ฐานข้อมูล เรื่อง แกงเขียวหวานกล้วยไข่กำแพงเพชร
รุ่นแก้ไขเมื่อ 10:55, 28 มีนาคม 2567 โดย Admin (คุย | มีส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย "=='''ข้อมูลทั่วไป'''== ==='''ชื่อภูมิปัญญา'''=== แกงเขียวหวานกล...")
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อภูมิปัญญา
แกงเขียวหวานกล้วยไข่กำแพงเพชร
ชื่อเรียกอื่น ๆ
กล้วยไข่แกงเขียวหวานไก่
ความเป็นมาของภูมิปัญญา
ประวัติแกงเขียวหวาน ผู้รู้ในด้านวัฒนธรรมอาหารไทยหลายท่านได้เขียนถึงความเป็นมาของแกงไทยไว้ในหลายทัศนะ บ้างว่า แกงไทยนั้นเป็นของไทยแท้ๆ ที่บรรพบุรุษของเราคิดสร้างสรรค์ขึ้น แต่ทัศนะที่ได้รับการยอมรับเป็นส่วนใหญ่ชี้ว่าแกงไทยได้อิทธิพลมาจากแกงของอินเดีย แต่ความเห็นเช่นนี้ก็เป็นดั่งกำปั้นทุบดิน เพราะอินเดียเป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ ซึ่งรู้กันอยู่แล้วว่ามีอิทธิพลต่อการพัฒนาประเพณีและวัฒนธรรมของชนชาติต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ทั้งนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องรับจากอินเดียโดยตรงเสมอไป หากดูหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็ไม่พบว่าอินเดียมีความสัมพันธ์กับไทยโดยตรงแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมโดยรวมหรือวัฒนธรรมเฉพาะด้านอย่างวัฒนธรรมอาหาร หากพิเคราะห์ลงไปให้ลึกซึ้ง ความเป็นมาของแกงไทยอาจไม่สามารถสรุปลงไปอย่างง่าย ๆ ว่ามาจากอินเดีย จะรู้ว่าแกงอินเดียและแกงไทยนั้นมีเสน่ห์แตกต่างกันอย่างชัดเจน แกงอินเดียโดดเด่นที่กลิ่นหอมหนัก ๆ ของการผสมเครื่องเทศอย่างกลมกลืน เช่น พริกแห้ง กระวาน กานพลู ลูกผักชี ใบมัสตาร์ด อบเชย ขมิ้น ลูกจันทน์ เป็นต้น ความข้นมันในแกงอินเดียนั้นได้มาจากน้ำมันหรือโยเกิร์ต แถมชาวอินเดียยังนิยมกินแกงกับโรตีหรือนานมากกว่าข้าว ในขณะที่แกงไทยมีเอกลักษณ์ที่กลิ่นสมุนไพรสด มีกลิ่นหอมเบา ๆ น้ำแกงมีทั้งน้ำใสและน้ำข้นหวานมันจากกะทิ ส่วนประกอบส่วนใหญ่ของเครื่องแกงเป็นสมุนไพรและเครื่องปรุงสด อย่างตะไคร้ ข่า หอมแดง กะปิ กระเทียม ทำให้พริกแกงบ้านเรามีลักษณะเปียก แกงมีกลิ่นรสที่แตกต่างออกไป และที่สำคัญเรานิยมกินแกงกับข้าวไม่ใช่โรตี (ศศิกานต์ เพิ่มสุขทวี, ม.ป.ป.) โดยสรุปได้ว่า แกงไทยมีต้นกำเนิดมาจากอดีตกาล โดยได้รับอิทธิผลบางส่วนมาจากอินเดีย แกงของไทยนั้นจะมีรสชาติที่เข้มข้นกว่าอินเดีย รวมไปถึงปริมาณวัตถุดิบที่ใช้วิธีการปรุงแกงนั้นก็มีความแตกต่างกัน ทำให้แกงไทยมีรสชาติที่โดดเด่นเฉพาะตัวโดยมีการดัดแปลงแกงของอินเดียมาเป็นแกงแดงในประเทศไทยที่มีรสชาติที่จัดจ้านเพื่อให้แกงมีรสชาติที่ถูกปากคนไทย
ภาพที่ 1 แกงแดง
(KANGTUNG, 2555)