โบราณสถานทางวัฒนธรรมบริเวณใจกลางเมืองจังหวัดกำแพงเพชร

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

โบราณสถานทางวัฒนธรรมบริเวณใจกลางเมืองจังหวัดกำแพงเพชร

บทนำ

         การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างหนึ่งที่สามารถนำรายได้เข้าสู่ประเทศไทย ช่วยฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชนในสังคม ในปัจจุบันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีการเติบโตและแข่งขันกันสูง ทุกประเทศเริ่มนำสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมของตนเองที่เป็นอัตลักษณ์มาเป็นจุดขายในการดึงดูดนักท่องเที่ยวกันอย่างดุเดือด จังหวัดกำแพงเพชรก็เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีความโดดเด่นทางอัตลักษณ์ของศิลปวัฒนธรรม จากการได้รับขึ้นทะเบียนให้เป็นเมืองมรดกโลกจาก UNESCO โดยมีอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นจุดขาย เช่นเดียวกันกับ สุโขทัยและศรีสัชนาลัย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเช่นเดียวกัน
         โดยในการศึกษาข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของจังหวัดกำแพงเพชรในครั้งนี้จะมุ่งเน้นไปที่การศึกษาข้อมูล ประวัติ ของสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่บริเวณใจกลางเมือง โดยยึดที่ศาลหลักเมืองจังหวัดกำแพงเพชรที่เปรียบเสมือนเสาหลักกลางของจังหวัดกำแพงเพชรเป็นจุดศูนย์กลาง โดยจะศึกษาข้อมูลของสถานที่สำคัญเหล่านี้ได้แก่ ศาลหลักเมือง และ โบราณสถานที่อยู่ติดกับศาลหลักเมือง ได้แก่ วัดพระแก้ว และวัดพระธาตุ

คำสำคัญ : โบราณสถาน, วัฒนธรรม, จังหวัดกำแพงเพชร

ศาลหลักเมืองจังหวัดกำแพงเพชร

         ศาลหลักเมืองกำแพงเพชรแห่งนี้สันนิษฐานว่าสร้างสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) ที่เคยปกครองดูแลเมืองกําแพงเพชร เป็นศาลที่เก่าแก่มานานกว่า 700 ปี เชื่อกันว่าพระเจ้าวรมันต์ (เหม่) ทําด้วยศิลาแลงรูปกลมยาวประมาณ 2 เมตร ฝังโผล่พ้นดินขึ้นมาประมาณหนึ่งเมตร มีรูปเศียรเทพารักษ์อยู่บนยอดศิลาแลง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังคาศาลได้พังลงมาทับเสาหลักเมืองและเศียรเทพารักษ์ หลังจากนั้นก็อยู่ในสภาพรกร้างมาเป็นเวลานานจนถึงปี พ.ศ. 2472 รองอํามาตย์เอกหลวงมนตรีราช (หวาน) อัยการจังหวัดกําแพงเพชรได้ริเริ่มสร้างศาลหลักเมืองขึ้นใหม่โดยเป็นศาลาทรงไทย  
         มีเหตุการณ์ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2488 ได้มีผู้ลักตัดเศียรเทพารักษ์ไป หลวงปริวรรตวรวิจิตร (จันทร เจริญชัย) ผู้ว่าราชการจังหวัดกําแพงเพชร ได้ให้ทําขึ้นใหม่ด้วยดินจากยอดเขาสูงสุดของเขาหลวง ดินใจกลางโบสถ์ ใจกลางเจดีย์เก่าทั้งในจังหวัดกําแพงเพชร สุโขทัย ศรีสัชนาลัย พิษณุโลก และตาก ต่อมานายเชาว์ วัตสุดลาภา เดินทางมารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2525 ได้ไปสักการะเจ้าพ่อหลักเมืองและมีความรู้สึกว่าศาลหลักเมืองนั้นอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมไร้สง่าราศรี จึงได้มีการปรับปรุงศาลหลักเมืองขึ้นใหม่ให้สมฐานะการเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ซึ่งในการบูรณะปรับปรุงศาลหลักเมืองครั้งนี้ได้คำนึงถึงความถูกต้องและความสมบูรณ์ของรูปแบบของศาลหลักเมือง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นเป็นสำคัญ โดยอาคารศาลหลักเมืองที่ปรับปรุงใหม่นี้ เป็นอาคารจัตุรมุขพร้อมเขตปริมณฑลกว้าง 17.5 x 17.5 เมตร สูงจากระดับเดิมประมาณ 19 เมตร หันหน้าเข้าหาทิศทั้งสี่ถูกต้องตามหลักโหราศาสตร์ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กพื้นหินอ่อนทรายล้างสีศิลาแลง กำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จและประกอบพิธีเชิญหลักเมืองและเศียรเทพารักษ์ขึ้นในวันที่ 5 พฤษภาคม 2527 ตรงวันฉัตรมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช-สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการทรงเจิมเสาหลักเมืองเมื่อวันที่ 16 เมษายน พุทธศักราช 2527 (Amazing Thailand, ม.ป.ป.)
ภาพที่ 1 ข้อความที่บันทึกไว้บนผนัง.jpg

ภาพที่ 1 ข้อความที่บันทึกไว้บนผนังของพระศาลหลักเมือง

         ตามข้อความที่ได้บันทึกไว้บนผนังของพระหลักเมือง เป็นข้อความบอกเล่าถึงเหตุการณ์ตามประวัติศาสตร์ของศาลหลักเมืองกำแพงเพชรเอาไว้ ดังนี้
         “พ.ศ. 2472 หลวงมนตรีราชได้สร้างอาคารศาลหลักเมืองขึ้นเป็นศาลาทรงไทยทำด้วยไม้
         พ.ศ. 2484 หลวงปริวรรต วรวิจิตร (จันทร์ เจริญชัย) ได้ให้นายฉกาจ กุสสุ ปั้นเศียรเทพารักษ์ขึ้นใหม่
         พ.ศ. 2526 นายเชาวน์วัศ สุดสาภา ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เดินทางมารับตำแหน่ง พิจารณาเห็นว่าศาลหลักเมืองทรุดโทรมมากขาดความเป็นสง่าราศี จึงมอบให้ นายประมวล รุจนเสรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ดำเนินการปรับปรุงอาคาร บริเวณสถานที่ตามรูปแบบที่ปรากฏในปัจจุบัน สิ้นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งสิ้น 1,579,972.28 บาท โดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการแต่อย่างใด
         16 เมษายน 2527 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงเจิมเสาหลักเมืองเสาใหม่
         5 พฤษภาคม 2527 พิธีเชิญเสาหลักเมือง เศียรเทพารักษ์ขึ้นศาล”
         การสังเวยเจ้าพ่อหลักเมืองกำแพงเพชร ในวันที่ ๑๕ เมษายน ของทุกปี เรียกว่า “วันพญาวัน” ซึ่งประชาชนจำนวนมากจะมาชุมนุมพร้อมกันที่ศาลหลักเมืองกำแพงเพชร มักเรียกประชาชนที่มาร่วมกันว่า “ลูกช้าง”ทุกคนที่มาชุมนุมกันจะบนบานศาลกล่าวขอพรต่างๆ และพวกที่ยังไม่ได้แก้บนจะแก้บนให้เสร็จสิ้น ในวันนี้ นอกจากนี้ พราหมณ์จะทำพิธีบวงสรวงประจำปี เสร็จแล้วทำพิธีสรงน้ำเจ้าพ่อหลักเมืองและนิมนต์พระสงฆ์มาถวายภัตราหารเพลด้วย ศาลหลักเมืองกำแพงเพชร หรือ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองกำแพงเพชร ตั้งอยู่ที่บริเวณวัดพระแก้ว ปากทางเข้าโรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคม ถนนสายกำแพงเพชร-สุโขทัย ผ่านหน้าศาล ชาวเมืองกำแพงเพชรและประชาชนทั่วไปให้ความนับถือเลื่อมใสศรัทธาอย่างมากและเป็นที่กล่าวขานถึงความศักดิ์สิทธิ์ ปัจจุบันขึ้นทะเบียนเป็นศาลเจ้าตามกฎเสนาบดีว่าด้วยที่กุศลสถานชนิดศาลเจ้า พ.ศ.๒๔๖๓ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๒๘ และอยู่ในความดูแลของเทศบาลเมืองกำแพงเพชร (องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร, ม.ป.ป.)
ภาพที่ 2 ศาลหลักเมืองกำแพงเพชร.jpg

ภาพที่ 2 ศาลหลักเมืองจังหวัดกำแพงเพชร

วัดพระแก้ว

         เป็นพระอารามหลวงที่มีขนาดใหญ่ ตั้งอยู่กลางเมืองกำแพงเพชร ภายในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เป็นวัดที่สำคัญอยู่ติดกับบริเวณวังเช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือวัดมหาธาตุกลางเมืองสุโขทัย เป็นวัดที่มีเฉพาะเขตพุทธาวาสคือเป็นวัดที่ไม่มีพระภิกษุจำพรรษา ชื่อวัดพระแก้ว นี้เรียกกันมาแต่เดิม เพราะในตำนาน พระแก้วมรกต กล่าวว่า ในสมัยอยุธยาวัดนี้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ถ้าพระแก้วมรกตได้มาประดิษฐานอยู่ที่เมืองกำแพงเพชรจริง ก็น่าจะต้องอยู่บนบุษบกที่ย่อมุมอย่างงดงามนี้ โดยสร้างไว้บนพื้นยกสูงกว้างใหญ่มาก ด้านหน้าของบุษบกเป็นแท่นสูงใหญ่ ข้างบนยกพื้นสี่เหลี่ยม เข้าใจว่าเดิมอาจจะเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ติดกับแท่นใหญ่นี้เป็นโบสถ์ มีใบเสมาทำด้วยหินชนวนอยู่ล้อมรอบ เป็นใบเสมาเกลี้ยงๆ มีขนาดใหญ่ ไม่มีลวดลายอะไร ภายในโบสถ์วัดพระแก้วมีพระประธานขนาดใหญ่ ที่เดิมหักครึ่งซีก และล้มอยู่ แต่ได้รับการบูรณะเรียบร้อยแล้ว เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย 
         โบสถ์หลังนี้มีการก่อสร้างเป็น 2 สมัย คือ สมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยา เป็นไปได้ว่า ในสมัยเดิมโบสถ์หลังนี้คงเป็นวิหาร ต่อมาได้รับการดัดแปลงเป็นโบสถ์ในสมัยอยุธยา วัดพระแก้วมีสิ่งก่อสร้างเรียงเป็นแนวยาวในแกนทิศตะวันออก – ตะวันตก กำแพงวัดเป็นศิลาแลงกลมทั้งท่อนสูงประมาณเมตรเศษ แผนผังของวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนานไปกับกำแพงเพชร กำแพงวัดขาดเป็นตอน ๆ สิ่งก่อสร้างภายในใช้ศิลาแลงเป็นส่วนใหญ่ โดยสิ่งก่อสร้างต่างๆนั้นคงมีการสร้างเพิ่มเติมต่อเนื่องมาเรื่อยๆในหลายสมัย ด้านหน้าสุดทางทิศตะวันออก ของวัดเป็นวิหารขนาดใหญ่ที่มีการยกพื้นสูงมาก ที่ฐานชุกชียังเหลือร่องรอยของโกลนพระพุทธรูปศิลาแลงพระพุทธรูปประธาน ด้านหลังวิหารเป็นอาคารที่มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนกันสันนิษฐานว่าเป็นมณฑป ถัดจากนั้นเป็นฐานย่อมุม 3 ชั้น ด้านบนพังพลายหมดแล้วซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นพระปรางค์ซึ่งฐานนี้เชื่อกันว่าเป็นฐานบุษบกที่เคยประดิษฐานพระแก้วมรกตถัดมาในส่วนตรงกลางของวัดเป็นเจดีย์ประธานทรงระฆังที่ฐานทำเป็นซุ้มคูหาโดยรอบมีประติมากรรมพระพุทธรูปและรูปสิงห์อยู่ในซุ้มแต่ชำรุดหมด จำนวน 32 ตัว (กรมศิลปากร, ม.ป.ป.)
ภาพที่ 3 แผนผังของวัดพระแก้ว.jpg

ภาพที่ 3 ภาพแผนผังโดยรวมของวัดพระแก้ว

         ถัดมาเป็นวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ 3 องค์ เป็นพระพุทธรูปไสยาสน์ 1 องค์ และพระพุทธรูปมารวิชัย 2 องค์ซึ่งพระพักตร์ของพระพุทธรูปเป็นพระพักตร์เหลี่ยมซึ่งเป็นอิทธิพลจากศิลปะอยุธยาตอนต้น
ภาพที่ 4 วัดพระแก้ว.jpg

ภาพที่ 4 พระพุทธรูปไสยาสน์ 1 องค์และพระพุทธรูปมารวิชัย 2 องค์

         ด้านหลังสุดของวัดเป็นกลุ่มเจดีย์ที่มีเจดีย์ประธานทรงระฆังที่มีฐานช้างล้อมรอบ เรียกกันว่า เจดีย์ช้างเผือก มีรูปปั้นช้างที่ฐานโดยรอบจำนวน 32 เชือก ทางด้านตะวันออกของเจดีย์ช้างล้อมนี้ มีสิ่งสำคัญคือ พระบาทคู่ ขนาดใหญ่ของพระพุทธรูปทำด้วยศิลาแลง แต่ไม่ปรากฏมีชิ้นส่วนของพระพุทธรูปเหลืออยู่เลย โบราณวัตถุสำคัญที่พบในบริเวณวัดคือ ขันสัมฤทธิ์ ขนาดใหญ่ ซึ่งพบที่ฐานเจดีย์ มุมด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ภายในขันมีกระดูกซึ่งเผาแล้วบรรจุไว้ นอกจากนี้ ยังพบอาวุธเป็นรูปสามง่าม ทำด้วยเหล็ก และยังได้พบเศียรพระพุทธรูปสมัยอยุธยาขนาดเล็ก รวมทั้งพระพุทธรูปสมัยอู่ทองอีกด้วย ในกรุนี้มีพระเครื่องประเภทพระกรุจำนวนไม่มากนัก แต่มีพระอยู่พิมพ์หนึ่ง เป็น พระยืนปางเปิดโลก มีขนาดจิ๋ว ลักษณะเรียวแหลมยาวเหมือนเข็ม จึงมีชื่อเรียกว่า พระกำแพงเข็ม ซึ่งเป็นปางที่นิยมมากที่สุด จากการขุดแต่งวัดพระแก้วพบฐานเจดีย์แบบต่างๆ กัน รวม 35 ฐาน วิหาร 10 วิหาร ฐานโบสถ์ 1 แห่ง แสดงถึงความเป็นวัดใหญ่และมีความสำคัญมาก จากรูปแบบศิลปะและหลักฐานที่พบ สันนิษฐานว่าวัดพระแก้วมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 – 22 ในสมัยอยุธยาที่มีศิลปะสุโขทัยและอยุธยาผสมอยู่ปัจจุบันงานนบพระเล่นเพลง และงานวันสารทไทยกล้วยไข่เมืองกำแพงเพชร ก็จัดให้มีขึ้นในบริเวณวัดพระแก้วแห่งนี้ (กรมศิลปากร, ม.ป.ป.)