ฐานข้อมูล เรื่อง ลายผ้าปักชาวเขา และผลิตภัณฑ์ผ้าชาวเขาเผ่าเย้า

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อเรียก

         ผ้าปักชาวเขาเผ่าเย้า

ชื่อเรียกอื่น ๆ

         -

ศาสนา

         ศาสนาพุทธ, คริสต์ และบางส่วนยังคงนับถือผีตามความเชื่อดั้งเดิมอยู่

ที่ตั้ง (ที่อยู่)

         ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร 62000

ที่ตั้งพิกัดทางภูมิศาสตร์

        ละติจูด (Latitude) : 16.330757
        ลองติจูด (Longitude) : 99.333410

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

        ศูนย์หัตถกรรมชาวเขา ภายใต้การดูแลของศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดกำแพงเพชร    

สถานการณ์ขึ้นทะเบียน

         -

วันเดือนปีที่ก่อสร้าง

         -

ข้อมูลจำเพาะ

ประวัติความเป็นมา/คำเบิกเล่า/ตำนาน

         ศูนย์หัตถกรรมชาวเขา  จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวเขา อันได้แก่ชาวเขาเผ่าต่างๆที่มีอยู่ในจังหวัดกำแพงเพชรได้แก่ ม้ง เย้า กะเหรี่ยง ลีซอ มูเซอ อีก้อเป็นต้นซึ่งอาศัยอยู่ในเขตอำเภอคลองลาน และอำเภอคลองลุง ให้มีรายได้และสามารถยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดียิ่งขึ้นตลอดจนเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยการสนับสนุนให้ศูนย์หัตถกรรมชาวเขาคลองลานเป็นส่วนหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวของเขตอำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร ทั้งนี้ในแต่ละเผ่าก็ยังจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์และความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเผ่านั้น ๆ รวมทั้งเป็นการอนุลักษณ์วัฒนธรรมของตนเอง  โดยผลิตภัณฑ์หรือของที่ระลึกที่มีการผลิตออกมาในแต่ละกลุ่มนั้นส่วนหนึ่งจะนำมาจัดแสดงภายในศูนย์หัตถกรรมชาวเขาคลองลาน  ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตออกมาจะมีหลายประเภท เช่น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของชาวเขา เครื่องประดับประเภทต่าง ๆ ที่ทำจากเงิน และยังมีการสาธิตการทำเครื่องประดับจากเงินให้นักท่องเที่ยวได้ชมด้วย

ลายปักผ้าของชาวเขาเผ่าเย้า

         เสื้อผ้าจากตำนานที่บันทึกไว้ในหนังสือเดินทางข้ามเขตภูเขา (เกีย  เซ็น  ป๊อง) ที่เย้าได้คัดลอกกัน ต่อ ๆ มาจนถึงทุกวันนี้ ระบุให้ลูกหลานเย้าปกปิดร่างกายของผันหูผู้ให้กำเนิดเย้าโดยใช้เสื้อลายห้าสีคลุมร่าง เข็มขัดรัดเอวผ้าเช็ดหน้าลายดอกไม้ผูกที่หน้าผาก  กางเกงลายปิดก้นผ้าลายสองผืนปิดที่ขา  เชื่อกันว่าจากตำนานนี้เองทำให้เย้าใช้เสื้อผ้าคาดเอวผ้าโพกศีรษะและกางเกงที่ปักด้วยห้าสี
         สมัยก่อนเย้าการคมนาคมการค้าขายยังไปไม่ถึงบนดอย  ส่วนใหญ่เย้านิยมใช้สีปักลายเพียง 5 สีเท่านั้น คือสีแดง สีเหลือง สีน้ำเงิน สีเขียวและสีขาว ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมานี้เย้านิยมปักลายผู้เพิ่มมากขึ้นและใช้สีต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมากอีกด้วยการปักลายและการใช้สีสันในการปักลายใน  แต่ละท้องถิ่นแตกต่างกันบ้างตามความนิยมของแต่ละท้องถิ่น การปักลายเสื้อผ้าทุกวันนี้หญิงเย้าก็ยังคงแต่งกายตามแบบฉบับที่ระบุไว้ในตำนานได้อย่างเคร่งครัดผ้าที่เย้านำมาปักลายเป็นผ้าทอมือกล่าวกันว่าเย้าเคยทอผ้าใช้เอง  แต่เมื่ออพยพเข้ามาอยู่ประเทศไทยแล้วค้นพบว่า ผ้าทอมือของไทลื้อที่มีถิ่นฐานอยู่ประเทศพม่าและประเทศไทย เหมาะแก่การปักลายจึงได้ซื้อผ้าทอมือของไทยลื้อมาย้อมและปักลายจนกลายเป็นความนิยมของเย้าไป
         เย้ามีการแต่งกายการใช้สีสันจะแตกต่างกันบ้างเพียงเล็กน้อย  เมื่อแต่งกายตามจารีตประเพณีก็พอจะทราบได้ว่า มีถิ่นฐานอยู่ในท้องที่ใดหรืออยู่ในกลุ่มใด แต่มีบ้างที่กลุ่มที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกันจะมีการลอก เลียนแบบซึ่งกันและกันบ้าง การปักลายเย้าจะจับผ้าและจับเข็มแตกต่างกับเผ่าอื่น  เย้าจะปักผ้าจากด้านหลังผ้าขึ้นมายังด้านหน้าของผ้า จึงต้องจับผ้าให้ด้านหน้าคว่ำลงเมื่อปักเสร็จแต่ละแถวแล้วก็จะม้วนและใช้ผ้าห่อไว้อีกชั้นเพื่อป้องกันสิ่งสกปรกต่าง ๆ การปักลายเสื้อผ้าเพื่อใช้ทำเป็นเครื่องแต่งกายและข้าวของใช้ตามจารีตประเพณีเย้า มีวิธีการปักลายสี่แบบ คือ การปักลายเส้น (กิ่ว กิ่ว) การปักลายขัด (โฉ่ง เกียม) การปักลายแบบกากบาท (โฉ่ง ทิว)และการปักไขว้ (โฉ่  ดับ ยับ) การเรียกชื่อลายปักในการปักลายสตรีเย้าจะต้องจดจำชื่อและวิธีการปักลายไปพร้อม ๆ กันสำหรับการปักลายขัด (โฉ่ง เกียม) และลายกากบาท  (โฉ่ง ทิว) ส่วนใหญ่จะเป็นลายเก่าที่ชื่อเรียกเหมือนกันแต่สำหรับลายไขว้ (โฉ่ง ดับ ยับ) นั้นเย้าอาจนำลักษณะเด่นของแต่ละลายปักเดิมมาปรับปรุงหรือปักเพิ่มเติมให้ลายปักใหม่อีกลายหนึ่ง และให้สีสันสวยงามตามใจตนเองชอบโดยอาจตั้งชื่อใหม่ก็ได้
         นอกจากนี้ สตรีเย้าบางคนที่มีความเฉลียวฉลาดอาจประดิษฐ์ลายปักใหม่ ๆ ขึ้นมาโดยจะนำส่วนประกอบของลายต่าง ๆ มาประกอบเข้าด้วยกันหรือดัดแปลงเป็นลายปักใหม่แล้วตั้งชื่อเรียกใหม่แต่โดยทั่วไป  แล้วจะเรียกชื่อที่คงลักษณะเด่นของลายเดิม  เช่น  ลายปักหมวกขององค์ผู้บริสุทธิ์ทั้งสาม  (ฟามกุน)  เป็นลายที่ปรับปรุงมาจากลาย (ฟามซิง) บางครั้งลายแบบปักไขว้แต่ละลายนี้มีลายละเอียดแตกต่างกันไป บางหมู่บ้านที่มีขนาดใหญ่แต่ละกลุ่มอาจเรียกชื่อที่ต่างกันด้วยและบ่อยครั้งพบว่าเย้าเรียกชื่ออย่างเดียวกันแต่เป็นลายปักแตกต่างกันก็มี แต่อย่างไรก็ตาม ชื่อลายปักที่เย้าเรียกกันจะมีความหมายที่สัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ คือ  ความเชื่อ วิธีการปักลายพืชผลทางการเกษตรถึงแม้เย้าจะปักลายตามความเชื่อนี้แต่เย้าไม่ได้ถือว่าลายปักนั้นเป็นเครื่องรางของขลัง เป็นของศักดิ์สิทธิ์ การปักลายจึงเน้นที่ความสวยงามมากกว่าที่จะเป็นเครื่องรางของขลัง  นอกจากนี้เย้ายังเชื่อว่ากางเกงของผู้หญิงเป็นของต่ำไม่สมควรที่จะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่อาจเป็นไปได้ที่ว่าเย้าต้องการแสดงให้เห็นว่าเย้าเป็นกลุ่มที่มีความเชื่อในเรื่องเทพยดาการปักของชาวเย้าที่แปลกไปจากเผ่าอื่น
         ลายปักผ้าของชาวเขาเผ่าเย้า
         1. ลายดะเมาเซาเมี่ยน (ลายรอยเท้าเสือ)						
ภาพที่ 1 แสดงลายดะเมาเซาเมี่ยน.jpg

ภาพที่ 1 แสดงลายดะเมาเซาเมี่ยน

         2. ลายเก (ลายธงปลาย, ลายธงชาติ)
ภาพที่ 2 แสดงลายเก.jpg

ภาพที่ 2 แสดงลายเก

         3. ลายฉ่งแฉ (ลายเสี้ยนหนาม)
ภาพที่ 3 แสดงลายฉ่งแฉ.jpg
         4. ลายซงเซต (ลายทิ้งขั้นตอน , ลายแบ่งตอน)
ภาพที่ 4 แสดงลายซงเซต.jpg

ภาพที่ 4 แสดงลายซงเซต

         5. ลายซบเปียง (ลายดอกฟักทอง)
ภาพที่ 5 แสดงลายซบเปียง.jpg

ภาพที่ 5 แสดงลายซบเปียง

         6. ลายซ่ม (ใช้เป็นลายบนผ้าพันหัว, ผ้าพันเอวและชายกางเกง)
ภาพที่ 6 แสดงลายซ่ม.jpg

ภาพที่ 6 แสดงลายซ่ม

         7. ลายญบ (ลายเกาะ, ลายจับ)
ภาพที่ 7 แสดงลายญบ.jpg

ภาพที่ 7 แสดงลายญบ

         8. ลายญ่านเปียง (ลายดอกเงิน)
ภาพที่ 8 แสดงลายญ่านเปียง.jpg

ภาพที่ 8 แสดงลายญ่านเปียง

         9. ลายญิว (ลายกั้น)
ภาพที่ 9 แสดงลายญิว.jpg

ภาพที่ 9 แสดงลายญิว

         10. ลายเญว (ฟันเรื่อย)
ภาพที่ 10 แสดงลายเญว.jpg

ภาพที่ 10 แสดงลายเญว

         11. ลายฟันโบ๋ (ใส้ฟักทอง)
ภาพที่ 11 แสดงลายฟันโบ๋.jpg

ภาพที่ 11 แสดงลายฟันโบ๋

         12. ลายดะเมาดบ (รายหนังเสือ)
ภาพที่ 12 แสดงลายดะเมาดบ.jpg

ภาพที่ 12 แสดงลายดะเมาดบ

         13. ลายหล่มเซว
ภาพที่ 13 แสดงลายหล่มเซว.jpg

ภาพที่ 13 แสดงลายหล่มเซว

ผลิตภัณฑ์ผ้าชาวเขาเผ่าเย้า

         เครื่องแต่งกายของชาวเขาเผ่าเย้า
         เย้ามักจะอยู่บนไหล่เขาใช้พื้นดินเป็นพื้นบ้าน มุงหลังคาด้วยหญ้าคา ฝาบ้านเป็นไม้เนื้ออ่อน ภาษาคล้ายภาษาจีนกลางมาก บางคำคล้ายแม้ว หญิงนุ่งกางเกงสีน้ำเงินหรือปนดำ เนื้อผ้าหยาบด้านหน้าของกางเกงปักด้วยลวดลายเป็นดอกดวงละเอียดสวยงาม เสื้อเป็นเสื้อคลุมคอแหลมรูปตัววี สีดำหรือสีน้ำเงินเข้มยาวถึงข้อเท้า ผ่าด้านหน้าตลอด ติดไหมพรมสีแดงที่อกเสื้อรอบคอลงมาถึงหน้าท้อง เสื้อผ่าด้านข้างทั้ง 2 ข้าง ตั้งแต่เอวลงไป เวลาสวมชายผ้าด้านหน้าทั้งสองแฉกไขว้กัน และพันรอบเอวไปผูกเงื่อนด้านหลัง ส่วนแผ่นหลังปล่อยไว้ อกเสื้อกลัดติดกันด้วยแผ่นเงินสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดหัวเข็มขัด ผมจะทาด้วยขี้ผึ้งเหนียวและพันด้วยผ้าสีแดงทับด้วยผ้าสีน้ำเงินปนดำ  ชายทั้งสองข้างปักด้วยลวดลายดอกดวงที่งดงาม เวลาแต่งงานจะมีเครื่องประดับผมที่สวยงามแผ่นใหญ่คลุมบนผ้าโพกผมอีกทีเครื่องประดับทำด้วยเงิน ต่างหูเป็นวงกลม มีศร ผ่ากลาง ห่วงคอมีตั้งแต่ 1-5  ห่วง มีกำไล ข้อมือ แหวน ชายนุ่งกางเกงสีดำหรือน้ำเงินเข้มคล้ายกางเกงจีน ขอบขากางเกงขลิบด้วยไหมสีแดง สวมเสื้อดำหรือน้ำเงินเข้ม (นิยมใช้ผ้าแพร) ผ่าอกไขว้ไปข้าง ๆ เล็กน้อยมีลวดลายติดอยู่เป็น แถบตามแนวที่ผ่าลงมาติดกระดุมเงินเป็นรูปกลม ๆ ที่คอตามแนวไปรักแร้ลงไปที่เอว เสื้อยาว คลุมเอวไม่สั้นเหมือนแม้ว เครื่องประดับ ใส่ต่างหูเงินเป็นรูปกลม ตรงกลางมีลูกศรชี้ลงมา ไม่สวมกำไลมือและห่วงคอการโพกศีรษะของสตรีเย้ามี 2 แบบ 
         1. แบบหัวโต  นิยมใช้สีหนักออกไปทางสีแดงมาก  เรียกว่า  เย้าแดง  (เมี่ยนซิ)
         2. แบบหัวแหลม  นิยมใช้สีหนักออกไปทางสีเขียว  เรียกว่า  เย้าขาว  (เมี่ยน – แปะ)
         เครื่องแต่งกายในชีวิตประจำวันของชาวเย้าที่หมู่บ้านส่วนมากจะแต่งตัวคล้ายกัน จะแตกต่างกันก็เพียงการโพกศีรษะของสตรี ลายปักผ้าและสีของลายปัก ซึ่งผิดกับการแต่งกายของชาวเผ่าอื่นบางเผ่าที่แต่งตัวต่างกัน แม้ในแต่ละกลุ่มย่อย  เช่น กะเหรี่ยง แม้ว  มูเซอ และอีก้อ การแต่งกายของเย้าในชีวิตประจำวันในประเทศไทยจะแต่งตัวตามใจชอบตามวัย บ้างก็ยังแต่งชุดประจำเผ่าบ้างก็แต่งแบบคนไทยพื้นราบ
         การแต่งกายประเพณีของสตรีเย้า บุรุษ  และเด็ก
         เครื่องแต่งกายสตรี  ใช้เครื่องแต่งกายทั้งหมด 5 ชิ้น มีดังนี้
             1. โพกศีรษะชั้นใน (ก้องจู๊ด) ผ้าโพกศีรษะชั้นในนีร้วบผมให้เป็นระเบียบผ้าโพกศีรษะชั้นในบางหมู่บ้านอาจจะใช้สีแตกต่างกัน เช่น สีแดง สีดำ ขนาดยาวประมาณ 75 เซนติเมตร กว้าง 40 เซนติเมตร รวบผมก่อนใช้ผ้าโพกศีรษะปัจจุบันนี้สตรีเย้าบางคนไม่ค่อยนิยมใช้ผ้าโพกศีรษะชั้นใน
             2. ผ้าโพกศีรษะชั้นนอก (ก้องเป้า) อาจจะแตกต่างกันบ้างในแต่ละหมู่บ้าน เช่น  บ้านปางค่า  หมู่บ้านป่ากลาง  นิยมใช้ผ้าทอมือเส้นฝ้ายขนาดกลางหรือขนาดใหญ่สีดำทั้งผืนปักลายที่ปลายทั้ง 2  ด้าน  การโพกศีรษะทำโดยการพันผ้าด้านกว้างครึ่งผืนก่อนแล้วพับครึ่งอีกครั้งหนึ่งนำปลายข้างหนึ่งแนบไว้เหนือหู  แล้วพันรอบศีรษะจนเกือบสุดผ้านำส่วนปลายผ้าที่มีลายปัก อีกด้านหนึ่ง  เสียบข้างหูใน
             3. เสื้อ (ลุย) ใช้ผ้าสีดำอาจจะเป็นผ้ามัน หรือผ้าทอมือย้อมสีดำความยาวจะวัดจากไหล่ถึง  ข้อเท้า  ความกว้างวัดจากครึ่งแขนด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง  ด้านหลังจะต่อผ้าตรงกลางหลังเสื้อผ่าหน้าตลอด  ตัดผ้าเว้าลงมาเป็นแขนเสื้อและตัวเสื้อเย็บด้านข้างทั้งสองจากแขนลงมาถึงเอวต่อ แขนเสื้อยาวลงมาถึงข้อมือ ข้อมือกว้างพอประมาณ
             4. ส่วนตกแต่งเสื้อ  
             คอเสื้อใช้ผ้าสีขาว สีแดง น้ำเงิน  จะใช้สีใดสีหนึ่งหรือสองสีก็ได้  กว้างประมาณ 5 เซนติเมตร  ยาวครึ่งหนึ่งของรอบคอเย็บติดกับคอเสื้อเพื่อป้องกันเหงื่อ  ผ้าชิ้นนี้เรียกว่า ลุย จ้าง กบ  
             สาบเสื้อ ใช้ผ้าดำปักลายกว้างเท่ากับผ้ารอบคอเย็บติดตัวเสื้อต่อจากผ้ารอบคอ  ยาวลงมาต่ำกว่าเอวนิดหน่อย  เรียกผ้าผืนนี้ว่า  ลุย  แลง  
             ไหมพรมแดง (ลุย กวาน) ใช้เส้นไหมสีแดงยาวตั้งแต่ 5 - 10 เซนติเมตร เย็บติด กับตัวเสื้อตรงรอยต่อระหว่างตัวเสื้อกับสาบเสื้อด้วยด้ายสีดำรอบคอทั้งสองข้างยาวลงมาต่ำกว่าเอวเล็กน้อย  ตัดไหมพรมให้พองฟูเป็นก้อนกลม  เย้าแต่ละหมู่บ้านอาจจะมีขนาดพู่ไม่เท่ากัน  ความยาวของพู่ไม่เท่ากัน  สีไหมพรมบางหมู่บ้านอาจจะออกสีส้มแดง  
             ปลายแขนเสื้อ ใช้ผ้าชิ้น เล็ก ๆ สีขาว แดง น้ำเงินดำสลับกันเป็นชั้น ๆ อย่างน้อย 3 ชั้น มากที่สุด 11 ชั้น  นิยมกันคือ 7 ชั้น  ตรงกลางเป็นสีขาวบางหมู่บ้านอาจจะใช้สีแตกต่างกัน  
             ชายผ้าแขนเสื้อ ต้องม้วนกลับขึ้นมาแล้วเย็บด้วยเส้นด้ายถักหรือใช้เส้นด้ายสีแดงพันรอบด้วยเส้นลวดเงินเป็นช่วง ๆ  เพื่อกันเส้นด้ายหลุดออกจากกัน  
             ชายผ้าที่เหลือจากติดแถบผ้าที่หน้าอกและคอจะมีแถบผ้าสีน้ำเงินกว้าง ประมาณ 1 เซนติเมตรเย็บติด   
             พู่ไหมพรมติดลูกปัด เย้าจะนิยมใช้พู่ไหมพรมสีแดงเล็ก ๆ  ยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร ร้อยลูกปัดช่วงด้านบน 3 - 5 ลูก ติดบริเวณชายเสื้อ
             5. ผ้าคาดเอว ใช้ผ้าทอมือสีดำ ลักษณะเหมือนผ้าโพกศีรษะมีปักลายที่ปลายทั้ง 2 ด้าน การผูกผ้าคาดเอวจะเริ่มจากหน้าหรือหลังก็ได้ แต่ต้องให้ปลายทั้ง 2 ข้างผูกกันไว้ข้างหลังเพื่อให้เห็นปัก
             6. กางเกง (โฮว) การตัดเย็บกางเกงสตรีเย้าใช้ผ้า 5 ชิ้น ประกอบด้วย
             ผ้าปักลาย 2 ผืน โดยใช้ผ้าทอมือสีดำจะปักเกือบเต็มผืนเหลือด้านข้างไว้  พอที่จะเย็บต่อกันด้านล่างเหลือไว้สำหรับพับ ด้านบนเหลือไว้ประมาณครึ่งคืบของผู้ใช้  แล้วจึงเย็บต่อกัน  
             ผ้าต่อขากางเกงใช้ผ้าสามเหลี่ยม 2 ผืน ชนิดเดียวกันกับผ้าที่ใช้ปักลายหรือตัดปลายออกเป็นสี่เหลี่ยมคางหมูก็ได้  
             ผ้าแถบสีเอว นิยมใช้ผ้าสีอ่อน เป็นผ้าอะไรก็ได้กว้างประมาณ 10 เซนติเมตร ใช้ต่อทำเอว
         เครื่องแต่งกายบุรุษเย้า ตามประเพณี 
         1. เสื้อ ใช้ผ้าสีดำมาตัดเป็นตัวเสื้อปักลายที่ตัวเสื้อและที่กระเป๋า ลักษณะของเสื้อนำผ้า 4 ชิ้น มาเย็บตัวเสื้อเย็บต่อตะเข็บกลางหลัง ด้านหน้าเปิด ตัดผ้าเป็นวงแขนเย็บด้านข้างเข้าด้วยกันต่อแขนยาวถึงข้อมือ เป็นเสื้อคอกลมแล้วเอาผ้าชิ้นหนึ่งตัดเฉียงจากอกเสื้อด้านซ้ายป้ายไปทางด้านขวา มีการตกแต่งที่ชายเสื้อ ชายแขนเสื้อเป็นแถบผ้าเล็ก ๆ เป็นสีเหมือนเสื้อของสตรี กระดุมเสื้อป้ายจะติดกระดุมเงินรังดุมใช้ด้ายสีแดงหรือดำถักเป็นห่วง
         2. กางเกง เป็นกางเกงจีนขายาวทรงกระบอกสีดำติดด้ายถักเป็นทางสีแดงสมัยใหม่นี้นิยมแต่งแบบคนไทยพื้นเมือง
         เครื่องแต่งกายเด็ก 
         นิยมแต่งกายแบบพื้นราบ เพราะหาซื้อง่ายและสะดวก แต่ก็มีเครื่องแสดงเอกลักษณ์ของเย้าอยู่ โดยการใส่หมวกตามประเพณี ซึ่งจะแตกต่างกันระหว่างเด็กหญิงและเด็กชาย
         1. หมวกเด็กหญิง ใช้ผ้าสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นผ้าทอสีดำเป็นด้านกว้างติดกันเป็นวงกลม  รวบส่วนบนเย็บติดกันเป็นหมวก  ชายด้านล่างใช้ไหมพรมถัก  (ทาง)  ติดหรือใช้ไหมแดงพันลวดเงิน  เป็นช่วง ๆ  ติดถัดขึ้นมาปักลายเป็นแถวประมาณ  2 - 3 แถว  ติดพู่ไหมพรมสีแดงเป็นวงกลมรอบตรงรอยเย็บและข้างหูด้านละ  1  อัน
         2. หมวกเด็กชาย หมวกเด็กชายประกอบด้วยผ้าพื้นดำ 6 - 8 ชิ้น เป็นรูปสามเหลี่ยมหรือใช้แดงครึ่งหนึ่ง นำผ้าสามเหลี่ยมมาเย็บต่อกันเป็นหมวก ด้านล่างตกแต่งด้วยด้ายถักและผ้าดำปักลาย 1 - 2 แถวมาเย็บติด นิยมใช้ผ้าแดงตัดเป็นรูปกลีบดอกไม้เย็บติดด้านบนของหมวกด้านบนสุดติดพู่ไหมพรมสีแดงเป็นก้อนกลม  บางหมู่บ้านจะติดข้างหูอีกข้างละ 1 อัน หรือติดข้าง ๆ หมวกอีกประมาณ 7 – 8 อัน

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ชาวเขาเผ่าเย้า

ตารางที่ 1 แสดงผลิตภัณฑ์ผ้าชาวเขาเผ่าเย้า.jpg

ตารางที่ 1 แสดงผลิตภัณฑ์ผ้าชาวเขาเผ่าเย้า

ข้อมูลการสำรวจ

แหล่งอ้างอิง

         ศูนย์หัตถกรรมชาวเขา 

วัน เดือน ปี ที่สำรวจ

         ลงพื้นที่สำรวจเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2557

วันปรับปรุงข้อมูล

         วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562

ผู้สำรวจข้อมูล

         อาจารย์ธนกิจ โคกทอง, นางสาววนิดา รุ่งสกุล, สาโรจน์  มหึมา และ นายอภิวัฒน์ ภูทอง

คำสำคัญ (tag)

         ผ้าปักชาวเขา, ผลิตภัณฑ์ผ้าชาวเขา, ชาวเขาเผ่าเย้า