ความเชื่อของสังคมไทยกับประเพณีท้องถิ่นถ้ำกระต่ายทอง จังหวัดกำแพงเพชร
เนื้อหา
บทนำ
ระบบความเชื่อในสังคมไทยนั้น ล้วนแล้วเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่สภาพแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรมที่ผู้คนเหล่านั้นอาศัยอยู่ทั้งสิ้น อาทิ ความเชื่อเกี่ยวกับการโกนผมลูกน้อย ความเชื่อเกี่ยวกับการจับชายผ้าเหลือง(บวชพระ)ของพ่อแม่ที่หวังจะได้ขึ้นสวรรค์จากการบวชลูกชายหรือแม้กระทั่งความเชื่อหลังความตาย อาทิ การกรวดน้ำหลังทำบุญเพื่อให้ผลบุญไปถึงผู้ที่ต้องการอุทิศส่วนกุศลให้ก็ตาม นอกจากนั้นแล้วมนุษย์เรายังมีความเชื่อเกี่ยวกับการไหว้ โดยเฉพาะประเทศในเอเชีย คนไทยจะแสดงออกถึงความเคารพผ่านการกราบไหว้ แก่ผู้อาวุโสหรือผู้ที่ตนเองเคารพรัก แม้กระทั่งการกราบไหว้สิ่งเหนือธรรมชาติ ซึ่งเชื่อว่าสิ่งเหนือธรรมชาติเหล่านั้นมีอำนาจดลบันดาลต่อการดำเนินชีวิตความเชื่อเหล่านี้สืบทอดจาดรุ่นสู่รุ่น เช่นเดียวกับผู้คนในชุมชนอำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ที่มีความเชื่อเกี่ยวกับการสักการบูชาเจ้าพ่อถ้ำกระต่ายทองหรือนายพรานกระต่ายทองที่ชาวตำบลพรานกระต่ายเชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดผู้ก่อให้เกิดชุมชนพรานกระต่ายแห่งนี้ แม้ว่าเวลาและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์จะเข้ามามีส่วนในชีวิตของมนุษย์เรา ความรักความศรัทธาของผู้คนที่มีต่อพ่อพรานกระต่ายก็ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่จนถึงปัจจุบัน
ภาพที่ 1 ศาลเจ้าพ่อถ้ำกระต่ายทองในปัจจุบัน
(ที่มา : วีรวรรณ แจ้งโม้ และคณะ, 2561)
งานสืบสานประเพณีท้องถิ่นศาลเจ้าพ่อถ้ำกระต่ายทอง อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร เป็นประเพณีที่ก่อเกิดขึ้นจากความเชื่อความศรัทธาและระลึกถึงสิ่งที่นายพรานหรือพ่อพรานกระต่ายได้ริเริ่มก่อตั้งชุมชนนี้ขึ้นมา บรรยากาศภายในงานประเพณี กลิ่นไอของธูปเทียน แสง สี ที่แสดงออกถึงความเชื่อ (ธูป,เทียน) แสงสี(แสดงถึงการเฉลิมฉลอง) ทั้งการแต่งตัวและ อาหารเครื่องดื่มภายในงานฯ รวมถึงการบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของอำเภอพรานกระต่าย นอกจากนั้นแล้วยังมีกิจกรรมต่างๆ ให้ผู้ร่วมงานร่วมสนุกกัน อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการละเล่นพื้นบ้าน การออกร้านอาหารท้องถิ่น ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของอำเภอพรานกระต่าย(อานนท์ อภิชาตตระกูล, 2561, ออนไลน์)
ความเชื่อกับสังคมไทย
ความเชื่อ คือ การยอมรับว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นความจริงหรือเป็นสิ่งที่เราไว้ใจ ความจริงหรือความไว้วางใจที่เป็นรูปของความเชื่อนั้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นความจริงที่ตรงตามหลักเหตุผลหรือหลักวิทยาศาสตร์ใดๆ คนที่เชื่อในฤกษ์ยามก็จะถือว่า วันเวลาการโคจรของดวงดาวจะก่อให้เกิดผลต่อตัวมนุษย์ คนที่เชื่อเครื่องรางของขลังก็จะมีความยึดมั่นว่า เครื่องรางของขลังให้คุณให้โทษแก่ตนได้จริง ตัวอย่างของความเชื่อ ได้แก่ ไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ โชคลาง ของขลัง ผีสาง นางไม้ ความเชื่ออำนาจลึกลับ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เหล่านี้เป็นต้น (กมลชนก จันทร์แดงและคณะ, 2562, ออนไลน์) สำหรับบริบทของสังคมไทยนั้นมีความเชื่อที่หลากหลาย อันเป็นที่มาของความเชื่อและพิธีกรรมตามประเพณี ธรรมเนียมและรูปแบบการปฏิบัติที่แปลกแตกต่างกัน สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มของความเชื่อ ดังนี้ (___, 2554, ออนไลน์) 1. ความเชื่อทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากคนไทยนับถือพระพุทธศาสนามาตั้งแต่บรรพบุรุษ ความเชื่อจึงมุ่งเน้นพระรัตนตรัยหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา คือ ก) ความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม ใครทำกรรมใดไว้ ผลกรรมนั้นจะตามสนอง ซึ่งมีความเชื่อว่า ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ ข) ความเชื่อเรื่องตายแล้วเกิดใหม่ สัตว์โลกทั้งหลายย่อมเวียนว่ายตายเกิดเป็นวัฏสงสาร ตามผลแห่งกรรมของตน เป็นความเชื่อตามหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ค) ความเชื่อเรื่องกฎแห่งธรรมชาติ ง) ความเชื่อเรื่องนรกสวรรค์ 2. ความเชื่อเกี่ยวกับวิทยาคม เป็นความเชื่อเรื่องสิ่งลึกลับที่เหนือธรรมชาติ ไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ สามารถแยกออกได้เป็น 2 เรื่อง คือ ความเชื่อเรื่องเวทมนตร์คาถา อาทิ เวทมนต์จำพวกตัวอักษรหรืออักขระที่ผูกเป็นข้อความ โดยเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้มีอำนาจลึกลับแฝงเร้นอยู่ เมื่อนำไปใช้ตามที่กำหนด เช่น นำไปบริกรรม เสกเป่าหรือสวด เชื่อว่าจะเกิดความศักดิ์สิทธิ์หรือเกิดความขลัง ปัจจุบันความเชื่อประเภทนี้ได้ลดน้อยลง ด้วยเหตุความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ ความเชื่อเรื่องเครื่องรางของขลัง เป็นความเชื่อในสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น โดยเชื่อว่าเครื่องรางเหล่านั้นสามารถป้องกันอันตรายจากการถูกยิง แทง ฟัน เป็นต้น ตัวอย่างเครื่องรางเหล่านี้ได้แก่ เหล็กไหล เขี้ยวเสือ ฯลฯ 3. ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อประเภทนี้เป็นความเชื่อที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาแต่อดีต ส่วนมากที่เราจะพบเห็นได้จากพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง รูปเหมือนพระสงฆ์ที่เคารพเลื่อมใส พระเกจิอาจารย์ รวมไปถึงศาลปู่ตาศาลหลักเมือง ศาลเจ้าพ่อ ศาลเจ้าแม่เป็นต้น ความเชื่อประเภทนี้ยังคงมีปรากฏให้เห็นในสังคมไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน 4. ความเชื่อเรื่องผีสางเทวดา สิ่งลึกลับที่มองไม่เห็นตัวตน คนไทยบางส่วนยังคงมีความเชื่อว่าผีสางเทวดามีอิทธิฤทธิ์และอำนาจเหนือมนุษย์ สามารถให้คุณหรือโทษได้ แม้ว่าสิ่งเหล่านี้ยังไม่สามารถหาข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ได้ แต่ความเชื่อเรื่องผีสางเทวดาก็ยังคงปรากฏอยู่ในปัจจุบัน 5. ความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์ หมายถึง ความเชื่อเรื่องการพยากรณ์ โดยอาศัยดาราศาสตร์เป็นหลัก ความเชื่อเช่นนี้ปรากฏแพร่หลายในทุกชนชั้นของสังคมไทย จนกระทั่งในปัจจุบันวิชาโหราศาสตร์มีการเปิด การเรียนการอสอนอย่างเป็นทางการและสามารถยึดถือเป็นอาชีพได้ ธวัช ปุณโณทก ได้กล่าวถึงความเชื่อไว้ว่า ความเชื่อ คือ การยอมรับอันเกิดอยู่ในจิตสำนึกของมนุษย์ต่อพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ ที่เป็นผลดีหรือผลร้ายต่อมนุษย์นั้นๆ หรือสังคมมนุษย์นั้นๆ แม้ว่าพลังอำนาจเหนือธรรมชาติเหล่านั้น ไม่สามารถที่จะพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง แต่มนุษย์ในสังคมหนึ่งยอมรับและให้ความเคารพเกรงกลัวสิ่งเหล่านี้ ฉะนั้นความเชื่อจึงมีขอบเขตกว้างขวางมาก ไม่เพียงแต่จะหมายถึงความเชื่อในดวงวิญญาณหรือภูตผีเท่านั้น ยังรวมไปถึงความเชื่อในเรื่อง คาถาอาคม โชคลาง ไสยเวทต่างๆ นอกจากนั้น ยังรวมถึงปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มนุษย์ยอมรับนับถือ เช่น ต้นไม้ (ต้นโพธิ์ ต้นไทร) ป่าเขา เป็นต้น (กมลชนก จันทร์แดง และคณะ, 2562, ออนไลน์)
ลำดับแนวคิดและความเป็นมาของความเชื่อ
ความเชื่อของมนุษย์ได้มีวิวัฒนาการตามลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้ 1. ความเชื่อในธรรมชาติ ความเชื่อระดับต่ำสุดของมนุษย์ คือ ความเชื่อในธรรมชาติ เพราะเมื่อมนุษย์เกิดมา สิ่งแรกที่มนุษย์ได้เห็นและได้สัมผัสก่อนสิ่งอื่นคือ ธรรมชาติรอบตัวมนุษย์และธรรมชาติต่างๆ เหล่านั้น อาทิ ความมืด ความสว่าง ความหนาว ความร้อน ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว แม่น้ำลำธาร ต้นไม้ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมนุษย์จึงเชื่อว่าธรรมชาติมีตัวตน มีอำนาจพิเศษและสามารถก่อให้เกิดคุณและโทษแก่ตนเองได้ มนุษย์จึงเกรงกลัวและกราบไหว้ธรรมชาติ ดังนั้น การนับถือธรรมชาติจึงนับเป็นขั้นแรกแห่งความเชื่อของมนุษย์ 2. ความเชื่อในผีสาง เทวดา ความเชื่อนี้เป็นความเชื่อระดับที่ 2 ของวิวัฒนาการเกิดขึ้นพร้อมกับความเจริญรอบข้าง ในสระยะเริ่มแรกมนุษย์อาจจะแค่สงสัยว่าความมืด ความสว่าง ความร้อน ความหนาว ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ฟากฟ้า แม่น้ำ แม้ภูเขาและต้นไม้ใหญ่เกิดขึ้นได้อย่างไร จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สามารถคาดการณ์ได้ว่า ผีสาง เทวดาอาจจะสามารถบันดาลให้เกิดความผันแปรต่างๆ ในตัวธรรมชาติเหล่านั้น และมีผลบันดาลให้เกิดความสุขและความทุกข์แก่มนุษย์ ด้วยเหตุนี้ มนุษย์จึงสร้างรูปเทวดา รูปมนุษย์หรือรูปครึ่งมนุษย์ครึ่งสัตว์ เช่น พระภูมิเจ้าที่ แม่ย่านางเรือ เทพารักษ์ต่างๆ เป็นต้น เพื่อเป็นเครื่องบูชาธรรมชาติเหล่านี้โดยมีพื้นฐานความคิดว่ามีบางสิ่งบางอย่างสิงสถิตอยู่และมีอำนาจที่สามารถบันดาลให้เกิดสิ่งต่างๆนั้น เรียกว่า “เจตภูตหรือวิญญาณ” เจตภูตที่มีอำนาจนำความทุกข์ให้เกิดขึ้น อาจเป็นมารร้ายหรือ ผีสางอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีจิตใจไม่ดี(ชั่วร้าย) ส่วนเจตภูตที่มีอำนาจนำความสุขมาให้ อาจเป็นเทวะประเภทใดประเภทหนึ่งที่มีจิตใจดีเจตภูตที่สิงอยู่ในธรรมชาตินั้นๆ อาจแบ่งออกได้อีกเป็น 3 ลำดับแห่งวิวัฒนาการทางความคิดของมนุษย์ดังนี้ 2.1 เริ่มจากธรรมชาติแต่ละอย่างก่อน แล้วกว้างออกไปถึงธรรมชาติทุกอย่างในโลก โดยเชื่อว่าสรรพสิ่งในโลกมีวิญญาณสิงสถิตอยู่ 2.2 เชื่อว่าวิญญาณเหล่านั้นมีอำนาจ อาจบันดาลความดี ความชั่ว ความสุข และความทุกข์ให้แก่มนุษย์ได้ตามแต่ความกรุณาที่มีอยู่และวิญญาณเหล่านั้นต้องมีรูปร่าง แต่ไม่สามารถเห็นได้ 2.3 ความเชื่อที่สร้างขึ้นจากความนึกคิดของตนเอง ภาพที่ตนนับถือเรียกว่า “พระเจ้าหรือเทพเจ้าหรือผีสางเทวดา” ก็ตามเกิดขึ้นมาแต่ครั้งนั้น ความเชื่อเช่นนี้เป็นมูลเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดศาสนา นักปราชญ์ในสังคมมนุษย์โบราณเรียกความเชื่อนี้ว่า “วิญญาณหรือเจตภูต” 3. ความเชื่อในวิญญาณบรรพบุรุษ ความเชื่อเรื่องวิญญาณบรรพบุรุษ ได้แก่ ความเชื่อต่อมารดา บิดา ปู่ย่าและตายายที่เสียชีวิตไปแล้วว่าวิญญาณของบุคคลเหล่านั้นไม่ได้ไปไหนแต่ ยังคงอยู่เพื่อปกปักรักษาดูแลบุตรหลานของพวกตน ดังนั้นจึงทำให้เกิดการบูชาวิญญาณบรรพบุรุษ โดยสังเกตตัวอย่างได้จากการบังสุกุลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วของคนไทย และการกราบไหว้บูชาบรรพบุรุษของคนจีน 4. ความเชื่อในเทพเจ้าหลายองค์ ความคิดของมนุษย์ได้พัฒนาต่อมาจากความคิดเรื่องการสร้างภาพเทพเจ้าตามมโนคติของตน โดยมีความคิดว่าธรรมชาติอย่างหนึ่งควรมีรูปร่างอย่างหนึ่งและเทพเจ้าที่มีอำนาจสูง ต่ำที่แตกต่างกันควรมีรูปร่างอย่างหนึ่ง บางกลุ่มเชื่อว่าพระอาทิตย์เป็นเทพเจ้าสูงสุด บางกลุ่มเชื่อว่าฟากฟ้าเป็นเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ บางพวกเชื่อว่าพระจันทร์เป็นเทพเจ้าสูงสุดกว่าเทพเจ้าองค์ใดเป็นต้น เทพเจ้าแต่ละองค์ มีอำนาจและมีหน้าที่แตกต่างกัน (กมลชนก จันทร์แดง และคณะ, 2562, ออนไลน์)
ประวัติของพ่อพรานกระต่าย
พรานกระต่ายเป็นชื่ออำเภอหนึ่งในจังหวัดกำแพงเพชร อำเภอพรานกระต่ายตั้งอยู่ทางเหนือของจังหวัด มีฐานะเป็นอำเภอตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยได้รับจัดตั้งขึ้นเป็นอำเภอในปี 2438 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการปกครองของจังหวัดกำแพงเพชร ชื่ออำเภอ “พรานกระต่าย” มีประวัติความเป็นมาจากตำนานเล่าขานจากรุ่นสู่รุ่นว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ.1420 เมืองพรานกระต่ายเป็นส่วนหนึ่งของเมืองบางพาน มีมหาพุทธสาครเป็นกษัตริย์ ซึ่งตัวเมืองตั้งอยู่ห่างจากอำเภอปัจจุบันไปทางทิศใต้ประมาณ 15 กิโลเมตร เมืองบางพานในสมัยนั้นเจริญรุ่งเรืองมาก เพราะตั้งอยู่ในที่ราบลำน้ำใหญ่ไหลผ่านมาจากจังหวัดสุโขทัยจนถึงจังหวัดกำแพงเพชร เส้นทางดังกล่าวจึงกลายเป็นเส้นทางคมนาคมที่คึกคักและอุดมสมบูรณ์ เมื่อมีความอุดมสมบูรณ์จึงมีบ้านเรือนตั้งอาศัยอยู่ริมแม่น้ำทั้ง 2 ฝั่ง ปัจจุบันเราสามารถพบเห็นซากเมืองโบราณเก่าแก่และทรุดโทรมตามริมน้ำ เช่น วัดโคก บ้านวังไม้พานและบ้านจำปีจำปา เป็นต้น สัญลักษณ์แห่งความเจริญสูงสุดก็คือ การสร้างรอยพระพุทธบาทจำลองสัมฤทธิ์ไว้ที่เขานางทอง “นางทอง” เป็นชื่อที่ได้อัญเชิญมาจากมเหสีของพระร่วง นอกจากเส้นทางน้ำที่ไหลผ่านตัวจังหวัดสุโขทัย สู่อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชรนี้แล้วนั้น ยังมีถนนที่ใช้ในการเดินทางจากสุโขทัยผ่านอำเภอพรานกระต่ายจนมาถึงจังหวัดกำแพงเพชร ในสมัยนั้นเรียกว่า “ถนนพระร่วง” กล่าวกันว่าในช่วงประมาณปี พ.ศ.1800 พระร่วงได้ครองเมืองสุโขทัยและทรงมีนโยบายขยายอาณาเขตให้กว้างขวางและมั่นคง จึงดำริที่จะสร้างเมืองหน้าด่านขึ้น จึงรับสั่งให้นายพรานผู้ชำนาญเดินป่าออกสำรวจเส้นทางและชัยภูมิที่มีลักษณะดีเหมาะสำหรับสร้างเป็นเมืองหน้าด่าน กลุ่มนายพรานจึงได้กระจายกันออกไปเพื่อสำรวจเส้นทางต่างๆ จนกระทั่งหนึ่งในนายพรานของพระร่วงมาถึงบริเวณ(อำเภอพรานกระต่ายในปัจจุบัน)แห่งหนึ่ง ได้พบกระต่ายป่าขนสีเหลืองเปล่งปลั่งคล้ายสีทองสวยงามมาก นายพรานคนนั้นจึงกลับไปกราบ ถวายบังคมทูลขอพระราชานุญาตจากพระร่วงเจ้า เพื่อจะกลับมาจับกระต่ายขนสีทองตัวนั้นมาถวายเป็นราชบรรณาการถวายแด่พระมเหสีของพระร่วง เมื่อกราบบังคมทูลขอพระราชานุญาตเรียบร้อยแล้ว นายพรานคนนั้นจึงกลับไปจับกระต่ายป่าตัวดังกล่าว ณ บริเวณที่พบกระต่าย นายพรานใช้ความพยายามทุกวิถีทางเพื่อดักจับกระต่ายตัวนั้นหลายครั้ง แต่กระต่ายยังสามารถหลบหนีไปได้ทุกครั้ง ด้วยความมุมานะที่จะจับกระต่ายขนสีทองเพื่อเป็นเครื่องบรรณาการแก่พระมเหสีของพระร่วงให้ได้นั้น นายพรานจึงชักชวนเพื่อนฝูงนายพรานด้วยกันมาช่วยกันจับกระต่าย เมื่อเวลาผ่านไปกลุ่มนายพรานก็ยังไม่สามารถที่จะจับกระต่ายตัวนั้นได้ นายพรานเหล่านั้นจึงอพยพพี่น้อง ลูกหลานและกลุ่มเพื่อนฝูงมาสร้างบ้านถาวรขึ้นเพื่อหวังที่จะจับกระต่าย ขนสีทองตัวดังกล่าวให้ได้ จนครั้งหนึ่งกระต่ายขนสีทองตัวนั้นได้หลบหนีเข้าไปภายในถ้ำซึ่งหน้าถ้ำมีขนาดเล็ก เล็กจนนายพรานไม่สามารถจะตามเข้าไปภายในถ้ำได้แม้จะพยายามหาทางเข้าเท่าไรก็ไม่พบ นายพรานจึงตั้งบ้านขึ้นหน้าถ้ำแห่งนั้นเพื่อเฝ้ากระต่ายโดยหวังจะจับกระต่ายขนสีทองตัวนั้นเมื่อกระต่ายออกมาจากถ้ำ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาหมู่บ้านของนายพรานก็ได้ขยายตัวกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ชาวบ้านในสมัยนั้นจึงได้เรียกชุมชนนั้นว่า “บ้านพรานกระต่าย” และกลายมาเป็นชื่ออำเภอในเวลาต่อมา
ภาพที่ 2 หุ่นจำลองนายพรานที่มาดักจับกระต่าย
(ที่มา : วีรวรรณ แจ้งโม้ และคณะ, 2561)
ในปัจจุบันถ้ำที่กระต่ายขนสีทองหนีเข้าไปซึ่งชาวบ้านเรียกถ้ำนั้นว่า “ถ้ำกระต่ายทอง” นั้น ได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่เพื่อทำให้เป็นสัญลักษณ์ประจำท้องถิ่น นอกจากนั้นประชาชนก็ยังเห็นความสำคัญของถ้ำกระต่ายทองจึงได้ช่วยกันดูแลเพื่อเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับหมู่บ้านสมกับเป็นส่วนหนึ่งของคำขวัญอำเภอพรานกระต่ายที่ว่า “เอกลักษณ์ภาษาถิ่น หินอ่อนเมืองพาน ตำนานกระต่ายทอง เห็ดโคนดองรสดี” มีหลักฐานปรากกฎถึงการกำเนิดของชุมชนพรานกระต่ายจากบันทึกของรัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็น สยามมงกุฎราชกุมาร ในรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จมายังเมืองพรานกระต่ายเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2150 และได้กล่าวถึงเมืองพรานกระต่ายว่า “ถึงบ้านพรานกระต่ายจวนเที่ยง ที่บ้านพรานกระต่ายนี้ มีบ้านเรือนหนาแน่น ทุกๆบ้านมีรั้วกั้นเป็นอาณาเขต สังเกตว่าบ้านช่องดี สะอาดเรียบร้อยเป็นระเบียบ จึงเข้าใจว่าราษฎรตามแถบนี้อยู่จะบริบูรณ์ สังเกตกิริยามารยาทเรียบร้อย ซึ่งทำให้เข้าใจว่าที่นี่จะเป็นเมืองอย่างโบราณกาล” นั่นเอง จากคำกล่าวข้างต้นทำให้เรารู้ว่า พรานกระต่ายเป็นขุมชนที่มีมาอย่างยาวนาน (นายสันติ อภัยราช, 2561)
ภาพที่ 3 พิธีบวงสรวงศาลเจ้าพ่อถ้ำกระต่ายทอง
(สัตยา จันแดง, 2561, ออนไลน์)
ภาพที่ 4 รำบวงสรวงเจ้าพ่อถ้ำกระต่ายทอง
(สัตยา จันแดง, 2561, ออนไลน์)
จากการสันนิฐานและข้อมูลที่มีเกี่ยวกับต้นกำเนิดของชุมชนพรานกระต่าย ชาวพรานกระต่ายจึงมีกำหนดการจัดงานเพื่อเฉลิมฉลองพ่อพรานกระต่ายเป็นประจำทุกปี โดยกำหนดการจัดกิจกรรมงานประจำปีประเพณีท้องถิ่นศาลเจ้าพ่อถ้ำกระต่ายทองของชาวอำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชรนั้น เป็นงานประเพณีที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจของประชาชนในท้องถิ่นเพื่อระลึกนึกถึงพ่อพรานกระต่าย ผู้รวบรวมและก่อตั้งชุมชนพรานกระต่ายขึ้นตั้งแต่สมัยพระร่วงเจ้า จนปัจจุบันอำเภอพรานกระต่ายกลายเป็นชุมชนที่เจริญเติบโตกว้างใหญ่และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันชาวบ้านได้กำหนดจัดงานสืบสานประเพณีท้องถิ่นศาลเจ้าพ่อถ้ำกระต่ายทองไว้ทั้งหมด 3 วันคือ วันที่ 4- 6 โดยมีรายละเอียดของการจัดงานในแต่ละวัน (สิทธิโชค พะโยม, 2561) แต่ก่อนที่จะมีงานประเพณีท้องถิ่นศาลเจ้าพ่อถ้ำกระต่ายทองในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปีนั้น จะมีพิธีบวงสรวงเจ้าพ่อถ้ำกระต่ายทองในช่วงเดือนมกราคมก่อน เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลให้กับคนที่ไปร่วมงานและเป็นการอุทิศบุญกุศลให้กับพ่อพรานกระต่ายทองด้วย การจัดพิธีบวงสรวงในแต่ละปีจะมีการจัดงานทั้งภาคเช้าและภาคค่ำ แล้วจึงมีงานประเพณีท้องถิ่นศาลเจ้าพ่อถ้ำกระต่ายทองในช่วงเดือนพฤษภาคมต่อโดยมีตัวอย่างกำหนดการจัดงานในปี 2561 ดังนี้
ภาพที่ 5 พิธีบวงสรวง ไหว้ครู พ่อพรานถ้ำกระต่ายทองในภาคเช้า
(สัตยา จันแดง, 2561, ออนไลน์)
วันที่ 4 พฤษภาคม 2561
เวลา | รายการ |
---|---|
07.00 น. | อัญเชิญเจ้าพ่อถ้ำกระต่ายทอง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอำเภอพรานกระต่าย แห่รอบตลาดพรานกระต่าย เพื่อให้พี่น้องชาวพรานกระต่ายได้สักการบูชา |
17.00 น. | ชม ชิม ช๊อป อาหารไทยพื้นบ้านอำเภอพรานกระต่าย |
ภาพที่ 6 ขบวนแห่พ่อพรานถ้ำกระต่ายทอง
(สัตยา จันแดง, 2561, ออนไลน์)
วันที่ 5 พฤษภาคม 2561
เวลา | รายการ |
---|---|
09.09 น. | ร่วมพิธีบวงสรวงเจ้าพ่อถ้ำกระต่ายทอง - ชมการแสดงรำบวงสรวงเจ้าพ่อถ้ำกระต่ายทอง จากชุมชนถ้ำกระต่ายทอง – การแสดงบรรเลงดนตรีไทย จากโรงเรียนพรานกระต่ายพิทยาคม |
13.30 น. | ทำการแข่งขันหมากฮอท จากผู้ที่เข้าร่วมแข่งขัน |
17.30 น. | พระสงค์เจริญพระพุทธมนต์เย็นและร่วมพิธีทอดผ้าป่าสามัคคีจำนวน 120 กอง |
19.00 น. | ร่วมพิธีเปิดงาน – พิธีเปิดงานโดยนายธานี ธัญญาโภชน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร – ชมการแสดงของศิลปินดารา นักแสดง รำวงย้อนยุค ชมมวย และมหรสพอีกมากมาย ณ บริเวณศาลเจ้าพ่อถ้ำกระต่ายทอง – การแสดงรำจากชมรมสตรีตำบลห้วยยั้ง – ชม ชิม ช๊อป อาหารไทยพื้นบ้านอำเภอพรานกระต่าย พร้อมทั้งชมศิลปะ หัตถกรรมและวัฒนธรรมไทยสมัยโบราณ – ชมภาพเก่าเล่าขานตำนานพรานกระต่าย (แต่งกายย้อนยุค) – ประกวดพูดภาษาถิ่น – ประกวดธิดาชบาแก้ว – การละเล่นพื้นบ้าน |
ภาพที่ 7 การเตรียมงานประเพณี ณ เจ้าพ่อถ้ำกระต่ายทอง
(สัตยา จันแดง, 2561, ออนไลน์)
ภาพที่ 8 การเตรียมงานลานวัฒนธรรมในงานประเพณีศาลเจ้าพ่อถ้ำกระต่ายทอง
(สัตยา จันแดง, 2561, ออนไลน์)
วันที่ 6 พฤษภาคม 2561
เวลา | รายการ |
---|---|
07.00 น. | ร่วมพิธีทำบุญตักบาตร ณ บริเวณศาลเจ้าพ่อถ้ำกระต่ายทอง |
(สิทธิโชค พะโยม, 2561, สัมภาษณ์)
จากการจัดงานสืบสานประเพณีท้องถิ่นศาลเจ้าพ่อถ้ำกระต่ายทองของชาวอำเภอพรานกระต่ายทำให้ผู้เขียนนึกย้อนไปถึงความเชื่อและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่ในสังคมไทย ที่มีมากมายหลากหลายรูปแบบ รูปแบบหนึ่งที่คนไทยมักจะนิยมคือ การปั้นสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือบุคคลสำคัญเพื่อระลึกหรือกราบไหว้บูชาในวาระต่างๆนั้นเอง แม้ว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะปรากฏอยู่ในความเชื่อของคนไทยหลากหลายรูปแบบ อาทิ ความเชื่อเรื่องสิงโตหรือมังกรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคนจีน ความเชื่อเรื่องเทพเจ้าของคนอินเดีย หรือรูปปั้นตามความเชื่อของคนไทย ความเชื่อหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ล้วนสัมพันธ์กับวัฒนธรรมชีวิตความเป็นอยู่ของคนในแต่ละท้องถิ่นด้วย สามารถแสดงออกทั้งการกราบ ไหว้ การจุดธูปเพื่อสักการะ ตัวอย่างการสร้างรูปปั้นเพื่อระลึกถึงบุคคลสำคัญเพื่อระลึกถึงหรือกราบไหว้ ได้แก่ การมีรูปสักการะพระบรมรูป 2 รัชกาล ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การกราบไหว้ศาลพ่อปู่จันทร์ในมหาวิทยาลัยมหิดล ความเชื่อต่อรูปปั้นครูบาศรีวิชัย จังหวัดเชียงใหม่ การสร้างรูปปั้นบูชาบุคคลสำคัญไม่เว้นแม้แต่ในจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งสังเกตจากรูปปั้นรัชกาลที่ 5 หน้าที่ว่าการอำเภอจังหวัดกำแพงเพชร รูปปั้นพ่อพรานกระต่าย อำเภอพรานกระต่าย เป็นต้น ยกตัวอย่างงานปั้นของบุคคลสำคัญในประเทศไทยได้แก่ 1. พ่อขุนรามคำแหง (สมัยกรุงสุโขทัย) 2. สมเด็จพระนเรศวร (สมัยกรุงศรีอยุธยา) 3. สมเด็จพระนารายณ์ (สมัยกรุงศรีอยุธยา) 4. สมเด็จพระเจ้าตากสิน (สมัยกรุงธนบุรี) 5. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) 6. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) 7. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ซึ่งทุกพระองค์ล้วนทรงสร้างคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ต่อประเทศชาติ นอกจากบุคคลเหล่านี้แล้ว ยังมีรูปปั้นของบุคคลสำคัญอื่นอาทิ ครูบาศรีวิชัย พระสงฆ์มากบารมีที่มีชื่อเสียงโด่งดังในภาคเหนือของประเทศ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ อนุสาวรีย์ใจกลางเมืองเชียงใหม่ คือ พญามังราย พญางำเมืองและพญาร่วงหรือที่เรียกกันติดปากว่าพ่อขุนรามคำแหง กษัตริย์ผู้ครองกรุงสุโขทัย ในสมัยศตวรรษที่ 13 และเป็นต้นแบบของแนวคิดเกี่ยวกับกษัตริย์ผู้มีเมตตาธรรมในประวัติศาสตร์ไทย จากภาคเหนือสู่ภาคกลางอนุสาวรีย์ที่สะท้อนถึงความสำคัญของบุคคลธรรมดาทั่วไปแต่กระทำสิ่งที่เป็นที่ยกย่องและสมควรให้ระลึกถึงนั้นก็คือ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิสร้างขึ้นเพื่อเทิดทูนวีรกรรมของทหาร ตำรวจ และพลเรือนที่เสียชีวิตไปในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เรื่องการปรับปรุงพรมแดนไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส ซึ่งในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 59 คน ทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน (สปริงส์นิวส์, 2561) พ่อพรานกระต่าย ผู้ก่อตั้งชุมชนพรานกระต่าย อำเภอพรานกระต่ายก็เช่นเดียวกัน ซึ่งพ่อพรานกระต่ายเป็นผู้ที่ชุมชนพรานกระต่ายต่างให้ความสำคัญและได้ร่วมแรงร่วมใจสร้างรูปปั้นพ่อพรานเพื่อแสดงถึงความเคารพรัก ระลึกถึงบุญคุณที่ท่านได้รวบรวมผู้คนมายังสถานที่แห่งนี้ จนสถานที่แห่งนี้กลายเป็นชุมชนเจริญเติบโตมาจนถึงปัจจุบัน