ทรัพยากรธรรมชาติ : อุทยานแห่งชาติคลองลาน

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

บทนำ

         จังหวัดกำแพงเพชร ตั้งอยู่ทางภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย ทิศเหนือและทิศใต้ของจังหวัดเป็นที่ราบ ทิศตะวันตกเป็นภูเขาสลับซับซ้อนและเป็นต้นน้ำของลำธารสายต่างๆ เช่น คลองสวนหมาก คลองวังเจ้า คลองขลุง และคลองแขยง ซึ่งจะไหลลงสู่แม่น้ำปิง เป็นแม่น้ำสำคัญที่ไหลผ่านกลางพื้นที่ของจังหวัดตั้งแต่เหนือสุดจนใต้สุด กำแพงเพชรเป็นที่ตั้งของเมืองเก่าซึ่งมีอายุไม่น้อยกว่า 700 ปี และเป็นเมืองหน้าด่านทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ มีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสุโขทัย จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ก่อนเป็นจังหวัดกำแพงเพชรเคยมีเมืองเก่า 2 เมือง ได้แก่ เมืองชากังราว และเมืองนครชุม อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองมรดกโลก เมื่อปี พ.ศ. 2534 และจังหวัดกำแพงเพชรยังแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ทั้งป่าไม้ นก สัตว์ต่าง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า และอุทยานแห่งชาติคลองลาน 

คำสำคัญ : ทรัพยากรธรรมชาติ, อุทยานแห่งชาติคลองลาน, น้ำตกคลองลาน, น้ำตกคลองน้ำไหล, คลองสวนหมาก

อุทยานแห่งชาติคลองลาน

         อุทยานแห่งชาติคลองลาน ตั้งอยู่ท้องที่อำเภอคลองลาน อำเภอเมืองกำแพงเพชรจังหวัดกำแพงเพชร ครอบคลุมพื้นที่ป่าคลองลานอันสมบูรณ์แหล่งสุดท้ายของจังหวัดกำแพงเพชร ประกอบด้วย ภูเขาชันสลับซับซ้อน เป็นป่าต้นน้ำลำธาร ต้นกำเนิดของน้ำหลายสาย เช่น คลองขลุง คลองสวนมาก ซึ่งไหลรวมกันลงสู่แม่น้ำปิงและเป็นต้นน้ำคลองลานไหลลงสู่คลองขลุง เนื้อที่ประมา 187,500 ไร่ หรือ 300 ตารางกิโลเมตร (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, ม.ป.ป.)
ภาพที่ 1 ป้ายด้านหน้า.jpg

ภาพที่ 1 ป้ายด้านหน้าทางเข้าอุทยาน

(ที่มา : เอ็มไทย, 2557)

ที่ตั้งพิกัดทางภูมิศาสตร์

         ตั้งอยู่ท้องที่ ตำบลโป่งน้ำร้อน ตำบลคลองน้ำไหล ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 16 องศา 2 ลิปดา –16 องศา 20 ลิปดาเหนือ และอยู่ระหว่างเส้นแวงที่ 99 องศา 6 ลิปดา – 99 องศา 19 ลิปดาตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 187,500 ไร่ หรือ 300 ตารางกิโลเมตร (สำนักอุทยานแห่งชาติ, ม.ป.ป.)

สภาพธรณีวิทยา

         อุทยานแห่งชาติคลองลานมีลักษณะเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ด้านทิศตะวันออกเป็นที่ราบ ดินร่วนปนทราย ภูเขาแต่ละลูกเชื่อมโยงติดต่อกับขุนคลองลานซึ่งเป็นจุดสูงสุดในบริเวณนี้ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,439 เมตร สภาพป่าสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำลำธาร ต้นกำเนิดของแม่น้ำหลายสาย เช่น คลองขลุง คลองสวนหมาก ไหลรวมกันลงสู่แม่น้ำปิง (สำนักอุทยานแห่งชาติ, ม.ป.ป.)
ภาพที่ 2 บริเวณพื้นที่โดยรอบ.jpg

ภาพที่ 2 บริเวณพื้นที่โดยรอบของอุทยาน

(ที่มา : อุทยานแห่งชาติคลองลาน,2558)

ลักษณะทางภูมิอากาศ

         อุทยานแห่งชาติคลองลานในฤดูร้อนค่อนข้างร้อน ในฤดูหนาวค่อนข้างหนาวอากาศเย็นสบาย ในฤดูฝนมีฝนตกชุก อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดในเดือนเมษายน 38 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดในเดือนธันวาคม 17 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 1,300 มิลลิลิตรต่อปี (สำนักอุทยานแห่งชาติ, ม.ป.ป.)

สถานะการขึ้นทะเบียน

         ได้รับการจัดตั้งและจดทะเบียนให้เป็นอุทยานแห่งชาติอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2525 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอนที่ 191 เป็นอุทยานลับที่ 44 ของประเทศ

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

         สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
             - หน่วยจัดการต้นน้ำขุนลาน
             - หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ คล.1 (แม่พืช)
             - หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ คล.2 (คลองน้ำไหล)
             - หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ คล.3 (เพชรจะขอ)
             - หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ คล.4 (คลองสวนหมาก)
ภาพที่ 3 กรมอุทยานแห่งชาติ.jpg

ภาพที่ 3 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

(ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, ม.ป.ป.)

ข้อมูลเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติ

         ประวัติความเป็นมา
         สืบเนื่องจากนายเทพ ไสยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีหนังสือ ที่ กส 0215/230 ลงวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2521 ถึงปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานผลการไปตรวจราชการที่จังหวัดกำแพงเพชร เมื่อวันที่ 13 มกราคม  พ.ศ. 2521 ว่า น้ำตกคลองลาน กิ่งอำเภอคลองลานเป็นบริเวณป่าต้นน้ำลำธารและเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ แต่ขาดการดูแลรักษา และมีการลักลอบตัดไม้ไปใช้สอย หากปล่อยทิ้งไว้บริเวณป่าต้นน้ำลำธารก็จะถูกทำลายลงไป ทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตของศูนย์พัฒนาสงเคราะห์ชาวเขา กรมป่าไม้จึงมีหนังสือ ที่ กส 0808/1114 ลงวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2521 แจ้งให้ ป่าไม้เขตนครสวรรค์ตรวจสอบ ซึ่งได้รับรายงานตามหนังสือ ที่ กส 0809 (นว)/1596 ลงวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2521 ว่าได้ทำการสำรวจสภาพพื้นที่บริเวณน้ำตกคลองลานไว้แล้ว เพื่อจะขออนุมัติกรมป่าไม้จัดตั้งเป็นวนอุทยาน เพราะเห็นว่ามีทิวทัศน์สวยงามเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน ซึ่งน้ำตกคลองลานอยู่ในพื้นที่สงวนไว้เป็นพื้นที่ป่าไม้ 40 เปอร์เซ็นต์ ของเขตพื้นที่ศูนย์พัฒนาสงเคราะห์ชาวเขากำแพงเพชร กรมประชาสงเคราะห์ ป่าไม้เขตนครสวรรค์จึงได้ประสานงานกับจังหวัดกำแพงเพชรและกรมประชาสงเคราะห์ ขอใช้พื้นที่บริเวณน้ำตกคลองลาน จำนวน 5,000 ไร่ ที่อยู่ในพื้นที่สงวนไว้เป็นพื้นที่ป่าไม้ 40 เปอร์เซ็นต์ เพื่อจัดเป็นวนอุทยาน ซึ่งกรมประชาสงเคราะห์ไม่ขัดข้อง จังหวัดกำแพงเพชรจึงมีหนังสือ ที่ มท 0714/13/13438 ลงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2521 แจ้งให้กรมป่าไม้ดำเนินการจัดตั้งวนอุทยานเพื่อสงวนป่าต้นน้ำลำธารแห่งนี้
ภาพที่ 4 บริเวณที่ทำการอุทยาน.jpg

ภาพที่ 4 บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติคลองลาน

         ต่อมากรมอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ได้มีคำสั่งที่ 192/2523 ลงวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2523 ให้ นายปรีชา จันทร์ศิริตานนท์ นักวิชาการป่าไม้ 4 ไปทำการสำรวจและจัดพื้นที่บริเวณป่าคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร เป็นอุทยานแห่งชาติ ปรากฏว่า พื้นที่ดังกล่าวมีสภาพป่าทั้งไม้สักและไม้กระยาเลยสมบูรณ์มาก เป็นภูเขาสูงมีธรรมชาติสวยงาม เป็นป่าต้นน้ำลำธารเหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติมีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2525 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2525 เห็นสมควรให้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ป่าคลองลานเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าคลองลานในท้องที่ตำบลโป่งน้ำร้อน ตำบลคลองลาน และตำบลคลองลานพัฒนา กิ่งอำเภอคลองลาน อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจาอุเบกขา เล่ม 99 ตอนที่ 191 ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2525 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 44 ของประเทศ (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, ม.ป.ป.)
ภาพที่ 5 บริเวณด้านหน้าและด้านล่างของน้ำตก.jpg

ภาพที่ 5 บริเวณด้านหน้าและด้านล่างของน้ำตก

(ที่มา : อุทยานแห่งชาติคลองลาน, 2558)

ทรัพยากรแวดล้อม

         ป่าคลองลานยังมีสภาพสมบูรณ์เป็นแหล่งสุดท้ายในด้านทิศใต้ของภาคเหนือ ประกอบด้วยชนิดป่าต่าง ๆ คือ "ป่าดงดิบแล้ง" ซึ่งพบกระจายอยู่ทั่วไปที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลประมาณ 500 เมตรขึ้นไป เช่น ขุนคลองลาน ขุนคลองสวนมาก ขุนคลองขลุง  ขุนน้ำเย็น ชนิดไม้ที่สำคัญได้แก่ ตะเคียนทอง ตะเคียนหิน สมพง ยมหอม พะยอม สมอพิเภก ฯลฯ สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในป่าประเภทนี้ได้แก่ ชะนีมือขาว ช้างป่า หนูหริ่งไม้หางพู่ ปาดลายพื้นเมืองเหนือ กบห้วยขาปุ่ม เต่าปูลู กิ้งก่าบิน ฯลฯ "ป่าดิบชื้น" จะพบอยู่ตามริมห้วยที่มีความชื้นสูง "ป่าดิบเขา" จะพบเป็นหย่อม ๆ "ป่าเบญจพรรณ" สภาพป่าส่วนใหญ่จะเป็นป่าเบญจพรรณผสมป่าดงดิบ ชนิดไม้ที่สำคัญ ได้แก่ สัก ประดู่ ตะแบก มะค่าโมง และไผ่ชนิดต่างๆ
ภาพที่ 6 ตัวอย่างพันธุ์ไม้ในอุทยานแห่งชาติคลองลาน.jpg

ภาพที่ 6 ตัวอย่างพันธุ์ไม้ในอุทยานแห่งชาติคลองลาน

(ที่มา : ศรินญา ภูผาจิตต์ และพรรณี พานทอง, ม.ป.ป.)

ภาพที่ 7 เสือและลิง ที่พบบริเวณอุทยานแห่งชาติคลองลาน.jpg

ภาพที่ 7 เสือและลิง ที่พบบริเวณอุทยานแห่งชาติคลองลาน

(ที่มา : อุทยานแห่งชาติคลองลาน, 2558)

         สัตว์ป่าที่พบในถิ่นที่อยู่อาศัยประเภทนี้ ได้แก่ กระทิง วัวแดง กวางป่า เก้ง ตะกวด ฯลฯ และ "ป่าเต็งรัง" พบในระดับความสูงประมาณ 400-600 เมตรจากระดับน้ำทะเล  ชนิดไม้ที่สำคัญ ได้แก่  เต็งรัง ยอป่า สมอพิเภก รกฟ้า และสมพง ฯลฯ สัตว์ป่าที่พบในป่าประเภทนี้ได้แก่ เขียดหลังปุ่มที่ราบ เขียดอ่อง อึ่งปากขวด เก้ง เป็นต้น ในบริเวณทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอุทยานแห่งชาติคลองลาน ซึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเขาเผ่าต่างๆ แต่ปัจจุบันทางราชการได้อพยพชาวเขาเหล่านี้มาอยู่พื้นที่ราบที่ทางราชการจัดสรรให้สภาพพื้นที่จึงถูกปล่อยให้รกร้างและกลายสภาพเป็นป่ารุ่นสอง ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าขนาดเล็ก จำพวกกระแตธรรมดา ค้างคาวขอบหูขาว กระรอก หนูฟันขาว และหนูขนเสี้ยน ส่วนในบริเวณที่เป็นถ้ำ หนึบหิน และหน้าผา เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าเฉพาะชนิด เช่น เลียงผา ค้างคาวปีกถุงเคราแดง ค้างคาวมงกุฎเล็ก ค้างคาวแวมไพร์แปลงใหญ่ และค้างคาวหน้ายักษ์ทศกัณฑ์ เป็นต้น พื้นที่บริเวณริมลำห้วย และลำคลองที่กระจายอยู่ทั่วพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เป็นแหล่งที่หลบซ่อนหรือถิ่นอาศัยหากินของสัตว์หลายประเภท ได้แก่ กบ อึ่งกรายลายเลอะ ตะพาบธรรมดา ปลาสลา ปลาเวียน และปลาติดดิน เป็นต้น (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, ม.ป.ป.)

สถานที่ท่องเที่ยวภายในอุทยานแห่งชาติคลองลาน

         1. น้ำตกคลองลาน เกิดจากเทือกเขาขุนคลองลานซึ่งมียอดสูง 1,439 เมตรจากระดับน้ำทะเล เหนือหน้าผาน้ำตกเป็นที่ราบกว้างในฤดูฝนสายน้ำจะไหลจากลำห้วยต่างๆ ประมาณ 5 สาย ลงสู่แอ่งน้ำกลางหุบเขาเกิดเป็นวังน้ำลึกและลำน้ำยาวประมาณ 3 กิโลเมตรแล้วไหลผ่านหน้าผาลงมาเป็นน้ำตกคลองลาน สูง 100 เมตร กว้างประมาณ 40 เมตรบริเวณใต้น้ำตกเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถลงเล่นน้ำได้อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 800 เมตร
ภาพที่ 8 บริเวณหน้าผา.jpg

ภาพที่ 8 บริเวณหน้าผาของน้ำตกคลองลาน

         2. น้ำตกคลองน้ำไหล (น้ำตกปางควาย) อยู่ห่างจากที่ทำการประมาณ 25 กิโลเมตร จากเส้นทางสายอุ้มผาง-คลองงาน ก่อนถึงอำเภอคลองลาน เรียกว่า “ถนนปางควาย” ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร ถึงน้ำตกคลองน้ำไหล ซึ่งเป็นน้ำตกขนาดกลาง สายน้ำไหลลดหลั่นกันลงมา มีทั้งหมด 9 ชั้น แต่ละชั้นมีแอ่งน้ำและความสูงต่างกัน ลานหินที่นี่กว้างมากเป็นสีนิลวาววับเมื่อตัดกับสายน้ำ ลำธารสวยด้วยโขดหิน ในชั้นที่ 3 น้ำตกจะแยกเป็น 2 สาย ดูสวยงามทางฝั่งขวาไหลลงสู่แอ่งน้ำกว้างประมาณ 3 เมตร เหมาะสำหรับการเล่นน้ำตก
ภาพที่ 9 ภาพถ่ายบริเวณน้ำตกคลองน้ำไหล.jpg

ภาพที่ 9 ภาพถ่ายบริเวณน้ำตกคลองน้ำไหล

ภาพที่ 10 ภาพถ่ายป้ายคลองสวนหมาก.jpg

ภาพที่ 10 ภาพถ่ายป้ายคลองสวนหมาก