การตัดกระดาษไทย : ศิลปะพรานกระต่ายที่ใกล้เลือนหาย
รุ่นแก้ไขเมื่อ 15:13, 6 มกราคม 2564 โดย Admin (คุย | มีส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย "== บทนำ == เราทุกคนเกิดมาบนโลกนี้ต้องอาศัยการอยู่ร่ว...")
เนื้อหา
บทนำ
เราทุกคนเกิดมาบนโลกนี้ต้องอาศัยการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มก้อน ทำให้เกิดสังคมระดับต่างๆ กระจายตัวอยู่ทั่วพื้นแผ่นดินทั่วโลก ในการรวมตัวนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อความปลอดภัยในการดำรงชีวิต ทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกัน เช่น การล่าสัตว์เพื่อมาประทังชีวิต มีการติดต่อสื่อสารสร้างภาษาที่เป็นการติดต่อระหว่างกลุ่ม ด้วยการดำรงชีวิตเหล่านี้ทำให้ต้องคิดสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ เพื่อตอบสนองความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษา ซึ่งได้ใช้ธรรมชาติรอบตัวทำให้เกิดประโยชน์ในการนำมาเป็นอาหาร นำมาใช้ปกปิดร่างกาย นำมาสร้างที่อยู่อาศัย อีกทั้งยังนำมาใช้บำบัดโรค เมื่อเจ็บป่วยไข้ อาจเกิดจากการลองผิดลองถูกนำเอาสิ่งแวดล้อมรอบตัวมาประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์และแก้ปัญหาการดำรงชีวิต ในประเทศไทยสิ่งประดิษฐ์พื้นบ้านที่มีการพัฒนาจากอดีตมาหลายพันปีจนมาถึงปัจจุบัน ซึ่งทำให้รู้ได้ว่าชาวไทยในอดีตเคยอาศัยอยู่ ณ ที่ใด เช่น มีการขุดค้นพบเครื่องมือหินที่จังหวัดอุดรธานี จังหวัดลำปาง จังหวัดแพร่ และจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ หลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นงานโลหะงาน เครื่องแก้ว เครื่องประดับ งานเย็บปักถักร้อย ล้วนแล้วแต่แสดงถึงความเป็นอยู่ของมนุษย์ซึ่งได้รวมตัวกันอยู่และสร้างชิ้นงานเพื่อตอบสนองวิถีชีวิต เมื่อมนุษย์มีความเจริญขึ้นทางความคิดมากขึ้นรู้จักปรับใช้ธรรมชาติรอบตัว รูปแบบของวัตถุโบราณที่เคยค้นพบก็ปรับพัฒนาขึ้นเช่นกัน มีการออกแบบที่สวยงามขึ้น การใช้ประโยชน์ที่ดีขึ้น ซึ่งการรวมกลุ่มของคนในสมัยโบราณจะสืบทอดเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของศิลปะท้องถิ่นไปยังลูกหลาน ซึ่งจะแสดงถึงอัตลักษณ์ของท้องถิ่นอย่างชัดเจนมากขึ้น ความแตกต่างดังกล่าวมีสาเหตุหลายประการ อาทิ 1.ความจำเป็น ทางประโยชน์ใช้สอย 2.วัตถุหรือวัตถุดิบ 3.รสนิยมตกทอด 4.สังคมและขนบธรรมเนียมประเพณี 5.กติกาความเชื่อ 6.สภาพแวดล้อมงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านในยุคก่อนสร้างไว้ใช้เฉพาะตนเองเท่านั้นแต่ด้วยวิถีชีวิตของคนไทยที่มีความเอื้ออารีก็มักจะแลกเปลี่ยนของใช้ มอบน้ำใจสร้างมิตรภาพให้กัน จนก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนซื้อขายเล็กๆ เกิดขึ้น มีกำไรเล็กน้อยจนพัฒนามาถึงในยุคการขายปัจจุบัน (เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล, 2553, น. 10) คุณค่าและความสำคัญศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน เป็นศิลปกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของมนุษย์ ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน เป็น ผลผลิต ทางปัญญาของคนระดับชาวบ้านพื้นถิ่น ผู้คนโดยส่วนใหญ่มักมองข้ามคุณค่าและความสำคัญของศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านแขนงต่างๆ บ้างละเลยจนบางสิ่งอันดีงามที่บรรพบุรุษได้รังสรรค์ไว้ ต้องสูญหายไป เช่น ในอำเภออ่างศิลา จังหวัดชลบุรี ครั้งหนึ่งมีการทอผ้า ซึ่งเป็นงานศิลปะระดับชาวบ้านที่มีชื่อเสียง ลวดลายมีลักษณะ พิเศษแตกต่างจากแหล่งอื่น แต่ปัจจุบันไร้ซึ่งคนรู้จักและผู้สืบทอด ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านชิ้นดังกล่าว จึงค่อยๆ เสื่อมสูญลงในที่สุด สาเหตุที่คนในสังคมส่วนใหญ่ไม่เห็นคุณค่าและความสำคัญของศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน อาจเกิดจากการ มองและเข้าไม่ถึงธรรมชาติ รวมทั้งจิตวิญญาณของช่างฝีมือผู้สร้างสรรค์ผลงานก็เป็นได้ อีกทั้งยังปรากฏศิลปะ สาขาอื่นๆ ที่มีความหรูหราฟูฟ่ามากกว่า หรืออาจเกิดจากความเคยชิน พบเห็นจนชินตาถึงความเรียบง่ายและ ความสุนทรีย์แบบธรรมดาของศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน (นฤทธิ์ วัฒนภู, 2555, น. 21) หากผู้ศึกษาศิลปะและคนในสังคมเปลี่ยนทัศนคติต่อศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านให้ดีขึ้น มองและเข้าถึงผลงาน ผ่านลงไปถึงช่างผู้สร้าง จะได้รับรู้ว่าผู้สร้างสรรค์ผลงานบางท่านไม่ได้รับการร่ำเรียนมาจากสถาบันการศึกษาใดเลย พวกเขาผลิตผลงานตามความรู้สึกนึกเห็นจากระดับภูมิปัญญาที่มากน้อยต่างกัน รวมทั้งจากจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์จึงเกิดเป็นผลงานศิลปะของชาวบ้านแบบสามัญชนคนธรรมดาแท้ๆ บางรายมีความสามารถมากผลิต ผลงานศิลปะจนสร้างเป็นอาชีพหลักเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัว ส่งลูกหลานได้เรียนในระดับสูงเท่าเทียมกับผู้ที่ประกอบอาชีพอื่นทั่วไป ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านจึงมีความสำคัญต่อสังคม ซึ่งสามารถสรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้ 1. สำคัญต่อการดำรงชีวิต 2. ด้านรสนิยมทางความงาม 3. บ่งบอกระดับภูมิปัญญา 4. บ่งบอกเรื่องราวในอดีต 5. บ่งบอกอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น 6. สร้างอาชีพ ซึ่งจากกระแสบุพเพสันนิวาสฟีเวอร์ทำให้คนไทยหันมาสนใจประวัติศาสตร์ ขนมธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมของไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้หวลคิดถึงศิลปวัฒนธรรมอันดีที่บรรพบุรุษสืบทอดมายังคนรุ่นหลังเป็นจำนวนมาก บางอย่างเกือบจะสูญหายไปแล้วงานศิลปหัตถกรรมการตัดกระดาษไทยเป็นงานที่มีความสวยงามมีคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมเป็นงานที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นเป็นภูมิปัญญาที่สั่งสมมานาน ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะให้ความสนใจศึกษาแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อก่อให้เกิดรายได้ในครัวเรือนและชุมชน (วีระ ขำดวง, 2551, น.1) ประเทศไทยมีวัฒนธรรมและประเพณีอันเก่าแก่ที่สืบทอดต่อกันมานานนับหลายร้อยปี กาลเวลาอาจพัดพาให้วัฒนธรรมและประเพณีบางอย่างอาจเปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้เหมาะสมกับความสะดวกส่วนบุคคลเวลาและความต้องการของสังคมไปบ้างอีกทั้งกระแสของสังคมโลกผันแปรไปตามยุคสมัย ความนิยมกระแสต่างๆจากต่างประเทศที่เข้ามาพร้อมกับเทคโนโลยีอันทันสมัย เข้ามามีบทบาททำให้ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ฯลฯ ของคนไทยเปลี่ยนไปอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากกระแสละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส ที่ออกอากาศทางวิทยุโทรทัศน์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก หัวใจของการพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมให้ยั่งยืนนั้นคือ “การศึกษา” (education) ซึ่งความสนุกของละคร ที่ได้รับความนิยมคือการสร้างมายาคติของความสมจริง ซึ่งผู้ชมในยุคสมัยใหม่สามารถเข้าถึงได้หรือมีจุดขายซึ่งโยงเข้าหาตนเอง เช่น ตัวละครที่มีนิสัยและมุมมองสมัยใหม่แต่เข้าไปเรียนรู้และซึมซับวัฒนธรรมและศิลปะในอดีต ในขณะเดียวกันก็ถ่ายทอดสังคมในอดีตให้สมจริงโดยการเน้นมิติที่หลากหลายทั้งด้านดีและด้านเสียของธรรมเนียมประเพณีและประวัติศาสตร์ (พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา, 2561, สืบค้นออนไลน์) เรื่องศิลปะการตัดกระดาษแก้วในประเทศไทยมีมาแต่โบราณยังคงสืบทอดและยังใช้กันอยู่จนถึงปัจจุบันตัดกระดาษแบบพื้นบ้านสามารถเรียนรู้ได้ในระยะเวลาไม่นาน ใช้ในงานบุญ งานรื่นเริงหรือแม้กระทั่งงานสีดำ คนไทยมักนิยมใช้กระดาษสีประดับประดาสถานที่ตกแต่งให้มีความสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นติดกับเชือกโยงในงานต่าง ๆ ประดิษฐ์เป็นพวงมาลัย ฉลุเป็นปีนักษัตรต่างๆ หรือตัดกระดาษแก้วติดบริเวณหน้าต่างแทนม่าน ประดับขบวนรถแห่ให้ดูโดดเด่น การประดับประดากระดาษตัดสามารถใช้ไม่ว่าจะเป็นงานวัด งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน งานรับขวัญ หรืองานอื่นๆ การตัดกระดาษแก้วนั้นเรียนรู้ได้ง่ายและนำมาใช้ได้จริง มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในส่วนของภาคเหนือ แต่ละจังหวัดอาจมีชื่อการเรียกที่แตกต่างกันไป บางจังหวัดใช้ตัดกระดาษแก้วตกแต่งในงานประจำปีอย่างแพร่หลาย เช่น เพชรบุรี เชียงใหม่ น่าน นครสวรรค์ แต่หากเป็นคนไทยเชื้อสายจีน จะใช้แบบการตัดกระดาษแก้วจากแบบของประเทศจีนมากกว่า นอกจากนั้น ในต่างประเทศก็ยังมีศิลปะการตัดกระดาษแก้วให้เราพบเห็นอยู่ในหลายประเทศ เช่น ประเทศพม่า ประเทศลาว ประเทศจีน ประเทศกัมพูชา เป็นต้น อำเภอพรานกระต่ายเป็นอำเภอเก่าแก่ในจังหวัดกำแพงเพชร มีภาษาถิ่นและเขตพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดสุโขทัยซึ่งเคยเป็นราชธานี ทำให้วัฒนธรรมโบราณหลากหลายด้านปรากฏขึ้นที่อำเภอแห่งนี้ แม้แต่ศิลปะการตัดกระดาษไทยด้วยกระดาษแก้ว ก็ยังคงหลงเหลือผู้สืบสานต่อจากบรรพบุรุษ บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นการตัดกระดาษไทยศิลปะพรานกระต่ายที่ใกล้เลือนหาย จากอำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร โดยรวบรวมวิธีการทำจากนายธรรมนูญ ยายอด
คำสำคัญ : ตัดกระดาษไทย, ศิลปะการตัดกระดาษ, กระดาษติดบ้านงาน, พวงระย้า, พวงมโหตร, ชายกระดาษ, ลวดลายตัดกระดาษ
ผู้ค้นพบ/ผู้คิดค้น/ผู้นำมาใช้
นายธรรมนูญ ยายอด (ชาวบ้านทั่วไปเรียก อาจารย์นูญ) เกิดเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2498 ปัจจุบันอายุ 63 ปี บิดาชื่อ นายคำ ยายอด มารดาชื่อ นางมาลัย ยายอด ทั้งบิดา-มารดาเป็นชาวพรานกระต่ายโดยกำเนิด ปัจจุบันเสียชีวิตแล้วทั้งคู่ มีพี่น้องร่วมบิดา ทั้งหมด 3 คน ซึ่งบิดาได้แต่งงานใหม่กับคุณแม่มาลัย ยายอด ซึ่งเป็นมารดาของอาจารย์นูญ เนื่องจากภรรยาคนแรกได้เสียชีวิต และมีพี่น้องร่วมบิดา-มารดา จำนวน 6 คน ซึ่งอาจารย์นูญเป็นบุตรคนที่ 2 พี่น้อง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขายและทำเกษตรกรรม มีเพียง 1 คน ที่เป็นพนักงานรัฐวิสากิจ (การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอคีรีมาส จังหวัดสุโขทัย) อาจารย์นูญได้เรียนรู้ทักษะการตัดกระดาษมาจากนายใบ้ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของบิดาของตนเอง (พ่อคำ ยายอด เป็นช่างชาวพรานกระต่ายมีความสามารถในงานไม้ งานแทงหยวก งานตัดกระดาษ และงานศิลปหัตถกรรมหลายชนิด) การตัดกระดาษนำมาใช้ในงานได้หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นงานแต่งงาน งานบวช งานขึ้นบ้านใหม่ งานฉลอง งานมโหรสพต่างๆ แม้กระทั้งงานศพ ซึ่งเป็นการตกแต่งสถานที่ให้ดูสวยงานและเป็นการบ่งบอกถึงบริเวณของงาน
ภาพที่ 1 นายธรรมนูญ ยายอด ช่างตัดกระดาษ/แทงหยวก/เจ้าพิธี ชาวพรานกระต่าย อายุ 65 ปี
การตัดกระดาษแก้วเป็นศิลปะการตกแต่งสถานที่เพื่อให้มีความสวยงามระยิบยามต้องลม เสน่ห์แห่งสีสัน ที่เคลื่อนไหวยามมีงานรื่นเริงในเทศกาลงานบุญคนไทยมีความเป็นศิลปะอยู่ในตัวตนกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เมื่อมีงานบุญกุศลหรืองานอกุศล ก็จะร่วมแรงร่วมใจกันช่วยคนละไม้ละมือ ใครที่ทำอาหารได้ก็ทำอาหาร ใครที่ชำนาญในด้านการตกแต่งสถานที่ก็ร่วมด้วยช่วยกัน มาจนจวบปัจจุบันทุกวันนี้ เมื่อมีงานบุญตามวัดวาอาราม มักมีการตกแต่งประดับด้วยกระดาษสีที่ตัดแต่งอย่างสวยงามซึ่งมีหลายแบบหลายลักษณะ
วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้การประดิษฐ์พวงมโหตร
1. กระดาษแก้วหลากสี 2. กรรไกร 3. กาว 4. ไม้บรรทัด 5. กระดาษแข็ง 6. คัดเตอร์ 7. เชือกด้าย หรือ เอ็น 8. ไม้ไผ่หลาวให้กลม 9. ดินสอ 10. ตัวหนีบกระดาษ
วิธีการทำพวงมโหตร
การทำพวงมโหตรใช้กระดาษแก้ว แต่หากอยากให้เกิดความสวยงามมากขึ้นต้องใช้กระดาษแก้วหลายๆ สี และพับ-ตัดกระดาษ ตามขั้นตอนต่อไปนี้