ผ้าทอย้อมสีธรรมชาติ บ้านหนองจอกพัฒนา อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร
รุ่นแก้ไขเมื่อ 15:11, 29 ธันวาคม 2563 โดย Admin (คุย | มีส่วนร่วม)
เนื้อหา
- 1 บทนำ
- 2 ความเป็นมาของการทอผ้าสีธรรมชาติ บ้านหนองจอกพัฒนา อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร
- 3 ขั้นตอนและกระบวนการผลิตผ้าทอย้อมสีธรรมชาติ
- 4 วัตถุประสงค์ของการผลิต
- 5 วัตถุดิบและส่วนประกอบ
- 6 ขั้นตอนการทอผ้าฝ้าย
- 7 กระบวนการย้อมสีธรรมชาติ
- 8 ขั้นตอนการดำเนินการย้อมสีธรรมชาติ
- 9 เทคนิคและวิธีการย้อมสีธรรมชาติด้วยวัสดุต่างๆ
- 10 บทสรุป
บทนำ
ผ้าทอเป็นศิลปะแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่น อันมีความผูกพันเชื่อมโยงวิถีชีวิต ความเชื่อ และพิธีกรรมของไทย ศาสตร์และศิลป์การทอผ้าได้รับการถ่ายทอดและสืบสานมาต่อกันมารุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน การทอผ้าในหลายท้องถิ่นยังคงรักษารูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ผ้าทอจึงเป็นมรดกทางสังคมที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นมาในอดีตอันเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มคน จากหลักฐานทางโบราณคดี พบว่า ดินแดนที่เป็นราชอาณาจักรไทยมีการทอผ้ามากกว่า 2,500 ปี ผ้าทอที่สร้างขึ้นเป็นครั้งแรกเป็นเพียงผ้าพื้นสีธรรมชาติไม่มีลวดลาย ต่อมามีได้มีการสร้างลวดลายผ้าด้วยการพิมพ์ ลวดลายเหล่านี้มีการพัฒนาต่อมาจนถึงยุคที่มนุษย์รวมกันเป็นเผ่าและอาณาจักร โดยใช้ลายผ้าเป็นเครื่องหมายของกลุ่มที่แสดงออกถึงความเชื่อผ่านสัญลักษณะ ศิลปะการทอผ้ามีการพัฒนาเรื่อยมาจนถึงยุคที่คนไทยรวมตัวกันเป็นอาณาจักรต่าง ๆ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 20-21 มีการทอผ้าขึ้นเพื่อใช้สอยในครอบครัวและเป็นการแลกเปลี่ยนซื้อขายกันผ้ามีบทบาทสำคัญตั้งแต่การใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มโดยตรงตลอดจนการใช้ผ้าเข้าไปเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีความเชื่อวัฒนธรรม ศาสนา และสังคม ผ้านับว่ามีความสำคัญในการค้าและเศรษฐกิจอีกด้วย (วิบูลย์ ลี้สุวรรณ, 2530) การทอผ้าเป็นหัตถกรรมอย่างหนึ่งที่ทำสืบต่อกันมาเป็นเวลาตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี สันนิฐานจากประวัติศาสตร์ไทยได้กล่าวไว้จากหลักฐานการแต่งกายของกษัตริย์เจ้านาย ข้าราชการคหบดี ในสมัยนั้นได้กล่าวไว้เกี่ยวกับเรื่องการส่งส่วยมักกว่าว่า “ส่งผ้าทอเป็นมัด น้ำผึ้ง ไม้หอม” และอื่นๆ เป็นเครื่องราชบรรณาการ ซึ่งการทอผ้านับว่าเป็นศิลปะที่ผู้เป็นช่างทอต้องมีความสามารถในการใช้สีของเส้นด้ายประกอบกันให้เกิดความสวยงามเหมาะสม และการแต่งแต้มสีทำให้เกิดลวดลาย การย้อม โดยเฉพาะผ้าที่เรียกว่า“ผ้ามัดหมี่” หากผู้ใดได้จับชมแล้วยากที่จะวางลงได้ การทอผ้านับว่าเป็นสถาปัตยกรรมอีกด้วย เพราะช่างทอผ้าต้องออกแบบลายผ้าของตนเองขึ้นมา โดยการนำลักษณะต่าง ๆ ของธรรมชาติ เช่น ดอกไม้ ดาว เดือน สัตว์ ของใช้มาคิดประดิดประดอยเป็นลายผ้า จนมีชื่อเรียกตามลักษณะของสิ่งเหล่านั้น เช่น ดอกแก้ว บ่าง กระเบี้ย (ผีเสื้อ) คันร่ม ขอคำเดือน ขิด สำรวจ (จรวด) หงส์ และการพัฒนาลายผ้าจากที่คิดให้มีความซับซ้อนสวยงามยิ่งขึ้น เช่น ลายขอซ้อมน้อย (เล็ก) ซ้อมใหญ่ ลายด่านน้อย ด่านกลาง ด่านใหญ่ หงส์น้อย ลายหงส์ใหญ่ การสืบทอด การถ่ายทอด ในสมัยโบราญผู้คนเรียนรู้หนังสือน้อยแทบไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนเลยโดยเฉพาะผู้หญิง ซึ่งต้องมีหน้าที่ในงานบ้านเลี้ยงลูก ทำงานทอผ้า เพื่อใช้ในการนุ่งห่มของคนในครอบครัว หลังเวลาว่างจากการทำนาทำไร่ อาศัยเวลากลางคืนบ้าง เวลาหยุดพักเพื่อรอคอยการเก็บเกี่ยวผลผลิตบ้าง นับว่าเป็นงานหนักพอสมควรสำหรับหญิงไทย เพราะเมื่อเลิกงานประจำวันแล้วยังต้องประกอบอาชีพดูแลลูกๆ และสามีให้รับประทานอาหารจนอิ่มและเข้านอนแล้ว ตนเองก็ยังมิได้พักผ่อนหลับนอนยังต้องนั่งเก็บฝ้าย (เก็บสิ่งเจือปนออกจากปุยฝ้าย) เข็นฝ้าย ดีดฝ้าย มัดหมี่ เพื่อเตรียมไว้เมื่อว่างเว้น จากการทำงานจริงๆ แล้วจึงจะทำการทอผ้า การถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ ในสมัยนั้น ต้องอาศัยความจำจากการปฏิบัติ จึงทำให้เกิดความชำนาญ ไม่มีการบันทึกเป็นภาพหรือลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด ถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก หรือเครือญาติใกล้ชิดจึงเปรียบเสมือนเป็นการสืบสายเลือดเลยก็ว่าได้ การทอผ้าแต่โบราณจะใช้ใยไหมและใยฝ้ายเป็นวัตถุดิบหลักในการทอผ้า เพราะไม่มีเส้นใยสังเคราะห์อื่นใดที่จะมาแทนเส้นใยไหมและฝ้ายได้ดี บางกลุ่มบางสถานที่ได้นำวัสดุอื่นมาใช้ เช่น ป่าน ใบสับประรถ ใบเตยหนาม ปอ มาทำเป็นวัสดุในการทอผ้าแต่ก็ไม่ได้รับความนิยามเพราะไม่เกิดความนิ่มทำให้ระคายเคืองร่างกาย สู้ใยไหมและฝ้ายไม่ได้ โดยการทอผ้าเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่คนไทยรุ่นปัจจุบันต้องช่วยกันอนุรักษ์ไว้ ในสมัยก่อนผู้หญิงไทยจะทำเครื่องใช้ต่าง ๆ ในบ้านเอง งานสำคัญอย่างหนึ่งคือการทำเสื้อผ้า ผ้านุ่ง ผ้าห่มไว้ใช้กันในครอบครัว ในพิธีกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับการเกิด การบวช การแต่งงาน การตาย ก็ต้องใช้ผ้า ผ้าทอจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตคนไทย (อมรา จิวาลักษณ์, 2546)
ความเป็นมาของการทอผ้าสีธรรมชาติ บ้านหนองจอกพัฒนา อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร
จังหวัดกำแพงเพชร มีกลุ่มทอผ้าที่ได้มาตรฐานและเป็นระบบ คือหมู่บ้านใหม่ศรีอุบล หมู่ที่ 8 ตำบลนิคมทุ่งโพธิ์ทะเล อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ที่มีการทอผ้า อย่างเป็นระบบและครบวงจรมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2534 แต่ยังไม่สามารถผลิตด้ายด้วยตนเองได้ เพราะการหาซื้อมามีต้นทุนที่ถูกกว่ามาก การผลิตผ้าจากการปั่นด้าย จนกระทั่งถึงการทอผ้า ตัดเย็บ และขายปลีกและขายส่ง อย่างครบวงจร มีระบบและสามารถเลี้ยงตนเองได้ โดยได้รับการสนับสนุนจากจังหวัดกำแพงเพชร และองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งโพธิ์ทะเลอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนมีรายได้จากการทอผ้า ตัดเย็บและเลี้ยงตัวได้ หลังจากการทำไร่ทำนา หรือว่างจากการทำเกษตรกรรมนับว่าเป็นตัวอย่างที่ดี สำหรับการรวมกลุ่มการทำงาน อย่างเข้มแข็ง ของประชาชน ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งมากขึ้น (สันติ อภัยราช, 2558) บ้านหนองจอกพัฒนา อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร เป็นอีกชุมชนที่มีประชากรที่ย้ายถิ่นฐานมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยย้ายถิ่นฐานมาจาก อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด และได้นำภูมิปัญญาการทอผ้า ตั้งแต่การปลูกฝ้าย การปั่น การย้อม และการทอผ้า โดยใช้เวลาว่างหลักจากเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรโดยมีการร่วมกลุ่มกันประกอบอาชีพทอผ้า โดยมีกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มองค์กร ห้าง ร้าน บริษัทและหน่วยงานของรัฐ ปัจจุบันกลุ่มผ้าทอหนองจอกพัฒนามีความต้องการที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างความหลากหลายให้กับลูกค้าเดิม และแสวงหาลูกค้าใหม่ ดังภาพที่ 1
ภาพที่ 1 สถานที่ตั้งของกลุ่มผ้าทอย้อมสีธรรมชาติบ้านหนองจอก อำเภอคลองคลุง จังหวัดกำแพงเพชร
ประวัติความเป็นมาของการทอผ้าสีธรรมชาติ บ้านหนองจอกพัฒนา อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร กล่าวโดย นางวิรส สอนนอก ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ ปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 78 หมู่ที่ 9 บ้านหนองจอกพัฒนา ตำบลท่ามะเขือ อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร ได้เรียนรู้การย้อมสีผ้าด้วยสีธรรมชาติจากการเข้ารับการอบรมโดยศูนย์วิชาการและเทคโนโลยีสิ่งทอผ้าพื้นบ้าน (ฝ้ายแกมไหม) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำหรับการทอผ้าได้เรียนรู้ และได้รับการถ่ายทอดจากนางนา หอมดวง อายุ 85 ปี ซึ่งเป็นมารดา ผลิตผลงานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผ้าขาวม้า ผ้าคลุมไหล่ ผ้าตัดเสื้อ เป็นต้น ซึ่งเป็นผ้าที่ย้อมจากสีธรรมชาติทั้งสิ้น ผลิตภัณฑ์ผ้าทอย้อมสีธรรมชาติของนางวิรส สอนนอก มีคุณภาพดี มีลูกค้าสนใจติดต่อขอซื้อเพื่อนำไปจำหน่ายและหรือนำไปตัดเสื้อผ้า เป็นของฝากในโอกาสต่าง ๆ ทำให้เพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว นอกจากการทำสวน ในการดำเนินงานผลิตผ้าย้อมสีธรรมชาติจะใช้เวลาในการดำเนินงานประมาณ 5 วัน และได้แบ่งผลิตภัณฑ์ ดังนี้ (วิรส สอนนอก, สัมภาษณ์, 2 กันยายน 2560) 1. ผ้าขาวม้า (สีธรรมชาติ) 2. ผ้าขาวม้า (สีเคมี) 3. ผ้าคลุมไหล่สีธรรมชาติ 4. ผ้าถุงมัดหมี่ 5. ผ้าทอขัดลายพื้นฐาน
ขั้นตอนและกระบวนการผลิตผ้าทอย้อมสีธรรมชาติ
ปัจจุบันการทอผ้ามีวิวัฒนาการโดยการประยุกต์ลายต่าง ๆ ผสมผสานกันเป็นลายใหม่ๆ รวมทั้งผ้าแต่งเสื้อสุภาพบุรุษ-สตรี โดยให้สีที่แตกต่างจากของเดิมออกไปตามความนิยมของผู้ซื้อ กรรมวิธีและเทคนิคในการทอผ้าให้เกิดลวดลายต่าง ๆ เป็นเทคนิคและความสามารถของแต่ละคน หลักใหญ่ของการทอผ้าก็คือ การนำเส้นฝ้ายหรือไหมมาขัดกันให้เป็นลาย โดยขึ้นเส้นกลุ่มหนึ่งเป็นหลัก เรียกว่า เส้นยืนแล้วใช้อีกเส้นหนึ่ง เรียกว่าเส้นพุ่ง สอดตามขวางของเส้นยืน เมื่อสานขัดกันก็จะเป็นลวดลายต่างๆ ผ้าบางชนิด ผู้ทอจะคิดหาวิธีสอดด้วยและสอดสีสลับกัน บางวิธีก็จะจับผูกและมัดเน้นเป็นช่วง ๆ หรืออาจจะยกด้ายที่ทอเป็นระยะ ๆ ทำให้เกิดลวดลายสวยงามผู้ทอต้องสามารถจดจำลวดลายที่ตนคิดประดิษฐ์ได้ ถึงแม้แต่ละลวดลายจะมีความซับซ้อนและหลากหลาย แต่เขาก็สามารถนำมาประสานกันได้อย่างเหมาะเจาะ งดงามแสดถึงภูมิปัญญาและความสามารถของชาวชนบทเป็นอย่างดี ผ้าทอมือจึงมีเทคนิคการทอและความสวยงามเป็นที่สุด ดังภาพที่ 2
ภาพที่ 2 การผลิตผ้าทอย้อมสีธรรมชาติบ้านหนองจอก
วัตถุประสงค์ของการผลิต
1. เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มอาชีพเกษตรกรร่วมกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาอาชีพ 2. เพื่อให้เกษตรกรพัฒนาบทบาทความสามารถของตนเองด้วยการทอผ้าและย้อมสีธรรมชาติ เพื่อเป็นอาชีพเสริมให้กับเกษตร 3. เพื่อให้สมาชิกในกลุ่มมีความสามัคคี เรียนรู้ร่วมกันและแก้ปัญหาด้านต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี 4. เพื่อให้กลุ่มอาชีพส่งเสริมเกษตรกรเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้และเป็นแกนนำในการพัฒนาอาชีพของกลุ่มต่อไป 5. ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มอาชีพได้รับรองมาตรฐาน มผช.
วัตถุดิบและส่วนประกอบ
1. ไหมสังเคราะห์อุปกรณ์ในการผลิต 2. กี่ 3. ก้านสวย 4. ไนปั่นฝ้าย 5. หลอดใส่ฝ้าย 6. อักกวักฝ้าย 7. ไม้คอนอัก 8. หลักเผือ 9. หลักหลอด 10. ฟืม
ขั้นตอนการทอผ้าฝ้าย
การทอผ้าย้อมสีธรรมชาติของอำเภอไทรงาม ส่วนใหญ่ทอด้วยฝ้ายซึ่งมีขั้นตอนการเตรียมฝ้ายและการทอผ้า ดังนี้
การเตรียมเส้นฝ้ายที่จะนำไปทอ
1. นำฝ้ายที่ได้แยกเป็นเส้นด้าย ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “ การกวักด้าย ” 2. นำเส้นฝ้ายที่กวักแล้ว ไปเตรียมทอ ( ภาษาถิ่นเรียกว่า คันลาย ) แล้วจึงเลือกเอาลายแบบที่ต้องการนำไป “ สืบหูก ” คือ สอดเป็นลายยืนเข้มกับฟืมที่ใช้ทอ 3. นำเส้นฝ้ายไปนั่งปั่นใส่ในหลอดที่ทำจากแท่งเล็กๆ ที่ไส้กลางจะกลวง ปั่นให้มีขนาดหลอดไม่ใหญ่จนเกินไป ใส่ในกระสวยได้
ขั้นตอนการทอ
1. นำฝ้ายเส้นไปกางในกี่ที่จะใช้ทอ 2. นำเส้นด้ายที่ปั่นไว้ในหลอดมาทอตามลายที่ต้องการ
กระบวนการย้อมสีธรรมชาติ
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการย้อมสีธรรมชาติ
การย้อมสีธรรมชาติด้วยวัสดุต่างๆ ก็จะได้สีที่ออกมาแตกต่างกันไป ตามภูมิปัญญาของผู้ย้อมผ้าในอดีตซึ่งมีความชาญฉลาดเป็นอย่างยิ่งในการคิดค้นเอาสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติและใกล้ตัวมาทำการทดลองจากการสังเกต ช่างคิดและจดจำ จึงทำให้บรรพชนในรุ่นต่อๆ มาต่างยึดถือเอาวิธีการดังกล่าวมาใช้ อันเป็ผลให้เกิดประโยชน์อย่างมากมายแก่อนุชนรุ่นหลังและต่อๆไป
สีธรรมชาติที่ใช้
สีธรรมชาติที่ใช้ทั้งหมดได้จากพืช จากเปลือกไม้ ใบไม้ และลูกไม้ เช่น เปลือกต้นเพกาให้สีเขียวแก่ลูกมะเกลือ ใบเหวให้สีเขียวอ่อน ลกกระบก (มะลื่น) ให้สีเทา และครั่งให้สีชมพูอมม่วง วิธีการสกัดน้ำสีจากส่วนต่างๆของพืชแตกต่างกันไป ในกรณีที่เป็นใบน้ำสีมักจะได้มาจากการหมักใบ ถ้าเป็นลูกไม้ เช่น ลูกมะเกลือ น้ำสีจะได้จาการหมักลูกมะเกลือที่ถูกทุบจนแหลกละเอียดแล้ว ส่วนในกรณีของเปลือกไม้หรือรากไม้จะนำมาสับเป็นชิ้นเล็กๆบางๆ แล้วนำมาต้มจึงจะได้น้ำสีที่ต้องการ สีธรรมชาติที่ใช้ที่บ้านหนองปิ้งไก่ส่วนใหญ่ได้จากการเก็บพันธุ์พืชเหล่านี้มาจากบนเขาและในป่า น้ำสีที่สกัดได้จากพืชในแต่ล่ะครั้งก็ยังให้สีที่แตกต่างกันไปบ้าง
การย้อมสีสิ่งทอที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติ
ด้วยภูมิปัญญาของคนรุ่นปู่ย่าตายายที่ได้ศึกษาทดลองซ้ำแล้วซ้ำอีก จนกระทั่งได้องค์ความรู้ในการย้อมสีผ้าด้วยวัสดุธรรมชาติที่ไม่เป็นพิษต่อผู้คน สัตว์และธรรมชาติ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้กลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือหาเลี้ยงชีพของพี่น้องชาวชนบท ผู้ซึ่งมีบทบาทและส่วนร่วมโดยตรงในการดำรงไว้ซึ่งเป็นวัฒนธรรมอันงดงาม สียอมผ้าที่ได้จากธรรมชาติเกิดจากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติหลายๆ อย่างนับตั้งแต่ต้นไม้ พืช สัตว์ แร่ธาตุต่างๆ โดยมีรายละเอียดดังนี้
ตารางที่ 1 ส่วนของพืชที่ให้สีไปใช้ประโยชน์
ส่วนต่างๆของพืช | วิธีการให้ได้มาซึ่งสี |
---|---|
ดอก | นำไปแช่และคั้นเอาน้ำสี |
ใบและกิ่งก้าน | นำไปหมักและคั้นเอาน้ำสี |
ผล – เมล็ด | นำไปโขลกและคั้นเอาน้ำสี |
เปลือกและแก่น | นำไปต้มน้ำจนเดือดจะได้น้ำสี |
ราก | นำไปแช่และคั้นเอาน้ำสี |
ตารางที่ 2 ตัวอย่างสีจากธรรมชาติที่ได้จากพืช
ตารางที่ 3 ตัวอย่างสีธรรมชาติที่ได้จากสัตว์
ชนิดของวัสดุ | ส่วนที่ใช้ | สีที่ได้ |
---|---|---|
ครั่ง | ตัวครั่ง | ม่วงแดง |
ตารางที่ 4 ตัวอย่างสีธรรมชาติที่ได้จากแร่ธาตุ
ชนิดของวัสดุ | ส่วนที่ใช้ | สีที่ได้ |
---|---|---|
ดินแดง | ดินแดง | แดงอิฐ |
โคลน | โคลน | เทาอ่อน |
ขั้นตอนการดำเนินการย้อมสีธรรมชาติ
การทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ เป็นการย้อมผ้าด้วยวัสดุธรรมชาติ ผสมกับวัสดุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดเป็นสีต่างๆ ในแต่ละแห่งจะมีวิธีการ ขั้นตอน และเทคนิควิธีย้อม ที่แตกต่างกันไป ช่างทอผ้าแต่ละคนมีวิธีการย้อมผ้าของตนเอง ซึ่งจะเก็บไว้เป็นความลับ และถ่ายทอดให้แก่ลูกสาว ปัจจุบัน ความลับเหล่านี้ได้สูญหายไปเป็นส่วนมาก คงเหลืออยู่แต่ในการทำสีเพียงบางสีเท่านั้น การย้อมสีธรรมชาติ ของกลุ่มทอผ้าในเขตอำเภอไทรงาม จะมีวิธีการที่คล้ายกัน แต่จะแตกต่างกันบ้างในด้านเทคนิค และอัตราส่วน ซึ่งจะแตกต่างกันตามความรู้และประสบการณ์ของแต่ละคนโดยทั่วไปแล้วจะมีขั้นตอน ส่วนประกอบ และวิธีการ ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 การเตรียมวัตถุดิบ 1. นำเส้นฝ้ายดิบมาแช่น้ำทิ้งไว้หนึ่งคืน จากนั้นนำมาซักให้สะอาดเพื่อเอาแป้งออก เส้นฝ้ายจะนุ่มพร้อมอุ้มสี นำมาต้มเพื่อช่วยละลายไขมัน 2. นำวัตถุดิบธรรมชาติจากพืชให้สีที่เราต้องการย้อม โดยนำส่วนของใบที่แก่จัดหรืออ่อนในพืชบางชนิด เช่น ใบสัก เปลือกไม้ นำมาสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ โดยใช้อัตราส่วน ใบไม้ 2 กิโลกรัม ต่อ ฝ้าย 1 กิโลกรัม ขั้นตอนที่ 2 ต้มใบไม้ที่สับแล้วประมาณ 1 ชั่วโมง อย่าให้น้ำเดือดเกินไป จากนั้นกรองเอาเศษใบไม้
ออกให้เหลือเฉพาะน้ำสี
ขั้นตอนที่ 3 นำเส้นฝ้ายที่ผ่านการซักทำความสะอาดและต้มซักแล้ว ใส่ลงไปในหม้อต้ม กดเส้นใยฝ้ายให้จมมิดน้ำ ขั้นตอนที่ 4 หลังการต้มครบ ๓ ชั่วโมงแล้ว น้ำเส้นฝ้ายขึ้นจากหม้อ ล้างเส้นฝ้ายให้สะอาด ขั้นตอนที่ 5 นำเส้นฝ้ายลงไปในอ่างกระตุ้นสี เช่น สนิม น้ำปูใส น้ำโคลน น้ำสารส้ม น้ำขี้เถ้า จุนสี ดินลูกรัง เป็นต้น เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ขยำ หมัก บีบเส้นฝ้ายให้ดูดซึมทั่วผืน ถ้าต้องการนำไปกระตุ้นสี อ่างอื่นๆ อีกต้องการซักน้ำให้สะอาดเสียก่อนแล้วจึงหมักลงในในสารกระตุ้นสีตัวใหม่ ขั้นตอนที่ 6 นำมาซักล้างให้สะอาด สีส่วนเกินจะหลุดหมด จากนั้นนำไปผึ่งให้แห้ง ควรผึ่งในร่มไม่ให้ถูกแดด ข้อสังเกต การย้อมฝ้ายเพื่อป้องกันไม่ให้สีตกจะเติมน้ำด่างร่วมด้วย ใบยูคาลิปตัส ใบมะขาม น้ำขี้เถ้าไฟ
เทคนิคและวิธีการย้อมสีธรรมชาติด้วยวัสดุต่างๆ
การย้อมสีเขียวจากเปลือกต้นเพกา เอาเปลือกเพกามาหั่น หรือสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ นำไปต้ม 20 นาที ช้อนเอาเปลือกออก ต้มเถาถั่วแปบเอาแต่น้ำใสเติมลงไปใส่น้ำมะเกลือกเล็กน้อย ใส่ปูนขาวและใบส้มป่อยผสมลงไป ทิ้งไว้สักพัก แล้วกรองให้เหลือแต่น้ำสีพร้อมที่จะย้อม นำเอาน้ำย้อมตั้งไฟพออุ่น นำด้ายฝ้ายซึ่งซุบน้ำบิดพอหมาด จุ่มลงในอ่างย้อม ต้มต่อไปนาน 20 นาที จนได้สีที่ต้องการ ยกด้ายฝ้ายออก ซักน้ำสะอาดใส่ราวกระตุกตากจนแห้ง จะได้สีเขียวตามที่ต้องการ การย้อมสีเขียวจากเปลือกสมอ เอาเปลือกสมอมาต้มเคี่ยวให้แห้งพอสมควร รินเอาแต่น้ำใส่หม้อดิน เอาด้ายฝ้ายที่ผ่านการย้อมครามมาครั้งหนึ่งแล้ว ลงไปย้อมในน้ำสีที่ยังร้อนอยู่ ต้มต่อไปประมาณ 1 ชั่วโมง หมั่นกลับด้ายฝ้ายไปมา เพื่อให้สีดูดซึมอย่างสม่ำเสมอ พอได้สีที่ต้องการยกด้ายฝ้ายขึ้นกระตุน ตากให้แห้งจะได้สีเขียวตามที่ต้องการ การย้อมสีกากีแกมเขียวจากเปลือกเพกากับแก่นขนุน เอาเปลือกเพกาสดๆ มาล้างน้ำ ผึ่งแดดสัก 2-3 แดด พักทิ้งไว้ เอาแก่นขนุนหั่นหรือใสให้เป็นชิ้นบางๆ แบ่งเอามา 1 ส่วน ผสมกับเปลือกเพกา 3 ส่วน ต้มเคี่ยวให้น้ำเดือดแล้วกรองเอาแต่น้ำ เวลาย้อมเติมน้ำสารส้มเล็กน้อยเพื่อให้สีติดดีและทนทาน การย้อมเอาด้ายฝ้ายซึ่งชุบน้ำแล้วบิดพอหมาดลงในอ่างย้อมหมั่นกลับด้ายฝ้ายไปมา เพื่อให้สีติดสม่ำเสมอ ไม่ด่าง จึงยกด้ายฝ้ายขึ้นซักน้ำให้สะอาดบิดกระตุก แล้วนำไปตาก การย้อมสีน้ำตาลแก่จากเปลือกไม้โกงกาง นำเอาเปลือกไม้โกงกางที่แห้งพอหมาด มาล้างน้ำให้สะอาด แช่น้ำไว้ 1 คืน แล้วต้มเคี่ยวไว้ 2 วัน กรองเอาแต่น้ำย้อมใส่สารเคมีไฮโดรเจนซัลไฟต์ ผสมลงในน้ำย้อมเล็กน้อย เพื่อให้สีติดดีขึ้น เอาด้ายฝ้ายที่ชุบน้ำพอหมาดจุ่มลงในน้ำย้อม ตั้งไฟต้มนาน 30 นาที ยกด้ายฝ้ายขึ้นซักน้ำ บิดให้แห้ง กระตุกด้ายฝ้ายให้กระจาย ตากแดด การย้อมสีเปลือกไม้โกงกาง แช่เปลือกไม้โกงกางในปริมาณพอสมควรไว้นาน 3 วัน แล้วตั้งไฟต้มให้เดือด จนเห็นว่าสีออกหมดดีแล้ว จึงเทน้ำใส่ลงใสอ่างย้อม หมักแช่ไว้ 1 คืน นำเอาเปลือกไม้ผึ่งแดดจนแห้งเก็บไว้ใช้ต่อไป สีเปลือกไม้นี้ถ้าถูกต้มจะกลายเป็นสีดำได้ แต่ทนน้ำเค็ม การย้อมสีด้วยรากยอ เอารากยอแห้งที่มีอายุสักหน่อย เพื่อจะให้ได้สีเข้มมาสับหรือหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ นำไปต้มน้ำที่เดือด น้ำสีจะเป็นสีแดงจึงยกลง กรองเอาแต่น้ำสี นำเอาด้ายฝ้ายซึ่งเตรียมจะย้อมชุบน้ำให้เปลือกพอหมาดลงแช่ในน้ำสีประมาณ 30 นาที หรือกว่านั้น หมั่นยกด้ายฝ้ายกลับไปกลับมาเพื่อให้สีติดด้ายฝ้ายอย่างทั่วถึง แล้วนำด้ายฝ้ายที่ย้อมขึ้นจากหม้อบิดพอหมาด นำไปล้างน้ำสะอาด แล้วผึ่งให้แห้ง จะได้ด้ายฝ้ายที่ย้อมเป็นสีแดงที่ต้องการ การย้อมสีด้วยเมล็ดคำแสด วิธีเตรียมสีจากเมล็ดคำแสด แกะเมล็ดออกจากผลที่แก่จัด แช่น้ำร้อนหมักทิ้งไว้หลายๆ วัน จนสารสีตกตะกอน แยกเมล็ดออก นำน้ำสีที่ได้ไปเคี่ยวจนงวดเกือบแห้งแล้วนำไปตากแดด จนแห้งเป็นผงเก็บไว้ใช้ วิธีย้อมสีผ้าฝ้าย ละลายสีเช่นเดียวกับการย้อมสีผ้าฝ้าย แต่นำผ้าไหมที่ต้องการย้อมแช่ไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง และเติมสบู่ลงเล็กน้อยลงไปในสีที่ใช้ย้อม ถ้าต้องการให้ผ้ามีสีเหลืองเพิ่มขึ้นให้เติมกรด Tataric ลงไปเล็กน้อยผ้าที่ย้อมด้วยสีจากเมล็ดคำแสดที่จะไม่ตกง่ายเมื่อถูกับสบู่ หรือกรดอ่อนๆ การย้อมสีดำจากลูกมะเกลือ นำเอาลูกมะเกลือ มาตำละเอียด แล้วแช่ในน้ำ ในน้ำที่แช่นี้เอารากลำเจียก หรือต้นเบง ตำปนกับลูกมะเกลือ แล้วเอาได้ฝ้ายที่ลงน้ำแล้วบิดพอหมาดลงย้อมในน้ำย้อม สัก 3-4 ครั้ง การย้อมทุกครั้งต้องตากแดดให้แห้งจนเห็นว่าดำสนิทดี ถ้าต้องการให้ผ้าเป็นเงาใช้งาดำตำละเอียด นำด้ายฝ้ายมาคลุกเคล้าให้ทั่ว ผึ่งไว้สักพัก กระตุกตาก การย้อมอีกอย่างหนึ่ง คือ เอาลูกมะเกลือที่แช่น้ำทิ้งไว้นั้นในปริมาณที่ต้องการมาตำให้ละเอียดพร้อมกับใบหญ้าฮ่อมเกี่ยวแล้วเอาไปแช่น้ำด่าง (ได้จากต้นมะขามเผาไฟให้เป็นขี้เถ้า แล้วละลายน้ำกรองเอาน้ำใสๆ จะได้น้ำย้อมที่ต้องการ) นำเอาด้ายฝ้ายที่ลงน้ำบิดพอหมาด จุ่มลงในอ่างย้อม ใช้มือช่วยบีบด้วยฝ้ายเพื่อให้สีดูดซึมอย่างทั่วถึง ปล่อยทิ้งสักพักแล้วยกขึ้นจากอ่างน้ำย้อม ซักให้สะอาดกระตุกตากให้แห้ง การย้อมสีแดงจากดอกคำฝอย นำดอกคำฝอยมาตำให้ละเอียด ห่อด้วยผ้าขาวบางผสมน้ำด่างเพื่อให้เกิดสี (น้ำด่างได้จากการนำต้นผักขมหนามที่แก่จนเป็นสีแดงหรือน้ำตาลมาตากให้แห้งสนิทแล้วนำไปเผาไฟให้เป็นขี้เถา ผสมกับน้ำทิ้งให้ตกตะกอน รินเอาแต่น้ำใสๆ มาผสมกับสี) ส่วนวิธีย้อมทำโดยนำดอกคำฝอยมาต้มให้น้ำออกมาๆจนเหนียว เก็บน้ำสีไว้ จากนั้นเอาแก่นไม้ฝางมาไสด้วยกบบางๆแล้วต้มให้เดือดประมาณ 6 ชั่วโมง ช้อนกากทิ้ง เวลาจะย้อมผ้า นำเอาน้ำย้อมที่ต้มแล้วทั้งสองอย่างมาเทรวมเข้าด้วยกัน แล้วเติมสารส้มลงไปเล็กน้อย คนให้เข้ากันดีนำฝ้ายที่ชุบน้ำและตีเส้นให้กระจายลงย้อมในอ่างย้อม การย้อมสีเขียวจากใบหูกวาง เอาใบหูกวางมาตำคั้นเอาแต่น้ำสีกรองให้สะอาดต้มให้เดือดเอาฝ้ายที่เตรียมไว้ ลงย้อมจะได้เป็นสีเขียวอ่อน หมั่นยกด้ายฝ้ายกลับไปกลับมา เพื่อไม่ให้ด้ายฝ้ายด่าง และสีย้อมจะได้ติดทั่วถึง พอได้ความเข็มของสีติดด้ายฝ้ายตามต้องการจึงยกขึ้นบิดพอหมาด ซักน้ำสะอาดผึ่งให้แห้ง การย้อมสีชมพูจากต้นมหากาฬและต้นฝาง เอาเปลือกของต้นมหากาฬมาสับให้ละเอียดต้มในน้ำเดือดประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วช้อนเอาเปลือกออก เติมไม้ฝางซึ่งฝางซึ่งผ่าเป็นชิ้นเล็กๆ ลงไปต้มน้ำเดือดนาน 1 ชั่วโมง เติมใบส้มป่อยลงไปอีก 1 กำ ต้มต่อไปอีกเล็กน้อย ช้อนเอากากออกมาเติมน้ำด่างลงไป จะได้น้ำย้อมสีชมพูจึงเอาด้ายฝ้ายที่ชุบน้ำบิดพอหมาด จุ่มลงไปในอ่างย้อม ตั้งไฟต้มนาน 30 นาที ยกขึ้นจากอ่างย้อมนำไปซักน้ำบิดให้แห้งกระตุกให้เส้นด้ายกระจายตากแดด การย้อมสีจากคราม ตัดต้นครามมาม้วนและมัดเป็นฟ่อนๆ นำไปแช่น้ำไว้ในภาชนะที่เตรียมไว้ประมาณ 2-3 วัน จนใบคราเปื่อย จึงแก้มัดครามออกเพื่อให้ใบครามหลุดออกจากลำต้น นำลำต้นทิ้งไปเอาปูนในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับน้ำที่แช่ครามผสมลงแทนต้นคราม จากนั้นนำเอาขี้เถ้าซึ่งได้จากเหง้ากล้วยเผาจนดำ ผสมลงไป ทิ้งไว้ประมาณ 2-3 คืน จนกว่าน้ำที่กวนใส รินน้ำที่ใสออกทิ้ง จะได้น้ำสีครามตามที่ต้องการ อาจใช้ผ้าขาวบางกรองเพื่อจะได้น้ำสีครามที่ละเอียด นำด้ายไปขยำในหม้อครามพยายามอย่าให้ด้ายพันกัน ให้น้ำสีกินเข้าไปในเนื้อด้ายฝ้ายอย่างั่วถึง จนกระทั่งได้สีเข้มตามต้องการ จึงยกได้ฝ้ายขึ้นจากหม้อ บิดให้หมาดล้างน้ำสะอาด น้ำไปขึ้นราวตากให้แห้ง การย้อมสีเหลืองจากแก่นขนุน นำแก่นขนุนที่แห้งแล้วมาหั่นหรือไสด้วยกบเบาๆ มือขยำให้ป่นละเอียด ห่อด้วยผ้าขาวบาง แล้วต้มประมาณ 4 ชั่วโมง ดูว่าสีนั้นออกตามความต้องการหรือยังเมื่อใช้ได้ช้อนเอากากทิ้งกรองเอาน้ำใสเติมน้ำสารส้มเล็กน้อย เพื่อให้สีติดดี เอาด้วยฝ้ายซึ่งชุบน้ำพอหมาด จุ่มลงในอ่างย้อม กลับด้ายฝ้ายไปมานาน 1 ชั่วโมง เอาขึ้นจากอ่างย้อม ซักน้ำสะอาดกระตุกตาก
บทสรุป
การดำเนินการเก็บข้อมูลผ้าทอย้อมสีธรรมชาติบ้านหนองจอกพัฒนา อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร พบว่า มีการรวมกลุ่มกันภายในหมู่บ้านเนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่มาจากภาคอีสานมีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับผ้าทอเป็นอย่างดี อีกทั้งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมให้เกิดอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับชุมชน ครอบครัวของบ้านหนองจอกพัฒนา และได้รับการพัฒนาให้เกิดการย้อมสีธรรมชาติ จากวัสดุ พืช แร่ธาตุ ที่มีอยู่ในชุมชน เพื่อสร้างความเป็นเอกลักษณ์ของผ้าทอจึงเกิดเป็นผ้าทอย้อมสีธรรมชาติบ้านหนองจอกพัฒนา ที่ได้รับการยอมรับจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด และได้ผ่านเกณฑ์การคัดสรรผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น 5 ดาว ส่งเสริมให้เกิดการสร้างรายได้ให้กับประชาชนในชุมชนเป็นอย่างดี และจากการสำรวจข้อมูลศิลปวัฒนธรรม ด้านการทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ จะเป็นข้อมูลเพื่อเผยแพร่ให้กับกลุ่มอาชีพต่าง ๆ สถานศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้ศึกษาหาความรู้ อีกทั้งยังเป็นคู่มือเกี่ยวกับการย้อมสีธรรมชาติเพื่อประกอบการดำเนินงานสำหรับผู้สนใจทั่วไปเป็นการพัฒนาความรู้ความสามารถอีกทางหนึ่ง