ฐานข้อมูล เรื่อง ชนเผ่าปกาเกอะญอ หรือ กะเหรี่ยง ตำบลคลองลานพัฒนา
เนื้อหา
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อชาติพันธุ์/ชุมชน/สังคม
กะเหรี่ยงเป็นชนเผ่าที่จัดได้ว่ามีหลายเผ่าพันธุ์ หลายภาษา มีการนับถือศาสนาที่ต่างกัน แต่กะเหรี่ยงดั้งเดิมจะนับถือผี เชื่อเรื่องต้นไม้ป่าใหญ่ ภายหลังหันมานับถือพุทธ คริสต์ เป็นต้น กะเหรี่ยง มีถิ่นฐานตั้งอยู่ที่ประเทศพม่า แต่หลังจากถูกรุกรานจากสงคราม จึงมีกะเหรี่ยงที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ประเทศไทย กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย กะเหรี่ยงสะกอ หรือที่เรียกนามตัวเองว่า ปากะญอ หมายถึงคน หรือมนุษย์นั้นเอง กะเหรี่ยงสะกอเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด มีภาษาเขียนเป็นของตนเอง โดยมีมิชชันนารีเป็นผู้คิดค้นดัดแปลงมาจากตัวหนังสือพม่า ผสมภาษาโรมัน กลุ่มนี้หันมานับถือศาสนาคริสต์เป็นส่วนใหญ่ กะเหรี่ยงโปร์นั้นเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างเคร่งครัดในประเพณี อาศัยอยู่มากที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และแถบตะวันตกของประเทศไทย คือ กะเหรี่ยง บเว อาศัยอยู่มากที่อำเภอขุนยวม แม่ฮ่องสอน ส่วนปะโอ หรือตองสูก็มีอยู่บ้าง แต่พบน้อยมากในประเทศไทย กลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ หรือเดิมเรียกกันว่ากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีการอพยพย้ายถิ่นฐานกระจายไปทั่วประเทศไทย และส่วนหนึ่งได้มาตั้งถิ่นฐานที่อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร เดิมทีอาศัยอยู่เหนือยอดน้ำตก หลังจากได้ประกาศพื้นที่เป็นเขตอุทยานจึงได้อพยพลงมาจากยอดน้ำตกเมื่อปี พ.ศ.2529
ชื่อเรียกตนเอง
กลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ หรือเดิมเรียกกันว่ากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง สะกอ หรือยางขาว เรียกตัวเองว่า ปกากะญอ เป็นกลุ่มที่มีประชากรมากที่สุด
ที่ตั้ง
ซึ่งจากการสำรวจ มี 3 หมู่บ้าน คือ หมู่ 3 บ้านคลองน้ำไหลใต้ ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร มีจำนวนประมาณ ๘๐ หลังคาเรือน อาชีพหลัก คือ รับจ้างทำไร่มันสำปะหลัง หมู่ ๑๘ บ้านกะเหรี่ยงน้ำตก ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร มีจำนวนประมาณ 100 หลังคาเรือน อาชีพหลัก คือ ทำไร่มันสำปะหลังและหาของป่าขาย ละติจูต : 16.127472 ลองติจูต : 99.293742 บ้านวุ้งกะสัง อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก
กะเหรี่ยง
ภาษาที่ใช้พูด/เขียน
กะเหรี่ยงแต่ละเผ่ามีภาษาพูด และภาษาเขียนเป็นของตนเอง โดยการดัดแปลงมาจากตัวหนังสือพม่า ผสมอักษรโรมัน
ภาพที่ 1 ภาษาพม่าผสมอักษรโรมัน
ประโยคพูดและคำพื้นฐานภาษากะเหรี่ยง
ลำดับที่ | ภาษาเขียน | ความหมาย |
---|---|---|
1 | โอ๊ะมื่อโชเปอ | คำทักทาย/สวัสดี |
2 | เนอะ โอ๋ ชู่ อะ | สบายดีไหม/ครับ/ค่ะ |
3 | นา เนอะ มี ดี หลอ | คุณชื่ออะไร |
4 | ยา เจ่อ มี เลอะ/ ชิ | ผมชื่อ/เล็ก |
5 | เน่อ โอ๊ะ พา หลอ | คุณอยู่ที่ไหน |
6 | ยา เจ่อ โอ๊ะ เลอะ /เจียงฮาย | ผมอยู่ที่/เชียงราย |
7 | นา เน่อ นี่ แปว หลอ | คุณอายุเท่าไหร่ |
8 | ซะ คือ เลอะ เน่ สิ ยา บะ นา | ยินดีที่ได้รู้จักกับคุณ |
9 | คี เลอะ นา เน่อ เก๊อะ บะ ต่า โช่ เง | ขอให้คุณจงโชคดี |
10 | ตะ บลือ | ขอบคุณ/ครับ/ค่ะ |
11 | เยอ แอ่ะ นา | ฉันรักเธอ |
12 | วี ซะ จู | เป็นคำกล่าวขออภัย/ขอโทษ |
13 | ดี หลอ อี | เท่าไหร่ครับ/ค่ะ |
14 | มา เจอ ยา เจ๋ | ช่วยฉันด้วย |
15 | ต่า นี ยา อี | วันนี้ |
16 | งอ คอ | ตอนเช้า |
17 | มื่อ ทู่ | ตอนบ่าย |
18 | มื่อ หา ลอ | ตอนเย็น |
19 | เน่อ จะ แหล | อะไรนะ |
20 | เอาะ เม | กินข้าว |
21 | เอาะ ที | กินนํ้า |
22 | พะ แหละ ตอ หลอ | ที่ไหน |
23 | เย่อ ซะ เก่อ ยื่อ บะ นา | ฉันคิดถึงเธอ |
24 | โอ๋ ชู่ | สบายดี |
25 | ชิ้ หลอ | เมื่อไหร่ |
26 | แล พะ หลอ เก | ไปไหนมา |
ประวัติความเป็นมา
บ้านกะเหรี่ยงน้ำตกเดิมเป็นส่วนหนึ่งของบ้านสวนส้มหมู่ที่ 2 ต.คลองลานพัฒนา ตามประวัติเล่าว่าเดิมมีชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงอยู่มาก่อนคาดว่าอาจเป็นร้อยปีและมีนายกุน คำแก้ว คนไทยชุดแรกที่ย้ายเข้ามาอยู่เมื่อประมาณ 60 ปีมาแล้วและต่อมาจึงเริมมีคนไทยพื้นราบเข้ามาอยู่รวมกับคนไทยภูเขาที่อยู่คู่กับคลองลานมาตั้งแต่สมัยยังเป็นป่าอยู่ ปัจจุบันบ้านกระเหรี่ยงน้ำตกมีผู้ใหญ่บ้านคือ นายบวรเกียรติ คชินทร ลักษณะภูมิศาสตร์ของหมู่บ้านอาณาเขตติดต่อทิศเหนือจรด หมู่ที่ 2 ตำบลคลองลานพัฒนา ทิศใต้จรด หมู่ที่17 ตำบลคลองลานพัฒนา ทิศตะวันออกจรด หมู่ที่ 16 ตำบลคลองลานพัฒนา ทิศตะวันตกจรด อุทยานแห่งชาติคลองลานขนาดพื้นที่ พื้นที่ 3,100 ตารางกิโลเมตร ภูมิประเทศมีพื้นที่เป็นเนินเขาส่วนใหญ่ รองลงมาเป็นพื้นที่ราบและภูเขาสลับกัน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินปนทราย
ข้อมูลประชากรศาสตร์
1. หมู่ 3 บ้านคลองน้ำไหลใต้ ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร มีจำนวนประมาณ 80 หลังคาเรือน อาชีพหลัก คือ รับจ้างทำไร่มันสำปะหลัง 2. หมู่ 18 บ้านกะเหรี่ยงน้ำตก ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร มีจำนวนประมาณ 100 หลังคาเรือน อาชีพหลัก คือ ทำไร่มันสำปะหลังและหาของป่าขาย 3. บ้านวุ้งกะสัง อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร
===ข้อมูลเชิงภูมิศาสตร์
ลักษณะภูมิศาสตร์ของหมู่บ้านอาณาเขตติดต่อทิศเหนือจรด หมู่ที่ 2 ตำบลคลองลานพัฒนา ทิศใต้จรด หมู่ที่17 ตำบลคลองลานพัฒนา ทิศตะวันออกจรด หมู่ที่ 16 ตำบลคลองลานพัฒนา ทิศตะวันตกจรด อุทยานแห่งชาติคลองลานขนาดพื้นที่ พื้นที่ 3,100 ตารางกิโลเมตร ภูมิประเทศมีพื้นที่เป็นเนินเขาส่วนใหญ่ รองลงมาเป็นพื้นที่ราบและภูเขาสลับกัน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินปนทราย
วิถีชีวิต
อาชีพ
กะเหรี่ยง หรือ “ ปกากะญอ” ขึ้นชื่อว่าเป็นชนเผ่าที่รักความสันโดษ ปลูกมัน สานตะกร้า และทอผ้า ชนเผ่ากะเหรี่ยงจะอยู่อย่างเงียบ ๆ ชอบใช้ชีวิตอยู่กับป่าไม้ลำเนาไพร ยึดถืออาชีพที่เป็นอิสระ กะเหรี่ยงดั้งเดิมส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา อยู่ตามป่าตามเขา ปลูกพืชผักสวนครัวตามฤดูกาล ส่วนสัตว์เลี้ยงก็จะเลี้ยงไว้เพื่อเป็นอาหารมากกว่าการค้าขาย ใช้ชีวิตแบบพึ่งป่าพึ่งน้ำอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่
ภาพที่ 2 ชาวบ้านปกาเกอะญอใช้เวลาว่างสานตะกร้าขาย
ภาพที่ 3 อุปกรณ์ที่ใช้ในการเกษตรและดำรงชีวิต
ภาพที่ 4 อุปกรณ์ที่ใช้ในการเกษตรและดำรงชีวิต
ภาพที่ 5 อุปกรณ์ที่ใช้ในการเกษตรและดำรงชีวิต
ภาพที่ 6 อุปกรณ์ที่ใช้ในการเกษตรและดำรงชีวิต
ภาพที่ 7 อุปกรณ์ที่ใช้ในการเกษตรและดำรงชีวิต
ภาพที่ 8 อุปกรณ์ที่ใช้ในการเกษตรและดำรงชีวิต
ภาพที่ 9 อุปกรณ์ที่ใช้ในการเกษตรและดำรงชีวิต
ครอบครัว
ระบบครอบครัวของกะเหรี่ยงเป็นแบบผัวเดียวเมียเดียว และไม่มีการอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงานเป็นอันขาดการหย่าร้างมีน้อยมาก ขณะที่การแต่งงานใหม่ก็ไม่ค่อยปรากฏ ส่วนการเลือกคู่ครองนั้น ฝ่ายหญิงจะเป็น ผู้เลือกชายก่อน และบางครั้งฝ่ายหญิงก็ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการแต่งงาน สังคมกะเหรี่ยงเป็นครอบครัวเดี่ยว เมื่อลูกแต่งงานก็จะแยกครอบครัวไปปลูกบ้านใหม่ ถ้าแต่งงานแล้ว ชายจะต้องมาอยู่กับบ้านพ่อแม่ภรรยาเป็นเวลา 1 ฤดูเก็บเกี่ยว หลังจากนั้นจึงปลูกบ้านใกล้กับพ่อแม่ฝ่ายภรรยา ถ้ามีลูกสาวคนเล็กจะต้องอยู่ดูแลพ่อกับแม่
ภาพที่ 10 ครอบครัวนายพะซะนุย คามภูผา ชนเผ่าปกาเกอะญอ
การแต่งกาย
ปัจจุบันกลุ่มกะเหรี่ยงที่ยังคงสวมเครื่องแต่งกายประจำเผ่า วิถีชีวิตปกติมีเพียงกลุ่มโปและกะกอเท่านั้น ส่วนกลุ่มคะยาและตองสูไม่สวมชุดประจำชนเผ่าในชีวิตประจำวันแล้ว แต่กระนั้นก็ตามกลุ่มสะกอและโปในทุกจังหวัดยังคงรักษาลักษณะร่วมที่แสดงสถานะของหญิงสาวและหญิงแม่เรือนเช่นเดียวกัน คือ หญิงทุกวัยที่ยังไม่ได้แต่งงานต้องสวมชุดยาวกรอมเท้าสีขาว เมื่อแต่งงานแล้วจะต้องเปลี่ยนมาสวมใส่เสื้อและผ้าถุงคนละท่อนเท่านั้น ห้ามกลับไปสวมใส่ชุดยาวสีขาวอีก ส่วนผู้ชายทั้งกลุ่มโปและสะกอแถบจังหวัดภาคเหนือ มักสวมกางเกงสีดำและสีน้ำเงิน หรือกรมท่าในขณะที่แถบจังหวัดตาก และอำเภอลี้ จังหวัดลำพูนมักสวมโสร่ง ลักษณะเสื้อผู้ชายวัยหนุ่มใช้สีแดงทุกกลุ่มแต่มีลวดลายมากน้อยต่างกัน ผู้ชายสะกอวัยกลางคนถึงสูงอายุมักสวมเสื้อสีขาว ส่วนผู้ชายสูงอายุโปจะสวมใส่เสื้อสีขาวเช่นเดียวกัน แต่มีความยาวเลยลงมาคลุมเข่าเป็นเครื่องแต่งกายปกติประจำวัน การผลิตเครื่องนุ่งห่ม ชุมชนกะเหรี่ยงที่ยังคงแต่งกายตามแบบเดิมจะมีการทอผ้าขึ้นใช้เองทั้งนี้เนื่องจากรูปแบบเครื่องแต่งกายส่วนใหญ่จะใช้ผ้าหน้าแคบ ผืนยาวมาเย็บประกอบกันลักษณะผ้าดังกล่าวหาซื้อไม่ได้ในตลาดทั่วไป ทำให้กะเหรี่ยงยังคงรักษาภูมิปัญญาในการทอผ้าและสืบทอดสู่ลูกหลานมาจนถึงปัจจุบัน สำหรับการแต่งกายแบ่งออกดังนี้ 1. การแต่งกายเด็กและหญิงสาวที่ยังไม่มีครอบครัว จะสวมใส่ชุดทรงกระสอบ ผ้าฝ้ายพื้นขาว ทอ ปักประดับลวดลายให้งดงาม 2. การแต่งกายของผู้ชายยังไม่แต่งงานจะสวมกางเกงขายาวแบบจีน สีดำ หรือขาว สวมเสื้อสีแดงยกดอกเป็นหมู่ แขนสั้น เสื้อยาวครึ่งเข่า บางคนสวมเสื้อเชิ้ต สีขาวด้วยเสื้อชุดสีแดง บางคนสวมชุดดำ 3. หญิงที่มีครอบครัวแล้วจะสวมเสื้อสีดำ น้ำเงิน และผ้านุ่งสีแดงคนละท่อนตกแต่งด้วยลูกเดือย หรือทอยกดอกยกลาย และ ผู้ชายที่แต่งงานแล้วนั้นส่วนมากจะสวมเสื้อตัวยาวถึงสะโพก ตัวเสื้อจะมีการตกแต่งด้วยแถบสีนุ่งกางเกงสะดอ นิยมใช้สร้อยลูกปัดเป็นเครื่องประดับ และสวมกำไลเงินหรือตุ้มหู
ภาพที่ 11 การแต่งกายเด็กและหญิงสาวที่ยังไม่มีครอบครัว
ภาพที่ 12 การแต่งกายของผู้ชายยังไม่แต่งงาน
ภาพที่ 13 การแต่งกายผู้หญิงและผู้ชายที่แต่งงานแล้ว
ที่อยู่อาศัย/ความเป็นอยู่
ที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ หรือชนเผ่ากะเหรี่ยงจะสร้างบ้านใต้ถุนสูงแบบต่าง ๆ แบบมีชานบ้าน บางส่วนก็ตั้งบ้านเรือนบนที่ราบเช่นเดียวกับชาวพื้นราบทั่วไปโดยชาวกะเหรี่ยงจะตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งถาวร ไม่ย้ายถิ่นบ่อยๆ พื้นและฝาฟากหลังคามุงจากหรือตองตึง ใต้ถุนนั้นเป็นที่นั่งเล่นและทำกิจวัตรเช่น ตำข้าว ผ่าฟืน เลื่อยไม้ ในเวลากลางวัน กลางคืนก็จะต้อน หมู ไก่ และวัว ควายเข้าล้อมไว้ที่ใต้ถุนนี้ พ่อบ้านที่ดีก็มักจะผูกชิงช้าไว้ใต้ถุนให้ลูกเล่น บ้านชนปกาเกอะญอแท้มีห้องเดียว สมาชิกของครอบครัวปูเสื่อนอนกันรอบเตาผิง ซึ่งอยู่กลางห้อง อาจมีการกั้นบังตาเป็นสัดส่วนให้ลูกสาววัยกำดัดอยู่รวมกันมุมหนึ่งของห้อง ยุ้งฉางเก็บข้าวเปลือกและพืชผลสร้างต่างหากจากตัวบ้านแต่จะต้องอยู่ต่ำกว่าตัวบ้านแต่จะต้องไม่อยู่หน้าหรือหลังบ้าน หากอยู่เยื้องกันและหากบ้านอยู่บนไหล่เขา ยุ้งฉางก็จะต้องอยู่ต่ำกว่าตัวบ้าน ถ้าสร้างผิดไปจากธรรมเนียมที่ว่านี้เชื่อว่าจะทำให้เกิดการเจ็บป่วยขึ้นในครอบครัวได้ การสร้างบ้านเรือนมีธรรมเนียมอยู่ว่าญาติข้างมารดาจะอยู่รวมกลุ่มกัน ไม่ควรมีคนอื่นมาสร้างบ้านแทรกกลางบ้านให้ผีบ้านผีเรือนขัดใจ จะต้องไม่สร้างบ้านสามหลังในลักษณะสามเส้า หากฝ่าฝืนข้อห้ามนี้ก็จะมีเหตุเพทภัยอัปมงคลต่าง ๆ เกิดขึ้น แต่ละบ้านไม่จำเป็นต้องมีครกตำข้าวของตนเองอาจใช้รวมกันหลาย ๆ ครอบครัวได้ และเป็นชุมชนอีกแห่งหนึ่ง
ภาพที่ 14 บ้านจำลองชนเผ่าปกาเกอะญอ
ภาพที่ 15 บ้านของชนเผ่าปกาเกอะญอ (บ้านกะเหรี่ยงน้ำตก)
ประเพณี
ความเชื่อ
เดิมชาวกะเหรี่ยงนับถือผี มีการบวงสรวงและเซ่นสังเวยอย่างเคร่งครัด ภายหลังหันมานับถือศาสนาพุทธ และศาสนาคริสต์มากขึ้น แต่ก็ยังคงความเชื่อเดิมอยู่ไม่น้อย เช่น ความเชื่อเรื่องขวัญหรือการทำกิจกรรมต่างๆ จะต้องมีการเซ่นเจ้าที่เจ้าทาง และบอกกล่าวบรรพชนให้อุดหนุนค้ำจูน ช่วยให้กิจการงานนั้นๆ เจริญก้าวหน้า ทำเกษตรกรรมได้ผลผลิตดี ให้อยู่เย็นเป็นสุข ปกป้องคุ้มครองดูแล และยังเป็นการขอขมาอีกด้วย และยังมีการไหว้ดอกไม้บนหัวนอนเฉพาะคนที่แต่งงานแล้วเท่านั้น ปีละ 1-2 ครั้ง
ศาสนา
นับถือศาสนาพุทธ
ประเพณีอื่น ๆ
กี่บะหน่าจึ (ปวาเกอญอ) หรือ พิธีทำขวัญให้ควาย (ปัจจุบันไม่มีแล้ว) พิธีกรรมนี้ทำเฉพาะครอบครัวที่มีควายเท่านั้น และทำกันปีละครั้งเมื่อเสร็จจากฤดูไถหว่านของแต่ละปี ส่วนใหญ่วันที่ประกอบพิธีกรรมจะทำในวันพฤหัสบดี แต่ต้องทำก่อนที่จะหมดฤดูฝนในปีนั้น ๆ ครอบครัวที่มีควายจะนัดหมายให้ลูกของตัวเองกลับมา แม้ว่าจะไปทำงานหรือเรียน ก็ต้องกลับมาทำพิธีนี้ แต่ถ้าหากว่าคนอื่นที่ไม่ได้รับคัดเลือกไปทำพิธี มีความเชื่อว่าจะทำให้ควายสุขภาพไม่ดี ตาบอด ไม่มีลูก เป็นโรค ล้มตายไป สำหรับคนที่จะทำพิธีนั้นจะต้องผ่านการคัดเลือก โดยคนที่มีความรู้ในการทำนาย ซึ่งการทำนายนี้มักจะใช้ข้าวสาร ใบไม้ ไข่ กระดูกไก่หรือบางทีก็ดูลายมือ หลังจากที่ได้ทราบผลการทำนายซึ่งผู้ที่ได้รับการคัดเลือกนั้น อาจเป็นเพศชายหรือหญิงก็ได้ โดยความเชื่อในเรื่องการทำขวัญให้ควายนั้น ชาวกะเหรี่ยงเชื่อว่า เพราะควายเป็นสัตว์ที่มีพระคุณและผูกพันธ์กันมานาน การทำขวัญให้ควายเป็นการแสดงความเคารพ ขอบคุณ ขออโหสิกรรม ตลอดจนถึงการอวยพรให้ควายมีสุขภาพแข็งแรง มีลูกดก ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมาเยือน การทำพิธีกรรม เริ่มจากเตรียมเครื่องเซ่นให้พร้อม สำหรับไก่ 1 คู่ (ต้องฆ่าและต้มมาเรียบร้อยแล้ว) หลังจากนั้นผู้ประกอบพิธีกรรมก็จะถือเครื่องเซ่น ไปยังคอกที่มัดควายไว้ จากนั้นก็เอาวงฝ้ายที่เตรียมไว้เท่าจำนวนควายของตัวเองที่มีอยู่ไปกล้องที่เขาควายทั้งสองข้างของแต่ละตัว จนครบทุกตัว ถัดจากนั้นมาก็เอาเทียนไปสอดติดกับเขาควายที่เอาฝ้ายคล้องไว้ก่อนแล้ว หลังจากนั้นก็โปรยข้าวสาร และประพรมน้ำขมิ้นส้มป่อย ระหว่างที่พรมน้ำขมิ้นส้มป่อย ผู้เป็นพ่อจะสวดตามให้ด้วย ขั้นตอนสุดท้ายคือรินเหล้าให้ควาย อาจเทราดบนหัวควายก็ได้ เป็นอันเสร็จพิธี สำหรับไก่ที่นำมาประกอบพิธีกรรมนั้น ก็เอาไปทำกินในครอบครัว และเชิญญาติพี่น้องหรือเพื่อนบ้านที่สนิทกันมาร่วมรับประทานอาหารร่วมกัน "ถางซีไกงย" หรือ พิธีขับไล่สิ่งชั่วร้ายโรคภัยไข้เจ็บออกจากหมู่บ้าน พิธีกรรมและความเชื่อของกระเหรี่ยงมีอยู่หลายพิธี แต่พิธีกรรมที่ทำสำหรับชาวบ้านทั้งหมู้บ้านก็เห็นจะมีอยู่พิธีเดียวคือพิธี “ถางซีไกงย” ซึ่งมีที่มาจากความเชื่อว่า หากชาวบ้านเจ็บป่วยพร้อมกันหลายๆ คน โดยไม่รู้สาเหตุของอาการป่วยนั้น และหรือความเชื่อที่ว่ามีสิ่งอัปมงคลเข้ามาในหมู่บ้าน ยกตัวอย่างเช่น หากไก่ป่าบินเข้ามาในหมู่บ้านก็จะเชื่อว่าเป็นลางไม่ดี ผู้นำและผู้อาวุโสของหมู่บ้านก็จักปรึกษากันเพื่อหาวิธีรักษาและป้องกัน เมื่อหารือจนได้ข้อสรุปแล้ว จึงกำหนดวันเพื่อทำพิธี ซึ่งกำหนดให้เป็นวันอังคารของเดือนไหนก็ได้ในปีที่เห็นว่ามีคนในหมู่บ้านเจ็บป่วยพร้อมกันมากจนผิดสังเกตุ การทำพิธีกรรมนี้ ต้องทำวันอังคารเท่านั้นเพราะเชื่อว่าเป็นวันแรง การทำพิธีกรรม เริ่มจากชาวบ้านจะช่วยกันสานตะแกรงขึ้นมา 4 ใบ ที่บ้านของผู้นำประกอบพิธีกรรม เมื่อสานตะแกรงเสร็จแล้ว ชาวบ้านจะนำไปแขวนไว้กลางลานบ้านผู้นำในลักษณะเรียงต่อกัน หลังจากนั้นชาวบ้านจะนำเครื่องประกอบพิธีกรรมห่อไว้ในใบสัก แล้วนำไปวางบนตะแกรงทั้งสี่ใบนั้น เมื่อถึงเวลา ซึ่งตามประเพณีแล้วจะกำหนดเวลาให้เป็นช่วงเย็นของวัน เมื่อถึงเวลา ผู้นำและผู้อาวุโสของหมู่บ้านจะเริ่มสวดขับไล่สิ่งชั่วร้าย โรคภัยไข้เจ็บ สิ่งอัปมงคลต่าง ๆให้ออกไปจากหมู่บ้าน เมื่อสวดเสร็จแล้วผู้นำและผู้อาวุโสที่สวดจะถ่มน้ำลายลงในตะแกรงทั้งสี่ใบ หลังจากนั้นลูกบ้านคนอื่น ๆ ทั้งหมู่บ้านก็จะทยอยกันมาถ่มน้ำลายลงบนตะแกรงทั้งสี่จนครบทุกคน ส่วนผู้ที่ไม่ได้มาร่วมพิธีกรรม ก็จะบ้วนน้ำลายลงบนสำลี แล้วฝากให้คนในครอบครัวที่สามารถ ไปร่วมพิธีได้นำไปทิ้งบนตะแกรงทั้งสี่ เมื่อลูกบ้านร่วมพิธีเสร็จทุกคนแล้ว ก็จะมีตัวแทนของคนในหมู่บ้านช่วยกันหามตะแกรงทั้งสี่ใบนั้นไปทิ้งไว้ที่ทิศทั้งสี่ของหมู่บ้าน ระหว่างที่นำตะแกรงออกไป ผู้นำและผู้อาวุโสจะใช้ขี้เถ้าโปรยตามหลังตัวแทนก่อนที่จะออกจากบริเวณพิธี ด้วยเชื่อว่าขี้เถ้านั้นจะบังสิ่งชั่วร้าย อัปมงคลต่าง ๆ ไม่ให้ย่างกรายเข้าในหมู่บ้านอีกต่อไป นี่ซอโค่ หรือ พิธีขึ้นปีใหม่ วันขึ้นปีใหม่ ภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า นี่ซอโค่ เป็นประเพณีที่จัดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมของทุกปี ซึ่งจะตรงกับช่วงหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว วันขึ้นปีใหม่จะจัดปีละครั้งเท่านั้น เป็นวันที่สำคัญวันหนึ่งของชาวกะเหรี่ยง เพราะเหล่าญาติพี่น้องที่ได้แต่งงาน หรือจากบ้านไปทำงานที่อื่น จะกลับมาร่วมงานปีใหม่กันอย่างถ้วนหน้า การทำพิธีกรรม เริ่มจากจัดเตรียมขนมหลายชนิด เช่น ข้าวเหนียวต้ม ข้าวปุ๊ก ข้าวหลาม เพื่อวันรุ่งขึ้นจะถวายแด่เทพเจ้า เตรียมเหล้า สำหรับประกอบพิธีและดื่มร่วมกัน ตกกลางคืนของก่อนวันขึ้นปีใหม่ ผู้นำศาสนาที่ชาวกะเหรี่ยงเรียกว่า "ฮี่โข่" จะทำการเรียกเหล่าชาวบ้านมาชุมนุม ในแต่ละบ้านจะส่งตัวแทนบ้านละหนึ่งคน คือ หัวหน้าครอบครัว (ต้องเป็นผู้ชาย) ตอนไปชุมนุมจะต้องเตรียมเหล้า บ้านละหนึ่งขวดไปยังบ้านของผู้นำศาสนา (ฮี่โข่) ด้วย เมื่อมาพร้อมกันทั้งคน และเหล้าแล้ว ฮี่โข่จะเริ่มทำพิธีกรรมพิธีกรรมนี้ชาวกะเหรี่ยงเรียกว่า พิธีกินหัวเหล้า (เอาะซิโค) โดยตอนแรกจะนำขวดเหล้ามารวมกัน โดยฮี่โข่จะทำการอธิษฐาน จากนั้นจะรินเหล้าลงในแก้ว แล้วให้คนที่มาร่วมพิธีดื่ม วิธีการดื่มคือ เอาขวดแรกของคนที่มาถึงก่อน ฮีโข่จะเอามาเทลงแก้ว แล้วฮี่โข่จะจิบเป็นคนแรก จากนั้นก็ให้คนต่อไปจิบต่อ จิบเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนครบทุกคนที่มาร่วมงาน แล้ววนกลับมาถึงคิวฮี่โข่ ฮี่โข่จะทำการเททิ้งพร้อมอธิษฐานให้พร แด่เจ้าบ้านและครอบครัวของเจ้าของเหล้าขวดที่ได้เทไปแล้ว จะทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนครบทุกขวดของทุกบ้านที่มาร่วมงาน บางครั้งบางทีหมู่บ้านไหนที่มีหลังคาเรือนเยอะอาจทำถึงเช้าเลยก็ว่าได้ เช้าวันขึ้นปีใหม่ ชาวกะเหรี่ยงจะตื่นแต่เช้าแล้วมาฆ่าหมู ฆ่าไก่ เพื่อจะนำมาประกอบพิธีในวันรุ่งเช้า โดยเริ่มจากการนำไก่ที่ฆ่าแล้ว พร้อมเหล้าหนึ่งขวดมาตั้งที่ขันโตก เพื่อจะประกอบพิธีมัดข้อมือ หรือเรียกขวัญของลูกหลานในแต่ละบ้าน โดยผู้เฒ่าผู้แก่ในครอบครัวจะเป็นผู้ประกอบพิธีนี้ เวลานี้สมาชิกทุกคนในครอบครัวจะอยู่กันครบหน้า (คล้ายๆ กับการรดน้ำดำหัว) ผู้เฒ่าผู้แก่เริ่มมัดข้อมือลูกหลาน โดยจะนำไม้มาเคาะที่ขันโตก เพราะเชื่อว่า เป็นการเรียกขวัญของลูกหลานให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว จากนั้นก็มัดข้อมือพร้อมอธิษฐานให้พร ในคำอธิษฐานนั้น จะกล่าวให้ทุกคนในครอบครัวอยู่ดีมีสุข หลุดพ้นจากสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง หลังจากมัดข้อมือเสร็จแล้วจะรับประทานอาหารร่วมกัน พอรับประทานอาหารเสร็จ ก็จะออกตระเวนไปตามบ้านของแต่ละบ้านแต่ละครอบครัว เพื่อกินสังสรรค์กัน พร้อมรินเหล้าเพื่ออธิษฐาน และอวยพรให้ซึ่งกันและกัน จากนั้นจะเดินทางไปกินเหล้าทุก ๆ บ้านในหมู่บ้าน และอวยพรให้ทุกบ้านมีแต่ความสุขไปด้วย พิธีขึ้นปีใหม่ของชาวกะเหรี่ยงนั้นจะมีวันที่สำคัญที่สุด คือ วันแรก ส่วนวันอื่น ๆ แล้วแต่ว่าอยากกินถึงวันไหน ซึ่งแล้วแต่แต่ละหมู่บ้านที่ได้จัดขึ้น หลังจากพิธีขึ้นปีใหม่ “นี่ซอโค่” เรียบร้อยแล้วก็เป็นช่วงเวลาที่จะ ต้องเริ่มต้นวิถีการทำมาหากินของปีถัดไป ที่กล่าวมาทั้งหมดคือกะเหรี่ยงพุทธ หรือ "เอาะ แค" นอกจากนี้ยังมีกะเหรี่ยงอีกกลุ่ม คือ กะเหรี่ยงคริสต์ กะเหรี่ยงคริสต์จะมีพิธีกรรมที่คล้ายๆ กัน แต่จะทำในแบบ ศาสนาของตนเอง คือเข้าโบสถ์ อธิษฐานเสร็จ จะทานเข้าร่วมกัน จากนั้นจะมีการประมูลราคาข้าวของของแต่ละบ้านที่นำมาประมูลร่วมกัน หลังจากประมูลราคาสิ่งของเสร็จ ก็จะมีการจัดกลุ่มแข่งกีฬาพื้นบ้านชนิดต่าง ๆ ตกเย็นมีการแสดงละครสร้างความบรรเทิง จะไม่มีการกินเหล้า หรือเมามายในวันนี้ จากนั้นก็จะแยกย้ายกันกลับบ้านของตนเอง ในช่วงนี้จะมีการอธิษฐานทุกคืนจนครบ 7 คืน จึงจะถือว่าสิ้นสุดพิธีขึ้นปีใหม่ วันอีสเตอร์ วันอิสเตอร์เป็นวันที่พระเจ้าทรงเป็นขึ้นมาจากความตาย ซึ่งมีหลักการนับวัน และเวลาอยู่ในช่วงวันอาทิตย์ หลังพระจันทร์เต็มดวงของวันที่ 21 เดือนมีนาคมของทุก ๆ ปี ตามหลักที่พระคัมภีร์ที่ได้บัญญัติไว้ จึงทำให้เกิดความเชื่อในเรื่องวันอิสเตอร์ เชื่อกันว่าพระเยซู์ยอมให้ทหารโรมันแห่งชนชาติอิสราเอลตรึงพระองค์บนไม้กางเขน เพื่อถ่ายบาปให้กับมนุษย์โลก หลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์ลงพระศพของพระองค์ถูกเคลื่อนย้ายเก็บไว้ในอุโมงค์ ก่อนที่จะนำไปฝัง หลังพระองค์สิ้นพระชนม์ได้สามวันพระองค์ได้ฟื้นคืนชีพในเช้ามืดของวันอาทิตย์
เหตุผลเชื่อกันว่าช่วงเวลาที่ศพของพระองค์ได้ถูกเก็บไว้ในอุโมงค์ มารีย์ หญิงชาวมักดาลา และสะโลเมเป็นสาวกของพระเยซู หญิงเหล่านี้จะตื่นแต่เช้ามืด เพื่อที่จะนำน้ำมันหอมมารินลงบนพระศพของพระองค์ เป็นการช่วยรักษาศพให้คงสภาพไม่เน่าเปื่อย ฉะนั้น เมื่อถึงวันอิสเตอร์คนปกากะญอจะตื่นแต่เช้ามืด เพื่อที่จะไปยังสุสานของแต่ละครอบครัว จะนำดอกที่เตรียมไว้นำไปเคารพศพของบรรพชนของตนเอง เมื่อทุกคนทำธุระของตัวเองเสร็จ ทุกคนในหมู่บ้านมาครบ อาจารย์ศาสนาจะเป็นผู้เริมกล่าวเปิด และประกอบพิธีกรรมทางศาสนา(มูลนิธิกระจกเงา, 2562,ออนไลน์)
กิจกรรมควานหาไข่ เป็นกิจกรรมที่เพลิดเพลิน เด็ก ๆ จะชอบเป็นพิเศษ เป็นกิจกรรมที่น่ารักอบอุ่น จะเห็นความพยายามของทุกคนที่ตั้งใจที่หาไข่ที่ซ่อนไว้ตามจุดต่าง ๆ บริเวณสุสานกิจกรรมนี้มีมาช้านานเป็นกิจกรรมที่สนุก และแฝงไปด้วยคติสอนใจ ความหมาย และที่มาที่ไปเล่ากันว่ามีแกะอยู่หนึ่งร้อยตัว แล้ววันหนึ่งมีแกะที่หลงหายไปหนึ่งตัว ซึ่งเป็นตัวที่เกเร และเจ้าของรักมากจึงออกตามหาจนเจอ เมื่อเจอจึงเกิดความชื่นชมยินดี ฉะนั้นการหาไข่ จึงเปรียบเสมือนการหาแกะที่หลงหายไปหนึ่งตัวนั้นเอง ซึ่งเป็นตำนานที่บรรพบุรุษชาวปากากะญอที่นับถือศาสนาคริสต์ ได้สืบทอดเป็นตำนานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ที่บัญญัติลงไว้ในพระคัมภีร์เพื่อเป็นสื่ออันสำคัญให้ลูกหลาน ได้ศึกษา และได้ปฏิบัติตาม ณ.เวลานี้เป็นระยะเวลากว่าร้อยกว่าปีที่มีการปฏิบัติกันมา และคาดหวังว่าจะมีสืบทอดกันไปในเจตนารมณ์ที่ดีงามตลอดไป(มูลนิธิกระจกเงา, 2562,ออนไลน์). วันพระ ทำบายศรีทุกวันพระในช่วงเข้าพรรษา หรือวันพระ ขึ้น 15 ค่ำ แรม 15 ค่ำ ขึ้น 8 ค่ำ แรม 8 ค่ำ (พะซะนุย คามภูผา, 2562, สัมภาษณ์)
ภาพที่ 17 ชาวบ้านชนเผ่าเตรียมทำบายศรีไปวัด ที่มา : ชาวบ้านกะเหรี่ยงน้ำตก ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร
ภาพที่ 17 เตรียมบายศรีไปวัด ที่มา : ชาวบ้านกะเหรี่ยงน้ำตก ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร 1.3.4. ศิลปะการแสดง เล่นเครื่องดนตรีเตหน่า ซึ่งเครื่องดนตรีของชนเผ่ากะเหรี่ยง ทำด้วยไม้อ่อน เหลาและกลึงให้เป็นรูปเหมือนกล่องรูปทรงรี มีก้านยาวโก่งและโค้งสูงขึ้นไป ที่ตัวจะเจาะรูเป็นโพรงปิดด้วยโลหะบาง ๆ สายทำด้วยเส้นลวดมีสายตั้งแต่ 6-9 สาย ทำจากโลหะ ยึดติดกับลูกบิดพาดจากคอพิณมาถึงลำตัว มีความสั้น-ยาวไม่เท่ากัน จึงทำให้เกิดระดับเสียงที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่จะดีดด้วยนิ้ว ตัวพิณเป็นกล่องด้านในกลวงเป็นกระพุ้งเสียง เตหน่าใช้สำหรับดีดและร้องเพลงประกอบ ใช้ในโอกาสมีเวลาว่างและเพื่อความสนุกสนาน โดยเฉพาะหนุ่มๆไว้เกี้ยวพาราสีหญิงสาวในยามค่ำคืน และการแสดงรำกระด้ง
ภาพที่ 18 คุณลุงพะซะนุยได้แสดงการเล่นดนตรีให้ฟัง ที่มา : ชาวบ้านกะเหรี่ยงน้ำตก ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร 1.4. ข้อมูลอื่น ๆ 1.4.1. สถานการณ์ปัจจุบันของชาติพันธุ์ ปัจจุบันชนเผ่าหมู่ ๑๘ บ้านกะเหรี่ยงน้ำตก ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร มีจำนวนประมาณ ๑๐๐ หลังคาเรือน อาชีพหลัก คือ ทำไร่มันสำปะหลังและหาของป่าขาย 1.4.2. ข้อมูลอื่น ๆ
ภาพที่ 19 เครื่องดนตรี (ฉาบ หรือ เฉ่ง) ที่มา : ศูนย์วัฒนธรรมชาวเขาจังหวัดกำแพงเพชร อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร
ภาพที่ 20 มีดปลายแหลม หรือ แขกกุ๊จู ที่มา : ศูนย์วัฒนธรรมชาวเขาจังหวัดกำแพงเพชร อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร
ภาพที่ 21 กลองยาวกะเหรี่ยง ที่มา : ศูนย์วัฒนธรรมชาวเขาจังหวัดกำแพงเพชร อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร
ภาพที่ 22 ฆ้อนไม้ หรือ เจาะเปาะ ที่มา : ศูนย์วัฒนธรรมชาวเขาจังหวัดกำแพงเพชร อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร 1.5. ข้อมูลการสำรวจ 1.5.1. แหล่งอ้างอิง นาย พะซะนุย คามภูผา (ผู้ให้สัมภาษณ์). ชาวบ้านหมู่ ๑๘ บ้านกะเหรี่ยงน้ำตก ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร
1.5.2. วันเดือนปีที่สำรวจ วันที่ 27 กันยายน 2562 1.5.3. วันปรับปรุงข้อมูล วันที่ 4 ตุลาคม 2562 วันที่ 10 ตุลาคม 2562 วันที่ 14 ตุลาคม 2562 1.5.4. ผู้สำรวจข้อมูล อ.วิษณุเดช นันไชยแก้ว นางสาวพรรณราย สีเพ่ง นักศึกษาโปรแกรมนิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร 1.5.5. คำสำคัญ (tag) - กลุ่มชาติพันธุ์ - กะเหรี่ยง - ปะกาเกอะญอ - หมู่บ้านกะเหรี่ยงน้ำตกคลองลาน