พิธีกรรมซ้อนขวัญ บ้านคลองไพร ต.โป่งน้ำร้อน อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

บทนำ

         ความเชื่อเรื่องขวัญของคนไทยทุกภูมิภาคมีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังจะปรากฏในการดำเนินวิถีชีวิต ตั้งแต่เกิด คือเมื่อมีเด็กเกิดจะมีการรับขวัญเด็กที่เกิด ดังปรากฏในวรรณคดีเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายแก้ว ก็ได้จัดพิธีการรับขวัญพลายแก้ว ดังบทที่ว่า
                   ๏ ศรีศรีวันนี้ฤกษ์ดีแล้ว          เชิญขวัญพลายแก้วอย่าไปไหน
                   ขวัญมาอยู่สู่กายให้สบายใจ    ชมช้างม้าข้าไททั้งเงินทอง
                   ขวัญเอ๋ยเจ้ามาเถิดพ่อมา       อย่าเที่ยวล่ากะเกณฑ์ตระเวนท่อง
                   มาชมพวงแก้วแล้วพวงทอง    ข้าวของเหลือหลายสบายใจ
                   ครั้นแล้วก็โห่อีกสามที           ดับอัคคีโบกควันเจิมพักตร์ให้
                   ให้ชันษายืนหมื่นปีไป		  มีชัยชำนะสวัสดี
                   ครั้นทำขวัญเสร็จสำเร็จการ	  วงศ์วานปรีดิ์เปรมเกษมศรี
                   จนอายุพลายแก้วได้ห้าปี        พาทีแคล่วคล่องว่องไว ฯ

(ขุนช้างขุนแผน ตอน กำเนิดพลายแก้ว, อ้างถึงใน เรไร ไพรวรรณ์, 2551 หน้า 258)

         หรือแม้กระทั่งการประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำนาซึ่งถือว่าเป็นอาชีพหลักของคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ขณะที่ข้าวจวนตั้งท้องก็ได้มีการทำขวัญข้าว ที่แสดงออกถึงความเคารพพระแม่โพสพ ซึ่งเป็นอีกประเพณีหนึ่งของทางภาคกลาง เมื่อชายไทยมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ที่นับถือพระพุทธศาสนาจะต้องมีการบวชเป็นพระ ซึ่งถือเป็นประเพณีนิยมของคนไทยที่นับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งในการบวชจะต้องมีการทำขวัญเรียกว่า “ทำขวัญนาค” เพื่อเป็นการอบรม สั่งสอนให้ผู้บวชได้ระลึกถึงพระคุณของบิดามารดา หรือผู้มีพระคุณที่เลี้ยงดูมา ชาวไทยทางภาคเหนือและอีสานเมื่อมีการเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ จะมีการเรียกขวัญเพื่อให้ผู้ที่เจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ มีขวัญและกำลังใจจะเรียกพิธีนี้ว่า ช้อนขวัญ ซ้อนขวัญ หรือ ส้อนขวัญ บ้างตามแต่ละท้องถิ่น เรไร ไพรวรรณ์ (2551, หน้า 258 -266) กล่าวไว้ดังนี้ ถ้าจะพิจารณาถึงเหตุที่มีการทำขวัญจะมีสาเหตุใหญ่ 2 สาเหตุ คือ
         1. เหตุอันเนื่องมาจากสิ่งดีที่เกิดขึ้น หรือได้รับ เช่น ได้รับโชคลาภ การเลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่ง แต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ เจ้านายหรือผู้ใหญ่ที่เคารพมาเยือน ได้รับลาภพิเศษจากสัตว์ใหม่ เป็นต้น จึงจัดพิธีขึ้นเพื่อเป็นสิริมงคล
         2. เหตุอันเนื่องมาจากสิ่งไม่ดีที่เกิดขึ้น หรือได้รับ จึงจัดพิธีทำขวัญขึ้นเพื่อเป็นการสะเดาเคราะห์ปัดเสนียดจัญไรต่างๆ ให้พ้นไป เช่น การเจ็บไข้ได้ป่วย ได้รับอุบัติเหตุ ได้รับความตกใจจากเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เคราะห์ร้ายเสียทรัพย์สินเงินทอง เกิดคดีความ สัตว์หรือสิ่งของหายไปแล้วได้คืน เป็นต้น
         ประคอง นิมมานเหมินทร์ (2521, หน้า 108-109) อธิบายความหมายของ “ขวัญ” ไว้ทำนองเดียวกัน  แต่ให้เหตุผลเชิงจิตวิทยาประกอบด้วย ดังนี้
         ขวัญ คือ พลังหรือกำลังใจของคนเรา ที่มีการเรียกขวัญเมื่อเกิดหกล้มหรือเคราะห์ร้าย ก็เพราะปกติของคนเรามักมีจิตใจอ่อนแอ เมื่อมีเหตุให้ตกใจหรือเสียใจก็เกิดความหวั่นไหวเสียกำลังใจได้ บรรพบุรุษจึงมีวิธีการช่วยให้กำลังใจคืนมาเกิดความมั่นใจขึ้น การเรียกขวัญในคราวเจ็บป่วยบางทีก็ทำควบคู่ไปกับพิธีสืบชะตา ซึ่งก็เป็นพิธีทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจและสบายใจขึ้นเช่นกัน การเรียกขวัญจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตใจ ทำให้ผู้ได้รับการเรียกขวัญเกิดความเข้มแข็งขึ้น มีพลังขึ้นและมีความอบอุ่นใจขึ้น
         จากข้อความข้างต้น สรุปได้ว่า “ขวัญ” คือสิ่งที่มีอยู่ในสิ่งมีชีวิตทุกอย่าง เป็นพลังหรือกำลังใจที่     ส่งผลให้คนหรือสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ได้มีความปกติสุข ในการดำรงอยู่

คำสำคัญ : พิธีกรรมซ้อนขวัญ, คลองไพร, โป่งน้ำร้อน, คลองลาน, กำแพงเพชร