ท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรมสลกบาตร
บทนำ
เมืองไทยนั้นได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองพุทธ โดดเด่นในเรื่องของศาสนาและวัฒนธรรม มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนามานานหลายร้อยปี ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย “วัด” ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยให้เข้าไปกราบไหว้ ถือศีล หรือปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และสั่งสอนให้เป็นคนดี ไม่ว่าจะไปที่ไหน ทำอะไร ชีวิตประจำวันจะเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาอยู่เสมอ และทุกครั้งที่ออกเดินทาง สถานที่แรกที่มักไปเพื่อเอาฤกษ์เอาชัยก็คือ “วัด” ที่อยู่ในท้องถิ่นนั้น การท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรมหรือการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณ กลายเป็นการท่องเที่ยวอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศในขณะนี้ โดยให้ความสนใจเป็นพิเศษ กับวัด แหล่งโบราณสถาน และสถานที่ปฏิบัติธรรม เนื่องจากวัดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมสืบเนื่องมาเป็นเวลาช้านานแล้ว มีคุณค่าต่อจิตใจและมีความศักดิ์สิทธ์และงดงามเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวไทย วัดจึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวประเภทหนึ่ง คือเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวประเภทที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่มีความแตกต่างจากแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้นประเภทอื่นเนื่องจากมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรม และสังคม รวมถึงความผูกพันทางจิตใจต่อชนรุ่นหลัง (กระทรวงวัฒนธรรม, 2557, ออนไลน์) ตำบลสลกบาตร ถือเป็นสถานที่ทางผ่านหรือจุดพักรถของนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเหนือและใต้ หากสามารถดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในชุมชนได้ จะทำให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้จึงได้แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรมที่น่าสนใจและโดดเด่น ได้แก่ วัดหงษ์ทอง (หลวงพ่อจุล) วัดสิงคาราม และ วัดสลกบาตร สำาหรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่มุ่งหวังที่จะได้รับความเพลิดเพลินและได้บุญกุศลไปพร้อมกัน
คำสำคัญ : ท่องเที่ยว, ศาสนาและวัฒนธรรม, สลกบาตร
วัดสิงคาราม
วัดสิงคารามหรือวัดสิงห์ เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองสลกบาตร มีองค์พระเก่าที่ชาวบ้านเรียก “หลวงปู่สิงห์” สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ภายในวัดมีโบราณสถานและโบราณวัตถุเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนชาวบ้านตำบลสลกบาตรกันมาช้านานถือว่าเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่ของตำบลสลกบาตร
ภาพที่ 1 หลวงปู่สิงห์ (หลวงปู่เจ้าวัด) ก่อนเริ่มบูรณะ
ที่มา: (พร้อมเพรียง ภูริญาโณ, 2559, ออนไลน์)
วัดสิงคาราม เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดกำแพงเพชร โดยเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2521 ในหลวงรัชกาลที่ 10 สมัยทรงอิสริยยศเป็นสยามกุฏราชกุมาร ทรงเสร็จเป็นองค์ประธานตัดหวายลูกนิมิต ซึ่งทำให้ชาวสลกบาตรภูมิใจ และยังช่วยกันทำนุบำรุงวัดสืบกันมา
ภาพที่ 2 วิหารหลวงปู่สิงห์ (หลวงปู่เจ้าวัด) ก่อนเริ่มบูรณะ
ที่มา: (พร้อมเพรียง ภูริญาโณ, 2559, ออนไลน์)
ปัจจุบันได้มีการบูรณะวิหารหลวงปู่สิงห์ โบราณสถาน และโบราณวัตถุอื่นๆ ขึ้นมาอย่างสวยงามเพื่อให้ประชาชนชาวสลกบาตรหรือผู้ที่ผ่านมาไว้แวะมาสักการบูชาและขอพร
ภาพที่ 3 หลวงปู่สิงห์ (หลวงปู่เจ้าวัด) หลังบูรณะ
วิหารหลวงหลวงปู่สิงห์ (หลวงปู่เจ้าวัด) ทำฝ้าเพด้านด้วยไม้สักทอง รั้วแกะสลักประจำปีเกิด 12 ราศี ลวดลายภายในวิหารมีความประณีตและสวยงาม นอกจากนี้ภายในวัดยังมีโบราณสถาน โบราณวัตถุ และสิ่งศักดิ์สิทธ์อื่นๆ ได้แก่ พระบรมสารีริกธาตุ อุโบสถ ต้นตะเคียนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนับถือ ฯลฯ
ภาพที่ 4 พระธาตุสถานเก็บพระบรมสารีริกธาตุ และต้นตะเคียนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนับถือ
ภาพที่ 5 พระพุทธรูปที่ชาวบ้านนับถือกราบไหว้
วัดหงษ์ทอง (หลวงพ่อจุล)
วัดหงษ์ทอง (หลวงพ่อจุล) เป็นวัดที่ชาวบ้านสลกบาตรให้ความเลื่อมใสศรัทธาและได้รับการกล่าวถึงในเรื่องของวัตถุมงคลเป็นอย่างมาก เนื่องจาก “พระวชิรสารโสภณ” หรือ “หลวงพ่อจุล อิสสรญาโณ” อดีตเจ้าอาวาสวัดหงษ์ทอง และยังเป็นอดีตเจ้าคณะอำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร เป็นพระเถระที่ชาวบ้านให้ความเลื่อมใสศรัทธามาช้านาน สร้างโรงเรียนวชิรสารโสภณและสนับสนุนโรงเรียนสลกบาตรมาเป็นเวลานาน หลวงพ่อปฏิบัติในพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัด มีคุณูปการแก่พระศาสนาอเนกประการ อบรมสั่งสอนญาติมิตรและสาธุชนทั่วไปให้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างดีตลอดมา
ภาพที่ 6 วัดหงษ์ทอง (หลวงพ่อจุล)
โดยถือเป็นอัจฉริยะตั้งอยู่ในฐานะอภิปูชนียบุคคลสมเป็นที่เคารพนับถือและรักใคร่แก่ศิษยานุศิษย์ ญาติมิตรและสาธุชนทั่วไป เมื่ออายุมาก สังขารร่วงโรย หลวงพ่อจุลมีอาการอาพาธเป็นเบาหวานและโรคปอด หลวงพ่อมรณภาพ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2512 สิริอายุได้ 74 ปี พรรษาที่ 51 หลังจากหลวงพ่อได้มรณภาพ คณะศิษยานุศิษย์ที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาร่วมกันจัดสร้างวัตถุมงคลขึ้น มีอยู่หลายรุ่น ซึ่งเป็นที่นิยมของบรรดานักสะสมพระเครื่องวัตถุมงคลคือ “เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อจุลรุ่นแรก วัดหงษ์ทอง กำแพงเพชร พ.ศ. 2499” จัดสร้างขึ้นวาระที่คณะศิษย์ชาวเมืองกำแพงเพชรสร้างเป็นที่ระลึกถวายไว้แจกเป็นที่ระลึก ลักษณะเป็นเหรียญรูปสี่เหลี่ยม มีหูห่วง จัดสร้างเป็นเนื้อทองแดงกะไหล่ทองด้านหน้าเหรียญ ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อจุลนั่งขัดสมาธิเต็มองค์หันหน้าตรง ใต้รูปเหมือน เขียนคำว่า “ที่ระลึกในงานถวายของขวัญพระครูวิกรมวชิรสาร วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2499” ด้านหลังเหรียญตรงเป็นตรงกลางเป็นอักขระยันต์ เหรียญหลวงพ่อจุล เป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมในวงการ มีพุทธคุณโดดเด่นด้านแคล้วคลาดปลอดภัย ปัจจุบันเหรียญรุ่นดังกล่าวเริ่มหายาก ส่วนใหญ่ถูกตามเก็บเข้ากรุ ชาวบ้านได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างรูปหล่อหลวงพ่อจุล เพื่อระลึกถึงท่านและถือเป็นที่พึ่งทางใจเพื่อให้ชาวบ้านสลกบาตรและผู้ที่ผ่านมาเข้ามากราบไหว้ขอพร
ภาพที่ 7 เจ้าคุณพระวชิรสารโสภณ (จุล)
ภาพที่ 8 ศาลาทรงไทยพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน และบรรยากาศร่มรื่นภายในวัด
บรรยากาศภายในวัดหงษ์ทอง (หลวงพ่อจุล) ร่มรื่น สงบ มีโบราณสถาน โบราณวัตถุต่างๆ รอบวัด นอกจากกิจกรรมทางศาสนา วัดยังมีบ่อปลาไว้ให้อาหารปลา รวมถึงได้สร้างศาลาทรงไทยพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเพื่อเป็นแหล่งศึกษาให้กับชาวบ้านและบุคลลที่มาเยี่ยมชม
วัดสลกบาตร
วัดสลกบาตร เป็นวัดป่าที่รักษารูปแบบการถือศีลแบบพระธุดง เดิมใช้ชื่อว่า “สำนักพุทธรักษา” สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2524 นำโดยพระมหาแก้วพุทธรกขิโต ชาวบ้านได้นิมนต์ท่านมาพำนักอยู่จำพรรษา เนื่องจากเป็นป่าธรรมชาติเหมาะแก่การเจริญสมณธรรม
ภาพที่ 9 ศาลาปฏิบัติธรรม
ซึ่งต่อมาคุณจอยและคุณจันทร์ เรืองศรีจันทร์ และครอบครัว ได้ยกที่ดินจำนวน 6 ไร่ เพื่อใช้สร้างวัดใช้ชื่อว่าสำนักสงฆ์พุทธรักษา และมีการพัฒนาต่อเนื่องมาเป็นลำดับ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ 2528 ได้ประกาศตั้งวัดใช้ชื่อว่าวัด “สลกบาตร” โดยมีพระครูวชิรประภากร เป็นรักษาการแทนเจ้าอาวาสในขณะนั้น ชาวบ้านสลกบาตร นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไปนิยมใช้วัดสลกบาตรเป็นสถานที่สำหรับถือศีล เข้าค่ายธรรมะ ปฏิบัติธรรม และจัดกิจกรรมทางศาสนา
ภาพที่ 10 หลวงพ่อทันใจ
วัดสลกบาตร เป็นวัดป่าที่รักษารูปแบบการถือศีลแบบพระธุดงค์ ซึ่งชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “วัดป่าสลกบาตร” วัดสลกบาตรได้จัดให้มีการบวชชีพราหมณ์บ่อยครั้งและได้สร้างองค์พระขนาดใหญ่ คือ “หลวงพ่อทันใจ” ซึ่งชาวสลกบาตรร่วมแรงร่วมใจกันสร้างเสร็จภายในวันเดียวเพื่อให้ประชาชนชาวสลกบาตรหรือผู้ที่ผ่านไปมาได้แวะสักการะบูชาขอพร
บทสรุป
แหล่งท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรมของตำบลสลกบาตร สะท้อนถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรมชุมชน ของคนในพื้นที่นั้นๆ การสืบสานพระพุทธศาสนาตลอดจนศิลปวัฒนธรรมอันดีงามให้อยู่คู่ชาติไทย เมื่อวัดเป็นสถานที่ช่วยบ่มเพาะปลูกจิตสำนึกให้คนเป็นคนดี ดังนั้นคนในชุมชนจึงจำเป็นต้องช่วยกันสนับสนุนกิจของวัดทั้งทางกาย ทางใจ และกำลังทรัพย์ให้มีคุณค่าต่อจิตใจ มีความศักดิ์สิทธ์ และงดงามเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาต่อไป