หญิงตั้งครรภ์กับงานอวมงคลของคนพรานกระต่าย อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร

จาก KPPStudies
รุ่นแก้ไขเมื่อ 11:59, 30 พฤษภาคม 2566 โดย Admin (คุย | มีส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย "=='''บทนำ'''== การตั้งครรภ์ ถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดีสำห...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

บทนำ

         การตั้งครรภ์ ถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับหลายๆครอบครัว เพื่อเป็นการต้อนรับสมาชิกใหม่ ครอบครัวมักจะดูแลทั้งเรื่องอาหารการกินของหญิงตั้งครรภ์เป็นพิเศษ นอกจากนั้นยังต้องดูแลไปจนถึงสภาพแวดล้อมที่ผู้ตั้งครรภ์อาศัย นอกจากสภาพร่างกายแล้ว สภาพจิตใจของหญิงตั้งครรภ์ยังถือว่าละเอียดอ่อน ครอบครัวและผู้ที่อยู่ใกล้ชิดจึงต้องดูแลเป็นพิเศษ นั้นรวมไปถึงการเดินทางไปร่วมงานต่าง ๆ ด้วย บทความนี้ได้กล่าวถึงความเชื่อที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหญิงตั้งครรภ์ อาทิ ความเชื่อว่าหญิงตั้งครรภ์ห้ามไปงานศพ ห้ามหญิงมีครรภ์ลูบตัวในเวลากลางคืน ห้ามหญิงตั้งครรภ์ตอกตะปู 

คำสำคัญ: หญิงตั้งครรภ์, งานอวมงคลของคนพรานกระต่าย, จังหวัดกำแพงเพชร

ความหมายเกี่ยวกับการตั้งครรภ์

         ชฎารัตน์ เหลืองอร่าม และคณะ (2563) ได้กล่าวความหมายของการตั้งครรภ์ไว้ว่า “การตั้งครรภ์ คือ ภาวะที่เกิดจากการปฏิสนธิระหว่างไข่กับอสุจิแล้วได้ตัวอ่อนเกิดขึ้นมา ในการตั้งครรภ์ปกติ ตัวอ่อนจะไปฝังอยู่ที่เยื่อบุโพรงมดลูก และตัวอ่อนที่มีเพียงเซลล์เดียว จะแบ่งตัวและพัฒนาเป็นอวัยวะต่าง ๆ จนเจริญเติบโตเป็นทารก ซึ่งผู้หญิงโดยทั่วไปที่มีประจำเดือนปกติและมาสม่ำเสมอทุก ๆ 28-30 วัน จะมีอายุครรภ์ประมาณ 40 สัปดาห์ หรือประมาณ 280 วัน นับจากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งล่าสุด” นอกจากนั้น กาญจนา ศรีสวัสดิ์ และคณะ (2561) ได้กล่าวถึงการตั้งครรภ์ไว้ว่า “การตั้งครรภ์ หมายถึง ภาวะปกติของสตรีวันเจริญพันธุ์ 

เป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของบทบาทการเป็นมารดา การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจึงส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพของหญิงในระยะตั้งครรภ์ ซึ่งพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพเป็นการแสดงออกของหญิงตั้งครรภ์ถึงการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวัน มีจุดมุ่งหมายเพื่อดำรงไว้ซึ่งภาวะสุขภาพ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของหญิงตั้งครรภ์ ครอบครัว และชุมชน รวมทั้งส่งเสริมให้หญิงตั้งครรภ์สามารถดูแลตนเองได้ในระยะตั้งครรภ์”

         ละออง อ้นพา (การสัมภาษณ์, 5 พฤศจิกายน 2565) ชาวบ้านในชุมชนบึงสามัคคี อำเภอบึงสามัคคี จังหวัดกำแพงเพชร ได้ให้ความหมายของการตั้งครรภ์ไว้ว่า “การตั้งครรภ์ หมายถึง การที่เพศหญิงมีการตั้งครรภ์เป็นจำนวน 9 เดือน ตลอดจนมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายโดยมีท้องที่ใหญ่ขึ้น มีขนาดเต้านมที่ขยาย 

มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ คือ มีอารมณ์ที่แปรปรวนง่าย และมีอาการคลื่นไส้ เวียนศรีษะ อยู่บ่อยครั้ง” ประเสริฐ ยาหอม (การสัมภาษณ์, 6 พฤศจิกายน 2565) ชาวบ้านในชุมชนเทศบาล อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ได้ให้ความหมายของการตั้งครรภ์ไว้ว่า ภาวะที่เพศชาย และ เพศหญิง มีเพศสัมพันธ์กัน แล้วเกิดการตั้งครรภ์ โดยในบางคนอาจจะมีระยะการตั้งครรภ์ประมาณ 7-9 เดือน ซึ่งแต่ละบุคคลมีระยะของการตั้งครรภ์ที่ไม่เท่ากัน สุดท้ายคือ สุดารัตน์ เห็นเจริญสุข (การสัมภาษณ์, 6 พฤศจิกายน 2565) ชาวบ้านใน ชุมชนวัชรนคร อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ได้ให้ความหมายของการตั้งครรภ์ไว้ว่า คือ ภาวะที่ผู้หญิงขาดประจำเดือนมากว่า 15 วัน และร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านฮอร์โมนอย่างมาก คือ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เหม็นบางสิ่งบางอย่างอย่างผิดปกติ

         ดังนั้น จึงสามารถสรุปได้ว่า การตั้งครรภ์คือภาวะที่เพศชายและเพศหญิงมีเพศสัมพันธ์กัน และเกิดการตั้งครรภ์เป็นระยะเวลา 9 เดือน ทำให้เพศหญิงมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม จิตใจ และการเปลี่ยนแปลงของบทบาทการเป็นมารดา สิ่งเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่สำคัญของการเป็นแม่ การตั้งครรภ์นับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของชีวิตเพราะเป็นช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของบทบาทการเป็นมารดา โดยปกติจะมีอายุครรภ์ประมาณ 40 สัปดาห์ หรือประมาณ 280 วัน นับ จากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งล่าสุดนั้นเอง

ความเชื่อเกี่ยวกับหญิงตั้งครรภ์

         1. ความเชื่อเกี่ยวกับหญิงตั้งครรภ์ของคนไทย
         คนไทยมีความเชื่อว่าในระยะการตั้งครรภ์ของผู้หญิงส่วนใหญ่มักมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับคติความเชื่อที่ว่าคนท้องไม่ควรไปงานศพ เพราะคนสมัยก่อนมองว่างานศพเป็นงานที่มีแต่ความโศกเศร้า ซึ่งจะทำให้คนท้องที่ไปงานเกิดความหดหู่ อีกทั้งมีความเชื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับงานศพว่า
              1. อาจจะเกิดสิ่งไม่ดี สิ่งชั่วร้าย ขึ้นกับทารกในครรภ์ได้ อาจมีวิญญาณมาอาศัยเกิด หรือวิญญาณเร่ร่อนที่อยู่ในวัดตามกลับบ้านมาด้วยได้
              2. บางคนเชื่อว่า เด็กที่อยู่ในท้องจะถูกวิญญาณของผู้ตายหลอกล่อเอาไปอยู่ด้วย เพราะเด็กที่อยู่ในท้องนั้นยังไม่รู้อะไร ง่ายต่อการถูกผีชักชวนไปอย่างไรก็ได้ หรืออีกประการหนึ่งคือเด็กในท้องอาจจะถูกวิญญาณของผู้ตายนั้นทำร้ายเอา เมื่อเกิดมาจะทำให้เด็กพิการหรือไม่สมประกอบ
         แท้จริงแล้วในเรื่องนี้น่าจะเป็นกุศโลบายของคนเฒ่าคนแก่ที่ไม่ต้องการให้คนท้องไปร่วมงานที่มีบรรยากาศหดหู่ เศร้าหมอง ที่อาจทำให้รู้สึกไม่ดี ส่งผลต่ออารมณ์ของลูกในท้อง อีกทั้งในสมัยก่อนการจัดงานศพต้องเดินทางตอนกลางคืน บางที่จัดในพื้นที่โล่งซึ่งอาจไม่ได้เป็นที่วัด บางหมู่บ้านอาจจะไปเผากลางป่า หรือในป่าช้าที่ต้องเดินไปไกล มีการเดินทางลำบาก ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อหญิงตั้งครรภ์ได้ โดยเฉพาะคนท้องแก่ใกล้คลอด หากเกิดเจ็บท้องคลอดกลางทางก็จะยิ่งลำบาก เพราะการสาธารณสุขในสมัยก่อนยังไม่เจริญเท่าในปัจจุบันที่สามารถมาถึงตัวผู้ป่วยได้รวดเร็วกว่า อีกประการเป็นเพราะว่าร่างกายในขณะตั้งครรภ์มีภูมิต้านทานต่ำ อาจทำให้รับเชื้อโรคที่เกิดจากฝุ่นเถ้าตะกอนที่สูดดมเข้าไป เป็นอันตรายต่อแม่และทารกในครรภ์ได้แต่ข้อห้ามในสมัยโบราณก็ยังมีทางออกไว้ให้แก้ หากแม่ท้องมีความจำเป็นต้องไปงานศพ ตามความเชื่อของคนเฒ่าคนแก่คือ ให้คนท้องติดเข็มกลัด โดยนำเข็มกลัดซ่อนปลายมากลัดไว้ที่เสื้อบริเวณท้องเวลาที่ต้องไปงานศพ หรือเดินผ่านวัด หรือไปโรงพยาบาล เพื่อป้องกันวิญญาณที่อยากจะมาเกิดเข้ามาอยู่ในท้องแทนลูกของเรา ป้องกันสิ่งชั่วร้าย และเมื่อไปงานศพควรรีบไปรีบกลับ ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าไม่ใช่ญาติสนิทก็จะไปฟังในวันพระสวด และจะไม่ไปในวันเผา เมื่อกลับมาแล้วให้ปล่อยวาง ทำใจให้สบาย เพื่อไม่ให้เกิดความหดหู่ 
         ในปัจจุบันแม้ว่าวิวัฒนาการด้านความปลอดภัยทั้งการเดินทางหรือสถานที่ถูกพัฒนาไปมาก แต่การเดินทางไปร่วมงานศพของหญิงตั้งครรภ์ยังเป็นที่น่ากังวลสำหรับครอบครัวอยู่เนื่องจากการไปงานศพในช่วงตั้งครรภ์ หญิงตั้งครรภ์จะต้องสูดดมกลิ่นธูป เทียน และ น้ำอบ หรือการไปในสถานที่ที่คนเยอะ ๆ อาจจะทำให้แม่ท้องสูดดม ทำให้เกิดอาการแพ้ หรือมีโอกาสติดเชื้อโรคมาได้ง่าย และการโศกเศร้าเสียใจอาจทำให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นโดรฟินออกมาลดลง ดังนั้น ในขณะตั้งครรภ์ควรดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อลูกน้อยในครรภ์มากที่สุด ส่วนความเชื่อหรือข้อห้ามนั้นถ้าเข้าใจเหตุผลของอุบายก็จะทำให้หญิงตั้งครรภ์ตระหนักถึงความไม่ประมาทในการใช้ชีวิตช่วงที่อุ้มลูกน้อยในครรภ์
         2. ความเชื่อเกี่ยวกับหญิงตั้งครรภ์ของสตรีไทดำในประเทศไทย 
         กานต์ทิตา สีหมากสุก (ม.ป.ป.) กล่าวไว้ว่า ไทดำ เป็นกลุ่มชนที่มีถิ่นฐานอาศัยอยู่ในเขตสิบสองจุไท (บริเวณตอนเหนือของประเทศเวียดนามในปัจจุบัน) ปัจจุบันจึงมีลูกหลานของชนไทดำกลุ่มนั้น กระจาย และตั้งหลักแหล่งอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย เช่น จังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี เป็นต้น
         ไทดำรุ่นใหม่ในประเทศไทย ยังคงสืบทอดความเชื่อดั้งเดิมของกลุ่มชนในวิถีการดำเนินชีวิต ตั้งแต่วัยเด็ก วัยผู้ใหญ่ จนกระทั่งชราภาพและเสียชีวิตลง โดยเฉพาะความเชื่อในช่วงวัยผู้ใหญ่หลังแต่งงานแล้ว การมีบุตรเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ชีวิตครอบครัวมีความสมบูรณ์ บุตรจะเติบโตเป็นไทดำรุ่นใหม่ สืบทอดความเชื่อให้กลุ่มชนดำรงอยู่ต่อไป เหตุนี้สตรีที่แต่งงานแล้ว เมื่อทราบว่าตนกำลังตั้งครรภ์ แม้ยังคงปฏิบัติภารกิจประจำวัน และทำงานตามปกติ ก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังตนเองให้มากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ภาวะจิตใจของสตรีตั้งครรภ์บางคนมีความกังวลไปในทางที่ไม่ค่อยดี เนื่องจากความกลัวในเรื่องต่าง ๆ เช่น กลัวผีไม่ดีจะมารบกวนให้ตนเสียชีวิต หรือทำให้บุตรในครรภ์แท้งก่อนเกิด ไม่ก็เกิดมาแล้วตายความกลัวที่ส่งผลให้สภาพจิตใจของสตรีไทดำที่กำลังตั้งครรภ์เป็นกังวล ซึ่งความกังวลต่าง ๆ เหล่านั้นสามารถบรรเทาลงได้ หากปฏิบัติตามความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับข้อปฏิบัติและข้อห้ามต่าง ๆ เพื่อสตรีจะได้คลายความกังวล พร้อมปกป้องตนเองและลูกในท้องให้ปลอดภัย ซึ่งคนในรุ่นปู่ย่าจะมีผู้รู้ หรือผู้มีประสบการณ์ จะเป็นผู้แนะนำการดูแลและปฏิบัติตนในขณะตั้งครรภ์ให้กับสตรี ซึ่งในที่นี้จะยกความเชื่อบางส่วนจากการสัมภาษณ์สตรีไทดำในเขตตำบลหนองปรง จังหวัดเพชรบุรี ที่มีอายุ 80 ปี ขึ้นไปมากล่าว ดังนี้
              1. ความเชื่อเกี่ยวกับความฝัน เชื่อว่า สตรีตั้งครรภ์อาจมีการฝันแปลกๆ ที่เป็นลางบอกเหตุได้ทั้งดีและร้าย เช่น ถ้าฝันว่าได้แหวนหรือฝันว่าได้พระอาทิตย์ เชื่อว่าทารกที่มาเกิดจะเป็นเพศชาย ถ้าฝันว่าได้แก้ว เชื่อว่าทารกที่มาเกิดจะเป็นเพศหญิง เป็นต้น
              2. ความเชื่อเกี่ยวกับอาหารของสตรีตั้งครรภ์ เชื่อว่า อาหารบางชนิดเป็นพิษ เช่น อาหารที่มีรสเผ็ด เมื่อรับประทานเข้าไปจะทำให้เด็กในท้องเกิดอาการร้อนและอาจทำให้เด็กเสียชีวิตได้ จึงห้ามสตรีตั้งครรภ์รับประทานอาหารที่มีรสเผ็ดมาก
              3. ความเชื่อเกี่ยวกับผีเรือน (ผีบรรพบุรุษ) เชื่อว่า เมื่อสตรีจะคลอดบุตร (ในอดีตจะนิยมคลอดบุตรที่เรือนของตนเอง) บรรดาญาติๆ ต้องเข้าไปบอกกล่าวผีเรือนที่กะล่อห่องให้ทราบก่อน (กะล่อห่อง คือ มุมห้องในจุดที่เชื่อว่าเป็นที่สถิตของผีเรือน ลูกหลานไทดำจึงแสดงความเคารพด้วยการจัดสำรับหมากพลูไว้บูชา)
              4. ความเชื่อเกี่ยวกับโชคลาง เชื่อว่า เมื่อเด็กคลอดออกมาแล้ว หากเอารกเด็กใส่กระบอกไม้ไผ่ฝังไว้ลึกๆ ตรงชายคาน้ำไหล จะทำให้เด็กโตขึ้นมาเป็นคนฉลาด (ปัจจุบันสตรีไทดำ นิยมไปคลอดบุตรที่โรงพยาบาล จึงทำให้การปฏิบัติตามความเชื่อนี้ค่อย ๆ หายไป)
              5. ความเชื่อเกี่ยวกับเครื่องรางของขลัง เชื่อว่า ของขลังบางชนิดจะช่วยป้องกันอันตรายให้กับบุตรที่คลอดออกมาแล้วได้ เช่น กระเป๋าผ้าที่เย็บเป็นถุงผ้าเล็ก ๆ สำหรับใส่สะดือแห้ง เชื่อว่าจะเป็นเครื่องราง

ช่วยคุ้มครองตัวเจ้าของสะดือ