วัฒนธรรมการแสดงพื้นบ้านนครไตรตรึงษ์

จาก KPPStudies
รุ่นแก้ไขเมื่อ 09:51, 7 มกราคม 2564 โดย Admin (คุย | มีส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย "== บทนำ == บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลเก...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

บทนำ

         บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านวัฒนธรรมการแสดงพื้นบ้านของนครไตรตรึงษ์ จังหวัดกำแพงเพชรมีนครโบราณซุกซ่อนอยู่นั่นคือนครไตรตรึงษ์ โบราณสถานซึ่งมีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานนับพันปีและมีเรื่องราวเล่าขานว่าเป็นที่มาของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ความสำคัญและความพิเศษของนครไตรตรึงษ์ยังไม่ได้หมดเพียงเท่านี้ นครไตรตรึงษ์ยังมีการแสดงพื้นบ้านที่มีการสืบทอดกันมานับร้อยปี อาทิ ระบำ ก.ไก่ รำคล้องช้าง ระบำพื้นบ้าน และการแสดงพื้นบ้านประเภทอื่นๆ  ที่โดดเด่นและสวยงามที่ยังดำรงอยู่ได้ด้วยการอนุรักษ์และสืบทอดไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานโดยพ่อเพลง แม่เพลง ที่เป็นศิลปินพื้นบ้านเป็นสำคัญ

คำสำคัญ : วัฒนธรรม, การแสดงพื้นบ้าน, นครไตรตรึงษ์

วัฒนธรรมพื้นบ้าน (พื้นเมือง) และภูมิปัญญาท้องถิ่น

         วัฒนธรรมพื้นบ้านหรือวัฒนธรรมพื้นเมือง หมายถึง วัฒนธรรมของประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งประชาชน หรือชาวบ้านกำหนดหรือสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการของสังคมพื้นบ้านซึ่งเป็นสังคมย่อยในสังคมไทย มีการแบ่งวัฒนธรรมย่อยออกเป็นกลุ่มตามลักษณะที่ตั้ง ได้แก่ วัฒนธรรมล้านนา วัฒนธรรมอีสาน วัฒนธรรมอีสานใต้ วัฒนธรรมภาคกลางตอนบน วัฒนธรรมภาคกลาง วัฒนธรรมภาคใต้ตอนบน และวัฒนธรรมภาคใต้ตอนล่าง วัฒนธรรมพื้นบ้านไม่สามารถระบุแหล่งที่มาได้อย่างชัดเจน เนื่องจากวัฒนธรรมพื้นบ้านเป็นวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นเอง เกิดจากการจัดระเบียบ กฎเกณฑ์ในการดำรงชีวิตของคนในท้องถิ่นเพื่อให้เกิดความสุขและเพื่อความเป็นระเบียบในสังคมพื้นบ้าน โดย Boonyaratanaphun T. (อ้างถึงใน Jirachai, 2001, ออนไลน์) ได้กล่าวถึงวิธีการถ่ายทอดวัฒนธรรมพื้นบ้านมี 3 แบบด้วยกัน คือ 
         1) แบบมุขปาฐะ เน้นถึงการถ่ายทอดด้วยวาจาเป็นส่วนใหญ่ และรับรู้ได้ด้วยโสตสัมผัส เช่น เพลงพื้นบ้าน ภาษาสำนวนโวหาร ภาษิต ปริศนาคำทาย นิทาน ฯลฯ 
         2) แบบอมุขปาฐะ เน้นถึงการถ่ายทอดด้วยกิริยาท่าทาง รูปลักษณ์ และรับรู้ด้วยสัมผัสอื่นๆ นอกเหนือจากโสตสัมผัส เช่น จิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม เป็นต้น 
         3) แบบผสม หมายถึง การถ่ายทอดให้เป็นทั้งแบบแบบมุขปาฐะและแบบอมุขปาฐะ เช่น ระบำชาวบ้าน ละครชาวบ้าน กีฬาพื้นบ้าน ประเพณีพื้นบ้าน ฯลฯ 
         เมื่อวัฒนธรรมมีความสำคัญและประโยชน์ต่อคนในสังคม ดังนั้นจึงควรจะมีการฟื้นฟูและส่งเสริมวัฒนธรรมพื้นบ้าน ด้วยวิธีการต่างๆ ได้แก่ 
         1) สถาบันการศึกษาควรมีบทบาทสำคัญในการสืบทอดวัฒนธรรมพื้นบ้านด้วยการสร้าง การผลิตซ้ำโดยสร้างความสัมพันธ์กันระหว่างผู้เฒ่าและผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ชุมชนให้ปัญญาชนฟัง ปัญญาชนซักถาม กรองข้อมูลแล้วถ่ายทอดคืนกลับสู่คนในชุมชน เป็นการสืบทอดวัฒนธรรมข้าม รุ่นอายุมีการปรับหลักสูตรและการเรียนการสอน โดยสอดแทรกวัฒนธรรมพื้นบ้านเข้าไปในเนื้อหาหรือ กิจกรรมการสอน 

2) การสนับสนุนจากองค์กรทางสังคม นั่นคือวัฒนธรรมของชุมชนจะดำรงอยู่ได้และทำให้ชุมชน เข้มแข็งนั้นอาจมีการรวมกลุ่มเป็นองค์กรชุมชน เช่น สหกรณ์ เป็นต้น อีกทั้งหน่วยงานต่างๆ ให้การสนับสนุน กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมพื้นบ้าน 3) ปรับวัฒนธรรมพื้นบ้านกับวัฒนธรรมต่างชาติให้สอดคล้องกัน เป็นการผนวกเอาความก้าวหน้า ของวัฒนธรรมอื่นๆ เข้ากับวัฒนธรรมพื้นบ้านของไทย ค้นหาว่าเทคโนโลยีแบบไหนที่เหมาะสมกับชุมชน และอยู่ในรูปแบบที่ชาวบ้านยอมรับได้ ควบคุมได้ 4) การค้นคว้าถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของวัฒนธรรมพื้นบ้าน เพื่อสร้างความเข้าใจและ สามารถอธิบายความสัมพันธ์หรือการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้น และนำไปใช้พัฒนาประเทศต่อไป