นครไตรตรึงษ์ เมืองโบราณ ต้นกำเนิดอาณาจักรอยุธยา

จาก KPPStudies
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:35, 17 มิถุนายน 2562 โดย Admin (คุย | มีส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย "== นครไตรตรึงษ์ เมืองโบราณ ต้นกำเนิดอาณาจักรอยุธยา == === บ...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

นครไตรตรึงษ์ เมืองโบราณ ต้นกำเนิดอาณาจักรอยุธยา

บทนำ

         วัฒนธรรมแรกเริ่มในกำแพงเพชรนั้น ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีเมื่อครั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์ แพร่กระจายครอบคลุมพื้นที่ อำเภอเมือง อำเภอคลองขลุง อำเภอขาณุวรลักษบุรี และอำเภอโกสัมพีนคร เป็นต้น โบราณวัตถุที่พบจากแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ดังกล่าว สามารถเปรียบเทียบลักษณะที่ได้กับหลักฐานทางโบราณคดี ที่พบจากแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ อาทิ แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า แหล่งโบราณคดีเขาสามเหลี่ยม อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี แหล่งโบราณคดีโคกพนมดี แหล่งโบราณคดีหนองโน อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี แหล่งโบราณคดี  บ้านใหม่ชัยมงคล อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ฯลฯ ซึ่งกำหนดอายุราว 6000 – 1500 ปีมาแล้ว หลักฐานทางโบราณคดีที่พบในกำแพงเพชรและมีพัฒนาการมาโดยลำดับจากการเก็บของป่า ล่าสัตว์ มีการทำเครื่องมือหินกะเทาะ ภาชนะดินเผา เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันสู่การเป็นชุมชนที่ เริ่มตั้งถิ่นฐาน สร้างสรรค์ประดิษฐ์กรรมเพื่อดำรงชีวิต อาทิ การทำเครื่องมือหินที่มีการตกแต่งคมด้วยการขัดฝนผิว เพื่อการใช้งานการทำภาชนะดินเผา การรู้จักนำเส้นใยธรรมชาติมาผลิตเป็นสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม การหล่อโลหะประเภทสำริด และเหล็ก ฯลฯ รวมทั้งมีการแลกรับวัฒนธรรมกับชุมชนใกล้เคียง ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเป็นชุมชนเมืองในสมัยประวัติศาสตร์ (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร, 2561)
         ในอดีตนับแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ แม่น้ำปิงเป็นเส้นทางคมนาคมและแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ที่เชื่อมโยงให้เกิดการส่งผ่านทางวัฒนธรรมระหว่างผู้คนในภาคเหนือกับภาคกลางและทวีความสำคัญยิ่งขึ้น เมื่อเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ เนื่องจากการตั้งถิ่นฐานที่ส่งผลให้เกิดพัฒนาการในชุมชนต่างๆ ขึ้นเป็นเมืองหรือรัฐ รวมถึงความต้องการทรัพยากรธรรมชาติจากป่าในเขตภาคเหนือของเมืองในภาคกลาง ขณะที่เมืองในภาคเหนือต้องการสินค้านำเข้าจากดินแดน โพ้นทะเล และทรัพยากรทางทะเลที่ส่งผ่านจากภาคกลาง ด้วยทำเลที่ตั้งซึ่งตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างภาคเหนือกับภาคกลาง และด้วยภูมิประเทศที่มีแม่น้ำปิงไหลผ่านที่ราบขนาดใหญ่ น้ำไม่ไหลเชี่ยวเกาะแก่งไม่มาก กำแพงเพชรในอดีตจึงมีความเหมาะสมในการเป็นที่แวะพัก เพื่อขนถ่ายหรือแลกเปลี่ยนสินค้า ทรัพยากรต่างๆ ทำให้ชุมชนดั้งเดิมบริเวณริมฝั่งแม่น้ำปิง ในเมืองกำแพงเพชร พัฒนาขึ้นเป็นเมือง นับแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 เช่น เมืองไตรตรึงษ์ เมืองเทพนคร เมืองบางพาน เมืองคณฑี เมืองนครชุม และเมืองชากังราว (ต่อมาคือ เมืองกำแพงเพชร) เมืองเหล่านี้ ล้วนมีคูเมืองกำแพงเพชรล้อมรอบและนับถือพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลัก กำแพงเพชรเป็นพื้นที่หนึ่งซึ่งปรากฏชุมชนโบราณของวัฒนธรรมทวารวดี ที่มีการสร้างคูน้ำคันดินและโบราณวัตถุที่เกี่ยวเนื่องในวัฒนธรรมทวารวดี 2 แห่ง ได้แก่ เมืองไตรตรึงษ์ และเมืองโบราณบ้านคลองเมือง (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร, 2561)

คำสำคัญ : นครไตรตรึงษ์, วัดวังพระธาตุ, ท้าวแสนปม

นครไตรตรึงษ์

         เมืองไตรตรึงษ์เป็นอีกหนึ่งชุมชนโบราณที่มีการตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณริมแม่น้ำปิงตอนล่างที่มีลักษณะใกล้เคียงกับการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณบริเวณภาคกลางในวัฒนธรรมทวารวดี คือ ตั้งถิ่นฐานใกล้แหล่งน้ำมีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ 1-3 ชั้น ผังเมืองจะมีรูปร่างแตกต่างกันไป แต่มักจะขนานกับทางน้ำ เมื่อพิจารณาร่วมกับหลักฐานทางด้านเอกสารประวัติศาสตร์อย่างตำนานจามเทวีที่กล่าวถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 พระนางจามเทวีกษัตริย์แห่งเมืองละโว้ได้อพยพผู้คนจากเมืองละโว้ขึ้นมาเมืองหริภุญชัย โดยใช้เส้นทางแม่น้ำปิงเป็นเส้นทางคมนาคมหลัก ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานประเภทโบราณวัตถุที่พบมีความคล้ายคลึงกับโบราณวัตถุที่พบในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ ตะเกียงดินเผา ลูกปัดแก้ว หรือ ลูกปัดหินเป็นต้น ดังภาพที่ 1 และภาพที่ 2
ภาพที่ 1 .jpg
ภาพที่ 1.jpg
                                                                                                      ภาพที่ 1 ลูกปัดสมัยทวาราวดี ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร
ภาพที่ 2 .jpg
                                                                                                          ภาพที่ 2 ภาชนะดินเผา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร
ดังนั้น การตั้งถิ่นฐานของเมืองไตรตรึงษ์เกิดขึ้นจากปัจจัยสำคัญ คือ ปัจจัยทางด้านภูมิศาสตร์เมืองไตรตรึงษ์ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิง แหล่งน้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่อุปโภคบริโภค จึงทำให้เกิดการใช้เส้นทางน้ำเป็นเส้นทางคมนาคมหลักในการติดต่อและแลกเปลี่ยนสินค้ากับชุมชนภายนอก โดยเฉพาะชุมชนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นแผนที่ตำแหน่งเมืองไตรตรึงษ์ที่แสดงให้เห็นว่า หากเดินทางขึ้นทางทิศเหนือจะก็จะพบเมืองกำแพงเพชรเมืองนครชุมได้ หากเดินทางลงทางใต้ก็จะเจอเมืองดงแม่นางเมืองและสามารถลงไปถึงเมืองอื่นๆในบริเวณภาคกลางได้ด้วย จากการศึกษาและวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดีที่พบบริเวณเมืองไตรตรึงษ์ในช่วงเวลาที่ผ่านชี้ให้เห็นว่าเมืองไตรตรึงษ์เป็นชุมชนที่มีการอยู่อาศัยใน 3 สมัยหลักๆ ได้แก่ สมัยก่อนสุโขทัย สมัยสุโขทัย และสมัยอยุธยา ส่วนในสมัยรัตนโกสินทร์นั้นเมืองไตรตรึงษ์ได้กลายเป็นเมืองร้าง (คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา, 2559) ดังต่อไปนี้

สมัยก่อนสุโขทัย

         เมืองไตรตรึงษ์ เป็นอีกชุมชนโบราณที่มีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย โดยเอกสารประเภทตำนานและพงศาวดาร อาทิ พงศาวดารโยนก ตำนานสิงหนวัติกุมาร ตำนานท้าวแสนปม ได้กล่าวถึง เมืองไตรตรึงษ์ในฐานะเมืองที่ถูกสร้างขึ้นมาใกล้กับเมืองกำแพงเพชรทางด้านทิศใต้ นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงโดยทางอ้อมของการมีอยู่และการตั้งถิ่นฐานของชุมชนริมแม่น้ำปิงอย่างตำนานจามเทวี รวมทั้งยังมีข้อมูลที่ได้จากการดำเนินขุดค้นในบริเวณเมืองไตรตรึงษ์ ซึ่งพบชิ้นส่วนภาชนะดินเผา ภาชนะดินเผาก้นกลม และตะเกียงดินเผาแบบโรมันที่คล้ายคลึงกับที่พบที่ชุมชนโบราณบ้านคูเมือง อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี นอกจากนี้ยังพบลูกปัดหินและลูกปัดแก้ว สีเหลือง ส้ม เขียว ฟ้า น้ำเงิน ดำ และสีน้ำตาลแดง แวดินเผาที่มีลักษณะคล้ายกับที่เมืองจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งสามารถเทียบเคียงอายุสมัยจากโบราณวัตถุที่มีลักษณะร่วมกันว่าอยู่ในช่วงของวัฒนธรรมทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16) (พีรพน  พิสณุพงศ์, 2540) จากหลักฐานที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่า เมืองไตรตรึงษ์มีการอยู่อาศัยตั้งแต่ช่วงสมัยก่อนสุโขทัย โดยสันนิษฐานว่ามีการเข้ามาอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16)