การตัดกระดาษไทย : ศิลปะพรานกระต่ายที่ใกล้เลือนหาย

จาก KPPStudies
รุ่นแก้ไขเมื่อ 15:53, 6 มกราคม 2564 โดย Admin (คุย | มีส่วนร่วม) (วิธีการทำกระดาษติดบ้านงาน)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

บทนำ

         เราทุกคนเกิดมาบนโลกนี้ต้องอาศัยการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มก้อน ทำให้เกิดสังคมระดับต่างๆ กระจายตัวอยู่ทั่วพื้นแผ่นดินทั่วโลก ในการรวมตัวนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อความปลอดภัยในการดำรงชีวิต ทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกัน เช่น การล่าสัตว์เพื่อมาประทังชีวิต  มีการติดต่อสื่อสารสร้างภาษาที่เป็นการติดต่อระหว่างกลุ่ม ด้วยการดำรงชีวิตเหล่านี้ทำให้ต้องคิดสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ เพื่อตอบสนองความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษา ซึ่งได้ใช้ธรรมชาติรอบตัวทำให้เกิดประโยชน์ในการนำมาเป็นอาหาร นำมาใช้ปกปิดร่างกาย นำมาสร้างที่อยู่อาศัย อีกทั้งยังนำมาใช้บำบัดโรค  เมื่อเจ็บป่วยไข้ อาจเกิดจากการลองผิดลองถูกนำเอาสิ่งแวดล้อมรอบตัวมาประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์และแก้ปัญหาการดำรงชีวิต 
         ในประเทศไทยสิ่งประดิษฐ์พื้นบ้านที่มีการพัฒนาจากอดีตมาหลายพันปีจนมาถึงปัจจุบัน ซึ่งทำให้รู้ได้ว่าชาวไทยในอดีตเคยอาศัยอยู่ ณ ที่ใด เช่น มีการขุดค้นพบเครื่องมือหินที่จังหวัดอุดรธานี จังหวัดลำปาง จังหวัดแพร่ และจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ หลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นงานโลหะงาน เครื่องแก้ว เครื่องประดับ งานเย็บปักถักร้อย ล้วนแล้วแต่แสดงถึงความเป็นอยู่ของมนุษย์ซึ่งได้รวมตัวกันอยู่และสร้างชิ้นงานเพื่อตอบสนองวิถีชีวิต เมื่อมนุษย์มีความเจริญขึ้นทางความคิดมากขึ้นรู้จักปรับใช้ธรรมชาติรอบตัว รูปแบบของวัตถุโบราณที่เคยค้นพบก็ปรับพัฒนาขึ้นเช่นกัน มีการออกแบบที่สวยงามขึ้น การใช้ประโยชน์ที่ดีขึ้น ซึ่งการรวมกลุ่มของคนในสมัยโบราณจะสืบทอดเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของศิลปะท้องถิ่นไปยังลูกหลาน ซึ่งจะแสดงถึงอัตลักษณ์ของท้องถิ่นอย่างชัดเจนมากขึ้น ความแตกต่างดังกล่าวมีสาเหตุหลายประการ อาทิ 1.ความจำเป็น ทางประโยชน์ใช้สอย 2.วัตถุหรือวัตถุดิบ 3.รสนิยมตกทอด 4.สังคมและขนบธรรมเนียมประเพณี 5.กติกาความเชื่อ 6.สภาพแวดล้อมงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านในยุคก่อนสร้างไว้ใช้เฉพาะตนเองเท่านั้นแต่ด้วยวิถีชีวิตของคนไทยที่มีความเอื้ออารีก็มักจะแลกเปลี่ยนของใช้ มอบน้ำใจสร้างมิตรภาพให้กัน จนก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนซื้อขายเล็กๆ เกิดขึ้น มีกำไรเล็กน้อยจนพัฒนามาถึงในยุคการขายปัจจุบัน (เศรษฐมันตร์  กาญจนกุล, 2553, น. 10)  
         คุณค่าและความสำคัญศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน เป็นศิลปกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของมนุษย์ ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน เป็น ผลผลิต ทางปัญญาของคนระดับชาวบ้านพื้นถิ่น ผู้คนโดยส่วนใหญ่มักมองข้ามคุณค่าและความสำคัญของศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านแขนงต่างๆ บ้างละเลยจนบางสิ่งอันดีงามที่บรรพบุรุษได้รังสรรค์ไว้ ต้องสูญหายไป เช่น ในอำเภออ่างศิลา จังหวัดชลบุรี ครั้งหนึ่งมีการทอผ้า ซึ่งเป็นงานศิลปะระดับชาวบ้านที่มีชื่อเสียง ลวดลายมีลักษณะ พิเศษแตกต่างจากแหล่งอื่น แต่ปัจจุบันไร้ซึ่งคนรู้จักและผู้สืบทอด ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านชิ้นดังกล่าว จึงค่อยๆ เสื่อมสูญลงในที่สุด สาเหตุที่คนในสังคมส่วนใหญ่ไม่เห็นคุณค่าและความสำคัญของศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน อาจเกิดจากการ มองและเข้าไม่ถึงธรรมชาติ รวมทั้งจิตวิญญาณของช่างฝีมือผู้สร้างสรรค์ผลงานก็เป็นได้ อีกทั้งยังปรากฏศิลปะ สาขาอื่นๆ ที่มีความหรูหราฟูฟ่ามากกว่า หรืออาจเกิดจากความเคยชิน พบเห็นจนชินตาถึงความเรียบง่ายและ ความสุนทรีย์แบบธรรมดาของศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน (นฤทธิ์  วัฒนภู, 2555, น. 21) 
         หากผู้ศึกษาศิลปะและคนในสังคมเปลี่ยนทัศนคติต่อศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านให้ดีขึ้น มองและเข้าถึงผลงาน ผ่านลงไปถึงช่างผู้สร้าง จะได้รับรู้ว่าผู้สร้างสรรค์ผลงานบางท่านไม่ได้รับการร่ำเรียนมาจากสถาบันการศึกษาใดเลย พวกเขาผลิตผลงานตามความรู้สึกนึกเห็นจากระดับภูมิปัญญาที่มากน้อยต่างกัน รวมทั้งจากจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์จึงเกิดเป็นผลงานศิลปะของชาวบ้านแบบสามัญชนคนธรรมดาแท้ๆ บางรายมีความสามารถมากผลิต ผลงานศิลปะจนสร้างเป็นอาชีพหลักเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัว ส่งลูกหลานได้เรียนในระดับสูงเท่าเทียมกับผู้ที่ประกอบอาชีพอื่นทั่วไป ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านจึงมีความสำคัญต่อสังคม ซึ่งสามารถสรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้
             1. สำคัญต่อการดำรงชีวิต 
             2. ด้านรสนิยมทางความงาม 
             3. บ่งบอกระดับภูมิปัญญา 
             4. บ่งบอกเรื่องราวในอดีต 
             5. บ่งบอกอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น 
             6. สร้างอาชีพ
         ซึ่งจากกระแสบุพเพสันนิวาสฟีเวอร์ทำให้คนไทยหันมาสนใจประวัติศาสตร์ ขนมธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมของไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้หวลคิดถึงศิลปวัฒนธรรมอันดีที่บรรพบุรุษสืบทอดมายังคนรุ่นหลังเป็นจำนวนมาก บางอย่างเกือบจะสูญหายไปแล้วงานศิลปหัตถกรรมการตัดกระดาษไทยเป็นงานที่มีความสวยงามมีคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมเป็นงานที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นเป็นภูมิปัญญาที่สั่งสมมานาน ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะให้ความสนใจศึกษาแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อก่อให้เกิดรายได้ในครัวเรือนและชุมชน  (วีระ  ขำดวง, 2551, น.1)
         ประเทศไทยมีวัฒนธรรมและประเพณีอันเก่าแก่ที่สืบทอดต่อกันมานานนับหลายร้อยปี กาลเวลาอาจพัดพาให้วัฒนธรรมและประเพณีบางอย่างอาจเปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้เหมาะสมกับความสะดวกส่วนบุคคลเวลาและความต้องการของสังคมไปบ้างอีกทั้งกระแสของสังคมโลกผันแปรไปตามยุคสมัย ความนิยมกระแสต่างๆจากต่างประเทศที่เข้ามาพร้อมกับเทคโนโลยีอันทันสมัย เข้ามามีบทบาททำให้ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ฯลฯ ของคนไทยเปลี่ยนไปอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากกระแสละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส ที่ออกอากาศทางวิทยุโทรทัศน์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก หัวใจของการพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมให้ยั่งยืนนั้นคือ “การศึกษา” (education) ซึ่งความสนุกของละคร ที่ได้รับความนิยมคือการสร้างมายาคติของความสมจริง ซึ่งผู้ชมในยุคสมัยใหม่สามารถเข้าถึงได้หรือมีจุดขายซึ่งโยงเข้าหาตนเอง เช่น ตัวละครที่มีนิสัยและมุมมองสมัยใหม่แต่เข้าไปเรียนรู้และซึมซับวัฒนธรรมและศิลปะในอดีต ในขณะเดียวกันก็ถ่ายทอดสังคมในอดีตให้สมจริงโดยการเน้นมิติที่หลากหลายทั้งด้านดีและด้านเสียของธรรมเนียมประเพณีและประวัติศาสตร์       (พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา, 2561,  สืบค้นออนไลน์) 	 
         เรื่องศิลปะการตัดกระดาษแก้วในประเทศไทยมีมาแต่โบราณยังคงสืบทอดและยังใช้กันอยู่จนถึงปัจจุบันตัดกระดาษแบบพื้นบ้านสามารถเรียนรู้ได้ในระยะเวลาไม่นาน ใช้ในงานบุญ งานรื่นเริงหรือแม้กระทั่งงานสีดำ คนไทยมักนิยมใช้กระดาษสีประดับประดาสถานที่ตกแต่งให้มีความสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นติดกับเชือกโยงในงานต่าง ๆ ประดิษฐ์เป็นพวงมาลัย  ฉลุเป็นปีนักษัตรต่างๆ  หรือตัดกระดาษแก้วติดบริเวณหน้าต่างแทนม่าน ประดับขบวนรถแห่ให้ดูโดดเด่น การประดับประดากระดาษตัดสามารถใช้ไม่ว่าจะเป็นงานวัด งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน งานรับขวัญ หรืองานอื่นๆ การตัดกระดาษแก้วนั้นเรียนรู้ได้ง่ายและนำมาใช้ได้จริง มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในส่วนของภาคเหนือ แต่ละจังหวัดอาจมีชื่อการเรียกที่แตกต่างกันไป บางจังหวัดใช้ตัดกระดาษแก้วตกแต่งในงานประจำปีอย่างแพร่หลาย เช่น เพชรบุรี เชียงใหม่ น่าน นครสวรรค์ แต่หากเป็นคนไทยเชื้อสายจีน จะใช้แบบการตัดกระดาษแก้วจากแบบของประเทศจีนมากกว่า นอกจากนั้น ในต่างประเทศก็ยังมีศิลปะการตัดกระดาษแก้วให้เราพบเห็นอยู่ในหลายประเทศ เช่น ประเทศพม่า ประเทศลาว ประเทศจีน ประเทศกัมพูชา เป็นต้น
         อำเภอพรานกระต่ายเป็นอำเภอเก่าแก่ในจังหวัดกำแพงเพชร มีภาษาถิ่นและเขตพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดสุโขทัยซึ่งเคยเป็นราชธานี ทำให้วัฒนธรรมโบราณหลากหลายด้านปรากฏขึ้นที่อำเภอแห่งนี้ แม้แต่ศิลปะการตัดกระดาษไทยด้วยกระดาษแก้ว ก็ยังคงหลงเหลือผู้สืบสานต่อจากบรรพบุรุษ บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นการตัดกระดาษไทยศิลปะพรานกระต่ายที่ใกล้เลือนหาย จากอำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร โดยรวบรวมวิธีการทำจากนายธรรมนูญ ยายอด

คำสำคัญ : ตัดกระดาษไทย, ศิลปะการตัดกระดาษ, กระดาษติดบ้านงาน, พวงระย้า, พวงมโหตร, ชายกระดาษ, ลวดลายตัดกระดาษ

ผู้ค้นพบ/ผู้คิดค้น/ผู้นำมาใช้

         นายธรรมนูญ  ยายอด (ชาวบ้านทั่วไปเรียก อาจารย์นูญ) เกิดเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2498  ปัจจุบันอายุ 63 ปี บิดาชื่อ นายคำ ยายอด  มารดาชื่อ นางมาลัย ยายอด ทั้งบิดา-มารดาเป็นชาวพรานกระต่ายโดยกำเนิด ปัจจุบันเสียชีวิตแล้วทั้งคู่ มีพี่น้องร่วมบิดา ทั้งหมด 3 คน  ซึ่งบิดาได้แต่งงานใหม่กับคุณแม่มาลัย  ยายอด ซึ่งเป็นมารดาของอาจารย์นูญ เนื่องจากภรรยาคนแรกได้เสียชีวิต และมีพี่น้องร่วมบิดา-มารดา จำนวน 6 คน ซึ่งอาจารย์นูญเป็นบุตรคนที่ 2 พี่น้อง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขายและทำเกษตรกรรม มีเพียง 1 คน ที่เป็นพนักงานรัฐวิสากิจ (การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอคีรีมาส จังหวัดสุโขทัย) อาจารย์นูญได้เรียนรู้ทักษะการตัดกระดาษมาจากนายใบ้ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของบิดาของตนเอง (พ่อคำ ยายอด เป็นช่างชาวพรานกระต่ายมีความสามารถในงานไม้ งานแทงหยวก งานตัดกระดาษ และงานศิลปหัตถกรรมหลายชนิด) การตัดกระดาษนำมาใช้ในงานได้หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นงานแต่งงาน งานบวช งานขึ้นบ้านใหม่ งานฉลอง งานมโหรสพต่างๆ แม้กระทั้งงานศพ ซึ่งเป็นการตกแต่งสถานที่ให้ดูสวยงานและเป็นการบ่งบอกถึงบริเวณของงาน
ภาพที่ 1 นายธรรมนูญ ยายอด.jpg

ภาพที่ 1 นายธรรมนูญ ยายอด ช่างตัดกระดาษ/แทงหยวก/เจ้าพิธี ชาวพรานกระต่าย อายุ 65 ปี

         การตัดกระดาษแก้วเป็นศิลปะการตกแต่งสถานที่เพื่อให้มีความสวยงามระยิบยามต้องลม เสน่ห์แห่งสีสัน ที่เคลื่อนไหวยามมีงานรื่นเริงในเทศกาลงานบุญคนไทยมีความเป็นศิลปะอยู่ในตัวตนกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เมื่อมีงานบุญกุศลหรืองานอกุศล ก็จะร่วมแรงร่วมใจกันช่วยคนละไม้ละมือ ใครที่ทำอาหารได้ก็ทำอาหาร ใครที่ชำนาญในด้านการตกแต่งสถานที่ก็ร่วมด้วยช่วยกัน มาจนจวบปัจจุบันทุกวันนี้ เมื่อมีงานบุญตามวัดวาอาราม มักมีการตกแต่งประดับด้วยกระดาษสีที่ตัดแต่งอย่างสวยงามซึ่งมีหลายแบบหลายลักษณะ

วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้การประดิษฐ์พวงมโหตร

         1. กระดาษแก้วหลากสี
         2. กรรไกร
         3. กาว
         4. ไม้บรรทัด
         5. กระดาษแข็ง
         6. คัดเตอร์
         7. เชือกด้าย หรือ เอ็น 
         8. ไม้ไผ่หลาวให้กลม  
         9. ดินสอ
         10. ตัวหนีบกระดาษ

วิธีการทำพวงมโหตร

         การทำพวงมโหตรใช้กระดาษแก้ว แต่หากอยากให้เกิดความสวยงามมากขึ้นต้องใช้กระดาษแก้วหลายๆ สี และพับ-ตัดกระดาษ ตามขั้นตอนต่อไปนี้
             1. ตัดกระดาษเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดประมาณ 20 X 20 นิ้ว 
             2. พับกระดาษทะเเยงมุมให้ขอบเสมอกัน
             3. พับกระดาษทะแยงมุมอีกครั้ง
             4. จากมุมจุดศูนย์กลางของกระดาษ พับทบเข้ามาให้ขอบกระดาษเสมอกัน
             5. จากมุมจุดศูนย์กลางของกระดาษ พับทบเข้ามาให้ขอบกระดาษเสมอกัน  
             6. พับกระดาษเป็น 4 ทบ แล้วใช้ตัวหนีบกระดาษ หนีบกระดาษไว้เพื่อกันการเคลื่อน
             7. ตัดกระดาษสลับข้างขนาดเท่ากัน 3-8 ช่วง แบ่งของไฟให้สวยงาม ช่วงของการตัดจะส่งผลต่อความยาวของพวงมโหตร (เพื่อให้เกิดลายใหม่ๆ อาจตัดไม่เหมือนลายตัวอย่างได้)
             8. ตัดกระดาษลายโค้งรูปคล้ายหัวใจตามความสวยงาม
             9. พลิกลับด้าน ตัดกระดาษลายโค้ง 
             10. ตัดขอบกระดาษเป็นเส้นตรงหลายๆเส้น เป็นชายของพวงให้ต้องลมพริ้วไหว
             11. คลี่ย้อนอออกตามขั้นตอนการพับ (ค่อยๆ คลี่ออกระวังอย่าให้ขาด เนื่องจากเวลาตัดกระดาษเป็นลายต่างๆ กระดาษจะติดกันเป็นชั้นๆ) และทำซ้ำหลาย ๆ เพื่อซ้อนสลับสีให้เกิดความสวยงาม
             12. ใช้กรรไกรเจาะรูตรงกลางกระดาษทั้ง 3 แผ่น เพื่อสอดกระดาษแข็งรูปวงกลมซึ่งร้อยเชือกผูกกับไม้ไว้เรียบร้อยแล้ว สำหรับทำเป็นไม้แขวน ใช้มือจับแต่งกระดาษที่ซ้อนกันอยู่นั้นให้เป็นทรงจอมแห
ภาพที่ 2 วิธีการทำพวงมโหตร.jpg

ภาพที่ 2 วิธีการทำพวงมโหตร

ภาพที่ 3 วิธีการทำพวงมโหตร.jpg

ภาพที่ 3 วิธีการทำพวงมโหตร

ภาพที่ 4 วิธีการทำพวงมโหตร.jpg

ภาพที่ 4 วิธีการทำพวงมโหตร

ภาพที่ 5 วิธีการทำพวงมโหตร.jpg

ภาพที่ 5 วิธีการทำพวงมโหตร

วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้การประดิษฐ์กระดาษติดบ้านงาน

         1. กระดาษแก้วหลากสี / กระดาษทอง
         2. กรรไกร
         3. กาว
         4. ไม้บรรทัด
         5. ดินสอ
         6. ตัวหนีบกระดาษ

วิธีการทำกระดาษติดบ้านงาน

         การทำกระดาษติดบ้านงานด้วยกระดาษแก้วหรือกระดาษทอง แต่หากอยากให้เกิดความสวยงามมากขึ้นต้องใช้กระดาษแก้วหลายๆ สี และพับ-ตัดกระดาษตามขั้นตอนต่อไปนี้
         1. ตัดกระดาษแก้วเต็มแผ่น ให้ได้ตามภาพ
         2. พับกระดาษขนานให้ขอบเสมอกันแล้ว ใช้ตัวหนีบกระดาษ หนีบกระดาษไว้เพื่อกันการเคลื่อน
         3. ตัดกระดาษตามภาพ (เพื่อให้เกิดลายใหม่ๆ อาจตัดไม่เหมือนลายตัวอย่างได้)
         4. คลี่ย้อนอออกตามขั้นตอนการพับ (ค่อยๆ คลี่ออกระวังอย่าให้ขาด เนื่องจากเวลาตัดกระดาษเป็นลายต่างๆกระดาษจะติดกันเป็นชั้นๆ)
ภาพที่ 6 วิธีการทำกระดาษติดบ้านงาน.jpg

ภาพที่ 6 วิธีการทำกระดาษติดบ้านงาน

ภาพที่ 7 วิธีการทำกระดาษติดบ้านงาน.jpg

ภาพที่ 7 วิธีการทำกระดาษติดบ้านงาน

ภาพที่ 8 วิธีการทำกระดาษติดบ้านงาน.jpg

ภาพที่ 8 วิธีการทำกระดาษติดบ้านงาน

ภาพที่ 9 วิธีการทำกระดาษติดบ้านงาน.jpg

ภาพที่ 9 วิธีการทำกระดาษติดบ้านงาน

ภาพที่ 10 วิธีการทำกระดาษติดบ้านงาน.jpg

ภาพที่ 10 วิธีการทำกระดาษติดบ้านงาน

         พวงมโหตรหรือกระดาษติดบ้านงาน เป็นเครื่องแขวนโบราณที่ทำจากกระดาษสีต่าง ๆ นำมาพับและตัดเป็นรูปต่าง ๆ เป็นภูมิปัญญา พวงมโหตรหรือกระดาษติดบ้านงานเป็นเครื่องแขวนประเภทหนึ่ง ซึ่งใช้แขวนในงานพิธีต่างๆ เช่นงานแต่ง งานบวช งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานวันสงกรานต์ งานโกนจุก งานบุญทั่วไปหรือแม้แต่งานศพ ซึ่งจะนำมาแขวนและติดบริเวณสถานที่ให้งานดูโดดเด่นขึ้น เช่น ใจกลางบ้าน หน้าต่าง ชายคา เพื่อให้มีความสวยงามระยิบยามต้องลม
ภาพที่ 11 ผลที่ได้จากภูมิปัญญา.jpg

ภาพที่ 11 ผลที่ได้จากภูมิปัญญา

ภาพที่ 12 ผลที่ได้จากภูมิปัญญา.jpg

ภาพที่ 12 ผลที่ได้จากภูมิปัญญา

ภาพที่ 13 ผลที่ได้จากภูมิปัญญา.jpg

ภาพที่ 13 ผลที่ได้จากภูมิปัญญา

ภาพที่ 14 ผลที่ได้จากภูมิปัญญา.jpg

ภาพที่ 14 ผลที่ได้จากภูมิปัญญา

ภาพที่ 15 งานตัดกระดาษแก้ว.jpg

ภาพที่ 15 งานตัดกระดาษแก้ว ผลงานของนายธรรมนูญ ยายอด

ภาพที่ 16 งานตัดกระดาษแก้ว.jpg

ภาพที่ 16 งานตัดกระดาษแก้ว ผลงานของนายธรรมนูญ ยายอด

ภาพที่ 17 งานตัดกระดาษแก้ว.jpg

ภาพที่ 17 งานตัดกระดาษแก้ว ผลงานของนายธรรมนูญ ยายอด

ภาพที่ 18 งานตัดกระดาษแก้ว.jpg

ภาพที่ 18 งานตัดกระดาษแก้ว ผลงานของนายธรรมนูญ ยายอด

ภาพที่ 19 ภาพงานตัดกระดาษแก้ว.jpg

ภาพที่ 19 งานตัดกระดาษแก้ว ผลงานของนายธรรมนูญ ยายอด

บทสรุป

         จากการศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่น การตัดกระดาษไทย : ศิลปะพรานกระต่ายที่ใกล้เลือนหายที่สืบสานศิลปวัฒธรรมอันดีจากบรรพบุรุษ ทำให้ทราบถึงความรัก ความเชื่อในขนมธรรมเนียมประเพณีที่อาจารย์นูญ ได้ยืดมั่นมาโดยตลอด ศิลปะการตัดกระดาษนำมาใช้ในงานได้หลากหลายประเภทอยู่ที่เราจะเลือกใช้ อาจารย์นูญ กล่าวทิ้งท้ายว่า “มาฝึกกันเสียตอนนี้ ไปปลุกในเมรุให้มาสอนกันไม่ได้นะ” “บรรพบุรุษทำมาไม่ใช่แค่ปีสองปี คนรุ่นใหม่เผาทิ้งหมด ต้องรักษาไว้ ถ้าไม่มีใครสนใจก็จะสูญหาย คนรุ่นหลังเป็นรั้วของชาติหากไม่สืบทอดก็จะหมดไป”