แกงหน่อไม้กับความหลากหลายด้านถิ่นกำเนิด
เนื้อหา
บทนำ
แกงหน่อไม้บางคนก็เรียก “แกงลาว” หรือ “แกงเปรอะ” มีใบย่างนางเป็นส่วนประกอบหลัก ใบย่านางจะช่วยเรื่องแก้ความขื่นและขมของหน่อไม้ได้เป็นอย่างดีนับว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่เอาทั้ง 2 อย่างมารวมกัน ใบย่านางเป็นพืชหาง่าย คุณสมบัติเป็นสมุนไพร นิยมคั้นเอาน้ำจากใบมาทำเป็นอาหาร มากกว่ารับประทานใบสด แกงหน่อไม้ เป็นอาหารอีสานที่มีส่วนประกอบในการทำไม่ยุ่งยาก ประกอบด้วย หน่อไม้สด หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วลวกหรือต้ม เพื่อล้างความขมและสารบางอย่างในหน่อไม้ออกไปเสียก่อน ส่วนประกอบอื่นก็มี พริก หอม ตะไคร้ ใบย่านาง น้ำตาลทราย น้ำปลาร้า แล้วก็น้ำสะอาด สำหรับทำน้ำแกง ในส่วนของผักก็แล้วแต่ชอบ เช่น ผักขะแยง ใบแมงลัก ฝักทองหรือยอดฝักทอง (รอ นันทะโชติ, 2562 ตุลาคม 7) สำหรับแกงหน่อไม้ของคนอีสานในจังหวัดกำแพงเพชรจะใส่ปลาย่างเพื่อเพิ่มความหอมให้กับแกงซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น บทความนี้จึงแสดงถึงความแตกต่างระหว่างแกงหน่อไม้ของภาคอีสานกับภาคกลางว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร แกงหน่อหรือแกงลาว ตามภาษาภาคอีสานนั้น ได้กลายเป็นอาหารที่พบเจอกันเป็นอย่างมาก ทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย ไม่เว้นแม้แต่จังหวัดกำแพงเพชร ที่มีประชาชนย้ายถิ่นฐานมาจากภาคอีสานเป็นจำนวนมาก และได้นำเอาอาหารท้องถิ่นอย่างแกงหน่อหรือแกงลาว มายังพื้นที่กำแพงเพชรด้วย นอกจากนั้นแล้วแกงหน่อไม้เป็นที่นิยมของชุมชนบ้านหนองกองพัฒนา ตำบลนาบ่อคำ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร เนื่องจากหมู่บ้าน มีการปลูกหน่อไม้เลี้ยงค่อนข้างมากแกงหน่อไม้จึงเป็นที่นิยมเพราะหากินได้ง่ายมาก
การเตรียมเครื่องปรุงและการทำ
ปัจจุบันแกงหน่อไม้ หรือแกงหน่อ ใช้หน่อไม้สดในการปรุง ใส่เนื้อสัตว์ได้ตามต้องการ ไม่ว่าจะเป็น กระดูกหมู หรือปลาดุก ปลาช่อน ซึ่งเป็นวัตถุดิบสามารถหาได้จากในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งหาได้ง่ายน่าจะเห็นเมนูแกงหน่อไม้ทุกครัวเรือน แกงหน่อไม้มีหลายแบบแล้วแต่ละท้องที่และการทำแตกต่างกันนิดหน่อย ตามความชอบ คือ สามารถแกงใส่อะไรก็ได้ที่เป็นส่วนประกอบ ส่วนเครื่องปรุงที่ขาดไม่ได้คือ ปลาร้า หน่อไม้มีหลายฤดูกาลและหลายชนิด อาทิ หน่อไม่ไร่ หน่อไม้บง หน่อไม้ไผ่บ้าน หน่อไม้ฮวก ฯลฯ ซึ่งมีรสชาติแตกต่างกัน (Thai Street Food, 2562) โดยมีวิธีการเตรียมเครื่องปรุงแกงหน่อไม้ของภาคอีสานและภาคกลางโดยส่วนใหญ่ภาคอีสานจะเน้นน้ำปลาร้าและน้ำใบย่านางแต่ภาคกลางจะเน้นน้ำกะทิเป็นส่วนประกอบหลักดังตารางที่ 1
ตารางที่ 1 แสดงอัตราส่วนผสมเครื่องปรุงแกงหน่อไม้และเครื่องพริกแกงของภาคกลางและภาคอีสาน
รายการ | อัตราส่วน | ภาคกลาง | ภาคอีสาน |
---|---|---|---|
เครื่องปรุงแกงหน่อไม้ | |||
หน่อไม้สด | 1 ถ้วย (ที่หั่นแล้ว) | / | |
หน่อไม้ดอง | 1 ถ้วย (ที่หั่นแล้ว) | / | |
พริกสด | 1 ถ้วยตวง | / | |
พริกแกง | 3 ช้อนโต๊ะ | / | |
พริกหยวก | 1 ถ้วยตวง | / | |
ตะไคร้ | 2 ต้น | / | |
ใบย่านาง | 1 ถ้วยตวง | / | |
ปลาย่าง | 2 ตัว | / | |
ไก่ | ครึ่งกิโลกรัม | / | |
ปลาร้า | 1 ถ้วยตวง | / | |
โหระพา | 1 ถ้วยตวง | / | |
กะทิ | 1 ถ้วยตวง | / | |
เครื่องพริกแกง | |||
หอม | ครึ่งขีด | / | / |
กระเทียม | ครึ่งขีด | / | / |
กระชาย | ครึ่งขีด/1 ถ้วยตวง | / | / |
ตะไคร้ | ครึ่งขีด | / | |
พริกสด | ขีด | / | |
ผิวมะกรูด | ครึ่งขีด | / | |
ข่า | ครึ่งขีด | / |
ที่มา: จากการสัมภาษณ์
ภาพที่ 1 แสดงเครื่องปรุงที่ใช้ในการทำแกงหน่อไม้สด ภาคอีสาน
(วุฒิชัย ตรุษลักษณ์, นันทนา นันทะโชติ พร้อมคณะผู้จัดทำ, 2562)
ภาพที่ 2 แสดงเครื่องปรุงที่ใช้ในการทำแกงหน่อไม้ดอง ภาคกลาง
(วุฒิชัย ตรุษลักษณ์, นันทนา นันทะโชติ พร้อมคณะผู้จัดทำ, 2562)
แกงหน่อไม้ภาคอีสาน
แกงหน่อไม้ ขึ้นชื่อว่าแกงแล้วย่อมมีรากเหง้าหรือวิธีการทำที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ส่วนใหญ่สิ่งที่แตกต่างกันมักจะทำตามความต้องการหรือความชอบของผู้บริโภค เช่นบางพื้นที่ชอบนำกะทิใส่ลงในแกง กลายเป็นแกงกะทิ หรือบางพื้นที่โดยเฉพาะในภาคอีสานมักจะนำปลาร้าใส่ลงในแกงด้วย เป็นต้น การปรุงแกงหน่อไม้ของคนภาคอีสานจะมีขั้นตอนการปรุงหลักๆ อยู่ 3 ขั้นตอนคือ การเตรียมหน่อไม้ให้พร้อมสำหรับการบริโภค การปรุงโดยการต้มพร้อมกับเครื่องแกงต่างๆ และตักสำหรับเสิร์ฟ ขั้นตอนการเตรียมหน่อไม้นี้มีวิธีการเตรียมที่ไม่แตกต่างกัน โดยขั้นตอนนี้มุ่งหวังให้เกิดหน่อไม้มีความสะอาด พร้อมสำหรับการบริโภค ซึ่งวิธีการดังกล่าวไม่มีความแตกต่างกันของทั้งภาคกลางและภาคอีสาน ขั้นตอนการปรุงแกงหน่อไม้ ส่วนใหญ่แล้วการทำแกงหน่อไม้ของคนภาคอีสานจะนำหน่อไม้ที่ล้างเสร็จเรียบร้อยมาสับ จากนั้นจึงนำหน่อไม้ที่สับเรียบร้อยแล้วมาต้มพร้อมกับใบย่านางเพื่อให้หน่อไม้ไม่ขมและมีรสหวาน จากนั้นจึงใส่พริกแกงที่เตรียมไว้พร้อมกับน้ำปลาร้าและต้มต่อจนเดือด(สุก)พร้อมรับประทาน
ภาพที่ 3 แสดงการสับหน่อไม้
(วุฒิชัย ตรุษลักษณ์, นันทนา นันทะโชติ พร้อมคณะผู้จัดทำ, 2562)
ภาพที่ 4 แสดงนำหน่อไม้ที่ได้มาสับ ล้างน้ำให้สะอาดและนำหน่อไม้มาต้ม เพื่อไม่ให้หน่อไม้ขม
(วุฒิชัย ตรุษลักษณ์, นันทนา นันทะโชติ พร้อมคณะผู้จัดทำ, 2562)
ภาพที่ 5 นำหน่อไม้ที่ต้มแล้วมาต้มกับน้ำใบหญ้านางและพริกแกง
(วุฒิชัย ตรุษลักษณ์, นันทนา นันทะโชติ พร้อมคณะผู้จัดทำ, 2562)
ภาพที่ 6 แสดงตักใส่ถ้วยพร้อมเสิร์ฟ
(วุฒิชัย ตรุษลักษณ์, นันทนา นันทะโชติ พร้อมคณะผู้จัดทำ, 2562)
แกงหน่อไม้ภาคกลาง
การทำแกงหน่อไม้ภาคกลางนั้นจะมีความแตกต่างจากการทำแกงหน่อไม้ภาคอีสาน ภาคกลางนั้น จะนำไก่ไปผัดกับเครื่องพริกแกงจนไก่เริ่มสุกหรือสุกก่อน จึงจะนำไปแกงพร้อมกับกะทิและหน่อไม้ดอง รอจนเดือดและปรุงรสตามต้องการ เมื่อไก่และหน่อไม้สุกพร้อมได้รสชาติที่ต้องการเรียบร้อยแล้ว คนภาคกลางจะใส่ พริกหยวกและใบโหระพาเพิ่มความหอมและน่ารับประทาน หลังจากนั้นจึงตักใส่จาน พร้อมเสิร์ฟนั้นเอง
ภาพที่ 7 แสดงการนำเนื้อไก่ไปผัดกับพริกแกง
(วุฒิชัย ตรุษลักษณ์, นันทนา นันทะโชติ พร้อมคณะผู้จัดทำ, 2562)
ภาพที่ 8 แสดงภาพการปรุงแกงหน่อไม้ดอง
(วุฒิชัย ตรุษลักษณ์, นันทนา นันทะโชติ พร้อมคณะผู้จัดทำ, 2562)
ภาพที่ 9 แสดงเนื้อไก่สุกได้ที่ ใส่พริกหยวกและใบโหระพาเพิ่มความหอม
(วุฒิชัย ตรุษลักษณ์, นันทนา นันทะโชติ พร้อมคณะผู้จัดทำ, 2562)
ภาพที่ 10 แสดงตักใส่ถ้วยพร้อมเสิร์ฟ
(วุฒิชัย ตรุษลักษณ์, นันทนา นันทะโชติ พร้อมคณะผู้จัดทำ, 2562)
การเสิร์ฟ/การรับประทานอาหาร
ชาวบ้านที่เป็นคนไทยภาคกลางนั้นมักจะนิยมรับประทานแกงหน่อไม้คู่กับข้าวสวย แต่คนไทยภาคอีสานมักจะรับประทานแกงหน่อไม้คู่กับข้าวเหนียว ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น ไม่ว่าคนไทยอีสานจะอพยพไปอยู่ในที่ใดก็มักจะนำวิถีชีวิตการรับประทานเช่นนี้ไปด้วยทุกที่ ไม่เว้นแม้แต่คนไทยอีสานในจังหวัดกำแพงเพชร
ข้อแตกต่างระหว่างแกงหน่อไม้ภาคอีสานและแกงหน่อไม้ภาคกลาง
ข้อแตกต่างระหว่างแกงหน่อไม้ภาคกลางและภาคอีสาน อย่างแรกที่แตกต่างกันคงหนี้ไม่พ้นเครื่องปรุงและวัตถุดิบซึ่งมีความแตกต่างกันดังนี้ 1. หน่อไม้ แกงหน่อไม้ของคนภาคอีสานจะนิยมใช้หน่อไม้สดแต่แกงหน่อไม้ของภาคกลางนั้นจะนิยมใช้หน่อไม้ดอง 2. เนื้อสัตว์ แกงหน่อไม้ของคนภาคอีสานจะนิยมใส่ปลาร้า แต่แกงหน่อไม้ของภาคกลางนั้นจะนิยมใส่ไก่เป็นเนื้อสัตว์แทน 3. พริกสด/พริกหยวก แกงหน่อไม้ของคนภาคอีสานจะนิยมใส่พริกสดลงในแกง แต่แกงหน่อไม้ของภาคกลางนั้นจะนิยมใส่พริกหยวก เป็นเครื่องโรยหน้าแกง 4. กะทิ แกงหน่อไม้ของคนภาคอีสานจะไม่ใส่กะทิ แต่แกงหน่อไม้ของภาคกลางนั้นจะนิยมใส่กะทิอยู่ในแกงหน่อไม้ 5. หอม กระเทียม กระชาย เป็นองค์ประกอบของเครื่องพริกแกงที่นิยมใส่ในเครื่องแกงทั้งของภาคอีสานและภาคกลาง ถือว่าเป็นองค์ประกอบที่เหมือนกันของทั้ง 2 ภาค จากความเหมือนและความแตกต่างดังกล่าวเราจะเห็นว่า วัตถุดิบที่ใช้ในการปรุงแกงหน่อไม้จะมีพืชสมุนไพรเป็นองค์ประกอบหลักทั้งตะไคร้ กระชาย พริกสด พริกหยวก โหระพา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อร่างกายทั้งสิ้น วัตถุดิบแต่ละอย่างมีสรรพคุณดังนี้
1. หน่อไม้
ภาพที่ 11 แสดงหน่อไม้
(วุฒิชัย ตรุษลักษณ์, นันทนา นันทะโชติ พร้อมคณะผู้จัดทำ, 2562)
สรรพคุณของหน่อไม้ช่วยลดการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ป้องกันอาการท้องผูก ช่วยย่อยอาหาร เพราะหน่อไม้เป็นอาหารที่มีเส้นใยสูง จึงช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ เมื่อหน่อไม้ผ่านการย่อยร่างกายจะดูดซึมสารอาหารเข้าสู่กระแสเลือด ส่วนกากอาหารที่เหลือหรือสารพิษต่างๆ เช่น ยาฆ่าแมลงหรือโลหะหนักจะไปรวมกันที่ลำไส้ใหญ่ (รอ นันทะโชติ, 2562 ตุลาคม 7)
2. ไก่
ภาพที่ 12 แสดงวัตถุดิบหลักที่ใช้ในไก่
(วุฒิชัย ตรุษลักษณ์, นันทนา นันทะโชติ พร้อมคณะผู้จัดทำ, 2562)
สรรพคุณของไก่ในทางแพทย์แผนจีนกล่าวไว้ว่า เนื้อไก่มีคุณสมบัติร้อน(จัดเป็นหยาง) รสหวาน ใช้บำรุงร่างกาย ทำให้กระดูกและเอ็นแข็งแรง ทำให้ประจำเดือนปกติ รักษาอาการระดูขาวมากกว่าปกติ ชาวจีนเชื่อว่า เนื้อไก่ตัวผู้ มีคุณสมบัติค่อนไปทางร้อน(หยาง) ใช้บำรุงร่างกาย ส่วนเนื้อไก่ตัวเมียมีคุณ สมบัติเย็น (ยิน) ใช้บำรุงร่างกายเช่นกัน เหมาะสำหรับเป็นอาหารของคนชรา สตรีหลังคลอดบุตร และผู้ป่วยที่ป่วยนาน ๆ (รอ นันทะโชติ, 2562 ตุลาคม 7)
3. พริกหยวก
ภาพที่ 13 แสดงพริกหยวก
(วุฒิชัย ตรุษลักษณ์, นันทนา นันทะโชติ พร้อมคณะผู้จัดทำ, 2562)
สรรพคุณของพริกหยวกมีสารแคปไซซิน ซึ่งมีประโยชน์ต่อคนป่วยเป็นโรคเบาหวาน เพราะช่วยทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงและมีประโยชน์ด้านอื่นๆ คือ 1. พริกหยวกช่วยให้ระดับของคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดลดลง โดยการเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดี ทำให้ระดับไขมันแต่ละชนิดมีความสมดุลกัน 2. พริกหยวกมีคุณสมบัติที่ช่วยขยายหลอดเลือดและเลือดสามารถไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้มากและดีขึ้น ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดตีบตันได้ดี 3. สรรพคุณของพริกหยวกอุดมด้วยเบต้าแคโรทีน วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินซี ซึ่งมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่จะป้องกันความเสื่อมของเซลล์ ลดโอกาสเกิดโรคมะเร็งได้หลายชนิด 4. พริกหยวกมีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิตสูงได้ จากสารแคปไซซินที่มีสรรพคุณช่วยให้หลอดเลือดอ่อนตัว ซึ่งจะส่งผลทำให้สลายลิ่มเลือดได้เร็ว และเสริมสร้างผนังหลอดเลือดให้แข็งแรง มีความยืดหยุ่นรับแรงดันในระดับต่างๆ ได้ดี 5. พริกหยวกช่วยบำรุงร่างกายให้แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย ช่วยให้เซลล์ต่างๆ ในร่างกายทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย 6. ประโยชน์ของพริกหยวกทำให้รู้สึกอารมณ์ดี สดชื่น แจ่มใส โดยจะช่วยกระตุ้นการหลั่งสารเอนดอร์ฟินซึ่งมีฤทธิ์ทำให้เกิดความผ่อนคลายและรู้สึกมีความสุข 7. พริกหยวกมีสรรพคุณช่วยลดอาการเจ็บปวด เช่น ปวดฟัน เจ็บคอ ผิวหนังอักเสบ ฯลฯ เพราะสารแคปไซซินจะมีผลช่วยชะลอความรู้สึกเจ็บปวดที่ปลายประสาทของสมองส่วนกลางให้ช้าลง 8. พริกหยวกช่วยกระตุ้นความรู้สึกอยากกินอาหาร ทำให้เจริญอาหาร และยังมีประโยชน์ต่อระบบการย่อย ช่วยกระตุ้นน้ำย่อยทำให้สามารถย่อยอาหารได้ดีขึ้น 9. สรรพคุณพริกหยวกมีฤทธิ์ช่วยขับเหงื่อ แก้อาเจียน บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ และแก้หวัด โดยสารแคปไซซินจะช่วยลดน้ำมูกทำให้การหายใจสะดวกขึ้น ช่วยบำบัดอาการภูมิแพ้ต่างๆ ได้ 10. พริกหยวกมีสรรพคุณที่สามารถนำไปผสมกับขี้ผึ้งใช้เป็นยาทาภายนอก เพื่อรักษาอาการปวดเมื่อยที่มีสาเหตุจากไขข้ออักเสบ ทำให้เลือดลมไหลเวียนดีขึ้น 11. พริกหยวกมีประโยชน์ช่วยขับลมซึ่งจะช่วยลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ (เมดไทย,2562) ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ต่อผู้บริโภคทั้งสิ้น
4. โหระพา
ภาพที่ 14 แสดงโหระพาหน่อไม้
(วุฒิชัย ตรุษลักษณ์, นันทนา นันทะโชติ พร้อมคณะผู้จัดทำ, 2562)
โหระพามีสรรพคุณช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย พร้อมส่งเสริมการทำงานของร่างกายให้เป็นปกติ เมื่อรับประทานโหระพาเป็นประจำ จึงทำให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยได้ง่าย แถมยังลดความเสี่ยงการป่วยด้วยโรคร้ายต่างๆ อาทิ 1. แก้อาการท้องอืด ใบโหระพามีสรรพคุณลดการบีบตัวของลำไส้ ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารกระตุ้นระบบการย่อยอาหารให้มีประสิทธิภาพ จึงสามารถแก้อาการท้องอืด แน่นท้อง ได้เป็นอย่างดี 2. สร้างความผ่อนคลาย ลดความเครียดน้ำมันหอมระเหยในใบโหระพา จะทำให้กล้ามเนื้อเกิดการผ่อนคลาย ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ ลดความวิตกกังวล คลายเครียด และลดอาการซึมเศร้าได้เป็นอย่างดี 3. ลดคอเลสเตอรอลในเลือด ใบโหระพามีส่วนช่วยในการลดคอเลสเตอรอลในเลือดได้ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูงได้ 4. บรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน การทานใบโหระพาจะช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้ โดยจะช่วยให้อาการดีขึ้น และรู้สึกผ่อนคลาย สดชื่น สบายตัวมากกว่าเดิม เพราะใบโหระพามีสรรพคุณในการลดอาการคลื่นไส้ และด้วยกลิ่นหอมอ่อนๆ ของใบโหระพา ก็จะช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย จึงหยุดยั้งอาการคลื่นไส้อาเจียนนั่นเอง 5. แก้อาการประจำเดือนมาไม่ปกติ ผู้หญิงมักจะเจอกับปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติ ไม่ว่าจะมามาก มาน้อย มาสองครั้งในเดือนเดียว มาแบบกะปริบกะปรอย หรือมาบ้างไม่มาบ้าง เมื่อทานใบโหระพาเป็นประจำ จะช่วยแก้ปัญหาได้ เพราะใบโหระพาจะช่วยกระตุ้นให้ฮอร์โมนเพศให้ทำงานปกติและเกิดความสมดุล จึงทำให้ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ 6. ช่วยให้เจริญอาหาร สำหรับคนที่มีอาการเบื่ออาหาร รับประทานอาหารได้น้อย ลองใส่ใบโหระพาลงในเมนูอาหารกันดู หรืออาจนำมาทานใบสดๆ พร้อมกับอาหาร จะช่วยให้เจริญอาหารได้ดีมาก จากที่เคยตัวเล็กน้ำหนักน้อย ดูเหมือนคนขาดสารอาหาร น้ำหนักก็จะเพิ่มขึ้นมาอย่างเหมาะสมตามเกณฑ์มาตรฐาน (รอ นันทะโชติ, 2562 ตุลาคม 7)
5. หอมแดง
ภาพที่ 15 แสดงหอมแดง
(วุฒิชัย ตรุษลักษณ์, นันทนา นันทะโชติ พร้อมคณะผู้จัดทำ, 2562)
สรรพคุณของหอมแดงช่วยให้เจริญอาหาร สำหรับผู้ที่รู้สึกทานอาหารได้น้อย ไม่ค่อยรู้สึกหิว หรือเบื่ออาหาร ให้ลองนำหอมแดงมาใช้ในการปรุงอาหาร ไม่ว่าจะเป็นยำวุ้นเส้น ไข่เจียวใส่หอมแดง หรือแม้แต่ซุปหัวหอม กลิ่นหอมแดงจะช่วยกระตุ้นร่างกายให้รู้สึกอยากอาหารมากยิ่งขึ้น รสชาติของหอมแดงยังช่วยทำให้กับข้าวอร่อยมากขึ้นด้วยและมีประโยชน์ด้านอื่นๆดังต่อไปนี้ 1. ป้องกันโรคหัวใจและช่วยลดความดันโลหิต หอมแดงอุดมไปด้วยสารอาหารที่ช่วยบำรุงหัวใจ ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น เนื่องจากในหอมแดงมีสารเคอร์ซิติน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่จะช่วยปกป้องเซลล์ในร่างกาย และช่วยลดการอักเสบได้เป็นอย่างดี 2. บำรุงสมอง ในหอมแดงนั้นเต็มไปด้วยธาตุฟอสฟอรัส การทานหอมแดงบ่อยๆ จะช่วยบำรุงสมอง ทำให้ความจำดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 3. ป้องกันมะเร็ง เนื่องจากมีผลการวิจัยค้นพบว่า สารเคอร์ซิตินและสารฟลาโวนอยด์ที่มีอยู่ในหอมแดง มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระที่เป็นสาเหตุในการก่อโรคมะเร็งได้ 4. ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น หอมแดงเป็นสมุนไพรอีกหนึ่งชนิดที่มีฤทธิ์เผ็ดร้อน จึงมีคุณสมบัติช่วยเพิ่มอุณหภูมิภายในร่างกาย 5. ช่วยไล่แมลงสาบ สำหรับบ้านไหนที่มีปัญหาแมลงสาบมาคอยกวนใจ ให้ลองนำหอมแดงมาหั่นเป็นแผ่น แล้วนำไปวางบริเวณที่แมลงสาบชอบเข้ามา ในหอมแดงนั้นเต็มไปด้วยสารกำมะถัน ที่มีกลิ่นฉุน จึงสามารถช่วยขับไล่แมลงสาบ ไม่ให้มากวนใจได้ (เมดไทย, 2562)
6. กระเทียม
ภาพที่ 16 แสดงกระเทียม
(วุฒิชัย ตรุษลักษณ์, นันทนา นันทะโชติ พร้อมคณะผู้จัดทำ, 2562)
สรรพคุณของกระเทียมช่วยบำรุงผิวหนังให้มีสุขภาพดีและแข็งแรงและมีประโยชน์ด้านอื่นๆ อาทิ ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้แก่ร่างกายและเสริมสร้างการเจริญเติบโต ป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง ลดระดับคอเลสเตอรอลและน้ำตาลในเลือด ปรับสมดุลในร่างกาย แก้อาการวิงเวียนศีรษะ อาการมึนงง ปวดศีรษะ หูอื้อ ป้องกันการเกิดโรคหัวใจ ลดความเสี่ยงของหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ช่วยในเรื่องระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินปัสสาวะ เพราะมีสารที่ช่วยควบคุมฮอร์โมนทั้งหญิงและชาย ช่วยทำให้มดลูกบีบตัว เพิ่มพละกำลังให้มีเรี่ยวแรง (เมดไทย, 2562)
7. ตะไคร้
ภาพที่ 17 แสดงตะไคร้
(วุฒิชัย ตรุษลักษณ์, นันทนา นันทะโชติ พร้อมคณะผู้จัดทำ, 2562)
สรรพคุณของตะไคร้มีส่วนช่วยในการขับเหงื่อและมีประโยชน์ด้านอื่นๆ อีกมากมายอาทิ เป็นยาบำรุงธาตุไฟให้เจริญ (ต้นตะไคร้) มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุ ช่วยในการเจริญอาหาร สารสกัดจากตะไคร้ช่วยในการป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ แก้และบรรเทาอาการไข้ หวัด ไอและอาการปวดศีรษะน้ำมันหอมระเหยของใบตะไคร้สามารถบรรเทาอาการปวดได้ (รอ นันทะโชติ, 2562 ตุลาคม 7)
8. กระชาย
ภาพที่ 18 แสดงกระชาย
(วุฒิชัย ตรุษลักษณ์, นันทนา นันทะโชติ พร้อมคณะผู้จัดทำ, 2562)
สรรพคุณของกระชายช่วยบำรุงกระดูก ช่วยทำให้กระดูกไม่เปราะบาง ปรับสมดุลของความดันโลหิตในร่างกายและปรับสมดุลของฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกาย ช่วยบำรุงกำหนัด แก้อาการกามตายด้าน (เหง้าใต้ดิน) ช่วยบำรุงสมองและแก้โรคในปากและคอ เช่น ปากเปื่อย ปากแห้ง ปากเป็นแผล (ใบ, เหง้า) (เมดไทย,2562)
9. ใบย่านาง
ภาพที่ 19 แสดงใบย่านาง
(วุฒิชัย ตรุษลักษณ์, นันทนา นันทะโชติ พร้อมคณะผู้จัดทำ, 2562)
สรรพคุณของใบย่านาง ในตำราสมุนไพรจัดว่าเป็นยาอายุวัฒนะและมีประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นการเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค ปรับสมดุลของร่างกาย ช่วยในการเผาผลาญไขมันและนำไปใช้เป็นพลังงานช่วยป้องกันและลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ และมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระจำนวนมากจึงช่วยลดและชะลอการเกิดริ้วและความแก่ชราอย่างได้ผล (เมดไทย, 2562) จากสรรพคุณของส่วนประสมต่างๆ ที่ก่อให้เกิดเป็นแกงหน่อไม้นี้นั่น ทำให้เรารู้ว่า ไม่ว่าจะเป็นแกงหน่อไม้ในภาคอีสานหรือภาคกลางก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีส่วนประสมหลักๆที่คล้ายคลึงกัน นั่นก็คือ สมุนไพรชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ข่า ตระไคร้ ใบย่านาง ล้วนแล้วแต่เป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่หาได้ง่าย มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนความเป็นไทย ในการเป็นอู่ข้าว อู่น้ำ เพราะไม่ว่าเราจะอยู่ในภาคไหน เมืองไทยก็มีของดีมีประโยชน์เสมอ