นครไตรตรึงษ์ เมืองโบราณ ต้นกำเนิดอาณาจักรอยุธยา
เนื้อหา
บทนำ
วัฒนธรรมแรกเริ่มในกำแพงเพชรนั้น ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีเมื่อครั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์ แพร่กระจายครอบคลุมพื้นที่ อำเภอเมือง อำเภอคลองขลุง อำเภอขาณุวรลักษบุรี และอำเภอโกสัมพีนคร เป็นต้น โบราณวัตถุที่พบจากแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ดังกล่าว สามารถเปรียบเทียบลักษณะที่ได้กับหลักฐานทางโบราณคดี ที่พบจากแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ อาทิ แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า แหล่งโบราณคดีเขาสามเหลี่ยม อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี แหล่งโบราณคดีโคกพนมดี แหล่งโบราณคดีหนองโน อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี แหล่งโบราณคดี บ้านใหม่ชัยมงคล อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ฯลฯ ซึ่งกำหนดอายุราว 6000 – 1500 ปีมาแล้ว หลักฐานทางโบราณคดีที่พบในกำแพงเพชรและมีพัฒนาการมาโดยลำดับจากการเก็บของป่า ล่าสัตว์ มีการทำเครื่องมือหินกะเทาะ ภาชนะดินเผา เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันสู่การเป็นชุมชนที่ เริ่มตั้งถิ่นฐาน สร้างสรรค์ประดิษฐ์กรรมเพื่อดำรงชีวิต อาทิ การทำเครื่องมือหินที่มีการตกแต่งคมด้วยการขัดฝนผิว เพื่อการใช้งานการทำภาชนะดินเผา การรู้จักนำเส้นใยธรรมชาติมาผลิตเป็นสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม การหล่อโลหะประเภทสำริด และเหล็ก ฯลฯ รวมทั้งมีการแลกรับวัฒนธรรมกับชุมชนใกล้เคียง ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเป็นชุมชนเมืองในสมัยประวัติศาสตร์ (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร, 2561) ในอดีตนับแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ แม่น้ำปิงเป็นเส้นทางคมนาคมและแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ที่เชื่อมโยงให้เกิดการส่งผ่านทางวัฒนธรรมระหว่างผู้คนในภาคเหนือกับภาคกลางและทวีความสำคัญยิ่งขึ้น เมื่อเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ เนื่องจากการตั้งถิ่นฐานที่ส่งผลให้เกิดพัฒนาการในชุมชนต่างๆ ขึ้นเป็นเมืองหรือรัฐ รวมถึงความต้องการทรัพยากรธรรมชาติจากป่าในเขตภาคเหนือของเมืองในภาคกลาง ขณะที่เมืองในภาคเหนือต้องการสินค้านำเข้าจากดินแดน โพ้นทะเล และทรัพยากรทางทะเลที่ส่งผ่านจากภาคกลาง ด้วยทำเลที่ตั้งซึ่งตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างภาคเหนือกับภาคกลาง และด้วยภูมิประเทศที่มีแม่น้ำปิงไหลผ่านที่ราบขนาดใหญ่ น้ำไม่ไหลเชี่ยวเกาะแก่งไม่มาก กำแพงเพชรในอดีตจึงมีความเหมาะสมในการเป็นที่แวะพัก เพื่อขนถ่ายหรือแลกเปลี่ยนสินค้า ทรัพยากรต่างๆ ทำให้ชุมชนดั้งเดิมบริเวณริมฝั่งแม่น้ำปิง ในเมืองกำแพงเพชร พัฒนาขึ้นเป็นเมือง นับแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 เช่น เมืองไตรตรึงษ์ เมืองเทพนคร เมืองบางพาน เมืองคณฑี เมืองนครชุม และเมืองชากังราว (ต่อมาคือ เมืองกำแพงเพชร) เมืองเหล่านี้ ล้วนมีคูเมืองกำแพงเพชรล้อมรอบและนับถือพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลัก กำแพงเพชรเป็นพื้นที่หนึ่งซึ่งปรากฏชุมชนโบราณของวัฒนธรรมทวารวดี ที่มีการสร้างคูน้ำคันดินและโบราณวัตถุที่เกี่ยวเนื่องในวัฒนธรรมทวารวดี 2 แห่ง ได้แก่ เมืองไตรตรึงษ์ และเมืองโบราณบ้านคลองเมือง (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร, 2561)
คำสำคัญ : นครไตรตรึงษ์, วัดวังพระธาตุ, ท้าวแสนปม
นครไตรตรึงษ์
เมืองไตรตรึงษ์เป็นอีกหนึ่งชุมชนโบราณที่มีการตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณริมแม่น้ำปิงตอนล่างที่มีลักษณะใกล้เคียงกับการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณบริเวณภาคกลางในวัฒนธรรมทวารวดี คือ ตั้งถิ่นฐานใกล้แหล่งน้ำมีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ 1-3 ชั้น ผังเมืองจะมีรูปร่างแตกต่างกันไป แต่มักจะขนานกับทางน้ำ เมื่อพิจารณาร่วมกับหลักฐานทางด้านเอกสารประวัติศาสตร์อย่างตำนานจามเทวีที่กล่าวถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 พระนางจามเทวีกษัตริย์แห่งเมืองละโว้ได้อพยพผู้คนจากเมืองละโว้ขึ้นมาเมืองหริภุญชัย โดยใช้เส้นทางแม่น้ำปิงเป็นเส้นทางคมนาคมหลัก ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานประเภทโบราณวัตถุที่พบมีความคล้ายคลึงกับโบราณวัตถุที่พบในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ ตะเกียงดินเผา ลูกปัดแก้ว หรือ ลูกปัดหินเป็นต้น ดังภาพที่ 1 และภาพที่ 2
ภาพที่ 1 ลูกปัดสมัยทวาราวดี ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร
ภาพที่ 2 ภาชนะดินเผา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร
ดังนั้น การตั้งถิ่นฐานของเมืองไตรตรึงษ์เกิดขึ้นจากปัจจัยสำคัญ คือ ปัจจัยทางด้านภูมิศาสตร์เมืองไตรตรึงษ์ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิง แหล่งน้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่อุปโภคบริโภค จึงทำให้เกิดการใช้เส้นทางน้ำเป็นเส้นทางคมนาคมหลักในการติดต่อและแลกเปลี่ยนสินค้ากับชุมชนภายนอก โดยเฉพาะชุมชนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นแผนที่ตำแหน่งเมืองไตรตรึงษ์ที่แสดงให้เห็นว่า หากเดินทางขึ้นทางทิศเหนือจะก็จะพบเมืองกำแพงเพชรเมืองนครชุมได้ หากเดินทางลงทางใต้ก็จะเจอเมืองดงแม่นางเมืองและสามารถลงไปถึงเมืองอื่นๆในบริเวณภาคกลางได้ด้วย จากการศึกษาและวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดีที่พบบริเวณเมืองไตรตรึงษ์ในช่วงเวลาที่ผ่านชี้ให้เห็นว่าเมืองไตรตรึงษ์เป็นชุมชนที่มีการอยู่อาศัยใน 3 สมัยหลักๆ ได้แก่ สมัยก่อนสุโขทัย สมัยสุโขทัย และสมัยอยุธยา ส่วนในสมัยรัตนโกสินทร์นั้นเมืองไตรตรึงษ์ได้กลายเป็นเมืองร้าง (คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา, 2559) ดังต่อไปนี้
สมัยก่อนสุโขทัย
เมืองไตรตรึงษ์ เป็นอีกชุมชนโบราณที่มีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย โดยเอกสารประเภทตำนานและพงศาวดาร อาทิ พงศาวดารโยนก ตำนานสิงหนวัติกุมาร ตำนานท้าวแสนปม ได้กล่าวถึง เมืองไตรตรึงษ์ในฐานะเมืองที่ถูกสร้างขึ้นมาใกล้กับเมืองกำแพงเพชรทางด้านทิศใต้ นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงโดยทางอ้อมของการมีอยู่และการตั้งถิ่นฐานของชุมชนริมแม่น้ำปิงอย่างตำนานจามเทวี รวมทั้งยังมีข้อมูลที่ได้จากการดำเนินขุดค้นในบริเวณเมืองไตรตรึงษ์ ซึ่งพบชิ้นส่วนภาชนะดินเผา ภาชนะดินเผาก้นกลม และตะเกียงดินเผาแบบโรมันที่คล้ายคลึงกับที่พบที่ชุมชนโบราณบ้านคูเมือง อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี นอกจากนี้ยังพบลูกปัดหินและลูกปัดแก้ว สีเหลือง ส้ม เขียว ฟ้า น้ำเงิน ดำ และสีน้ำตาลแดง แวดินเผาที่มีลักษณะคล้ายกับที่เมืองจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งสามารถเทียบเคียงอายุสมัยจากโบราณวัตถุที่มีลักษณะร่วมกันว่าอยู่ในช่วงของวัฒนธรรมทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16) (พีรพน พิสณุพงศ์, 2540) จากหลักฐานที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่า เมืองไตรตรึงษ์มีการอยู่อาศัยตั้งแต่ช่วงสมัยก่อนสุโขทัย โดยสันนิษฐานว่ามีการเข้ามาอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16)
ภาพที่ 3 ศาลท้าวแสนปมและรูปปั้น สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2547
ภาพที่ 4 แวดินเผาที่พบในเมืองไตรตรึงษ์ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร
ภาพที่ 5 ตะเกียงดินเผาที่พบในเมืองไตรตรึงษ์ ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติกำแพงเพชร
สมัยสุโขทัย
เมืองไตรตรึงษ์ปรากฏร่องรอยของการได้รับอิทธิพลของรูปแบบลักษณะสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่เป็นลักษณะเด่นของศิลปะสมัยสุโขทัย ได้แก่ วัดเจดีย์เจ็ดยอดและวัดวังพระธาตุที่มีเจดีย์ประธานทรงดอกบัวตูมหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ นอกจากนี้ ผลจากการดำเนินงานขุดค้นทางโบราณคดีที่ผ่านมาพบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาที่มีแหล่งผลิตจากสุโขทัย อาทิ เศษภาชนะดินเผาเครื่องสังคโลกแบบเชลียงเคลือบสีเขียวเฉพาะด้านในผลิตจากแหล่งเตาบ้านเกาะน้อยราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 (สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 5, 2544)
ภาพที่ 6 เจดีย์วัดวังพระธาตุ ถ่ายในปี พ.ศ.2558 (ที่มา: ภาคภูมิ อยู่พูล, 2561)
ภาพที่ 7 เศียรพระพุทธรูป วัดวังพระธาตุ ถ่ายในปี พ.ศ. 2558 (ที่มา: ภาคภูมิ อยู่พูล, 2561)
สมัยอยุธยา
ชื่อเมืองไตรตรึงษ์ ปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์ ศิลาหลักที่ 38 หรือจารึกกฎหมายลักษณะโจร (เลขทะเบียน สท.17) ซึ่งเป็นกฎหมายอาญาในยุคแรกเริ่มที่อาณาจักรอยุธยา ตราขึ้นบังคับใช้ในสุโขทัย เชลียง กำแพงเพชร ทุ่งยั้ง ปากยม และเมืองสองแคว ในปี ช่วงพ.ศ.194 ซึ่งตรงกับสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 2 พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัย โดยข้อความในจารึกได้ปรากฏชื่อเมืองไตรตรึงษ์ในด้านที่ 1 ในบรรทัดที่ 9 มีข้อความว่า
คำจารึก | คำอ่าน |
---|---|
“..เจ๋าเมืองตรายตริง (ษกบั) ดวยนกกปราชราชกวี | “..เจ้าเมืองไตรตรึง (ส์กับ) ด้วยนักปราชญ์ราชกวี |
(มีสกุลพ) รรณนงัลงถวายอัญชูลี (พบา | (มีสกุลพ) รรณ นั่งลงถวายอัญชุลี (พระบาท) |
เสดจในตรีมุขเสวิยบุญสุกตงักฤตย | เสด็จในตรีมุขเสวยบุญสุข ตั้งกฤตย์ |
แลวบเหิงกลายทานเสดจ…ดวยบุรีฝูงพาลแ…” | แลวบเหิงกลาย ท่านเสด็จ…ด้วยบุรีฝูงพาล แ-” |
จากข้อความกล่าวว่าแสดงให้เห็นสถานะความเป็นชุมชนเมืองในโดยมีเจ้าเมืองไตรตรึงษ์เป็นผู้ปกครอง และยังเป็นคณะประชุมการตรากฎหมายดังกล่าวด้วย
สมัยรัตนโกสินทร์
ในช่วงสมัยนี้บริเวณเมืองไตรตรึงษ์ลดบทบาทลงอย่างชัดเจน กลายเป็นเมืองที่ถูกทิ้งร้าง เมืองไตรตรึงษ์ได้ถูกกล่าวในพระราชนิพนธ์จากการเสด็จประพาสของกษัตริย์ 2 พระองค์ ได้แก่ 1. การเสด็จประพาสเมืองเหนือในรัชกาลที่ 4 สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ได้บันทึกกล่าวถึงรัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งยังทรงผนวชได้เสด็จประพาสเมืองเหนือ โดยเสด็จประทับที่เมืองไตรตรึงษ์และได้นมัสการพระธาตุตาลเอน จากบันทึกดังกล่าวทำให้ทราบว่า โบราณสถานในบริเวณเขตเมืองโบราณไตรตรึงษ์ มีวัดเก่าอยู่หลายแห่ง แต่ที่เป็นเจดีย์ใหญ่พอจะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุได้นั้นน่าจะเป็นเจดีย์วัดวังพระธาตุ 2. การเสด็จประพาสต้นหรือการเสด็จประพาสเมืองเหนือของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (ปี ร.ศ.125 หรือ พ.ศ.2449 ) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นการเสด็จประพาสต้น ครั้งที่ 2 โดยเสด็จประพาสต้นถึงเมืองกำแพงเพชร ระหว่างวันที่ 22-26 สิงหาคม พ.ศ.2449 และเสด็จถึงเมืองไตรตรึงษ์ ในวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2449 ซึ่งทรงบันทึกภาพถ่ายและทรงมีพระราชนิพนธ์เล่าเรื่องไว้ โดยข้อมูลจากพระราชนิพนธ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ในช่วงเวลานั้นเมืองไตรตรึงษ์ได้กลายเป็นพื้นที่รกร้าง เต็มไปด้วยหญ้าสูง ไม่มีการเข้ามาอยู่อาศัยของผู้คนและได้ปรากฏโบราณสถานใน 3 พื้นที่ คือ วัดวังพระธาตุ แนวกำแพงดิน-คูเมืองไตรตรึงษ์ และบริเวณภายในเมืองไตรตรึงษ์
ภาพที่ 8 วัดวังพระธาตุ
ภาพที่ 9 ภาพถ่ายพระเจดีย์วังพระธาตุ (ที่มา : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร, 2561)
ภาพที่ 10 บริเวณฝั่งคูเมืองด้านนอก เมืองไตรตรึงษ์ (ที่มา : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร, 2561)
ภาพที่ 11 ภาพถ่ายหมู่เจดีย์เจ็ดยอดในเมืองไตรตรึงษ์ (ที่มา : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร, 2561)
นอกจากนี้ มีการสำรวจที่ได้แสดงให้เห็นว่าเมืองไตรตรึงษ์ยังคงเป็นเมืองร้าง โดยในช่วงปี พ.ศ.2496 นายธนิต อยู่โพธิ์ ได้รับการแต่งตั้งร่วมเป็นอนุกรรมการรวบรวมประวัติศาสตร์สุโขทัย โดยมีพระยาอนุมานราชธนเป็นประธานคณะอนุกรรมการและคณะกรรมการ ได้เข้าไปสำรวจโบราณสถานในจังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชรและนครสวรรค์ โดยในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2449 ได้เข้าไปดูเมืองไตรตรึงษ์ปรากฏว่า สภาพโบราณสถานตามภาพถ่ายจากการเสด็จประพาสต้นของรัชกาลที่ 5 ได้ทรุดโทรมลงไปมาก (ปรากฏข้อความในจารึกด้านที่ 1 บรรทัดที่ 1-3)
ภาพที่ 12 ภาพถ่ายพระเจดีย์ในวัดวังพระธาตุและภาพลายเส้นพระเจดีย์ในป่าทึบ ในปี พ.ศ. 2496 (ที่มา : ธนิต อยู่โพธิ์, 2506 : 25-26)
และยังมีการกล่าวถึงสภาพของเมืองไตรตรึงษ์จากการสำรวจในช่วงปี พ.ศ. 2500 ของมานิต วัลลิโภดม ที่สำรวจภายในบริเวณกำแพงเมือง
ภาพที่ 13 แผนผังเมืองไตรตรึงษ์ปี พ.ศ. 2501 (ที่มา : มานิต วัลลิโภดม, 2501)
ปัจจุบันเมืองไตรตรึงษ์เป็นโบราณสถานสำคัญอีกแห่งของจังหวัดกำแพงเพชร เป็นเมืองเก่าและร้าง ตั้งอยู่ที่บ้านวังพระธาตุ ตำบลไตรตรึงษ์ อำเภอเมือง กำแพงเพชร ห่างจากตัวเมืองกำแพงเพชร ประมาณ 16 กิโลเมตร ตัวเมืองอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำปิง เป็นเมืองขนาดเล็กมีคูน้ำคันดินล้อมรอบสามชั้น ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน แม้จะมีแม่น้ำปิงไหลผ่าน แต่ไม่ได้ใช้ลำน้ำเป็นคูเมือง เพราะพบร่องรอยคูเมืองเดิมขนานกับแนวแม่น้ำปิง ปัจจุบันแนวกำแพงเมืองด้านเหนือที่อยู่ติดกับแม่น้ำปิงบางส่วนได้ถูกกระแสน้ำเซาะพังทลาย และถูกชาวบ้านเข้ามาไถปรับทำไร่สวนจนเสียหายหลายส่วน อีกทั้งพื้นที่ส่วนใหญ่จะถูกใช้ในการทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะการปลูกมันสำปะหลัง เมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายดาวเทียมในช่วง ปี พ.ศ. 2550-2558 แสดงให้เห็นว่ามีการทำเกษตรกรรมกันอย่างต่อเนื่อง “เมืองไตรตรึงษ์เป็นนครแห่งแรกของเมืองกำแพงเพชร” ที่หมายถึง เมืองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีพระอินทร์เป็นมหาราชาประจำสวรรค์ชั้นนี้ เป็นเมืองโบราณที่เคยยิ่งใหญ่ เกรียงไกร ดังคำขวัญที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ในอดีตของนครไตรตรึงษ์ว่า “เจดีย์เจ็ดยอดงามสม ท้าวแสนปมนามกระเดื่อง วัดวังพระธาตุฟูเฟื่อง เลื่องลือไกลไตรตรึงษ์” ดังมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นในปัจจุบัน ดังนี้ (สันติ อภัยราช, 2540) เจดีย์เจ็ดยอดงามสม หมายถึง ภายในกำแพงเมืองโบราณของนครไตรตรึงษ์มีวัดประจำเมือง คือ เจดีย์เจ็ดยอด ซึ่งเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าหลวงสเด็จประพาสต้นกำแพงเพชร ในเดือนสิงหาคม พุทธศักราช 2499 เมื่อถึงนครไตรตรึงษ์ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า “วิหารเจดีย์พังตั้งอยู่เบื้องหลัง ถัดเข้าไปอีกหน่อยหนึ่ง เรียกว่า เจดีย์เจ็ดยอด”
ภาพที่ 14 วัดเจดีย์เจ็ดยอด
ท้าวแสนปมนามกระเดื่อง หมายถึง ท้าวแสนปม เป็นสัญลักษณ์สำคัญของนครไตรตรึงษ์ มีนิทานเล่ากันมาว่า เจ้าเมืองไตรตรึงษ์มีพระธิดาสิริโสภาองค์หนึ่งซึ่งเป็นที่รักใคร่ดังดวงแก้วตา ทรงพระนามว่า นางอุษา ที่ใกล้เมืองไตรตรึงษ์นี้มีชายคนหนึ่งซึ่งร่างกายเต็มไปด้วยปุ่มปม ชาวบ้านเรียกเขาว่า นายแสนปมมีอาชีพปลูกผักสวนครัวขายเลี้ยงตัว มะเขือที่เขาปลูกเอาไว้ต้นหนึ่งมีผลโตน่ากินเพราะนายแสนปมปัสสาวะรดเป็นประจำ อยู่มาวันหนึ่งเทวดาดลใจให้พระธิดานึกอยากเสวยมะเขือ พวกนางข้าหลวงจึงออกเสาะหาจนมาพบมะเขือในสวนของนายแสนปมลูกใหญ่อวบจึงขอซื้อไปถวาย หลังพระราชธิดาเสวยมะเขือของนายแสนปมได้ไม่นานก็เกิดตั้งครรภ์ขึ้น ท้าวไตรตรึงษ์รู้สึกอับอายขายหน้าพยายามสอบถามอย่างไรพระธิดาก็ไม่ยอมบอกว่า ใครคือพ่อของเด็กในท้อง ครั้นเมื่อพระกุมารได้เติบโตพอรู้ความ ท้าวไตรตรึงษ์จึงประกาศให้ขุนนางและเหล่าราษฎร์ทั้งหลายให้นำของกินเข้ามาในวัง หากพระกุมารยอมกินของผู้ใดผู้นั้นจะได้เป็นเขยหลวง บรรดาหนุ่มในเมืองต่างรีบเดินทางเข้าวังพร้อมของกินดีๆ นายแสนปมทราบข่าวก็เข้าวังมาด้วยเช่นกัน โดยถือเพียงข้าวสุกติดมือมาก้อนเดียว แต่พระกุมารรับไว้เสวย ท้าวไตรตรึงษ์ทรงกริ้วที่พระธิดาไปได้กับคนชั้นไพร่ มิหนำซ้ำยังอัปลักษณ์จึงขับไล่ออกจากวัง นายแสนปมพาพระธิดากับพระกุมารเดินทางเข้าไปหาที่อยู่ใหม่ ร้อนถึงพระอินทร์ ต้องแปลงเป็นลิงนำกลองวิเศษมามอบให้ กลองนี้อยากได้อะไรก็ตีเอาตามสารพัดนึก (บางตำนานว่าเป็นฆ้อง) นายแสนปมอธิษฐานให้ปุ่มปมตามตัวหายไปแล้วตีกลองวิเศษ ร่างก็กลับเป็นชายรูปงาม จึงตีกลองขอบ้านเมืองขึ้นมาเมืองหนึ่ง ให้ชื่อว่า เมืองเทพนคร และสถาปนาตัวเองเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่า ท้าวแสนปม ปกครองไพร่ฟ้าด้วยความสงบสุข และเชื่อกันว่าราชโอรสของท้าวแสนปมคือ พระเจ้าอู่ทองกษัตริย์ผู้ก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา จึงทำให้ชื่อเสียงของท้าวแสนปมดังไปทั่วประเทศ จนกระทั่งพระมงกุฎเกล้านำไปพระราชนิพนธ์ เรื่อง ท้าวแสนปม
ภาพที่ 15 ท้าวแสนปม
ภาพที่ 16 ศาลท้าวแสนปม
วัดวังพระธาตุฟูเฟื่อง หมายถึง ที่นครไตรตรึงษ์มีวัดขนาดใหญ่นอกเมืองไตรตรึงษ์ทางทิศตะวันออกตามลำน้ำปิงมีโบราณสถานขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง เรียกว่า วังพระธาตุ แต่ก่อนที่วัดแห่งนี้เป็นป่ารกร้าง บริเวณพระวิหารมีเนินดินและต้นไม้ใหญ่ปกคลุมจนแทบมองไม่เห็นพระวิหาร ต่อมากรมศิลปากรได้มาบูรณะให้ใหม่จนมีสภาพปัจจุบัน เหตุผลที่เรียกขานกันว่าวังพระธาตุ เพราะหน้าวัดเป็นห้วงน้ำใหญ่ เรียกกันโดยสามัญว่า วัง และมีความเชื่อว่า ภายในพระมหาเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ขนาดใหญ่ของวัดบรรจุพระบรมสารีริกธาตุจึงมีพระธาตุตั้งอยู่ เรียกกันว่า วังพระธาตุ
ภาพที่ 17 ทางเข้าวัดวังพระธาตุ
ภาพที่ 18 วัดวังพระธาตุ
ภาพที่ 19 หลวงพ่ออู่ทอง วัดพระธาตุ
ภาพที่ 20 เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ วัดวังพระธาตุ
ภาพที่ 21 หลวงพ่อโต วัดวังพระธาตุ
เลื่องลือไกลไตรตรึงษ์ นครไตรตรึงษ์ ตามตำนานสิงหนวัติกุมาร สร้างสมัยพระเจ้าชัยศิริ หรือพระเจ้าศิริชัยเชียงแสน ตามตำนานท้าวสนปม และกำเนิดพระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริยแห่งอยุธยา เมี่อราวปีพุทธศักราช 1547 เมืองไตรตรึงษ์เป็นเมืองที่สง่างามตั้งบนชัยภูมิที่เหมาะสม คือ ตำบลมอพระธาตุน้ำท่วมไม่ถึง มีแม่น้ำปิงเป็นแนวคูเมืองผันน้ำจากลำน้ำปิงมาหล่อเลี้ยงคูเมืองทั้งสามชั้น ต้องตามตำรับพิชัยสงคราม นอกจากนี้เมืองไตรตรึงษ์ยังมีกำแพงสามชั้น ที่เรียกกันว่า ตรีบูร สภาพกำแพงเมืองชั้นในยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ คูเมืองยังลึกและงดงามมาก กำแพงเมืองชั้นนอกสุดถูกปาดไปเป็นถนนส่วนหนึ่ง กำแพงชั้นกลางยังพอมีให้เห็นอยู่บ้างเล็กน้อย กำแพงชั้นในบางส่วนถูกไถเพื่อทำไร่น้อยหน่า ไร่มันสำปะหลังไปบ้าง
ภาพที่ 21 กำแพงดินคูเมือง
สรุป
จากหลักฐานและร่องรอยตามตำนาน พงศวดาร นิยายปรัมปราของเมืองไตรตรึงษ์ อาทิ พงศาวดารโยนก ตำนานสิงหนวัติกุมาร ตำนานท้าวแสนปม ได้กล่าวถึงเมืองไตรตรึงษ์ในฐานะเมืองที่ถูกสร้างขึ้นมาใกล้กับเมืองกำแพงเพชร ล้วนเป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าเมืองไตรตรึงษ์เป็นเมืองโบราณที่มีอยู่จริงและเป็นเมืองสำคัญมีอายุไม่ต่ำกว่าสมัยทวารวดี จนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในอดีตเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรือง เป็นเส้นทางคมนาคมหลักในการเดินทางระหว่างภาคเหนือไปยังภาคกลางที่เชื่อมต่อไปยังลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา อย่างไรก็ตาม จวบจนปัจจุบันนั้นยังคงเป็นโบราณสถานที่สำคัญของจังหวัดกำแพงเพชร