ชนเผ่าม้ง อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:37, 28 ธันวาคม 2563 โดย Admin (คุย | มีส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย "== บทนำ == บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลเก...")
บทนำ
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับชนเผ่าม้ง อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งประกอบด้วย 3 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านตลาดม้ง ตำบลคลองลานพัฒนา หมู่บ้านใหม่ชุมนุมไทร ตำบลโป่งน้ำร้อน และหมู่บ้านป่าคา ตำบลโป่งน้ำร้อน ชนเผ่าม้งในอำเภอคลองลาน มีการประกอบอาชีพหลักคือเกษตรกรรม พืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าว อาชีพรองคือการค้าขาย และมีกลุ่มอาชีพเสริมในหมู่บ้าน เช่น กลุ่มเกษตรพัฒนา กลุ่มปักผ้าชาวเขา กลุ่มตีมิด เป็นต้น
ชนเผ่าม้งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศจีนและประเทศต่างๆใน เอเชียอาคเนย์ คือ เวียดนาม พม่า ลาว และประเทศไทย ชื่อชนเผ่าพื้นเมือง คือ“ม้ง” ภาษาม้ง “ม้ง” ภาษาไทย “ม้ง” ภาษาอังกฤษ “Hmong” ม้งในประเทศไทยแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆคือ ม้งขาว เรียกตนเองว่า "ม้ง เด๊อว" (Hmong Daw/Hmoob Dawd) และม้งเขียว เรียกตนเองว่า "ม้ง จั๊ว" (Hmong Njua/ Moob Ntsuad) คำสำคัญ : ชนเผ่าม้ง, อำเภอคลองลาน, กำแพงเพชร
ความเป็นมาชนเผ่าม้ง
ชนเผ่าม้ง (Hmoob/Moob) เป็นสาขาหนึ่งของชนชาติจีน มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ในมณฑลไกวเจา มณฑลฮูนาน และอพยพเข้าอยู่ในมณฑลกวางสีและมณฑลยูนนานกว่า 500 ปีมาแล้ว เล่ากันว่าชนเผ่าม้งอาศัยอยู่บนเขาทางทิศใต้ของมองโกเลีย และเคลื่อนย้ายเข้ามายังแผ่นดินตอนกลางของประเทศจีนมีอาณาจักรและกษัตริย์ปกครองเป็นของตนเอง ชาวจีนเคยเรียกว่าชนชาติฮั่น ชาวจีนตอนใต้ได้แบ่งชนชาติที่ไม่ใช่ชาวจีนออกเป็น 3 ชาติ คือ พวกโล-โล, ฉาน (ไทย) กับ ชนเผ่าม้ง ชนเผ่าม้งแถบแม่น้ำแยงซีเกียงสร้างโรงเรือนคร่อมที่ดินฝาก่อด้วยดินดิบ มีเตาไฟกลางห้องปลูกข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวไร่ ถั่ว ฯลฯ เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เวลารับประทานอาหารนั้นจะใช้ตะเกียบมีกระบะไม้ใส่ข้าวตั้งไว้บนโต๊ะ หมอสอนศาสนาชาวอเมริกันได้พบปะกับชนเผ่าม้ง, ชาวโล - โล และชาวปายีเป็นจำนวนมาก (บุญช่วย ศรีสวัสดิ์, 2545, หน้า 20 - 421) ชนเผ่าม้งในมณฑลยูนนานแบ่งออกได้เป็น 7 กลุ่มย่อย ได้แก่ ชนเผ่าม้งเด้อ (Hmoob Dawd) ชนเผ่าม้งจั๊วะ (Hmoob Ntsuab) ชนเผ่าม้งชื้อ (Hmood Swb) ชนเผ่าม้งเป่ (Hmood Peg) ชนเผ่าม้งเซา (Hmood Xauv) ชนเผ่าม้งซัว (Hmood Sua) และชนเผ่าม้งปัว (Hmood Pua) ปัจจุบันมีการแบ่งกลุ่มชนเผ่าม้งโดยนำเอาความแตกต่างของการแต่งกายและสำเนียงภาษามาเป็นเครื่องจำแนก สำหรับในประเทศไทยมีเพียงสองกลุ่มย่อย คือ ชนเผ่าม้งขาวหรือชนเผ่าม้งเด๊อะ (Hmoob Dawd) และชนเผ่าม้งดำหรือชนเผ่าม้งเขียว บางทีก็รู้จักกันในชื่อชนเผ่าม้งน้ำเงินหรือชนเผ่าม้งลาย ซึ่งพวกเขาเรียกตัวเองว่า ชนเผ่าม้งจั๊วะ (Hmoob Ntsuab) มีแนวคิดซึ่งเป็นการสันนิฐานเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดชนเผ่าม้ง ดังนี้ แนวคิดที่หนึ่ง โดยบาทหลวงชาวฝรั่งเศส นิกายโรมันคาธอลิก ชื่อ ซาวิน่า สันนิฐานว่าบรรพบุรุษของ ชนเผ่าม้งน่าจะอพยพมาจากดินแดนขั้วโลกเหนือ เข้ามาทางตอนเหนือของประเทศจีนสู่ดินแดนมองโกเลียลงมาทางใต้ของจีนเข้าสู่ดินแดนที่ปัจจุบันเป็นรอยต่อของประเทศจีน เวียดนาม ลาว ไทย และพม่า เพราะมีตำนานที่ชนเผ่าม้งได้เล่าว่าที่นั่นเป็นดินแดนที่หนาวจัดและปกคลุมไปด้วยหิมะ ในกลางวันนั้นเห็นพระอาทิตย์เพียงหกเดือน และไม่เห็นอีกหกเดือน (Savina, 1924 อ้างถึงในประสิทธิ์ ลีปรีชา 2548, หน้า 5) แนวคิดที่สอง ได้รับอิทธิพลจากตำนานของลาวกับจีน เน้นถึงความคล้องจองของชื่อสินชัยของลาวกับ Xeem Xais ของชนเผ่าม้ง และคำว่าชนเผ่าม้ง ( Hmood /Mood) กับ มองโกเลีย (Muam- Nkauj Liag) ความเชื่อโยงทางวัฒนธรรมทั้งสามกลุ่ม รวมถึงระบบตัวเขียนพ่าเฮา (Phaj Hauj)ในประเทศลาวก่อนสิ้นสุด ยุคสงครามเวียดนาม (Bertrais, 1985 อ้างถึงในประสิทธิ์ ลีปรีชา 2548, หน้า 5) แนวคิดที่สาม อิงหลักจากฐานทางประวัติศาสตร์ของจีนและตำนานที่สืบทอดจากบรรพบุรุษเป็นหลัก ซึ่งเชื่อว่าบรรพบุรุษชนเผ่าม้งอพยพมาจากชายฝั่งทะเลทางด้านตะวันออกของประเทศจีน หรือบริเวณทะเลเหลือง โดยค่อยๆ เคลื่อนย้ายทำมาหากินตามแม่น้ำฮวงโห (แม่น้ำเหลือง หรือ Dej - Nag)เข้ามาสู่บริเวณที่ปัจจุบันเป็นภาคกลางของประเทศจีนซึ่งมีหลักฐานทางวัฒนธรรมของชนเผ่าม้งบางอย่างที่เกี่ยวพันกับทะเลและแม่น้ำเหลือง เช่น ลายผ้ารูปก้นหอย เส้นตักขวางสองเส้นบนลายกระโปรงของหญิง ชนเผ่าม้งจั๊วะที่เป็นสัญลักษณ์ของแม่น้ำเหลืองและแม่น้ำแยงซีเกียง และภาษิตกับตำนานชนเผ่าม้งเกี่ยวกับแม่น้ำเหลือง (Vwj, 1997 อ้างถึงในประสิทธิ์ ลีปรีชา 2548, หน้า 5 - 6) จากแนวคิดที่เกี่ยวกับแหล่งกำเนิดของชนเผ่าม้ง แนวคิดที่สามมีความน่าเชื่อถือได้มาก เพราะมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของจีนและมีเอกลักษณ์ในวิถีชีวิตประจำวันของชนเผ่าม้งที่สอดคล้องกับบริบทสภาพแวดล้อม ซึ่งตามหลักฐานของจีนกล่าวว่าแหล่งกำเนิดของชนชาติ “เหมียว” มีความสัมพันธ์กับ “ซานเหมียว” และ “หนานหมาน” ในยุคดึกดำบรรพ์ คือประมาณ 5,000 ปีก่อน นักประวัติศาสตร์จีนสันนิฐานว่า บรรพบุรุษชาวเหมียวหรือชนเผ่าม้งน่าจะมาจากสัมพันธมิตรชนเผ่าที่เรียกตัวเองว่า “จิวลี่” ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่ม แม่น้ำเหลืองและแม่น้ำแยงซีเกียง มีจีเย่อ (Txiv Yawg) เป็นหัวหน้าและถูกผู้นำชนเผ่าอีกฝ่ายหนึ่ง คือ ห้วงตี่ (Faj Tim) ในปัจจุบันเข้าใจกันว่าน่าจะเป็นบรรพบุรุษของจีนนำกองกำลังเข้าโจมตีและครอบครองพื้นที่ดังกล่าวจากนั้นชาวเหมียวหรือชนเผ่าม้งจึงอพยพลงทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เข้าสู่ทะเลสาบต้งถิง (Dong Teng) ทะเลสาบโปยาง (PoYang) แล้วเคลื่อนย้ายเข้าสู่มณฑลเสฉวน กุ้ยโจวในที่สุด การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติกับการรุกรานของชาวมองโกล ชาวแมนจู และชาวฮั่น ทำให้เกิดสงครามระหว่างชนเผ่าม้งกับผู้รุกรานหลายครั้ง นอกจากนั้นนโยบายการสร้างรัฐชาติและการขุดรีดภาษีจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ทำให้ชนเผ่าม้งทนไม่ไหวและได้ลุกขึ้นก่อการกบฏหลายครั้งในประวัติศาสตร์จีน ในแต่ละครั้งได้รับการปราบปรามอย่างหนัก ส่งผลต่อการอพยพของชนเผ่าม้งจากประเทศจีนเข้าสู่บริเวณภาคเหนือของประเทศเวียดนาม ลาว ไทย และพม่า
ตารางที่ 1 จำนวนประชากรชนเผ่าม้งในประเทศต่าง ๆ ปี 2544 - 2546
ลำดับ | ประเทศ | จำนวนประชากร | หมายเหตุ |
---|---|---|---|
1 | จีน | 7,398,053 | รวมม้งทุกกลุ่ม |
2 | เวียดนาม | 787,604 | รวมม้งทุกกลุ่ม |
3 | ลาว | 315,465 | - |
4 | สหรัฐอเมริกา | 520,000 | - |
5 | ไทย | 126,300 | - |
6 | พม่า | 25,000 | ประมาณ |
7 | ฝรั่งเศส | 10,000 | - |
8 | ออสเตรเลีย | 1,600 | - |
9 | เฟรนช์เกียน่า | 1,400 | - |
10 | แคนาดา | 600 | - |
11 | อาร์เจนติน่า | 500 | ประมาณ |
12 | เยอรมัน | 150 | ประมาณ |
13 | นิวซีแลนด์ | 100 | ประมาณ |
ที่มา : Parsit 2011&2003 (อ้างถึงในประสิทธิ์ ลีปรีชา และคณะ 2554, หน้า 7)