หลวงพ่อสว่าง (หลวงพ่อวิบูลวชิรธรรม) วัดท่าพุทรา อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร

จาก KPPStudies
รุ่นแก้ไขเมื่อ 09:15, 12 เมษายน 2565 โดย Admin (คุย | มีส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย "=='''บทนำ'''== หลวงพ่อสว่าง หรือ พระวิบูลวชิรธรรม แห่งวัดท่า...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

บทนำ

หลวงพ่อสว่าง หรือ พระวิบูลวชิรธรรม แห่งวัดท่าพุทรา ต.ท่าพุทรา อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร พระเกจิอาจารย์ชื่อดังที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากชาวเมืองกำแพงเพชร ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรในราชทินนามที่ พระครูวิบูลวชิรธรรม จากความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระวิบูลวชิรธรรม ทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ในแต่ละวันจะมีญาติโยมจากทั่วสารทิศเดินทางมากราบนมัสการ รับฟังธรรมและประพรมน้ำพุทธมนต์ที่เข้มขลัง รวมทั้งปรารถนาวัตถุมงคลที่ของขลังอย่างล้นหลาม จัดสร้างเหรียญปลอดภัย และเหรียญที่ระลึกรูปเหมือนขนาดต่าง ๆ นอกจากเหรียญวัตถุมงคล ยังมีผ้ายันต์ เป็นต้น หลวงพ่อสว่างมรณภาพอย่างสงบในวันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2520 รวมสิริอายุ 93 ปี 8 เดือน บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) ความเป็นมาของหลวงพ่อสว่าง (หลวงพ่อวิบูลวชิรธรรม) 2) ความชำนาญและความสนใจของหลวงพ่อสว่าง 3) ผลงานที่สร้างชื่อเสียงของหลวงพ่อสว่าง 4) ผลงานเกียรติคุณของหลวงพ่อสว่าง 5) ปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อสว่าง วัดท่าพุทรา 6) แนวทางการปฏิบัติการดำเนินชีวิต คำสำคัญ: หลวงพ่อสว่าง, หลวงพ่อวิบูลวชิรธรรม, พระอุตฺตโร, เหรียญปลอดภัย, ยันต์หนังหน้าผากเสือ

ความเป็นมาของหลวงพ่อสว่าง (หลวงพ่อวิบูลวชิรธรรม)

         เมื่อหลวงพ่อพระวิบูลวชิรธรรม เกิดได้เพียง 5 วัน โยมมารดาของท่านก็ถึงแก่อนิจกรรม ได้มีแม่น้าเลี้ยงดูท่านจนเติบใหญ่ (แม่น้าก็คือภรรยาคนที่ 1 ของขุนเจริญสวัสดิ์นั่นเอง) พอท่านมีอายุพอสมควรที่จะเล่าเรียนศึกษาได้ ท่านก็เริ่มศึกษาเล่าเรียนอักขระสมัย และหนังสืออักขระขอมเบื้องต้น จากขุนเจริญสวัสดิ์บิดาของท่าน พอท่านอายุได้ 13 ขวบ ขุนเจริญสวัสดิ์บิดาก็ถึงแก่อนิจกรรม พระวิบูลวชิรธรรมจึงเป็นผู้กำพร้า บิดา-มารดา แต่เยาว์วัย แต่ท่านก็พยายามประคองตัวประคองใจเชื่อฟังคำตักเตือนสั่งสอนของมารดาเลี้ยงเป็นอย่างดี เนื่องจากท่านอยู่กับมารดาเลี้ยงของท่านมาโดยตลอด มารดาเลี้ยงของท่านก็เอ็นดูรักใคร่สงสารปราณีท่านเสมือนเป็นบุตรที่แท้จริง มีความประสงค์อยากจะให้หลวงพ่อพระวิบูลวชิรธรรมได้รับการศึกษาชั้นสูง ๆ ขึ้นไปอีก เพื่อจะได้มีความรู้เฉลียวฉลาด จะได้ดำเนินวิถีชีวิตตามเยี่ยงขุนเจริญสวัสดิ์ผู้บิดา เนื่องจากบิดาของท่านเป็นผู้มีความสามารถเฉลียวฉลาด มีคนเคารพนับถือทั้งในหมู่บ้าน ตำบลที่มีภูมิลำเนาอยู่และตำบล อำเภอใกล้เคียงทั่วไป มารดาเลี้ยงจึงได้นำพระวิบูลวชิรธรรมไปฝากกับหลวงพ่อเผือกหรือพระครูบรรพโตปมญาณ วัดหัวดงเหนือ ตำบลหัวดง อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ สมัยนั้นนับว่าวัดหัวดงเหนือ เป็นสำนักเรียนอักขระสมัยมูลกัจจายน์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังสำนักหนึ่ง หลวงพ่อฯท่านได้ศึกษาเล่าเรียนมูลกัจจายน์ และหนังสืออักขระขอมอยู่ที่วัดหัวดงเหนือ เป็นเวลานานประมาณ 7 ปี มีพระอาจารย์สด (ต่อมาได้เลื่อนฐานะเป็นพระครูสวรรค์วิถี) เป็นครูสอน พอหลวงพ่อพระวิบูลวชิรธรรมมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ มารดาเลี้ยงได้อนุญาตให้ไปศึกษาต่อที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมอบให้พระครูบรรพโตปมญาณ (หรือหลวงพ่อเผือก) วัดหัวดงเหนือ พระอาจารย์ของท่านเป็นผู้นำไป ทั้งได้มอบปัจจัยสี่ไปพอสมควรให้แก่พระครูบรรพโตปมญาณ (หรือหลวงพ่อเผือก) ไปเป็นจำนวนครบถ้วน เพื่อจับจ่ายใช้สอย เพื่อดำเนินการอุปสมบทหลวงพ่อพระวิบูลวชิรธรรมด้วย (ชมรมพระเครื่องเมืองกำแพงเพชร, ม.ป.ป.)
ภาพที่ 1 พระครูวิบูลวชิรธรรม.jpg

ภาพที่ 1 พระครูวิบูลวชิรธรรม (หลวงพ่อสว่าง อุตตโร) (ชมรมพระเครื่องเมืองกำแพงเพชร, ม.ป.ป.)

การอุปสมบท

         หลวงพ่อพระวิบูลวชิรธรรม อุปสมบทเมื่อวันพุธที่ 3 ธันวาคม พ.ศ.2445 ตรงกับวันขึ้น 4 ค่ำ เดือนอ้าย ปีขาล ณ พัทธสีมาวัดขุนญาณ ตำบลคลองเมือง อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระญาณไตรโลกย์ (สะอาด) วัดศาลาปูน อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระวินัยธรศรี วัดศาลาปูน อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระปลัดแพ วัดศาลาปูน อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระอนุสาวนาจารย์พระอุปัชฌาย์ ให้นามฉายาว่า “อุตตโร” 
         เมื่อพระวิบูลวชิรธรรมอุปสมบทแล้ว ก็ได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและบาลีอยู่ที่สำนักเรียน วัดศาลาปูน เป็นเวลา 2 ปี และได้กลับมาอยู่กับพระครูบรรพโตปมญาณ (หลวงพ่อเผือก) ที่วัดหัวดงเหนือ ตำบลหัวดง อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ ตามเดิม จากนั้นจึงได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย จากพระอาจารย์สด (พระครูสวรรค์วิถี) ซึ่งเป็นอาจารย์เดิมอีกเป็นเวลา 2 พรรษา แล้วได้ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดท่างิ้ว อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์เป็นเวลา 2 พรรษา จากนั้นได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดเขาแก้ว (วัดมณีบรรพตวรวิหาร) จังหวัดตาก อีก 2 พรรษา แล้วได้ย้ายกลับมาอยู่ที่วัดท่างิ้วตามเดิมอีก ต่อมาเมื่ออาจารย์ปั้น เจ้าอาวาสวัดท่างิ้วได้มรณภาพลง หลวงพ่อพระครูน้อย ขณะนั้นยังเป็นประทวนสมณะศักดิ์อยู่ได้ตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดท่างิ้ว เมื่อได้เป็นเจ้าอาวาสแล้ว ได้ทราบข่าวว่าจังหวัดอุทัยธานีตั้งสำนักศาสนศึกษาขึ้น จึงได้ย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดสังกัดคีรีวงศ์อุดมมงคลเขต อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งมีอาจารย์ลพเป็นเจ้าอาวาส มีอาจารย์จ่อยเป็นครูสอน ได้ศึกษาพระธรรมวินัยอยู่ที่วัดสังกัดคีรีวงศ์ 1 พรรษา เมื่อเห็นว่ามีความรู้พอสมควรแล้วได้กลับมาอยู่ที่วัดท่างิ้วตามเดิม เพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์วัดท่างิ้ว และเพื่อจัดตั้งสำนักเรียนขึ้นที่วัดท่างิ้วต่อไป
          เมื่อหลวงพ่อพระครูน้อยกลับมาอยู่ที่วัดท่างิ้วแล้ว ได้จัดข้อระเบียบปฏิบัติสำหรับพระภิกษุสามเณรภายในวัดให้เป็นที่เรียบร้อย แล้วจึงได้จัดการบูรณะซ่อมแซมกุฏิ ศาลาการเปรียญ พระอุโบสถให้เรียบร้อยดี ได้ตั้งศาลาศึกษาขึ้นที่วัดท่างิ้ว ได้ทำการสอนเอง มีพระภิกษุ สามเณร ศึกษามากพอสมควร คือประมาณปีละ 20 กว่ารูป สำหรับนักเรียนบ้านนอกในสมัยนั้น มีนักเรียนปีละ 20 กว่ารูป ก็นับว่ามากพอสมควรสำหรับการสอบสนาม บางปีก็มีไปสอบที่นครสวรรค์ บางปีก็มีสอบที่วัดเขาแก้ว อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อมีการก่อสร้างมากขึ้น การสอนในโรงเรียนก็ทำไม่ได้สะดวก จึงได้ฝึกอาจารย์แฉล้มให้เป็นผู้ช่วยสอนอีกรูปหนึ่ง นับว่าสำนักเรียนวัดท่างิ้ว เป็นสำนักเรียนแห่งแรกของ อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ 
         ต่อมาในปี พ.ศ.2468 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รั้งตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอขาณุวรลักษณ์บุรี กิ่งอำเภอแสนตอ จังหวัดกำแพงเพชร (สมัยนั้นอำเภอคลองขลุงยังเป็นอำเภอขาณุอยู่ อำเภอขาณุยังเป็นกิ่งอำเภอแสนตอ ต่อมาราวปี พ.ศ.2493 จึงเปลี่ยนอำเภอแสนตอเป็นอำเภอขาณุวรลักษบุรีมาจนถึงทุกวันนี้) แต่ก็ยังดำรงตำแหน่ง  เจ้าคณะตำบลท่างิ้วอยู่อีกด้วย และยังอยู่ที่วัดท่างิ้วตามเดิม การขึ้นมาราชการคณะสงฆ์ที่อำเภอขาณุวรลักษบุรี ในสมัยนั้นมีความลำบากมาก เพราะการคมนาคมไม่สะดวกเช่นทุกวันนี้ โดยมากก็จ้างเรือแจวบ้าง เรือถ่อบ้าง บางครั้งก็มารถงาน บางครั้งก็เดินเท้า ถ้าเป็นหน้าพรรษาก็มาค้างคราวละ 5-6 คืนแล้วก็กลับ ถ้าขึ้นหน้าแล้งก็มาค้างมากคืนหน่อย ส่วนมากค้างคืนที่วัดศรีภิรมณ์ อำเภอคลองขลุง ท่านได้ปฏิบัติดังนี้ตลอดมา	
ภาพที่ 2 พระครูวิบูลวชิรธรรม.jpg

ภาพที่ 2 พระครูวิบูลวชิรธรรม (หลวงพ่อสว่าง อุตตโร) (ชมรมพระเครื่องเมืองกำแพงเพชร, ม.ป.ป.)

         ต่อมาหลวงพ่อพระครูน้อยก็ได้รับตราตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ใน พ.ศ.2468 ครั้นถึงปี พ.ศ.2470 ได้รับตราตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอขาณุวรลักษบุรี และกิ่งอำเภอแสนตอ จังหวัดกำแพงเพชร ได้รับพระราชทานสมณะศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูวิบูลวชิรธรรม” ได้รับตราตั้งให้เป็นกรรมการตรวจประโยคนักธรรมชั้นตรีในสนามหลวง ได้รับเลื่อนฐานะเป็นพระครูชั้นเอกแล้วก็ได้ขยายสำนักเรียนให้มีมากขึ้น ได้อบรมสั่งสอนพระภิกษุสามเณรให้มีข้อวัตรปฏิบัติดีขึ้น ได้เทศนาสั่งสอนประชาชนให้ประพฤติดีมีศีลธรรมประจำใจ เอาใจใส่ในการก่อสร้างเสนาสนะต่าง ๆ มากมาย ได้ขออนุญาตเปิดสนามสอบธรรม ขึ้น ที่วัดสว่างอารมณ์ กิ่งอำเภอแสนตอ ครั้นทางราชการได้แยกอำเภอขาณุวรลักษบุรี เป็นอำเภอคลองขลุง กิ่งอำเภอแสนตอเป็นอำเภอขาณุวรลักษบุรีแล้ว โดยมีเจ้าคณะอำเภอทั้งสองอำเภอแล้ว ได้แยกสนามสอบธรรม มาสอบที่วัดศรีภิรมณ์อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร ต่อมาในปี พ.ศ.2490 ได้รับใบตราตั้งให้เป็นกรรมการศึกษาประจำตำบลคลองขลุง
         เมื่อ พ.ศ.2500 คณะสงฆ์อำเภอคลองขลุงและประชาชนชาวตำบลท่าพุทรา ได้พร้อมกันไปอาราธนาพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระวิบูลวชิรธรรม ให้ขึ้นมาประจำอยู่ที่วัดคฤหบดีสงฆ์ตำบลท่าพุทรา อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อจะได้บูรณะวัดให้ดีขึ้น เพราะว่าวัดคฤหบดีสงฆ์ได้ชำรุดทรุดโทรมลงอย่างหนัก ดังนั้นพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระวิบูลวชิรธรรมจึงได้มาประจำอยู่ที่วัดคฤหบดีสงฆ์ จนมรณภาพ เมื่อได้ขึ้นมาอยู่ที่วัดคฤหบดีสงฆ์แล้วก็ได้ก่อสร้าง กุฏิ ของท่านก่อน แล้วก็สร้างโรงเรียนปริยัติธรรมขึ้นหนึ่งหลัง สร้างศาลา     การเปรียญ สร้างกำแพงวัดด้านตะวันออก สร้างมณฑป สร้างกำแพงวัดรอบหมดทั้ง 4 ด้าน สร้างพระอุโบสถ สร้างน้ำประปา สร้างถนนภายในวัด (สร้างเป็นคอนกรีต) สร้างเมรุ (ที่เผาศพ) สร้างศาลาธรรมสังเวช สร้างซุ้มประตู และซ่อมพระวิหาร ซ่อมพระพุทธรูปในพระวิหาร พูดได้ว่าสิ่งก่อสร้างภายในวัดคฤหบดีสงฆ์ที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ เป็นสิ่งที่หลวงพ่อพระวิบูลวชิรธรรมได้สร้างขึ้นใหม่ทั้งนั้น
         พูดถึงด้านพระภิกษุสามเณร ได้วางระเบียบ การทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น การทำอุโบสถสังฆกรรมให้มีตลอดปีมิได้ขาด ได้ตั้งสำนักศึกษาขึ้นภายในวัด เพื่อให้พระภิกษุสามเณรได้ศึกษาเล่าเรียนกัน ได้ย้ายสำนักสอบธรรมสนามหลวงจากวัดศรีภิรมณ์ มาสอบที่วัดคฤหบดีสงฆ์ตลอดมาจนทุกวันนี้ พระภิกษุสามเณรภายในวัดมีความประพฤติปฏิบัติเรียบร้อย เป็นที่เลื่อมใสของประชาชนที่ได้พบเห็นทั่วไป เมื่อ พ.ศ.2501 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ “พระครูวิบูลวชิรธรรม” 
         ต่อมาเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2520 ท่านก็ได้เริ่มป่วยมีอาการไอมากผิดปกติ ท่านจึงได้เรียกหมอชาวบ้านมาฉีดยาให้ และหลวงพ่อท่านมีความรู้ทางการแพทย์โบราณเป็นอย่างดี ท่านก็ได้ใช้มัคนายกไปนำเครื่องยาสมุนไพรมาต้มยาฉันเอง อาการไอก็ทุเลาลงเท่าที่ควร พอวันที่ 19 มกราคม 2520 เวลาบ่าย นายแพทย์ปรีชา มุสิกุล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดกำแพงเพชร ได้มาเยี่ยมนมัสการหลวงพ่อที่วัดคฤหบดีสงฆ์ ตำบลท่าพุทรา ก็มาพบอาการไอของหลวงพ่อท่าน ไอมากผิดปกติจึงได้อาราธนานิมนต์หลวงพ่อไปตรวจฉายเอ๊กซ์เรย์ที่โรงพยาบาลกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ในวันที่ 19 มกราคม 2520 เวลา 15.00 น. หลวงพ่อก็ออกเดินทางจากวัดคฤหบดีสงฆ์โดยรถยนต์ของนายแพทย์ปรีชา มุสิกุล ดังกล่าว พอถึงโรงพยาบาลกำแพงเพชร แพทย์ก็เริ่มฉายเอ๊กซ์เรย์ตรวจพบว่าปอดข้างขวาเป็นแผล แพทย์ลงความเห็นว่าให้พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล หลวงพ่อก็อยู่รักษาตัวตามความเห็นของแพทย์ ในการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลกำแพงเพชรนั้นก็ได้มีพระภิกษุวัดคฤหบดีสงฆ์ผลัดเปลี่ยนกันไปเป็นเวรรับใช้วันละ 2-3 องค์ และมัคนายกอีก 1-2 คน พระที่อยู่ประจำมากกว่าทุกองค์ ก็มีพระสาคร พระประสงค์ มัคนายกที่ประจำอยู่กับหลวงพ่อก็มี นายจอง บุญงาม ส่วนนายแพทย์ปรีชา มุสิกุล ก็มาเยี่ยมเสมอ ๆ เกือบทุกวัน ขณะหลวงพ่อรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนั้น อาการไอทุเลาลงบ้าง แต่ท่านฉันอาหารไม่ได้ มีอาการอ่อนเพลีย แต่หลวงพ่อไม่เคยพูดให้ใครฟังเลยว่าท่านหนักใจ มีประชาชนชาวอำเภอคลองขลุงทุกตำบลไปเยี่ยมกราบนมัสการ ท่านก็ให้ศีลให้พรทุกคน รวมทั้งประชาชนต่างอำเภอ ต่างจังหวัดใกล้ไกลไปกราบนมัสการเยี่ยมท่านก็สอบถามว่ามาจากไหน เขาก็บอกว่าอยู่นครสวรรค์บ้าง ชัยนาทบ้าง อุทัยบ้าง ท่านก็บอกว่าขอบใจ ขอให้ทุกคนเจริญ ๆ เถอะ เจ็บป่วย ตาย เป็นของธรรมดา มนุษย์ทุกรูป ทุกนาม ก็ต้องเจอ ต้องพบ ไม่เลือกชั้นวรรณะ ทุกคนจะหลีกเลี่ยงความตาย หาได้ไม่ หลวงพ่อมีสติดีอยู่ตลอดเวลา แม้ท่านนอนรักษาตัวอยู่ก็ให้พระภิกษุที่เฝ้าปฐมพยาบาลรับใช้อยู่จุดธูปเทียนบูชาพระทุกคืนมิได้ขาด
         แต่ความจริงตามที่หลวงพ่อพูดว่า ความตายทุกรูป ทุกนาม ทุกชั้นวรรณะหนีไม่พ้น ต้องประสพช้าหรือเร็วเท่านั้น แม้แต่อาตมาเองก็ต้องเจอ แต่จะเจอวันไหนเท่านั้น เมื่อผู้ไปเยี่ยมถามว่าเป็นอย่างไรบ้างหลวงพ่อท่านก็ตอบว่า “วันนี้ดีขึ้น” “เบาแล้ว” กำลังใจแข็ง ครั้นถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2520 เวลาเช้าพอตื่นขึ้นท่านบอกว่าวันนี้ดีกว่าทุกวัน รู้สึกสบายใจ ขอน้ำล้างหน้า พระหยิบให้ท่านก็รับเอาไปเสกแล้วก็ล้างหน้า แล้วพูดว่าอยากฉันน้ำมนต์ร้อยปีที่วัดคฤหบดีสงฆ์ จึงใช้ให้นายจำนงค์ คชวารี ไปเอา คนไปเอาน้ำมนต์ยังไม่กลับเลย ขณะนั้นเป็นเวลา 14.00 น. เศษ ท่านพูดว่าใจคอไม่ดี บอกให้พระสาครกับพระประสงค์จุดธูปเทียนแล้วตัวข้าพเจ้า (จ.ส.ต.สังคม คชฤทธิ์) ก็วิ่งไปตามหมอ หมอก็รีบมากันเป็นจำนวนหลายนายที่จำได้มีหมอสมาน หมอไพโรจน์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลเองฯ และมีนายแพทย์อีก 2 นาย พยาบาลอีก 3 คนไม่ทราบชื่อ ได้มาช่วยกันปฐมพยาบาลและฉีดยาตลอด ทั้งหลวงพ่อพระครูนิยุติธรรมศาสตร์ เจ้าคณะอำเภอบรรพตพิสัย อยู่ในห้องนั้นด้วย พระสมุห์เสาร์ วัดคลองเจริญก็อยู่ด้วย ครั้นเวลา 14.30 น. ท่านก็สิ้นลมหายใจ ขณะที่ท่านนอนตะแคงพนมมือด้วยอาการอันสงบ มิได้ดิ้นรนกระวนกระวายแต่ประการใด ฉะนั้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2520 เวลา 14.30 น. ตรงกับวันอังคารขึ้น 11 ค่ำ เดือน 3 ปีมะเส็ง เป็นวันเวลาที่ท่านศิษยานุศิษย์และประชาชนที่เคารพนับถือสักการะบูชาในพระครูวิบูลวชิรธรรม เฉพาะพระภิกษุสงฆ์ประชาชนในเขตอำเภอคลองขลุง ต้องเศร้าโศกอาดูรอย่างยิ่ง เพราะขาดที่พึ่งทางใจอันใหญ่หลวง (ชมรมพระเครื่องเมืองกำแพงเพชร, ม.ป.ป.)
ภาพที่ 3 พระครูวิบูลวชิรธรรม.jpg

ภาพที่ 3 พระครูวิบูลวชิรธรรม (หลวงพ่อสว่าง อุตตโร) (ชมรมพระเครื่องเมืองกำแพงเพชร, ม.ป.ป.)