ฐานข้อมูล เรื่อง เพลงกล่อมเด็กนครไตรตรึงษ์

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อวรรณกรรม/บทเพลง/บทกวี

         เพลงกล่อมเด็กนครไตรตรึงษ์

ผู้แต่ง

         ไม่ปรากฏหลักฐานผู้แต่ง แต่จากการศึกษาขึ้นอยู่กับการบอกเล่าของแต่ละเพลงที่บอกเล่ากันมาผ่านทางมุขปาฐะ

สถานที่ค้นพบวรรณกรรม/บทเพลง/บทกวี

         เพลงกล่อมเด็กตำบลไตรตรึงษ์ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร สามารถรวบรวมเพลงกล่อมเด็กจากหมู่ที่ 4 บ้านวังพระธาตุ และหมู่ที่ 7 บ้านไตรตรึงษ์ รวมทั้งสิ้น 28 เพลง จากการศึกษาเพลงกล่อมเด็กตำบลไตรตรึงษ์ พบว่า มีลักษณะใกล้เคียงกับเพลงกล่อมเด็กของภาคกลางมากที่สุด ทั้ง ในด้านรูปแบบ เนื้อหา และภาษา จะมีลักษณะเนื้อหาของเพลงกล่อมเด็กภาคกลางโดยทั่วไปมีเนื้อร้องคล้ายบทร้อยกรองแต่ในวรรคแรกมักกล่าวถึง สิ่งที่นำมาขับกล่อม และ ลงท้ายด้วยคำว่า “เอย”  “เจ้านกเขาเอย”  “เจ้านกเอี้ยงเอย”  “เจ้ากาละเกดเอย” ฯลฯ แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านไตรตรึงษ์มีวัฒนธรรมร่วมกับคนภาคกลางมากกว่าภาคอื่น ๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรมเช่น เรื่องภาษา อาหารการกิน การแต่งกาย วิถีชีวิต สภาพสังคม ตลอดจนความคิดความเชื่อ เป็นต้น

ความเป็นมา

         เพลงกล่อมเด็กเป็นบทเพลงที่จัดอยู่ในเพลงพื้นบ้านโดยมีจุดประสงค์ใช้ร้องกล่อมเด็กหรือปลอบเด็กเพื่อให้เด็กนอนหลับ การร้องเพลงกล่อมเด็กมักสืบทอดกันมาด้วยวิธีการจดจำจากรุ่นสู่รุ่น เป็นส่วนหนึ่งของวรรณกรรมมุขปาฐะ โดยใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดที่สำคัญ ส่วนเนื้อหาและท่วงทำนองจะแตกต่างกันตามลักษณะท้องถิ่นนั้นๆ เช่น เพลงกล่อมเด็กในภาคเหนือเรียก “เพลงอื่อลูก” ภาคอีสานเรียก “เพลงนอนสาหล่า” “เพลงนอนสาเดอ” ภาคกลางเรียก “เพลงกล่อมเด็ก” “เพลงกล่อมลูก” ภาคใต้เรียก “เพลงชาน้อง” “เพลงร้องเรือ” เป็นต้น เรื่องราวเฉพาะเกี่ยวกับเพลงกล่อมเด็กของตำบลไตรตรึงษ์ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร พบว่ามีมาดั้งเดิมแต่ครั้งอดีตโดยผูกพันกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนมาช้านาน โดยเพลงที่ร้องกล่อมนั้นสามารถสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกของคนไทยในแถบภาคกลางสะท้อนความเป็นอยู่ ความเชื่อ วิธีคิดตลอดจนโลกทัศน์ของชาวบ้านไตรตรึงษ์ได้เป็นอย่างดี บทเพลงกล่อมเด็กเป็นเพลงที่ใช้คำง่าย ๆ ไพเราะ ใช้ภาษาในท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ มีเนื้อหาแสดงความรักและความผูกพันของแม่กับลูก สะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ทางวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกของคนไทยที่ให้เด็กนอนเปลสาย โดยแม่หรือคนในครอบครัวขับร้องเพลงกล่อมมีทั้ง ขู่ทั้ง ปลอบ และร้องเล่านิทาน เพื่อให้เด็กเพลิดเพลินนอนหลับได้เร็วขึ้น บทเพลงที่ร้องนั้นช่วยกระตุ้นพัฒนาการและช่วยอบรมกล่อมเกลาเด็กมาแต่เยาว์วัย และสามารถช่วยให้เกิดความรักความผูกพันระหว่างแม่กับลูกได้เป็นอย่างดี อีกประการหนึ่งจะเห็นว่าในการดำเนินชีวิตประจำวันหรือกิจกรรมต่างๆ ของสังคมไทยตั้งแต่เกิดจนตายมักจะเกี่ยวข้องกับบทร้องที่เป็นกาพย์กลอนอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเพลงกล่อมเด็ก เพลงการละเล่นของเด็ก เพลงทำขวัญนาค และเพลงกล่อมหอ เป็นต้น (สุวรรณี ทองรอด, 2551, หน้า 5)

ฉันทลักษณ์

         ตัวอย่างเพลงกล่อมเด็กทั้ง 28 เพลง (สุวรรณี  ทองรอด, 2551)

1. เพลงลิ้นทอง

เอ.. เฮ.. เฮย แม่จะกล่าวถึงเรื่องราวลิ้น ทองเอย
ชายมีเมียสอง รักเมียเอย ไม่เท่ากัน
เมียหลวงจะตีด้วยท่อนอ้อย.. เอย
เมียน้อยจะตีด้วยท่อนจันทร์.. เอย
รักเมียไม่เท่ากัน .. เอย
บาปนั้น เอย.. มาถึงตัว

2. เพลงนางประทุม

แม่จะขอกล่าวเรื่องราวเอย.. นางประทุมรูปสวยรวยละลุ่มเอย..
เจ้าเกิดในพุ่มบุษบา ฤๅษีเลี้ยงไว้เติบใหญ่ขึ้นมา
ฤๅษีไปป่านางก็ร้อยพวงมาลัย ลอยแก้ว..ลอยแก้ว..
นางแก้วก็พิษฐานไปเนื้อคู่อยู่ที่ไหน ให้พวงมาลัยสวมคอ..เอย
ให้มาร่วมฟูกร่วมหมอน มาร่วมที่นอนกับนาง

3. เพลงนางชะนี

         โอ้ชะนีมือเหนียวเอย ..มือเหนี่ยวกิ่งพฤกษา     พบเพื่อนแล้วก็พากันมากินผล.. เอ่ย
 บ้างก็ห้อยโหนโยนราวแสวงหาลูกไม้ 	              ฤาเอามาต้องกินลูกไม้ป่าเอย
 ไม่ได้ทำไร่ทำนาก็เป็นเหมือนคน 	                      บ้างก็ขึ้นต้นไทรไกวตัวเอิง..เอย
 ร้องเรียกหาผัวอยู่อลวน ฮือ 	                              มุนีฤาษีท่านประทาน อือ เอย
 ให้เยาวมาลย์มากับผัวตน 	                              นางได้มากับผัว... เอิงเอย
 นางมาคิดชั่วชาติที่แสนกล 	                              คิดฆ่าผัวตัวเสียเอิงเอย
 หล่อนจะยอมเป็นเมียพวกโจร 	                      พอผัวสิ้นชีวิต คิดแล้วทางนี้เอย
 ไอ้โจรมันก็หนีทิ้งไปกลางหน 	                       เลยเขาสาปตัวแม่นางโมรา
 เศร้าโศกาอยู่กระสับกระสน 	                               เห็นพระอาทิตย์ระบายสี...เอย
 สำคัญว่าเลือดสามี 	                                       นางก็รํ่าบ่นตัวของแม่ชะนีเอย
 ว่าเดิมทีเอ๋ยเป็นคน
4. เพลงวัดโบสถ์ (1)
         เอ เฮ้ย ฮา วัดเอ๋ยวัดโบสถ์..เอย          มีต้นโตนดอยู่เจ็ดต้น ฮือ
 พ่อขุนทองไปปล้น..เอย 	                    ป่านฉะนี้แล้วไม่เห็นมา
 เขารํ่าลือมา..เอย 	                            ว่าขุนทองเอย..ตายแล้ว
 เหลือแต่กระดูกให้ลูกแก้ว..เอย 	             เมียรักเอยจะไปปลง ฮือ
 ศพเอ๋ยพ่อขุนทอง 	                             คดข้าวใส่ห่อ เอย ถ่อเอ๋ยเรือมา ฮือ
 ลุงอินนี้ถือถาด..เอย 	                             ยกกระบัตรเอยท่านถือธง
 ถือท้ายเรือหงส์..เอย 	                             ปลงศพเอ๋ยพ่อขุนทอง
 เรือไปล่มที่ท่าสิงห์..เอย 	                     ไปปีนขึ้นได้เอ๋ยที่ท่าทอง
 เสียข้าวเสียของ..เอย 	                             เสียเงินเสียทอง เอ๋ยก็ไม่คิด
 เสียปลาสลิด.. เอย 	                             ติดท้ายเรือไป


ประเภทคำประพันธ์

ภาพที่ 1 ร้านป้าเลี่ยมกำแพงเพชร (TH.WorldOrgs, ม.ป.ป.)