กระยาสารทกล้วยไข่จากรากเหง้าสู่ผลิตภัณฑ์ชุมชน

จาก KPPStudies
รุ่นแก้ไขเมื่อ 10:35, 23 ธันวาคม 2563 โดย Admin (คุย | มีส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย "== บทนำ == “กรุพระเครื่อง เมืองคนแกร่ง ศิลาแลงใหญ่ กล้...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

บทนำ

         “กรุพระเครื่อง เมืองคนแกร่ง ศิลาแลงใหญ่ กล้วยไข่หวาน น้ำมันลานกระบือ เลื่องลือมรดกโลก” นี่คือ คำขวัญของจังหวัดกำแพงเพชรที่แสดงถึงผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงโดยเฉพาะเมื่อนำกล้วยไข่ผสมรวมเข้าไปกับกระยาสารท กลายเป็นกระยาสารทกล้วยไข่ที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดกำแพงเพชรเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นขนมที่หาได้ยากแล้ว กระยาสารทแม้จะเป็นขนมที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย แต่เมื่อพูดถึงกระยาสารทกล้วยไข่ ต้องนึกถึงจังหวัดกำแพงเพชรเท่านั้นนับว่าเป็นภูมิปัญญาไทยในการถนอมอาหาร ในฤดูที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ จึงเก็บอาหารที่เหลือไว้รับประทานในฤดูขาดแคลน การรับประทานกระยาสารทให้อร่อยต้องรับประทานกับกล้วยไข่ (สันติ อภัยราช, 2561)
         กระยา หมายถึง เครื่อง สิ่งของ เครื่องกิน 
         สารท หมายถึง เทศกาลทำบุญในวันสิ้นเดือนสิบ โดยนำพืชพรรณธัญญาหารแรกเก็บเกี่ยวมาปรุงเป็นข้าวทิพย์และข้าวมธุปายาส ถวายพระสงฆ์
         ดังนั้น กระยาสารทจึงหมายถึง เครื่องกินที่ทำกันในเทศกาลเดือนสิบโดยนำพืชพรรณธัญญาหารแรกเก็บเกี่ยวมาปรุงเป็นกระยาสารท ข้าวทิพย์ และข้าวมธุปายาส ถวายพระสงฆ์ ประเพณีวันสารท ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 หรือช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี โดยในวันทำบุญนั้นชาวบ้านจะนำอาหารมาถวายพระสงฆ์ โดยอาหารหวานที่ใช้ถวายพระในวันนั้นก็คือ “กระยาสารท” สังเกตได้ว่า การทำบุญในวันสารทไทยทุกวัดจะเต็มไปด้วยมหกรรมกระยาสารทที่ชาวบ้านนำมาร่วมทำบุญ (คม ชัด ลึก, 2561) ประเพณีทำบุญสารทนี้มีอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของไทย แต่จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปตามแต่ละภูมิภาค เช่น ภาคใต้ เรียก "ประเพณีชิงเปรต" ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียก "ทำบุญข้าวสาก" และภาคเหนือ เรียก "ตานก๋วยสลาก" เป็นต้น 
         อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเรียกชื่อต่างกันแต่คติความเชื่อทางพระพุทธศาสนาก็เป็นไปในทางเดียวกัน คือ ทำบุญเพื่ออุทิศส่วนบุญให้ปู่ย่าตายายและญาติมิตรทั้งหลาย ที่ล่วงลับไปแล้วนั่นเอง (คม ชัด ลึก, 2561) จึงเป็นอันสรุปได้ว่า "ประเพณีสารท คือฤดูกาลแห่งการเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหารช่วงปลายฤดูฝนเริ่มเข้าต้นฤดูหนาว โดยเหตุที่ความเชื่อของชาวอินเดียผูกพันอยู่กับเทพเจ้าในธรรมชาติ ดังนั้นเมื่อได้ผลผลิตจากการเก็บเกี่ยวคราวแรกจึงนำไปบวงสรวงบูชาเทพเจ้าตามความเชื่อของตน ซึ่งความเชื่อเช่นนี้ คงมีอยู่ทั่วไปในสังคมบรรพกาลทั่วโลก"

คำสำคัญ : กระยาสารทกล้วยไข่, จังหวัดกำแพงเพชร, ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น

ที่มาของคำว่าสารทไทย

         สารท (สาด) นี้ เป็นคำที่ประเทศไทยยืมอินเดียมาใช้ แต่แตกต่างจากอินเดียตรงที่การออกเสียงว่า “สา-ระ-ทะ” และไม่ได้ใช้เรียกเฉพาะวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 เท่านั้น แต่ประเทศเทศอินเดียยังใช้เป็นชื่อของฤดูกาลอีกด้วย ซึ่งจะตรงกับช่วงเดือน 10-12 ตามปฏิทินจันทรคติ เทศกาลสารทไทยชาวบ้านจะนิยมทำกระยาสารท เพื่อถวายแด่พระสงฆ์ “กระยาสารท” นี้ แปลว่า "อาหารที่ทําในฤดูสารท" หรือสามารถกล่าวได้ว่า กระยาสารท เปรียบได้กับ “ข้าวมธุปายาส” ซึ่งเป็นอาหารของชาวอินเดีย โดยมีข้าว น้ำตาล น้ำนม ผสมกัน แต่ข้าวมธุปายาสนี้ไม่ได้กําหนดว่าต้องทําเฉพาะฤดูสารทเท่านั้น โดยปกติแล้วชาวอินเดียนิยมรับเพื่อรับประทานในครอบครัวของตนเอง เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่นางสุชาดาหุงถวายพระพุทธเจ้านั้นเอง ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคแถบอุษาคเนย์ที่ได้รับอิทธิพลความเชื่อจากประเทศอินเดียผ่านอารยธรรมในยุคต่างๆ และนำเข้ามาประยุกต์เป็นวิถีการดำเนินชีวิตตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันไม่มากก็น้อย กระทั่งเมื่อประชาชนได้ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนามากขึ้น การเซ่นไหว้บวงสรวงบูชาเทพเจ้าด้วยผลผลิตจากการเพาะปลูกจึงปรับเปลี่ยนมาเป็นการทำบุญถวายทาน ตามคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนา แต่ถึงกระนั้น ความเชื่อเรื่องเทพเจ้าในธรรมชาติของคนไทยก็ไม่ได้หมดไป ดังจะพบได้จากพิธีกรรมเกี่ยวกับแม่โพสพ เช่น การทำพิธีรับขวัญข้าวหรือพิธีกรรมเกี่ยวกับแม่ธรณี เช่น ประเพณีลอยกระทง เป็นต้น ผู้ที่เคยนับถือศาสนาพราหมณ์แล้วกลับมานับถือพระพุทธศาสนา เมื่อถึงคราวที่เคยทําบุญตามฤดูกาลให้แก่พราหมณ์ ก็จัดทําถวายพระสงฆ์เหมือนที่เคยทําแก่พราหมณ์ คือ การทําบุญด้วยของแรกได้เพื่อเป็นผลานิสงส์จากการทำบุญ แล้วมักจะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว การทําพิธีอุทิศให้แก่ผู้ตายของชาวฮินดูเรียกว่า “ศราทธ์” การออกเสียงจะเหมือนกับคําว่า “สารท” ในภาษาไทยซึ่งหมายถึงชื่อฤดู" (คมชัดลึก, 2561)

ตำนานข้าวยาคู ข้าวมธุปยาส ข้าวทิพย์และกระยาสารท

         ข้าวยาคู มีตำนานเล่ามาว่า มีชาวนาพี่น้องสองคน คนโตชื่อว่า มี “จุลการ” น้องชื่อ “มหาการ” ไร่นา กว้างใหญ่ ในฤดูที่ข้าวตั้งท้องออกรวง คนน้องเห็นว่าควรจะนำข้าวนั้นมาทำอาหารถวายพระพุทธเจ้าผู้ทรงนามว่า วิปัสสี แต่พี่ชายไม่เห็นด้วยเพราะจะต้องเสียข้าวในนาจำนวนไม่น้อย น้องชายจึงแบ่งไร่นาและนำเมล็ดข้าวในสวนไร่นาของตนไปทำอาหารที่เรียกว่า ข้าวยาคูไปถวายพระวิปัสสีและอธิษฐานขอให้เกิดในบวรพระพุทธศาสนา ซึ่งภายหลังจุลการได้เกิดเป็นพระอัญญาโกณฑัญญะ ส่วนข้าวมธุปายาส คือ ข้าวที่หุงเจือด้วยน้ำนมและน้ำผึ้งมีตำนานเล่าว่า นางสุชาดา ลูกสาวเศรษฐีปรุงขึ้นเป็นอาหารไปแก้บนและได้เห็นพระพุทธเจ้า เมื่อเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ประทับใต้ต้นนิโครธ ( ต้นไทร ) ก็เข้าใจพระองค์เป็นเทพยดาจึงนำอาหารนั้นไปถวายพระโพธิสัตว์จึงได้เสวยข้าวมธุปายาสเป็นอาหารมื้อสุดท้าย ก่อนจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จึงมีความเชื่อกันว่า ข้าวมธุปายาส เป็นอาหารวิเศษ ผู้ใดมีวาสนาได้กินแล้ว จะมีร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัย อุดมด้วยสติปัญญา และเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต (2561, คมชัดลึก)

ส่วนตำนานของกระยาสารทนั้นเล่าต่อกันมาว่า สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ในกรุงราชคฤห์มีเปรตตนหนึ่งปลอมตัวเป็นพระสงฆ์เข้าเฝ้าพระเจ้าอาชาติศัตรู เปรตตนนั้นได้เผยความจริงว่า ตนเคยเป็นพระสงฆ์แต่มีความโลภจึงต้องชดใช้กรรมเป็นเปรต แล้วเปรตตนนั้นก็ขอให้พระองค์พระราชทานกระยาสารท ซึ่งปรุงแต่งด้วยของ 7 อย่าง ได้แก่ น้ำตาล น้ำผึ้ง ถั่ว งา ข้าวตอก ข้าวเม่า น้ำนมวัว เพื่อประทังความหิวโหย ดังนั้น ในวันรุ่งขึ้นตรงซึ่งกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 พระเจ้าอชาตศัตรูจึงทำขนมกระยาสารทแล้วกรวดน้ำอุทิศให้แก่เปรตตามที่ขอไว้ (กฤษดา กุลโชติ, 2557)

ประเพณีกวนข้าวมธุปยาส (ข้าวทิพย์) ในประเทศไทย

         สำหรับประเทศไทยนั้น ประเพณีกวนข้าวมธุปายาส (ข้าวทิพย์) เป็นพระราชพิธีที่กระทำกันในเดือน 10 ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และได้รับการฟื้นฟูครั้งใหญ่ ในสมัยรัชกาลที่ 1 และมาละเว้นเลิกราไปในสมัยรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 แล้วมาได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา แต่ในปัจจุบันส่วนใหญ่ชาวพุทธนิยมทำเพื่อถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ และบูชาพระรัตนตรัย รวมทั้งอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตายซึ่งจะจัดกันในเดือน 12 หรือเดือนหนึ่ง โดยถือเอาระยะที่ข้าวกล้าในท้องนามีรวงข้าวเป็นน้ำนมของแต่ละปี และความพร้อมเพรียงของชาวบ้านเป็นสำคัญ เมื่อพิจารณาประเพณีกวนข้าวมธุปายาส (ข้าวทิพย์) ในจังหวัดกำแพงเพชรสามารถพบได้ที่วัดแก้วสุริย์ฉาย ตำบลลานกระบือ อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร (วีรวรรณ แจ้งโม้ และชญาน์นันท์ ศิริกิจเสถียร, 2558)