กระยาสารทกล้วยไข่จากรากเหง้าสู่ผลิตภัณฑ์ชุมชน
รุ่นแก้ไขเมื่อ 11:19, 23 ธันวาคม 2563 โดย Admin (คุย | มีส่วนร่วม)
เนื้อหา
บทนำ
“กรุพระเครื่อง เมืองคนแกร่ง ศิลาแลงใหญ่ กล้วยไข่หวาน น้ำมันลานกระบือ เลื่องลือมรดกโลก” นี่คือ คำขวัญของจังหวัดกำแพงเพชรที่แสดงถึงผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงโดยเฉพาะเมื่อนำกล้วยไข่ผสมรวมเข้าไปกับกระยาสารท กลายเป็นกระยาสารทกล้วยไข่ที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดกำแพงเพชรเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นขนมที่หาได้ยากแล้ว กระยาสารทแม้จะเป็นขนมที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย แต่เมื่อพูดถึงกระยาสารทกล้วยไข่ ต้องนึกถึงจังหวัดกำแพงเพชรเท่านั้นนับว่าเป็นภูมิปัญญาไทยในการถนอมอาหาร ในฤดูที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ จึงเก็บอาหารที่เหลือไว้รับประทานในฤดูขาดแคลน การรับประทานกระยาสารทให้อร่อยต้องรับประทานกับกล้วยไข่ (สันติ อภัยราช, 2561) กระยา หมายถึง เครื่อง สิ่งของ เครื่องกิน สารท หมายถึง เทศกาลทำบุญในวันสิ้นเดือนสิบ โดยนำพืชพรรณธัญญาหารแรกเก็บเกี่ยวมาปรุงเป็นข้าวทิพย์และข้าวมธุปายาส ถวายพระสงฆ์ ดังนั้น กระยาสารทจึงหมายถึง เครื่องกินที่ทำกันในเทศกาลเดือนสิบโดยนำพืชพรรณธัญญาหารแรกเก็บเกี่ยวมาปรุงเป็นกระยาสารท ข้าวทิพย์ และข้าวมธุปายาส ถวายพระสงฆ์ ประเพณีวันสารท ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 หรือช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี โดยในวันทำบุญนั้นชาวบ้านจะนำอาหารมาถวายพระสงฆ์ โดยอาหารหวานที่ใช้ถวายพระในวันนั้นก็คือ “กระยาสารท” สังเกตได้ว่า การทำบุญในวันสารทไทยทุกวัดจะเต็มไปด้วยมหกรรมกระยาสารทที่ชาวบ้านนำมาร่วมทำบุญ (คม ชัด ลึก, 2561) ประเพณีทำบุญสารทนี้มีอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของไทย แต่จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปตามแต่ละภูมิภาค เช่น ภาคใต้ เรียก "ประเพณีชิงเปรต" ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียก "ทำบุญข้าวสาก" และภาคเหนือ เรียก "ตานก๋วยสลาก" เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเรียกชื่อต่างกันแต่คติความเชื่อทางพระพุทธศาสนาก็เป็นไปในทางเดียวกัน คือ ทำบุญเพื่ออุทิศส่วนบุญให้ปู่ย่าตายายและญาติมิตรทั้งหลาย ที่ล่วงลับไปแล้วนั่นเอง (คม ชัด ลึก, 2561) จึงเป็นอันสรุปได้ว่า "ประเพณีสารท คือฤดูกาลแห่งการเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหารช่วงปลายฤดูฝนเริ่มเข้าต้นฤดูหนาว โดยเหตุที่ความเชื่อของชาวอินเดียผูกพันอยู่กับเทพเจ้าในธรรมชาติ ดังนั้นเมื่อได้ผลผลิตจากการเก็บเกี่ยวคราวแรกจึงนำไปบวงสรวงบูชาเทพเจ้าตามความเชื่อของตน ซึ่งความเชื่อเช่นนี้ คงมีอยู่ทั่วไปในสังคมบรรพกาลทั่วโลก"
คำสำคัญ : กระยาสารทกล้วยไข่, จังหวัดกำแพงเพชร, ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น
ที่มาของคำว่าสารทไทย
สารท (สาด) นี้ เป็นคำที่ประเทศไทยยืมอินเดียมาใช้ แต่แตกต่างจากอินเดียตรงที่การออกเสียงว่า “สา-ระ-ทะ” และไม่ได้ใช้เรียกเฉพาะวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 เท่านั้น แต่ประเทศเทศอินเดียยังใช้เป็นชื่อของฤดูกาลอีกด้วย ซึ่งจะตรงกับช่วงเดือน 10-12 ตามปฏิทินจันทรคติ เทศกาลสารทไทยชาวบ้านจะนิยมทำกระยาสารท เพื่อถวายแด่พระสงฆ์ “กระยาสารท” นี้ แปลว่า "อาหารที่ทําในฤดูสารท" หรือสามารถกล่าวได้ว่า กระยาสารท เปรียบได้กับ “ข้าวมธุปายาส” ซึ่งเป็นอาหารของชาวอินเดีย โดยมีข้าว น้ำตาล น้ำนม ผสมกัน แต่ข้าวมธุปายาสนี้ไม่ได้กําหนดว่าต้องทําเฉพาะฤดูสารทเท่านั้น โดยปกติแล้วชาวอินเดียนิยมรับเพื่อรับประทานในครอบครัวของตนเอง เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่นางสุชาดาหุงถวายพระพุทธเจ้านั้นเอง ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคแถบอุษาคเนย์ที่ได้รับอิทธิพลความเชื่อจากประเทศอินเดียผ่านอารยธรรมในยุคต่างๆ และนำเข้ามาประยุกต์เป็นวิถีการดำเนินชีวิตตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันไม่มากก็น้อย กระทั่งเมื่อประชาชนได้ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนามากขึ้น การเซ่นไหว้บวงสรวงบูชาเทพเจ้าด้วยผลผลิตจากการเพาะปลูกจึงปรับเปลี่ยนมาเป็นการทำบุญถวายทาน ตามคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนา แต่ถึงกระนั้น ความเชื่อเรื่องเทพเจ้าในธรรมชาติของคนไทยก็ไม่ได้หมดไป ดังจะพบได้จากพิธีกรรมเกี่ยวกับแม่โพสพ เช่น การทำพิธีรับขวัญข้าวหรือพิธีกรรมเกี่ยวกับแม่ธรณี เช่น ประเพณีลอยกระทง เป็นต้น ผู้ที่เคยนับถือศาสนาพราหมณ์แล้วกลับมานับถือพระพุทธศาสนา เมื่อถึงคราวที่เคยทําบุญตามฤดูกาลให้แก่พราหมณ์ ก็จัดทําถวายพระสงฆ์เหมือนที่เคยทําแก่พราหมณ์ คือ การทําบุญด้วยของแรกได้เพื่อเป็นผลานิสงส์จากการทำบุญ แล้วมักจะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว การทําพิธีอุทิศให้แก่ผู้ตายของชาวฮินดูเรียกว่า “ศราทธ์” การออกเสียงจะเหมือนกับคําว่า “สารท” ในภาษาไทยซึ่งหมายถึงชื่อฤดู" (คมชัดลึก, 2561)
ตำนานข้าวยาคู ข้าวมธุปยาส ข้าวทิพย์และกระยาสารท
ข้าวยาคู มีตำนานเล่ามาว่า มีชาวนาพี่น้องสองคน คนโตชื่อว่า มี “จุลการ” น้องชื่อ “มหาการ” ไร่นา กว้างใหญ่ ในฤดูที่ข้าวตั้งท้องออกรวง คนน้องเห็นว่าควรจะนำข้าวนั้นมาทำอาหารถวายพระพุทธเจ้าผู้ทรงนามว่า วิปัสสี แต่พี่ชายไม่เห็นด้วยเพราะจะต้องเสียข้าวในนาจำนวนไม่น้อย น้องชายจึงแบ่งไร่นาและนำเมล็ดข้าวในสวนไร่นาของตนไปทำอาหารที่เรียกว่า ข้าวยาคูไปถวายพระวิปัสสีและอธิษฐานขอให้เกิดในบวรพระพุทธศาสนา ซึ่งภายหลังจุลการได้เกิดเป็นพระอัญญาโกณฑัญญะ ส่วนข้าวมธุปายาส คือ ข้าวที่หุงเจือด้วยน้ำนมและน้ำผึ้งมีตำนานเล่าว่า นางสุชาดา ลูกสาวเศรษฐีปรุงขึ้นเป็นอาหารไปแก้บนและได้เห็นพระพุทธเจ้า เมื่อเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ประทับใต้ต้นนิโครธ ( ต้นไทร ) ก็เข้าใจพระองค์เป็นเทพยดาจึงนำอาหารนั้นไปถวายพระโพธิสัตว์จึงได้เสวยข้าวมธุปายาสเป็นอาหารมื้อสุดท้าย ก่อนจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จึงมีความเชื่อกันว่า ข้าวมธุปายาส เป็นอาหารวิเศษ ผู้ใดมีวาสนาได้กินแล้ว จะมีร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัย อุดมด้วยสติปัญญา และเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต (2561, คมชัดลึก) ส่วนตำนานของกระยาสารทนั้นเล่าต่อกันมาว่า สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ในกรุงราชคฤห์มีเปรตตนหนึ่งปลอมตัวเป็นพระสงฆ์เข้าเฝ้าพระเจ้าอาชาติศัตรู เปรตตนนั้นได้เผยความจริงว่า ตนเคยเป็นพระสงฆ์แต่มีความโลภจึงต้องชดใช้กรรมเป็นเปรต แล้วเปรตตนนั้นก็ขอให้พระองค์พระราชทานกระยาสารท ซึ่งปรุงแต่งด้วยของ 7 อย่าง ได้แก่ น้ำตาล น้ำผึ้ง ถั่ว งา ข้าวตอก ข้าวเม่า น้ำนมวัว เพื่อประทังความหิวโหย ดังนั้น ในวันรุ่งขึ้นตรงซึ่งกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 พระเจ้าอชาตศัตรูจึงทำขนมกระยาสารทแล้วกรวดน้ำอุทิศให้แก่เปรตตามที่ขอไว้ (กฤษดา กุลโชติ, 2557)
ประเพณีกวนข้าวมธุปยาส (ข้าวทิพย์) ในประเทศไทย
สำหรับประเทศไทยนั้น ประเพณีกวนข้าวมธุปายาส (ข้าวทิพย์) เป็นพระราชพิธีที่กระทำกันในเดือน 10 ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และได้รับการฟื้นฟูครั้งใหญ่ ในสมัยรัชกาลที่ 1 และมาละเว้นเลิกราไปในสมัยรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 แล้วมาได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา แต่ในปัจจุบันส่วนใหญ่ชาวพุทธนิยมทำเพื่อถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ และบูชาพระรัตนตรัย รวมทั้งอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตายซึ่งจะจัดกันในเดือน 12 หรือเดือนหนึ่ง โดยถือเอาระยะที่ข้าวกล้าในท้องนามีรวงข้าวเป็นน้ำนมของแต่ละปี และความพร้อมเพรียงของชาวบ้านเป็นสำคัญ เมื่อพิจารณาประเพณีกวนข้าวมธุปายาส (ข้าวทิพย์) ในจังหวัดกำแพงเพชรสามารถพบได้ที่วัดแก้วสุริย์ฉาย ตำบลลานกระบือ อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร (วีรวรรณ แจ้งโม้ และชญาน์นันท์ ศิริกิจเสถียร, 2558)
วัตถุดิบและอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำกระยาสารท
วัตถุดิบและส่วนประกอบ | อุปกรณ์ |
---|---|
1. ถั่ว | 1. กระทะใบใหญ่ |
2. งา | 2. ไม้พาย |
3. ข้าวตอก | 3. เตา ฟืน |
4. ข้าวเม่า | 4. ถาด |
5. มะพร้าว | 5. กระช้อน |
6. น้ำตาลปี๊บ | 6. ตะหลิว |
7. แบะแซ | 7. หม้อ |
8.น้ำผึ้ง | 8. อุปกรณ์ห่อขนม |
9. กล้วยไข่ | 9. ถังน้ำและขวดสำหรับกดให้แน่น |
ภาพที่ 1 ข้าวเม่าและข้าวตอกที่ใช้ในการทำกระยาสารทวิลัยวรรณ
(ที่มา : กลุ่มกระยาสารทวิลัยวรรณ, 2561)
ภาพที่ 2 น้ำผึ้งและมะพร้าวที่ใช้ในการทำกระยาสารทวิลัยวรรณ
(ที่มา : กลุ่มกระยาสารทวิลัยวรรณ, 2561)
ภาพที่ 3 กระทะที่ใช้สำหรับกวนกระยาสารทวิลัยวรรณ
ภาพที่ 4 ชุดหม้อที่ใช้สำหรับผสมส่วนผสมและสถานที่ผลิตกระยาสารทวิลัยวรรณ
กระยาสารทวิลัยวรรณ
ในจังหวัดกำแพงเพชรนั้นนับว่าเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีความโดดเด่นด้านการผลิตและแปรรูปกระยาสารท โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กระยาสารทกล้วยไข่ซึ่งผลิตโดยกลุ่มกระยาสารทวิลัยวรรณ ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มของสตรีในหมู่บ้านที่มีความคิดที่อยากจะใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ จำนวน 7 คน รวมตัวกันเพื่อจัดตั้งกลุ่มทำขนมไทย/ขนมพื้นบ้านจำหน่ายภายในหมู่บ้านและตำบลข้างเคียง เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น (วิลัยวรรณ บุพศิริ, 2561) จากการประชุมจึงมีความเห็นพ้องต้องกันว่ากลุ่มจะทำขนมกระยาสารทเพื่อออกจำหน่าย ประกอบกับจังหวัดกำแพงเพชรมีงานประเพณีวัฒนธรรมในช่วงเทศกาลงานสารท ที่จัดมาอย่างต่อเนื่อง คือ “งานสารทไทยกล้วยไข่เมืองกำแพง” ดังนั้นทางกลุ่มฯ จึงคิดเริ่มจัดตั้งกลุ่ม ตั้งแต่ปี 2544 โดยยึดอาชีพทำขนมไทย/ขนมพื้นบ้าน เป็นอาชีพเสริม การดำเนินการในช่วงแรก คือ การทำกระยาสารทแบบทั่วไปและนำผลไม้ในท้องถิ่นเช่น กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ มาทำ เป็นขนมเช่นกล้วยฉาบ กล้วยเค็ม แต่สินค้าที่ทำก็ไม่มีความแตกต่างจากกลุ่มอื่น ทำให้การจำหน่ายก็ไม่ค่อยดีนัก จึงเกิดความคิดที่อยากจะทำผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมนั้นให้แตกต่างจากผลผลิตรายอื่นๆ ประกอบกับในปี 2550 กลุ่มและสมาชิกกลุ่ม ได้มีโอกาสไปดูงานกลุ่มกระยาสารทที่ต่างจังหวัด จึงได้คิดริเริ่มทำกระยาสารทน้ำผึ้งและกระยาสารทกล้วยไข่ขึ้นเป็นครั้งแรก กระยาสารทกล้วยไข่เป็นผลิตภัณฑ์ที่นำเอาสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัดกำแพงเพชรผนวกเข้ากับผลิตภัณฑ์ทางด้านความเชื่อที่คนไทยมีมาอย่างยาวนาน ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์กระยาสารทกล้วยไข่ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีจุดเด่น สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดกำแพงเพชรและเพิ่มมูลค่าให้กับผลไม้ท้องถิ่น เช่นกล้วยไข่ได้เป็นอย่างดีอีกทางหนึ่งด้วย
ภาพที่ 5 ผลิตภัณฑ์กระยาสารทน้ำผึ้งและกระยาสารทกล้วยไข่ของกลุ่มกระยาสารทวิลัยวรรณ
กระบวนการผลิตกระยาสารทกล้วยไข่
1. นำกระทะใบใหญ่ตั้งไฟ น้ำกะทิเคี้ยวให้กะแตกมัน 2. นำกระทะอีกหนึ่งใบ (ใบเล็ก) คั่วถั่ว งา และข้าวเม่า ให้มีสีสันสวยงาม 3. ใส่น้ำตาลปี๊บลงไปคน ให้น้ำตาลและกะทิเข้ากัน ใส่น้ำผึ้งที่เตรียมไว้คนไปเรื่อย ๆ จนน้ำตาลเหนียว (ทดลองโดยนำไปหยดลงในน้ำ ถ้าน้ำตาลจับเป็นก้อน แสดงว่าใช้ได้) 4. ใส่แบะแซลงไปคนให้เข้ากัน 5. ใส่กล้วยไข่สไลด์ที่เตรียมไว้ลงไปกวนให้เข้ากับกระยาสารท 6. ลดไฟลงให้ไฟอ่อน ๆ ใส่ข้าวตอก ข้าวเม่า ถั่ว งา ที่เตรียมไว้ แล้วคนให้เข้ากัน 7. ยกกระทะลงจากเตา นำขนมที่ได้เทใส่ถาดรองรับโดยรองถุงพลาสติกเพื่อกันไม่ให้กระยาสารทติดกับถาด 8. ใช้ขวดกลิ้งทับเพื่อให้กระยาสารทแบน ตามรูปแบบ บรรจุหีบห่อให้สวยงามรอการจำหน่าย
ภาพที่ 6 กระบวนการวิธีการทำกระยาสารทกล้วยไข่วิลัยวรรณ
(ที่มา : กลุ่มกระยาสารทวิลัยวรรณ, 2561)
คุณค่าของกล้วยไข่และน้ำผึ้ง
กล้วยไข่ (Pisang Mas) เป็นผลไม้ชนิดหนึ่งในตระกูลกล้วย เป็นพืชเขตร้อน สามารถปลูกได้ทุกภาคของไทย โดยเฉพาะจังหวัดกำแพงเพชร เรียกได้ว่าเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัดเลยทีเดียว โดยกล้วยไข่นี้ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญนำรายได้เข้าสู่ประเทศได้มากมาย เนื่องจากมีรสชาติดี อร่อย หอม ปัจจุบันเป็นสินค้าส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์และฮ่องก (เกร็ดความรู้, ม.ป.ป.) กล้วยไข่อุดมไปด้วยน้ำตาลธรรมชาติ 3 ชนิด คือ ซูโครส ฟรุคโทส และ กลูโคส รวมกับเส้นใยและกากอาหาร กล้วยจะช่วยเสริมเพิ่มพลังงานให้กับร่างกายทันทีทันใด จากงานวิจัยพบว่ากินกล้วยแค่ 2 ผล ก็สามารถเพิ่มพลังงานให้อย่างเพียงพอ กับการออกกำลังกายอย่างเต็มที่ได้นานถึง 90 นาที (สุขภาพดอทคอม, 2558)
ประโยชน์และสรรพคุณของส่วนต่างๆของกล้วยไข่
ยาง | ช่วยในการสมานแผล ห้ามเลือด ให้รสฝาด |
ผลดิบ | ใช้ชงน้ำร้อนหรือบดเป็นผงรับประทาน ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร และท้องเสียเรื้อรัง ให้รสฝาด |
ผลสุก | ช่วยบำรุงกำลัง เป็นยาระบาย และรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ให้รสหวาน |
หัวปลี | ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด แก้โรคกระเพาะอาหารและลำไส้ และโรคโลหิตจาง ให้รสฝาด |
ใบ | ใช้ต้มอาบแก้ผดผื่นคัน หรือนำไปปิ้งไฟปิดทับบาดแผลไฟไหม้ ให้รสจืด |
ราก | นำไปต้มดื่มแก้ไข้ ร้อนใน กระหายน้ำ ช่วยสมานภายใน แก้บิด ผื่นคัน ท้องเสีย ให้รสฝาดเย็น |
หยวก | นำไปเผาไฟรับประทานช่วยในการขับถ่ายพยาธิ ให้รสฝาดเย็น |
เหง้า | ช่วยรักษาแผลภายในบริเวณทวารหนัก หรือปรุงเป็นยาแก้ริดสีดวงทวารแบบมีเลือดออก ให้รสฝาดเย็น |
นอกจากประโยชน์จากส่วนต่างๆของกล้วยไข่แล้ว กล้วยไข่ยังสามารถเอาชนะและป้องกันโรคต่างๆ ที่จะเกิดกับร่างกายได้อีกหลายโรค อาทิ
โรคโลหิตจาง | ในกล้วยมีธาตุเหล็กสูงจะเป็นตัวช่วยกระตุ้นการผลิตฮีโมโกลบินในเลือด และจะช่วยในกรณีที่มีสภาวะขาดกำลัง หรือภาวะโลหิตจาง |
โรคความดันโลหิตสูง | กล้วยมีธาตุโปรแตสเซียมสูงสุด แต่มีปริมาณเกลือต่ำ ทำให้เป็นอาหารที่เหมาะสมในการลดความดันในเส้นเลือด อย.ของอเมริกา ยินยอมให้อุตสาหกรรมการปลูกกล้วยสามารถ โฆษณาได้ว่า กล้วยเป็นผลไม้ที่ช่วยลดอันตรายอันเกิดจากเรื่องความดันโลหิตสูงหรือโรคเส้นเลือดฝอยแตกได้ |
โรคท้องผูก | ปริมาณเส้นใยและกากอาหารที่มีอยู่ในกล้วยช่วยให้การขับถ่ายเป็นปกติ และยังช่วยแก้ปัญหาโรคท้องผูกโดยไม่ต้องกินยาถ่ายได้อีกด้วย |
โรคซึมเศร้า | จากการสำรวจ ในจำนวนผู้ที่มีความทุกข์เกิดจากความซึมเศร้าหลายคนจะมีความรู้สึกที่ดีขึ้นมากหลังการกินกล้วย เพราะในกล้วยมีโปรตีนชนิดที่เรียกว่า Try Potophan เมื่อสารนี้เข้าไปในร่างกายจะ ถูกเปลี่ยนเป็น Rerotonin ซึ่งจะทำให้รู้สึกมีความสุขเพิ่มขึ้นนั่นเอง |
อาการเมาค้าง | วิธีที่เร็วที่สุดที่จะแก้อาการเมาค้าง คือ การดื่มกล้วยปั่นกับนมและน้ำผึ้ง กล้วยจะทำให้กระเพาะสงบลง ส่วนน้ำผึ้งจะเป็นตัวช่วยหนุนเสริมปริมาณน้ำตาลในเส้นเลือด ในขณะที่นมช่วยปรับระดับของเหลวในร่างกายของเรา |
อาการเสียดท้อง | กล้วยมีสารลดกรดตามธรรมชาติที่มีผลต่อร่างกาย |
โรคลำไส้เป็นแผล | กล้วยเป็นอาหารที่แพทย์ใช้ควบคุม/ต้านทานการเกิดโรคลำไส้เป็นแผล เพราะเนื้อของกล้วยมีความอ่อนนิ่มพอดี เป็นผลไม้ชนิดเดียวที่ทานได้ง่ายๆ ไม่ยุ่งยากสำหรับผู้ที่มีปัญหาโรคลำไส้เรื้อรังและกล้วยยังมีสภาพเป็นกลาง ทำให้ลดการระคายเคือง และสามารถเคลือบผนังลำไส้และกระเพาะอาหารได้อีกด้วย |
เส้นเลือดฝอยแตก | จากการวิจัยที่ลงในวารสาร “The New England Journal of Medicine” การกินกล้วยเป็นประจำสามารถลดอันตรายที่เกิดกับเส้นโลหิตแตกได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ |
โรคหูด | การรักษาหูดด้วยวิธีทางเลือกแบบธรรมชาติ โดยการใช้เปลือกของกล้วยวางปิดลงไปบนหูด แล้วใช้แผ่นปิดแผลหรือเทปติดไว้ให้ด้านสีเหลืองของเปลือกกล้วยออกด้านนอก ก็จะสามารถรักษาโรคหูดให้หายได้ |
การเลิกบุหรี่ | กล้วยสามารถช่วยคนที่กำลังพยายามเลิกสูบบุหรี่ได้ เนื่องจากในกล้วยมีปริมาณของวิตามินซี เอ บี6 และบี 12 ที่สูงมาก และยังมีโปรแตสเซียมกับแมกนีเซียม ที่ช่วยทำให้ร่างกายฟื้นคืนตัวได้เร็วอันเป็นผล จากการลดเลิกนิโคติน (สุขภาพดอทคอม, 2558) |
น้ำผึ้ง คือ น้ำหวานที่เกิดขึ้นจากการที่ผึ้งได้กลืนกินน้ำหวานของดอกไม้เข้าสู่กระเพาะของผึ้ง ซึ่งกระเพาะของผึ้งจะมีเอนไซม์ที่ช่วยในการย่อยน้ำหวาน หลังจากนั้นจึงดึงเอาน้ำหวานจากกระเพาะมาเก็บไว้ที่หลอดรวงผึ้ง เมื่อเวลาผ่านไปก็จะเกิดการระเหยของน้ำออกไปจนกระทั่งกลายเป็นน้ำหวานเข้มข้น ซึ่งหลายๆ คนก็มักนิยมรับประทานน้ำผึ้ง เพราะ “น้ำผึ้ง” เป็นน้ำหวานเข้มข้นที่มีกลิ่นหอมและมีรสหวานอร่อยเป็นอย่างมาก จึงทำให้นิยมใช้ในการประกอบอาหาร และน้ำผึ้งไม่ใช่เป็นเพียงน้ำหวานรสอร่อยเท่านั้น แต่ยังมีคุณค่าทางโภชนาการและสรรพคุณในการรักษาอีกด้วย (น้ำผึ้ง 12 สรรพคุณของน้ำผึ้งและเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับน้ำผึ้ง, 2560) 1. น้ำผึ้ง มีสรรพคุณในการรักษาแผล เนื่องจากความเข้มข้นของน้ำผึ้งจะทำให้เชื้อโรคฝ่อตาย 2. น้ำผึ้งช่วยรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกและยังช่วยลดการอักเสบของแผลที่เกิดจากอาการดังกล่าวด้วย 3. น้ำผึ้งช่วยรักษาโรคผิวหนังจากเชื้อรา กลาก เกลื้อน โดยสามารถนำมาผสมกับขมิ้นผง เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาได้ด้วย 4. ช่วยต่อต้านและลดอาการข้ออักเสบ หากดื่มเป็นประจำ 5. ช่วยแก้อาการท้องผูกและท้องเสีย โดยน้ำผึ้งที่เก็บจากรังใหม่ๆ จะมีสรรพคุณเป็นยาระบายช่วยแก้อาการท้องผูก ส่วนน้ำผึ้งที่มีการเก็บ 1 ปีขึ้นไป จะช่วยแก้อาการท้องเสีย 6. ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ เนื่องจากน้ำผึ้งมีสรรพคุณเป็นยาระงับประสาทอ่อนๆ ด้วย 7. น้ำผึ้ง ช่วยบรรเทาอาการไอ แก้เจ็บคอ ลดเสมหะและอาการหอบ 8. ช่วยบำรุงสุขภาพสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง อีกทั้งยังช่วยบำรุงเลือดด้วย 9. ช่วยบำรุงผิวพรรณให้มีความชุ่มชื้น 10. มีสรรพคุณที่ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ 11. ช่วยบำรุงเส้นผมให้นุ่มนวลและเงางามเป็นธรรมชาติ 12. ช่วยกำจัดสิวเสี้ยนและบำรุงผิวหน้า