ประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อและข้อห้ามของหมู่บ้านวุ้งกะสัง จังหวัดกำแพงเพชร
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:25, 3 กรกฎาคม 2566 โดย Admin (คุย | มีส่วนร่วม) (→ประเพณี ความเชื่อและพิธีกรรมในชุมชนหมู่บ้านวุ้งกะสัง)
บทนำ
ชาวบ้านที่อาศัยในหมู่บ้านวุ้งกะสัง ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร มีเชื้อสายเป็นชาวไทยกะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) ปัจจุบันตั้งถิ่นฐานในเขตอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า ซึ่งชุมชนบ้านวุ้งกะสังเป็นชุมชนที่มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นในหลายด้าน เช่น อาหาร การแต่งกาย ภาษา ความเชื่อ ประเพณี วิถีวัฒนธรรม บ้านเรือน ที่ยังคงรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของวิถีชาวกะเหรี่ยงได้อย่างดี รวมถึงมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่เป็นถ้ำ น้ำตก และต้นมะเดื่อยักษ์ ชุมชนบ้านวุ้งกะสัง เป็นชุมชนยังคงรักษาประเพณี ความเชื่อ การแต่งกาย ภาษา อาหาร วิถีวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงแบบดั้งเดิม ซึ่งมีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น และในปัจจุบันก็ยังคงปฏิบัติกันอยู่ และสามารถนำอัตลักษณ์ที่เป็นวิถีวัฒนธรรมของชุมชนไปเผยแพร่ ในด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชนได้ ทำให้ประชาชนมีงานและรายได้จากการท่องเที่ยวของชุมชน เพื่อให้เข้าใจวิถีชีวิตประเพณี ความเชื่อ และข้อห้ามหรือค่านิยมต่างๆภายในชุมชนชาวไทยกะเหรี่ยง(วุ้งกะสัง) ผู้เขียนจึงขอนำเสนอประเพณีการเกิด การแต่งงาน รวมไปถึงประเพณีและพิธีกรรมอื่นๆที่น่าในสนใจของชาวบ้านวุ้งกะสัง
คำสำคัญ: ประเพณี, พิธีกรรม, ความเชื่อ, หมู่บ้านวุ้งกะสัง, จังหวัดกำแพงเพชร
ข้อมูลทั่วไปของชุมชน
หมู่บ้านวุ้งกะสังตั้งอยู่ที่ ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวปกากะญอ หรือคนทั่วไปเรียกว่า ชาวกะเหรี่ยง ชาวกะเหรี่ยงอาศัยตัวอยู่ในหุบเขามามากว่า 200 ปี หมู่บ้านวุ้งกระสัง เดิมชาวปกากะญอที่วุ้งกระสังเรียกตัวเองว่า “ทีล่อชู โวซะโกร” หมายความว่า น้ำตก คลองวุ้งกระสัง ช่วยหล่อเลี้ยงคนทั้งหมู่บ้านวุ้งกระสัง นับได้ว่าวุ้งกระสังเป็นหมู่บ้านที่ยังคงรักษาวิถีเดิมๆ ไม่เปลี่ยนแปลงมากว่าร้อยปี ด้านประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ และข้อห้ามต่างๆ ของหมู่บ้านวุ้งกะสังชน นั้นมีควบคู่ไปกับการนับถือผีของชาวบ้าน เช่นเดียวกับชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่อื่น ๆ โดยเฉพาะการนับถือเรื่องผีวิญญาณและสิ่งเหนือธรรมชาติ ส่วนใหญ่มีความโดยเชื่อว่าผีเป็นผู้ดูแล กำกับพฤติกรรมทุกอย่างตั้งแต่เกิด เช่น ผีบ้านผีเรือน เป็นผีประจำบ้านเรือน ผีวิญญาณของปู่ ย่า ตา ยายที่วนเวียนภายในบ้านคอยป้องกันรักษาบุตรหลานให้อยู่อย่างสงบสุข ส่วนผีบ้านเป็นผีหรือ เทพารักษ์รักษาหมู่บ้าน บางที่เรียกว่า ผีเจ้าเมือง หรือผีเจ้าที่ เจ้าป่า เจ้าเขา ผีฝาย ผีนา ซึ่งมี ความสำคัญมากโดยเฉพาะในพิธีกรรมเกี่ยวกับการเกษตร การดำรงชีพและพิธีกรรมเกี่ยวกับความอยู่ ดีมีสุขของคนในหมู่บ้าน เป็นต้น (มะลี ทองคำ, การสัมภาษณ์, 14 ธันวาคม 2565)
ประเพณี ความเชื่อและพิธีกรรมในชุมชนหมู่บ้านวุ้งกะสัง
1. ประเพณีการเกิด เมื่อสตรีกะเหรี่ยงตั้งครรภ์ ก็จะต้องปฏิบัติอย่างระมัดระวังตังอย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้คลอดบุตรยากเป็นอันตรายแก่แม่และเด็ก อาหารเป็นเรื่องสำคัญ หญิงมีครรภ์ต้องไม่รับประทานอาหาร ที่ไม่คุ้นเคยหรือที่คนอื่นทำมาขาย การดื่มเหล้า เชื่อว่าจะทำให้แท้งและการกินขนุนจะทำให้ทารกในครรภ์เกิดมาเป็นโรคผิวหนัง นอกจากนี้นั้นยังห้ามหญิงมีครรภ์ไปงานศพ เพราะวิญญาณผู้ตาย ไปสู่โลกได้ง่ายๆ หากเผอิญไปเห็นศพหรือคนตายเข้า ก็จะต้องทำพิธีเรียกขวัญกันอย่างด่วน และคนในหมู่บ้านก็จะช่วยกันระมัดระวังมิให้เกิดเหตุการณ์ใดๆ มารังควานหญิงมีครรภ์ เช่นไม่ล้มต้นไม้ขวางทางเดินไว้ เพราะจะทำให้ผู้ไปพบคลอดบุตรยาก ต้องปัดรังควานหรือขอขมากันด้วยไก่หนึ่งตัว (มะลี ทองคำ, การสัมภาษณ์, 14 ธันวาคม 2565) การดูแลรักษาสุขภาพของหญิงกะเหรี่ยงตั้งครรภ์ในด้านการดูแลสุขภาพให้มีความแข็งแรงนั้น ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากบรรพบุรุษเดิมเช่นเดียวกับเผ่าอื่นๆ คือเริ่มตั้งแต่เด็กที่อยู่ในท้อง มารดาจนถึงวัยชราภาพ ซึ่งจะเห็นได้จากจะมีข้อห้ามและข้อพึงปฏิบัติทั้งบิดาและมารดาเช่น ห้ามกินตัวอ่อนของตัวต่อ ห้ามกินอาหารที่มียาง เช่น เผือก ขนุน ห้ามกินเนื้อหมูป่าและสัตว์ที่ถูกเสือกัดตาย ห้ามนอนหลับมากเกินไปและทำงานหนักเกินไป นอกจากนั้น สตรีกะเหรี่ยงตั้งครรภ์จะต้องกินผักบำรุงร่างกาย รักษาความสะอาด ทำงานให้พอเหมาะ และรักษาอารมณ์ให้ดีอยู่เสมอ การคลอดตามปกติหญิงกะเหรี่ยงจะให้กำเนิดทารก ในบ้านของตนเองโดยมีสามี มารดา และ ญาติอื่น ๆ คอยช่วยเหลือ เวลาคลอดจะนั่งชันเข่าบนพื้นโดยโหนผ้าซึ่งผูกห้อยลงมาจากขื่อ ช่วยนวดดันทารกออกจากครรภ์ขณะที่เธอเบ่งอยู่นั้น เมื่อทารกพ้นออกจากครรภ์ เขาจะตัดสายสะดือด้วยผิวไม้ไผ่และห่อรกด้วยผ้าบรรจุลงในกระบอกไม้ไผ่ จากนั้นจะให้พ่อของเด็กนำสะดือที่อยู่ในกระบอกไม้ไผ่ไปแขวนไว้บนต้นไม้ในป่า ต้นไม้ต้นนี้เรียกว่า "ป่าเดปอ" เป็นต้นไม้ที่ใช้เก็บขวัญเด็ก ห้ามตัดต้นไม้ต้นนี้เพราะจะทำให้เด็กล้มป่วย หรือถึงแก่ชีวิตได้ ถ้ามีคนไม่รู้และไปตัดต้นไม้ต้นนั้น จะต้องทำการเรียกขวัญเด็กทันที โดยตามผู้เชี่ยวชาญมาประกอบพิธีสวดทำน้ำมนต์รดทั่วตัวมารดา เสร็จแล้วสามี หรือบิดาของเธอจะทำพิธีเรียกขวัญให้มารดาและเด็ก เมื่อเด็กครบเดือนจึงจะทำพิธีตั้งชื่อ พ่อแม่จะผูกข้อมือเด็กและเจาะหู เพื่อแสดงว่าทารกนี้เป็นคนมิใช่วานร แล้วกล่าว "บัดนี้เจ้าเป็นคนแล้ว" หากเด็ก ล้มป่วยลงหลังจากคลอดออกมาเพียงไม่กี่วัน พ่อแม่ก็จะไปที่ฝังรกเด็กแล้วเรียกขวัญให้กลับเข้าร่าง หากป่วยเมื่ออายุมากกว่าสองสัปดาห์ขึ้นไป ก็จะต้องเซ่นผีด้วยไก่เพื่อซื้อวิญญาณเด็ก เมื่อขึ้นบ้านก็จะเคาะบันไดล่วงหน้าขึ้นไป แล้วรีบเข้าบ้านเพื่อดูให้แน่ใจว่าวิญญาณได้เข้าร่างเด็กแล้ว พิธีเรียกขวัญนี้คือพิธีผูกขวัญครั้งแรกของบุคคลผู้นี้ที่เกิดมาลืมตาอยู่บนโลก คนกะเหรี่ยงเชื่อว่าขวัญของคนมีอยู่ 37 ขวัญที่อยู่ในรูปของสัตว์ชนิดต่างๆ การผูกขวัญครั้งแรกของทารกนี้ก็จะทำให้ทารกได้รับขวัญที่ 37 ขวัญนี้ โดยครบถ้วน ซึ่งได้แก่
1.ขวัญหัวใจ | 2.ขวัญมือซ้าย | 3.ขวัญมือขวา |
4.ขวัญเท้าซ้าย | 5.ขวัญเท้าขวา | 6.ขวัญหอย |
7.ขวัญปู | 8.ขวัญปลา | 9.ขวัญเขียด |
10.ขวัญแย้ | 11.ขวัญจิ้งหรีด | 12.ขวัญตั้กแตน |
13.ขวัญตุ๊กแก | 14.ขวัญแมงมุม | 15.ขวัญนก |
16.ขวัญหนู | 17.ขวัญชะนี | 18.ขวัญหมูป่า |
19.ขวัญไก่ป่า | 20.ขวัญเก่ง | 21.ขวัญกวาง |
22.ขวัญสิงห์ | 23.ขวัญเสือ | 24.ขวัญช้าง |
25.ขวัญข้าว | 26.ขวัญงู | 27.ขวัญตุ่น |
28.ขวัญเม่น | 29.ขวัญเลียงผา | 30.ขวัญแรด |
31.ขวัญเต่า | 32.ขวัญตะกวด | 33.ขวัญกุ้ง |
34.ขวัญอีเห็น | 35.ขวัญกระทิง | 36.ขวัญต่อ |
37.ขวัญนกแก๊กนกแกง |
(Widebase, 2549)