ศิลปกรรมสกุลช่างกำแพงเพชร

จาก KPPStudies
รุ่นแก้ไขเมื่อ 10:20, 24 ธันวาคม 2563 โดย Admin (คุย | มีส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

บทนำ

         บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่น กรณีศึกษา ศิลปกรรมสกุลช่างกำแพงเพชร ซึ่งจังหวัดกำแพงเพชรได้รับการรับรองจาก UNESCO ให้เป็นเมืองมรดกโลกด้วยเพราะเป็นพื้นที่ที่มีโบราณสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์รวมอยู่มากมายหลายแห่ง ซึ่งทั้งหมดเป็นศาสนสถานอันแสดงให้เห็นถึงการให้คุณค่าสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจของผู้คน และเป็นวัฒนธรรมหลักของผู้คนในสังคมไทย ที่ตอบสนองการรับใช้พุทธศาสนาและการเป็นเมืองแห่งพุทธศาสนามาเป็นเวลายาวนาน โดยโบราณสถานแต่ละแห่งนั้นมีเรื่องราว ความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับโบราณสถานทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่อื่นๆใกล้เคียง เช่น สุโขทัย และศรีสัชนาลัย รวมถึงรูปแบบการสร้างสรรค์ศิลปกรรมของกำแพงเพชรด้านสถาปัตยกรรม ทั้งโบราณวัตถุอย่างปฏิมากรรมต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยสุโขทัยและสมัยหลังสุโขทัย มีความผสมผสานและได้รับอิทธิพลจากรูปแบบศิลปะสกุลช่างต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สุโขทัย อยุธยา และล้านนา ความผสมผสานรูปแบบและการได้รับอิทธิพลดังกล่าว ได้ประกอบกันทำให้เกิดรูปแบบของงานศิลปกรรมที่อาจกล่าวได้ว่ามีลักษณะเฉพาะ จนสามารถเรียกว่าเป็นสกุลช่างกำแพงเพชรได้ เช่น พระพุทธรูปสกุลช่างกำแพงเพชร หรือเจดีย์กลุ่มหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะเป็นฐานแปดเหลี่ยมที่พบได้มาก  ในเมืองกำแพงเพชร ซึ่งความเฉพาะตัวที่ค้นพบนี้สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของช่างท้องถิ่นเมืองกำแพงเพชรในสมัยโบราณ

คำสำคัญ : ศิลปกรรม, สกุลช่าง, กำแพงเพชร

กระบวนการทำงานของภูมิปัญญาศิลปกรรมสกุลช่างกำแพงเพชร

         ภูมิปัญญาศิลปกรรมสกุลช่างกำแพงเพชรในบทความนี้จะเกี่ยวข้องกับศาสนสถาน (สถาปัตยกรรม) และศาสนวัตถุ (ปฏิมากรรม) เพื่อรับใช้พุทธศาสนาของช่างท้องถิ่นเมืองกำแพงเพชรโบราณซึ่งผู้เขียนได้สรุปกระบวนการทำงานของภูมิปัญญาศิลปกรรมสกุลช่างกำแพงเพชรไว้ ดังภาพที่ 1

แรงบันดาลใจ (อิทธิพลการสร้างสรรค์) → รูปแบบที่ได้จากการประยุกต์สร้างสรรค์ →

ศิลปกรรมสกุลช่างเมืองกำแพงเพชร → ตอบสนองการรับใช้พุทธศาสนา

ภาพที่ 1 กระบวนการทำงานของภูมิปัญญาศิลปกรรมสกุลช่างกำแพงเพชร

การศึกษาศาสนสถาน (สถาปัตยกรรม) สกุลช่างกำแพงเพชร

         ศักดิ์ชัย สายสิงห์ (ม.ป.ป.) หน้า 8-20 อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้แบ่งศิลปะเมืองกำแพงเพชรไว้ 2 รูปแบบดังนี้ คือ 1. ศาสนสถาน (สถาปัตยกรรม) ในสมัยสุโขทัย กับหลังสมัยสุโขทัย 2. ศาสนวัตถุ (ปฏิมากรรม พระพุทธรูป)

ศาสนสถาน (สถาปัตยกรรม)

1. ศาสนสถาน (สถาปัตยกรรม) สกุลช่างกำแพงเพชรในสมัยสุโขทัย

         สถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นจะมีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูม ซึ่งเมืองกำแพงเพชรตามหลักฐานได้แก่ วัดเจดีย์กลางทุ่ง วัดพระเจดีย์ทอง วัดกะโลทัย วัดเจดีย์ยอดทอง วัดสิงห์ วัดวังพระธาตุ (ไตรตรึงษ์) และวัดพระบรมธาตุ (นครชุม) ปัจจุบันถูกสร้างครอบด้วยเจดีย์แบบมอญพม่า
ภาพที่ 2 รูปแบบเจดีย์.png

ภาพที่ 2 รูปแบบเจดีย์ทรงดอกบัวตูมในสมัยสุโขทัยที่พบในจังหวัดกำแพงเพชร

(ที่มา : ศักดิ์ชัย สายสิงห์, 2561)

         อย่างไรก็ตามเจดีย์ทรงดอกบัวตูมที่ยังคงเหลือรูปแบบสมบูรณ์ให้ศึกษาได้ คือ เจดีย์วัดกะโลทัยและเจดีย์กลางทุ่ง เจดีย์ทั้ง 2 องค์มีระเบียบเดียวกับเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมโดยทั่วไป โดยเฉพาะส่วนสำคัญ คือ ส่วนฐานบันลูกฟัก 2 ขั้น เพียงแต่ส่วนที่เป็นลูกแก้วอกไก่และลูกฟักได้รับการบูรณะใหม่โดยกรมศิลปากรทำเป็นแถบสี่เหลี่ยมธรรมดาไม่ได้ปั้นปูนเป็นลวดลายบัวลูกแก้วอกไก่และลูกฟัก แต่ก็ทำความเข้าใจได้ว่า เป็นลูกแก้วอกไก่และลูกฟักตามระเบียบของฐานเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูม สำหรับวัดกะโลทัยนั้นมีรูปแบบครบถ้วนสมบูรณ์ ส่วนที่วัดเจดีย์กลางทุ่งมีส่วนที่แตกต่างจากระเบียบของเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมเพียงเล็กน้อยคือ มีส่วนฐานและชั้นเขียนที่อาจผิดระเบียบอยู่ เพราะมี ชั้นเขียน 3 ชั้น แต่ชั้นที่ 1 และชั้นที่ 3 สูงกว่าชั้นที่ 2 มากและผิดส่วนและผิดระเบียบของเจดีย์รูปแบบนี้ จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากการซ่อมผิด ซึ่งจริงๆ ควรจะเป็นชั้นเขียนที่มีสัดส่วนเท่าๆกัน ประมาณ 4-5 ชั้น ตามระเบียบโดยทั่วไป ดังภาพที่ 3 และ 4
ภาพที่ 3 รูปแบบเจดีย์.jpg

ภาพที่ 3 รูปแบบเจดีย์ทรงดอกบัวตูมของวัดกะโลทัย

ภาพที่ 4 รูปแบบเจดีย์.jpg

ภาพที่ 4 รูปแบบเจดีย์ทรงดอกบัวตูมของวัดเจดีย์กลางทุ่ง

         อีกแห่งหนึ่งคือ เจดีย์วัดวังพระธาตุ เมืองไตรตรึงษ์ ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองกำแพงเพชรลงมาทางทิศใต้ราว 11 กิโลเมตร เป็นวัดที่สำคัญที่สุดของเมืองเปรียบเสมือนมหาธาตุประจำเมือง รูปแบบของเจดีย์มีระเบียบโดยรวมเหมือนกับเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมทุกประการ มีส่วนที่แตกต่างอยู่ 2 ส่วนและนับเป็นส่วนสำคัญมาก คือ มีฐานบัวลูกแก้วอกไก่แบบเตี้ย เพิ่มมา 1 ฐาน และฐานเขียงกว้างมาก ซึ่งฐานส่วนนี้ไม่เคยปรากฏในเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมเลย จากการเพิ่มฐานบัวทำให้ส่วนชั้นเขียนเหลือเพียง 3 ชั้น ซึ่งพิจารณาส่วนนี้น่าจะเป็นส่วนที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นรุ่นหลังที่มีการบูรณะ เมื่อเพิ่มแล้วจึงมาลดชั้นเขียนเหลือเพียง 3 ชั้น อีกส่วนหนึ่งของรูปแบบที่เปลี่ยนไปเล็กน้อย คือ ส่วนฐานบัวที่รูปแบบโดยทั่วไปเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ 2 เส้น แต่ที่นี่เป็นลูกฟัก 2 เส้น ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน อาจจะเป็นการบูรณะผิดของคนในยุคหลังที่ไม่เข้าใจรูปแบบเดิมแล้ว ดังภาพที่ 5
ภาพที่ 5 เจดีย์วัดวังพระธาตุ.jpg

ภาพที่ 5 เจดีย์วัดวังพระธาตุ

         ส่วนวัดเจดีย์ทองและวัดสิงห์ ปัจจุบันสภาพพังทลายจนไม่สามารถศึกษาระเบียบได้อย่างละเอียด อาจกล่าวได้ว่าเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมเมืองกำแพงเพชรนั้นมีหลักฐานสำคัญ คือ วัดพระบรมธาตุที่มีหลักฐานเดิมว่า เป็นเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมและมีจารึกที่พบในวัดนี้ คือจารึกหลักที่ 33 นครชุมที่กล่าวถึง พญาลิไทเสด็จมาประดิษฐานพระธาตุยังเมืองกำแพงเพชร ในปี พ.ศ. 1900 จึงอาจเป็นข้อสันนิษฐานได้ว่า เจดีย์ที่พระองค์ทรงสถาปนาน่าจะเป็นเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูม ทำให้อาจกล่าวได้ต่อไปอีกกว่าทั้งวัดเจดีย์กลางทุ่ง และวัดเจดีย์ทองที่อยู่บริเวณเมืองนครชุมอันเป็นเมืองในสมัยสุโขทัย น่าจะสร้างขึ้นในระยะเวลาเดียวกันนี้หรืออาจจะหลังกว่าเพียงเล็กน้อย

2. ศาสนสถาน (สถาปัตยกรรม) สกุลช่างกำแพงเพชรหลังสมัยสุโขทัย

         พบว่าภายหลังจากอาณาจักรสุโขทัยถูกผนวกกับกรุงศรีอยุธยาแล้ว เมืองสำคัญในช่วงนี้มาอยู่ที่กำแพงเพชรและพิษณุโลก แต่หลักฐานทางศิลปกรรมที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในช่วงระยะเวลานี้พบหลักฐานค่อนข้างมากที่                  เมืองกำแพงเพชร ได้แก่ กลุ่มเจดีย์ทรงระฆังที่การผสมผสานระหว่างเจดีย์แบบสุโขทัย ล้านนาและอยุธยา บทบาทของอยุธยาและล้านนาปรากฏอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 21 สามารถแบ่งได้ 3 กลุ่มดังนี้
         กลุ่มที่ 1 เจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัย-อยุธยา (ที่มีอิทธิพลศิลปะอยุธยา) : เจดีย์ที่มีสิงห์ล้อม
         เจดีย์วัดพระแก้วมีลักษณะโดยรวมที่ยังเป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัย คือ มีชุดบัวถลารองรับองค์ระฆัง และเป็นกลุ่มเจดีย์แบบพิเศษ คือ การมีช่องจระนำที่ฐานประดิษฐานพระพุทธรูปโดยรอบลักษณะเดียวกับเจดีย์วัดช้างล้อม เมืองศรีสัชนาลัย และ ที่ฐานมีการประดับสิงห์ล้อม (รูปที่ 6) โดยรูปแบบแล้วเหมือนกับช้างล้อม ปัจจุบันส่วนหัวสิงห์ชำรุดหายไปหมดแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้ทราบว่าเป็นสิงห์โดยดูจากเท้าสิงห์ที่มีกรงเล็บยื่นออกมา ต่างจากเท้าช้างที่จะตรงๆ นอกจากนี้ยังดูจากเครื่องทรงของสิงห์คล้ายกับเครื่องทรงที่ปรากฏในเจดีย์สิงห์ล้อม สมัยอยุธยา ดังภาพที่ 6 และภาพที่ 7
ภาพที่ 6 เจดีย์วัดพระแก้ว.jpg

ภาพที่ 6 เจดีย์วัดพระแก้ว

ภาพที่ 7 ฐานเจดีย์รูปสิงห์.jpg

ภาพที่ 7 ฐานเจดีย์รูปสิงห์

         เจดีย์วัดสิงห์สันนิษฐานได้ว่า ได้รับอิทธิพลมาจากอยุธยาเพราะในศิลปะสุโขทัยไม่พบว่ามีการทำเจดีย์ที่มีสิงห์ล้อมในลักษณะนี้ แต่พบอยู่ในศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้นกลุ่มหนึ่ง เช่น เจดีย์ที่วัดธรรมิกราช วัดแม่นางปลื้ม วัดสามวิหาร เป็นต้น ซึ่งกำหนดอายุว่าอยู่ในสมัยอยุธยาตอนต้น เพราะลักษณะของสิงห์นั้นเป็นแบบที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะเขมรสอดคล้องกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวว่าเจ้าสามพระยาได้เสด็จไปตีอาณาจักรกัมพูชาได้และมีการนำสิงห์และทวารบาล สำริด จากเมืองพระนคร มายังพระนครศรีอยุธยา แต่ในภายหลังเมื่อพระเจ้าบุเรงนองมาตีกรุงศรีอยุธยา ได้นำประติมากรรมชุดดังกล่าวไปไว้ยังเมืองพม่าจึงสันนิษฐานว่า การนำประติมากรรมรูปสิงห์มาประดับฐานเจดีย์แทนช้าง น่าจะเกิดขึ้นในรัชกาลเจ้าสามพระยาเป็นต้นมา เพราะทั้งลักษณะและรูปแบบบนั้นเหมือนกับประติมากรรมสิงห์สำริดในศิลปะเขมรนั้น กับอีกส่วนหนึ่งลวดลายที่ประดับสิงห์ เป็นลายแบบอยุธยาตอนต้นที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะเขมร คล้ายกับลายกรุยเชิง และสอดคล้องกับรูปแบบของเจดีห์ทรงระฆังในกลุ่มนี้ที่มีส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นขุดบัวคว่ำ-บัวหงายในผังแปดเหลี่ยม ซึ่งจัดเป็นงานศิลปะในสมัยอยุธยาตอนต้น ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นต้น
ภาพที่ 8 รูปแบบสันนิษฐานวัดสิงห์.jpg

ภาพที่ 8 รูปแบบสันนิษฐานวัดสิงห์

(ที่มา : สันติ เล็กสุขุม, 2557)

         กลุ่มที่ 2 เจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัย-ล้านนา : เจดีย์ที่มีฐานและส่วนรังรับองค์ระฆังแปดเหลี่ยม อิทธิพลศิลปะหริภุญชัย-ล้านนา
         รูปแบบเจดีห์วัดพระธาตุมีส่วนฐานที่แตกต่างจากที่พบอยู่ในศิลปะสุโขทัยโดยทั่วไป คือ มีชั้นฐานเขียนในผังแปดเหลี่ยมหลายชั้น รองรับฐานบัวคว่ำ-บัวหงาย ซึ่งมีถึง 2 ฐาน อยู่ในผังแปดเหลี่ยมฐานชั้นล่างประดับลูกแก้วอกไก่กลางท้อนไม้ 1 เส้น ลูกแก้วอกไก่มีขนาดใหญ่มาก แตกต่างจากที่พบ โดยทั่วไป ซึ่งถือเป็นลักษณะพิเศษได้ โดยมีส่วนที่แตกต่าง คือเจดีย์องค์นี้มีชั้นบัวคว่ำ-บัวหงายในผังแปดเหลี่ยมเพิ่มขึ้นอีก 1 ชั้น เป็นฐานบังลูกแก้วอกไก่ที่มีการประดับลูกแก้ว 2 เส้น ซึ่งลักษณะฐานในผังแปดเหลี่ยมนี้ไม่ใช่ศิลปะสุโขทัยและลังกา อีกส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลศิลปะล้านนา ได้แก่ บัลลังก์ในผังย่อมุมไม้สิบสองอันเป็นรูปแบบที่นิยมอยู่ในศิลปะล้านนาซึ่งมาจากสายเจดีย์ปาละ ส่วนสายเจดีย์สุโขทัยและอยุธยาจะเป็นผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ได้สืบต่อมาจากศิลปะลังกากล่าวโดยสรุป คือ เจดีย์องค์นี้มีการผสมผสานรูปแบบระหว่างล้านนากับสุโขทัยโดยมีแผนผังที่เป็นแบบอยุธยาตอนต้นแล้ว ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นถึงยุคสมัยที่สัมพันธ์กับเจดีย์วัดพระแก้วในสมัยอยุธยาตอนต้น ที่สุโขทัยน่าจะหมดอำนาจลงแล้ว เมืองกำแพงเพชรเป็นเมืองปากประตูที่ติดระหว่างล้านนากับอยุธยา จึงมีศิลปกรรมที่ผสมผสานกันทั้ง 3 สมัย คือ ที่เป็นแบบแผนดั้งเดิม คือ สุโขทัยและอยุธยาปนกับล้านนา และเจดีย์องค์นี้มีแรงบันดาลใจมาจากศิลปะล้านนามากกว่า
ภาพที่ 9 เจดีย์วัดพระธาตุ เมืองกำแพงเพชร.jpg

ภาพที่ 9 เจดีย์วัดพระธาตุ เมืองกำแพงเพชร

         กลุ่มที่ 3 เจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัย-ล้านนา-อยุธยา : เจดีย์ที่มีส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นบัวคว่ำบัวหงายแบบล้านนา
         วัดช้างรอบตั้งอยู่ในเขตอรัญญิก ด้านทิศเหนือของเมืองกำแพงเพชร ถือเป็นวัดที่มีขนาดใหญ่มากวัดหนึ่งและน่าจะสร้างขึ้นตามคติของความเป็นศูนย์กลางจักรวาล กล่าวคือ มีการยกชั้นประทักษิณสูงมาก ทางขึ้นมีการประดับสิงห์และเทวดา รอบฐานประดับช้างโดยรอบ และที่ผนังทำเป็นงานปูนปั้นรูปต้นไม้ อาจหมายถึง คติของป่าหิมพานต์ มีช้างเป็นผู้ค้ำจุนจักรวาลมีสิงห์ที่เป็นสัญลักษณ์ของป่าหินพานต์และเทวดา เป็นทวารบาลหรือสัญลักษณ์ของสวรรค์ นอกจากนี้ทางนี้ทางขึ้นประทักษิณยังมีชุ้มประตูที่มียอดปราสาทอีทด้วย ที่มีลานประทักษิณทั้ง 4 มีการประดับเจดีย์จำลอง (สถูปิกะ) ที่ฐานเจดีย์บริเวณชั้นประทักษิณ มีแถวหงส์ โดย หงส์หมายถึง สัญลักษณ์ของสวรรค์ เช่นเดียวกัน เหมือนแถวหงส์มีประติมากรรมปูนปั้นเล่าเรืองพุทธประวัติที่แบ่งเป็นช่องๆ (ปัจจุบันชำรุดสูญหายเกือบหมดแล้ว) สำหรับรูปแบบเจดีย์ สภาพในบัจจุบันพังทลายลงมาเหลือตั้งแต่ฐานล่างขึ้นไปจนถึงชุดรองรับองค์ระฆังชั้นที่ 2 เท่านั้น แต่จากส่วนที่เหลือสามารถศึกษารูปแบบได้จากส่วนรองรับองค์ระฆัง ที่ทำเป็นชุดบัวคว่ำ-บัวหงายเตี้ยๆท้องไม้ประดับลูกฟัก 1 เส้นเต็มท้องไม้ น่าจะมี 3 ชั้น ตามระเบียบของเจดีย์ทรงระฆังทั่วไป และส่วนองค์ระฆังละยอดก็น่าจะเหมือนเจดีย์ทรงระฆังโดยทั่วไป
         ลักษณะสำคัญที่ช่วยในการกำหนดอายุได้ คือ ลวดลายประดับช้าง ได้พบว่าลายส่วนใหญ่เป็นลายพรรณพฤกษา คือ ลายดอกไม้ ใบไม้ มีลวดลายที่ใบระกาที่ส่วนคอช้าง ได้พบว่าลายส่วนคอช้างนั้นเหมือนกับลวดลายที่ผ้านุ่งของเทวรูปสำริดพระอิศวรที่พบที่เมืองกำแพงเพชร มีจารึกที่ฐานระบุ พ.ศ. 2053 ดังนั้นลวดลายนี้จึงน่าจะมีความสัมพันธ์กันและเป็นลายที่เกิดขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น อายุของเจดีย์จึงน่าจะร่วมสมัยกับอายุพระอิศวรองค์นี้ คือในราวต้นถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 21 แล้ว
ภาพที่ 10 รูปรายละเอียดเจดีย์วัดช้างรอบ เมืองกำแพงเพชร.jpg

ภาพที่ 10 รูปรายละเอียดเจดีย์วัดช้างรอบ เมืองกำแพงเพชร

(ที่มา : ศักดิ์ชาย สายสิงห์, 2561)

งานปฎิมากรรม (พระพุทธรูป)

          พระพุทธรูปสกุลช่างกำแพงเพชร กลางพุทธศตวรรษที่ 19 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 21 มีลักษณะ คือ เป็นรูปไข่ยาว พระนลาฏกว้าง พระหนุเสี้ยม ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลวสูงอย่างมาก และการทำพระขนงที่มีเส้นระหว่างขอบบนและขอบพระเนตรป้ายเป็นแผ่นใหญ่ๆ ซึ่งลักษณะเช่นนี้ได้รับความนิยมมาก ในพระพุทธรูปสมัยอยุธยา ดังนั้นสกุลช่างกำแพงเพชรนี้ส่วนหนึ่งคงมีความเกี่ยวข้องกับศิลปะอยุธยาที่เข้ามาผสมผสาน และลักษณะดังกล่าวนี้ได้เข้าไปปรากฏในพระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยาด้วยเช่นกัน จากการศึกษาพระพุทธรูปเมืองกำแพงเพชร ได้แบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้

1.พระพุทธรูปหมวดใหญ่ สมัยสุโขทัย

         เป็นสกุลช่างกำแพงเพชรมีลักษณะย่อยที่สามารถแบ่งได้เป็นหมวดกำแพงเพชรตามที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไป คือ พระพุทธรูปที่มีลักษณะเช่นเดียวกับพระพุทธรูปหมวดใหญ่ในสมัยสุโขทัยแต่ลักษณะเฉพาะของสกุลช่างกำแพงเพชร คือ พระนลาฏกว้าง และพระหนุเสี้ยม พระพักตร์ยาวอย่างมาก เมื่อพระพักตร์ยาวทำให้ส่วนต่างๆยาวหรือสูงตามไปด้วย ได้แก่ พระเศียร (ขมวดพระเกศา) สูง พระอุษณีษะสูง และพระรัศมีทรงสูงอย่างมากด้วยเช่นกัน ถ้าเทียบสัดส่วนกับพระพุทธรูปหมวดใหญ่โดยทั่วไปในศิลปะสุโขทัย จะมีขมวดพระเกศาเล็กกว่าหมวดใหญ่อย่างมากและใกล้เคียงกับพระพุทธรูปสมัยอยุธยา และได้พบว่าในหมวดกำแพงเพชรนี้ส่วนหนึ่งมีอิทธิพลของศิลปะอยุธยาเข้ามาผสม ได้แก่ การทำพระขนงที่ระหว่างพระขนงกับเส้นเปลือกพระเนตรที่ป้ายเป็นแผ่นโค้ง และพระโอษฐ์บางครั้งไม่หยักเป็นคลื่นแบบสุโขทัย แต่เป็นพระโอษฐ์ที่ยกริมพระโอษฐ์แบบอยุธยา ตัวอย่างพระพุทธรูปสำคัญคือ พระพุทธรูปสำริดพบจากวัดต่างๆ ในเมืองกำแพงเพชร จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร เช่น พระพุทธรูปปางมารวิชัย (ดังภาพที่ 11 และภาพที่ 12)
ภาพที่ 11 พระพุทธรูปปางมารวิชัย.png

ภาพที่ 11 พระพุทธรูปปางมารวิชัย หมวดกำแพงเพชร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร

ภาพที่ 12 พระเศียรพระพุทธรูป.png

ภาพที่ 12 พระเศียรพระพุทธรูป หมวดกำแพงเพชร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร

2. อิทธิพลพระพุทธรูปล้านนา

         เป็นกลุ่มพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชร ลักษณะโดยรวมแล้วแสดงให้เห็นถึงรูปแบบที่ผสมผสานระหว่างพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรในศิลปะล้านนาและสุโขทัยอย่างแท้จริง โดยที่มีลักษณะเฉพาะแบบสุโขทัยปรากฏอยู่และเป็นลักษณะที่แตกต่างจากพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรในศิลปะล้านนา คือ การประทับนั่งขัดสมาธิเพชรเป็นแบบสุโขทัยที่พระซงฆ์ไขว้กันชัดเจนเป็นสามเหลี่ยมและพระบาทลอยขึ้นไม่เรียบเสมอกันแบบล้านนา และมีชายผ้า 2 ชายซ้อนกัน ปลายม้วนคล้ายเขี้ยวตะขาบ อย่างไรก็ตามพระพักตร์ของพระพุทธรูปเมืองกำแพงเพชรกลับมีลักษณะที่ต่างไปจากสุโขทัยอย่างมาก คือ พระพักตร์เล็กพระโอษฐ์เล็ก ไม่ใช่พระโอษฐ์หยักเป็นครึ่งแบบสุโขทัย ส่วนพระวรกายค่อนข้างเล็กและป้อม จากลักษณะของการผสมผสานรูปแบบระหว่างล้านนากับสุโขทัยเป็นแบบพี่พัฒนาไปจากต้นแบบแล้ว ซึ่งน่าจะสร้างขึ้นในช่องหลังกว่าที่พบที่สุทัย และสร้างขึ้นตามคติของพระพุทธสิหิงค์ในล้านนา ที่แพร่หลายอย่างมากในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 แล้ว โดยเฉพาะภายหลังจากสุโขทัยหมดอำนาจลงและผนวกเข้ากับอยุธยา เมืองกำแพงเพชรกลางเป็นเมืองศูนย์กลางการติดต่อกันระหว่างล้านนากับอยุธยา โดยได้พบงานศิลปกรรมทั้งเจดีย์และพระพุทธรูปที่มีการผสมผสานกันระหว่างศิลปะล้านนากับศิลปะอยุธยาอย่างแท้จริง ดังภาพที่ 13
ภาพที่ 13 พระพุทธรูปปางมารวิชัย.png

ภาพที่ 13 พระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร

3. อิทธิพลศิลปะอยุธยา

         เป็นพระพุทธรูปสุโขทัยได้รับอิทธิพลศิลปะอยุธยามีลักษณะของการทำพระขนงป้าย หรือลักษณะพระโอษฐ์ที่เป็นแบบอยุธยา และที่เป็นกลุ่มพระพุทธรูปแบบอยุธยา ได้แก่ พระพุทธรูปแบบอู่ทองรุ่นที่ 2 และแบบอู่ทองรุ่นที่ 3 พระพุทธรูปดังกล่าวมีลักษณะสำคัญของพระพุทธรูปแบบอู่ทอง ได้แก่ การมีไรพระศก ขมวดพระเกศาเป็นเกลียวเล็กมาก พระรัศมีเป็นเปลวสูงอย่างมาก ประทับนั่งบนฐานหน้ากระดานหรือฐานบัวที่เว้าเป็นร่อง ส่วนที่เป็นพระพุทธรูปแบบอู่ทองรุ่นที่ 2 คือ พระพักตร์สี่เหลี่ยมสีพระพักตร์ถมึงทึง ส่วนที่เป็นแบบอู่ทองรุ่นที่ 3 คือพระพักตร์ยาวและมีลักษณะเดียวงกับพระพุทธรูปหมวดใหญ่สมัยสุโขทัย เพียงแต่มีส่วนทีแตกแต่งอย่างมากคือ ขมวดพระเกศาเล็กมาก พระรัศมีเป็นเปลวสูงอย่างมาก มีไรพระศก เป็นต้น ดังภาพที่ 14 
ภาพที่ 14 ศิลปะพระพุทธรูปปางมารวิชัย.png

ภาพที่ 14 ศิลปะพระพุทธรูปปางมารวิชัย อิทธิพลศิลปะอยุธยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

บทสรุป

         จากการศึกษา ศิลปกรรมสกุลช่างกำแพงเพชร รับอิทธิพลรูปแบบที่ผสมผสานจากศิลปะสกุลช่างต่างๆ ทั้งสุโขทัย อยุธยาและล้านนา ด้วยเพราะเป็นเมืองปากประตู ที่อยู่กึ่งกลางการสัญจรค้าขายระหว่างอยุธยาและล้านนา จนเกิดศิลปกรรมที่มีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์ของกำแพงเพชร โดยการศึกษาพบว่าศิลปะสกุลช่างเมืองกำแพงเพชรมี 2 รูปแบบดังนี้ 1.ศาสนสถาน(สถาปัตยกรรม) ในสมัยสุโขทัยกับหลังสมัยสุโขทัย 2.งานปฏิมากรรม (พระพุทธรูป) อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันศิลปกรรมสกุลช่างกำแพงเพชรบางส่วนได้มีสภาพผุพังและทลายไปตามกาลเวลา จนไม่สามารถพบเห็นรูปแบบรายละเอียดเดิมได้อย่างครบถ้วน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการศึกษาศิลปกรรมสกุลช่างกำแพงเพชร ทั้งนี้เพื่ออนุรักษ์ สืบสาน ภูมิปัญญาของชาวกำแพงเพชรให้คงอยู่สืบไป