ศาสนสถานและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตำบลนครชุม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร
เนื้อหา
ศาสนสถานและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตำบลนครชุม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร
บทนำ
วัดหรือศาสนสถานในปัจจุบันได้กลายเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่ผู้คนต่างให้ความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆและเป็นเหตุให้วัดหรือศาสนสถานบางแห่งได้ปรับบทบาทใหม่ เพิ่มจากเดิมที่เคยจำกัดไว้สำหรับเป็นสถานที่ปฏิบัติกิจของสงฆ์และศาสนพิธีของชาวบ้าน หรือเป็นสถานที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันของผู้คนในชุมชนที่แต่ละวัดนั้นตั้งอยู่ กระทั่งกลายมาเป็นสถานที่รองรับนักท่องเที่ยวที่มาจากต่างถิ่น มีสาเหตุมาจากการที่วัดได้ขยายบทบาท โดยอาศัยคุณสมบัติของศาสนาสถานเป็นแรงจูงใจให้เกิดการท่องเที่ยว ซึ่งการปรับแต่งบทบาทของวัดในมิติของการท่องเที่ยวการไม่สูญเสียสภาพเดิมนี้ (กรรณิกา คำดี, 2558, หน้า 175-191) โดยประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนามีวัดเป็นศูนย์กลางของสังคม สามารถช่วยพัฒนาจิตใจควบคู่กับส่งเสริมความเป็นไทย ทั้งยังเป็นการสืบสานศาสนาและศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของไทยให้เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่คู่ประเทศชาติ ตำบลนครชุมเป็นชุมชนเก่าแก่ในจังหวัดกำแพงเพชร มีหลักฐานทางโบราณสถานโบราณวัตถุปรากฏมากมาย อดีตนครชุมมีวัดและพระจำนวนมาก ตามศิลาจารึกหลักที่ 8 (ศิลาจารึกเขาสุมนกูฏ) มีการเรียกเมืองนครชุมว่า “นครพระชุม” ซึ่งอาจจะมีความหมายถึงเป็นเมืองที่รวมของพระ หรืออาจหมายถึงมีพระมาก และเปลี่ยนมาเป็นนครชุมในปัจจุบัน ซึ่งในครั้งที่มีการรื้อพระศรีรัตนมหาธาตุเจดีย์ ที่วัดพระบรมธาตุนครชุม สถานที่ค้นพบศิลาจารึกหลักที่ 3 (ศิลาจารึกนครชุม) ก็มีการพบพระพิมพ์เป็นจำนวนมาก และนับว่าเป็นต้นตอของพระเครื่องตระกูลทุ่งเศรษฐี ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดกำแพงเพชร ดังในพระราชนิพนธ์เรื่อง เสด็จประพาสต้นครั้งที่สอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวไว้ว่า “ของถวายในเมืองกำแพงเพชรนี้ ก็มีพระพิมพ์เป็นพื้น” ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นขนบธรรมเนียมอย่างหนึ่งของชาวกำแพงเพชรในการให้พระเครื่องเป็นของที่ระลึก สำหรับผู้ที่เคารพนับถือและมิตรสหาย นครชุมยังคงรักษาเอกลักษณ์ของชุมชนเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 700 ปี และยังคงต้นแบบความย้อนยุคของสถานที่และวัฒนธรรม ซึ่งที่นี่ถือว่าเป็นต้นตำรับ ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงและนำเสนออย่างมีเอกลักษณ์ นอกจากเมืองยังคงเอกลักษณ์แบบย้อนยุคไว้แล้ว นครชุมยังมีโบราณสถานที่เก่าแก่ควรค่าแก่การเรียนรู้อีกมากมาย บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาศาสนสถานและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของตำบลนครชุม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ได้แก่ 1) วัดพระบรมธาตุนครชุม 2) วัดสว่างอารมณ์ 3) วัดเจดีย์กลางทุ่ง 4) วัดหม่องกาเล 5) วัดหนองลังกา 6) วัดหนองยายช่วย 7) วัดซุ้มกอ
คำสำคัญ : ศาสนสถาน, สิ่งศักดิ์สิทธิ์, นครชุม, จังหวัดกำแพงเพชร
วัดพระบรมธาตุนครชุม
วัดพระบรมธาตุนครชุม เป็นวัดที่อยู่คู่เมืองกำแพงเพชรมาตั้งแต่สมัยเป็นเมืองนครชุมยาวนานมากกว่า 700 ปี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นมาในสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี สร้างโดยกษัตริย์ในสมัยกรุงสุโขทัย คือพระมหาธรรมราชาลิไทหรือพระยาลิไท สร้างขึ้นในปี 1900 เพื่ออุทิศถวายพ่อขุนศรีอินทราทิตย์องค์หนึ่ง พ่อขุนรามคำแหงองค์หนึ่ง และพระเจดีย์ประจำรัชกาลองค์อีกหนึ่งองค์ และได้นำพระบรมสารีริกธาตุ 9 องค์ สถาปนาไว้ในพระเจดีย์องค์กลาง และพระองค์ได้เสด็จมาพระมหาธาตุเจดีย์เป็นประจำทุกปี ซึ่งในสมัยสุโขทัยนั้นวัดพระบรมธาตุนครชุมมีความเจริญมากเพราะเป็นวัดพระอารามหลวงประจำเมือง พระบรมธาตุนครชุม มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นมหาเจดีย์ทรงสูงใหญ่ สวยงามไปด้วยสถาปัตยกรรมและสีทองอร่ามทั้งองค์เสมือนดั่งเจดีย์ชเวดากองในเมืองพม่า เป็นพระบรมธาตุเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จำนวน 9 องค์พระบรมธาตุเจดีย์ เดิมนั้นเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ (ทรงดอกบัว) สามองค์ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ภายในวัดก็มีแหล่งความรู้ที่สำคัญ คือ ศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลนครชุม โดยจัดแสดงเป็นอาคารทรงไทยสวยงาม ทำด้วยไม้สักทองทั้งหลัง ภายในจัดแสดงวัตถุโบราณและ ข้าวของเครื่องใช้ในอดีตมากมาย และแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อีกหลายอย่าง แสดงวิถีชีวิตของชาวเมือง นอกจากนี้ยังมีศาลาการเปรียญ พระอุโบสถ ศูนย์การศึกษาพระปริยัติธรรมสำหรับพระภิกษุและสามเณร และมีกุฏิจำนวน 23 หลัง สถานสำคัญของวัดพระบรมธาตุ คือ 1) พระบรมสารีริกธาตุ บรรจุอยู่ในสำเภาเงินมีพระบรมธาตุอยู่ถึง 9 องค์ ปัจจุบันประดิษฐานไว้ในองค์พระบรมธาตุ มีความเชื่อว่า ผู้ใดได้บูชาพระบรมธาตุเหมือนกับได้พบพระพุทธเจ้าด้วยตนเอง ทำให้ประชาชนพากันมาสักการบูชาพระบรมธาตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันมาฆบูชาและวันสงกรานต์ 2) พระศรีมหาโพธิ์ ชาวกำแพงเพชรเชื่อกันว่าพระศรีมหาโพธิ์ที่พระยาลิไททรงปลูกเมื่อ พ.ศ.1900 เป็นต้นโพธิ์ขนาดมหึมา คนโอบ 9 คน ในพุทธศาสนาเดิมกล่าวว่า ถ้าผู้ใดไหว้บูชาต้นโพธิ์เสมือนได้บูชาพระพุทธเจ้าเช่นกันแต่ปัจจุบันความเชื่อนี้ได้จางหายไปจากสังคม
ภาพที่ 1 วัดพระบรมธาตุนครชุม
วัดพระบรมธาตุนอกจากจะมีสถานที่สำคัญหลายอย่างแล้ว ภายในวัดยังมีแหล่งความรู้ที่สำคัญคือ ศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลนครชุม โดยจัดแสดงเป็นอาคารทรงไทยสวยงาม ทำด้วยไม้สักทองทั้งหลัง ภายในจัดแสดงวัตถุโบราณและข้าวของเครื่องใช้ในอดีตมากมาย และแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อีกหลายอย่างแสดงวิถีชีวิตของชาวเมืองเป็นศูนย์รวบรวมวัตถุโบราณและเรื่องราวต่างๆ ของเมืองนครชุมเอาไว้มากมาย เพื่อให้เป็นแหล่งการเรียนรู้และถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งทางด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต แก่ชุมชนและสังคม ในยุคปัจจุบันเพื่อให้ยั่งยืนสืบไป นอกเราจะได้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังสามารถใช้เป็นแหล่งความรู้และเรียนรู้ได้อีกด้วย
วัดสว่างอารมณ์
วัดสว่างอารมณ์ ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2225 วัดแห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นสมัยก่อนรัชกาลที่ 5 เดิมพื้นที่เป็นป่ารกร้าง ต่อมาชาวบ้านได้ร่วมใจกันพัฒนาวัดให้เป็นปูชนียสถานที่สมบูรณ์จวบจนปัจจุบัน ได้รับราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2230
ภายในวัดมีศาสนสมบัติที่สำคัญเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวคลองสวนหมาก เมืองนครชุม ให้ความเลื่อมใสศรัทธา ภายในวัดสว่างอารมณ์แห่งนี้ ได้แก่ หลวงพ่ออุโมงค์ หลวงพ่อมหามงคลนิมิตพระพุทธรูปศิลปะพม่าและมณฑปแบบพม่า พระพุทธรูปยืน “หลวงพ่อประทานพร” ประดิษฐานอยู่บริเวณด้านหน้าหอระฆัง โดยหลังคาของหอระฆังแห่งนี้ได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมทางเหนือ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของกำแพงเพชร ในฐานะหัวเมืองฝ่ายเหนือ วิหารแก้วพระนอน หลวงพ่อศรีมหาโพธิ์ พระสีวลี รูปหล่อ อดีตเจ้าอาวาสวัดสว่างอารมณ์ หลวงพ่อบุญมี ธัมมสโร และหลวงพ่อทองหล่อ ปิยะโส
ภาพที่ 2 หลวงพ่ออุโมงค์ วัดสว่างอารมณ์
สิ่งที่พุทธศาสนิกชนเข้ามากราบไหว้ขอพรมากที่สุด คือ "หลวงพ่ออุโมงค์" แห่งวัดสว่างอารมณ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปแบบเชียงแสนขนาดใหญ่ ขนาดหน้าตักกว้าง 2.87 เมตร สูงเกือบ 3 เมตร สำหรับประวัติของ "หลวงพ่ออุโมงค์" จากการบอกเล่าต่อกันมาว่า พบหลวงพ่อในดินลักษณะคล้ายจอมปลวกจึงขุดกันออกมา มองดูคล้ายท่านอยู่ในอุโมงค์ สันนิษฐานว่าอาจหลบพวกพม่าที่มาตีเมืองในสมัยนั้น หรือปาฏิหาริย์ของท่านก็ ไม่อาจทราบได้ ท่านเป็นที่เคารพบูชาของชาวนครชุม และชาวกำแพงเพชรมาเป็นเวลาช้านาน เมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 4 ชาวจังหวัดกำแพงเพชร จะจัดงานประเพณีนมัสการปิดทองหลวงพ่ออุโมงค์เป็นประจำทุกปี วิหารหลวงพ่ออุโมงค์นั้น สร้างมณฑปสี่เหลี่ยมมีทางเข้าออกด้านหน้าทางเดียว ส่วนมุขที่ต่อยื่นออกมาจากมณฑป มองดูเหมือนว่า จะสร้างต่อกันในยุคหลังๆ
วัดเจดีย์กลางทุ่ง
วัดเจดีย์กลางทุ่ง เป็นวัดในกลุ่มอรัญญิกของเมืองนครชุมอีกแห่งหนึ่ง เดิมชื่อวัดอะไรไม่ปรากฏหลักฐาน เดิมเห็นแต่มีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่กลางทุ่งนา จึงเรียกขานกันว่า วัดเจดีย์กลางทุ่ง ลักษณะของวัดเจดีย์กลางทุ่ง น่าจะสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 18-19 ในสมัยสุโขทัยเรืองอำนาจ มีคูน้ำขนาดใหญ่ล้อมรอบทั้งสี่ด้านที่เรียกกันว่าอุทกสีมา ภายในอุทกสีมามีวิหารขนาดใหญ่ ลักษณะค่อนข้างแปลก เกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัสตุรัส และอยู่ต่ำกว่าปกติ ด้านหลังมีเจดีย์ประธานที่เป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ขนาดใหญ่ ที่ค่อนข้างสมบูรณ์และสมส่วน สร้างด้วยอิฐที่ได้จากดินเหนียวบริเวณทุ่งเศรษฐีลานประทักษิณรอบๆ เจดีย์ มีขนาดกว้างมาก ทำศาสนพิธีได้อย่างสะดวกสบาย รูปทรงขององค์เจดีย์ ประกอบด้วย ฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกแก้ว อกไก่ ชั้นแว่นฟ้า และส่วนเรือนธาตุย่อเหลี่ยมไม้สิบ ที่รองรับส่วนยอดของเจดีย์ทรงดอกบัวตูม ส่วนยอดสุดหักตกลงมาไม่เห็นมีหลักฐาน นับว่าเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ขนาดใหญ่ที่งดงามมาก เป็นสัญลักษณ์ของเมืองนครชุมเลยทีเดียว ทรงดอกบัวตูมหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ สภาพค่อนข้างสมบูรณ์ รอบๆ เจดีย์ประธาน มีหลักฐานเหลืออยู่เพียงองค์เดียวอยู่ด้านหลังที่เป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ขนาดใหญ่ วัดเจดีย์กลางทุ่งมีพระเครื่องตระกูลทุ่งเศรษฐีที่มีชื่อเสียงมาก คือ พระกำแพงซุ้มกอ พระกำแพงนางพญา และพระกำแพงเขย่ง จึงทำให้โบราณสถานโบราณวัตถุถูกขุดค้นทำลายลง
ภาพที่ 3 วัดเจดีย์กลางทุ่ง
ภาพที่ 4 เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์อยู่ด้านหลังวัดเจดีย์กลางทุ่ง
วัดหม่องกาเล
วัดหม่องกาเล เป็นเจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆังศิลปะสุโขทัย ก่อด้วยอิฐ มีซุ้มพระยื่นออกมาจากฐานตอนล่างทั้ง 4 ด้าน ชั้นมาลัยเถารองรับองค์ระฆังเป็นแบบบัวถลา องค์ระฆังค่อนข้างเพรียวหรือชะลูดปากองค์ระฆังไม่ตายออกมากนัก ถัดจากองค์ระฆัง เป็นส่วนที่เรียกว่าบัลลังก์ สําหรับส่วนยอดขององค์เจดีย์หักพังทลายเกือบหมด เหลือหลักฐานเฉพาะส่วนของแกน ปล้องไฉนสันนิษฐานว่าบริเวณที่ค้นพบวัดอยู่ในที่ จับจองของชาวพม่าที่ชื่อหม่องกาเล ซึ่งสืบหาลูกหลานของท่านไม่ได้รู้แต่ว่าหลังจากหม่องกาเลที่บริเวณนั้นเป็นที่ครอบครองของตาหมอหร่อง ตาหมอหร่อง มีลูกเขยชื่อนายจันทร์ ได้ครอบครองที่ดินบริเวณนี้ต่อมา และได้ขายที่ดินทั้งหมดให้ผู้อื่น
ภาพที่ 5 วัดหม่องกาเล
ปัจจุบันวัดหม่องกาเล ตั้งอยู่บนแนวถนนโบราณที่ชาวบ้านเรียกว่าถนนพระร่วง หรือถนนตาพระร่วง ยังไม่ถูกบุกรุกทำลายมากอย่างวัดอื่น ผ่านการบูรณะปฏิสังขรณ์แล้วจากกรมศิลปากร มีเจดีย์ประธานที่มีรูปทรงงดงาม ขนาดย่อมกว่าวัดหนองลังกาเล็กน้อย มีซุ้มที่ฐานเจดีย์อยู่สามซุ้ม ไม่ทราบว่าไม่ได้บูรณะ 1 ซุ้ม หรือไม่มีแต่แรก แต่ถ้าสังเกตจากวัดหนองลังกา แล้วน่าจะมี 4 ซุ้ม รูปทรงของเจดีย์ เพรียวและสง่างาม ยอดหักพังมาถึงคอระฆัง ไม่พบยอดที่หักตกลงมาเลย ในบริเวณนั้นอาจจะอยู่ในหนองน้ำ หรืออุทกสีมาที่อยู่รอบๆ บริเวณพื้นที่ นั้นก็เป็นได้ ด้านหน้ามีวิหารเตี้ยๆคล้ายวิหารของวัดเจดีย์กลางทุ่ง แต่มีร่องรอยของฐานวิหารที่ชัดเจน โดยรอบไม่มีเจดีย์รายรอบอาจถูกขุดทำลายหมด เพราะเป็นเจดีย์ขนาดเล็ก คูน้ำล้อมรอบเป็นคูน้ำขนาดใหญ่ที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ยังไม่ถูกรื้อทำลาย วัดหม่องกาเลมีกรุพระเครื่องที่มีชื่อเสียงมาก โดยเฉพาะอย่างพระซุ้มกอขุดพบที่บริเวณวัดนี้จำนวนมาก
วัดหนองลังกา
วัดหนองลังกา เป็นเจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆังศิลปะสุโขทัยก่อด้วยอิฐ มีซุ้มพระยื่นออกมาจากฐาน ตอนล่างทั้ง 4 ด้าน มีเจดีย์หรือมณฑปเป็นประธานวัด ด้านหน้าเจดีย์เป็นวิหาร แต่สภาพของที่ตั้งวัดอยู่ในที่ลุ่มต่ำ จึงมีการขุดคูเป็นขอบเขตวัด เพื่อนำดินจากการขุดคูไปปรับถมที่บริเวณวัดให้สูงขึ้น และเป็นคูน้ำเพื่อกักเก็บน้ำในฤดูแล้งด้วย
ภาพที่ 6 วัดหนองลังกา
วัดหนองลังกา เป็นวัดขนาดใหญ่ที่สุดในเขตอรัญญิกเมืองนครชุม ตั้งอยู่นอกเมืองทางทิศใต้ แผนผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีคูน้ำล้อมรอบ4 ด้าน อันเป็นลักษณะแบบอุทกสีมาของพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ ที่นิยมแพร่หลายในช่วงสุโขทัยเจดีย์ประธาน เป็นลักษณะเจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆัง ก่อด้วยอิฐตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้ว ลักษณะองค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเขียงเตี้ยๆ ฐานล่างทำเป็นซุ้มยื่นมาทั้ง 4 ด้าน มีพระพุทธรูปอยู่ประจำทิศ แต่ถูกขุดค้นทำลายจนสิ้นซาก ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยมและฐานบัวลูกแก้วอกไก่ หรือฐานปัทม์สี่เหลี่ยม ซ้อนลดหลั่นกันไป ชั้นมาลัยเถามีลักษณะเป็นแบบ ชั้นบัวคว่ำและบัวหงายซ้อนกันอยู่ 3 ชั้น รองรับองค์ระฆัง ที่มีขนาดงดงาม สมบูรณ์ เหมาะสม และสวยงามยิ่งนัก บัลลังก์เป็นฐานปัทม์ สี่เหลี่ยม ส่วนท้องไม้ประดับด้วยลูกแก้วอกไก่ ถัดจากบัลลังก์ขึ้นไปเป็นแกนปล้องไฉน ซึ่งประดับลูกแก้วอกไก่ 2 แถว แล้วเป็นบัวฝาละมี ปล้องไฉน ปลียอด เจดีย์ทรงระฆังวัดหนองลังกา รูปทรงสูงชะลูด หรือเพรียวสมส่วน มีสภาพที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่พบในเมืองนครชุม
วัดหนองยายช่วย
วัดหนองยายช่วย เป็นเจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆังก่อด้วยอิฐ ฐานเขียงด้านล่างเป็นฐานสี่เหลี่ยมหน้ากระดาน ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยม และฐานบัวแปดเหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป ชั้นมาลัยเถารองรับองค์ระฆังเป็นแบบบัวถลา องค์ระฆังค่อนข้างเล็ก และตั้งอยู่ในตําแหน่งที่สูง นับเป็นเจดีย์ทรงระฆังที่มีลักษณะคล้ายกับเจดีย์ทรงระฆังทางฝั่งเมืองกําแพงเพชร โดยเฉพาะการทําชั้นฐานบัวแปดเหลี่ยมรองรับชั้นมาลัยเถา สําหรับทางด้านหน้าเจดีย์ประถานมีวิหาร ขนาด 5 ห้อง หรือ ห้าช่วงเสา ก่อด้วยอิฐ 8 หลัง
ภาพที่ 7 วัดหนองยายช่วย
วัดหนองยายช่วย อยู่ถัดจากวัดหนองลังกา ไปทางทิศตะวันออก ห่างจากวัดหนองลังกา ประมาณ 200 เมตร มีลักษณะรกร้าง มองจากที่ไกลๆ ดูวัดหนองยายช่วย ไม่งดงาม มีขนาดเล็ก ไม่น่าสนใจ แต่เมื่อเข้าไปใกล้ ต้องตะลึง ในความงดงามของ รูปทรงเจดีย์ ที่เป็นเจดีย์ ทรงลังกา ฐานแปดเหลี่ยม ที่มีลักษณะที่งดงามมาก มีศิลปะที่อ่อนช้อย รูปทรงเพรียวสมส่วน ยังสมบูรณ์ตั้งแต่คอระฆังลงมา ยอดหัก ไม่สามารถค้นหาได้พบ บริเวณฐานพระเจดีย์มีซุ้มพระอีก 4 ซุ้ม มีลักษณะซุ้มที่ใหญ่มาก แต่ไม่พบพระว่ามีลักษณะใด และเมื่อเทียบกับวัดหนองลังกาแล้วน่าจะเป็นพระสี่อิริยาบถ คือยืน เดิน นั่ง นอน วัดในบริเวณนี้ที่มีลักษณะเหมือนกันคือ วัดหนองลังกา วัดหม่องกาเล และวัดหนองยายช่วย ถือว่างดงามมาก และมีลักษณะที่พิเศษกว่าทุกวัด คือมีซุ้มพระ มีเจดีย์ราย มีหนองน้ำขนาดใหญ่ล้อมรอบแบบลัทธิลังกาวงศ์ ด้านหน้าวัด มีฐานวิหารขนาดใหญ่ ยังมีฐานที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ฐานพระประธานมีขนาดใหญ่มาก ยังไม่ถูกทำลายแต่องค์พระไม่มีแล้ว สันนิษฐานว่าจะเป็นพระปูนปั้น จึงถูกทำลายไปพร้อมกับเจดีย์ที่ถูกขุดค้นขึ้นลักษณะของวิหารเหมือนกับสร้างโบสถ์ซ้อนอยู่บนวิหาร มีลักษณะที่เหมาะสมและงดงามอย่างที่สุด
วัดซุ้มกอ
วัดซุ้มกอ เมืองนครชุม หรือนครพระชุม สร้างในสมัยสุโขทัยเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในรัชกาลของพระมหาธรรมราชาลิไท ประกอบด้วยสองเขตเหมือนกับเมืองโบราณโดยทั่วไปคือเขตเมืองที่เรียกว่า คามวาสี และเขตป่าที่เรียกว่าอรัญญิก บริเวณนี้เรียกกันในสมัยโบราณว่า ดงเศรษฐีเมื่อป่าไม้ถูกทำลายไปจนหมดสิ้น จึงเรียกกันว่าทุ่งเศรษฐี เป็นอาณาเขตที่พบกรุพระเครื่องที่มีชื่อเสียงที่สุดของเมืองกำแพงเพชร เรียกตามแหล่งที่พบว่า พระทุ่งเศรษฐี วัดซุ้มกอ อยู่ในเขตอรัญญิกบริเวณทุ่งเศรษฐี บริเวณตรงกันข้ามกับสถานีขนส่ง จังหวัดกำแพงเพชร ประกอบด้วยป้อมทุ่งเศรษฐี วัดหนองพิกุล วัดหนองลังกา วัดหนองพุทรา วัดหนองยายช่วย วัดหม่องกาเล และวัดเจดีย์กลางทุ่ง วัดซุ้มกอ ที่เรียกว่าวัดซุ้มกอเพราะพบพระเครื่องที่วงการพระเครื่องเรียกกันว่าพระซุ้มกอ ทุกพิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก และพิมพ์คะแนน จำนวนมากที่วัดนี้ เนื่องจากวัดซุ้มกอ มีพระซุ้มกอ ที่มีชื่อเสียงเป็นหนึ่งในเบญจภาคี สุดยอดแห่งจักรพรรดิ์พระเครื่อง ทำให้โบราณสถานและโบราณวัตถุ ในบริเวณวัดซุ้มกอถูกทำลายจนหมดสิ้น ที่พบก่อนการบูรณะคือเนินดินที่เป็นเจดีย์ทรงลังกา และเนินวิหารขนาดเล็กมีเจดีย์รายรอบเจดีย์ใหญ่ แต่ไม่เหลือแม้กระทั่ง ซากพระเครื่อง พระบูชา พระพุทธรูป ถูกขนย้ายไปจากบริเวณวัดซุ้มกอทั้งหมด รอบๆวัด มีคูน้ำล้อมรอบ เป็นลักษณะอุทกสีมาตามคตินิยมแบบลังกา วัดบริเวณนี้ทั้งหมดมีอุทกสีมาเหมือนกันทั้งหมด ยืนยันได้ว่าสร้างในสมัยใกล้เคียงกัน วัดซุ้มกอ ควรจะเป็นหน้าตาของเมืองกำแพงเพชร แต่หาคนที่รู้จักวัดซุ้มกอได้ยากยิ่ง แม้วัดซุ้มกออยู่ริมทางถนนเข้าเมืองกำแพงเพชร แต่ความทรุดโทรมของวัดจึงไม่ได้มีผู้คนและนักท่องเที่ยวสนใจแต่อย่างใด จังหวัดกำแพงเพชร กำลังจะปรับปรุงภูมิทัศน์ของวัดซุ้มกอใหม่ ก่อนที่วัดซุ้มกอจะถูกถมหายไปหรือกลายเป็น บึง บ่อ ขนาดใหญ่ ชาวนครชุมกำแพงเพชร
ภาพที่ 8 วัดซุ้มกอ
ควรดูแลรักษาสิ่งที่บรรพบุรุษสร้างไว้ให้งดงามและเหมาะสมกับการเป็นเมืองมรดกโลก ก่อนที่วัดซุ้มกอ ตำนานแห่งพระซุ้มกอจะอันตรธานไปกับความเจริญทางวัตถุของเมืองนครชุม ขอชาวเราได้ช่วยกันดูแลบ้านเมืองของเราให้เหมาะสมที่สุดกับที่มาแห่งพระซุ้มกอ ซึ่งเป็นพระที่คนทั้งประเทศต้องการ วัดซุ้มกอเป็นเจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆังฐานแปดเหลี่ยมก่อด้วยอิฐ ส่วนยอดเหนือองค์ระฆังขึ้นไปพังทลายลงหมดแล้ว สําหรับทาง ด้านหน้าเจดีย์ประธาน มีฐานวิหารขนาดเล็ก 1 หลัง
บทสรุป
จากการศึกษาศาสนสถานและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในตำบลนครชุม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ทำให้ทราบถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมา สถาปัตยกรรม วัฒนธรรม และความเจริญรุ่งเรืองของผู้คนในสมัยต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งวัดและศาสนสถานถือเป็นแหล่งยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจ สามารถช่วยกระตุ้นให้คนในชุมชนเกิดความรักและผูกพัน ต่อบ้านเกิดของตนเอง รวมถึงสร้างความภาคภูมิใจในวัฒนธรรม ท้องถิ่น พัฒนาจิตใจของคนในชุมชนไปพร้อมๆ กัน ดังนั้นจึงควรช่วยกันดูแลและอนุรักษ์แหล่งศาสนสถานและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้คงอยู่ต่อไปเพื่อเป็นหลักฐานให้ลูกหลานและนักท่องเที่ยวได้ศึกษาและเห็นความสำคัญของประวัติศาสตร์ไทย