมิภาคมีลักษณะพื้นที่หรือศิลปะวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไปและจังหวัดกำแพงเพชรนั้นก็เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีประวัติความเป็นเกี่ยวข้องกับวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงอย่างเรื่องท้าวแสนปมตำนานท้าวแสนปมและบทละครเรื่องท้าวแสนปมที่ถูกประพันธ์ขึ้นจากรัชกาลที่ 6 ซึ่งท้าวแสนปมนั้นในยุคสมัยก่อนถูกเล่าโดยมีเรื่องที่น่าเหลือเชื่อมากจนเกินไปรัชกาลที่ 6 ทรงเห็นถึงเรื่องนี้จึงได้ทรงรวบรวมข้อมูลจากตำนานต่างๆที่ถูกเล่ากล่าวกันมาและทรงประพันธ์ให้กลายเป็นบทละครที่สร้างจากเรื่องราวแก่นแท้ของ นายแสนปม
         บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึง ผู้แต่ง ประวัติวรรณกรรม และเนื้อเรื่องย่อท้าวแสนปมเพื่อให้เข้าใจถึงแก่นของอัตลักษณ์ทางวรรณกรรมท้าวแสนปม ตำบลนครไตรตรึงษ์ จังหวัดกำแพงเพชร

คำสำคัญ : ตำนานท้าวแสนปม, รัชกาลที่ 6, นครไตรตรึงษ์ จังหวัดกำแพงเพชร

ผู้แต่ง

         ท้าวแสนปมนี้เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงวิจารณ์เรื่องท้าวแสนปมไว้ในหนังสือบทละครที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ว่า ตำนานเรื่องท้าวแสนปมนี้จะต้องมีมูลความจริง เพราะอย่างน้อยศักราชที่ 6 ทรงทิวงคตเป็นของแน่นอน แต่มีผู้เล่าต่อๆกันมาภายหลัง เล่าไปในทางปาฏิหาริย์จนเหลือเชื่อ (วนิดา  พรหมชา, 2562, ออนไลน์)
         วันเดือนปีที่ประพันธ์แต่งขึ้นในระหว่างเมื่อเดินทางกลับจากเจดีย์พระนเรศวร แขวงเมืองสุพรรณบุรีไปบ้านโป่ง แขวงเมืองราชบุรีวันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม ต้นร่างแล้วเสร็จ ณ วันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์และได้เกลากล่อมสืบมาอีกแล้วเสร็จบริบูรณ์ ณ วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2456 (พัชลินจ์ จีนนุ่น, 2548, ออนไลน์)

ประวัติวรรมกรรม

         ตำนานที่ 1
         เมื่อราวจุลศักราช 550 พ.ศ.1731 มีพระเจ้าแผ่นดินไทยองค์หนึ่ง เป็นเชื่อวงศ์ของพระเจ้าพรหมมหาราช ทรงพระนามว่าท้าวไชยศิริ (ซึ่งเป็นชื่อมีใช้อยู่ดื่นๆ ข้างมัธยมประเทศ) ทรงครองเมืองฝางอยู่ ได้ถูกข้าศึกจากรามัญประเทศยกมาตีเมือง ท้าวไชยศิริสู้ไม่ได้จึงหนีลงมาข้างใต้ พบพวกไทยที่อพยพลงมาแต่ก่อนแล้วและตั้งอยู่ตำบลแพรก พวกไทยเหล่านั้นหาเจ้านายเป็นขุนครองมิได้ ทั้งตั้งอยู่ในภูมิที่กลางระหว่างราชอาณาเขตสุโขทัยกับอู่ทอง จึงเป็นการห่างไกลราชธานีทั้งสองแห่ง รู้สึกว้าเหว่จึงอัญเชิญพระเจ้าไชยศิริขึ้นเป็นขุนเหนือตน ท้าวไชยศิริจึงสร้างราชธานีขึ้นใหม่ เรียกนามว่านครไตรตรึงษ์ พระเจ้าไชยศิริครองนครไตรตรึงษ์อยู่จนทรงทิวงคต แล้วเชื้อพระวงศ์ได้ครองราชย์สมบัติสืบมาอีก 4 ชั่ว
         ท้าวไตรตรึงษ์ชั่วที่ 4 มีราชธิดาองค์หนึ่ง ชื่อว่านางอุษามีรูปงดงามมาก กิตติศัพท์เล่าลือระบือไปในเมืองต่าง ๆ ทราบถึงเจ้านครศรีวิไชย จึงใช้ทูตไปทาบทามเพื่อขอนางนั้นเป็นมเหสีแห่งพระชินเสนราชโอรส ผู้เป็นยุพราช แต่ท้าวไตรตรึงษ์ไม่มีราชโอรสก็ปรารถนาจะให้เขยมาเป็นกษัตริย์ครองเมืองสืบไป จึงตอบว่า ถ้าท้าวศรีวิไชยยอมเป็นเมืองขึ้นจึงจะยกพระธิดาให้ ท้าวศรีวิไชยก็ไม่ยอมจึงงดกันไป
         ครั้นเมื่อราว ปีฉลู จุลศักราช 675 พ.ศ. 1857 พระชินเสนมีความปรารถนาจะเห็นตัวนางธิดาไตรตรึงษ์ จึงลาพระราชบิดาไปยังเมืองไตรตรึงษ์ ครั้นว่าจะตรงเข้าไปก็เห็นว่าไม่สะดวก ด้วยพระบิดาและท้าวไตรตรึงษ์ผิดใจกันอยู่ จึงใช้อุบายแปลงตัวเป็นยาจกเอาฝุ่นและเขม่าทาตัวให้เปื้อนเปรอะ เอารงค์แต้มตัวให้ดูประหนึ่งว่าเป็นปมปุ่มทั่วไปทั้งตัว แล้วก็เข้าไปในเมืองไตรตรึงษ์ ไปอาสารับใช้ผู้เฝ้าสวนหลวงอยู่เพื่อหาช่องทางดูตัวนาง
         อยู่มาวันหนึ่ง นางธิดาไตรตรึงษ์ออกไปประพาสสวนหลวง (ซึ่งเทียบดูตามที่เคยเห็นๆ อยู่ตามเมืองโบราณมักอยู่นอกกำแพงเมือง เช่นสวนมะม่วงทีกรุงสุโขทัยและสวนหลวงที่กรุงเก่านั้นดูเป็นตัวอย่าง) พระชินเสนไปเที่ยวเดินเก็บผลหมากรากไม้และผักหญ้าอยู่ จึงได้เห็นตัวนางก็มีความรัก จึงเข้าไปหาและนำผักถวาย ฝ่ายนางสังเกตดูเห็นพระชินเสนเห็นได้ว่าไม่ใช่ไพรจริง เพราะประการหนึ่งมิได้ไหว้ อีกประการหนึ่งตาจ้องดูไม่หลบเลย นางให้ข้าหลวงซักดู พระชินเสนก็ให้การแต่เพียงว่าชื่อนายแสนปม แต่ไม่บอกว่ามาแต่ไหนหรือเป็นลูกเต้าเหล่าใครเลย นางอุษานึกในใจว่าต้องเป็นคนมีตระกูลแปลงตัวมาเป็นแน่แท้ ครั้นจะพูดจาอะไรต่อไปก็ไม่ถนัดจึงสั่งนายแสนปมว่าต่อไปให้หมั่นเก็บผักส่งเข้าไปในวัง แล้วนางก็กลับเข้าวัง
         ฝ่ายพระชินเสนกลับไปถึงที่พักแล้ว ไตร่ตรองดูเห็นท่าทางว่านางจะมีความรักใคร่บ้าง แต่ยังไม่แน่ใจแท้ จึงใช้อุบายเอาเหล็กแหลมจารเป็นหนังสือบนมะเขือ เป็นถ้อยคำเกี้ยวเลียบเคียงเป็นนัย ๆ แล้วนำมะเขือกับผักอื่นๆ ส่งไปให้นาง ฝ่ายนางอุษาได้เห็นหนังสือนั้นแล้ว ก็เขียนหนังสือตอบใส่หอหมากฝากไปให้นายแสนปม พระชินเสนได้รับหนังสือตอบ เข้าใจได้ดีว่านางสมัครรักใคร่ในตนเป็นแน่แล้ว จึงเข้าไปหานางที่ในวัง (การที่จะเข้าวังในสมัยโน้น ไม่เป็นการยากเย็นปานใด เพราะวังคงจะไม่มีกำแพงมีแต่รั้วไม้อย่างบ้านเรือนคนๆ เราเท่านั้น และราชมนเทียรและตำหนักก็คงเป็นเรือนฝากระดานทั้งนั้น ไม่เป็นเรือนสูงปานใด) ต่อนั้นมาก็คงจะได้พบปะได้เสียอีก ที่สวนเป็นพื้น และวิธีมีหนังสือเขียนบนมะเขือ จึงเกิดปรากฏขึ้นว่านางนั้นโปรดเสวยมะเขือนัก
         อยู่มาได้สักหน่อย ก็คงมีเหตุอย่างหนึ่งขึ้นเช่นพระบิดาประชวร เป็นต้น พระชินเสนต้องรีบกลับไปนครศรีวิไชย เป็นอันยังมิทันที่จะตระเตรียมลักพานางไปด้วย และคั้นเมื่อชินเสนกลับไปถึงนครก็คงจะเลยมีข้อข้องขัดบังเกิดขึ้น เช่น พระบิดาโปรดให้เป็นผู้ช่วยว่าราชการ เป็นต้น จึงเป็นอันยังไม่มีโอกาสที่จะจัดการ ไปรับนาง (ถ้าไม่มีเหตุเช่นกล่าวมาแล้วนี้คงไม่ทิ้งไว้จนมีลูก คงต้องรีบจัดการพานางหนีเสียก่อนจะมีครรภ์แก่จนปิดไม่มิดแล้วเป็นแน่)
         ครั้น ณ วันที่ 2 ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 8 ปีขาลจุลศักราช 676 พ.ศ. 1857 พระราชธิดาท้าวไตรตรึงษ์ประสูติโอรสองค์หนึ่ง ซึ่งโหรทำนายตามดวงชะตาว่าจะได้เป็นพระยามหากษัตริย์ทรงเดชานุภาพใหญ่ยิ่ง ท้าวไตรตรึงษ์ผู้เป็นตาจึงอยากจะใคร่ทราบว่าใครเป็นบิดาแห่งหลานนั้น ถามพระธิดาก็ไม่ให้การอย่างไรทั้งสิ้น ถามพวกข้าหลวงก็ไม่มีใครรู้เรื่องอะไรหมด คงเป็นแต่โจษกันว่าตั้งแต่ได้เสวยมะเขือซึ่งนายแสนปมถวายแล้วก็ทรงครรภ์ ดังนี้ท้าวไตรตรึงษ์ทรงไตร่ตรองดูก็คิดเห็นว่า ผู้ชายถ้าไม่เป็นคนดีที่ไหนจะบังอาจลอบรักสมัครสังวาสกับพระธิดาเช่นนั้นได้ เพราะฉะนั้นถ้าแม้รู้ตัวแล้วว่าใครเป็นผัวนาง และถ้าเป็นผู้ที่พอจะสมควรกันก็จะได้เลยผสมผเสอภิเษกให้เป็นคู่ครองกันเสียทีเดียว แต่ติดขัดข้อที่พระธิดาไม่ยอมบอกตัวผู้เป็นผัวนั้นเลย จึงต้องคิดเบี่ยงบ่ายหาอุบายที่จะได้รู้ตัวผัวแห่งนางนั้นโดย ปรึกษากับมหาราชครูเป็นที่ตกลงพร้อมกันว่าให้ป่าวประกาศว่าให้ เมื่อถึงกำหนดวันนั้นๆ บรรดาทวยลูกเจ้าขุนมูลนายและทวยราษฎรมาพร้อมกันยังหน้าพระลาน ให้ถือขนมนมเนยติดมือมา แล้วก็จะทรงอธิษฐานว่าถ้าผู้ใดเป็นบิดาพระกุมาร ขอให้พระกุมารรับของจากมือผู้นั้น ท้าวไตรตรึงษ์จะได้ยกพระธิดาอภิเษกให้แก่ผู้ที่เป็นพระบิดาพระหลาน (ที่คิดอุบายเช่นนี้ก็โดยเชื่อว่านางธิดานั้น อย่างไรๆ ก็คงจะไม่ยอมให้ลูกรับของจากมือผู้อื่นนอกจากผัวของตน เพราะถ้ากุมารรับของคนอื่นก็ต้องไปจะต้องเป็นเมียของเขาอื่นนั้น ที่ไหนจะปลงใจยอมไปได้)
         กิตติศัพท์คำประกาศแห่งท้าวไตรตรึงษ์นี้ ทราบถึงพระชินเสนจึงให้เตรียมรี้พลสกลโยธาเป็นทัพใหญ่ตั้งพระทัยว่าอย่างไรๆ ก็จะต้องรับนางผู้เป็นชายามาให้จงได้ จึงต้องเตรียมกำลังไปเพื่อรบได้ที่เดียว พอใกล้นครไตรตรึงษ์ก็สั่งให้ทัพหยุดพักอยู่แล้วสั่งให้อุบายแก่ขุนพลไว้เสร็จแล้ว พระชินเสนจึงแปลงเป็นนายแสนปมถือข้าวเย็นก้อนหนึ่งไปเข้ายังพระลาน
         ครั้นถึงเวลากำหนด ท้าวไตรตรึงษ์ก็ออกยังหน้าพระลาน ให้เชิญพระนัดดาออกมา และพระองค์ทรงตั้งสัตยาธิษฐานแล้วก็ให้อุ้มพระนัดดาไปเที่ยวดูคน พระกุมารก็ไม่รับของๆ ใครสักคนเดียว จนกระทั่งนายแสนปมชูก้อนข้าวเย็นให้จึงได้รับ (ซึ่งไม่เป็นการอัศจรรย์อันใด เพราะนางนมคงจะได้รับคำสั่งมาชัดเจนแล้วว่าให้รับแต่ของจากมือนายแสนปมคนเดียวเท่านั้น)
         ท้าวไตรตรึงษ์เห็นหลานรับก้อนข้าวเย็นของนายแสนปม เป็นการผิดคาดคะเนทั้งรู้สึกอับอายแก่ธารกำนัล ว่าพระธิดาเล่นชู้กับคนเลวเช่นนั้น ก็มีความโกรธขับพระธิดาออกจากพระนครทันที ทั้งด่าว่านายแสนปมต่าง ๆ นายแสนปมจึงกล่าวว่า ถึงขับไล่ก็ไม่วิตก เมืองจะสร้างอยู่เองใหม่สักเท่านี้ก็ได้ ทั้งไม่มีความ เกรงกลัวใคร เพราะพอตีอินทเภรีขึ้นรี้พลก็จะมีมาเหมือนน้ำมหาสมุทร ท้าวไตรตรึงษ์สำคัญว่า นายแสนปมพูดอวดดีจึงท้าให้ตีกลอง แสนปมก็ตีกลองขึ้น 3 ลา ขณะนั้นขุนพลแห่งนครศรีวิไชยได้ยินเสียงกลอง ก็ให้พลโห่ร้องขึ้นตามที่พระชินเสนตรัสสั่งไว้ (กลองอินเภรีนี้ ตามความเข้าใจกันว่าเป็นกลองใบใหญ่ แท้จริงเป็นกลองขนาดย่อม ซึ่งใช้นำกระบวนพลและตีให้สัญญาณในการทัพ ข้าพเจ้าได้เคยเห็นกลองเช่นนี้ ซึ่งเข้าใช้ตีกระบวนมื่อเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์แห่งข้าพเจ้าเมืองเชียงใหม่ แต่โดยเหตุที่มีชื่อว่าอินทเภรี ผู้แต่งเรื่องแสนปมจึงเหมาว่าเป็นกลองของพระอินทร์มาให้ และเมื่อเป็นกลองพระอินทร์เช่นนี้ จึงนิมิตได้ทั้งพลและพัสดุ แท้จริงพระชินเสนคงตีอินทเภรีเพื่อเป็นสัญญาณเท่านั้น)
         ครั้นเมื่อพระชินเสนตีอินทเภรีขึ้น และพลก็โห่ร้องก้องกึกขึ้นเช่นนี้แล้ว ท้าวไตรตรึงษ์ก็คงจะตกใจตะลึง หมดท่ามิรู้ที่จะทำประการใดต่อไป แลเห็นถนัดว่าเสียท่าเขาแล้ว ก็ได้แต่ทำยอมเท่านั้น และถึงแม้ว่าจะวิงวอนงอนง้อพระชินเสนให้อยู่ เขาก็คงไม่อยู่ เพราะดูถูกพ่อของเขาไว้ยังได้ด่าว่าตัวเขาเองอีก พระชินเสนก็คงเป็นอันได้รับนางละบุตรกลับไปนครศรีวิไชย
         ต่อไปนี้ ในตำนานมีกล่าวว่าท้าวแสนปมได้สร้างเทพนครขึ้นและขึ้นเสวยราชย์ในนครนั้น เมื่อปีมะแม จุลศักราช 681 (พ.ศ.1862) ฉะนี้ข้าพเจ้าเข้าใจว่าจะเป็นการเข้าใจผิดด้วยเรื่องนามนคร คือเข้าใจว่าเทพนครเป็นนามเมืองๆหนึ่ง และโดยที่ยังไม่พบนามเทพนครมาก่อนนั้น จึงเข้าใจเอาว่าคงเป็นเมืองซึ่งสร้างขึ้นใหม่ด้วยอำนาจอินทเภรี แต่ถ้าพิจารณาดูแล้วก็จะเป็นไดว่าข้อนี้ไม่มีหลักฐานอันใดเลย เพราะตัวเมืองนั้นได้พยายามค้นมานักแล้ว ไม่พบเลย และยังแลไม่เห็นว่าจะสร้างลงที่ไหนได้ แต่ตรงกันข้ามมีข้อที่จะยกเอามาเถียงได้ถึง 2 ข้อ ว่าเมืองเทพนครไม่ใช่เมืองที่สร้างขึ้นใหม่ คือข้อ 1 ท้าวแสนปมเมื่อขึ้นครองราชย์สมบัติในเทพนครนั้น ทรงพระนามว่าพระเจ้าศิริไชยเชียงแสน เพราะฉะนั้นควรสันนิษฐานว่าได้ทรงราชย์ในเมืองศิริไชยดังได้อธิบายมาแล้ว ข้อ 2 คำว่าเทพนครนี้ สังเกตว่าเป็นนามเรียกเมืองหลวง ไม่เป็นชื่อจำกัดสำหรับเมืองใดโดยเฉพาะ เช่น กรุงเก่าก็เรียกว่า “กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยา” และบางกอกก็เรียกว่า “กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทราโยธยา” ดังนี้เป็นตัวอย่าง แต่ฝ่ายผู้แต่งตำนานแสนปมหาได้กำหนดข้อนี้ไม่ จึงแต่งไปโดยหลงเชื่อในทางปาฏิหาริย์อันจำเดิม แต่การหลงว่า “อินทเภรี” เป็นกลองที่พระอินทร์นำมาให้แล้วก็เพลินต่อมา ถึงแม้ว่าจะยอมกล่าวตามตำนานเทพนครเป็นเมืองซึ่งท้าวแสนปมสร้างขึ้นใหม่ ก็มีข้อควรฉงนอยู่ในตัวแล้ว คือตามตำนานนั้นว่า ครั้นปีจุลศักราช 681 ท้าวแสนปมได้สร้างเทพนครเสร็จแล้ว ขึ้นทรงราชย์ในนครนั้น ก็เป็นถึง 5 ปีภายหลังสมภพเจ้าอู่ทอง ซึ่งถ้ามีบุญญาธิการนิมิตเมืองได้จะรอรั้งอยู่ทำไมจนถึงปานนั้น ทำไมไม่รีบจัดการสร้างเสียแต่ทีแรก จึงน่าสันนิษฐานว่า แท้จริงนั้นพระชินเสน รับนางไปจากไตรตรึงษ์แล้วก็กลับไปอยู่นครศรีวิไชยไปในตำแหน่งพระยุพราชตามเดิม จนเมื่อปีจุลศักราช 681 พระราชบิดาทิวงคตลง พระชินเสนจึงได้ขึ้นครองราชย์สมบัติสืบสันตติวงศ์เป็นพระเจ้าศรีวิไชยสืบมา
         ส่วนข้อที่พระโอรสแห่งท้าวชินเสนมีนามปรากฏว่าเจ้าอู่ทองหรือพรระเจ้าอู่ทองนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าน่าจะมีพระนามเช่นนั้น เพราะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินในเมืองอู่ทองนั้นเอง ไม่ใช่เพราะพระบิดาทำเปลทองให้นอนอย่างเช่นที่กล่าวมาในตำนาน อันเป็นความเข้าใจผิดเนื่องมาจากความรู้ตื้นไม่รู้จักเมืองอู่ทองละหลงไปในทางปาฏิหาริย์แห่งอินทเภรีนั้นจนเพลินไปดังอธิบายมาแล้ว ส่วนเหตุที่พระโอรสแห่งพระเจ้านครศรีวิไชยได้ไปเป็นพระเจ้าอู่ทองขึ้นนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่าไปเป็นราชบุตรเขยแล้วเลยได้ครองนคร ซึ่งคิดๆไปก็น่าจะเป็นได้ เพราะนครศรีวิไชยกับอู่ทองก็อยู่ระยะใกล้ๆกัน เดินทางไปอย่างสบายๆ เพียง 4 วันก็ถึง ทั้งข้าพเจ้ายังเชื่อต่อไปอีกว่า กษัตริย์ทั้งสองนครจะเป็นญาติกันอยู่แล้ว คือเป็นเชื้อวงศ์เดียวกันแต่อยู่ต่างนคร อย่างเช่นเจ้าเชียงใหม่ เจ้าลำพูน เจ้าลำปาง ซึ่งเป็นเชื้อวงศ์พระเจ้ากาวิละทั้ง 3 สกุล ดังนี้เป็นตัวอย่าง กษัตริย์อู่ทองและศรีวิไชยนั้นคงเป็นเชื้อวงศ์กษัตริย์ ซึ่งได้อพยพลงมาข้างเหนือเมื่อสิ้นสมัยพระเจ้าอนุรุธเมืองรามัญแล้ว แต่เมื่อลงมาถึงทางใต้นี้แล้ว จะได้แยกกันตั้งราชธานีขึ้นเป็นสองแห่งพร้อมกัน ทั้งที่อู่ทองและศรีวิไชย หรือว่าในชั้นต้นจะได้ตั้งราชธานีขึ้นแห่งเดียวก่อน แล้วภายหลังรู้สึกว่าอาณาเขตกว้างขวางเกินที่จะแผ่อาณาเขตให้ทั่วถึงตลอดได้จากธานีเดียว จึงแยกออกเป็น 2 แคว้นและแคว้นไหนจะเป็นแคว้นหลวงเดิมนั้น หาหลักฐานอันใดประกอบความสันนิษฐานมิได้ จึงต้องยุติไว้ก่อน
         ตามตำนานแสนปมกล่าวว่า ท้าวศิริไชยเชียงแสนอยู่ในราชสมบัติ 25 ปี ทิวงคตเมื่อปีวอก จุลศักราช 706 (พ.ศ.1887) เจ้าอู่ทองจึงได้ขึ้นครองราชย์สมบัติในเทพนครสืบพระวงศ์ต่อมา ข้อนี้กรมพระดำรงทรงพระดำริว่า จะแปลว่าขึ้นเสวยราชย์ในเมืองอู่ทองในปีนั้น แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าในตำนานกล่าวไว้ชัดเจนว่า ปีจุลศักราช 706 นั้น  พระเจ้าศิริไชยเชียงแสนทิวงคต เจ้าอู่ทองผู้เป็นเจ้าโอรสจึงได้สืบราชสมบัติต่อพระราชบิดา ดังนี้ ดูของเขาก็เป็นกิจจะลักษณะอยู่ พิจารณาดูเทียบศักราชปรากฏว่าในปีนั้นพระเจ้าอู่ทองมีพระชันษาถึง 30 แล้ว ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าน่าจะสันนิษฐานว่า เมื่อท้าวชินเสนทิวงคตนั้นพระโอรสได้เป็นราชบุตรเขยท้าวอู่ทองอยู่นานแล้ว บางทีจะตั้ง 10 ปีก็ได้ และอาจที่จะได้ครองเมืองอู่ทองแต่ก่อนเมื่อท้าวชินเสนทิวงคตแล้วก็ได้ ต่อเมื่อถึงปีจุลศักราช 706 ท้าวชินเสนทิวงคตลงแล้วพระเจ้าอู่ทองจึงได้รับราชสมบัติในนครศรีวิไชยด้วย แต่เมื่อได้รับราชสมบัติในนครศรีวิไชยนี้ พระเจ้าอู่ทองจะทรงรู้สึกว่าตั้งราชธานีอยู่ที่อู่ทองสะดวกกว่า จึงเลยคงเสด็จอยู่ที่นั้นต่อไปและส่วนแคว้นศรีวิไชยก็เป็นอันยกไปรวมเข้าในราชอาณาจักรอันเดียวกัน เพราะฉะนี้ชื่อเมืองศรีวิไชยจึงมิได้ปรากฏอยู่ในจำพวกเมืองประเทศราช เมื่อพระเจ้าอู่ทองได้ทรงอาณาจักรเป็นขุนหลวงแห่งพระนครศรีอยุธยา
         พระเจ้าอู่ทองนั้น เป็นอันตกลงกันแน่แล้วว่าจะเรียกพระนามตามเมือง แต่ส่วนพระนามของพระองค์เองมีว่ากระไร ไม่ปรากฏว่าได้เคยมีใครได้เดาไว้แห่งใดเลย เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าขอเดาไว้ในที่นี้ว่า ชื่อพระราม (คือเจ้าราม) โดยอาศัยเกณฑ์พระนามเมื่อทรงราชย์นั้นเอง คือ เมื่อขึ้นทรงราชย์ในกรุงศรีอยุธยานั้น ชีพ่อพราหมณ์ถวายพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ข้าพเจ้าเข้าใจว่าพราหมณ์คงจะได้ขนานพระนามจากพระนามเดิมของพระองค์นั้นเอง มีตัวอย่างเช่น พระร่วงเมืองละโว้ เมื่อขึ้นทรงราชย์ในกรุงสุโขทัย พราหมณ์ก็ถวายพระนามว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ อันเป็นพระนามผูกขึ้นจากคำว่า “ร่วง” หรือ “รุ่ง” ซึ่งเป็นพระนามเดิมนั้นเองดังนี้ จริงอยู่ในพระราชพงศาวดารมีคำอธิบายในเรื่องพระรามรามาธิบดีไว้ว่า “เหมือนด้วยพระนามสมเด็จพระรามนารายณ์อวตารอันผ่านกรุงศรีอยุธยาแต่การก่อนนั้น” แต่พระนครศรีอยุธยาได้มีมาแล้วแต่ก่อนที่พระเจ้าอู่ทองจะไปสร้างพระนครทวาราวดีขึ้นแล้ว เหตุไฉนจึงไม่ปรากฏเลยว่า ได้เคยมีพระเจ้าแผ่นดินในนครพระนามนั้นซึ่งทรงพระนามว่ารามาธิบดี กับยังมีข้อควรสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ บึงซึ่งอยู่ในกลางพระนครทวาราวดีนั้น เดิมก็เรียกว่าหนองโสน แต่ต่อมาเรียกกันว่า บึงพระราม และเรียกกันอยู่จนทุกวันนี้ บึงนี้จะได้เปลี่ยนชื่อจากหนองโสนเป็นบึงพระรามเมื่อใดหาหลักฐานมิได้ คงมีหลักฐานอยู่แต่ในส่วนวัดซึ่งตั้งอยู่ริมหนองนั้น คือมีกล่าวไว้ในต้นแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถว่า “ที่ถวายพระเพลิงสมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่สร้างกรุงนั้นให้สถาปนาพระมหาธาตุและพระวิหารเป็นอาราม” ในนามชื่อวัดพระราม จึงสันนิษฐานกันว่าบึงนั้นจะได้เรียกนามไปตามวัดแต่ข้าพเจ้าจะใคร่สันนิษฐานตรงกันข้ามว่าวัดเรียกตามบึง และบึงนั้นเปลี่ยนจากหนองโสนเป็นบึงพระราม เพราะเป็นที่ซึ่งขุนหลวงรามได้ทรงเลือกเป็นที่ตั้งพระนครนั้นเอง
         ความเห็นของข้าพเจ้าในเรื่องเท้าแสนปมและสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 มีอยู่เช่นนี้ นักเลงโบราณคดีจะวินิจฉัยอย่างไรก็แล้วแต่จะเห็นสมควร