ฐานข้อมูล เรื่อง ศิลปกรรมสกุลช่างกำแพงเพชร
รุ่นแก้ไขเมื่อ 11:16, 9 มีนาคม 2564 โดย Admin (คุย | มีส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย "=='''ข้อมูลทั่วไป'''== ==='''ชื่อภูมิปัญญา'''=== ศิลปกรรมสกุลช่...")
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อภูมิปัญญา
ศิลปกรรมสกุลช่างเมืองกำแพงเพชร
ชื่อเรียกอื่น ๆ
-
ความเป็นมาของภูมิปัญญา
กำแพงเพชร ได้รับการรับรองจาก UNESCO ให้เป็นเมืองมรดกโลก ด้วยเพราะเป็นพื้นที่ที่มีโบราณสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์รวมอยู่มากมายหลายแห่ง ซึ่งทั้งหมดเป็นศาสนสถาน อันแสดงให้เห็นถึงการให้คุณค่าสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจของผู้คน อีกทั้งเป็นวัฒนธรรมหลักของผู้คนในสังคมไทย ที่ตอบสนองการรับใช้ศาสนาและการเป็นเมืองพุทธมาเป็นเวลายาวนาน โดยโบราณสถานแต่ละแห่งนั้นมีเรื่องราว ความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับโบราณสถานทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่อื่นๆใกล้เคียง เช่น สุโขทัย และศรีสัชนาลัย ทำให้สามารถพบรูปแบบการสร้างสรรค์ศิลปกรรมของกำแพงเพชร อย่างสถาปัตยกรรม รวมถึงโบราณวัตถุอย่างประติมากรรมต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยสุโขทัยและสมัยหลังสุโขทัย มีความผสมผสานและได้รับอิทธิพลจากรูปแบบศิลปะสกุลช่างต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สุโขทัย อยุธยาและล้านนา ความผสมผสานรูปแบบและการได้รับอิทธิพลดังกล่าว ได้ประกอบกันทำให้เกิดรูปแบบของงานศิลปกรรมที่อาจกล่าวได้ว่ามีลักษณะเฉพาะ จนสามารถเรียกว่าเป็น สกุลช่างกำแพงเพชรได้ เช่น พระพุทธรูปสกุลช่างกำแพงเพชร หรือเจดีย์กลุ่มหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะเป็นฐานแปดเหลี่ยมที่พบได้มากในเมืองกำแพงเพชร ซึ่งความเฉพาะตัวที่ค้นพบนี้สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของช่างท้องถิ่นเมืองกำแพงเพชรในสมัยโบราณ
ผู้วิเคราะห์และค้นพบ
ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
วัน/เดือน/ปีที่ค้นพบ
-
ข้อมูลภูมิปัญญา
แนวคิดภูมิปัญญา
การสร้างสรรค์ศิลปกรรมที่ตอบสนองการรับใช้พุทธศาสนา ด้วยรูปแบบที่รับอิทธิพลและการผสมผสานจากศิลปะสกุลช่างต่างๆ ในสมัยสุโขทัยและสมัยหลังสุโขทัยตามบริบทความเจริญรุ่งเรืองของแต่ละยุค จนเกิดรูปแบบเฉพาะตัวที่สะท้อนภูมิปัญญาของช่างท้องถิ่นเมืองกำแพงเพชรโบราณ สกุลงานช่างในงานด้านสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ประติมากรรม เครื่องปั้นดินเผาต่าง ๆ โดยมากงานสกุลช่างในแต่ละด้าน ช่างจะมีพรสวรรค์ ความละเอียดอ่อน ความประณีตไปตามศาสตร์และศิลป์เฉพาะตัวของแต่ละสกุลช่าง ซึ่งในสมัยที่ย้อนยุคกลับไปเมื่อ 2000-4000 ปีที่แล้ว การพัฒนาการด้านศิลปะเป็นไปด้วยความลำบาก เพราะเป็นจุดเริ่มต้นงานศิลปะยุคแรกๆ การใช้วัสดุอุปกรณ์ในการทำให้เกิดงานศิลปะในสมัยนั้นเป็นเรื่องยาก และเป็นเรื่องใหญ่สำหรับมนุษย์ในยุคนั้น ชิ้นงานศิลปะในตอนนั้น การทำงานไม่มีเครื่องทุ่นแรง วัสดุอุปกรณ์หายาก ต้องดัดแปลงวัสดุอุปกรณ์จากธรรมชาติล้วน ๆ เช่น ต้นไม้ หินภูเขา หินทะเล และดินเหนียวจากที่ต่างๆเป็นพื้นฐาน ชิ้นงานจึงดิบและแข็งกระด้างในสายตาของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน แต่คุณค่าทางประวัติศาสตร์ศิลปะถือได้ว่ามีคุณค่าและยิ่งใหญ่มาก เพราะจิตวิญญาณที่ใส่ลงไปในชิ้นงานทั้งการแกะสลักหิน แกะสลักไม้ ปั้นดินเหนียวแล้วเผาเป็นภาชนะต่างๆ มีพลังทางจิตวิญญาณสูงมาก ทั้งยังบริสุทธิ์ในด้านสุนทรียรส สุนทรียภาพ ไม่มีการปรุงแต่งในจิตใจ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไป ตามธรรมชาติของจิตวิญญาณในสกุลช่างในยุคนั้นๆ งานแต่ละชิ้นจึงแสดงความขลังและอานุภาพมาจนถึงปัจจุบันนับร้อยนับพันหรือนับหมื่นปี เท่าที่มนุษย์ย้อนประวัติศาสตร์ตามหลักฐานที่พบและค้นหาเจอ จึงสามารถติดตามยุคสมัยในอดีตถึงสกุลงานช่างจากอดีตจนถึงปัจจุบัน สามารถเข้าถึงศิลปินผู้นำในด้านต่างๆในยุคย้อนกลับไป เห็นความสุนทรียรส วิธีคิด ความลึกซึ้ง ความประณีต จิตที่ละเอียดอ่อน ความศรัทธามุ่งมั่น ตั้งใจในงานศิลปะ ซึ่งอิทธิพลของวัฒนธรรม ประเพณี การเมือง การปกครอง เป็นปัจจัยหลักในการกำหนดแนวทางการสร้างงานด้านต่างๆ ของศิลปินในแต่ละยุคสมัย และยังเกิดลัทธิทางความคิดในงานศิลปะด้านสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ประติมากรรม เครื่องปั้นเผา ฯลฯ ที่เป็นทั้งเชิงบวกและเชิงลบตามความนึกคิด และการตกผลึกของมนุษย์กับงานด้านศิลปะ สกุลงานช่างที่วิจิตรพิสดาร งานสร้างอันน้อยนิดจนถึงงานยิ่งใหญ่ อลังการเท่าที่สติปัญญาของมนุษย์ชาติจะทำได้โดยไม่ขัดแย้งอย่างสุดขั้วกับสภาวะที่ธรรมชาติรองรับ แต่สกุลงานช่างในแขนงต่างๆ จะต้องค้นหาหลักสมดุล กฎแห่งธรรมชาติตามสัจจธรรมชาติให้ได้ ศิลปะงานดางด้านสกุลงานช่างกำแพงเพชรได้แบบออกได้ 2 จำพวกได้ ศาสนสถาน(สถาปัตยกรรม) สกุลช่างกำแพงเพชรหลังสมัยสุโขทัย และงานปฎิมากรรม (พระพุทธรูป) ซึ่งศาสนสถาน(สถาปัตยกรรม) สกุลช่างกำแพงเพชรหลังสมัยสุโขทัย แบบออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ - กลุ่มที่ 1 เจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัย-อยุธยา (ที่มีอิทธิพลศิลปะอยุธยา) : เจดีย์ที่มีสิงห์ล้อม - กลุ่มที่ 2 เจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัย-ล้านนา : เจดีย์ที่มีฐานและส่วนรองรับองค์ระฆังแปดเหลี่ยม อิทธิพลศิลปะหริภุญชัย-ล้านนา - กลุ่มที่ 3 เจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัย-ล้านนา-อยุธยา : เจดีย์ที่มีส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นบัวคว่ำบัวหงายแบบล้านนา กลุ่มที่ 1 เจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัย-อยุธยา (ที่มีอิทธิพลศิลปะอยุธยา) : เจดีย์ที่มีสิงห์ล้อม เจดีย์วัดพระแก้วมีลักษณะโดยรวมที่ยังเป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัย คือ มีชุดบัวถลารองรับองค์ระฆังและเป็นกลุ่มเจดีย์แบบพิเศษ คือ การมีช่องจระนำที่ฐานประดิษฐานพระพุทธรูปโดยรอบลักษณะเดียวกับเจดีย์วัดช้างล้อม เมืองศรีสัชนาลัย และ ที่ฐานมีการประดับสิงห์ล้อมเป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของกลุ่มโบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ตั้งอยู่บริเวณเขตพระราชวังเก่า เป็นโบราณสถานที่สวยงามและมีเอกลักษณ์ในรูปแบบสกุลช่างกำแพงเพชร ซึ่งเป็นผลจากการเป็นเมืองหน้าด่านของสองอาณาจักร คือกรุงสุโขทัย และกรุงศรีอยุธยา ยังผลให้เกิดการซึมซับศิลปะของทั้งสองอาณาจักรเข้าด้วยกัน เกิดเป็นศิลปะสกุลช่างกำแพงเพชรขึ้น สิ่งก่อสร้างภายในวัดส่วนใหญ่ใช้ศิลาแลง ภายในวัดมีโบราณสถานที่สำคัญ ประกอบด้วย พระอุโบสถ ตั้งอยู่บนฐานไพทีขนาดใหญ่ มีพระพุทธรูปโกลนจากศิลาแลง เป็นพระประธาน ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี ด้านหลัง มีบุษบกทรงมณฑปขนาดใหญ่ ฐานบัวย่อมุม หน้ากระดานประดับด้วยลูกฟัก เชื่อกันว่า บุษบก นี้ เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต จึงเป็นที่มาของชื่อวัดพระแก้ว พระเจดีย์สิงห์ล้อม เป็นเจดีย์ประธานทรงระฆัง แบบลังกา รูปทรงมีเอกลักษณ์สวยงาม บนฐานสี่เหลี่ยม ที่ฐานมีซุ้มโดยรอบทั้งสี่ด้าน ภายในประดับด้วยสิงห์ปูนปั้นอยู่ในคูหา แต่ได้ชํารุดหมด ถัดจากซุ้มรูปสิงห์ขึ้นไป เป็นซุ้มจระนำ ภายในประดิษฐานด้วยพระพุทธรูปปูนปั้นที่ชำรุดเกือบทั้งหมด พระวิหาร ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ภายในองค์พระก่อด้วยศิลาแลง เป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ 1 องค์ เป็นประธาน โดยมีอัครสาวกเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย 2 องค์ ประดิษฐานอยู่ด้านหลัง ประจำเบื้องซ้ายและเบื้องขวา พระพักตร์ค่อนข้างเหลี่ยม คล้ายศิลปะอู่ทองของอยุธยา พระเจดีย์ช้างเผือก เป็นเจดีย์ทรงระฆังบนฐานสี่เหลี่ยม ประดับด้วยช้างปูนปั้นโดยรอบ ภายนอกพระเจดีย์ ล้อมรอบด้วยระเบียงคด
ภาพที่ 1 เจดีย์วัดพระแก้ว
กลุ่มที่ 2 เจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัย-ล้านนา : เจดีย์ที่มีฐานและส่วนรองรับองค์ระฆังแปดเหลี่ยม อิทธิพลศิลปะหริภุญชัย-ล้านนา รูปแบบเจดีห์วัดพระธาตุมีส่วนฐานที่แตกต่างจากที่พบอยู่ในศิลปะสุโขทัยโดยทั่วไป คือ มีชั้นฐานเขียนในผังแปดเหลี่ยมหลายชั้น รองรับฐานบัวคว่ำ-บัวหงาย ซึ่งมีถึง 2 ฐาน อยู่ในผังแปดเหลี่ยมฐานชั้นล่างประดับลูกแก้วอกไก่กลางท้อนไม้ 1 เส้น ลูกแก้วอกไก่มีขนาดใหญ่มาก แตกต่างจากที่พบ โดยทั่วไป ซึ่งถือเป็นลักษณะพิเศษได้ โดยมีส่วนที่แตกต่าง คือเจดีย์องค์นี้มีชั้นบัวคว่ำ-บัวหงายในผังแปดเหลี่ยมเพิ่มขึ้นอีก 1 ชั้น เป็นฐานบังลูกแก้วอกไก่ที่มีการประดับลูกแก้ว 2 เส้น ซึ่งลักษณะฐานในผังแปดเหลี่ยมนี้ไม่ใช่ศิลปะสุโขทัยและลังกา อีกส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลศิลปะล้านนา วัดพระบรมธาตุนครชุมเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เป็นวัดเก่าแก่อยู่คู่เมืองกำแพงเพชรมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ภายในมีศาสนสถานที่สำคัญหลายอย่าง เช่น พระบรมธาตุเจดีย์ภายในบรรจุพระสารีริกธาตุ 9 องค์,ต้นศรีมหาโพธิ์ขนาดใหญ่ที่พระยาลิไททรงปลูกไว้,พระอุโบสถหลังเก่า,พระวิหาร,วิหารพระนอน,ศาลาเรือนไทย นอกจากนี้ยังมีศาลาการเปรียญที่ใช้เป็นศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน เพื่อให้เป็นแหล่งความรู้แก่ชุมชน อีกด้วย พระบรมธาตุนครชุมเป็นวัดที่สร้างขึ้นมาพร้อมกับเมืองนครชุมเป็นวัดประจำเมืองเหมือนกับวัดพระแก้วประจำเมืองกำแพงเพชรและวัดพระบรมธาตุ จาก จารึกนครชุมเดิมภายในวัดมีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์(ทรงดอกบัว)สามองค์ตั้ง อยู่บนฐานเดียวกัน สันนิษฐานว่าสร้างโดยกษัตริย์ในสมัยกรุงสุโขทัย คือพระมหาธรรมราชาลิไทหรือพระยาลิไท สร้างขึ้นในปี 1900 เพื่ออุทิศถวาย พ่อขุนศรีอินทราทิตย์องค์หนึ่ง พ่อขุนรามคำแหงองค์หนึ่ง และพระเจดีย์ประจำรัชกาลอีก 1 องค์ และได้นำพระบรมสารีริกธาตุ 9 องค์ สถาปนาไว้ในพระเจดีย์องค์กลาง และพระองค์ได้เสด็จมาพระมหาธาตุเจดีย์เป็นประจำทุกปี ซึ่งในสมัยสุโขทัยนั้นวัดพระบรมธาตุนครชุมมีความเจริญ มากเพราะเป็นวัดพระอารามหลวงประจำเมือง วัดพระบรมธาตุเจริญรุ่งเรืองมากกว่า 200 ปี จนกระทั่งเมืองนครชุมถึงภาวะล่มสลายตามกฎแห่งอนิจจัง เพราะแม่น้ำปิงกัดเซาะแนวกำแพงเมืองนครชุมพังพินาศความเจริญทางพุทธจักรและ อาณาจักรได้สูญสิ้นไปจากเมืองนครชุม เมืองฝั่งตรงข้ามทางทิศตะวันออก คือ เมืองกำแพงเพชร ได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแทนที่ วัดพระบรมธาตุร้างมากว่า 300 ปี จนกระทั่งถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์วัดพระบรมธาตุมีหลักฐานที่ชัดเจนอีกครั้ง จากหนังสือพระราชนิพนธ์เสด็จประพาสต้นครั้งที่ 2 เมื่อเดือนสิงหาคม 2449 ณ เมืองกำแพงเพชร ความว่า...ในพ.ศ.2329 สม เด็จพุฒาจารย์ (โต) แห่งวัดระฆังโฆษิตาราม ได้เสด็จมาเยี่ยมญาติที่เมืองกำแพงเพชร พักที่วัดเสด็จได้อ่านจารึกนครชุมที่ประดิษฐาน ณ อุโบสถวัดเสด็จ ตำบลเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ได้ทราบว่ามีเจดีย์โบราณบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ อยู่ริมน้ำปิง ฝั่งตะวันตกตรงข้ามเมืองเก่าสามองค์ ได้ให้เจ้าเมืองกำแพงเพชรพระยารามณรงค์สงคราม (น้อย) ได้ป่าวร้อง ให้ประชาชนแผ้วถางพบเจดีย์ตามจารึกและปฏิสังขรณ์ขึ้นในปี พ.ศ.2414 (ซงพอ หรือพระยาตะก่า) พ่อค้าไม้ชาวกะเหรี่ยงมีให้ศรัทธาจะบูรณะปฏิสังขรณ์ พระเจดีย์วัดพระบรมธาตุนครชุม พระยากำแพงเพชร เจ้าเมืองได้ทำหนังสือขออนุญาตลงมาที่กรุงเทพฯ ทางกรุงเทพฯจึงตอบอนุโมทนาและอนุญาตให้ซ่อมแซมได้ จากแผนผังของวัด ทำให้สันนิษฐานว่าวัดพระแก้วและวัดพระธาตุ เดิมอาจเป็นวัดเดียวกัน ต่อมาสร้างวัดพระแก้วต่อไปข้างหน้า จึงทำให้วัดแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ แต่ลักษณะทางสถาปัตยกรรมมีลักษณะที่แตกต่างกัน คือวัดพระแก้วสร้างด้วยศิลาแลง แต่วัดพระธาตุสร้างด้วยอิฐ จึงทำให้สันนิษฐานว่าสร้างที่หลังวัดพระแก้ว ลักษณะของสถาปัตยกรรมจัดเป็นแบบเฉพาะของตระกูลช่างกำแพงเพชร มีฐานแปดเหลี่ยมต่อจากฐานเขียงอีกหลายชั้น ต่อจากนั้นเป็นลักษณะของเจดีย์ทรงกลม ตระกูลช่างกำแพงเพชร
ภาพที่ 2 เจดีย์วัดพระธาตุ เมืองกำแพงเพชร
กลุ่มที่ 3 เจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัย-ล้านนา-อยุธยา : เจดีย์ที่มีส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นบัวคว่ำบัวหงายแบบล้านนา วัดช้างรอบตั้งอยู่ในเขตอรัญญิก ด้านทิศเหนือของเมืองกำแพงเพชร ถือเป็นวัดที่มีขนาดใหญ่มากวัดหนึ่งและน่าจะสร้างขึ้นตามคติของความเป็นศูนย์กลางจักรวาล กล่าวคือ มีการยกชั้นประทักษิณสูงมาก ทางขึ้นมีการประดับสิงห์และเทวดา รอบฐานประดับช้างโดยรอบ และที่ผนังทำเป็นงานปูนปั้นรูปต้นไม้ อาจหมายถึงคติของป่าหิมพานต์ มีช้างเป็นผู้ค้ำจุนจักรวาลมีสิงห์ที่เป็นสัญลักษณ์ของป่าหินพานต์ และเทวดา เป็นทวารบาลหรือสัญลักษณ์ของสวรรค์ กลางวัดมีเจดีย์ประธานขนาดใหญ่รูปแบบเจดีย์ช้างล้อมที่ได้รับอิทธิพลจากสุโขทัย ฐานเจดีย์อยู่ในแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างด้านละ 31 เมตร สูง 7 เมตร ที่ฐานเป็นรูปช้างปูนปั้นครึ่งตัวหันศีรษะออกจากฐานรอบเจดีย์ จำนวน 68 เชือก ช้างแต่ละตัวทรงเครื่องที่มีเครื่องประดับที่แผงคอ กำไล โคนขาและข้อขา ระหว่างช้างแต่ละตัวมีลายปูนปั้นเป็นรูปต้นไม้และสัตว์ป่าซึ่งหมายถึงป่าหิมพานต์ทั้งสี่ด้านมีบันไดทางขึ้นไปด้านบนฐานเจดีย์ เชิงบันไดมีประติมากรรมรูปยักษ์และสิงห์ระหว่างทางขึ้นด้านบนฐานเป็นเจดีย์ฐานแปดเหลี่ยมสันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์ทรงระฆังแต่ส่วนบนพังทลายเกือบหมดแล้วทางด้านทิศตะวันออกชองเจดีย์เป็นวิหารใหญ่ขนาด 7 ห้อง ด้านหน้าวิหารเป็นบ่อน้ำที่เกิดจากจากขุดนำศิลาแลงมาใช้ จากการขุดแต่งที่ฐานเจดีย์วัดช้างรอบนี้ได้พบประติมากรรมลวดลายต่าง ๆ เป็นดินเผารูปนางรำ รูปยักษ์ รูปหงส์ รูปหน้าเทวดา และหน้ามนุษย์ เป็นศิลปะรูปแบบอยุธยาตอนต้น-ตอนกลางผสมกับศิลปะสุโขทัยโบราณวัตถุที่พบนี้ บางชิ้นเก็บรวบรวมและจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชรจากรูปแบบศิลปะและหลักฐานที่พบ สันนิษฐานว่าวัดช้างมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 – 21 ในสมัยอยุธยา ลักษณะสำคัญที่ช่วยในการกำหนดอายุได้ คือ ลวดลายประดับช้าง ได้พบว่าลายส่วนใหญ่เป็นลายพรรณพฤกษา คือ ลายดอกไม้ ใบไม้ มีลวดลายที่ใบระกาที่ส่วนคอช้าง ได้พบว่าลายส่วนคอช้างนั้นเหมือนกับลวดลายที่ผ้านุ่งของเทวรูปสำริดพระอิศวรที่พบที่เมืองกำแพงเพชร มีจารึกที่ฐานระบุ พ.ศ.2053 ดังนั้นลวดลายนี้จึงน่าจะมีความสัมพันธ์กันและเป็นลายที่เกิดขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น อายุของเจดีย์จึงน่าจะร่วมสมัยกับอายุพระอิศวรองค์นี้ คือในราวต้นถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 21 แล้ว
ภาพที่ 3 รูปรายละเอียดเจดีย์วัดช้างรอบ เมืองกำแพงเพชร
งานปฎิมากรรม (พระพุทธรูป) งานปฎิมากรรม (พระพุทธรูป) แบ่งได้ 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.พระพุทธรูปหมวดใหญ่ สมัยสุโขทัยเป็นสกุลช่างกำแพงเพชรมีลักษณะย่อยที่สามารถแบ่งได้เป็นหมวดกำแพงเพชรตามที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไป คือ พระพุทธรูปที่มีลักษณะเช่นเดียวกับพระพุทธรูปหมวดใหญ่ในสมัยสุโขทัยแต่ลักษณะเฉพาะของสกุลช่างกำแพงเพชร คือ พระนลาฏกว้าง และพระหนุเสี้ยม พระพักตร์ยาวอย่างมาก เมื่อพระพักตร์ยาวทำให้ส่วนต่างๆยาวหรือสูงตามไปด้วย
ภาพที่ 4 พระพุทธรูปปางมารวิชัย หมวดกำแพงเพชร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร
2. อิทธิพลพระพุทธรูปล้านนา เป็นกลุ่มพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชร ลักษณะโดยรวมแล้วแสดงให้เห็นถึงรูปแบบที่ผสมผสานระหว่างพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรในศิลปะล้านนาและสุโขทัยอย่างแท้จริง โดยที่มีลักษณะเฉพาะแบบสุโขทัยปรากฏอยู่และเป็นลักษณะที่แตกต่างจากพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรในศิลปะล้านนา คือ การประทับนั่งขัดสมาธิเพชรเป็นแบบสุโขทัยที่พระซงฆ์ไขว้กันชัดเจนเป็นสามเหลี่ยมและพระบาทลอยขึ้นไม่เรียบเสมอกันแบบล้านนา และมีชายผ้า 2 ชายซ้อนกัน ปลายม้วนคล้ายเขี้ยวตะขาบ อย่างไรก็ตามพระพักตร์ของพระพุทธรูปเมืองกำแพงเพชรกลับมีลักษณะที่ต่างไปจากสุโขทัยอย่างมาก
ภาพที่ 5 พระเศียรพระพุทธรูป หมวดกำแพงเพชร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร
3. อิทธิพลศิลปะอยุธยา เป็นพระพุทธรูปสุโขทัยได้รับอิทธิพลศิลปะอยุธยามีลักษณะของการทำพระขนงป้าย หรือลักษณะพระโอษฐ์ที่เป็นแบบอยุธยา และที่เป็นกลุ่มพระพุทธรูปแบบอยุธยา ได้แก่ พระพุทธรูปแบบอู่ทองรุ่นที่ 2 และแบบอู่ทองรุ่นที่ 3 พระพุทธรูปดังกล่าวมีลักษณะสำคัญของพระพุทธรูปแบบอู่ทอง ได้แก่ การมีไรพระศก ขมวดพระเกศาเป็นเกลียวเล็กมาก พระรัศมีเป็นเปลวสูงอย่างมาก ประทับนั่งบนฐานหน้ากระดานหรือฐานบัวที่เว้าเป็นร่อง ส่วนที่เป็นพระพุทธรูปแบบอู่ทองรุ่นที่ 2
ภาพที่ 6 พระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร
วัตถุประสงค์ของภูมิปัญญา
สร้างสรรค์ศิลปกรรมทางศาสนสถาน(สถาปัตยกรรม) และศาสนวัตถุ (ประติมากรรม) เพื่อรับใช้พุทธศาสนาในสมัยสุโขทัยและสมัยหลังสุโขทัย ด้วยการประยุกต์รูปแบบที่ผสมผสานจนเกิดความเฉพาะตัวด้วยภูมิปัญญาของช่างท้องถิ่นเมืองกำแพงเพชรโบราณ
กระบวนการทำงานของภูมิปัญญา
แรงบันดาลใจ (อิทธิพลการสร้างสรรค์) → รูปแบบที่ได้จากการประยุกต์สร้างสรรค์ → ศิลปกรรมสกุลช่างเมืองกำแพงเพชร → ตอบสนองการรับใช้พุทธศาสนา
กระบวนการการนำภูมิปัญญามาประยุกต์ใช้
-
ผลที่ได้จากภูมิปัญญา
เกิดศิลปกรรมรูปแบบเฉพาะตัวของสกุลช่างเมืองกำแพงเพชร
สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการนำภูมิปัญญามาประยุกต์ใช้
-
ข้อมูลการสำรวจ
วันเดือนปีที่สำรวจ
31 เมษายน 2561
วันปรับปรุงข้อมูล
-
ผู้สำรวจข้อมูล
วนัสนันท์ นุชนารถ
คำสำคัญ (tag)
ศิลปกรรมสกุลช่าง, สกุลช่างกำแพงเพชร