ฐานข้อมูล เรื่อง โบสถ์ศิลาแลง วัดหนองปลิง
ไบยังการนำทาง
ไปยังการค้นหา
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อเรียก
โบสถ์ศิลาแลง วัดหนองปลิง
ศาสนา
ศาสนาพุทธ
ที่ตั้ง
โบสถ์ศิลาแลง วัดหนองปลิง ตั้งอยู่บ้านคลองบางทวน ตำบลหนองปลิง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร โดยตำบลหนองปลิง มีพื้นที่ติดต่อ ดังต่อไปนี้ • ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลลานดอกไม้ • ทิศใต้ ติดกับ ตำบลลานดอกไม้ตก กิ่งอำเภอโกสัมพีนคร • ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลสระแก้ว • ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลทรงธรรม
ที่ตั้งพิกัดทางภูมิศาสตร์
ละติจูด 16.5293335 ลองจิจูด 99.497556
หน่วยงานที่ดูแลรักษา
เทศบาลเมืองหนองปลิง จังหวัดกำแพงเพชร
สถานะการขึ้นทะเบียน
ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.บ.
วัน/เดือน/ปีก่อสร้าง
• วัดหนองปลิง ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2540 • โบสถ์ศิลาแลง ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2557
ข้อมูลจำเพาะ
ประวัติความเป็นมา/คำบอกเล่า/ตำนาน
ประวัติวัดหนองปลิง วัดหนองปลิง ได้รับอนุญาตก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2540 โดยมีพระครูวิเชียรธรรมนาทหรือหลวงพ่อสีหนาท เป็นท่านเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ และเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก แต่เดิมสถานที่บริเวณวัดหนองปลิงแห่งนี้เป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ ซึ่งในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทั้ง 2 พระองค์เคยใช้เป็นสถานที่พักรบและซ้อมรำดาบ รำทวน ทั้งยังเป็นเมืองหน้าด่าน ชื่อว่า “เมืองเนินทอง” ตามประวัติของวัดหนองปลิงจะมีที่ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ประมาณ 3 กิโลเมตร ส่วนทางด้านหน้าของวัดหนองปลิง มีคลองน้ำยาวไปถึง ศรีสัชนาลัย-สุโขทัย จนทำให้บริเวณนี้เกิดหมู่บ้านขึ้น ทั้งนี้ได้รับขนานนามตามประวัติศาสตร์ว่า “คลองรำดาบรำทวน” และต่อมาชาวบ้านก็ได้เรียกบริเวณนี้ว่า “คลองบางทวน” เรื่อยมา ปัจจุบันวัดหนองปลิงได้รับแต่งตั้งเป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดกำแพงเพชรแห่งที่ 2 (ดีเด่น) ภายในวัด ประกอบด้วย อาคารขนาดใหญ่สามชั้น ชั้นแรกเป็นห้องพักสำหรับผู้มาอาศัยปฏิบัติธรรม ชั้นที่ 2 เป็นห้องสำหรับประกอบพิธีบุญ และชั้นที่ 3 เป็นห้องโถงขนาดใหญ่ที่ใช้อบรมสัมมนา
ภาพที่ 1 อาคารปฏิบัติธรรม วัดหนองปลิง
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
โบสถ์ศิลาแลง วัดหนองปลิง โบสถ์ศิลาแลง เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2557 โดยใช้หินศิลาแลงในการสร้างหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ ด้วยความตั้งใจของหลวงพ่อสีหนาท เพราะศิลาแลงเป็นวัสดุขึ้นชื่อของจังหวัดกำแพงเพชร ดั่งคำขวัญจังหวัดท่อนหนึ่งว่า “ศิลาแลงใหญ่” โดยให้ช่างผู้ชำนาญเป็นคนแกะสลักศิลาแลงเป็นลวดลายต่าง ๆ ที่มีความปราณีตและละเอียดทุกกระเบียดนิ้ว
ภาพที่ 2 โบสถ์ศิลาแลง วัดหนองปลิง
บริเวณด้านหน้าทางขึ้นประดับด้วยรูปปั้นของนาคี-นาคา เป็นผู้คอยปกปักรักษาโบสถ์ และรูปปั้นช้างทรงเครื่อง หน้าประตูทางเข้าโบสถ์ ประดับด้วยท้าวเวสสุวรรณ ส่วนผนังโบสถ์ด้านหลังสลักเป็นพระพุทธรูปปางเปิดโลก อิริยาบถยืนอยู่เหนือดอกบัว ข้างใต้พระพุทธรูปเป็นภาพนักษัตร 12 ราศี เปรียบเหมือนพระพุทธเจ้ากำลังเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงมายังโลกมนุษย์ ตลอดจนกำแพงรอบโบสถ์ก็ยังแกะสลักเป็นคติสอนธรรมและพุทธประวัติ รวมแล้วมีมากกว่าหนึ่งร้อยช่อง ภายในโบสถ์ ใช้ไม้ตะเคียนเนื้อแข็งแท้จากประเทศพม่าแกะสลักเป็นลวดลายต่างๆ ทั้งหลัง
ภาพที่ 3 รูปปั้นนาคี-นาคา ผู้คอยปกปักรักษาโบสถ์
ภาพที่ 4 รูปปั้นช้างทรงเครื่อง หน้าประตูทางเข้าโบสถ์
ภาพที่ 5 พระพุทธรูปปางเปิดโลก อิริยาบถยืนอยู่เหนือดอกบัว
ภาพที่ 6 พระพุทธรูปปางเปิดโลก อิริยาบถยืนอยู่เหนือดอกบัว
ภาพที่ 7 ท้าวเวสสุวรรณ
ภาพที่ 8 เสาธรรมจักร
พระพุทธเจ้าเงินไหลมา พระพุทธเจ้าเงินไหลมา เป็นพระประธานภายในโบสถ์ศิลาแลง วัดหนองปลิง จังหวัดกำแพงเพชร มีรูปแบบศิลปะหมวดกำแพงเพชร แบบพระพุทธสิหิงค์ เนื้อเงินบริสุทธิ์ทั้งองค์ ขนาดหน้าตักกว้าง 32 นิ้ว หนักประมาณ 400 กิโลกรัม พระครูวิเชียรธรรมนาทเปิดเผยว่า พระพุทธสิหิงค์ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ มีรูปแบบศิลปกรรมแบบพระกำแพงเพชร หรือที่เรียกว่า สกุลช่างกำแพงเพชร โดยพระพุทธรูปนั่งปางสมาธิ ตามตำนานล้านนาเล่าว่า เจ้าเมืองกำแพงเพชร ชื่อพระยาญาณดิศ (อำมาตย์ปัญญา) ซึ่งเป็นโอรสบุญธรรมของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) ในสมัยอยุธยา ได้นำพระพุทธสิหิงค์มาไว้ที่กำแพงเพชร เพื่อบูชาให้เป็นพระคู่บ้านคู่เมือง เป็นที่สักการะของสมณชีพราหมณ์ และชาวเมืองกำแพงเพชร ภายหลังทางอยุธยาได้ขอพระพุทธสิหิงค์คืน โดยอ้างว่าพระยาญาณดิศนำพระพุทธสิหิงค์มาโดยไม่ได้บอกทางอยุธยา และพระยาญาณดิศจึงมีความประสงค์จะจำลองพระพุทธสิหิงค์ไว้ แต่ทางอยุธยาไม่อนุญาต จึงทำให้พระยาญาณดิศทั้งสมณชีพราหมณ์ และชาวเมืองกำแพงเพชร เสียใจเป็นอย่างมาก เพราะพระพุทธสิหิงค์เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองแต่ไม่ได้อยู่ที่กำแพงเพชรอีกต่อไป
ภาพที่ 10 พิธีเทเนื้อเงินหล่อพระประธานพระพุทธเจ้าเงินไหลมา
ต่อมาในปี พ.ศ.2557 วัดหนองปลิง พร้อมทั้งผู้มีจิตศรัทธา สาธุชนทุกท่าน มีความปรารถนาและความตั้งใจหล่อพระซึ่งเป็นศิลปะหมวดกำแพงเพชร แบบพระพุทธสิหิงค์ ชื่อ "พระพุทธเจ้าเงินไหลมา" ให้ได้สำเร็จตามความประสงค์ของพระยาญาณดิศ พร้อมบรรพบุรุษในอดีต และนำมาประดิษฐานไว้ในโบสถ์ศิลาแลงวัดหนองปลิง จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อให้สมเกียรติและเป็นประวัติศาสตร์ เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองชาวกำแพงเพชรสืบต่อไป
บุคคลที่เกี่ยวข้อง
พระครูวิเชียรธรรมนาท หรือหลวงพ่อสีหนาท เจ้าอาวาสวัดหนองปลิง โทร.055-710400/ 086-446-60723
ภาพที่ 9 พระครูวิเชียรธรรมนาท หรือหลวงพ่อสีหนาท เจ้าอาวาสวัดหนองปลิง
วิธี/ขั้นตอน/กระบวนการในการสักการะ
โบสถ์ศิลาแลง วัดหนองปลิง สามารถเข้าชมได้ทุกวัน ตามวันเวลาราชการ
ข้อมูลการสำรวจ
วันเดือนปีที่สำรวจ
วันที่ 27 มกราคม 2562 ณ วัดหนองปลิง จ.กำแพงเพชร
วันปรับปรุงข้อมูล
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562
ผู้สำรวจข้อมูล
1. อาจารย์ชญาน์นันท์ ศิริกิจเสถียร 2. นางสาวประภารัตน์ คงน้ำ 3. นางสาวน้ำพลอย ดิษสงค์ 4. นางสาวณัฎฐณิชา แก้วกอเกตุ
คำสำคัญ (tag)
• โบสถ์ศิลาแลง • วัดหนองปลิง