ประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อและข้อห้ามของหมู่บ้านวุ้งกะสัง จังหวัดกำแพงเพชร

จาก KPPStudies
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:32, 3 กรกฎาคม 2566 โดย Admin (คุย | มีส่วนร่วม) (ประเพณี ความเชื่อและพิธีกรรมในชุมชนหมู่บ้านวุ้งกะสัง)
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

บทนำ

         ชาวบ้านที่อาศัยในหมู่บ้านวุ้งกะสัง ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร มีเชื้อสายเป็นชาวไทยกะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) ปัจจุบันตั้งถิ่นฐานในเขตอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า ซึ่งชุมชนบ้านวุ้งกะสังเป็นชุมชนที่มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นในหลายด้าน เช่น อาหาร การแต่งกาย ภาษา ความเชื่อ ประเพณี วิถีวัฒนธรรม บ้านเรือน ที่ยังคงรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของวิถีชาวกะเหรี่ยงได้อย่างดี รวมถึงมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่เป็นถ้ำ น้ำตก และต้นมะเดื่อยักษ์ ชุมชนบ้านวุ้งกะสัง เป็นชุมชนยังคงรักษาประเพณี ความเชื่อ การแต่งกาย ภาษา อาหาร วิถีวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงแบบดั้งเดิม ซึ่งมีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น และในปัจจุบันก็ยังคงปฏิบัติกันอยู่ และสามารถนำอัตลักษณ์ที่เป็นวิถีวัฒนธรรมของชุมชนไปเผยแพร่ ในด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชนได้ ทำให้ประชาชนมีงานและรายได้จากการท่องเที่ยวของชุมชน เพื่อให้เข้าใจวิถีชีวิตประเพณี ความเชื่อ และข้อห้ามหรือค่านิยมต่างๆภายในชุมชนชาวไทยกะเหรี่ยง(วุ้งกะสัง) ผู้เขียนจึงขอนำเสนอประเพณีการเกิด การแต่งงาน รวมไปถึงประเพณีและพิธีกรรมอื่นๆที่น่าในสนใจของชาวบ้านวุ้งกะสัง

คำสำคัญ: ประเพณี, พิธีกรรม, ความเชื่อ, หมู่บ้านวุ้งกะสัง, จังหวัดกำแพงเพชร

ข้อมูลทั่วไปของชุมชน

         หมู่บ้านวุ้งกะสังตั้งอยู่ที่ ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวปกากะญอ หรือคนทั่วไปเรียกว่า ชาวกะเหรี่ยง ชาวกะเหรี่ยงอาศัยตัวอยู่ในหุบเขามามากว่า 200 ปี หมู่บ้านวุ้งกระสัง เดิมชาวปกากะญอที่วุ้งกระสังเรียกตัวเองว่า “ทีล่อชู โวซะโกร” หมายความว่า น้ำตก คลองวุ้งกระสัง ช่วยหล่อเลี้ยงคนทั้งหมู่บ้านวุ้งกระสัง นับได้ว่าวุ้งกระสังเป็นหมู่บ้านที่ยังคงรักษาวิถีเดิมๆ ไม่เปลี่ยนแปลงมากว่าร้อยปี
         ด้านประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ และข้อห้ามต่างๆ ของหมู่บ้านวุ้งกะสังชน นั้นมีควบคู่ไปกับการนับถือผีของชาวบ้าน เช่นเดียวกับชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่อื่น ๆ โดยเฉพาะการนับถือเรื่องผีวิญญาณและสิ่งเหนือธรรมชาติ ส่วนใหญ่มีความโดยเชื่อว่าผีเป็นผู้ดูแล กำกับพฤติกรรมทุกอย่างตั้งแต่เกิด เช่น ผีบ้านผีเรือน เป็นผีประจำบ้านเรือน ผีวิญญาณของปู่ ย่า ตา ยายที่วนเวียนภายในบ้านคอยป้องกันรักษาบุตรหลานให้อยู่อย่างสงบสุข ส่วนผีบ้านเป็นผีหรือ เทพารักษ์รักษาหมู่บ้าน บางที่เรียกว่า ผีเจ้าเมือง หรือผีเจ้าที่ เจ้าป่า เจ้าเขา ผีฝาย ผีนา ซึ่งมี ความสำคัญมากโดยเฉพาะในพิธีกรรมเกี่ยวกับการเกษตร การดำรงชีพและพิธีกรรมเกี่ยวกับความอยู่ ดีมีสุขของคนในหมู่บ้าน เป็นต้น (มะลี ทองคำ, การสัมภาษณ์, 14 ธันวาคม 2565)

ประเพณี ความเชื่อและพิธีกรรมในชุมชนหมู่บ้านวุ้งกะสัง

1. ประเพณีการเกิด
         เมื่อสตรีกะเหรี่ยงตั้งครรภ์ ก็จะต้องปฏิบัติอย่างระมัดระวังตังอย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้คลอดบุตรยากเป็นอันตรายแก่แม่และเด็ก อาหารเป็นเรื่องสำคัญ หญิงมีครรภ์ต้องไม่รับประทานอาหาร ที่ไม่คุ้นเคยหรือที่คนอื่นทำมาขาย การดื่มเหล้า เชื่อว่าจะทำให้แท้งและการกินขนุนจะทำให้ทารกในครรภ์เกิดมาเป็นโรคผิวหนัง นอกจากนี้นั้นยังห้ามหญิงมีครรภ์ไปงานศพ เพราะวิญญาณผู้ตาย ไปสู่โลกได้ง่ายๆ หากเผอิญไปเห็นศพหรือคนตายเข้า ก็จะต้องทำพิธีเรียกขวัญกันอย่างด่วน และคนในหมู่บ้านก็จะช่วยกันระมัดระวังมิให้เกิดเหตุการณ์ใดๆ มารังควานหญิงมีครรภ์ เช่นไม่ล้มต้นไม้ขวางทางเดินไว้ เพราะจะทำให้ผู้ไปพบคลอดบุตรยาก ต้องปัดรังควานหรือขอขมากันด้วยไก่หนึ่งตัว (มะลี ทองคำ, การสัมภาษณ์, 14 ธันวาคม 2565)
         การดูแลรักษาสุขภาพของหญิงกะเหรี่ยงตั้งครรภ์ในด้านการดูแลสุขภาพให้มีความแข็งแรงนั้น ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากบรรพบุรุษเดิมเช่นเดียวกับเผ่าอื่นๆ คือเริ่มตั้งแต่เด็กที่อยู่ในท้อง มารดาจนถึงวัยชราภาพ ซึ่งจะเห็นได้จากจะมีข้อห้ามและข้อพึงปฏิบัติทั้งบิดาและมารดาเช่น ห้ามกินตัวอ่อนของตัวต่อ ห้ามกินอาหารที่มียาง เช่น เผือก ขนุน ห้ามกินเนื้อหมูป่าและสัตว์ที่ถูกเสือกัดตาย ห้ามนอนหลับมากเกินไปและทำงานหนักเกินไป
         นอกจากนั้น สตรีกะเหรี่ยงตั้งครรภ์จะต้องกินผักบำรุงร่างกาย รักษาความสะอาด ทำงานให้พอเหมาะ และรักษาอารมณ์ให้ดีอยู่เสมอ การคลอดตามปกติหญิงกะเหรี่ยงจะให้กำเนิดทารก ในบ้านของตนเองโดยมีสามี มารดา และ ญาติอื่น ๆ คอยช่วยเหลือ เวลาคลอดจะนั่งชันเข่าบนพื้นโดยโหนผ้าซึ่งผูกห้อยลงมาจากขื่อ ช่วยนวดดันทารกออกจากครรภ์ขณะที่เธอเบ่งอยู่นั้น เมื่อทารกพ้นออกจากครรภ์ เขาจะตัดสายสะดือด้วยผิวไม้ไผ่และห่อรกด้วยผ้าบรรจุลงในกระบอกไม้ไผ่ จากนั้นจะให้พ่อของเด็กนำสะดือที่อยู่ในกระบอกไม้ไผ่ไปแขวนไว้บนต้นไม้ในป่า ต้นไม้ต้นนี้เรียกว่า "ป่าเดปอ" เป็นต้นไม้ที่ใช้เก็บขวัญเด็ก ห้ามตัดต้นไม้ต้นนี้เพราะจะทำให้เด็กล้มป่วย หรือถึงแก่ชีวิตได้ ถ้ามีคนไม่รู้และไปตัดต้นไม้ต้นนั้น จะต้องทำการเรียกขวัญเด็กทันที โดยตามผู้เชี่ยวชาญมาประกอบพิธีสวดทำน้ำมนต์รดทั่วตัวมารดา เสร็จแล้วสามี หรือบิดาของเธอจะทำพิธีเรียกขวัญให้มารดาและเด็ก เมื่อเด็กครบเดือนจึงจะทำพิธีตั้งชื่อ พ่อแม่จะผูกข้อมือเด็กและเจาะหู เพื่อแสดงว่าทารกนี้เป็นคนมิใช่วานร แล้วกล่าว "บัดนี้เจ้าเป็นคนแล้ว" หากเด็ก ล้มป่วยลงหลังจากคลอดออกมาเพียงไม่กี่วัน พ่อแม่ก็จะไปที่ฝังรกเด็กแล้วเรียกขวัญให้กลับเข้าร่าง หากป่วยเมื่ออายุมากกว่าสองสัปดาห์ขึ้นไป ก็จะต้องเซ่นผีด้วยไก่เพื่อซื้อวิญญาณเด็ก เมื่อขึ้นบ้านก็จะเคาะบันไดล่วงหน้าขึ้นไป แล้วรีบเข้าบ้านเพื่อดูให้แน่ใจว่าวิญญาณได้เข้าร่างเด็กแล้ว พิธีเรียกขวัญนี้คือพิธีผูกขวัญครั้งแรกของบุคคลผู้นี้ที่เกิดมาลืมตาอยู่บนโลก คนกะเหรี่ยงเชื่อว่าขวัญของคนมีอยู่ 37 ขวัญที่อยู่ในรูปของสัตว์ชนิดต่างๆ การผูกขวัญครั้งแรกของทารกนี้ก็จะทำให้ทารกได้รับขวัญที่ 37 ขวัญนี้ โดยครบถ้วน ซึ่งได้แก่
1.ขวัญหัวใจ 2.ขวัญมือซ้าย 3.ขวัญมือขวา
4.ขวัญเท้าซ้าย 5.ขวัญเท้าขวา 6.ขวัญหอย
7.ขวัญปู 8.ขวัญปลา 9.ขวัญเขียด
10.ขวัญแย้ 11.ขวัญจิ้งหรีด 12.ขวัญตั้กแตน
13.ขวัญตุ๊กแก 14.ขวัญแมงมุม 15.ขวัญนก
16.ขวัญหนู 17.ขวัญชะนี 18.ขวัญหมูป่า
19.ขวัญไก่ป่า 20.ขวัญเก่ง 21.ขวัญกวาง
22.ขวัญสิงห์ 23.ขวัญเสือ 24.ขวัญช้าง
25.ขวัญข้าว 26.ขวัญงู 27.ขวัญตุ่น
28.ขวัญเม่น 29.ขวัญเลียงผา 30.ขวัญแรด
31.ขวัญเต่า 32.ขวัญตะกวด 33.ขวัญกุ้ง
34.ขวัญอีเห็น 35.ขวัญกระทิง 36.ขวัญต่อ
37.ขวัญนกแก๊กนกแกง

(Widebase, 2549)

         แต่เมื่อคลอดเรียบร้อยแล้ว มารดาก็จะต้องนั่งอยู่ไฟสามวันก่อนจะออกจากบ้าน หญิงที่พึ่งคลอดจะไม่สามารถนอนราบลงไปได้ เพราะเชื่อกันว่าจะทำให้โลหิตขึ้นสมองตาย บางรายก็จะนั่งกอดหินซึ่งเผาไฟร้อนแล้วห่อผ้าแนบท้องไว้ ระหว่างนี้อาหารที่กินได้ คือ ข้าวกับน้ำเปล่าหรือข้าวต้มเท่านั้น วันหลังคลอดมารดาจะเคี้ยวข้าวผสมกับเกลือและน้ำจนละเอียดแล้วป้อนให้เด็กเป็นพิธี เมื่อสายสะดือเด็กหลุดก็จะทำพิธีผูกข้อมือเด็ก และผูกคอ ด้วยสร้อยกรวดเป็นการอวยพรให้แข็งแรงโตเร็ว
         ปัจจุบัน แม้ว่าความเจริญเริ่มเข้าสู่ชนบทการพัฒนาเริ่มเกิดขึ้น จึงทำให้ความเชื่อ วัฒนธรรมต่างๆ เริ่มลดน้อยลงไป ส่วนใหญ่กะเหรี่ยงในสมัยนี้จะนิยมไปคลอดบุตรในโรงพยาบาล เพราะถือว่าสะดวกสบาย ไม่วุ่นวายเหมือนแต่ก่อน ยิ่งมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามายิ่งทำให้เข้ามา คลอดบุตรในเมืองกันมากขึ้นจนมาถึงทุกวันนี้ (มะลี ทองคำ, การสัมภาษณ์, 14 ธันวาคม 2565)
2. ประเพณีแต่งงาน 
         ประเพณีแต่งงานของชาวไทยกะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) ในหมู่บ้านวุ้งกะสังมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “อ่อ มุ” ซึ่งโดยทั่วไปแล้วชาวไทยกะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) ในหมู่บ้านวุ้งกะสังไม่มีการกำหนดช่วงเวลาในการจัดงานที่ตายตัว แต่มักจะนิยมแต่งงานในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ โดยหนุ่มและสาวกะเหรี่ยง มักมีโอกาสพบปะสนทนากันในตอนกลางคืน หนุ่มกะเหรี่ยงจะไปหาสาวที่บ้าน และนั่งสนทนากันบนบ้านซึ่งอาจเป็นนอกห้องหรือในห้อง ส่วนใหญ่จะเป็นในห้อง เพราะมีเตาไฟที่ให้แสงสว่างอยู่กลางห้อง เนื่องจากบ้านของกะเหรี่ยงมีห้องเพียงห้องเดียว ในขณะที่สนทนากัน พ่อแม่ก็จะนอนอยู่ใกล้เตาไฟนั่นเอง นอกจากที่บ้านของหญิงสาวแล้ว โอกาสที่หนุ่มสาวกะเหรี่ยง จะได้พบกันก็คือ ในงานศพเวลากลางคืนพวกหนุ่มสาว จะเดินรอบ ๆ ศพ และกอดคอกันร้องเพลง (ระหว่างหญิงกับหญิง หรือชายกับชาย ระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงห้ามกอดคอกันเด็ดขาด) เพื่ออวยพรให้ผู้ตายไปสู่ที่ชอบๆ โอกาสนี้เป็นโอกาสที่หนุ่มสาวจะได้ใกล้ชิดและสนิทสนมกันมากขึ้น การร้องเพลงในงานศพนี้ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายจะโต้ตอบบทเพลงกันและกันอย่างสนุกสนาน
         หากหนุ่มสาวได้เสียกันก่อนแต่งงาน ก็จะต้องมีการขอขมาต่อผีเจ้าที่ ซึ่งเป็นผีบ้านไม่ใช่ผีเรือนและให้มีการขอขมาต่อผู้เฒ่า รวมทั้งหัวหน้าหมู่บ้านและหมอผีด้วย วันต่อมาจึงจะจัดให้มีการแต่งงานกัน พิธีการแต่งงานของหนุ่มสาวที่ได้เสียกันก่อนแต่งงานจะไม่มีงานสนุกสนานรื่นเริงเหมือนงานแต่งที่เป็นหนุ่มสาวบริสุทธิ์ แต่ทำพอเป็นพิธีเท่านั้นกะเหรี่ยงหนุ่มสาวที่บริสุทธิ์ จะไม่ยอมไปร่วมในพิธีด้วย เพราะเกรงว่าจะเอาตัวอย่างเหล่านี้ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดีมาใช้ และถือว่าเป็นการผิดประเพณีกะเหรี่ยงทำให้วงศ์ตระกูลเกิดเรื่องน่าละอาย ถ้าหนุ่มสาวคู่ที่ได้เสียกันไม่ใช่หนุ่มสาวหรือสาวโสด ก็จะต้องถูกปรับเป็นเงินและสัตว์เลี้ยงได้แก่ หมู ไก่ และควาย เป็นต้น (บ้านจอมยุทธ, ม.ป.ป.)
         หลักพิธีแต่งงานของชาวไทยกะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) ในหมู่บ้านวุ้งกะสัง
         เริ่มด้วยการให้ผู้เฒ่าผู้แก่มาทาบทามเพื่อถามความสมัครใจทั้งสองคนก่อน จากนั้นจะเป็นการสู่ขอโดยฝ่ายหญิงได้ให้ผู้อาวุโสชาย 2 คนไปหาฝ่ายชาย (ประเพณีการสู่ขอของกะเหรี่ยงผู้หญิงจะเป็นผู้สู่ขอผู้ชาย) หลังจากยินยอมตกลงกันแล้ว ทั้งสองฝ่ายก็ได้นัดหมายกันว่า อีกเจ็ดวันจะทำพิธีแต่งงาน (การกำหนดวันแต่งงาน ซึ่งจะจัดขึ้นภายใน 7-9 วัน หลังจาก วันสู่ขอและต้องเป็นวันที่คี่ เช่น วันที่ 3 วันที่ 5 วันที่ 7 หรือวันที่ 9 หลังจากการสู่ขอ จะเป็นวันไหนก็ใช้วิธีปักกระดูกไก่ดูเอา เมื่อกำหนดวันแล้วก็บอกไปยังญาติมิตรทั้งหลาย จะได้เตรียมตัวช่วยเหลือ เช่น เตรียมหมู ไก่ หรือเหล้าสำหรับใช้ในพิธีแต่งงาน) เมื่อฝ่ายชายเต็มใจรับการสู่ขอก็จะมีผู้อาวุโสชายฝ่ายชาย 2 คนและหนุ่มโสด 1 คน ที่ไม่ใช่พี่น้องของเจ้าบ่าว รับการสู่ขอเพื่อนัดหมายวันแต่งงาน ชายหนุ่มโสดคนนี้จะเป็นตัวประกันในการแต่งงาน หากเจ้าบ่าวตัวจริงเกิดขัดข้องด้วยเหตุใดก็ตาม ชายหนุ่มคนนี้จะต้องแต่งงานแทนเจ้าบ่าวตัวจริง ณ บ้านฝ่ายหญิงก็จะมีการฆ่าไก่เพื่อต้มหรือแกงและมีการเตรียมเหล้าเลี้ยง เพื่อเป็นการยืนยันว่าจะไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา หากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบิดพลิ้ว ฝ่ายนั้นจะหาคู่ครองยาก เพราะไม่มีสัจจะ
         ในวันแต่งงาน ฝ่ายชายจัดขบวนแห่ซึ่งมีการร้องทำเพลง ตีฆ้องกลองกันอย่างสนุกสนาน เดินไปบ้านเจ้าสาว ทุกคนแต่งกายแบบกะเหรี่ยง เจ้าบ่าวจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าเก่าๆ ในขบวนแห่ เจ้าบ่าว ต้องเตรียมสิ่งของใส่ตะกร้า แล้วให้หญิงอาวุโสพาดไป การพาดก็คือ การใช้สายคล้องสะพายอยู่ ตรงหน้าผากและตะกร้าอยู่ข้างหลัง ในตะกร้าจะมีของมีเครื่องมือ เช่น พร้า จอบเสียม เงินก้อน โบราณ เงินเหรียญซึ่งเป็นโลหะเงิน ผ้าโพกศีรษะ เสื้อและผ้านุ่งใหม่ของแม่บ้าน เป็นต้น ฝ่ายเจ้าสาว จะจัดขบวนที่มีแต่ผู้ชายไปรับและนำเข้ามาในบ้าน ในขบวนของแต่ละฝ่ายจะมีผู้ร่ายเวทย์มนต์คาถา ไปด้วย (บ้านจอมยุทธ, ม.ป.ป.)
         เมื่อขบวนเจ้าบ่าวไปถึงลานบ้านเจ้าสาว จะมีพิธีดื่มเหล้า โดยเจ้าสาวเอาเหล้าที่เป็นเหล้าขวดแรกจากการต้มกลั่นครั้งแรก ซึ่งเรียกว่า”ซิโข” หมายถึงหัวเหล้า แก้วสุดท้ายเรียกว่า”ซิคี” หมายถึงก้นเหล้า (เรียกพิธีกรรมนี้ว่า “แควะ ซิ” หมายถึง พิธีหัวเหล้าและก้นเหล้า) เพื่อรินให้เจ้าบ่าว 1 แก้ว เจ้าบ่าวจะส่งให้หัวหน้าผู้รอบรู้เวทย์มนต์คาถาอาคม ทำการเสกเป่าและอวยพรให้อยู่ดีมีสุข เสร็จแล้ว หัวหน้าจะรินเหล้าลงพื้นดินนิดหน่อย แล้วจะส่งกลับให้เจ้าบ่าวดื่มจนหมด สุราที่เหลือในขวดก็ส่ง ให้ญาติพี่น้องดื่มกันจนหมด จากนั้นฝ่ายเจ้าบ่าวก็รินเหล้าของตนให้เจ้าสาวและทำพิธีเช่นเดียวกัน เมื่อทำพิธีดมเหล้าแล้ว พิธีต่อไปคือ พิธีขึ้นบ้าน ขณะขึ้นถึงหัวบันไดบ้านจะมีญาติอาวุโสฝ่ายหญิงเอาน้ำเย็นราดลงบนเท้าของคู่บ่าวสาวเพื่อล้างเสนียดจัญไร พร้อมกล่าวคำอวยพร และจะมีการรดน้ำที่เท้าให้แก่ผู้ที่ตามมาทุกคน จากนั้นทำ พิธีป้อนข้าว โดยเจ้าสาวเอาข้าวและอาหารใส่ถ้วยเล็กๆ เพื่อให้เจ้าบ่าวกินให้หมดในหนึ่งคำ จากนั้นญาติของทั้งสองฝ่ายก็จะทำแบบเดียวกัน แล้วจึงรับประทานอาหารกันตามปกติ เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว พรรคพวกของทั้งสองฝ่ายจะดื่มเหล้า และร้องเพลงของเผ่า ตามบ้านญาติพี่น้องของเจ้าสาว แล้วหัวหน้าทั้งสองฝ่ายต่างอวยพรให้เจ้าบ่าวเจ้าสาว (บ้านจอมยุทธ, ม.ป.ป.)
         ประเพณีของกะเหรี่ยงถือว่าข้าวเป็นชีวิต จึงให้ความสำคัญกับเหล้าที่ทำมาจากข้าวสำหรับทำพิธีกรรมทุก ๆ พิธีกรรม โดยเฉพาะในพิธีดื่มเหล่าเจ้าสาวจะนำสายกระพวนมาคล้องคอเจ้าบ่าว และนำบุหรี่สองมวนมาให้ มวนที่หนึ่งจุดไฟให้เจ้าบ่าว มวนที่สองให้เจ้าบ่าวถือไว้ในมือ จากนั้นเจ้าสาวจะแจกสายกระพวนแก่เพื่อนบ้านที่มากับเจ้าบ่าว ระหว่างพิธีดื่มหัวเหล้า-ก้นเหล้า คนอื่น ๆ ก็ดื่มเหล้าด้วย พร้อมกับขับลำนำโต้ตอบกันอย่างสนุกสนาน เจ้าบ่าวกับแขกผู้มาเยือนจะรับเนื้อหาลำนำเป็นการถามไถ่กัน ถึงการเดินทางว่าเป็นอย่างไรบ้าง มีความทุกข์ยากลำบากใจอะไรบ้างไหม เจอะเจอกับอะไรบ้าง หลังจากนั้นจึงแยกย้ายกัน ในส่วนของเจ้าบ่าวนั้นคืนแรกเจ้าบ่าวจะไปนอนบ้านอีกหลังหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่บ้านเจ้าสาวแต่อาจบ้านของหัวหน้าผู้มาขอนัดวันแต่งงานเจ้าบ่าวสาวหรืออาจจะไม่ได้นอน เพราะต้องไปกับผู้ใหญ่ซึ่งขับเสียงลำนำโต้ตอบกันทั้งคืน วันรุ่งขึ้นผู้ชายฝ่ายเจ้าสาวมารับเจ้าบ่าวเพื่อไปยังบ้านเจ้าสาว เพราะมีพิธีอีกขั้นตอนหนึ่งคือ พิธีการผูกข้อมือโดยในพิธีจะให้เจ้าบ่าวกับเจ้าสาวนั่งลงใกล้กันและใกล้ขันโตก ผู้อาวุโสคนหนึ่งในหมู่บ้านนำด้ายขาวสองเส้น ผูกข้อมือ เจ้าบ่าวก่อนแล้วผูกข้อมือเจ้าสาวต่อ ขณะผูกข้อมือท่านผู้อาวุโสจะอธิษฐานอวยพรแก่เจ้าบ่าวและเจ้าสาว จากนั้นแม่เจ้าสาวจะรินหัวเหล้าให้เจ้าบ่าวดื่มและก้นเหล้าให้เจ้าสาวดื่ม จากนั้นเจ้าบ่าวเจ้าสาวพร้อมกับพ่อแม่ญาติพี่น้องก็ลงมือกินข้าว เพื่อนบ้านของเจ้าบ่าวก็ขึ้นมากินข้าวในเวลานั้นด้วย เมื่อทุกคนกินข้าวอิ่มแล้ว เพื่อนบ้านของเจ้าบ่าวพากันกลับบ้าน ส่วนเจ้าบ่าวต้องนอนที่หมู่บ้านนี้อีกหนึ่งคืน ตกกลางคืนเจ้าสาวจะต้องเปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นชุดแม่บ้านสีดำใหม่เอี่ยมที่ เรียกว่า “เชซู” (คือผ้าเสื้อท่อนบนของชุดแม่บ้านผู้ออกเหย้าออกเรือนแล้ว หมายถึงเสื้อดำ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า “เชเบอะ” หมายถึงเสื้อปักลูกเดือย ที่เรียกว่า เสื้อดำและเสื้อปักลูกเดือย เพราะ ท่อนล่างยังมีอีกเรียกว่า “หนี่หรือซิ่น” เป็นพื้นสีแดงและมีลายมัดหมี่ตัดขวางตลอดทั้งผืน) ส่วนเจ้าบ่าวนั้นต้องใส่เสื้อแดงที่เรียกว่า “เชก๊อ” ซึ่งเจ้าสาวเป็นผู้ทอให้เจ้าบ่าวยื่นให้เจ้าบ่าวด้วยมือของเจ้าสาวเอง (เชก๊อ หมายถึงเสื้อผู้ชายเป็นผ้าสีแดง คำนี้มีความหมายสวยสดงดงามและมีความบริสุทธิ์ ผุดผ่อง) เวลานี้เจ้าบ่าวและเจ้าสาวต่างอยู่ในชุดแต่งงานรอเวลาพิธีส่งเข้าเรือนหอต่อไป ค่ำคืนนี้ยังมี ข้าวเย็นอีกมื้อหนึ่ง ซึ่งญาติเจ้าสาวไปเชิญชวนผู้อาวุโส 3-4 ท่าน ที่นำทางเจ้าบ่าวไปเยี่ยมตามบ้านต่าง ๆ เมื่อตอนกลางวันให้มากินข้าวด้วย เพื่อมาเป็นพยานในการส่งเจ้าสาวเจ้าบ่าวสู่เรือนหอ ทุกคนกินข้าวพร้อมกันดื่มเหล้าเสร็จจึงแยกย้ายกัน หลังจากเจ้าสาวเจ้าบ่าวดื่มเหล้าและรับประทานอาหารเสร็จแล้ว เจ้าสาวจะเปลี่ยนเครื่องแต่งกายให้เจ้าบ่าว ใหม่ จากนั้นหัวหน้าฝ่ายเจ้าบ่าวจะแจกของในตะกร้า ที่นำมาให้ญาติอาวุโสซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว ของเจ้าสาว ส่วนเงินหล่อแท่งเก็บเอาไว้เป็นของประจำตระกูลต่อไปเป็นอันเสร็จพิธีการแต่งงานที่บ้านเจ้าสาว 
         ชาวกะเหรี่ยงนิยมจัดงานแต่งงาน 2 วัน วันที่สองจะทำพิธีที่บ้านเจ้าบ่าว วันแรกเจ้าสาวยังไม่เปลี่ยนเครื่องแต่งกายชุดขาวทรงกระสอบที่แสดงความเป็นสาวพรหมจารีย์ แต่จะไปเปลี่ยนเป็นนุ่ง ผ้าถุงและสวมเสื้อสำหรับหญิงมีเรือนในวันรุ่งขึ้น พิธีในวันที่สองดำเนินไปในลักษณะเดียวกับวันแรก เช่น หญิงอาวุโสฝ่ายหญิงจะเตรียมของใส่ตะกร้าร่วมขบวนแห่ไปยังบ้านเจ้าบ่าว เป็นต้น สองคืนกับ หนึ่งวันที่ค้างอยู่ที่บ้านเจ้าสาว วันนี้เจ้าบ่าวและเจ้าสาวต้องกลับไปยังบ้านเจ้าบ่าวพร้อมกับเพื่อนบ้าน ที่เป็นฝ่ายเจ้าสาวเป็นพยาน เมื่อรวมกันที่บ้านเจ้าสาวแล้ว จากนั้นออกเดินทางไปยังหมู่บ้านเจ้าบ่าว เมื่อถึงบ้านเจ้าบ่าวก็จะมีเพื่อนบ้านรอรับ เพื่อมาทำพิธีกันในฝ่ายของเจ้าบ่าวต่อ พ่อแม่ของเจ้าบ่าวยืนรอลูกชายและลูกสะใภ้ใหม่ที่เชิงบันได ในมือถือกระบอกไม้ไผ่ตักน้ำคนละกระบอก มีก้อนหิน 1 ก้อน วางอยู่ข้างหน้าให้ลูกชายกับลูกสะใภ้เหยียบบนก้อนหิน เจ้าบ่าวเหยียบเท้าขวาเจ้าสาวเหยียบเท้าซ้าย พ่อแม่เทน้ำลงไปบนเท้าของเจ้าบ่าวและเจ้าสาว พร้อมกับอธิษฐานว่า “มีแรงกิน มีแรงทำ มีอายุยืนดั่ง ก้อนหิน มีความร่มเย็นดั่งน้ำ อย่าได้เจอะเจอกับความทุกข์ยากลำบากใจเลย” จากนั้นจึงขึ้นบนบ้าน รินเหล้าให้ผู้อาวุโสของหมู่บ้านและท่านก็อธิษฐานอวยพรให้ ตกตอนกลางคืนก็มีเสียงร้องเพลงกะเหรี่ยง ขับลำนำโต้ตอบกันดังระงมทั้งหมู่บ้านระหว่างแขกฝ่ายเจ้าสาวกับฝ่ายเจ้าบ่าวที่หมู่บ้านของเจ้าบ่าว
         พิธีกรรมทั้งหมดอยู่ที่บ้านฝ่ายเจ้าสาว เพราะตามวัฒนธรรมกะเหรี่ยงพิธีกรรมภายในบ้านจะเป็นของผู้หญิง วันรุ่งขึ้นมีการเลี้ยงอาหารแขกและเพื่อนบ้านอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นเพื่อนบ้านของเจ้าสาวต่างพากันกลับบ้าน ในพิธีแต่งงานเจ้าสาวจะต้องแสดงฝีมือในการต้มและกลั่นเหล้าให้บิดามารดาฝ่ายเจ้าบ่าวดื่ม โดยเจ้าสาวยังค้างอยู่ที่หมู่บ้านเจ้าบ่าวอีกประมาณ 7 วัน ตามประเพณีกะเหรี่ยง สิ่งที่ลูกสะใภ้ต้องทำให้กับพ่อแม่สามีอันดับแรกคือการต้มเหล้า ซึ่งจะเป็นการพิสูจน์ว่า ลูกสะใภ้เก่งกาจในหน้าที่ของสตรีหรือไม่ เมื่อเจ้าสาวต้มเหล้าเสร็จแล้วพ่อแม่เจ้าบ่าวก็เรียกญาติพี่น้อง ทุกคนมาร่วมกันดื่มและแสดงความคิดเห็น เช่น เหล้ามีรสชาติดีและอร่อยกล่าวชมเชยในฝีมือของเจ้าสาว เพราะนี่แสดงถึงนิมิตหมายอันดีที่ชีวิตครอบครัวของเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะมีแต่งความราบรื่นและอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ในวันที่ 8 เขาทั้งสองคนต้อง กลับไปยังหมู่บ้านเจ้าสาว (ผู้ชายกะเหรี่ยงเมื่อแต่งงานแล้ว ต้องไปอยู่อาศัยบ้านผู้หญิง) ก่อนกลับแม่เจ้าบ่าวจะเตรียมกระชุหนึ่งใบให้ลูกสะใภ้ใหม่แบกกลับไปด้วย ข้างในบรรจุเสื้อผ้าซึ่งเป็นชุดแม่บ้านหลายชุดด้วยกัน เป็นของที่แม่สามีต้องให้กับสะใภ้ตามประเพณี เมื่อกลับไปหมู่บ้านเจ้าสาว สิ่งที่ลูกเขยและลูกสาวจะต้องทำร่วมกัน คือการไปหาของกินด้วยกัน การออกไปหาของกินด้วยกันครั้งแรก เรียกว่า “ฆือ เอาะ ชุ ตา” การไปหาของกินร่วมกันครั้งแรกต้องมีสามีภรรยาหนึ่งคู่ไปเป็นพี่เลี้ยง ไม่เช่นนั้นจะถือว่าไม่ดี การไปหาของกินจะไปหาที่ห้วยหรือแม่น้ำที่ไม่ไกลจากหมู่บ้านมากนัก เมื่อได้กุ้ง ปู ปลามาแล้ว คนทำอาหารจะนำหินก้อนเท่าหัวแม่มือสองก้อนใส่หม้อลงไปด้วย ซึ่งชาวกะเหรี่ยงเชื่อกันว่า การทำเช่นนี้เป็นการอวยพรเจ้าบ่าวเจ้าสาวทั้งสองให้มีอายุยืนดั่งก้อนหินสองก้อนนี้และร่วมกันกินข้าว เจ้าสาวเก็บจะเก็บก้อนหินไว้อย่างดี หากก้อนหินนั้นหายก็ให้มันหายขอให้มันหายมันเองนี่เป็นธรรมเนียม ประเพณีขั้นสุดท้ายสำหรับการแต่งงาน คนกะเหรี่ยงถือว่าชีวิตแต่งงานสำคัญมาก จึงมีขั้นตอน ธรรมเนียมประเพณีมากมายและใช้เวลายาวนาน พิธีการแต่งงานที่สมบูรณ์แบบของกะเหรี่ยง สำหรับบางคนนั้นต้องใช้เวลานานถึง 14-21 วัน คือนับตั้งแต่การไปสู่ขอจนถึงการไปหาของกินร่วมกันครั้งแรก (บ้านจอมยุทธ, ม.ป.ป.)
         ความสำคัญของประเพณีแต่งงาน
         การแต่งงานสำหรับชาวกะเหรี่ยงนั้น คือความหวังสูงสุดที่หนุมสาวกะเหรี่ยงรอคอย โดยการแต่งงานนั้นเกิดจากความรักความสมัครใจของทั้งสองฝาย เมื่อตกลงที่จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกันก็จะส่งเฒ่าแก่ไปทาบทาม ชาวกะเหรี่ยงมีความเคร่งครัดเรื่องการแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียว และมีการหย่าร้างเกิดขึ้นน้อยมาก หากหญิงสาวคนไหนที่ให้กำเนิดบุตรนอกสมรส หรือยังไม่ได้เข้าพิธีแต่งงานจะถูกคนในสังคมกะเหรี่ยงรังเกียจและต้องทำพิธีขอขมาผีและชาวกะเหรี่ยงเชื่อว่าผู้นั้นจะประสบความลำบากและหาคู่ครองยากหรืออาจไม่มีคู่ครอง (เสาวลักษณ์ กาญจนธนสิน, 2559)
         ประเพณีแต่งงาน เป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์และสำคัญ นิยมแต่งในเดือนกุมภาพันธ์และห้ามแต่งในเดือนเมษายน “ในอดีตฝ่ายหญิงต้องไปขอฝ่ายชาย โดยมีพ่อสื่อไปสู่ขอด้วยเงินสินสอด 1 บาท 50 สตางค์ ผู้ชายเตรียมผ้าเช็ดหน้า 1 ผืนและของขวัญเป็นการตอบแทน ปัจจุบันในหมู่บ้านวุ้งกะสังฝ่ายหญิงและฝ่ายชายออกค่าสินสอดกันคน ละครึ่ง บางครอบครัวไม่มีค่าสินสอด แต่มีค่าอาหารหารเลี้ยงแขก หมู ไก่ ช่วยกันออกทั้งสองฝ่าย (มะลี ทองคำ, การสัมภาษณ์, 14 ธันวาคม 2565)