น้ำตกคลองน้ำไหลกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

บทนำ

         น้ำตกคลองน้ำไหลตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอคลองลาน และอำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ครอบคลุมพื้นที่ป่าคลองลานอันสมบูรณ์แหล่งสุดท้ายของจังหวัดกำแพงเพชร แม้จะพื้นที่อันสมบูรณ์แหล่งสุดท้ายของจังหวัดกำแพงเพชรแต่ก็ยังมีการเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชม ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอีกแห่งหนึ่งที่สำคัญของจังหวัดกำแพงเพชร 
         การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวที่เป็นการบ่งบอกถึง การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (sustainable tourism) ซึ่งจากการประชุม Globe 1990 ณ ประเทศแคนาดาได้ให้คำจำกัดความของการท่องเที่ยว แบบยั่งยืนว่า "การพัฒนาที่สามารถตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวและผู้เป็นเจ้าของท้องถิ่นในปัจจุบัน โดยมีการปกป้องและสงวน รักษาโอกาสต่างๆของอนุชนรุ่นหลังด้วย การท่องเที่ยวนี้มีความหมายรวมถึงการจัดการทรัพยากรเพื่อตอบสนองความจำเป็นทางเศรษฐกิจสังคม และความงามทางสุนทรียภาพ ในขณะที่สามารถรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและระบบนิเวศด้วย" โดยมีลักษณะที่สำคัญคือ เป็นการท่องเที่ยวที่ดำเนินการภายใต้ขีดจำกัดความสามารถของธรรมชาติ และต้องตระหนักถึงการมีส่วนร่วมของประชากร ชุมชน ขนบธรรมเนียม ประเพณี ที่มีต่อขบวนการท่องเที่ยว อีกทั้งต้องยอมรับให้ประชาชนทุกส่วนได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการท่องเที่ยวอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน และต้องชี้นำภายใต้ความปรารถนาของประชาชนท้องถิ่นและชุมชนในพื้นที่ท่องเที่ยวนั้นๆ 
         จากการลงพื้นที่น้ำตกคลองน้ำไหลเพื่อศึกษาเกี่ยวกับลักษณะของน้ำตกคลองน้ำไหล และการจัดการพื้นที่สำหรับการท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวเชิงการอนุรักษ์

ความเป็นมาของน้ำตกคลองน้ำไหล

         สืบเนื่องจากผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายเทพ ไสยานนท์) ได้มีหนังสือที่ กส. 0215/230 ลงวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2521 ถึงปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานผลการไปตรวจราชการที่จังหวัดกำแพงเพชร เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2521 ว่าน้ำตกคลองลาน อำเภอคลองลาน เป็นบริเวณป่าต้นน้ำลำธารขาดการดูแลรักษา ซึ่งเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และมีการลักลอบตัดไม้ไปใช้สอย หากปล่อยทิ้งไว้บริเวณป่าต้นน้ำลำธารก็จะถูกทำลายลงไป ทั้งนี้อยู่ในเขตของศูนย์พัฒนาสงเคราะห์ชาวเขา
         กรมป่าไม้จึงมีหนังสือที่ กส.0808/1114 ลงวันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2521 แจ้งให้ป่าไม้เขตนครสวรรค์ตรวจสอบ ได้รับรายงานตามหนังสือที่ กส.0809 (นว)/1596 ลงวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2521 ว่าได้ทำการสำรวจสภาพพื้นที่บริเวณน้ำตกคลองลานไว้แล้ว เพื่อจะขออนุมัติกรมป่าไม้จัดตั้งเป็นวนอุทยาน เพราะเห็นว่า มีทิวทัศน์สวยงามเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน ซึ่งน้ำตกคลองลานอยู่ในพื้นที่สงวนไว้เป็นพื้นที่ป่าไม้ 40 เปอร์เซ็นต์ ของเขตพื้นที่ศูนย์พัฒนาสงเคราะห์ชาวเขากำแพงเพชร กรมประชาสงเคราะห์ ป่าไม้เขตนครสวรรค์จึงได้ประสานงานกับจังหวัดกำแพงเพชร ดำเนินการขอกรมประชาสงเคราะห์ใช้พื้นที่บริเวณน้ำตกคลองลาน จำนวน 5,000 ไร่ ที่อยู่ในพื้นที่สงวนไว้เป็นพื้นที่ป่าไม้ 40 เปอร์เซ็นต์ เพื่อจัดเป็นวนอุทยาน ซึ่งกรมประชาสงเคราะห์ไม่ขัดข้อง จังหวัดกำแพงเพชรจึงมีหนังสือที่ มท. 0714/13/13438 ลงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2521 แจ้งให้กรมป่าไม้ดำเนินการจัดตั้งวนอุทยานเพื่อสงวนป่าต้นน้ำลำธารแห่งนี้ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ได้มีคำสั่งที่ 192/2523 ลงวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2523 ให้นายปรีชา จันทร์ศิริตานนท์ นักวิชาการป่าไม้ 4 ไปสำรวจและจัดพื้นที่บริเวณป่าคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร เป็นอุทยานแห่งชาติ ปรากฏว่าพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพป่าทั้งไม้สักและไม้กระยาเลยสมบูรณ์มาก เป็นภูเขาสูง มีธรรมชาติสวยงาม เป็นป่าต้นน้ำลำธารเหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ
ภาพที่ 1 น้ำตกคลองน้ำไหล.jpg

ภาพที่ 1 น้ำตกคลองน้ำไหล

(ที่มา : นางสาวพบพร เอี่ยมใส)

         กองอุทยานแห่งชาติกรมป่าไม้ ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติมีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2525 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2525 เห็นสมควรให้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ป่าคลองลานเป็นอุทยานแห่งชาติโดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าคลองลาน ในท้องที่ตำบลโป่งน้ำร้อน ตำบลคลองลาน และตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2525 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 99 ตอนที่ 191 ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2525 เป็นอุทยานแห่งชาติ แห่งที่ 44 ของประเทศ (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, 2562, ออนไลน์)
         น้ำตกคลองน้ำไหลตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอคลองลาน และอำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ครอบคลุมพื้นที่ป่าคลองลานอันสมบูรณ์แหล่งสุดท้ายของจังหวัดกำแพงเพชร ประกอบด้วยภูเขาสูงชันสลับซับซ้อนเป็นป่าต้นน้ำลำธาร ต้นกำเนิดของน้ำหลายสาย เช่น คลองขลุง คลองสวนหมาก ซึ่งไหลรวมกันลงสู่แม่น้ำปิงและเป็นต้นน้ำ น้ำตกคลองลานไหลลงสู่คลองขลุง เนื้อที่ประมาณ 187,500 ไร่
         สภาพภูมิประเทศ น้ำตกคลองน้ำไหลตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติคลองลาน เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ด้านทิศตะวันออกเป็นที่ราบ ดินร่วนปนทราย ภูเขาแต่ละลูกเชื่อมโยงติดต่อกับขุนคลองลานซึ่งเป็นจุดสูงสุดในบริเวณนี้ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,439 เมตร สภาพป่าสมบูรณ์
ภาพที่ 2 ด่านเก็บค่าบริการนักท่องเที่ยงน้ำตกคลองน้ำไหล.jpg

ภาพที่ 2 ด่านเก็บค่าบริการนักท่องเที่ยงน้ำตกคลองน้ำไหล

         สภาพภูมิอากาศในเขตอุทยานแห่งชาติ อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 27 องศาเซลเซียส ในฤดูร้อนอากาศร้อนในตอนกลางวัน อุณหภูมิสูงสุดในเดือนเมษายน 38 องศาเซลเซียส ดู ฤดูหนาวอากาศเย็นสบาย อุณหภูมิต่ำสุดในเดือนธันวาคม 17 องศาเซลเซียส ในฤดูฝนมีฝนตกชุก ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 1,300 มิลลิเมตรต่อปี
         น้ำตกคลองน้ำไหล หรืออีกชื่อเรียกหนึ่งคือ น้ำตกปางควาย อยู่ห่างจากที่ทำการประมาณ 25 กิโลเมตร จากเส้นทางสายอุ้มผาง-คลองลาน ก่อนถึงอำเภอคลองลาน มีทางแยกด้านขวาเข้าสู่น้ำตก เรียกว่า “ถนนปางควาย” ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร ถึงน้ำตกคลองน้ำไหล ซึ่งเป็นน้ำตกขนาดกลาง สายน้ำไหลลดหลั่นกันลงมา มีทั้งหมด 9 ชั้น แต่ละชั้นมีแอ่งน้ำและความสูงต่างกัน
ภาพที่ 3 น้ำตกคลองน้ำไหล.jpg

ภาพที่ 3 น้ำตกคลองน้ำไหล

(ที่มา : นายธนกิจ โคกทอง, 2562)

         น้ำตกคลองน้ำไหล มีลานหินที่นี่กว้างมากเป็นสีนิลวาววับเมื่อตัดกับสายน้ำ ลำธารสวยด้วยโขดหิน ในชั้นที่ 3 น้ำตกจะแยกเป็น 2 สาย ดูสวยงามทางฝั่งขวาไหลลงสู่แอ่งน้ำกว้างประมาณ 3 เมตร สามารถลงเล่นน้ำได้แค่ชั้นที่ 1-3 เท่านั้น (โครงการจัดระบบฐานข้อมูลทรัพยากรในเขตอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์พืช, ม.ป.ป.)
ภาพที่ 4 ชั้นที่ 3 ของน้ำตกคลองน้ำไหล.jpg

ภาพที่ 4 ชั้นที่ 3 ของน้ำตกคลองน้ำไหล

(ที่มา : นางสาวพบพร เอี่ยมใส, 2562)

ภาพที่ 5 ชั้นที่ 3 ทิวต้นอินทนิลบริเวณลานจอดรถ.jpg

ภาพที่ 5 ชั้นที่ 3 ทิวต้นอินทนิลบริเวณลานจอดรถ

(ที่มา : นางสาวพบพร เอี่ยมใส, 2562)

ภาพที่ 6 เส้นทางขึ้นน้ำตกคลองน้ำไหล.jpg

ภาพที่ 6 เส้นทางขึ้นน้ำตกคลองน้ำไหล

(ที่มา : นางสาวพบพร เอี่ยมใส, 2562)

ภาพที่ 7 น้ำตกคลองน้ำไหล.jpg

ภาพที่ 7 น้ำตกคลองน้ำไหล

(ที่มา : นางสาวพบพร เอี่ยมใส, 2562)

ภาพที่ 8 แอ่งน้ำตกคลองน้ำไหล.jpg

ภาพที่ 8 แอ่งน้ำตกคลองน้ำไหล

(ที่มา : นางสาวพบพร เอี่ยมใส, 2562)

ภาพที่ 9 บริเวณปลายน้ำของน้ำตกคลองน้ำไหล.jpg

ภาพที่ 9 บริเวณปลายน้ำของน้ำตกคลองน้ำไหล

(ที่มา : นางสาวพบพร เอี่ยมใส, 2562)

         โดยระหว่างทางไปน้ำตกแต่ละชั้นยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะสั้น ระยะทางโดยประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นเส้นทางศึกษาระบบนิเวศป่าภายในเส้นทางมีธรรมที่สวยงาม และมีพรรณไม้ชนิดต่างๆ ในเส้นทาง
ภาพที่ 10 ป้ายเส้นทางศึกษาธรรมชาติ.jpg

ภาพที่ 10 ป้ายเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกคลองน้ำไหล

(ที่มา : นายธนกิจ โคกทอง, 2562)

         โดยมีป้ายสื่อความหมายให้รายละเอียดที่น่าสนใจรวมทั้งสิ้น 12 สถานี นักท่องเที่ยวสามารถเดินศึกษาธรรมชาติได้ด้วยตนเอง ประกอบไปด้วย
         สถานีที่ 1 “ไผ่” หญ้ามหัศจรรย์
         สถานีที่ 2 “สังคมพืช” โครงสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ
         สถานีที่ 3 “ไทร” นักบุญแห่งผืนป่า นักฆ่าแห่งพงไพร
         สถานีที่ 4 ยางนา
         สถานีที่ 5 “ไลเดน” เพราะเราคู่กัน
         สถานีที่ 6 โป่ง
         สถานีที่ 7 ฟองน้ำธรรมชาติสถานี
         สถานีที่ 8 พืชเบิกนำ
         สถานีที่ 9 “พูพอน” ธรรมชาติผู้หยัดยืน
         สถานีที่ 10 เมื่อต้นไม้ล้มเอง
         สถานีที่ 11 ต้นยวนผึ้ง
         สถานีที่ 12 กล้วยป่า
ภาพที่ 11 เส้นทางศึกษาธรรมชาติ.jpg

ภาพที่ 11 เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกคลองน้ำไหล

(ที่มา : นายธนกิจ โคกทอง, 2562)

การจัดการพื้นที่สำหรับการท่องเที่ยว

         ในส่วนของการจัดการพื้นที่นั้นจะมีการแบ่งส่วนด้านนอกก่อนเข้าบริเวณน้ำตกคลองน้ำไหล ซึ่งจะแบ่งเป็นพื้นที่จอดรถ และพื้นที่ร้านค้า และเมื่อบริเวณด้านในจึงจะจัดการพื้นที่สำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ห้องสุขา และที่อาบน้ำ รวมถึงลานการเต็นท์ ซึ่งถูกจัดอยู่บริเวณด้านล่างก่อนทางขึ้นน้ำตก
ภาพที่ 12 ลานจอดรถด้านหน้า.jpg

ภาพที่ 12 ลานจอดรถด้านหน้าน้ำตกคลองน้ำไหล

(ที่มา : นายธนกิจ โคกทอง, 2562)

ภาพที่ 13 ร้านค้าด้านหน้า.jpg

ภาพที่ 13 ร้านค้าด้านหน้าน้ำตกคลองน้ำไหล

(ที่มา : นางสาวพบพร เอี่ยมใส, 2562)

ภาพที่ 14 ห้องสุขาและห้องอาบน้ำ.jpg

ภาพที่ 14 ห้องสุขาและห้องอาบน้ำบริเวณน้ำตกคลองน้ำไหล

(ที่มา : นางสาวพบพร เอี่ยมใส, 2562)

ภาพที่ 15 ลานกลางเต็นท์น้ำตกคลองน้ำไหล.jpg

ภาพที่ 15 ลานกลางเต็นท์น้ำตกคลองน้ำไหล

(ที่มา : นายธนกิจ โคกทอง, 2562)

การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

         การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เป็นแนวความคิดที่เกิดขึ้นโดยมีสาเหตุมาจากแนวโน้ม 2 ประการมาบรรจบกันคือ แนวโน้มเกี่ยวกับการอนุรักษ์และแนวโน้มเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงเรื่องอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยมีสาระสำคัญเรื่องแนวโน้มเรื่องการอนุรักษ์ เกิดจากการที่ประชาชนเพิ่มขึ้น และภาวะทางเศรษฐกิจถดถอยในหลายประเทศ กิจกรรมการพัฒนาต่าง ๆ เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การทำเหมืองแร่ และการเกษตรเกิดขึ้นภายในบริเวณทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศ จนทำให้ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม และผลที่ตามมาคือความไม่ยั่งยืนของการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศต่าง ๆ ได้พยายามผสมผสานเรื่องของการอนุรักษ์เข้ากับการพัฒนาเศรษฐกิจ
         ความหมายของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ได้มีบุคคลหรือองค์กรต่างๆให้ความหมายและคำจำกัดความไว้มากมาย เป็นที่ยอมรับในระดับหนึ่งและได้รับการอ้างอิงถึงเสมอ ที่สำคัญมีดังนี้ 
         Ceballos Lascurain (1991) อาจจะเป็นคนแรกที่ได้ให้คำจำกัดความของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ว่า "เป็นการท่องเที่ยว รูปแบบหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางไปยังแหล่งธรรมชาติ โดยไม่ให้เกิดการรบกวนหรือทำความเสียหายแก่ธรรมชาติ แต่มีวัตถุประสงค์ เพื่อชื่นชม ศึกษาเรียนรู้ และเพลิดเพลินไปกับทัศนียภาพพืชพรรณ และสัตว์ป่า ตลอดจนลักษณะทางวัฒนธรรมที่ปรากฏในแหล่งธรรมชาติ เหล่านั้น"
         Elizabeth Boo (1991) ให้คำจำกัดความการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ว่า "การท่องเที่ยวแบบอิงธรรมชาติที่เอื้อประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ อันเนื่องมาจากการมีเงินทุนสำหรับการปกป้องดูแลรักษาพื้นที่ มีการสร้างงานให้กับชุมชนหรือท้องถิ่น พร้อมทั้งให้การศึกษาและ สร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม"
         The Ecotourism Society (1991) ได้ให้คำจำกัดความการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ว่า "การเดินทางไปเยือนแหล่งธรรมชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการเรียนรู้ถึงวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือทำลายคุณค่าของ ระบบนิเวศและในขณะเดียวกันก็ช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจที่ส่งผลให้การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เกิดประโยชน์ต่อประชาชนท้องถิ่น"
         Western (1993) ได้ปรับปรุงคำจำกัดความการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของ The Ecotourism Society ให้สั้นและกะทัดรัด แต่มีความหมายสมบูรณ์มากขึ้นคือ "การเดินทางท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อแหล่งธรรมชาติซึ่งมีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และทำให้ชีวิตความเป็น อยู่ของประชาชนท้องถิ่นดีขึ้น"
         The Commonwealt Department of Tourism (1994) ได้ให้คำจำกัดความการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์คือ การท่องเที่ยว ธรรมชาติที่ครอบคลุมถึงสาระด้านการศึกษา การเข้าใจธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และการจัดการเพื่อรักษาระบบนิเวศให้ยั่งยืน คำว่า ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมยังครอบคลุมถึงขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นด้วย ส่วนคำว่าการรักษาระบบนิเวศให้ยั่งยืนนั้นหมายถึง การปันผลประโยชน์ต่างๆ กลับสู่ชุมชนท้องถิ่นและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
         เสรี เวชบุษกร (2538) ให้คำจำกัดความการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ว่า "การท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบต่อแหล่งท่องเที่ยว ที่เป็นธรรมชาติและต่อสิ่งแวดล้อมทางสังคม ซึ่งหมายรวมถึงวัฒนธรรมของชุมชนในท้องถิ่น ตลอดจนโบราณสถาน โบราณวัตถุที่มีอยู่ใน ท้องถิ่นด้วย"
         จากการให้ความหมายและคำจำกัดความการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ดังกล่าวข้างต้น พอจะสรุปได้ว่า การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ หมายถึง การท่องเที่ยวรูปแบบหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางไปยังแหล่งธรรมชาติ และแหล่งวัฒนธรรมอย่างมีความรับผิดชอบ โดยไม่ก่อให้เกิด การรบกวนหรือทำความเสียหายแก่ทรัพยากร ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม แต่มีวัถตุประสงค์อย่างมุ่งมั่นเพื่อชื่นชม ศึกษา เรียนรู้ และเพลิดเพลินไปกับทัศนียภาพ พืชพรรณ และสัตว์ป่า ตลอดจนลักษณะทางวัฒนธรรมที่ปรากฏในแหล่งธรรมชาตินั้น อีกทั้งช่วยสร้างโอกาส ทางเศรษฐกิจที่ส่งผลให้การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมเกิดประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นด้วย (สฤษฏ์ แสงอรัญ, ม.ป.ป.)
         ซึ่งจะเห็นได้ว่าน้ำตกคลองน้ำไหลนั้นเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์อีกทั้งน้ำตกคลองน้ำไหลจะมีการจัดการพื้นที่การท่องเที่ยวอย่างเป็นสัดส่วนเพื่อให้เกิดความเหมาะสมต่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ หากแต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสังคมไทยนั้นมีความเชื่อมากมายซึ่งหลากหลายความเชื่อนั้นอาจส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมกับธรรมชาติ เห็นได้จากระหว่างทางเดินขึ้นน้ำตกนั้นมีการใช้ไม้ค้ำก้อนหินรวมถึงการสลักข้อความบนต้นไม้อีกด้วย
ภาพที่ 16 ไม้ค้ำที่น้ำตกคลองน้ำไหล.jpg

ภาพที่ 16 ไม้ค้ำที่น้ำตกคลองน้ำไหล

(ที่มา : นายธนกิจ โคกทอง, 2562)

ภาพที่ 17 การสลักข้อความบนต้นไม้ที่น้ำตกคลองน้ำไหล.jpg

ภาพที่ 17 การสลักข้อความบนต้นไม้ที่น้ำตกคลองน้ำไหล

(ที่มา : นายธนกิจ โคกทอง, 2562)

         ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อว่าไม้มาค้ำก้อนหินใหญ่ จะทำให้มีผู้ใหญ่ค้ำชู ช่วยต่ออายุให้ยืนยาว เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง ค้ำดวงชะตาไม่ให้ตกต่ำ ซึ่งการนำไม้มาค้ำหินเช่นนี้เป็นการทำลายธรรมชาติโดยตรง เพราะจะทำให้ก้อนหินเสียสมดุล (มติชนออนไลน์, 2561) 
         การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการคือ 
         1) การสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถือว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญของแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ หากธรรมชาติและระบบนิเวศได้รับผลกระทบจากการใช้ประโยชน์ในรูปแบบใดก็ตาม โอกาสที่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะเสื่อมโทรมลงหรือถูกทำลายลงก็มีอยู่สูง การให้ความรู้ความเข้าใจหรือการสร้างจิตสำนึกแก่นักท่องเที่ยวหรือผู้มาเยือนจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ภาพที่ 18 ป้ายบอกระยะเวลาการย่อสลายของวัตถุ.jpg

ภาพที่ 18 ป้ายบอกระยะเวลาการย่อสลายของวัตถุที่น้ำตกคลองน้ำไหล

(ที่มา : นายธนกิจ โคกทอง, 2562)

         2) ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว ซึ่งมีความสัมพันธ์กับองค์ประกอบแรกโดยตรง เพราะนักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มักเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความปรารถนาหรือสนใจที่จะศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติในลักษณะต่าง ๆ และสภาพภูมิทัศน์ตามธรรมชาติ ตลอดจนธรรมชาติที่ยากลำบากต่อการเดินทางและท้าทาย 
         3) การมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น เพราะการท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนท้องถิ่นในระยะยาวมากว่ากิจกรรมอื่น ๆ การเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในรูปแบบต่าง ๆ จะช่วยให้ชุมชนได้รับผลประโยชน์จากการท่องเที่ยว ทั้งทางตรงและทางอ้อม รูปแบบของการมีส่วนร่วมของชุมชน ได้แก่ การลงทุนเกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวกขนาดเล็กที่ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่ำ การเป็นมัคคุเทศก์ การนำสินค้าที่เป็นศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านมาขาย แก่นักท่องเที่ยว และการจ้างงานในส่วนบริการอื่น ๆ เป็นต้น

บทสรุป

         จากการศึกษาพื้นที่น้ำตกคลองน้ำไหล พบว่าเป็นแหล่งน้ำทางธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์อีกทั้งมีพื้นที่บางลักษณะเป็นแอ่งน้ำเหมาะแก่งการเป็นสถานที่ท่องเที่ยว อีกทั้งยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติในระยะทางไม่ไกลมากนัก อีกทั้งการจัดการพื้นที่นั้นมีการจัดการอย่างเป็นสัดส่วนเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการรักษาธรรมชาติและการจัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว หากแต่ต้องย้อมรับว่าเมื่อเปิดพื้นที่ทางธรรมชาติเป็นแหล่งท่องเที่ยวแล้วนั้น การควบคุมคนและการกระทำต่างๆเป็นไปได้ยาก อีกทั้งคนทั่วไปอาจยังขาดความเข้าใจในการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ แม้ปัจจุบันจะสามารถทำความเข้าใจและมีการจัดการระหว่างชุมชนได้อย่างลงตัว แต่ชุมชนกับเป็นกลุ่มคนเล็กๆเมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาสร้างผลกระทบต่อสถานที่ได้ ดังนั้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการอนุรักษ์จึงเป็นสิ่งสำคัญเกินกว่าจะมองข้ามได้ เพื่อให้เกิดความสมดุลอย่างยั่งยืนในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและรักษาธรรมชาติไปด้วยกัน