ฐานข้อมูล เรื่อง อุทยานแห่งชาติแม่วงก์

จาก KPPStudies
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:08, 21 เมษายน 2564 โดย Admin (คุย | มีส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย "=='''ข้อมูลทั่วไป'''== ==='''ชื่อเรียกทางการ'''=== อุทยานแห่งชา...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อเรียกทางการ

         อุทยานแห่งชาติแม่วงก์

ชื่อเรียกอื่น ๆ

         ไม่มี

ที่ตั้ง/ที่ค้นพบ

         อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ตำบลปางตาไว อำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร 62120 เบอร์โทร 090 457 9291 (ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่วงก์) E-mail : maewong_np@hotmail.com Facebook Fanpage :  อุทยานแห่งชาติแม่วงก์

ที่ตั้งพิกัดทางภูมิศาสตร์

         16.044453, 99.233126

สภาพธรณีวิทยา

         พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธาร ตามเทือกเขาสูงชันก่อกำเนิดเป็นน้ำตกที่สวยงาม 4-5 แห่ง ทั้งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำแม่วงก์อันเป็นต้นน้ำของแม่น้ำสะแกกรัง นอกจากนี้ยังมีแก่งหินทำให้เกิดน้ำตกเล็กๆ ตามแก่งหินนี้ ตลอดจนมีหน้าผาที่สวยงามตามธรรมชาติ อุทยานมีเนื้อที่ประมาณ 558,750 ไร่ หรือ 894 ตารางกิโลเมตร ทิศเหนือของอุทยาน ติดกับอุทยานแห่งชาติคลองลาน ทิศใต้ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี และทิศตะวันตกติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จังหวัดตาก  ซึ่งในขณะนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ในเขตพื้นที่อุทยานด้วย
         สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนเรียงรายกันอยู่ตามเทือกเขาถนนธงชัยลดหลั่นลงมาจนถึงพื้นราบ ประมาณ 40-50 ลูก ยอดที่สูงที่สุดคือ “ยอดเขาโมโกจู” สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,964 เมตร เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารต้นกำเนิดของลำน้ำแม่วงก์ ส่วนพื้นที่ราบมีไม่มาก ส่วนใหญ่อยู่บริเวณริมแม่น้ำโดยลำน้ำแม่วงก์ หรือแม่เรวา เป็นแม่น้ำหรือลำน้ำสายหลักของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีลักษณะภูมิประเทศที่หลากหลายมีระบบนิเวศพิเศษ มีลักษณะเป็นลำธารที่ราบมีเกาะแก่งต่าง ๆ มากมายเป็นที่ตั้งของป่าละเมาะอันเป็นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่สำคัญและหายากใกล้สูญพันธุ์ ขณะที่ป่าริมน้ำเป็นถิ่นที่อยู่ของเสือโคร่งพันธุ์อินโดจีน, แก่งลานนกยูง เป็นที่อยู่และจับคู่ผสมพันธุ์ของนกยูงพันธ์ไทยที่เหลือเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย รวมถึงนากใหญ่ขนเรียบ ขณะที่ในลำน้ำพบปลาน้ำจืดอีกกว่า 60 ชนิด เช่น ปลาตะพากส้ม, ปลาเลียหิน เป็นต้น

ประเภททรัพยากร

         อุทยานแห่งชาติ (National Park) อุทยานแห่งชาติ หมายถึง พื้นที่ที่สงวนไว้ เพื่อคุ้มครองรักษาทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะป่าไม้และสัตว์ป่า ตลอดจนทิวทัศน์ ธรรมชาติที่สวยงาม และมหัศจรรย์อันเป็นที่ตรึงตาตรึงใจแก่ผู้พบเห็นให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิมมิให้ถูกให้ ทำลายหรือเปลี่ยนแปลงไปและถูกใช้ไปในทางที่ผิด เพื่อรักษาสมบัติของธรรมชาติไว้ให้อนุชนรุ่นหลัง ๆ ได้ชมได้ศึกษา ค้นคว้าธรรมชาตินั้น ๆ ต่อไป
         อุทยานแห่งชาติ ตามหลักสากล จะมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 10 ตารางกิโลเมตร หรือ 6250 ไร่ และที่สำคัญที่สุดในอุทยานแห่งชาติ จะต้องมีสภาพทิวทัศน์ธรรมชาติที่ สวยงาม ซึ่งเป็นจุดเด่นที่สนใจหลายแห่ง เพื่อที่จะดึงดูดประชาชนให้ไปเที่ยวพักผ่อนกันมากที่สุด

สถานการณ์ขึ้นทะเบียน

         หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ยุติลง อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรในประเทศไทยมีมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความต้องการในการดำรงชีวิต เพื่อความอยู่รอดเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ เป็นเหตุให้มีการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่า เพื่อเปลี่ยนสภาพเป็นไร่น่าและเพื่อการเพาะปลูกประกอบกับความเจริญเติบโตทางด้านวัตถุและเทคโนโลยีก็ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เป็นผลให้มีการทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น เช่น การตัดไม้ทำลายป่า และการล่าสัตว์อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด
         ในที่สุดรัฐบาลจึงตระหนักเห็นถึง ความสำคัญของการสงวนและคุ้มครองรักษาทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะป่าไม้และสัตว์ป่า จึงมีการดำเนินการจัดตั้งสวนรุกขชาติวนอุทยาน และอุทยานแห่งชาติขึ้น โดยเมื่อปี พ.ศ.2468 ได้มีการจัดตั้งป่าภูกระดึงขึ้นเป็นวนอุทยานแห่งแรก
         จนกระทั่งปี พ.ศ.2502 ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ได้เดินทางไปตรวจราชการทางภาคเหนือ และให้ความสนใจในเรื่องการคุ้มครองรักษาทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะป่าไม้ จึงได้เสนอคณะรัฐมนตรีให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยดำเนินการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ
         ต่อมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้พิจารณากำหนด โครงการที่จะจัดพื้นที่ป่าให้เป็นอุทยานแห่งชาติจำนวน 14 แห่ง เสนอเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรีให้มีการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติไว้ได้ ดังนี้
             1. ขอการจัดสรรที่ดินในบริเวณป่ารวม 14 แห่ง เพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ
             2. ให้กระทรวงมหาดไทย   ดำเนินการประกาศเขตหวงห้ามในบริเวณป่า รวม 4 แห่งเพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ คือ ป่าเทือกเขาสลอบ ป่าเขาใหญ่ ป่าทุ่งแสลงหลวง ป่าดอย-อินทนนท์
             3. ขอกำหนดป่าที่จัดตั้ง เป็นอุทยานแห่งชาติตามข้อ 1 ให้เป็นป่าสงวนตามพระราช-บัญญัติคุ้มครองและสงวนสัตว์ป่าเว้นแต่ป่าภูกระดึง จังหวัดเลย  ซึ่งได้กำหนดให้เป็นป่าสงวนไว้แล้ว
         วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ.2502  คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีประกาศพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อคุ้มครองรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ และในพระราชบัญญัติฉบับนี้ ยังได้กำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ การขยายหรือเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ รวมตลอดถึงการคุ้มครองและการดูแลรักษาอุทยานแห่งชาติซึ่งอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2530
         และเมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2532 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 เพื่อระวังไม่ให้มีการทำไม้ออกจากป่าและเร่งรัดฟื้นฟูสภาพป่าไม้ พร้อมทั้งให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ในอันที่จะยับยั้งในการที่จะทำไม้ออกจากป่า รวมทั้งการสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัมปทาน และการสิ้นสุดสัมปทาน ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเป็นเหตุให้มีการดำเนินการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติจากป่าสงวนแห่งชาติ

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

         1. หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ มว.1 (ด่านตรวจ กม.57)
         2. หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ มว.2 (ปางข้าวสาร)
         3. หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ มว.3 (เขาเขียว)
         4. หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ มว.4 (แม่เรวา)
         5. หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ มว.5 (ปางสัก)
         6. หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ มว.6 (ซับตามิ่ง)
         7. หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ มว.7 (คลองเสือข้าม)

ข้อมูลจำเพาะทรัพยากรธรรมชาติ

ประวัติความเป็นมา/คำบอกเล่า/ตำนาน

ภาพที่ 1 แสดงป้ายหน้าทางเข้าอุทยาน.jpg

ภาพที่ 1 ป้ายหน้าทางเข้าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์

         นายสวัสดิ์ คำประกอบ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมีหนังสือถึงปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์) ขอให้จัดพื้นที่ป่าแม่วงก์-แม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ซึ่งมีสภาพธรรมชาติและน้ำตกที่สวยงามหลายแห่ง สภาพป่าอุดมสมบูรณ์และเป็นป่าต้นน้ำลำธาร กำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จากการสำรวจหาข้อมูล ปรากฏว่า พื้นที่ดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูงเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำแม่วงก์ มีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตกแม่กระสาหรือน้ำตกแม่กี ซึ่งสูงประมาณ 200 เมตร และหน้าผาต่างๆ สภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์ไม้และสัตว์ป่านานาชนิด เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2528 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2528 เห็นชอบให้กำหนดพื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 55 ของประเทศสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนเรียงรายกันอยู่ตามเทือกเขาถนนธงชัยลดหลั่นลงมาจนถึงพื้นราบ ประมาณ 40-50 ลูก ยอดที่สูงที่สุดคือ “ยอดเขาโมโกจู” สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,964 เมตร เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารต้นกำเนิดของลำน้ำแม่วงก์ ส่วนพื้นที่ราบมีไม่มาก ส่วนใหญ่อยู่บริเวณริมแม่น้ำ โดยลำน้ำแม่วงก์ หรือแม่เรวา เป็นแม่น้ำหรือลำน้ำสายหลักของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีลักษณะภูมิประเทศที่หลากหลายมีระบบนิเวศพิเศษ มีลักษณะเป็นลำธารที่ราบมีเกาะแก่งต่าง ๆ มากมายเป็นที่ตั้งของป่าละเมาะอันเป็นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่สำคัญและหายากใกล้สูญพันธุ์ ขณะที่ป่าริมน้ำเป็นถิ่นที่อยู่ของเสือโคร่งพันธุ์อินโดจีน แก่งลานนกยูง เป็นที่อยู่และจับคู่ผสมพันธุ์ของนกยูงพันธุ์ไทยที่เหลือเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย รวมถึงนากใหญ่ขนเรียบ ขณะที่ในลำน้ำพบปลาน้ำจืดอีกกว่า 60 ชนิด เช่น ปลาตะพากส้ม ปลาเลียหินสภาพภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ในช่วงฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน - เดือนกุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่เหมาะแก่การไปท่องเที่ยวมากที่สุด เพราะอากาศค่อนข้างหนาวเย็น อันเนื่องมาจากลิ่มความกดอากาศสูงมาจากประเทศจีนแผ่ลงมาทางตอนใต้เข้าสู่ประเทศไทยตอนบนและปกคลุมทั่วประเทศ ลมที่พัดสู่ประเทศไทยในฤดูนี้คือลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนืออุณหภูมิต่ำสุดในเดือนมกราคม ประมาณ 8.9 องศาเซลเซียส ส่วนช่วงฤดูร้อนเริ่มต้นจากเดือนมีนาคม - เดือนพฤษภาคม อุณหภูมิสูงสุดในเดือนเมษายนประมาณ 38.1 องศาเซลเซียส อากาศค่อนข้างร้อนจัดและมีฝนตกน้อย ทำให้สังคมพืชป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณผลัดใบ สำหรับฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน - เดือนตุลาคม มีปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 1,100 มิลลิเมตรต่อปีอายุทรัพยากร

ข้อมูลจำเพาะทางวิทยาศาสตร์

         -

ทรัพยากรแวดล้อม

         อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จำแนกลักษณะทรัพยากรแวดล้อม ออกเป็น พืชพรรณ สัตว์ป่า และจุดชมวิวธรรมชาติ 
         พืชพันธุ์
             1. ป่าดิบเขา ประมาณ 0.88 %ขึ้นปกคลุมบนยอดเขาสูที่มีสภาพอากาศค่อนข้างหนาวเย็นตลอดปีที่ระดับความสูงมากกว่า 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง พบได้ในทุกภาคของประเทศไทยในบริเวณที่เป็นยอดเขาสูง พันธุ์ไม้เด่น ได้แก่ ไม้วงก่อ Fagaceae และ Gymnosperm ได้แก่ พวกขุนไม้ สนสามพันปี ไม้ชั้นรอง ได้แก่ เป้ง สะเดา ขมิ้นต้น ป่าดิบเขาในประเทศไทย อาจแบ่งย่อยได้เป็น 2 สังคมย่อย คือ ป่าดงดิบเขาระดับต่ำ พบที่ระดับความสูง 1,000 – 1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางและป่าดิบเขาระดับสูง พบที่ระดับความสูง 2,000 เมตร
             2. ป่าดิบแล้ง ประมาณ 21.85 % ป่าดิบแล้ง (Dry Evergreen Forest) มีอยู่ทั่วไปตามภาคต่าง ๆ ของประเทศ ตามที่ราบเรียบหรือตามหุบเขา มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 500 เมตร และมีปริมาณน้ำฝนระหว่าง 1,000-1,500 ม.ม. พันธุ์ไม้ที่สำคัญ เช่น ยางแดง มะค่าโมง เป็นต้น พื้นที่ป่าชั้นล่างจะไม่หนาแน่นและค่อนข้างโล่งเตียนโครงสร้างของป่าดงดิบแล้งจะมีเรือนยอดไม้ปกคลุมต่อเนื่องกันตลอด มีพันธุ์ไม้หลายชนิด เช่น ยางแดง กระบาก ตะเคียนหิน เคี่ยมคะนอง ขึ้นผสมกับไม้ผลัดใบ เช่น ตะแบก สมพง มะค่าโมง พยุง สภาพพื้นล่างปกคลุมไปด้วยไม้พุ่ม กล้วยไม้ และเถาวัลย์เลื้อยพันไปมา ป่าชนิดนี้เหมาะสมเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าหลายประเภท อาทิ ลิง ชะนีมงกุฎ กระทิง วัวแดง เนื้อทราย และไก่ฟ้าพญาลอ เป็นต้น เนื่องจากมีพืชอาหารมากอีกทั้งป่ายังไม่ชื้นจัดจนเกินไป นับเป็นป่าที่มีคุณค่าต่อประชาชนท้องถิ่นเพราะสามารถใช้เป็นแหล่งอาหารและเก็บหาของป่าที่สำคัญ นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งพืชสมุนไพร เช่น เร่ว กระวาน และว่านต่าง ๆ ป่าดงดิบแล้งเป็นสังคมป่าไม่ผลัดใบที่มีพืชผลัดใบขึ้นผสมอยู่ค่อนข้างมาก ทำให้ต้นไม้ส่วนหนึ่งพากันผลัดใบในฤดูแล้ง ปัจจัยหลักที่กำหนดการคงอยู่ของป่าชนิดนี้คือ ต้องมีช่วงแห้งแล้งชัดเจนอย่างน้อย 3-4 เดือน ดินลึกกักเก็บน้ำได้ดีพอสมควร เพื่อเอื้ออำนวยให้พรรณไม้บางชนิดคงใบอยู่ได้ตลอดฤดูแล้ง ปกติจะพบป่าดงดิบแล้งที่ระดับความสูงประมาณ 100-800 เมตร
             3. ป่าเบญจพรรณ ประมาณ 59.05 % ป่าเบญจพรรณหรือป่าผมผลัดใบมีลักษณะเป็นป่าโปร่ง ต้นไม้ทั้งหมดมีการผลัดใบในฤดูแล้ง ดินมักเป็นดินร่วนทราย พบได้ในภาคเหนือ ภาตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางที่ระดับความสูง 50 – 800 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีปริมาณน้ำฝน 1,200 – 1,300 มม. / ปี
             4. ป่าเต็งรัง ประมาณ 6.77 % ป่าเต็งรังเป็นป่าผลัดใบที่มีไม้วงศ์ยางบางชนิดเป็นไม้เด่น ได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง และยางกราด โดยทั่วไปความหนาแน่นของต้นไม้ในป่าเต่งรังจะน้อยกว่าป่าเบญจพรรณ เพราะดินตื้นกักเก็บน้ำได้น้อย มีหินบนผิวดินมาก ก่อให้เกิดความแห้งแล้ง ป่าเต็งรังเป็นสังคมพืชเด่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบเกิดขึ้นที่ระดับความสูงประมาณ 50-1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีช่วงแห้งแล้งจัดเกิน 4 เดือนต่อปี ประกอบกับปริมาณน้ำฝนตกน้อยคือ 900-1,200 มิลลิเมตรต่อปีเท่านั้น ปัจจัยสำคัญที่สุดที่กำหนดการคงอยู่ของ  ป่าเต็งรังคือ ไฟป่า ซึ่งมักเกิดขึ้นระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม เนื่องจากไฟเป็นตัวจัดการโครงสร้างป่าและคัดเลือกพันธุ์ไม้ ต้นฤดูแล้งใบไม้ในป่าเต็งรังจะพร้อมใจกันผลัดใบเป็นสีแดง เหลือง ส้ม อย่างสวยงาม แล้วจะสลัดใบทิ้งจนหมด กลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีเมื่อไฟป่าเกิดขึ้น หลักจากไฟผ่านไปพื้นป่าจะโล่งเตียน แต่เมื่อได้รับน้ำฝน ป่าเต็งรังก็จะกลับเขียวสดขึ้นอีกครั้งด้วยหญ้าระบัด ดึงดูดสัตว์กินพืชหลายชนิดเข้ามาสู่ป่าเต็งรัง อาทิ วัวแดง กวางป่า เก้ง กระทิง กระต่ายป่า ความร้อนจากไฟยังช่วยไล่แมลงบนพื้นดินหรือใต้เปลือกไม้ให้เผยตัวออกมา กลายเป็นอาหารอันอุดมสมบูรณ์ของเหล่านกกินแมลงนานาชนิดอีกด้วย ปัจจุบัน ป่าเต็งรังในประเทศไทยมีความเสื่อมโทรมลงมาก เพราะการตัดไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจออกไปใช้งาน สัตว์เลี้ยงพวกวัวควายเข้าไปหากินในป่าเหยียบย่ำทำลายพันธุ์ไม้ต่างๆรวมทั้งผลกระทบจากไฟป่าที่เกิดขึ้นมักรุนแรงเกินกว่าป่าจะฟื้นตัวได้ทัน
             5. ทุ่งหญ้าหรือไร่ร้าง ประมาณ 2.21 %พบกระจัดกระจายไปตามป่าประเภทต่างๆ ที่มีอยู่ เกิดจากการทำลายป่าของชาวเขาเผ่าต่างๆ ที่เคยอยู่อาศัยในพื้นที่ สังคมพืชที่ขึ้นทดแทนในพื้นที่ได้แก่ หญ้าคา หญ้านิ้วหนู เลา สาบเสือ พง แขมหลวง มะเดื่อ ไมยราบเครือ ไมยราบ ต้นลำพูป่า หว้า ติ้วแดง งิ้วป่า มะเดื่อหอม เป็นต้น
         สัตว์ป่า
             1. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน 57 ชนิด 26 วงศ์
             2. สัตว์จำพวกนก จำนวน 305 ชนิด 53 วงศ์
             3. สัตว์เลื้อยคลาน จำนวน 22 ชนิด 11 วงศ์
             4. สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จำนวน 7 ชนิด 4 วงศ์
             5. ปลา จำพวกปลาน้ำจืด จำนวน 68 ชนิด 14 วงศ์
         จุดชมวิวในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์จังหวัดกำแพงเพชร
             1. เขาโมโกจู
             2. ช่องเย็น
             3. เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ (เหมาะสำหรับนักดูนก)
             4. จุดชมวิวภูสวรรค์ (1,429 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล)
             5. จุดชมวิวกิ่วกระทิง
             6. ขุนน้ำเย็น
             7. แก่งนกยูง
             8. แก่งผานางคอย
เขาโมโกจู
ภาพที่ 2 แสดงรูปเขาโมโกจู.jpg

ภาพที่ 2 เขาโมโกจู

         ยอดเขาโมโกจู เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และสูงที่สุดในผืนป่าตะวันตก ห่างจากอุทยานฯ ประมาณ 38 กิโลเมตร เป็นยอดเขา ที่นักนิยมการท่องเที่ยวแบบเดินป่า ปีนเขา ต้องการที่จะไปเยือนสักครั้ง ด้วยความสูง 1,964 เมตร คำว่า โมโกจู เป็นภาษากะเหรี่ยง แปลว่า เหมือน ฝนจะตก จุดเด่นบนยอดโมโกจูก็คือ หินที่เป็นลักษณะคล้ายเรือใบ หรือที่นักท่องเที่ยวเรียกกันว่า หินเรือใบ ประกอบกับบริเวณหินเรือใบ สามารถชมวิวได้รอบตัว 360 องศา ซึ่งจะสวยงามทั้งช่วงเช้าและช่วงเย็น จึงเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่นักท่องเที่ยวต้องการที่จะมาพิชิตหินเรือใบให้ได้สักครั้งในชีวิต แต่การจะหาโอกาสมาเที่ยวที่นี่ก็ไม่ง่ายเช่นกัน เนื่องจากอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ กำหนดให้มีกิจกรรมเดินป่าระยะไกล (โมโกจู) แค่ระหว่างเดือน พฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ทางอุทยานฯ จะเปิดเส้นทางเดินป่าเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้พิชิตยอดเขาโมโกจู สัมผัสกับความงดงามของผืนป่า ซึ่งประกอบไปด้วยป่ากว้าง 3 แห่งด้วยกัน คือ ผืนป่าคลองลาน ผืนป่าห้วยขาแข้ง และผืนป่าอุ้มผาง นักท่องเที่ยวที่พิชิตยอดเขาโมโกจู มักจะไม่พลาดที่ถ่ายภาพหินรูปเรือใบ ที่ตั้งเด่นตระหง่านอยู่ริมยอดเขา มองด้านล่างก็จะเห็นไอหมอกที่ปกคลุมผืนป่า เป็นอีกหนึ่งภาพที่งดงามยิ่งนักเท่านั้นเนื่องจากบนยอดเขามักถูกปกคลุมด้วยเมฆหมอกและมีอากาศหนาวเย็นตลอดเวลา อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ นับได้ว่าเป็นมีผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่ง มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญมากมาย อาทิเช่น มะค่าโมง สัก ประดู่ ยางแดง เต็งรัง เป็นตัน อีกทั้งยังมีสัตว์ป่าที่หายาก เช่น ช้างป่า กระทิง เสือ กวาง เก้ง หมี แมวลาย และนกต่างๆ โดย ด้วยสภาพเส้นทางเดินขึ้นเขา ที่มีความลาดชันไม่ต่ำกว่า 60 องศา และใช้เวลาในการเดินทางไป – กลับ ใช้ระยะเวลา 5 วัน ซึ่งต้องพักแรมในป่าตามจุดที่ได้มีการกำหนดไว้ นักท่องเที่ยวจึงต้องเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนออกเดินทางจริง
ภาพที่ 3 แสดงน้ำตกภายในอุทยาน.jpg

ภาพที่ 3 แสดงน้ำตกภายในอุทยาน

         นอกจากนี้ในเขตอุทยานฯยังมีน้ำตกขนาดใหญ่ที่สวยงามหลายแห่ง อาทิ น้ำตกแม่กระสา เป็นน้ำตกที่สูงที่สุดในอุทยานฯ มี 9 ชั้น สูงถึง 900 เมตร  น้ำตกแม่รีวา เป็นน้ำตกขนาดใหญ่สวยงามมาก มี 5 ชั้น และน้ำตกแม่กี มีความสูงประมาณ 200 เมตร แบ่งเป็น 9 ชั้น น้ำตกแห่งนี้ได้รับคำกล่าวชมจากหนังสือ ASEAN MAGAZINE เมื่อปี พ.ศ.2518 ว่าเป็นน้ำตกที่สวยงามที่สุดในเอเซีย  การเข้าถึงน้ำตกเหล่านี้ต้องเดินป่าอย่างน้อย 3 วันน้ำตกแม่รีวา
         น้ำตกแม่รีวา อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 21 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดใหญ่สวยงามมาก มี 5 ชั้น รถเข้าไม่ถึงเช่นเดียวกันต้องใช้เวลาใน การเดินทางไป-กลับ 2 วัน
         น้ำตกแม่กี เป็นน้ำตกที่ตั้งอยู่บริเวณเดียวกับน้ำตกแม่รีวาและน้ำตกแม่กระสา มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาถนนธงชัย การเข้าไปยังน้ำตกต้องเดินเท้าเวลาไป-กลับ 3-4 วัน
         น้ำตกแม่กระสา เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ มี 9 ชั้น สูง 900 เมตร อยู่ห่างจากอุทยานฯ ประมาณ 18 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินเท้าไป-กลับ 3-4 วัน
         น้ำตกนางนวลและน้ำตกเสือโคร่ง อยู่บริเวณ กม.ที่ 99 ของถนนคลองลาน-อุ้มผาง น้ำตกนางนวลต้องไต่เขาลงไปประมาณ 200 เมตร สำหรับน้ำตกเสือโคร่ง ต้องเดินไป 1 กิโลเมตร การเดินทางเข้าไปน้ำตกทั้งสองแห่งต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนทุกครั้ง
         บ่อน้ำอุ่น เป็นบ่อน้ำอุ่นที่ผุดขึ้นมาจากใต้ดินตามธรรมชาติ น้ำอุ่นมีอุณหภูมิประมาณ 50 องศาเซลเซียส รัศมีความกว้างประมาณ 4 เมตร มีสัตว์ป่าชุกชุม อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 1.5 กิโลเมตร
จุดชมวิวช่องเย็น
ภาพที่ 5 แสดงจุดชมวิวช่องเย็น.jpg

ภาพที่ 4 แสดงจุดชมวิวช่องเย็น

         ช่องเย็น กม.ที่ 93 อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 28 กิโลเมตร เป็นจุดสูงสุดของถนนคลองลาน-อุ้มผาง สูง 1,340 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีสายลมพัดผ่านและหมอกปกคลุมอยู่เสมอ อากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี และเป็นที่ดูพระอาทิตย์ตกได้อย่างสวยงามอีกจุดหนึ่ง อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียล เนื่องจากบริเวณนี้เป็นช่องเขาที่มีสายลมพัดผ่านตลอดเวลา จึงถูกขนานนามว่า “ช่องเย็น” ตามสภาพภูมิอากาศของพื้นที่แห่งนี้ เนื่องจากช่องเย็นมีสภาพอากาศที่เย็นและชื้น จึงพบพันธุ์ไม้ที่ชอบความชุ่มชื้นบริเวณนี้ ได้แก่ กล้วยไม้ เฟิร์น มหัสดำ (Treefern)
         นอกจากนี้ช่องเย็น ยังเป็นถิ่นอาศัยของนกหลากหลายชนิด จึงเป็นแหล่งดูนกที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองไทย  บริเวณ ช่องเย็น มีบ้านพักและสถานที่กางเต็นท์ไว้บริการ แต่จะต้องเตรียมอุปกรณ์มาเอง คือ ผ้าพลาสติก เสื้อกันหนาว โลชั่นกันแมลง และถุงสำหรับนำขยะลงไปทิ้ง เพราะช่องเย็นไม่สามารถกำจัดขยะได้ ตะเกียงหรือไฟฉาย เพราะไฟฟ้ามีให้ใช้ตั้งแต่เวลา 17.00-21.00 น. ช่องเย็นยังมีจุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงาม คือ จุดชมวิวภูสวรรค์ สามารถชมวิวได้ 360 องศา
ภาพที่ 7 จุดชมวิวภูสวรรค์.jpg

ภาพที่ 5 แสดงจุดชมวิวภูสวรรค์

         จุดชมวิวกิ่วกระทิง
         จุดชมทิวทัศน์ กม. 57-115 : ตลอดเส้นทางคลองลาน-อุ้มผาง ระหว่างกิโลเมตรที่ 57 - 115 มีจุดชมทิวทัศน์หลายแห่ง เช่น จุดชมทิวทัศน์กิโลเมตรที่ 81 กิโลเมตรที่ 87 กิโลเมตรที่ 93 กิโลเมตรที่ 102 และกิโลเมตรที่ 115 แต่ละแห่งสามารถมองทัศนียภาพที่สวยงามมองเห็นทิวเขาไกลสุด โดยในจุดชมวิวกิ่วกระทิงนั้นตั้งอยู่หลักกิโลเมตรที่ 81 ไปตามถนนคลองลาน-อุ้มผาง ประมาณ 16 กิโลเมตร จะถึงบริเวณหน้าผา เป็นจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นทัศนียภาพของป่า รอบๆ ได้อย่างสวยงาม
ภาพที่ 8 แสดงจุดชมวิวกิ่วกระทิง.jpg

ภาพที่ 6 แสดงจุดชมวิวกิ่วกระทิง

         ขุนน้ำเย็น
         ขุนน้ำเย็นเป็นจุดชมวิวของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์อีกที่หนึ่งที่เปิดในนักท่องเที่ยวสามารถกลางเต็นท์นอนได้ ซึ่งมีลานกลางเต็นท์ขุนน้ำเย็น-อยู่ห่างจากอุทยาน 24 กิโลเมตร (กิโลที่ 89) เป็นสถานที่กางเต็นท์เป็นจุดชม พระอาทิตย์ขึ้น-ตก และสามารถชมทัศนียภาพของป่าดงดิบเขาได้ 360 องศา เป็นจุดหนึ่งที่สมารถรับนักท่องเที่ยวกางเต็นท์พักแรมได้จำนวน 200 คน ต่อวัน มีห้องสุขาไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว เหมาะแก่การมาพักผ่อนกับครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง 
ภาพที่ 9 แสดงจุดชมวิวขุนน้ำเย็น.jpg

ภาพที่ 7 แสดงจุดชมวิวขุนน้ำเย็น

         แก่งผานางคอย
         แก่งผานางคอยเป็นแก่งน้ำและแก่งหิน จากถนนคลองลาน-อุ้มผาง ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ 1,400 เมตร จะมีทางแยกเข้าไปอีก 400 เมตร จะถึงบริเวณแก่งหินขนาดใหญ่ที่มีลำน้ำคลองขลุงไหลผ่าน ซึ่งเป็นลำน้ำสายหนึ่งในหลาย ๆ สายที่ไหลลงสู่แม่น้ำปิง จากบริเวณแก่งเดินขึ้นไปตามลำน้ำอีกประมาณ 350 เมตร จะถึง น้ำตกผาคอยนาง น้ำตกขนาดเล็กที่เด่นและสะดุดตา มีน้ำตก 4 ชั้น แต่ละชั้นมีความสูงประมาณ 20 เมตร  และบริเวณใกล้น้ำตกสามารถกางเต็นท์พักแรมได้ด้วย
         บ้านพักและสิ่งอำนวยความสะดวก
         อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีบ้านพักและสถานที่กางเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว แต่ต้องนำเต็นท์ไปเอง ระบบไฟฟ้า มีใช้บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ส่วนบริเวณแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ลานกางเต็นท์ นักท่องเที่ยวต้องมาลงทะเบียนที่ศูนย์บริการฯ และแจ้งความประสงค์สำรองที่พักเต็นท์ หรือจองเต็นท์ใดๆก่อนทั้งสิ้น ณ เวลานั้น เท่านั้นการสำรองที่พักเต็นท์สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและสำรองที่พักเต็นท์ได้กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง สำหรับอัตราค่าบริการอยู่ระหว่าง 250-800 บาท ขึ้นอยู่กับชนิด ขนาดของเต็นท์ และอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ มีเต็นท์ให้เช่าขนาดเดียว คือ เต็นท์โดม พักได้ 1-3 คน หลังละ 225 บาท ไม่รวมชุดเครื่องนอนใด ชุดเครื่องนอนมีให้เช่า หมอน 10 บาท แผ่นรองนอน 20 บาท และถุงนอน 30 บาท /ชิ้น
บ้านพักและสิ่งอำนวยความสะดวก.jpg
         บ้านพักออนไลน์
         สามารถจองที่พักได้ที่ http://www.dnp.go.th/parkreserve/reservation.asp 
         สอบถามข้อมูลได้ที่ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ กม.ที่ 65 ถนนคลองลาน-อุ้มผาง อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร 62180 โทรศัพท์ 09-0457929

ข้อมูลการสำรวจ

วันเดือนปีที่สำรวจ

         วันศุกร์ ที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2562

วันปรับปรุงข้อมูล

         -

ผู้สำรวจข้อมูล

         อ.วนัสนันท์ นุชนารถ 
         ผศ.ดร.พธูรำไพ ประภัสสร 
         ผศ.ดร.ศุภโชคชัย นันทศรี 
         อ.พิมพ์นารา บรรจง 
         อ.วีรวรรณ แจ้งโม้ 

คำสำคัญ (tag)

         อุทยาน, อุทยานแห่งชาติแม่วงก์, ทรัพยากรกำแพงเพชร