กระทงเปลือกข้าวโพด ตำบลลานดอกไม้ตก อำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร

จาก KPPStudies
รุ่นแก้ไขเมื่อ 12:51, 8 กรกฎาคม 2564 โดย Admin (คุย | มีส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย "=='''บทนำ'''== การทำกระทงเปลือกข้าวโพด ของตำบลลานดอกไม้...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

บทนำ

         การทำกระทงเปลือกข้าวโพด ของตำบลลานดอกไม้ตก อำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร ทำจากวัสดุธรรมชาติที่ถูกทิ้งหลังจาการเก็บเกี่ยวทางการเกษตรจากการปลูกข้าวโพด เนื่องจากมีอยู่มากจึงมีปัญหาเกิดการเผาเปลือกข้าวโพด การนำเปลือกข้าวโพดไปทิ้งตามแม่น้ำจึงเกิดผลเสียต่าง ๆ ทั้งผลเสียจากมลพิษทางอากาศและน้ำเน่าเสีย ชาวบ้านจึงนำเปลือกข้าวโพดมาแปรรูปทำกระทง จากภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีฝีมือจากการเย็บบายศรีจากใบตอง มาเย็บเปลือกข้าวโพด นำเปลือกข้าวโพดไปตากแห้งย้อมสีให้สวยงามแล้วนำมาขึ้นรูปต่อกันจนเกิดเป็นรูปร่างตามต้องการ การนำดอกหญ้าแห้งที่มีอยู่ในพื้นที่มาย้อมสีและตกแต่งจนเกิดความสวยงามเป็นความแปลกใหม่และเป็นที่นิยมต่อความต้องการของลูกค้าจนเกิดเป็นการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาเกี่ยวกับ 1) ความเป็นมาของกระทงเปลือกข้าวโพด 2) ความสำคัญของกระทงเปลือกข้าวโพด 3) วัสดุผลิตภัณฑ์เพื่อทำกระทงเปลือกข้าวโพด 4) ขั้นตอนการผลิตกระทงเปลือกข้าวโพด 5) ประเภทการใช้งาน และ 6) ช่องทางการจำหน่ายกระทงเปลือกข้าวโพด

คำสำคัญ : ตำบลลานดอกไม้ตก, กระทงจากเปลือกข้าวโพด, กำแพงเพชร

ความเป็นมาของกระทงเปลือกข้าวโพด

         การประดิษฐ์กระทง สมัยก่อนใช้วัสดุพื้นบ้านหรือตามธรรมชาติ เช่น ทำจากใบตอง หยวกกล้วยมาพับตกแต่งประดับด้วยดอกไม้ ธูปเทียน และวัสดุตามธรรมชาติมาประดิษฐ์ เป็นวัสดุย่อยสลายง่าย แต่ปัจจุบันกลับนิยมใช้วัสดุโฟม ซึ่งย่อยสลายยาก ทำให้แม่น้ำลำคลองสกปรก เน่าเหม็น เกิดมลภาวะเป็นพิษ ต่อมาชาวบ้านได้เริ่มทำกระทงจากวัสดุธรรมชาติ โดยเริ่มจากหาเก็บเปลือกมะพร้าว ตามบ้านชาวบ้านที่ปอกทิ้ง เก็บเปลือกข้าวโพดจากชาวนาที่หักข้าวโพดไปแล้ว และดอกกก หรือหญ้ากกซึ่งมักจะออกช่วงหน้าฝน โดยเริ่มเก็บตั้งแต่ช่วงต้นปี พอใกล้จะถึงเทศกาลลอยกระทง ก็จะมานั่งรวมกลุ่มกันทำกระทง โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำบายศรีที่มีอยู่ มาใช้ในการพับกลีบเปลือกข้าวโพด ทำกลีบกระทงแทนใบตองสด ซึ่งมีราคาสูงและพับเปลือกข้าวโพดทำเป็นดอกไม้ ร่วมกับดอกกก ดอกหญ้ามุ้ง ในท้องนานำมาตากแห้ง แล้วย้อมสี นำมาประกอบกันกับฐานที่ใช้จากเปลือกลูกมะพร้าวแห้ง ตัดเป็นรูปทรงตามต้องการ เช่น ทรงกลม ทรงรี รูปทรงหัวใจ จากนั้นประดับตกแต่งให้มีสีสันที่สดใสสวยงามอีกนิดหน่อย ก็จะออกมากระทงสีสันสดใสสวยงาม จะได้กระทงทรงกลม กระทงรูปดาว รูปหัวใจ ซึ่งตอนนี้มีด้วยกันทั้งหมด 9 แบบ ถ้าจะเน้นความสวยงามสำหรับตั้งโชว์ก็จะเป็นกระทงรูปนกยูงรำแพน กระเช้าหงส์ กระทงนกคู่ ที่มีความสวยงามละเอียดอ่อน ซึ่งวัสดุที่นำมาประดิษฐ์นั้นล้วนใช้วัสดุธรรมชาติทั้งสิ้น (แนวหน้า, 2563) 
         ซึ่งสอดคล้องกับการสัมภาษณ์ตรงที่ว่า “เหตุผลที่เลือกทำกระทำกระทงเปลือกข้าวโพดเพราะว่าที่นี่เริ่มต้นคือ วัสดุเหลือใช้จากเปลือกข้าวโพดมีเยอะมาก เพราะที่มีส่วนใหญ่แล้วทำไร่ทำนาแล้วก็ทำข้าวโพด พอเปลือกข้าวโพดมีจำนวนเยอะมากทำให้มีปัญหา ทำให้อากาศเป็นพิษเพราะประชาชนส่วนใหญ่นั้นเผาเปลือกข้าวโพด บางที่ไปสีข้าวโพดที่ริมแม่น้ำแล้วก็ทิ้งลงในน้ำหรือกองไว้ พอลมพัดมาก็ปลิวเป็นอันตรายเวลาสัญจรตามถนน จริง ๆ แล้วการทำกระทงเปลือกข้าวโพดเกิดขึ้นเพราะภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีฝีมือจากการทำบายศรีเย็บใบตอง ซึ่งในปัจจุบันนี้ใบตองมีราคาที่แพงและหายาก พอเห็นว่าตัวเปลือกข้าวโพดนี้ลองเอามาคลี่ออกมามันมีลักษณะที่กว้าง แล้วพอพรมน้ำมันมีลักษณะที่ยืดหยุ่นเวลาพับสามารถจับจีบเป็นรูปแบบมากมายนำดอกไม้ตากแห้งมาย้อมสีตกแต่งก็ออกมาสวย พอผู้สูงอายุเริ่มนำปราชญ์ชุมชนหรือว่าปราชญ์ชาวบ้านมาใช้ทำออกมาในรูปแบบต่าง ๆ สวย จึงมีการถ่ายทอด ซึ่งทุกบ้านนั้นทำข้าวโพดอยู่แล้วมันมีวัสดุอยู่แล้วซึ่งเราก็ได้รับการถ่ายทอดไปทั่วตำบลลานดอกไม้ตกเลย จึงเป็นที่มาของการทำกระทงเปลือกข้าวโพดสร้างรายได้ (สตรีรัตน์ ชูอินทร์, การสัมภาษณ์, 23 สิงหาคม 2563)
         นางน้ำทิพย์ ภูรี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 และเป็นเหรัญญิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตกระทงตำบลลานดอกไม้ตก เล่าว่า “คนทำกระทงเปลือกข้าวโพดคนแรกเลยคือนางทองรวม คุณนาน กับกลุ่มเพื่อนในปี พ.ศ.2538 แต่ก่อนทำกระทงเปลือกข้าวโพดนั้นในอดีตชาวบ้านตำบลลานดอกไม้นั้นไม่ได้ทำกระทงเปลือกข้าวโพดขายเป็นเป็นอาชีพ แต่เป็นการทำกระทงถวายวัด ในแต่ละปีชาวบ้านจะช่วยกันทำกระทงใบตองเพื่อขายให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินมาทางเที่ยวชมงานลอยกระทงแล้วนำเงินมาเข้าวัด แต่ด้วยระยะเวลาที่มันน้อยแค่ 2 – 3 วัน มันทำไม่ทันและไม่พอกับนักท่องเที่ยวเพราะกระทงทำจากใบตองสด ด้วยความที่อยากจะหาเงินเข้าวัดเยอะ ๆ ทำกระทงไว้เยอะ ๆ เลยพากันคิดหาวิธีที่จะทำเลยพากันทำกระทงใบตองแห้ง ชาวบ้านได้นำใบตองไปตากแดดให้แห้งแล้วมาทำเป็นกลีบกระทง กับเอาเปลือกมะพร้าวมาทำฐาน ใบตองพอมันแหงก็เป็นสีน้ำตาลแล้วมันไม่สวยแต่มันก็ทำได้หลายใบเลยพากันไปเอาดอกหญ้าตากแห้งย้อมสีตกแต่งเอามันก็ทำได้แต่ไม่ค่อยตอบโจทย์ เลยพากันมาเห็นเปลือกข้าวโพดจากที่เกษตรกรเขาเอาข้าวโพดไปสีแล้วเหลือเปลือกมันเลยลองเอามาทำดูแล้วมันสวย โดยใช้เปลือกข้าวโพดและดอกหญ้ามาตกแต่งแตงย้อมสีให้สวยงาม ปรากฏว่าขายดีมาก คนจากต่างจังหวัดเขามาเห็นแล้วเขาซื้อ บางคนซื้อ 3 – 4 กระทง แต่ไม่ได้เอาไปลอยเอากลับไปฝากญาติเพราะมันมีสีสันที่สวยงามเหมือนมันเป็นของที่แปลกใหม่ แล้วต่อคนในชุมชนเลยมองเห็นว่ามันน่าจะขายได้ เลยพากันไปเรียนรู้การทำจากนางทองรวมเพื่อทำขายส่งไปขายให้กับญาติพี่น้องที่ทำงานอยู่ต่างจังหวัด ต่อมาก็มีนักธุรกิจ พวกพ่อค้าคนกลางเขามารับซื้อไปขาย ก็เลยเกิดการเรียนรู้แล้วพากันเริ่มออกแบบ จากที่มันเป็นวงกลมธรรมดาก็พากันคิดหาทำรูปใหม่ ๆ ทำเป็นนกเป็นหัวใจกันจากนั้นก็พากันทั้งตำบลเลย แต่ที่เริ่มโด่งดังกันสุด ๆ เลยก็คือปี พ.ศ.2550” (น้ำทิพย์ ภูรี, การสัมภาษณ์, 23 สิงหาคม 2563)
         จากข้างต้นสรุปว่าในอดีตชาวบ้านได้ทำกระทงใบตองขายแต่ไม่พอต่อความต้องการของลูกค้า และวัสดุจากใบตองนั้นอยู่ได้ไม่นานจึงคิดหาวิธีที่จะเก็บไว้ได้นานและทำได้เป็นจำนวนมาก จึงได้ลองทำกระทงจากเปลือกข้าวโพดที่เป็นวัสดุเหลือใช้จากการเก็บเกี่ยวของเกษตรกรแล้วซึ่งทุกบ้านนั้นมี และได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาของชาวบ้านในการทำบายศรีมาพับกลีบเปลือกข้าวโพดและตกแต่งให้ดูสวยงาม จนสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านและชุมชน ดังภาพที่ 1
1 กระทงเปลือกมะพร้าว.jpg

ภาพที่ 1 กระทงเปลือกข้าวโพด

ความสำคัญของกระทงเปลือกข้าวโพด

         เอกลักษณ์กระทงเปลือกข้าวโพด คือ ทำจากวัสดุธรรมชาติ ย่อยสลายได้ และสามารถเก็บไว้ได้นาน แต่ถ้าเป็นกระทงใบตอง ขนมปัง หรือวัสดุอื่น ๆ จะเก็บได้ไม่นาน แต่กระทงเปลือกข้าวโพดเก็บได้นาน ไม่เน่าเสียง่าย และที่สำคัญน้ำหนักเบา จึงเป็นที่ต้องการของตลาด และนับเป็นการสืบสานประเพณีไทย โดยใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาตินั้น (แนวหน้า, 2563) จึงถือได้ว่าเป็นกระทงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หากเก็บขึ้นมาก็สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยได้อีกด้วย (สตรีรัตน์ ชูอินทร์, การสัมภาษณ์, 23 สิงหาคม 2563)
         แม้ว่ากระทงเปลือกข้าวโพดอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะมีการทำออกมาจำหน่ายตั้งแต่ปี 2539 แต่ด้วยกระแสตอบรับที่ดีในปีที่ผ่านมา ในปีนี้จึงได้มีพ่อค้า แม่ค้าสนใจทำกระทงเปลือกข้าวโพดออกมาจำหน่ายเป็นจำนวนมาก แหล่งผลิตกระทงเปลือกข้าวโพดก็ต้องเป็นที่จังหวัดกำแพงเพชร เพราะมีการทำไร่ข้าวโพดจำนวนมาก จึงมีเปลือกข้าวโพดที่เป็นขยะทิ้งจำนวนมาก และด้วยเหตุนี้เองจึงได้เป็นที่มาของแนวคิดการนำเปลือกข้าวโพดวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาแปรรูป ที่ผ่านมาไม่ได้เห็นเฉพาะกระทงเท่านั้น แต่มีของแต่งบ้านในรูปแบบต่าง ๆ ที่ทำจากเปลือกข้าวโพดออกมาจำหน่าย เช่น ตุ๊กตาเปลือกข้าวโพด เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับการสัมภาษณ์ตรงที่ว่า “กระทงเปลือกข้าวโพด คือ ทำจากวัสดุธรรมชาติ ย่อยสลายได้ และสามารถเก็บไว้ได้นาน แต่ถ้าเป็นกระทงใบตองจะเก็บไว้ได้ไม่นานก็เหี่ยวหรือเน่าไม่สวย แถมน้ำหนักของกระทงกาบมะพร้าวก็มีน้ำหนักเบาเวลาลูกค้ามารับใส่ถุงได้หลายอันกระทงทับกันก็ไม่ได้เสียหาย และยังทำได้ตลอดทั้งปีเพราะที่นี่ปลูกข้าวโพดเยอะ พอเอาข้าวโพดไปสีแล้วก็เอาเปลือกมาตากแห้งไม่ต้องทิ้ง” (รุ่งทิพย์ ทรัพย์เอี่ยม, การสัมภาษณ์, 16 สิงหาคม 2563) 
         นางสาวพรพรรณ เพิ่มพิพัฒน์ (คุณแอน) หนึ่งในผู้ผลิตกระทงเปลือกข้าวโพด เล่าว่า สำหรับกระทงเปลือกข้าวโพดของเรามีฐานการผลิตอยู่ที่ บ้านอมฤต ตำบลลานดอกไม้ตก อำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร ถือได้ว่าเราเป็นกลุ่มแรกที่เริ่มทำกระทงเปลือกข้าวโพด และทำมานานตั้งแต่ปี 2539 เริ่มแรกขายเฉพาะในพื้นที่ แต่พอทำได้ระยะหนึ่งเริ่มเข้ามาทำตลาดในกรุงเทพฯ โดยแอนรับหน้าที่ทำงานด้านการตลาด และนำสินค้าเข้ามาจำหน่าย แต่พอต่อมาได้รับความนิยมมากขึ้น มีการนำเข้ามาขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต และมีผู้ผลิตรายอื่น ๆ ในจังหวัดกำแพงเพชรทำจำหน่าย และส่วนใหญ่เริ่มขายในเว็บไซต์ ปัจจุบันกระทงเปลือกข้าวโพดมีขายทั่วประเทศ โดยดูแบบและสั่งซื้อกันผ่านทางเว็บไซต์ ข้อดีของกระทงเปลือกข้าวโพด คือ ทำจากวัสดุธรรมชาติ ย่อยสลายได้ และสามารถเก็บไว้ได้นาน แต่ถ้าเป็นกระทงใบตอง ขนมปัง หรือวัสดุอื่น ๆ จะเก็บได้ไม่นาน แต่กระทงเปลือกข้าวโพดเก็บได้นาน ไม่เน่าเสียง่าย และที่สำคัญน้ำหนักเบา โดยวัสดุที่นำมาทำกระทง ประกอบด้วย ฐานกระทงจะทำจากเปลือกมะพร้าว กลีบและดอกไม้กลางจะทำจากเปลือกข้าวโพด และหญ้า ซึ่งหญ้าที่ใส่ดอกไม้เป็นหญ้าจริงที่เราเอามาตากแดด และย้อมสีอีกครั้งหนึ่ง โดยทางกลุ่มจะคัดเลือกเปลือกข้าวโพดที่เป็นข้าวโพดพันธุ์เลี้ยงสัตว์ เพราะมีการปลูกกันมากในพื้นที่ ซึ่งในส่วนของขั้นตอนการทำกระทงเปลือกข้าวโพดไม่ยาก เพราะมีการพับกลีบคล้ายกับกระทงใบตอง ดังนั้น จึงปรับรูปแบบของกระทงใบตองมาใช้กับกระทงเปลือกข้าวโพดได้ สำหรับรูปแบบของกระทงเปลือกข้าวโพด ปัจจุบันจะทำออกมาใน  4 รูปแบบหลัก คือ ทรงกลม ทรงหัวใจ ทรงดาว และทรงเรือ ส่วนรูปแบบอื่น ๆ ก็มีการคิดดัดแปลงขึ้นมาใหม่ เช่น รูปนกยูง เป็นต้น และปัจจุบันเริ่มเห็นกระทงเปลือกข้าวโพดมีสีสันมากขึ้น ซึ่งมาจากการนำเปลือกข้าวโพดมาย้อมสีให้มีสีสันต่าง ๆ แล้วแต่กลุ่มผู้ผลิตว่าจะออกแบบกระทงออกมาอย่างไร (ผู้จัดการออนไลน์, 2563) ดังภาพที่ 2
ภาพที่ 2 กระทงรูปนกและกระทงรูปเรือ.jpg

ภาพที่ 2 กระทงรูปนกและกระทงรูปเรือ (ผู้จัดการออนไลน์, 2563)

วัสดุผลิตภัณฑ์เพื่อทำกระทงเปลือกข้าวโพด

         วัสดุผลิตภัณฑ์ในการทำกระทงเปลือกข้าวโพดประกอบด้วย
         1. เปลือกข้าวโพด ที่ใช้ทำกระทงควรเป็นพันธุ์ 984 เพราะเป็นพันธุ์ข้าวโพดที่ดีที่สุดเปลือกบางเนียนไม่มีรอยที่เปลือกสะดวกต่อการทำกลีบกระทง
         2. เปลือกมะพร้าว ควรเลือกมะพร้าวที่แห้งแล้วจะเป็นมะพร้าวเปลือกขุยหรือไม่เป็นขุยก็ได้นำมาทำเป็นฐานกระทง
         3. ดอกหญ้า นำมาจากต้นกกแล้วตัดเอาแต่ส่วนยอดแล้วนำไปตากแห้งจะได้ดอกหญ้าที่นำมาใช้ตกแต่งกระทง 
         4. กระดาษย่น สีต่าง ๆ ใช้กระดาษยี่ห้อไหนตามร้านค้าทั่วไปใช้มาทำเป็นฐานติดกับเปลือกมะพร้าว
         5. กาว เป็นกาวลาเท็กซ์ใช้ทายึดให้ดอกหญ้าติดกับฐานกระทง	
         6. สีย้อมกก ใช้เป็นสีย้อมผ้าของยี่ห้อตราช้างใช้ย้อมเปลือกข้าวโพดและดอกหญ้าให้มีสีสันที่สวยงาม
         7. ลวดเย็บกระดาษ ใช้ลวดที่มาขนาดเล็กง่ายต่อการม้วนใช้เย็บกระดาษย่น
         8. กรรไกร ใช้กรรไกรทั่วไปที่เป็นปากเรียบใช้ตัดตกแต่งสิ่งที่เป็นส่วนเกินของกระทงออก
         9. ลูกแม็ก แม่แม็ก ใช้เป็นขนาดกลางใช้แม็กตัวเปลือกข้าวโพดมาทำเป็นกลีบ
         10. กระบอกฉีดน้ำ ใช้เป็นกระบอกน้ำที่มีหัวฉีดเล็กเพื่อให้ได้ละอองน้ำใช้ฉีดพรมบนเปลือกข้าวโพดให้อ่อนพับง่าย
         11. ด้ายขาว ใช้เป็นได้ด้ายเย็บผ้าสีขาวทั่วไปใช้มัดยึดเปลือกข้าวโพดกับดอกหญ้าเวลาทำดอก
(รุ่งทิพย์ ทรัพย์เอี่ยม, การสัมภาษณ์, 16 สิงหาคม 2563)
        แสดงให้เห็นว่าวัสดุในการทำกระทงเปลือกข้าวโพดเป็นวัสดุที่หาได้ทั่วไปตามชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเปลือกมะพร้าว เปลือกข้าวโพด ดอกหญ้า อุปกรณ์เสริมเช่นกระดาษย่น กาว สีย้อมกก ลวดเย็บกระดาษ กรรไกร แม็ก ลูกแม็ก กระบอกฉีดน้ำและด้ายขาวสามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าที่มีในชุมชน 

กระบวนการผลิต/ขั้นตอนการใช้งาน

         1. นำเปลือกมะพร้าวมาตากให้แห้ง ใช้มีดฝานให้เป็นแผ่นบาง ๆ สำหรับเป็นฐานกระทง แล้วแต่ว่าเปลือกมะพร้าวที่ฝานออกมาแล้วจะได้ออกมาในลักษณะไหน ถ้าได้มาแบบยาวก็สามารถนำมาทำฐานที่เป็นรูปเรือได้ ถ้าได้สั้นก็สามารถทำเป็นรูปวงกลม และรูปหัวใจ ดังภาพที่ 3