บายศรีเอกลักษณ์งานศิลป์ ถิ่นกำแพงเพชร

จาก KPPStudies
รุ่นแก้ไขเมื่อ 11:30, 18 มกราคม 2564 โดย Admin (คุย | มีส่วนร่วม) (การเลือก และ การทำความสะอาดใบตอง)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

บทนำ[แก้ไข]

         บายศรี เป็นของสูงที่มีค่าของคนไทย ตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่เกิดจะจัดทำขวัญ ซึ่งจะต้องมีบายศรีเป็นองค์ประกอบสำคัญในพิธี นอกจากนั้นแล้ว “บาย” ภาษาเขมร แปลว่า ข้าวสุก ภาษาถิ่นอีสาน แปลว่า จับต้องหรือสัมผัส “ศรี” เป็นคำมาจากภาษาสันสกฤตตรงกับ ภาษาบาลี ว่า “สิริ” แปลว่า มิ่งขวัญคำว่า “บายศรี” จึงแปลว่า ข้าวขวัญ หรือ สิ่งที่ น่าสัมผัสกับความดีงาม (ความหมายของชาวอีสาน) บายศรี ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แปลว่า “ข้าวอันเป็นสิริ” ขวัญข้าว หรือภาชนะใส่เครื่องสังเวยในโบราณ  มีการเรียกพิธีสู่ขวัญ ว่า บาศรี เหตุที่เรียกว่า บาศรี เนื่องมาจากเป็นพิธีสำหรับ บุคคลชั้นเจ้านายผู้ใหญ่ทำกัน จึงมีคำว่า บา อยู่ด้วย “บา” ในภาษาโบราณอีสานใช้เป็นคำนำหน้าเพื่อใช้เรียกเจ้านาย เช่น บาท้าว บาบ่าว บาคราญ เป็นต้น ส่วนคำว่า ศรี หมายถึง ผู้หญิงและสิ่งที่เป็นสิริมงคล บาศรี จึงหมายถึง การทำพิธีที่เป็นสิริมงคลนั่นเอง แต่ปัจจุบันนี้ คำว่า บาศรี ไม่ค่อยนิยมเรียกกันแล้ว มักนิยมเรียกว่า บายศรี เป็นส่วนมาก (ปติกร บุญมี, 2562)
         คำว่าบายศรีในภาคเหนือจะเรียกบายศรีว่า "ใบสี", "ใบสรี" หรือ "ใบสีนมแมว" และจะเรียกพานบายศรีว่า ขันใบสี เพราะชาวล้านนาจะเรียกพานว่า ขัน แล้วเรียกขันว่า สลุง ในปัจจุบันบายศรีแยกเป็น 4 ประเภท คือ 
             1. บายศรีหลวง
             2. บายศรีนมแมว
             3. บายศรีปากชาม
             4. บายศรีกล้วย
         ส่วนในภาคอีสานจะเรียกบายศรีว่า "พาบายศรี", "พาขวัญ" หรือบางท้องถิ่นเรียกว่า "ขันบายศรี" ในภาคอีสานจะแยกบายศรีออกเป็น 3 ประเภท คือ
             1. พาขวัญ
             2. พาบายศรี
             3. หมากเบ็ง
         ในส่วนภาคอีสานที่มีเชื้อสายของเขมรจะมีการเรียกบายศรีว่า "บายแสร็ย" ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภทเช่นกัน คือ
             1. บายแสร็ยเดิม (บายศรีต้น) 
             2. บายแสร็ยเถียะ (บายศรีถาด) 
             3. บายแสร็ตจาน (บายศรีปากชาม)

บายศรีสู่ขวัญ[แก้ไข]

         บายศรีสู่ขวัญ กล่าวกันว่า พิธีบายศรีสู่ขวัญมาพร้อมกับพราหมณ์ทมิฬชานอินเดียที่อพยพมาสู่สุวรรณภูมิ หนังสือเก่าที่พบซึ่งออกในสมัยพระเจ้าอู่ทองกล่าวไว้ว่า บายเป็นภาษาเขมรแปลว่าข้าว ข้าวอันเป็นสิริมงคล ข้าวขวัญ กล่าวคือ ข้าวที่หุงปรุงรสโอชาอย่างดีเหมาะสมที่จะเป็นเครื่องสังเวยให้เทวดาโปรด พิธีใดที่เป็นพิธีเทวดาโดยตรง หรือต้องการที่จะอัญเชิญเทวดามาเป็นประธาน ต้องหาของสังเวยที่ดีและมีสีสะดุดตา ชาวทมิฬจึงมีเคล็ดลับความเชื่อในข้าวที่ย้อมสีตามสีประจำองค์เทวดา รวมถึงใช้สีล่อเทวดาฝ่ายร้ายให้ไปรวมต่างหากไม่ให้มาทำอัปมงคลให้โทษแก่มณฑลพิธีและบุคคล ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยกับทมิฬได้มีความเป็นมาอย่างเดียวกัน เนื่องจากได้มีการถ่ายทอดวัฒนธรรมต่างๆ แก่กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิธีบวงสรวงเทวดา มีขนมต้มขาว มะพร้าวอ่อน กล้วย ข้าวย้อมสี เช่นข้าวเหนียวดำ ข้าวเหนียวแดง ก็นำมาใช้ในพิธีไทยอย่างชัดเจน นอกจากนี้ภาชนะบายศรีต้องเป็นกระทงสำหรับบรรจุอาหาร ภายหลังเอาพานซ้อนกันขึ้นไปแล้วเอาของตั้งบนปากพาน เมื่อมีการถ่ายทอดมาที่ประเทศไทย กระทงใบตองก็ถูกประดิดประดอยให้สวยงามเป็นกระทงเจิม ซึ่งประดับประดาตกแต่งที่ปากกระทงให้มีความงดงามมีกระจัง มียอดแหลมตามศิลปะแบบไทย พิธีบายศรีสู่ขวัญหรือหลายท้องถิ่นในภาคอีสานจะเรียกว่าสู่ขวัญหรือสูดขวัญ ตามความเชื่อของคนไทยเชื่อกันว่าคนที่เกิดมามีขวัญประจำกายมีหน้าที่ในการพิทักษ์รักษา ขวัญเป็นเหมือนพี่เลี้ยงที่คอยดูแลประคับประคองชีวิต คอยเลี้ยงดู และติดตามไปทุกหนทุกแห่ง เป็นสิ่งไม่มีตัวตนคล้ายจิตหรือวิญญาณแฝงอยู่ในตัวคนและสัตว์ ซึ่งขวัญตามความเชื่อทางพระพุทธศาสนาเชื่อว่าในร่างกายเรามี 2 สิ่งรวมกัน คือ ร่างกายและจิตใจหรือขวัญ “ขวัญ” คือความรู้สึก ถ้าขวัญของผู้ใดอยู่กับตัว ผู้นั้นจะมีความสุขกายสบายใจเป็นปกติ แต่ถ้าขวัญของผู้ใดหลบลี้หนีหาย ผู้นั้นจะมีลักษณะอาการตรงกันข้าม คนไทยจึงเชื่อว่าพิธีสู่ขวัญเป็นพิธีหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริม เพิ่มพลังใจให้เข้มแข็ง เมื่อมีขวัญที่มั่นคง พลังใจที่เข้มแข็งดีแล้ว ย่อมส่งผลให้การประกอบภารกิจหน้าที่นั้น ๆ บรรลุผลสำเร็จได้ตามความมุ่งหมาย ซึ่งให้กำลังใจกันเมื่อมีความทุกข์ใจ หรือเสริมให้มีความสุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป เมื่อมีความสุขความพอใจอยู่แล้วก็สามารถทำได้ การทำพิธีสู่ขวัญอาจทำได้ทั้งพิธีทางพระพุทธศาสนาและพิธีทางศาสนาพราหมณ์ ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา
         พิธีบายศรีสู่ขวัญ เป็นพิธีที่สำคัญของชาวอีสาน เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับขวัญและจิตใจ เพื่อให้เกิดขวัญและกำลังใจที่ดีขึ้น การดำเนินชีวิตของชาวอีสานแทบทุกอย่าง จึงมีการบายศรีสู่ขวัญควบคู่กันไปเสมอ เป็นการเรียกพลังทางจิต ช่วยให้มีพลังใจที่เข้มแข็ง สามารถฟันฝ่าภัยพิบัติต่างๆได้ การสู่ขวัญช่วยทำให้เกิดมงคล ทำให้ดำรงอยู่ด้วยความสุขราบรื่น มีโชคลาภมากขึ้น และอาจดลปรารถนาให้ผู้ที่เคราะห์ร้ายพ้นจากสรรพเคราะห์  ทั้งปวง ด้วยมูลเหตุแห่งการสู่ขวัญ การประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญของชาวอีสาน เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับขวัญและจิตใจ ช่วยก่อให้เกิดขวัญและกำลังใจที่ดีขึ้น ซึ่งชาวอีสานเห็นความสำคัญทางจิตใจเป็นอย่างมาก ดังนั้น วิถีการดำเนินชีวิตแทบทุกอย่างจึงมักจะมีการสู่ขวัญควบคู่กันไปเสมอ ทั้งพิธีบายศรีสู่ขวัญมีหลายรูปแบบ แล้วแต่ว่าจะจัดพิธีสู่ขวัญในเรื่องใด เช่น การสู่ขวัญเด็ก การสู่ขวัญนาค การสู่ขวัญบ่าวสาว หรือจะเป็นการสู่ขวัญในเหตุที่ทำให้เกิดการเสียขวัญ จิตใจไม่ดี เพื่อเรียกให้ขวัญมาอยู่กับเนื้อกับตัว สิ่งไม่ดีให้ผ่านพ้นไป มีพลังใจที่ดี รวมทั้งการสู่ขวัญสัตว์และสิ่งต่างๆ บายศรีจึงนับเป็นวัฒนธรรมที่ดี ควรแก่การอนุรักษ์ให้อยู่สืบไปกับการบายศรีสู่ขวัญ นอกจกานั้นบายศรียังเป็นการแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งในทางราชการ และเป็นการต้อนรับอาคันตุกะผู้มาเยือน(ประเวศ วะสี, 2562)

บายศรี[แก้ไข]

         บายศรี มักจะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญและจำเป็นสำหรับวันสำคัญของชีวิต เช่น เมื่อเราเกิดจะมีพิธีช่วงขวัญเดือนสำหรับเด็กทารก เป็นพิธีผูกขวัญสำหรับเด็กทารกแรกเกิด บายศรีสู่ขวัญในการรับน้อง เมื่อเข้าสถานศึกษา เพื่อเป็นการเรียกขวัญที่คนไทยเชื่อว่า เมื่อเกิดมา เราจะมีเทพพิทักษ์ประจำตัว จำเป็นจะต้องทำพิธีเรียกหรือบอกกล่าวให้รับรู้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น ประสบอุบัติเหตุ คนไทยจะนิยมทำพิธีเรียกขวัญเพื่อเรียกขวัญ(จิตใจ) ของผู้ประสบเหตุให้กับมาอยู่กับตัว เมื่อโตมาในช่วงวัยรุ่นก้าวสู่วัยผู้ใหญ่ เราจะเห็นบายศรีในงานประเพณีบวชพระ ในช่วงที่ทำพิธีทำขวัญนาค โดยเฉพาะในพิธีการแต่งงานที่เป็นวันที่มีความสำคัญในชีวิตไม่แพ้วันอื่นๆ ย่อมต้องมีพิธีบายศรีสู่ขวัญเพื่อเพิ่มความเป็นสิริมงคลให้แก่ชีวิตด้วยนั่นเอง

การเลือก และ การทำความสะอาดใบตอง[แก้ไข]

         ใบตองที่นำมาใช้สำหรับทำบายศรี มักนิยมใช้ใบตองจากกล้วยตานี เนื่องจากเป็นใบตองที่มีลักษณะเป็นเงา มันวาว เมื่อโดนน้ำจะยิ่งเกิดประกายสีเขียวเข้มสวยงาม และที่สำคัญ ใบตองจากกล้วยตานีจะมีความคงทน ไม่แตกง่าย ไม่เหี่ยวง่าย สามารถนำมาพับม้วนเป็นรูปลักษณะต่างๆได้ง่าย และสามารถเก็บไว้ได้นานหลายวัน หรือถ้ารักษาโดยหมั่นพรมน้ำบ่อยๆ ใบตองกล้วยตานี จะสามารถคงทนอยู่ได้นานเป็นสัปดาห์ทีเดียวเมื่อได้ใบตองกล้วยตานีมาแล้ว จะต้องนำมาทำความสะอาดก่อน โดยการใช้ผ้านุ่มๆ เช็ดฝุ่นละอองและสิ่งสกปรกต่างๆ ออกจากใบตองตามรอยของเส้นใบไปในทางเดียว อย่าเช็ดกลับไปกลับมา หรืออย่าเช็ดขวางเส้นใบเป็นอันขาด เพราะจะทำให้ใบตองเสียหาย มีรอยแตก และช้ำ ทำให้ไม่สามารถนำใบตองมาใช้งาน (ปติกร บุญมี, 2562)
         การฉีกใบตองเพื่อเตรียมทำกรวยบายศรี คือการนำใบตองที่ได้ทำความสะอาดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หยิบมาทีละใบ แล้วนำมาฉีกเพื่อเตรียมไว้สำหรับม้วนหรือพับ ทำกรวยบายศรี (ปติกร บุญมี, 2562) การพับหรือฉีกใบตอง แบ่งเป็นสามประเภทคือ
             1. ใบตองสำหรับทำกรวยแม่ ฉีกกว้างประมาณ 2 นิ้วฟุต
             2. ใบตองสำหรับทำกรวยลูก ฉีกกว้างประมาณ 2 นิ้วฟุต
             3. ใบตองสำหรับห่อ ฉีกกว้างประมาณ 1.5 นิ้วฟุต 
         ใบตองแต่ละประเภท ควรฉีกเตรียมไว้ให้ได้จำนวนที่ต้องการ กล่าวคือถ้าทำพานบายศรี 3 ชั้น ชั้นละ 4 ทิศ (4 ริ้ว) นั่นก็หมายถึงว่าจะมีริ้วทั้งหมด 12 ริ้ว ในแต่ละริ้ว จะประกอบด้วยกรวยแม่ 1 กรวย และกรวยลูก 9 กรวย รวมทั้งสิ้น จะมีกรวยแม่ 12 กรวย และ กรวยลูก 108 กรวย นั่นเอง แสดงว่าจะต้องมีใบตองสำหรับทำกรวยแม่ 12 ชิ้น ใบตองสำหรับทำกรวยลูก 108 ชิ้น ใบตองสำหรับห่อ 120 ชิ้น นั่นเอง แต่ใบตองสำหรับห่อ จะต้องเตรียมไว้เพื่อห่อริ้วอีก คือใน 1 ริ้วจะประกอบไปด้วย กรวยแม่ 1 กรวย กรวยลูก 9 กรวย ซึ่งจะต้องมาห่อรวมกัน ดังนั้น จึงต้องเพิ่มใบตองสำหรับห่ออีก 120 ชิ้น รวมเป็นใบตองสำหรับห่อ 240 (ธรรมนูญ คงศิลา, 2562) 
ภาพที่ 1 การพับกรวย และห่อกรวย.jpg

ภาพที่ 1 การพับกรวยและห่อกรวย

(วีรวรรณ แจ้งโม้, กัญญารัตน์ สุดใจ และคณะ, 2562)

         การพับหรือห่อกรวย คือ การนำใบตองที่ฉีกเตรียมไว้แล้วสำหรับพับกรวย มาพับขึ้นรูปให้สวยงาม โดยการพับกรวยแม่และกรวยลูกจะมีลักษณะวิธีการพับเหมือนกัน คือ การนำใบตองมาพับม้วนให้เป็นกรวยปลายแหลม เพียงแต่กรวยลูกจะมีการนำดอกพุด มาวางเสียบไว้ที่ส่วนยอดปลายแหลมของกรวยด้วย เมื่อพับหรือม้วนใบตองเป็นกรวยเสร็จในแต่ละกรวยแล้ว ให้นำลวดเย็บกระดาษ มาเย็บใบตองไว้เพื่อป้องกันใบตองคลายตัวออกจากกัน แล้วเก็บกรวยแต่ละประเภทไว้จนครบจำนวนที่ต้องการเมื่อได้กรวยแต่ละประเภทครบตามจำนวนที่ต้องการแล้ว ก็นำกรวยที่ได้มาห่อ โดยการนำใบตองที่ฉีกเตรียมไว้สำหรับห่อมาห่อกรวย หรือเรียกอีกอย่างว่า ห่มผ้า หรือ แต่งตัวให้กรวยบายศรี (ปติกร บุญมี, 2562) จากนั้น จึงห่อริ้วบายศรี โดยการนำกรวยแม่ และ กรวยลูกที่ได้ห่อกรวยไว้เรียบร้อยแล้ว มาห่อมัดรวมเข้าไว้ด้วยกัน ที่นิยมทำกัน ใน 1 ริ้ว จะประกอบด้วย กรวยแม่ 1 กรวย กรวยลูก 9 กรวย

วิธีการห่อริ้ว มีการห่อคล้ายกับการห่อกรวยแม่หรือกรวยลูก[แก้ไข]

ภาพที่ 2 แสดงวิธีการห่อริ้ว.jpg

ภาพที่ 2 แสดงวิธีการห่อริ้ว

(วีรวรรณ แจ้งโม้, กัญญารัตน์ สุดใจ และคณะ, 2562)

แบ่งวิธีตามลักษณะงานห่อบายศรีที่ได้เป็น 2 วิธี[แก้ไข]

         1. ห่อแบบตรง คือ การห่อโดยเริ่มต้นจากกรวยแม่ แล้ววางกรวยลูกไว้ด้านบนกรวยแม่เป็นชั้นทับกันขึ้นมา หรือหันกรวยลูกเข้าหาตัวผู้ห่อ การห่อแบบนี้ จะได้ริ้วบายศรีค่อนข้างตรง และในช่วงตัวริ้ว จะมีรอยหยักของใบตองห่อเรียกว่า มีเกล็ด
         2. ห่อแบบหวาน คือ การห่อ โดยเริ่มต้นจากกรวยแม่ แต่วางกรวยลูกไว้ด้านล่างของกรวยแม่และวางซ้อนลงด้านล่างลงไปจนครบ หรือหันกรวยแม่เข้าหาตัวผู้ห่อ โดยวางกรวยลูกลงด้านล่างจนครบนั่นเอง การห่อแบบนี้ จะได้ริ้วบายศรีเป็นลักษณะอ่อนช้อย งอน อ่อนหวาน เมื่อห่อริ้วจนเสร็จในแต่ละริ้วแล้ว จึงนำริ้วที่ได้ลงแช่ในน้ำผสมสารส้มที่เตรียมไว้ประมาณ 20 นาที เพื่อให้ใบตองเข้ารูปทรง อยู่ตัวตามที่ได้พับและห่อ จากนั้น จึงนำไปแช่ในน้ำผสมน้ำมันมะกอกต่อไป เพื่อให้ริ้วมีความเป็นมันวาว เน้นสีเขียวเข้มของใบตองมากขึ้น และมีกลิ่นหอมในตัวเอง เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ผู้เขียนจึงขออธิบายวิธีทำบายศรีเป็นขั้นตอนพร้อมรูปภาพดังนี้ (สุพัสดา ศรีอุดร และ สมัย ศรีอุดร, 2562)

วิธีการทำบายศรี[แก้ไข]

         1. เตรียมใบตองแล้วตัดใบตองออกจากก้านให้เหลือแต่ใบตอง
ภาพที่ 3 แสดงใบตองก่อนตัดออกจากก้าน.jpg

ภาพที่ 3 แสดงใบตองก่อนตัดออกจากก้าน

(วีรวรรณ แจ้งโม้, ปภาวรินทร์ เทศน์ธรรม และคณะ, 2562)

         2. นำใบตองที่ตัดไว้แล้วมาแช่สารส้ม และน้ำมันมะกอกในกะละมังที่เตรียมไว้
ภาพที่ 4 แสดงใบตองก่อนตัดออกจากก้าน.jpg

ภาพที่ 4 แสดงใบตองก่อนตัดออกจากก้าน ทิ้งไว้ประมาณ 5–10 นาที

(วีรวรรณ แจ้งโม้, ปภาวรินทร์ เทศน์ธรรม และคณะ, 2562)

         3. ฉีกใบตองขนาด 3 นิ้ว รวมจำนวน 36 ชิ้น
ภาพที่ 5 แสดงการฉีกใบตอง.jpg

ภาพที่ 5 แสดงการฉีกใบตองตามแนวขนาด 3 นิ้ว รวมจำนวน 36 ชิ้น

(วีรวรรณ แจ้งโม้, ปภาวรินทร์ เทศน์ธรรม และคณะ, 2562)

         4. ใบตองนุ่งผ้า ฉีกกว้าง 2 - 3 นิ้ว ใช้สำหรับนุ่งผ้าลูกบายศรี
ภาพที่ 6 ใบตองนุ่งผ้า.jpg

ภาพที่ 6 ใบตองนุ่งผ้า ขนาด 2 –3 นิ้ว

(วีรวรรณ แจ้งโม้, ปภาวรินทร์ เทศน์ธรรม และคณะ, 2562)

         5. นำใบตองที่ฉีกไว้มาพันเป็นนิ้วนาง พันไปพร้อมกับดอกพุด ทำไปทีละตัวจนได้ตามจำนวนที่ต้องการ
ภาพที่ 7 นิ้วนางบายศรี.jpg

ภาพที่ 7 นิ้วนางบายศรี

(วีรวรรณ แจ้งโม้, สุพัฒตรา สว่างศรี และคณะ, 2562)

         6. นำนิ้วนางมาประกอบ (นุ่งผ้า) ใช้นิ้วนางมานุ่งผ้าที่ละ 1 ตัว โดยใช้ใบตองที่ฉีกไว้มาพับเข้าหากันให้เป็นรูปนม นุ่งที่ละตัวจนครบ 9 ตัว
ภาพที่ 8 การประกอบนิ้วนางบายศรีเป็น 1 ช่อ.jpg

ภาพที่ 8 การประกอบนิ้วนางบายศรีเป็น 1 ช่อ

(วีรวรรณ แจ้งโม้, สุพัฒตรา สว่างศรี และคณะ, 2562)

         7. นำริบบิ้นมาพับเป็นยอดของนิ้วนาง
ภาพ 7 นำริบบิ้นมาพับเป็นยอดของนิ้วนาง.jpg

ภาพที่ 9 การตกแต่งนิ้วนางด้วยริบบิ้น

(วีรวรรณ แจ้งโม้, สุพัฒตรา สว่างศรี และคณะ, 2562)

         8. เมื่อทำนิ้วนางเสร็จแล้ว ก็ประกอบเป็นบายศรีปากชาม
ภาพที่ 10 บายศรีที่เสร็จสมบูรณ์.jpg

ภาพที่ 10 บายศรีที่เสร็จสมบูรณ์

(วีรวรรณ แจ้งโม้, สุพัฒตรา สว่างศรี และคณะ, 2562)

         จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า บายศรี เป็นเหมือนส่วนหนึ่งของพิธีกรรมที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างช้านาน และในทุกๆช่วงชีวิตที่สำคัญของคนไทย ทั้งการรับขวัญ การทบุญขึ้นบ้านใหม่ การบวช การแต่งงาน หรือพิธีมงคลและเป็นที่น่ายินดีทั้งหลายจะมีพานบายศรีอยู่ด้วยเสมอ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสิริมงคลแก่ผู้ที่กระทำพิธีนั้นๆ