ฐานข้อมูล เรื่อง เพลงกล่อมเด็กนครไตรตรึงษ์
รุ่นแก้ไขเมื่อ 09:19, 24 มกราคม 2565 โดย Admin (คุย | มีส่วนร่วม)
เนื้อหา
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อวรรณกรรม/บทเพลง/บทกวี
เพลงกล่อมเด็กนครไตรตรึงษ์
ผู้แต่ง
ไม่ปรากฏหลักฐานผู้แต่ง แต่จากการศึกษาขึ้นอยู่กับการบอกเล่าของแต่ละเพลงที่บอกเล่ากันมาผ่านทางมุขปาฐะ
สถานที่ค้นพบวรรณกรรม/บทเพลง/บทกวี
เพลงกล่อมเด็กตำบลไตรตรึงษ์ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร สามารถรวบรวมเพลงกล่อมเด็กจากหมู่ที่ 4 บ้านวังพระธาตุ และหมู่ที่ 7 บ้านไตรตรึงษ์ รวมทั้งสิ้น 28 เพลง จากการศึกษาเพลงกล่อมเด็กตำบลไตรตรึงษ์ พบว่า มีลักษณะใกล้เคียงกับเพลงกล่อมเด็กของภาคกลางมากที่สุด ทั้ง ในด้านรูปแบบ เนื้อหา และภาษา จะมีลักษณะเนื้อหาของเพลงกล่อมเด็กภาคกลางโดยทั่วไปมีเนื้อร้องคล้ายบทร้อยกรองแต่ในวรรคแรกมักกล่าวถึง สิ่งที่นำมาขับกล่อม และ ลงท้ายด้วยคำว่า “เอย” “เจ้านกเขาเอย” “เจ้านกเอี้ยงเอย” “เจ้ากาละเกดเอย” ฯลฯ แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านไตรตรึงษ์มีวัฒนธรรมร่วมกับคนภาคกลางมากกว่าภาคอื่น ๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรมเช่น เรื่องภาษา อาหารการกิน การแต่งกาย วิถีชีวิต สภาพสังคม ตลอดจนความคิดความเชื่อ เป็นต้น
ความเป็นมา
เพลงกล่อมเด็กเป็นบทเพลงที่จัดอยู่ในเพลงพื้นบ้านโดยมีจุดประสงค์ใช้ร้องกล่อมเด็กหรือปลอบเด็กเพื่อให้เด็กนอนหลับ การร้องเพลงกล่อมเด็กมักสืบทอดกันมาด้วยวิธีการจดจำจากรุ่นสู่รุ่น เป็นส่วนหนึ่งของวรรณกรรมมุขปาฐะ โดยใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดที่สำคัญ ส่วนเนื้อหาและท่วงทำนองจะแตกต่างกันตามลักษณะท้องถิ่นนั้นๆ เช่น เพลงกล่อมเด็กในภาคเหนือเรียก “เพลงอื่อลูก” ภาคอีสานเรียก “เพลงนอนสาหล่า” “เพลงนอนสาเดอ” ภาคกลางเรียก “เพลงกล่อมเด็ก” “เพลงกล่อมลูก” ภาคใต้เรียก “เพลงชาน้อง” “เพลงร้องเรือ” เป็นต้น เรื่องราวเฉพาะเกี่ยวกับเพลงกล่อมเด็กของตำบลไตรตรึงษ์ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร พบว่ามีมาดั้งเดิมแต่ครั้งอดีตโดยผูกพันกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนมาช้านาน โดยเพลงที่ร้องกล่อมนั้นสามารถสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกของคนไทยในแถบภาคกลางสะท้อนความเป็นอยู่ ความเชื่อ วิธีคิดตลอดจนโลกทัศน์ของชาวบ้านไตรตรึงษ์ได้เป็นอย่างดี บทเพลงกล่อมเด็กเป็นเพลงที่ใช้คำง่าย ๆ ไพเราะ ใช้ภาษาในท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ มีเนื้อหาแสดงความรักและความผูกพันของแม่กับลูก สะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ทางวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกของคนไทยที่ให้เด็กนอนเปลสาย โดยแม่หรือคนในครอบครัวขับร้องเพลงกล่อมมีทั้ง ขู่ทั้ง ปลอบ และร้องเล่านิทาน เพื่อให้เด็กเพลิดเพลินนอนหลับได้เร็วขึ้น บทเพลงที่ร้องนั้นช่วยกระตุ้นพัฒนาการและช่วยอบรมกล่อมเกลาเด็กมาแต่เยาว์วัย และสามารถช่วยให้เกิดความรักความผูกพันระหว่างแม่กับลูกได้เป็นอย่างดี อีกประการหนึ่งจะเห็นว่าในการดำเนินชีวิตประจำวันหรือกิจกรรมต่างๆ ของสังคมไทยตั้งแต่เกิดจนตายมักจะเกี่ยวข้องกับบทร้องที่เป็นกาพย์กลอนอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเพลงกล่อมเด็ก เพลงการละเล่นของเด็ก เพลงทำขวัญนาค และเพลงกล่อมหอ เป็นต้น (สุวรรณี ทองรอด, 2551, หน้า 5)
ฉันทลักษณ์
ตัวอย่างเพลงกล่อมเด็กทั้ง 28 เพลง (สุวรรณี ทองรอด, 2551)
1. เพลงลิ้นทอง
เอ.. เฮ.. เฮย แม่จะกล่าวถึงเรื่องราวลิ้น ทองเอย |
ชายมีเมียสอง รักเมียเอย ไม่เท่ากัน |
เมียหลวงจะตีด้วยท่อนอ้อย.. เอย |
เมียน้อยจะตีด้วยท่อนจันทร์.. เอย |
รักเมียไม่เท่ากัน .. เอย |
บาปนั้น เอย.. มาถึงตัว |
2. เพลงนางประทุม
แม่จะขอกล่าวเรื่องราวเอย.. | นางประทุมรูปสวยรวยละลุ่มเอย.. |
เจ้าเกิดในพุ่มบุษบา | ฤๅษีเลี้ยงไว้เติบใหญ่ขึ้นมา |
ฤๅษีไปป่านางก็ร้อยพวงมาลัย | ลอยแก้ว..ลอยแก้ว.. |
นางแก้วก็พิษฐานไปเนื้อคู่อยู่ที่ไหน | ให้พวงมาลัยสวมคอ..เอย |
ให้มาร่วมฟูกร่วมหมอน | มาร่วมที่นอนกับนาง |
3. เพลงนางชะนี
โอ้ชะนีมือเหนียวเอย ..มือเหนี่ยวกิ่งพฤกษา | พบเพื่อนแล้วก็พากันมากินผล.. เอ่ย |
บ้างก็ห้อยโหนโยนราวแสวงหาลูกไม้ | ฤาเอามาต้องกินลูกไม้ป่าเอย |
ไม่ได้ทำไร่ทำนาก็เป็นเหมือนคน | บ้างก็ขึ้นต้นไทรไกวตัวเอิง..เอย |
ร้องเรียกหาผัวอยู่อลวน ฮือ | มุนีฤาษีท่านประทาน อือ เอย |
ให้เยาวมาลย์มากับผัวตน | นางได้มากับผัว... เอิงเอย |
นางมาคิดชั่วชาติที่แสนกล | คิดฆ่าผัวตัวเสียเอิงเอย |
หล่อนจะยอมเป็นเมียพวกโจร | พอผัวสิ้นชีวิต คิดแล้วทางนี้เอย |
ไอ้โจรมันก็หนีทิ้งไปกลางหน | เลยเขาสาปตัวแม่นางโมรา |
เศร้าโศกาอยู่กระสับกระสน | เห็นพระอาทิตย์ระบายสี...เอย |
สำคัญว่าเลือดสามี | นางก็รํ่าบ่นตัวของแม่ชะนีเอย |
ว่าเดิมทีเอ๋ยเป็นคน |
4. เพลงวัดโบสถ์ (1)
เอ เฮ้ย ฮา วัดเอ๋ยวัดโบสถ์..เอย | มีต้นโตนดอยู่เจ็ดต้น ฮือ |
พ่อขุนทองไปปล้น..เอย | ป่านฉะนี้แล้วไม่เห็นมา |
เขารํ่าลือมา..เอย | ว่าขุนทองเอย..ตายแล้ว |
เหลือแต่กระดูกให้ลูกแก้ว..เอย | เมียรักเอยจะไปปลง ฮือ |
ศพเอ๋ยพ่อขุนทอง | คดข้าวใส่ห่อ เอย ถ่อเอ๋ยเรือมา ฮือ |
ลุงอินนี้ถือถาด..เอย | ยกกระบัตรเอยท่านถือธง |
ถือท้ายเรือหงส์..เอย | ปลงศพเอ๋ยพ่อขุนทอง |
เรือไปล่มที่ท่าสิงห์..เอย | ไปปีนขึ้นได้เอ๋ยที่ท่าทอง |
เสียข้าวเสียของ..เอย | เสียเงินเสียทอง เอ๋ยก็ไม่คิด |
เสียปลาสลิด.. เอย | ติดท้ายเรือไป |
5. เพลงเจ้างามประเสริฐ
งามเอ๋ย เจ้างาม นะประเสริฐเอย | ขวัญเจ้าแม่เถิดนะแม่ยามยาก |
น้ำอ้อยหรือน้ำ ตาล เอย | แม่มิได้พาน ฮือ หนอพบปะ.. เอย |
ความยากนะ แม่คุณ ..เอย |
6. เพลงเนื้อเย็น (1)
เนื้อเอ๋ยเนื้อเย็นเอย | ไม่ไม่ให้ไปเล่นเอ๋ยในน้ำ |
จระเข้เหรา มันจะพาเข้าถ้ำ ..เอย | มันจะพาระกำ เอ๋ย แม่คุณ |
7.เพลงเนื้อเย็น (2)
เอยหนอ เจ้าเนื้อ เย็นเอย | แม่มิให้ลูกไปเล่น.. เอย |
ในท้องคลองน้ำ มันมากนะ | มันจะพาเจ้าลอยล่อง.. เอย |
ท้องคลองนะแม่คุณ | เอ เฮ้ เอ๋ย โอ เห่ |
8. เพลงแม่เนื้ออุ่น (1)
เนื้อ เอย หนอ เนื้อ อุ่น.. เอย | เมื่อไรเจ้าจะมีบุญหนอ แม่จะได้พึ่ง ฮือ |
เมื่อเจ้าตกยาก ฮือ | ลงไป ไม่มีใครจะครวญถึง..เอย |
เอวกลึงนะแม่คุณ เอ เฮ่ เอย โอ เห่ |
9. เพลงแม่เนื้ออุ่น (2)
แม่เนื้ออุ่นเอย.. | เนื้อเจ้าละมุนเหมือนสำลี |
แม่ไม่ให้ใครมาแตะต้อง | กลัวจะหมองศรีเอย |
คนดีนะแม่คุณ |
10. เพลงแม่เนื้ออ่อน (1)
เนื้อเอยเนื้ออ่อนเอย | ไม่หลับไม่นอนหรือจะคอยใคร |
ญาติวงศ์หรือพงศาเอย.... ของแม่ | จะมาหนอทางไหน เอย ..คอยใครเล่าแม่คุณ |
11. เพลงแม่เนื้ออ่อน (2)
แม่เนื้ออ่อน เอย อ้อนแม่ | เธอจะนอน ฮือ วันฮือ นอนหลับนอนไหล เอย |
นอนไปหนอนาน ๆ ตื่นขึ้นมา | แม่จะรับขวัญ เอิง เอย นอนวัน ฮือ นะ แม่คุณ |
ประเภทคำประพันธ์
ภาพที่ 1 ร้านป้าเลี่ยมกำแพงเพชร (TH.WorldOrgs, ม.ป.ป.)