ศาสนสถานและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตำบลนครชุม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

ศาสนสถานและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตำบลนครชุม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร

บทนำ

         วัดหรือศาสนสถานในปัจจุบันได้กลายเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่ผู้คนต่างให้ความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆและเป็นเหตุให้วัดหรือศาสนสถานบางแห่งได้ปรับบทบาทใหม่  เพิ่มจากเดิมที่เคยจำกัดไว้สำหรับเป็นสถานที่ปฏิบัติกิจของสงฆ์และศาสนพิธีของชาวบ้าน หรือเป็นสถานที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันของผู้คนในชุมชนที่แต่ละวัดนั้นตั้งอยู่ กระทั่งกลายมาเป็นสถานที่รองรับนักท่องเที่ยวที่มาจากต่างถิ่น มีสาเหตุมาจากการที่วัดได้ขยายบทบาท โดยอาศัยคุณสมบัติของศาสนาสถานเป็นแรงจูงใจให้เกิดการท่องเที่ยว ซึ่งการปรับแต่งบทบาทของวัดในมิติของการท่องเที่ยวการไม่สูญเสียสภาพเดิมนี้ (กรรณิกา คำดี, 2558, หน้า 175-191) โดยประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนามีวัดเป็นศูนย์กลางของสังคม สามารถช่วยพัฒนาจิตใจควบคู่กับส่งเสริมความเป็นไทย ทั้งยังเป็นการสืบสานศาสนาและศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของไทยให้เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่คู่ประเทศชาติ
         ตำบลนครชุมเป็นชุมชนเก่าแก่ในจังหวัดกำแพงเพชร มีหลักฐานทางโบราณสถานโบราณวัตถุปรากฏมากมาย อดีตนครชุมมีวัดและพระจำนวนมาก ตามศิลาจารึกหลักที่ 8 (ศิลาจารึกเขาสุมนกูฏ) มีการเรียกเมืองนครชุมว่า “นครพระชุม” ซึ่งอาจจะมีความหมายถึงเป็นเมืองที่รวมของพระ หรืออาจหมายถึงมีพระมาก และเปลี่ยนมาเป็นนครชุมในปัจจุบัน ซึ่งในครั้งที่มีการรื้อพระศรีรัตนมหาธาตุเจดีย์ ที่วัดพระบรมธาตุนครชุม สถานที่ค้นพบศิลาจารึกหลักที่ 3 (ศิลาจารึกนครชุม) ก็มีการพบพระพิมพ์เป็นจำนวนมาก และนับว่าเป็นต้นตอของพระเครื่องตระกูลทุ่งเศรษฐี ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดกำแพงเพชร ดังในพระราชนิพนธ์เรื่อง เสด็จประพาสต้นครั้งที่สอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวไว้ว่า “ของถวายในเมืองกำแพงเพชรนี้ ก็มีพระพิมพ์เป็นพื้น” ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นขนบธรรมเนียมอย่างหนึ่งของชาวกำแพงเพชรในการให้พระเครื่องเป็นของที่ระลึก สำหรับผู้ที่เคารพนับถือและมิตรสหาย นครชุมยังคงรักษาเอกลักษณ์ของชุมชนเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 700 ปี และยังคงต้นแบบความย้อนยุคของสถานที่และวัฒนธรรม ซึ่งที่นี่ถือว่าเป็นต้นตำรับ ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงและนำเสนออย่างมีเอกลักษณ์ นอกจากเมืองยังคงเอกลักษณ์แบบย้อนยุคไว้แล้ว นครชุมยังมีโบราณสถานที่เก่าแก่ควรค่าแก่การเรียนรู้อีกมากมาย บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาศาสนสถานและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของตำบลนครชุม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ได้แก่ 1) วัดพระบรมธาตุนครชุม 2) วัดสว่างอารมณ์ 3) วัดเจดีย์กลางทุ่ง 4) วัดหม่องกาเล 5) วัดหนองลังกา 6) วัดหนองยายช่วย 7) วัดซุ้มกอ

คำสำคัญ : ศาสนสถาน, สิ่งศักดิ์สิทธิ์, นครชุม, จังหวัดกำแพงเพชร

วัดพระบรมธาตุนครชุม

         วัดพระบรมธาตุนครชุม เป็นวัดที่อยู่คู่เมืองกำแพงเพชรมาตั้งแต่สมัยเป็นเมืองนครชุมยาวนานมากกว่า 700 ปี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นมาในสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี สร้างโดยกษัตริย์ในสมัยกรุงสุโขทัย คือพระมหาธรรมราชาลิไทหรือพระยาลิไท สร้างขึ้นในปี 1900 เพื่ออุทิศถวายพ่อขุนศรีอินทราทิตย์องค์หนึ่ง พ่อขุนรามคำแหงองค์หนึ่ง และพระเจดีย์ประจำรัชกาลองค์อีกหนึ่งองค์ และได้นำพระบรมสารีริกธาตุ 9 องค์ สถาปนาไว้ในพระเจดีย์องค์กลาง และพระองค์ได้เสด็จมาพระมหาธาตุเจดีย์เป็นประจำทุกปี ซึ่งในสมัยสุโขทัยนั้นวัดพระบรมธาตุนครชุมมีความเจริญมากเพราะเป็นวัดพระอารามหลวงประจำเมือง
         พระบรมธาตุนครชุม มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นมหาเจดีย์ทรงสูงใหญ่ สวยงามไปด้วยสถาปัตยกรรมและสีทองอร่ามทั้งองค์เสมือนดั่งเจดีย์ชเวดากองในเมืองพม่า เป็นพระบรมธาตุเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จำนวน 9 องค์พระบรมธาตุเจดีย์ เดิมนั้นเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ (ทรงดอกบัว) สามองค์ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ภายในวัดก็มีแหล่งความรู้ที่สำคัญ คือ ศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลนครชุม โดยจัดแสดงเป็นอาคารทรงไทยสวยงาม ทำด้วยไม้สักทองทั้งหลัง ภายในจัดแสดงวัตถุโบราณและ ข้าวของเครื่องใช้ในอดีตมากมาย และแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อีกหลายอย่าง แสดงวิถีชีวิตของชาวเมือง นอกจากนี้ยังมีศาลาการเปรียญ พระอุโบสถ ศูนย์การศึกษาพระปริยัติธรรมสำหรับพระภิกษุและสามเณร และมีกุฏิจำนวน 23 หลัง สถานสำคัญของวัดพระบรมธาตุ คือ
         1) พระบรมสารีริกธาตุ บรรจุอยู่ในสำเภาเงินมีพระบรมธาตุอยู่ถึง 9 องค์ ปัจจุบันประดิษฐานไว้ในองค์พระบรมธาตุ มีความเชื่อว่า ผู้ใดได้บูชาพระบรมธาตุเหมือนกับได้พบพระพุทธเจ้าด้วยตนเอง ทำให้ประชาชนพากันมาสักการบูชาพระบรมธาตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันมาฆบูชาและวันสงกรานต์ 
         2) พระศรีมหาโพธิ์ ชาวกำแพงเพชรเชื่อกันว่าพระศรีมหาโพธิ์ที่พระยาลิไททรงปลูกเมื่อ พ.ศ.1900 เป็นต้นโพธิ์ขนาดมหึมา คนโอบ 9 คน ในพุทธศาสนาเดิมกล่าวว่า ถ้าผู้ใดไหว้บูชาต้นโพธิ์เสมือนได้บูชาพระพุทธเจ้าเช่นกันแต่ปัจจุบันความเชื่อนี้ได้จางหายไปจากสังคม
ภาพที่ 1 วัดพระบรมธาตุนครชุม.jpg

ภาพที่ 1 วัดพระบรมธาตุนครชุม

         วัดพระบรมธาตุนอกจากจะมีสถานที่สำคัญหลายอย่างแล้ว ภายในวัดยังมีแหล่งความรู้ที่สำคัญคือ ศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลนครชุม โดยจัดแสดงเป็นอาคารทรงไทยสวยงาม ทำด้วยไม้สักทองทั้งหลัง ภายในจัดแสดงวัตถุโบราณและข้าวของเครื่องใช้ในอดีตมากมาย และแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อีกหลายอย่างแสดงวิถีชีวิตของชาวเมืองเป็นศูนย์รวบรวมวัตถุโบราณและเรื่องราวต่างๆ ของเมืองนครชุมเอาไว้มากมาย เพื่อให้เป็นแหล่งการเรียนรู้และถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งทางด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต แก่ชุมชนและสังคม ในยุคปัจจุบันเพื่อให้ยั่งยืนสืบไป นอกเราจะได้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังสามารถใช้เป็นแหล่งความรู้และเรียนรู้ได้อีกด้วย

วัดสว่างอารมณ์

         วัดสว่างอารมณ์ ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2225 วัดแห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นสมัยก่อนรัชกาลที่ 5 เดิมพื้นที่เป็นป่ารกร้าง ต่อมาชาวบ้านได้ร่วมใจกันพัฒนาวัดให้เป็นปูชนียสถานที่สมบูรณ์จวบจนปัจจุบัน ได้รับราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2230

ภายในวัดมีศาสนสมบัติที่สำคัญเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวคลองสวนหมาก เมืองนครชุม ให้ความเลื่อมใสศรัทธา ภายในวัดสว่างอารมณ์แห่งนี้ ได้แก่ หลวงพ่ออุโมงค์ หลวงพ่อมหามงคลนิมิตพระพุทธรูปศิลปะพม่าและมณฑปแบบพม่า พระพุทธรูปยืน “หลวงพ่อประทานพร” ประดิษฐานอยู่บริเวณด้านหน้าหอระฆัง โดยหลังคาของหอระฆังแห่งนี้ได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมทางเหนือ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของกำแพงเพชร ในฐานะหัวเมืองฝ่ายเหนือ วิหารแก้วพระนอน หลวงพ่อศรีมหาโพธิ์ พระสีวลี รูปหล่อ อดีตเจ้าอาวาสวัดสว่างอารมณ์ หลวงพ่อบุญมี ธัมมสโร และหลวงพ่อทองหล่อ ปิยะโส

ภาพที่ 2 หลวงพ่ออุโมงค์.jpg

ภาพที่ 2 หลวงพ่ออุโมงค์ วัดสว่างอารมณ์

         สิ่งที่พุทธศาสนิกชนเข้ามากราบไหว้ขอพรมากที่สุด คือ "หลวงพ่ออุโมงค์" แห่งวัดสว่างอารมณ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปแบบเชียงแสนขนาดใหญ่ ขนาดหน้าตักกว้าง 2.87 เมตร สูงเกือบ 3 เมตร สำหรับประวัติของ "หลวงพ่ออุโมงค์" จากการบอกเล่าต่อกันมาว่า พบหลวงพ่อในดินลักษณะคล้ายจอมปลวกจึงขุดกันออกมา มองดูคล้ายท่านอยู่ในอุโมงค์ สันนิษฐานว่าอาจหลบพวกพม่าที่มาตีเมืองในสมัยนั้น หรือปาฏิหาริย์ของท่านก็   ไม่อาจทราบได้ ท่านเป็นที่เคารพบูชาของชาวนครชุม และชาวกำแพงเพชรมาเป็นเวลาช้านาน เมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 4 ชาวจังหวัดกำแพงเพชร จะจัดงานประเพณีนมัสการปิดทองหลวงพ่ออุโมงค์เป็นประจำทุกปี วิหารหลวงพ่ออุโมงค์นั้น สร้างมณฑปสี่เหลี่ยมมีทางเข้าออกด้านหน้าทางเดียว ส่วนมุขที่ต่อยื่นออกมาจากมณฑป มองดูเหมือนว่า จะสร้างต่อกันในยุคหลังๆ

วัดเจดีย์กลางทุ่ง

        วัดเจดีย์กลางทุ่ง เป็นวัดในกลุ่มอรัญญิกของเมืองนครชุมอีกแห่งหนึ่ง เดิมชื่อวัดอะไรไม่ปรากฏหลักฐาน เดิมเห็นแต่มีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่กลางทุ่งนา จึงเรียกขานกันว่า วัดเจดีย์กลางทุ่ง ลักษณะของวัดเจดีย์กลางทุ่ง น่าจะสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 18-19 ในสมัยสุโขทัยเรืองอำนาจ มีคูน้ำขนาดใหญ่ล้อมรอบทั้งสี่ด้านที่เรียกกันว่าอุทกสีมา ภายในอุทกสีมามีวิหารขนาดใหญ่ ลักษณะค่อนข้างแปลก เกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัสตุรัส และอยู่ต่ำกว่าปกติ ด้านหลังมีเจดีย์ประธานที่เป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ขนาดใหญ่ ที่ค่อนข้างสมบูรณ์และสมส่วน สร้างด้วยอิฐที่ได้จากดินเหนียวบริเวณทุ่งเศรษฐีลานประทักษิณรอบๆ เจดีย์ มีขนาดกว้างมาก ทำศาสนพิธีได้อย่างสะดวกสบาย รูปทรงขององค์เจดีย์ ประกอบด้วย ฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกแก้ว อกไก่ ชั้นแว่นฟ้า และส่วนเรือนธาตุย่อเหลี่ยมไม้สิบ ที่รองรับส่วนยอดของเจดีย์ทรงดอกบัวตูม ส่วนยอดสุดหักตกลงมาไม่เห็นมีหลักฐาน นับว่าเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ขนาดใหญ่ที่งดงามมาก เป็นสัญลักษณ์ของเมืองนครชุมเลยทีเดียว                            ทรงดอกบัวตูมหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ สภาพค่อนข้างสมบูรณ์
         รอบๆ เจดีย์ประธาน มีหลักฐานเหลืออยู่เพียงองค์เดียวอยู่ด้านหลังที่เป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ขนาดใหญ่ วัดเจดีย์กลางทุ่งมีพระเครื่องตระกูลทุ่งเศรษฐีที่มีชื่อเสียงมาก คือ พระกำแพงซุ้มกอ พระกำแพงนางพญา และพระกำแพงเขย่ง จึงทำให้โบราณสถานโบราณวัตถุถูกขุดค้นทำลายลง
ภาพที่ 3 วัดเจดีย์กลางทุ่ง.jpg

ภาพที่ 3 วัดเจดีย์กลางทุ่ง

ภาพที่ 4 วัดเจดีย์กลางทุ่ง.jpg

ภาพที่ 4 เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์อยู่ด้านหลังวัดเจดีย์กลางทุ่ง

วัดหม่องกาเล

         วัดหม่องกาเล เป็นเจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆังศิลปะสุโขทัย ก่อด้วยอิฐ มีซุ้มพระยื่นออกมาจากฐานตอนล่างทั้ง 4 ด้าน ชั้นมาลัยเถารองรับองค์ระฆังเป็นแบบบัวถลา องค์ระฆังค่อนข้างเพรียวหรือชะลูดปากองค์ระฆังไม่ตายออกมากนัก ถัดจากองค์ระฆัง เป็นส่วนที่เรียกว่าบัลลังก์ สําหรับส่วนยอดขององค์เจดีย์หักพังทลายเกือบหมด เหลือหลักฐานเฉพาะส่วนของแกน ปล้องไฉนสันนิษฐานว่าบริเวณที่ค้นพบวัดอยู่ในที่ จับจองของชาวพม่าที่ชื่อหม่องกาเล ซึ่งสืบหาลูกหลานของท่านไม่ได้รู้แต่ว่าหลังจากหม่องกาเลที่บริเวณนั้นเป็นที่ครอบครองของตาหมอหร่อง ตาหมอหร่อง มีลูกเขยชื่อนายจันทร์ ได้ครอบครองที่ดินบริเวณนี้ต่อมา และได้ขายที่ดินทั้งหมดให้ผู้อื่น
ภาพที่ 5 วัดหม่องกาเล.jpg

ภาพที่ 5 วัดหม่องกาเล

         ปัจจุบันวัดหม่องกาเล ตั้งอยู่บนแนวถนนโบราณที่ชาวบ้านเรียกว่าถนนพระร่วง หรือถนนตาพระร่วง ยังไม่ถูกบุกรุกทำลายมากอย่างวัดอื่น ผ่านการบูรณะปฏิสังขรณ์แล้วจากกรมศิลปากร มีเจดีย์ประธานที่มีรูปทรงงดงาม ขนาดย่อมกว่าวัดหนองลังกาเล็กน้อย  มีซุ้มที่ฐานเจดีย์อยู่สามซุ้ม ไม่ทราบว่าไม่ได้บูรณะ 1 ซุ้ม หรือไม่มีแต่แรก แต่ถ้าสังเกตจากวัดหนองลังกา แล้วน่าจะมี 4 ซุ้ม รูปทรงของเจดีย์ เพรียวและสง่างาม ยอดหักพังมาถึงคอระฆัง ไม่พบยอดที่หักตกลงมาเลย ในบริเวณนั้นอาจจะอยู่ในหนองน้ำ หรืออุทกสีมาที่อยู่รอบๆ บริเวณพื้นที่ นั้นก็เป็นได้ ด้านหน้ามีวิหารเตี้ยๆคล้ายวิหารของวัดเจดีย์กลางทุ่ง แต่มีร่องรอยของฐานวิหารที่ชัดเจน โดยรอบไม่มีเจดีย์รายรอบอาจถูกขุดทำลายหมด เพราะเป็นเจดีย์ขนาดเล็ก คูน้ำล้อมรอบเป็นคูน้ำขนาดใหญ่ที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ยังไม่ถูกรื้อทำลาย วัดหม่องกาเลมีกรุพระเครื่องที่มีชื่อเสียงมาก โดยเฉพาะอย่างพระซุ้มกอขุดพบที่บริเวณวัดนี้จำนวนมาก