ภูมิปัญญาศิลปหัตถกรรมกระดาษกล้วย ชุมชนเทพนิมิตสามัคคี

จาก KPPStudies
รุ่นแก้ไขเมื่อ 10:12, 8 มกราคม 2564 โดย Admin (คุย | มีส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย "== บทนำ == การศึกษาศิลปหัตถกรรมท้องถิ่น ซึ่งเกิดจากก...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

บทนำ

         การศึกษาศิลปหัตถกรรมท้องถิ่น ซึ่งเกิดจากการสร้างสรรค์โดยภูมิปัญญาช่างพื้นบ้าน มีความสำคัญ และคุณค่าอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิตในแต่ละชุมชน เพราะนอกจากความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิตประจำวันแล้ว ยังสะท้อนค่านิยม ความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรม รวมถึงประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นนั้นๆ ได้อย่างดี การสร้างสรรค์ศิลปหัตถกรรมท้องถิ่นโดยอาศัยวัตถุดิบและช่างฝีมือภายในชุมชน ส่งผลให้ศิลปหัตถกรรมที่ผลิตขึ้น มีเอกลักษณ์เฉพาะที่แตกต่างจากงานศิลปหัตถกรรมในท้องถิ่นอื่น การศึกษาถึงศิลปหัตถกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงเป็นการศึกษาสภาพสังคมโดยรวมของแต่ละท้องถิ่นเช่นกัน ทั้งนี้แนวความคิดดังกล่าวสอดคล้องกับแนวคิดว่าด้วยพัฒนาการและคุณค่าความสำคัญของศิลปหัตถกรรมท้องถิ่น 
         มนุษย์สร้างสรรค์งานหัตถกรรมขึ้นมาก็เพื่อประโยชน์ใช้สอยทั้งทางกายและจิตใจเป็นสำคัญ จากการประดิษฐ์คิดค้นที่กระทำสืบต่อกันมาเป็นเวลานับพันร้อยปี ช่วยให้มนุษย์เกิดความชำนาญและเรียนรู้ในการเลือกสรรวัตถุดิบ เรียนรู้ในการปรับปรุงพัฒนารูปแบบของหัตถกรรมประเภทต่างๆ ให้สามารถสนองประโยชน์ได้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเมื่อหัตถกรรมนั้นๆ มีความสมบูรณ์ในการใช้สอยแล้ว ความชำนาญความชัดเจนในกรรมวิธี จะช่วยให้ช่างหรือผู้สร้างงานหัตถกรรมประเภทต่างๆ ได้พัฒนาฝีมือให้สูงขึ้น ส่งผลให้งานหัตถกรรมมีความงามและมีคุณค่าทางศิลปะ เป็นการพัฒนาหัตถกรรมไปสู่ศิลปหัตถกรรม เมื่อมนุษย์พัฒนาหัตถกรรมขึ้นใช้ตามวิถีชีวิต ขนบประเพณีความเชื่อของแต่ละกลุ่มชนแล้ว หัตถกรรมจะมีลักษณะเฉพาะกลุ่ม เฉพาะถิ่นที่เรียกว่า หัตถกรรมพื้นบ้าน หัตถกรรมพื้นบ้านมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างไปจากงานหัตถกรรมและศิลปกรรมขั้นสูง ทั้งนี้เพราะกลุ่มมีความแตกต่างกัน มีการดำรงสภาพของท้องถิ่นอย่างอิสระ ดังนั้นหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านจึงขอบข่ายและคุณสมบัติเฉพาะ 
         ภูมิปัญญาศิลปหัตถกรรม ได้มีนักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายของหัตถกรรมพื้นบ้านไว้คล้ายๆ กัน ดังนี้
         อภัย  นาคคง (2525, หน้า 1) ได้ให้ความหมายของหัตถกรรมพื้นบ้านไว้ว่าหัตถกรรมพื้นบ้าน หมายถึง การสร้างสรรค์สิ่งใช้สอยด้วยมือของชาวบ้านหรือประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ ผลงานหัตถกรรมพื้นบ้านแต่ละท้องถิ่นยอมมีลักษณะซึ่งเกิดแก่สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคม ขนบธรรมเนียมประเพณี ประโยชน์ใช้สอยและรสนิยมตกทอดที่มีมาในท้องถิ่นนั้น
         วิบูลย์  ลี้สุวรรณ (2532, หน้า 160) ได้ให้ความหมายของหัตถกรรมพื้นบ้านไว้ว่าหัตถกรรม หมายถึง สิ่งที่สร้างขึ้นด้วยฝีมือมนุษย์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการใช้สอยเป็นสำคัญรูปแบบของงานหัตถกรรมจะพัฒนาขึ้นจากความชำนาญของช่างและการปรับปรุงเพื่อให้สนองประโยชน์ใช้สอยได้ดียิ่งขึ้น
         พรชัย  สุจิตต์ (2529, หน้า 40) ได้ให้ความหมายของหัตถกรรมพื้นบ้านว่า  โดยทั่วๆ ไป คำว่า “หัตถกรรม” หมายถึง งานที่ใช้ฝีมือในการดัดแปลงวัตถุดิบที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวันหรือโอกาสพิเศษภายในครอบครัวหรือในสังคมกระบวนการดักแปรงวัตถุดิบหรือจะเรียกว่า “เทคโนโลยี”  ของหัตถกรรมนั้นส่วนมากจะเป็นงานประเภทที่ใช้แรงมือทำและอาจมีอุปกรณ์เข้ามาช่วยบ้าง เช่น กี่ทอผ้าและแป้นหมุนที่ใช้ในการปั้นขึ้นทรงหม้อดินเผา เป็นต้น  ผลงานหัตถกรรมอาจเรียกได้ว่าเป็นผลงานทางด้านศิลปะเช่นเดียวกัน

ประวัติความเป็นมาของกระดาษ

         กระดาษได้ถูกนำมาใช้งานมาเป็นเวลานานแล้วตั้งแต่ก่อนคริสตกาล ชาวอียิปต์ได้บันทึกเรื่องรางแผ่นวัสดุทำจากพืชที่เรียกว่า papyrus ลักษณะเนื้อเยื่อที่ใช้เขียนเป็นเยื่อบางๆ ของกกชนิดหนึ่ง ในปี ค.ศ.105  ชาวจีนชื่อ Ts Ailun เป็นบุคคลแรกที่ค้นพบวิธีทำกระดาษ โดยนำเปลือกต้น mulberry ทำเป็นชิ้นเล็กๆ มาผสมกับเศษผ้านำไปบดหรือตีในน้ำจนกระจายตัวเป็นเส้นใย แล้วนำตะแกรงซึ่งทำด้วยไม้ไผ่ไปช้อนเส้นใยที่แขวนลอยนำไปผึ่งแดดให้แห้ง ซึ่งจะได้แผ่นกระดาษ สมัยก่อนมีความต้องการใช้กระดาษน้อย แต่เพิ่มขึ้นเมื่อ Johann Gutenberg นักประดิษฐ์ชาวเยอรมันประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ได้สำเร็จ ทำให้การพิมพ์สะดวก รวดเร็ว ความต้องการใช้กระดาษสูงขึ้น มีการค้นคว้าวิธีการผลิตเยื่อกระดาษทั้งขบวนการผลิตแบบเชิงกล (mechanical process) และแบบเคมี (chemical process) ขึ้นมา ต่อมาความเจริญทางด้านประดิษฐ์กรรมนี้ได้แพร่หลายมาเป็นเยื่อกระดาษที่ใช้กันอยู่ในทุกวันนี้
         กระดาษ (paper) หมายถึง แผ่นวัสดุบางซึ่งทำจากเส้นใย (fiber) ผสมกับสารเติมแต่ง (additive) ต่างๆ ตั้งแต่หนึ่งชนิดขึ้นไป ซึ่งสารเติมแต่งนี้อาจเติมก่อนการขึ้นแผ่น (sheet format) หรือหลังการขึ้นแผ่นแล้วก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณสมบัติกระดาษที่ต้องการ กระดาษที่ผลิตทั่วไปจะมีขนาดน้ำหนักมาตรฐานตั้งแต่ระดับสูงกว่า 35-225 กรับต่อตานรางเมตร กระดาษที่ผลิตระดับสูงกว่า 225 กรัมต่อตารางเมตรขึ้นไปจะถือว่าเป็นกระดาษแข็ง
         สำหรับประเทศไทย สันนิษฐานว่ากระดาษนำเข้ามาครั้งแรกโดยชาวโปรตุเกส คำว่ากระดาษเป็นคำที่เพี้ยนจากภาษาโปรตุเกสว่า Cartas ซึ่งแปลว่า กระดาษ การทำกระดาษของไทยไม่มีหลักฐานแน่นอนว่าเริ่มมาตั้งแต่สมัยใด แต่ก็มีหลักฐาน พบว่า ไทยมีกระดาษใช้แล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา คือ พงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐ ซึ่งเป็นหนังสือเก่าแก่ที่สุดเป็นกระดาษข่อย สีดำ ตัวอักษรสีขาว ขณะนี้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จึงนับว่า กระดาษข่อยเป็นกระดาษชนิดแรกที่ใคนไทยผลิตใช้เอง การผลิตกระดาษได้มีการพัฒนามาตามลำดับ มีการเปลี่ยนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เช่น ใบลาน ต้นปอสา เป็นต้น และในส่วนของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษไทย เกิดขึ้นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2466 ส่วนการผลิตเยื่อกระดาษเริ่มผลิตเมื่อปี 2478 โดยทำการผลิตจากเยื่อไม้ไผ่ และมีการพัฒนากระบวนการผลิตตลอดจนการเปลี่ยนแปลงวัตถุดิบเรื่องมาจนถึงทุกวันนี้ 
         การประดิษฐ์เป็นงานที่ต้องใช้วัสดุชนิดต่าง ๆ ตามที่เราต้องการ เพื่อนำมาทำให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีรูปแบบตามความต้องการของผู้ใช้ การประดิษฐ์ทุกงานจะต้องใช้ทักษะและใช้ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์สร้างขึ้นมาให้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ และสิ่งสำคัญจะต้องความสวยงามเพื่อนำมาประดับตกแต่งหรือให้ได้ประโยชน์ใช้สอยมากที่สุด งานประเภทนี้จะใช้เครื่องจักร หรือทำด้วยมือ ขึ้นอยู่กับการลงทุน และการผลิตให้ได้จำนวนมาก ๆ เป็นต้น งานประดิษฐ์ที่เราพบเห็นกันอยู่โดยทั่วๆ ไป คือ งานประดิษฐ์ที่เป็นเอกลักษณ์ไทยและงานประดิษฐ์ทั่วไปที่ทำด้วยวัสดุธรรมชาติ  ทั้งนี้วัสดุที่ทำด้วยกระดาษก็มีมากมายหลากหลายชนิดแล้วแต่จะเลือกใช้วัสดุประเภทใด แต่สิ่งที่เราพบเห็นและได้ใช้กันในปัจจุบันนี้ ทำมาจากไม้ไผ่ ไม้ยูคาลิปตัส พืชล้มลุกและวัชพืชต่างๆ มากมาย แต่สิ่งที่ได้กระดาษออกมาจะมีคุณภาพทางกายที่แตกต่างกัน เป็นต้น กระดาษจึงนับได้ว่ามีความจำเป็นต่อมนุษย์เราที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวันกันทุกคน ได้แก่ การนำมาใช้ในการทำหนังสือ ทำสมุดขีดเขียน จดบันทึก จดหมาย และยังสามารถนำมาใช้เป็นกระดาษชำระการบรรจุภัณฑ์ และงานประดิษฐ์ต่างๆ อย่างมากมาย วัสดุที่นำมาใช้ทำกัน ได้แก่ ปอฟาง หญ้าชนิดต่างๆ ไม้เนื้ออ่อน ชานอ้อย และกล้วยชนิดต่างๆ เป็นต้น จึงนับได้ว่าพืชที่มีความสำคัญต่อการทำกระดาษจะมีลักษณะเป็นเส้นใยมีด้วยกัน 2 ชนิด คือ เส้นใยสั้นและเส้นใยยาวจะมีคุณสมบัติเฉพาะตัวคือ อ่อนนุ่มเหนียวเมื่อนำมาฟอกขาวแล้วจะมีความขาวเป็นมันเงา และสามารถนำมาย้อมสีจะติดได้ดีเป็นต้น (กาญจนา นิ่มนวล. 2554, หน้า 10)

ประวัติของกล้วย

         กล้วยเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่คนไทยรู้จักกนดี และนิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นผลไม้คู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่สมัยโบราณ สามารถปลูกได้ทุกพื้นที่ทั่วภูมิภาคของประเทศ และให้ผลผลิตตลอดทั้งปี ถิ่นกำเนิดและการแพร่กระจายของกล้วย กล้วยจัดเป็นพืชล้มลุกที่ชอบอากาศร้อนชื้น มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วย ทางเหนือของอินเดีย พม่า กัมพูชา ไทย ลาว จีนตอนใต้ แถบหมู่เกาะอินโดนีเซีย เกาะบอร์เนียว ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน ในประเทศเหล่านี้จะพบกล้วยพื้นเมืองที่ไม่มีเมล็ด และปลูกแบบปล่อยปละละเลย ผลจากการเคลื่อนย้ายของประชากรเนื่องจากสูญเสียผืนดินในการทำมาหากินในสมัยโบราณ ทำให้เกิดการอพยพของประชากรจากเอเชียตอนใต้ไปยังหมู่เกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก ได้มีการเอานำเสบียงอาหาร เช่น หน่อกล้วย และผลผลิตทางการเกษตรชนิดอื่นไปด้วย ส่วนคำว่า Banana นั้น มาจากรากศัพท์ของภาษาในแอฟริกาตะวันตก และพบว่าชาวยุโรปก็ใช้ชื่อนี้เช่นเดียวกน ซึ่งเรียกตามชาวโปรตุเกส ส่วนการแพร่กระจาย ของกล้วยนั้นมีการอ้างอิงถึงกล้วยในอินเดีย เมื่อ 600 ปี ก่อนคริสต์ศักราช และเมื่อ 327 ปี ก่อนคริสต์ศักราช พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้ลิ้มรสกล้วยในอินเดียก็พอพระทัย จึงนำไปปลูกทางแถบตะวันตก ส่วนประเทศจีนมีการทำสวนกล้วยใน พ.ศ.743 และแถบเมดิเตอร์เรเนียนไม่มีการปลูกกล้วยเลยจนกระทัง พ.ศ. 1193 ในระหว่างที่ชาวอาหรับเดินทางค้าขายกบแอฟริกาตะวันตก พบว่า มีการปลูกกล้วยกันอย่างแพร่หลายแล้ว พ.ศ.1945 นักเดินเรือชาวโปรตุเกสท่องเที่ยวมาที่แอฟริกาจึงนำกล้วยไปยังหมู่เกาะคานารี ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ ทางเหนือของกินี ทำให้มีการแพร่กระจายไปยังซีกโลกตะวันตก และใน พ.ศ. 2059 นักบวชชาวโปรตุเกสชื่อ Tomas de Berlanga นำกล้วยจากหมู่เกาะคานารีไปยังหมู่เกาะแคริบเบียนของซานตาโดมิงโก จึงได้มีการแพร่กระจายไปยังแถบอื่นๆ ส่วนในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตกเริ่มรู้จักกล้วยใน พ.ศ. 2409  ปัจจุบันพบว่า กล้วยมีการปลูกและเจริญเติบโตได้ดีในแถบศูนย์สูตร (Tropical) และบางพื้นที่ในแถบที่มีการปลูกพืชกึ่งร้อน (Subtropical) โดยแหล่งผลิตกล้วยที่สำคัญของโลก แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ผลิตกล้วยสำหรับใช้ รับประทานเป็นผลไม้ (Banana) ได้แก่ ประเทศในแถบละตินอเมริกา เช่น ฮอนดูรัส คอสตาริกา เอควาดอร์ กัวเตมาลา  ฟิลิปปินส์ เป็นต้น และกลุ่มที่ผลิตพืชตระกูลกล้วยเพื่อใช้ประกอบอาหารเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรต หรือแป้ง หรือที่เรียกว่ากล้วยกล้าย (Plantain) ได้แก่ ประเทศแอฟริกา และประเทศในกลุ่มละตินอเมริกา 
         กล้วยในประเทศไทย ประเทศไทยมีการปลูกกล้วยกันมาช้านาน กล้วยที่ปลูกมีมากมายหลายชนิด พันธุ์กล้วยที่ใช้ปลูกในประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณนั้น มีทั้งพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิม และพันธุ์ที่นำเข้ามาจากประเทศใกล้เคียง กล้วยที่รู้จักกนในสมัยสุโขทัย คือ กล้วยตานี และในปัจจุบันจังหวัดสุโขทัยก็ยังมีการปลูกกล้วยตานีมากที่สุด แต่กลับไม่พบกล้วยตานีในป่า ทั้งๆ ที่กล้วยตานีเป็นกล้วยป่าชนิดหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย จีน และพม่า ดังนั้น จึงสันนิษฐานว่ากล้วยตานีน่าจะนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยตอนต้น หรือช่วงการอพยพของคนไทยมาตั้งถิ่นฐานที่สุโขทัยในสมัยอยุธยา เดอลาลูแบร์  (De La Loub`ere) อัครราชทูตชาว ฝรั่งเศสที่เดินทางมาเมืองไทยในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ. 2230 ได้เขียนบันทึกถึงสิ่งที่เขา ได้พบเห็นในเมืองไทยไว้ว่า ได้เห็นกล้วยง่วงช้าง หรือปัจจุบันเรียกว่า กล้วยร้อยหวี ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกไว้เพื่อเป็นไม้ประดับ อีกทั้งยังมีตำนานเล่ากันว่า มีการค้าขายกล้วยตีบ แสดงให้เห็นว่ามีการปลูกกล้วยเพื่อความสวยงาม และเพื่อการบริโภคมานานแล้ว ปัจจุบันประเทศไทยมีการปลูกกล้วยกันทั่วทุกภูมิภาคแต่จังหวัดที่มีการผลิตเพื่อเป็นการค้า ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร  เพชรบุรีประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร (สุจยา  ฤทธิศรและคณะ, หน้า 2554)

ประวัติความเป็นมาของชุมชนเทพนิมิตสามัคคี

         เดิมตำบลเทพนิมิต ขึ้นอยู่กับตำบลระหาน เมื่อปี พ.ศ.2538 จึงแยกออกมาเป็นตำบลเทพนิมิต มีการปกครองจำนวน 9 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1 บ้านบึงลาด หมู่ที่ 2 บ้านเนินมะกอก หมู่ที่ 3 บ้านใหม่เจริญสุข หมู่ที่ 4 บ้านโพธิ์เอน หมู่ที่ 5 บ้านวังเจ้า หมู่ที่ 6 บ้านกระบวยทองเหนือ หมู่ที่ 7 บ้านโนนพลวง หมู่ที่ 8 บ้านสามขา และหมู่ที่ 9 บ้านมาบไผ่ มีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มเหมาะสำหรับทำการเกษตร เขตพื้นที่ตำบลเทพนิมิต ตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันออกของจังหวัดกำแพงเพชร มีพื้นที่โดยประมาณ 41,680 ไร่ หรือ 41.32 ตารางกิโลเมตร เป็นที่ราบเหมาะแก่การประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรม ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ทำนา ทำไร่ (ข้าว,ข้าวโพด,อ้อย) ทำสวน (ส้ม,มะปราง,กล้วย) มีระยะห่างจากอำเภอบึงสามัคคีประมาณ 11 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากจังหวัดกำแพงเพชรเป็นระยะทาง 75 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
         ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลวังชะโอน กิ่งอำเภอบึงสามัคคี จังหวัดกำแพงเพชร
         ทิศใต้ ติดกับ ตำบลระหาน กิ่งอำเภอบึงสามัคคี จังหวัดกำแพงเพชร
         ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลระหาน กิ่งอำเภอบึงสามัคคี จังหวัดกำแพงเพชร
         ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลยางสูง กิ่งอำเภอบึงสามัคคี จังหวัดกำแพงเพชร
         อาชีพหลัก ทำนา อาชีพเสริม ค้าขาย มีจำนวนครัวเรือนที่มีไฟฟ้าใช้ในเขต อบต. 1,028 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 75.00 ของจำนวนหลังคาเรือน การเดินทางมาตำบลเทพนิมิตโดยออกจากตัวจังหวัดมาทางทิศใต้ หรือออกจากตัวกิ่งอำเภอบึงสามัคคี 12 กม. การเดินทางไปมาสะดวก มีถนนเชื่อมติดต่อทุกหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด เดินทางโดยรถยนต์เท่านั้น

ความเป็นมาของกระดาษกล้วย ชุมชนเทพนิมิตสามัคคี

         เกิดขึ้นจากการร่วมตัวของประชาชนในชุมชนเทพนิมิตสามัคคี ที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรปลูกกล้วย ซึ่งพบว่าหลังจากตัดกล้วยขายแล้ว ต้นกล้วยต้องตัดทิ้งเป็นจำนวนมาก จึงมีแนวคิดที่จะนำต้นกล้วยที่ตัดทิ้งมาใช้ประโยชน์จึงได้ดำเนินการจัดทำโครงการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากต้นกล้วย ชุมชนเทพนิมิตสามัคคี อำเภอบึงสามัคคี จังหวัดกำแพงเพชร ภายใต้โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน
         หลักการและเหตุผลของโครงการ คือ การปฏิรูปภาคการเกษตรให้เกิดผลสำเร็จจำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชุม เริ่มจากการคิด วิเคราะห์ปัญหา และเสนอความต้องการในการแก้ไขปัญหาของชุมชน โดยเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและดำเนินโครงการด้วยการน้อมนำหลักการ ทฤษฎีและแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานไว้ และให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี(พ.ศ.2560 - 2579) ซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ และภาคการเกษตร รวมทั้งให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง จนถึงปลายทาง โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้า เกษตร (ศพก.) ให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ทางการเกษตรของชุมชน และเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาการ เกษตรในระดับพื้นที่ โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้จัดทำโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนโดยมีหลักการสำคัญคือ ให้ชุมชนเป็นผู้กำหนดโครงการพัฒนาโดยผ่านกระบวนการ มีส่วนร่วมของชุมชน และบริหารจัดการโครงการด้วยตนเอง ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนอกจาก จะทำให้เกิดการพัฒนาที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนแล้ว ยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลไกการทำงานในพื้นที่ ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์และนำไปปฏิบัติจริงเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมกับสภาพของท้องถิ่นและชุมชนอันจะส่งผลต่อเนื่องให้ภาคการเกษตร มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป
         โดยมีนางฉวีวรรณ  อินทยา อายุ 45 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 53 หมู่ 6 กึ่งอำเภอบึงสามัคคี จังหวัดกำแพงเพชร เป็นหัวหน้าโครงการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากต้นกล้วย ชุมชนเทพนิมิตสามัคคี และได้รับงบประมาณสนับสนุนจากจังหวัดกำแพงเพชร ให้ดำเนินการจัดทำตามโครงการดังกล่าว ซึ่งนางฉวีวรรณ  อินทยา ได้ศึกษาเรียนรู้ร่วมกับกลุ่มสมาชิกกับกระบวนการขั้นตอนการทำกระดาษกล้วย โดยศึกษาจากอินเตอร์เน็ต ศึกษาจากผู้รู้เกี่ยวกับการทำกระดาษสา และได้ลองผิดลองถูกจนได้กระดาษกล้วยออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ (ฉวีวรรณ  อินทยา,  สัมภาษณ์)
         ซึ่งในปัจจุบันได้มีการผลิตภัณฑ์กระดาษกล้วยเป็นแผ่น และทำเป็นเชือกกล้วย เพื่อนำไปต่อยอดทำผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์กับสินค้าในชุมชน โดยส่วนใหญ่จะผลิตตามรายการสั่งสินค้าจากลูกค้าต่างจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่นำไปเป็นบรรจุภัณฑ์กับสินค้า และทางกลุ่มมีความต้องการในการพัฒนากระดาษกล้วยให้มีความคงทนมากกว่าปัจจุบัน และแปรรูปให้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย หรือเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อสร้างรายได้ให้กลับกลุ่มเพิ่มมากขึ้น
         ขั้นตอนการทำกระดาษจากเยื่อกล้วย
         การเตรียมวัตถุดิบ
              1. ต้นต้นกล้วยที่ตัดผลแล้ว จำนวน 100 กิโลกรัม 
              2. หั่นหรือสับให้เป็นชิ้นเล็กยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร 
              3. ล้างนำให้สะอาด แยกเศษวัสดุอื่นที่ไม่ใช่เนื้อเยื้อออกเช่น เศษดิน เศษใบไม้
         ขั้นตอนการต้ม
             1. นำเยื่อกล้วยที่เตรียมไว้ตามน้ำหนักใส่ในภาชนะต้ม 
             2. ใส่น้ำลงในหม้อต้ม 1 ใน 4 ของหม้อต้ม 
             3. ใช้เตาต้ม ซึ่งสามารถเลือกเตาต้มได้หลายวิถีเช่นเต่าต้มที่ใช้ฟืน หรือ แก็สหุงต้ม 
             4. ต้มเส้นใยให้สุก ประมาณ 2 ชั่วโมง
         ขั้นตอนการปั่นเส้นใย
             1. ล้างเส้นใยต้นกล้วยด้วยน้ำให้สะอาด นำเข้าเครื่องปั่นเส้นใยขนาด 50 – 100 กิโลกรัม/ถัง เพื่อให้เส้นใยแตกตัว นุ่ม เส้นใยไม่เกาะติดกันเป็นก้อน ประมาณ 10-20 นาที 
             2. นำไปบีบอัดหรือทำให้แห้ง 
             3. ฟอกขาวด้วยสารฟอกขาว 5-7 เปอร์เซ็นต์ 
             4. ล้างน้ำสะอาดส่งย้อมสี ตามความต้องการ
         ขั้นตอนการฟอกย้อม
             นำเยื่อกล้วยฟอกย้อมในสารฟอกย้อม มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ที่นิยมใช้กันคือ คลอรีน และไฮโดรเจน เปอร์อ็อกไซด์ 5-10 เปอร์เซ็นต์ ล้างน้ำให้สะอาด นำเส้นใยไปย้อมสีตามต้องการสีย้อมเป็นสีเคมีให้สีสันที่สดใส สีย้อมสมุนไพรเป็นสีธรรมชาติที่นำมาต้มย้อมเช่นสีจากครั่ง สีจากเปลือกไม้มะเกลือหรือไม้ขนุน
         ขั้นตอนการกำหนดน้ำหนักกระดาษ  
             ก่อนที่จะนำเยื่อกระดาษไปแตะแผ่นจะต้องกำหนดน้ำหนักของเยื่อกล้วยโดยส่วนใหญ่มีมาตรฐานที่กำหนดน้ำหนักไว้ 2 ลักษณะคือ
             1. ตามความต้องการของตลาด ซึ่งกำหนดไว้ที่ กระดาษ 1 แผ่นขนาด 55 X 80 เซนติเมตร มีน้ำหนักโดยเฉลี่ยที่ 300-400 กรัม / แผ่น 
             2. ตามความต้องการในการใช้งานตามความหนาเป็นพิเศษเช่นเพื่อใช้ในการทำบรรจุภัณฑ์ประเภท ถุงกระดาษบรรจุภัณฑ์ 
             3. หรือตามแบบที่กำหนดเป็นอย่างอื่น
         ขั้นตอนเตรียมแตะแผ่น
             1. นำเส้นใยที่ได้ปั้นก้อน ชั่งน้ำหนัก ให้ได้น้ำหนักก้อนละ 300 – 400 กรัม 	
             2. นำเส้นใยกล้วยที่ชั่งน้ำหนักแล้วมาแตะในเนรมิต เกลี่ยเส้นใยให้กระจายหนาบางเท่าๆกัน (ความชำนาญเกิดจากการที่ได้ทำและฝึกฝนจนมีประสบการณ์)
         เครื่องมือและอุปกรณ์
             1. นำเฟรมสำหรับทำแผ่นกระดาษ ขนาด 55 X 80 เซนติเมตร จำนวน 100-200 เนรมิต/คน เป็นขนาดมาตรฐานเดียวกับกระดาษสา กระดาษสับปะรด 
             2. กระบะน้ำสำหรับแตะแผ่นกระดาษขนาดกว้าง X ยาว X สูง ( 60 X 90 X 10เซนติเมตร) 
             3. โต๊ะทำงานสำหรับแตะแผ่น 1 ตัว 
             4. ตะกร้าใส่เยื่อ 10 ใบ 
             5. บ่อล้างเส้นใยกล้วย ขนาด 100 เมตรX50 เซนติเมตร จำนวน 5 บ่อ 
             6. ถังน้ำสำหรับเติมน้ำ 1 ถัง 
             7. เครื่องสับเยื่อ ขนาด 3 แรงม้า 
             8. เครื่องปั่นเส้นใยขนาด 2 แรงม้า 1 เฟส 
             9. กระดาษที่ได้จากการแตะแผ่นใช้เวลาในการทำให้แห้งโดยการตากแดด หรือ อบด้วยความร้อนจากพลังงานความร้อนอื่นๆ 
             10. เก็บกระดาษทำความสะอาด คัดกระดาษที่ใช้ไม่ได้หรือไม่สมบูรณ์แยกออก เป็นสีธรรมชาติ สีต่างๆ ให้เรียบร้อย สำหรับกระดาษในส่วนที่ไม่สามารถส่งจำหน่ายเป็นแผ่นได้ควรเตรียมงานรองรับ
         เพื่อทำผลิตภัณฑ์ดังต่อไปนี้

ขั้นตอนการทำกระดาษจากเยื่อกล้วยของชุมชนเทพนิมิตสามัคคี

         1. เลือกตัดต้นกล้วยที่แก่ติดเครือแล้วลอกกาบกล้วยออก นำต้นกาบกล้วยมาสับเป็นชิ้นเล็กและใหญ่ ขนาด 1-2 นิ้ว
ภาพที่ 1 ขั้นตอนการทำกระดาษจากเยื่อกล้วย.jpg

ภาพที่ 1 ขั้นตอนการทำกระดาษจากเยื่อกล้วยของชุมชนเทพนิมิตสามัคคี

         2. นำกาบกล้วยไปต้นน้ำ ใส่โซดาไฟ 7 ขีด เพื่อให้กาบกล้วยย่อย (ถ้ากาบกล้วยย่อยอยู่แล้วให้ใส่เพียงเล็กน้อย) ต้มไว้ 2-3 ชั่วโมง
ภาพที่ 2 ขั้นตอนการทำกระดาษจากเยื่อกล้วย.jpg

ภาพที่ 2 ขั้นตอนการทำกระดาษจากเยื่อกล้วยของชุมชนเทพนิมิตสามัคคี

         3. กรองน้ำออกและนำมาปั่นเพื่อให้โคลนที่ติดอยู่ที่เปลือกออก จะได้เยื่อกล้วย
ภาพที่ 3 ขั้นตอนการทำกระดาษจากเยื่อกล้วย.jpg

ภาพที่ 3 ขั้นตอนการทำกระดาษจากเยื่อกล้วยของชุมชนเทพนิมิตสามัคคี

         4. นำเยื่อที่ปั่นมาล้างน้ำให้สะอาดแล้วบีบให้หมาด ปั้นเป็นก้อน
ภาพที่ 4 ขั้นตอนการทำกระดาษจากเยื่อกล้วยของชุมชนเทพนิมิตสามัคคี.jpg

ภาพที่ 4 ขั้นตอนการทำกระดาษจากเยื่อกล้วยของชุมชนเทพนิมิตสามัคคี

         5. หากต้องการย้อมสีต้องนำเยื่อกล้วยไปฟอกสีก่อนแล้วจึงนำมาผ่านกระบวนการย้อม
ภาพที่ 5 ขั้นตอนการทำกระดาษจากเยื่อกล้วยของชุมชนเทพนิมิตสามัคคี.jpg

ภาพที่ 5 ขั้นตอนการทำกระดาษจากเยื่อกล้วยของชุมชนเทพนิมิตสามัคคี

         6. นำเยื่อกล้วยปริมาณ 4 ขีด มาแผ่เป็นแผ่นในแม่พิมพ์ที่เตรียมไว้ซึ่งมีน้ำในถาดอยู่อีกขั้น เพื่อทำให้เยื่อกล้วยแยกตัวออกจากกัน และจัดแจงให้เป็นแผ่นได้ง่าย
ภาพที่ 6 ขั้นตอนการทำกระดาษจากเยื่อกล้วยของชุมชนเทพนิมิตสามัคคี.jpg

ภาพที่ 6 ขั้นตอนการทำกระดาษจากเยื่อกล้วยของชุมชนเทพนิมิตสามัคคี