ฐานข้อมูล เรื่อง การตัดกระดาษไทย : ศิลปะช่างแห่งอำเภอพรานกระต่ายที่ใกล้เลือนหาย
ข้อมูลทั่วไป[แก้ไข]
ชื่อภูมิปัญญา[แก้ไข]
• ตัดกระดาษ • ศิลปะการตัดกระดาษ • กระดาษติดบ้านงาน
ชื่อเรียกอื่น ๆ[แก้ไข]
• ตัดกระดาษไทย • ศิลปะการตัดกระดาษ • กระดาษติดบ้านงาน • พวงระย้า • พวงมโหตร • ชายกระดาษ • ลวดลายตัดกระดาษ
ความเป็นมาของภูมิปัญญา[แก้ไข]
เรื่องศิลปะการตัดกระดาษแก้วในประเทศไทยมีมาแต่โบราณยังคงสืบทอดและยังใช้กันอยู่จนถึงปัจจุบันตัดกระดาษแบบพื้นบ้านสามารถเรียนรู้ได้ในระยะเวลาไม่นาน ใช้ในงานบุญ งานรื่นเริงหรือแม้กระทั่งงานสีดำ คนไทยมักนิยมใช้กระดาษสีประดับประดาสถานที่ตกแต่งให้มีความสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นติดกับเชือกโยงในงานต่าง ๆ ประดิษฐ์เป็นพวงมาลัย ฉลุเป็นปีนักษัตรต่าง ๆ หรือตัดกระดาษแก้วติดบริเวณหน้าต่างแทนม่าน ประดับขบวนรถแห่ให้ดูโดดเด่น การประดับประดากระดาษตัดสามารถใช้ไม่ว่าจะเป็นงานวัด งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน งานรับขวัญ หรืองานอื่นๆ การตัดกระดาษแก้วนั้นเรียนรู้ได้ง่ายและนำมาใช้ได้จริง มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในส่วนของภาคเหนือ แต่ละจังหวัดอาจมีชื่อการเรียกที่แตกต่างกันไป บางจังหวัดใช้ตัดกระดาษแก้วตกแต่งในงานประจำปีอย่างแพร่หลาย เช่น เพชรบุรี เชียงใหม่ น่าน นครสวรรค์ แต่หากเป็นคนไทยเชื้อสายจีนจะใช้แบบการตัดกระดาษแก้วจากแบบของประเทศจีนมากกว่า นอกจากนั้น ในต่างประเทศก็ยังมีศิลปะการตัดกระดาษแก้วให้เราพบเห็นอยู่ในหลายประเทศ เช่น ประเทศพม่า ประเทศลาว ประเทศจีน ประเทศกัมพูชา เป็นต้น
ผู้ค้นพบ/ผู้คิดค้น/ผู้นำมาใช้[แก้ไข]
นายธรรมนูญ ยายอด (ชาวบ้านทั่วไปเรียก อาจารย์นูญ) เกิดเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2498 ปัจจุบันอายุ 63 ปี บิดาชื่อ นายคำ ยายอด มารดาชื่อนางมาลัย ยายอด ทั้งบิดา-มารดาเป็นชาวพรานกระต่ายโดยกำเนิด ปัจจุบันเสียชีวิตแล้วทั้งคู่ มีพี่น้องร่วมบิดา ทั้งหมด 3 คน ซึ่งบิดาได้แต่งงานใหม่กับ คุณแม่มาลัย ยายอด ซึ่งเป็นมารดาของอาจารย์นูญ เนื่องจากภรรยาคนแรกได้เสียชีวิต และมีพี่น้องร่วมบิดา-มารดา จำนวน 6 คน ซึ่งอาจารย์นูญเป็นบุตรคนที่ 2 พี่น้องส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขายและทำเกษตรกรรม มีเพียง 1 คนที่เป็นพนักงานรัฐวิสากิจ (การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอคีรีมาส จังหวัดสุโขทัย) อาจารย์นูญได้เรียนรู้ทักษะการตัดกระดาษมาจากนายใบ้ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของบิดาของตนเอง (พ่อคำ ยายอด เป็นช่างชาวพรานกระต่าย มีความสามารถในงานไม้ งานแทงหยวก งานตัดกระดาษ และงานศิลปหัตถกรรมหลายชนิด) การตัดกระดาษนำมาใช้ในงานได้หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นงานแต่งงาน งานบวช งานขึ้นบ้านใหม่ งานฉลอง งานมโหรศพต่าง ๆ แม้กระทั้งงานศพ ซึ่งเป็นการตกแต่งสถานที่ให้ดูสวยงานและเป็นการบ่งบอกถึงบริเวณของงาน
ภาพที่ 1 นายธรรมนูญ ยายอด ช่างตัดกระดาษ/แทงหยวก/เจ้าพิธี ชาวพรานกระต่าย อายุ 65 ปี
วัน/เดือน/ปีที่ค้นพบ[แก้ไข]
เรื่องศิลปะการตัดกระดาษแก้วในประเทศไทยมีมาแต่โบราณยังคงสืบทอดและยังใช้กันอยู่จนถึงปัจจุบัน สัมภาษณ์นายธรรมนูญ ยายอด เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2562
ข้อมูลภูมิปัญญา[แก้ไข]
แนวคิดภูมิปัญญา[แก้ไข]
เราทุกคนเกิดมาบนโลกนี้ต้องอาศัยการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มก้อน ทำให้เกิดสังคมระดับต่างๆ กระจายตัวอยู่ทั่วพื้นแผ่นดินทั่วโลก ในการรวมตัวนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อความปลอดภัยในการดำรงชีวิต ทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกัน เช่น การล่าสัตว์เพื่อมาประทังชีวิต มีการติดต่อสื่อสารสร้างภาษาที่เป็นการติดต่อระหว่างกลุ่ม ด้วยการดำรงชีวิตเหล่านี้ทำให้ต้องคิดสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ เพื่อตอบสนองความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาซึ่งได้ใช้ธรรมชาติรอบตัวทำให้เกิดประโยชน์ในการนำมาเป็นอาหาร นำมาใช้ปกปิดร่างกาย นำมาสร้างที่อยู่อาศัย อีกทั้งยังนำมาใช้บำบัดโรคเมื่อเจ็บป่วยไข้ อาจเกิดจากการลองผิดลองถูกนำเอาสิ่งแวดล้อมรอบตัวมาประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์และแก้ปัญหาการดำรงชีวิต ในประเทศไทยสิ่งประดิษฐ์พื้นบ้านที่มีการพัฒนาจากอดีตมาหลายพันปีจนมาถึงปัจจุบัน ซึ่งทำให้รู้ได้ว่าชาวไทยในอดีตเคยอาศัยอยู่ ณ ที่ใด เช่น มีการขุดค้นพบเครื่องมือหินที่จังหวัดอุดรธานี จังหวัดลำปาง จังหวัดแพร่ และจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ หลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็น งานโลหะงาน เครื่องแก้ว เครื่องประดับ งานเย็บปักถักร้อย ล้วนแล้วแต่แสดงถึงความเป็นอยู่ของมนุษย์ซึ่งได้รวมตัวกันอยู่และสร้างชิ้นงานเพื่อตอบสนองวิถีชีวิต เมื่อมนุษย์มีความเจริญขึ้นทางความคิดมากขึ้นรู้จักปรับใช้ธรรมชาติรอบตัว รูปแบบของวัตถุโบราณที่เคยค้นพบก็ปรับพัฒนาขึ้นเช่นกัน มีการออกแบบที่สวยงามขึ้น การใช้ประโยชน์ที่ดีขึ้น ซึ่งการรวมกลุ่มของคนในสมัยโบราณจะสืบทอดเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของศิลปะท้องถิ่นไปยังลูกหลานซึ่งจะแสดงถึงอัตลักษณ์ของท้องถิ่นอย่างชัดเจนมากขึ้น ความแตกต่างดังกล่าวมีสาเหตุหลายประการ อาทิ 1.ความจำเป็นทางประโยชน์ใช้สอย 2.วัตถุหรือวัตถุดิบ 3.รสนิยมตกทอด 4.สังคมและขนบธรรมเนียมประเพณี 5.กติกาความเชื่อ 6.สภาพแวดล้อมงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านในยุคก่อนสร้างไว้ใช้เฉพาะตนเองเท่านั้นแต่ด้วยวิถีชีวิตของคนไทยที่มีความเอื้ออารีก็มักจะแลกเปลี่ยนของใช้ มอบน้ำใจสร้างมิตรภาพให้กัน จนก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนซื้อขายเล็กๆเกิดขึ้นมีกำไรเล็กน้อยจนพัฒนามาถึงในยุคการขายปัจจุบัน คุณค่าและความสำคัญศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน เป็นศิลปกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของมนุษย์ ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน เป็น ผลผลิต ทางปัญญาของคนระดับชาวบ้านพื้นถิ่น ผู้คนโดยส่วนใหญ่มักมองข้ามคุณค่าและความสําคัญของศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านแขนงต่างๆ บ้างละเลยจนบางสิ่งอันดีงามที่บรรพบุรุษได้รังสรรค์ไว้ ต้องสูญหายไป เช่น ในอําเภออ่างศิลา จังหวัดชลบุรี ครั้งหนึ่งมีการทอผ้า ซึ่งเป็นงานศิลปะระดับชาวบ้านที่มีชื่อเสียง ลวดลายมีลักษณะ พิเศษแตกต่างจากแหล่งอื่น แต่ปัจจุบันไร้ซึ่งคนรู้จักและผู้สืบทอด ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านชิ้นดังกล่าว จึงค่อยๆ เสื่อมสูญลงในที่สุด สาเหตุที่คนในสังคมส่วนใหญ่ไม่เห็นคุณค่าและความสําคัญของศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน อาจเกิดจากการมองและเข้าไม่ถึงธรรมชาติ รวมทั้งจิตวิญญาณของช่างฝีมือผู้สร้างสรรค์ผลงานก็เป็นได้ อีกทั้งยังปรากฏศิลปะ สาขาอื่น ๆ ที่มีความหรูหราฟูฟ่ามากกว่า หรืออาจเกิดจากความเคยชิน พบเห็นจนชินตาถึงความเรียบง่ายและ ความสุนทรีย์แบบธรรมดาของศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน หากผู้ศึกษาศิลปะและคนในสังคมเปลี่ยนทัศนคติต่อศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านให้ดีขึ้น มองและเข้าถึงผลงาน ผ่านลงไปถึงช่างผู้สร้าง จะได้รับรู้ว่าผู้สร้างสรรค์ผลงานบางท่านไม่ได้รับการร่ำเรียนมาจากสถาบันการศึกษาใดเลย พวกเขาผลิตผลงานตามความรู้สึกนึกเห็นจากระดับภูมิปัญญาที่มากน้อยต่างกัน รวมทั้งจากจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์จึงเกิดเป็นผลงานศิลปะของชาวบ้านแบบสามัญชนคนธรรมดาแท้ๆ บางรายมีความสามารถมากผลิต ผลงานศิลปะจนสร้างเป็นอาชีพหลักเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัว ส่งลูกหลานได้เรียนในระดับสูงเท่าเทียมกับผู้ที่ ประกอบอาชีพอื่นทั่วไป ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านจึงมีความสําคัญต่อสังคมซึ่งสามารถสรุป เป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้ • สําคัญต่อการดํารงชีวิต • ด้านรสนิยมทางความงาม • บ่งบอกระดับภูมิปัญญา • บ่งบอกเรื่องราวในอดีต • บ่งบอกอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น • สร้างอาชีพ ดังนั้น ศิลปะการตัดกระดาษแก้ว จึงเป็นศิลปหัตถกรรมที่สะท้อนถึงความสำคัญวิถีการดํารงชีวิต สร้างรรค์ความงาม ภูมิปัญญา บ่งบอกเรื่องราวในอดีต อัตลักษณ์เฉพาะถิ่น อีกทั้งยังสร้างอาชีพอีกด้วย
วัตถุประสงค์ของภูมิปัญญา[แก้ไข]
การตัดกระดาษแก้วเป็นศิลปะการตกแต่งสถานที่เพื่อให้มีความสวยงามระยิบระยับเมืองต้องลม เสน่ห์แห่งสีสันที่เคลื่อนไหวยามมีงานรื่นเริงในเทศกาลงานบุญคนไทยมีความเป็นศิลปะอยู่ในตัวตนกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เมื่อมีงานบุญกุศลหรืองานอกุศล ก็จะร่วมแรงร่วมใจกันช่วยคนละไม้ละมือ ใครที่ทำอาหารได้ก็ทำอาหาร ใครที่ชำนาญในด้านการตกแต่งสถานที่ก็ร่วมด้วยช่วยกัน มาจนจวบปัจจุบันทุกวันนี้ เมื่อมีงานบุญตามวัดวาอาราม มักมีการตกแต่งประดับด้วยกระดาษสี ที่ตัดแต่งอย่างสวยงามซึ่งมีหลายแบบหลายลักษณะ
กระบวนการทำงานของภูมิปัญญา[แก้ไข]
ประดิษฐ์พวงมโหตร มีวัสดุอุปกรณ์ ดังนี้ 1. กระดาษแก้วหลากสี 2. กรรไกร 3. กาว 4. ไม้บรรทัด 5. กระดาษแข็ง 6. คัดเตอร์ 7. เชือกด้าย หรือ เอ็น 8. ไม้ไผ่หลาวให้กลม 9. ดินสอ 10. ตัวหนีบกระดาษ วิธีการทำ การทำพวงมโหตรด้วยกระดาษแก้ว แต่หากอยากให้เกิดความสวยงามมากขึ้นต้องใช้กระดาษแก้วหลายๆ สี และพับ-ตัดกระดาษตามขั้นตอนต่อไปนี้ 1. ตัดกระดาษเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดประมาณ 20 X 20 นิ้ว 2. พับกระดาษทะเเยงมุมให้ขอบเสมอกัน 3. พับกระดาษทะเเยงมุมอีกครั้ง 4. จากมุมจุดศูนย์กลางของกระดาษ พับทบเข้ามาให้ขอบกระดาษเสมอกัน
ภาพที่ 2 วิธีการทำพวงมโหตร
ภาพที่ 3 วิธีการทำพวงมโหตร
5. พับกระดาษเป็น 4 ทบ เเล้วใช้ตัวหนีบกระดาษ หนีบกระดาษไว้เพื่อกันการเคลื่อน 6. ตัดกระดาษสลับข้างขนาดเท่ากัน 3-8 ช่วง แบ่งของไฟให้สวยงาม ช่วงของการตัดจะส่งผลต่อความยาวของพวงมโหตร (เพื่อให้เกิดลายใหม่ๆ อาจตัดไม่เหมือนลายตัวอย่างได้) 7. ตัดกระดาษลายโค้งรูปคล้ายหัวใจตามความสวยงาม 8. พลิกกลับด้าน ตัดกระดาษลายโค้ง 9. ตัดขอบกระดาษเป็นเส้นตรงหลายๆเส้น เป็นชายของพวงให้ต้องลมพริ้วไหว 10. คลี่ย้อนอออกตามขั้นตอนการพับ (ค่อยๆ คลี่ออกระวังอย่าให้ขาด เนื่องจากเวลาตัดกระดาษเป็นลายต่างๆกระดาษจะติดกันเป็นชั้นๆ) และทำซ้ำหลายๆเพื่อซ้อนสลับสีให้เกิดความสวยงาม 11. ใช้กรรไกรเจาะรูตรงกลางกระดาษทั้ง 3 แผ่นเพื่อสอดกระดาษแข็งรูปวงกลมซึ่งร้อยเชือกผูกกับไม้ไว้เรียบร้อยแล้ว สำหรับทำเป็นไม้แขวน ใช้มือจับแต่งกระดาษที่ซ้อนกันอยู่นั้นให้เป็นทรงจอมแห
ภาพที่ 4 วิธีการทำพวงมโหตร
ภาพที่ 5 วิธีการทำพวงมโหตร
การประดิษฐ์กระดาษติดบ้านงาน มีวัสดุอุปกรณ์ ดังนี้ 1. กระดาษแก้วหลากสี / กระดาษทอง 2. กรรไกร 3. กาว 4. ไม้บรรทัด 5. ดินสอ 6. ตัวหนีบกระดาษ วิธีการทำ การทำกระดาษติดบ้านงานด้วยกระดาษแก้วหรือกระดาษทอง แต่หากอยากให้เกิดความสวยงามมากขึ้นต้องใช้กระดาษแก้วหลายๆ สี และพับ-ตัดกระดาษตามขั้นตอนต่อไปนี้ 1. ตัดกระดาษแก้วเต็มแผ่น ให้ได้ตามภาพ 2. พับกระดาษขนานให้ขอบเสมอกันเเล้วใช้ตัวหนีบกระดาษ หนีบกระดาษไว้เพื่อกันการเคลื่อน 3. ตัดกระดาษตามภาพ (เพื่อให้เกิดลายใหม่ ๆ อาจตัดไม่เหมือนลายตัวอย่างได้) 4. คลี่ย้อนอออกตามขั้นตอนการพับ (ค่อย ๆ คลี่ออกระวังอย่าให้ขาด เนื่องจากเวลาตัดกระดาษเป็นลายต่าง ๆ กระดาษจะติดกันเป็นชั้น ๆ)
ภาพที่ 6 วิธีการทำกระดาษติดบ้านงาน
ภาพที่ 7 วิธีการทำกระดาษติดบ้านงาน
ภาพที่ 8 วิธีการทำกระดาษติดบ้านงาน
ภาพที่ 9 วิธีการทำกระดาษติดบ้านงาน
ภาพที่ 10 วิธีการทำกระดาษติดบ้านงาน
กระบวนการการนำภูมิปัญญามาประยุกต์ใช้[แก้ไข]
พวงมโหตรหรือกระดาษติดบ้านงาน เป็นเครื่องแขวนโบราณที่ทำจากกระดาษสีต่าง ๆ นำมาพับและตัดเป็นรูปต่าง ๆ เป็นภูมิปัญญา พวงมโหตรหรือกระดาษติดบ้านงานเป็นเครื่องแขวนประเภทหนึ่ง ซึ่งใช้แขวนในงานพิธีต่าง ๆ เช่น งานแต่ง งานบวช งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานวันสงกรานต์ งานโกนจุก งานบุญทั่วไปหรือแม้แต่งานศพ ซึ่งจะนำมาแขวนและติดบริเวณสถานที่ให้งานดูโดดเด่นขึ้น เช่น ใจกลางบ้าน หน้าต่าง ชายคา เพื่อให้มีความสวยงามระยิบยามต้องลม
ผลที่ได้จากภูมิปัญญา[แก้ไข]
ภาพที่ 11 ภาพกระดาษทองที่ตัดแล้ว นำไปตกแต่งประดับประดางานแทงหยวก
ภาพที่ 12 ผลที่ได้จากภูมิปัญญา
ภาพที่ 13 ผลที่ได้จากภูมิปัญญา
ภาพที่ 14 ภาพกระดาษทองที่ตัดแล้ว จะนำไปตกแต่งประดับประดางานแทงหยวก
ภาพที่ 15 ภาพผลงานการแทงหยวกและตกแต่งด้วยพวงมโหตรประดับในงานศพนายหวัด ตันเจริญ
ภาพที่ 16 งานตัดกระดาษแก้ว ผลงานของนายธรรมนูญ ยายอด
ภาพที่ 17 งานตัดกระดาษแก้ว ผลงานของนายธรรมนูญ ยายอด
ภาพที่ 18 งานตัดกระดาษแก้ว ผลงานของนายธรรมนูญ ยายอด
ภาพที่ 19 งานตัดกระดาษแก้ว ผลงานของนายธรรมนูญ ยายอด
ภาพที่ 20 งานตัดกระดาษแก้ว ผลงานของนายธรรมนูญ ยายอด
สิ่งที่ต้องคำนึงในการนำภูมิปัญญามาประยุกต์ใช้[แก้ไข]
การตัดกระดาษนำมาใช้ในงานได้หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นงานแต่งงาน งานบวช งานขึ้นบ้านใหม่ งานฉลอง งานมโหรศพต่างๆ แม้กระทั้งงานศพ ซึ่งเป็นการตกแต่งสถานที่ให้ดูสวยงานและเป็นการบ่งบอกถึงบริเวณของงาน อาจารย์นูญ กล่าวทิ้งท้ายว่า “มาฝึกกันเสียตอนนี้ ไปปลุกในเมรุให้มาสอนกัน ไม่ได้นะ” ศิลปวัฒนธรรมไทยนั้น “บรรพบุรุษทำมาไม่ใช่แค่ปีสองปี คนรุ่นใหม่เผาทิ้งหมด ต้องรักษาไว้ (เสียใจ)” ถ้าไม่มีใครสนใจก็จะสูญหาย คนรุ่นหลังเป็นรั่วของชาติหากไม่สืบทอดก็จะหมดไป
ข้อมูลการสำรวจ[แก้ไข]
วันเดือนปีที่สำรวจ[แก้ไข]
1 เมษายน 2562
วันปรับปรุงข้อมูล[แก้ไข]
-
ผู้สำรวจข้อมูล[แก้ไข]
นางสาวธัญรดี บุญปัน
คำสำคัญ (tag)[แก้ไข]
ตัดกระดาษไทย, ศิลปะการตัดกระดาษ, กระดาษติดบ้านงาน, พวงระย้า, พวงมโหตร, ชายกระดาษ, ลวดลายตัดกระดาษ