ฐานข้อมูล เรื่อง มาลัย ชูพินิจ : บุคคลสำคัญของจังหวัดกำแพงเพชร
ข้อมูลทั่วไป[แก้ไข]
ชื่อบุคคล[แก้ไข]
มาลัย ชูพินิจ
วัน/เดือน/ปีเกิด[แก้ไข]
เกิดเมื่อวันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ.2449
ภูมิลำเนา[แก้ไข]
จังหวัดกำแพงเพชร
ที่อยู่[แก้ไข]
บ้านริมฝั่งแม่น้ำปิง ตำบลคลองสวนหมาก อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร
ข้อมูลเชิดชูเกียรติ[แก้ไข]
ชีวประวัติ/ความเป็นมา[แก้ไข]
มาลัย ชูพินิจ เป็นชาวกำแพงเพชรโดยกำเนิด บิดามารดาคือ นายสอนและนางระเบียบ ชูพินิจ ตระกูลชูพินิจ มีบรรพบุรุษสืบต่อมาจากตระกูล ณ บางช้าง ซึ่งนิยมรับราชการสืบต่อกันมา จนกระทั่งถึงชั้นปู่ของมาลัย ชูพินิจ ซึ่งได้ย้ายไปรับราชการประจำอยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชรในรัชกาลที่ 5 แต่บิดามารดาของมาลัย ชูพินิจ มิได้รับราชการตามบรรพบุรุษ หากหันมาค้าไม้สักและไม้กระยาเลย อันเป็นทรัพยากรธรรมชาติสำคัญของจังหวัดนั้น ดังที่มาลัย ชูพินิจ เคยเล่าถึงประสบการณ์ในวัยเด็กของเขา สมัยที่ได้เคยติดตามบิดามารดานำแพไม้จากจังหวัดกำแพงเพชรลงมาขายที่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ทุกหน้าน้ำไว้ตอนหนึ่งว่า “ ปีหนึ่ง ฉันได้ประสบเหตุการณ์ที่ยังพิมพ์อยู่ในความทรงจำของฉัน จนกระทั่งบัดนี้ ปีนั้น บิดาของฉันซื้อไม้รายทางมาจากคลองจ้าว ลงมาจนถึงปากอ่าวใต้จังหวัดกำแพงเพชร ได้ไม้ 3 แพด้วยกัน การเดินทางครั้งนั้น แม้ตามประเพณีจะได้ดูฤกษ์ยาม เส้นวักแม่ย่านางกันเป็นอย่างดี แพของเราก็ประสบเคราะห์นับแต่ออกล่องในวันแรก แพหนึ่งโดนตอแตกที่ท้ายบ้านโคนเมื่อเวลาใกล้ค่ำ แต่เมื่อพยายามรวบรวมขึ้นใหม่สิ้นเวลาไป 3 วัน เราก็ออกแพกันต่อไป เหตุร้ายครั้งที่สอง เกิดขึ้นเมื่อถึงแม่ลาด เหนือวังคณธี ซึ่งเป็นที่ขึ้นชื่อลือชาอยู่ในสมัยนั้นว่า จระเข้ดุและชุม” มาลัย ชูพินิจ มีน้องชายร่วมมารดา 1 คน หากเสียชีวิตแต่เยาว์วัย ด้วยไข้ทรพิษ เขาเคยเขียนถึงความทรงจำเกี่ยวกับน้องเอาไว้ว่า “วัยเด็กเป็นวัยซนสำหรับทุกคน ข้าพเจ้าก็หนีไม่พ้นกฎข้อนั้น แต่น้องชายข้าพเจ้าเอาชนะไปได้ด้วยความแก่นแก้วของเขา และเมื่อเรามีน้องที่เก่งกว่าอย่างข้าพเจ้ามี พี่กลายเป็นลูกน้องไป ข้าพเจ้ายังจำได้ว่า ขณะที่อยู่ในวัยนั้น ก่อนที่ไข้ทรพิษจะพรากเราจากกันไป น้องชายของข้าพเจ้าจะต้องมีเรื่องวิ่งเข้ามาหาแม่ทุกวัน ไม่ไปชกต่อยกับลูกเพื่อนบ้าน ก็ต้องผิดคำสั่งท่านสมภารที่วัด ซึ่งสอนหนังสือ หรือพ่อผู้มักจะพูดด้วยไม้เรียวมากกว่าวาจาดุดัน” ต่อมา เมื่อมาลัย ชูพินิจ มีอายุประมาณ 10 ขวบเศษมารดาได้เสียชีวิตลง หลังมรณกรรมของมารดา บิดาของเขาได้แต่งงานใหม่ และมีบุตรชาย หญิงซึ่งนับเป็นน้องต่างมารดาของมาลัย ชูพินิจ อีก 4 คนคือ 1. เด็กชาย... ชูพินิจ (ถึงแก่กรรม) 2. นางสาวสำเนียง ชูพินิจ 3. นายประสาน ชูพินิจ 4. นางสาวมาลี ชูพินิจ (ถึงแก่กรรม) มาลัย ชูพินิจ ใช้ชีวิตวัยเด็กที่ตำบลคลองสวนหมาก จังหวัดกำแพงเพชร อยู่จนอายุประมาณ 10 ขวบเศษ จึงได้เดินทางไปพำนักอยู่ที่กรุงเทพมหานคร เพื่อศึกษาต่อ โดยในชั้นแรกได้พักอาศัยอยู่กับญาติผู้หนึ่ง จนย่างเข้าวัยรุ่น จึงได้เข้าไปอาศัยอยู่กับพระยามหาอำมาตยาธิบดี ที่ตำบลยศเส จนกระทั่งสำเร็จการศึกษา ด้านการศึกษา มาลัย ชูพินิจ ได้รับการศึกษาขั้นต้นที่วัดบรมธาตุ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้บ้านที่ตำบลคลองสวนหมาก จังหวัดกำแพงเพชร แล้วย้ายไปเรียนที่โรงเรียนประจำจังหวัดกำแพงเพชร จนจบประถมศึกษา เริ่มเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนวัดบพิตรพิมุข เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มาลัย ชูพินิจ ได้ย้ายไปเรียนวิชาครูโดยเฉพาะที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ เมื่อจบการศึกษาวิชาครูจากโรงเรียนวัดบวรนิเวศ มาลัย ชูพินิจได้กลับเข้าเรียนวิชาสามัญในมัธยมศึกษาปีที่ 7 (มัธยมศกษาปีที่ 4 ในปัจจุบัน) ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ในขณะที่เรียนอยู่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย มาลัย ชูพินิจ ได้ใช้เวลาว่างในตอนกลางคืนเรียนกวดวิชาภาษาอังกฤษที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ เขาจึงได้ ชื่อว่าเป็นนักเรียนเก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ด้วยผู้หนึ่ง ด้านการทำงาน พ.ศ.2469 ทำหนังสือ ไทยใต้ ที่จังหวัดสงขลา ตามคำชักชวนของ นายบุญทอง เลขะกุล ซึ่งเป็นเพื่อนคนหนึ่ง พ.ศ.2470 เดินทางกลับกรุงเทพฯ ตามคำชักชวนของนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ เข้าทำงานที่หนังสือพิมพ์รายวัน บางกอกการเมือง รับผิดชอบงานในแผนกสารคดี พ.ศ.2471 ร่วมก่อตั้ง หนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ นับเป็นงานที่ประสบผลสำเร็จ มียอดขายถึง 4,000 ฉบับ พ.ศ.2473 ร่วมกันทำหนังสือพิมพ์ใหม่รายวัน มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกสารคดี และบันเทิงได้รับเงินเดือนชั้นหลังสุดที่ได้รับก่อนลาออกจากครู ทำได้ 1 ปี คณะผู้จัดทำลาออกทั้งคณะ เพราะถูกบีบบังคับจากนายทุนผู้ดำเนินการในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง พ.ศ.2475 รวมดำเนินงานจัดทำหนังสือพิมพ์ประชาชาติ มีตำแห่งเป็นหัวหน้าแผนกสารคดีและบันเทิงคดี ต่อมาได้เลื่อนเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ และบรรณาธิการ การทำงานด้านหนังสือพิมพ์นี้ ครูมาลัย ชูพินิจ ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยในการทำหนังสือพิมพ์ทีเดียว ทำงานอยู่ 7 ปี จึงลาออกด้วยเหตุผลทางการเมือง เมื่อ พ.ศ.2480 พ.ศ.2480 ไปทำไร่ถั่วเหลือง ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ.2481 รวบรวมพรรคพวกตั้งบริษัทจำกัด ไทยวิวัฒน์ (ต่อมาเป็นบริษัท อักษรนิติ์) ออกหนังสือพิมพ์ฉบับบ่าย ประชามิตร รายวัน ตำแหน่งผู้ช่วยบรรณาธิการ และหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ ฉบับเช้า ตำแหน่งบรรณาธิการ จนถึง พ.ศ. 2486 จึงลาออกเพราะสุขภาพไม่ดี และขณะนั้นประเทศไทยอยู่ในภาวะสงคราม พ.ศ.2486 ไปทำสวนมะพร้าวที่อ่างพนังตัก จังหวัดชุมพร เป็นเวลา 1 ปี พ.ศ.2488 ร่วมกับคุณอารีย์ ลีวีระ ก่อตั้งบริษัทไทยพณิชยการ จำกัด จัดทำหนังสือพิมพ์รายวันสยามนิกร พิมพ์ไทย สยามสมัย ตำแหน่งที่ปรึกษาของหนังสือพิมพ์ไทย และเป็นนักเขียนประจำของบริษัท ไทยพณิชยการ จำกัด ทำงานอยู่นานถึง 17 ปี
ความชำนาญ/ความสนใจ[แก้ไข]
เหตุที่เป็นนักประพันธ์ จากการศึกษาชีวิตและงานของนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงของไทยหลายคนทั้งในอดีตและปัจจุบัน ได้พบว่า ก่อนหน้าที่จะก้าวเข้าสู่วงการหนังสือ เขาเหล่านั้นล้วนมีสิ่งผลักดันหรือได้รับความบันดาลใจให้เกิดความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเป็นคนเขียน หนังสือมาแล้วทั้งสิ้น สำหรับมาลัย ชูพินิจ ความเป็นนักประพันธ์และนักหนังสือพิมพ์ของเขามีที่มาจากภาวการณ์และแรงดลใจหลายประการ ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้ ประการแรก มาลัย ชูพินิจ มีนิสัยรักการอ่านเป็นคุณสมบัติประจำตัวมาตั้งแต่เด็ก จากการเป็นนักอ่านหนังสือนี่เองที่เป็นแรงบันดาลใจให้มาลัย ชูพินิจ เป็นนักเขียนในเวลาต่อมา ประการที่สอง มาลัย ชูพินิจ เคยเป็นนักเรียนเก่าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยและโรงเรียนเทพศิรินทร์ ซึ่งล้วนเป็นสถานศึกษาที่ผลิตนักประพันธ์ผู้มีชื่อเสียงของไทยมาหลายยุค หลายสมัย ประการที่สาม ซึ่งอาจจะเป็นประการสำคัญที่สุด คือ ความรัก นักประพันธ์ชายเป็นจำนวนมากได้รับแรงบันดาลใจให้เป็นนักเขียนจากความรัก มาลีย ชูพินิจ ไม่ยอมรับว่า แรงดลใจให้เป็นนักประพันธ์ของเขามาจากความรักอย่างเดียว หากแต่ถือว่ามันเป็นเพียงโซ่วงหนึ่งของสายโซ่เท่านั้น และโซ่วงนี้เขาเรียกมันว่า ความบังเอิญ ประการที่สี่ เช่นเดียวกับที่หลวงวิจิตรวาทการ เคยสรุปสาเหตุที่ทำให้คนเป็นนักประพันธ์ไว้ข้อหนึ่งว่า คนบางคนเป็นนักประพันธ์เพื่อกระทำให้ความปรารถนาของตนบริบูรณ์ มาลัย ชูพินิจ ต้องสูญเสียความหวังและความฝันที่จะเป็นเจ้าของไร่หรือพ่อค้าไม้ไปกับภาวะตลาดไม้ตกต่ำใน พ.ศ.2463 แต่เขาก็ได้ความฝันนี้กลับคืนมาเมื่อเขาเขียน “ทุ่งมหาราช” "แผ่นดินของเรา" และเรื่องสั้นอีกหลายเรื่อง สมกับความปรารถนาของเขาเองที่ต้องการเป็นนักประพันธ์เพื่อฝันถึงสิ่งที่ตนต้องการแต่ไม่มี ฝันถึงความสำเร็จที่ตนปรารถนาแต่ไม่ได้
ผลงานสำคัญ/ที่สร้างชื่อเสียง[แก้ไข]
ผลงานที่มีชื่อเสียงของมาลัย ชูพินิจ มีดังนี้ - ชั่วฟ้าดินสลาย แสดงอิทธิพลของความรักและความปรารถนาของตัวละคร - ทุ่งมหาราช เป็นประวัติของตำบลคลองสวนหมาก จังหวัดกำแพงเพชร สะท้อนภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้านในตำบลนั้น แสดงการต่อสู้ของมนุษย์กับโรคระบาดและไฟป่า - แผ่นดินของเรา แสดงการต่อสู้ของภัคคินีกับเคราะห์กรรมที่บังเกิดขึ้นภายหลังจากที่หล่อนหนีสามีไปอยู่กับชู้รัก จนถูกชู้รักทอดทิ้งไปมีภรรยาใหม่ บ้านถูกไฟไหม้และตนเองต้องไปประกอบอาชีพเป็นโสเภณี เพื่อหาเงินมารักษาโรคให้ชู้รัก จนในที่สุดก็ล้มเจ็บอยู่อย่างโดดเดี่ยวและกลับมาตายในบ้านของสามีเก่า - เมืองนิมิต แสดงการต่อสู้ของตัวละครในระยะสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อให้พ้นภัยจากสงครามและรักษาความปลอดภัยให้แก่ประเทศของตน - ล่องไพร ไพร แสดงการต่อสู้ระหว่างคนกับสัตว์และแสดงการต่อสู้ของมนุษย์กับภัยธรรมชาติประเภทต่างๆ เช่น น้ำป่า ไฟป่า และดินฟ้าอากาศ เป็นต้น - บันทึกจอมพล เป็นสารคดีทางการเมืองเล่มสำคัญเมหนึ่ง ซึ่งสะท้อนบรรยากาศของการเมือง ความเป็นอยู่และจิตใจของบุคคลหลายกลุ่มของไทยในช่วงเวลาระหว่างพ.ศ.2475 ถึง พ.ศ.2488 ได้อย่างแจ่มชัด แม้การลำดับเหตุการณ์บางตอนจะยังไม่ดีพอทางด้านรายละเอียด แต่การเปิดเผยเรื่องบางเรื่องซึ่งยังไม่เคยถูกนำมาเปิดเผยและเป็นเรื่องที่ออกมาจากต้นตอของข่าวโดยตรง ทำให้หนังสือเล่มนี้มีคุณค่าทางการศึกษาประวัติศาสตร์ยุคหนึ่งของไทยมิใช่น้อย - เสือฝ้ายสิบทิศ เป็นสารคดีที่เปิดเผยชีวิตของเสื้อฝ้ายตั้งแต่ต้นจนได้ชื่อว่าเป็นขุมโจร 10 จังหวัด ผู้อ่านจะได้ทราบสาเหตุที่เขาเปลี่ยนชีวิตจากผู้ใหญ่บ้านมาเป็นโจร ความลับในเรื่องกำลังคนและอาวุธ รายละเอียดของการปล้นสะดมครั้งสำคัญนับแต่ปล้นคหบดี โรงสี โรงเลื่อย ตลอดจนเรือโยงของญี่ปุ่น กลวิธีที่ใช้ในการปล้นละวินัยของโจรในการใช้ศาลเตี้ยในการชำระความ และสาเหตุที่ทำให้เขากลับตัวเป็นคนดี ในบั้นปลายของชีวิตครูมาลัย ชูพินิจ ประสบความสำเร็จในชีวิตที่เป็นที่ยอมรับของสังคมเป็นอย่างมาก ประมวลได้ดังนี้ พ.ศ.2502 ได้รับการแต่งตั้ง เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2505 รับพระราชทานปริญญาบัตร วารสารดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในด้านการต่างประเทศ ได้รับเชิญไปปฏิบัติงานในต่างประเทศหลายครั้ง คือ - ได้รับเชิญจากรัฐบาลเยอรมันตะวันตกไปสังเกตสถานการณ์ ในนครเบอร์ลินและเยอรมันตะวันตก พ.ศ.2502 - ได้รับเชิญไปประชุมองค์การต่อต้านคอมมิวนิสต์ (APACL) ครั้งที่ 5 ที่ นครเซอูล ประเทศเกาหลีใต้ และครั้งที่ 6 ณ กรุงไทเป และดูงานที่ไต้หวัน เมื่อ พ.ศ.2503 - ได้รับเชิญจากรัฐบาลไต้หวัน ให้ไปสังเกตการณ์ ณ เกาะคีมอย (QUEMOR) - ได้รับการแต่งตั้งร่วมคณะผู้แทนไทยไปร่วมสัมมนาขององค์การซีโต้ ณ เมืองละฮอร์ ประเทศปากีสถาน - ได้รับเชิญจากบริษัทการบินแอร์ฟรานซ์ (AIR FRANCE) เดินทางไปรอบโลก - ได้รับเชิญจากรัฐบาลเยอรมันไปสังเกตสถานการณ์เบอร์ลิน เยอรมันตะวันตก พร้อมทั้งรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ - ได้รับเชิญจากรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อสังเกตการณ์การเศรษฐกิจ ศึกษาวัฒนธรรม และเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างกัน เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2504 - ได้รับเชิญจากสมาคมการประพันธ์ฟิลิปปินส์ ให้ไปประชุมที่บาเกียว - ได้รับเชิญจากบริษัทการบิน SWISS AIR และรัฐบาลสวิสให้ไปเยือนประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ผลงาน/เกียรติคุณ/รางวัลอื่น ๆ[แก้ไข]
มาลัย ชูพินิจ เป็นนักเขียนคนหนึ่งในจำนวนน้อยคนของนักเขียนไทยที่สามารถเปลี่ยนแนวการเขียนไปต่างๆแนว และเขียนได้ดีทุกประเภท เนื่องจากมาลัย ชูพินิจ เป็นทั้งนักหนังสือพิมพ์และนักประพันธ์ ในขณะเดียวกัน งานเขียนของเขาจึงมีทั้งประเภทบันเทิงคดีและสารคดี ซึ่งจำแนกออกได้เป็น 6 ประเภท คือ 1. นวนิยาย นวนิยายของมาลัย ชูพินิจ มีทั้งประเภทเพ้อฝันและสมจริง นวนิยายที่เขียนในระหว่าง พ.ศ.2469-2480 ส่วนใหญ่เป็นนวนิยายเพ้อฝัน และที่เขียนในระหว่าง พ.ศ.2480-2502 ส่วนใหญ่เป็นนวนิยายสมจริง นวนิยายเพ้อฝันของมาลัย ชูพินิจ จำแนกออกเป็นประเภทย่อยได้ดังนี้ 1. นวนิยายประเภทรักโศก เนื้อเรื่องเกี่ยวกับความรักระหว่างหนุ่มสาว จบลงด้วยความเศร้า เช่น ธาตุรัก, เกิดเป็นหญิง เป็นต้น 2. นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ เป็นนวนิยายที่นำโครงเรื่องมาจากเรื่องราวทางประวัติศาสตร์หรือพงศาวดาร เป็นผลงานประเภทแรกที่สุดของมาลัย ชูพินิจ ซึ่งเขียนตั้งแต่ พ.ศ.2469 ได้แก่ สงครามชิงนางและศึกอนงค์ ต่อมาใน พ.ศ.2482 ได้เขียนเรื่อง ยอดทหารหาญ และหลังจากที่หันไปสนใจเขียนนวนิยายสมจริงเป็นเวลาหลายปี เขาได้กลับมาเขียนนวนิยายประเภทนี้อีกครั้งหนึ่งคือเรื่องล่าฟ้า 3. นวนิยายอิงวรรณคดี คือนวนิยายที่เขียนโดยนำโครงเรื่องมาจากวรรณคดี มีเพียงเรื่องเดียวคือ ชายชาตรี นวนิยายสมจริงของมาลัย ชูพินิจ จำแนกออกเป็นประเภทย่อยได้ดังนี้ 1. นวนิยายแสดงแนวคิด คือนวนิยายที่สร้างเนื้อเรื่องจากแนวความคิด เพื่อแสดงให้เห็นแนวความคิดนั้นๆเด่นชัดขึ้น เช่นเรื่อง ความรักลอยมา แสดงแนวคิดว่า ผู้ที่สามารถดำรงชีวิตให้เป็นสุขได้ จะต้องรู้จักตนเองและความต้องการของตนเองให้แน่นอน เพื่อที่จะได้ปฏิบัติตนไปตามแนวทางที่ตนต้องการ ต้องไม่เรียกร้องทุกสิ่งทุกอย่างจากชีวิต เพราะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และจะทำให้เกิดความทุกข์ระทมเมื่อไม่ได้อย่างที่ต้องการ, เรื่อง ศาสนารัก แสดงแนวความคิดว่า ความรักมีอานุภาพมหาศาลที่จะเปลี่ยนแปลงจิตใจและความรู้สึกของผู้ตกอยู่ในอำนาจรักได้ ความรักทำให้คนสามารถทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับความต้องการของตนเพียงเพื่อให้ผู้ที่ตนรักมีความสุขสมหวังเท่านั้น 2. นวนิยายแสดงปัญหา คือนวนิยายที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ เช่น ความเลวร้ายทางการเมือง, ความเหลวแหลกของสังคม, การปฏิรูปที่คุมขัง, การหย่าร้างและปัญหาเยาวชน เป็นต้น นวนิยายประเภทนี้ มาลัย ชูพินิจเขียนไว้หลายเล่ม เช่นเรื่อง ลมแดง แสดงปัญหาความขัดแย้งระหว่างนายทุนและกรรมกร, บ้านสร้าง แสดงปัญหาของชาวนาและแก้วตา แสดงปัญหาของเด็กที่เกิดจากการหย่าร้างของพ่อแม่ เป็นต้น 3. นวนิยายสังคม คือนวนิยายที่หยิบยกส่วนหนึ่งของสังคมมาเป็นเนื้อเรื่อง เช่น เห่าดง (ตะวันคลั่งเลือด) สะท้อนภาพสังคมชนบทในหมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่ง ซึ่งข้าราชการฝ่ายปกครองใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบต่อราษฎรในท้องที่ของตน, ทุ่งมหาราช เป็นประวัติของตำบลคลองสวนหมาก จังหวัดกำแพงเพชร สะท้อนภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้านในตำบลนั้น 4. นวนิยายผจญภัย คือนวนิยายที่เกี่ยวกับการเสี่ยงโชคและงานที่เต็มไปด้วยอันตรายและการเสี่ยงภัย นวนิยายประเภทนี้ได้แก่ ล่องไพร และลูกไพร 5. นวนิยายนักสืบ คือนวนิยายที่เกี่ยวกับการสอบสวนสืบสวนเรื่องลึกลับต่างๆจากร่องรอยหรือการไขปัญหา นวนิยายประเภทนี้มีน้อยมาก ได้แก่เรื่อง เสือจำศีล และชายสามหน้า นวนิยายของมาลัย ชูพินิจ มีโครงเรื่องที่ใช้เป็นส่วนมาก 2 ประเภท คือ 1. การต่อสู้ของตัวละคร จำแนกออกได้ดังนี้ 1.1 การต่อสู้กับโชคชะตา ได้แก่ การต่อสู้กับเคราะห์กรรมต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิต เช่นเรื่อง แผ่นดินของเรา แสดงการต่อสู้ของภัคคินีกับเคราะห์กรรมที่บังเกิดขึ้นภายหลังจากที่หล่อนหนีสามีไปอยู่กับชู้รัก จนถูกชู้รักทอดทิ้งไปมีภรรยาใหม่ บ้านถูกไฟไหม้และตนเองต้องไปประกอบอาชีพเป็นโสเภณี เพื่อหาเงินมารักษาโรคให้ชู้รัก จนในที่สุดก็ล้มเจ็บอยู่อย่างโดดเดี่ยวและกลับมาตายในบ้านของสามีเก่า 1.2 การต่อสู้กับภาวการณ์ต่างๆ ได้แก่ การต่อสู้ความยากลำบาก ภาวะสงคราม ภาวะเศรษฐกิจ เป็นต้น เช่นเรื่อง เมืองนิมิต แสดงการต่อสู้ของตัวละครในระยะสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อให้พ้นภัยจากสงครามและรักษาความปลอดภัยให้แก่ประเทศของตน 1.3 การต่อสู้กับธรรมชาติ ได้แก่ การต่อสู้กับภัยธรรมชาติ เช่น ไฟป่า โรคระบาด น้ำท่วม เป็นต้น เช่นเรื่อง ทุ่งมหาราช แสดงการต่อสู้ของมนุษย์กับโรคระบาดและไฟป่า, ล่องไพร แสดงการต่อสู้ระหว่างคนกับสัตว์และแสดงการต่อสู้ของมนุษย์กับภัยธรรมชาติประเภทต่างๆ เช่น น้ำป่า ไฟป่า และดินฟ้าอากาศ เป็นต้น 1.4 การต่อสู้กับตัวละครด้วยกัน ได้แก่ การต่อสู้ระหว่างตัวละครกับตัวละคร ผู้มีความขัดแย้งกันทางสติปัญญาหรืออุดมการณ์ เช่นเรื่อง ดงเศรษฐี, ปานเกิด, ลมแดง และบ้านสร้าง เป็นต้น 1.5 การต่อสู้กับสังคม คือการต่อสู้ของตัวละครกับความเชื่อถือหรือความรู้สึกของสังคม เช่น การต่อสู้ของคนขี้คุกกับสังคมที่รังเกียจอดีตของเขาในเรื่อง สวนหงส์ และน้ำเหนือเริ่มลด เป็นต้น 2. อิทธิพลของธรรมชาติต่อชีวิตมนุษย์ ได้แก่ การแสดงถึงอำนาจของธรรมชาติ และธรรมชาติของมนุษย์ ที่สามารถเปลี่ยนชีวิตของตัวละครได้ เช่นเรื่อง ธาตุรัก แสดงอิทธิพลของดินฟ้าอากาศและความรักความปรารถนาของตัวละครที่มีต่อการดำเนินชีวิตและความรู้สึกที่ดีงามของตัวละคร 2. เรื่องสั้น มาลัย ชูพินิจ เริ่มเขียนเรื่องสั้นในปี พ.ศ.2469 โดยเรื่องสั้นแรกสุดของเขาเท่าที่ค้นพบคือ หล่อนผู้ก่อกรรม ใช้นามปากกา ม.ชูพินิจ พิมพ์ในนิตยสารศัพท์ไทย ต่อจากนั้นเขาก็มีผลงานประเภทนี้ลงพิมพ์ติดต่อกันเรื่อยมา โดยไม่ขาดระยะในนิตยสารและหนังสือพิมพ์หลายฉบับ การเขียนเรื่องสั้นในยุคแรกของมาลัย ชูพินิจ เป็นการเขียนที่ไม่มีแบบแผนของการเขียนเรื่องสั้นอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพียงแต่อาศัยแนวการเขียนของนักประพันธ์รุ่นเก่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลวงบุณยมานพพานิชเป็นครู แล้วจึงคิดค้นหาวิธีการเขียนเอาเองในเวลาต่อมา มาลัย ชูพินิจได้ริเริ่มเขียนเรื่องสั้นอีกประเภทหนึ่งขึ้นเป็นครั้งแรกในวงวรรณกรรมไทยคือ เรื่องสั้น-สั้น พิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกในประชาชาติด้วยเรื่อง สาวใช้คนใหม่ และเรียกงานเขียนในประเภทนี้ว่า เรื่องสั้นจบในหน้าเดียว เรื่องสั้นของมาลัย ชูพินิจ แบ่งออกเป็น 4 ลักษณะ คือ 1. เรื่องสั้นประเภทไม่มีโครงเรื่อง คือเรื่องสั้นประเภทเหตุการณ์ที่มีความหมาย เป็นเรื่องเล่าถึงเหตุการณ์อย่างหนึ่งที่เป็นประสบการณ์ของตัวละคร ซึ่งในสายตาของผู้อื่นแล้วไม่แลเห็นความสำคัญอะไร แต่ผู้เขียนทำให้สำคัญ เช่นเรื่อง แก้เผ็ด เป็นเรื่องของหญิงชายคู่หนึ่งซึ่งต่างคนต่างถูกคนรักทรยศต่อความรัก ทั้งสองได้พบกันโดยบังเอิญและเมื่อได้รู้ว่า แต่ละคนผิดหวังมาจากความรักแล้วก็ตัดสินใจร่วมชีวิตใหม่กันต่อไป 2. เรื่องสั้นประเภทแสดงโครงเรื่อง คือเรื่องสั้นที่ต้องการแสดงโครงเรื่องเป็นสำคัญ มาลัย ชูพินิจ เขียนเรื่องสั้นประเภทนี้มากที่สุด และส่วนใหญ่มีตอนจบเป็นแบบหักมุมหรือพลิกความคาดหมายของผู้อ่าน เช่นเรื่อง อวสานของฤดูร้อน 3. เรื่องสั้นประเภทแสดงแนวคิด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักและการแต่งงาน เช่นเรื่อง วันแต่งงาน แสดงแนวคิดว่า การแต่งงานเป็นสิ่งที่สวยงามเมื่อยังใหม่หรือเมื่อยังมีความรักอยู่เท่านั้น แต่เมื่อความรักเสื่อมคลายลง ถ้าปราศจากความซื่อตรงจงรักและการให้อภัยแล้ว ชีวิตแต่งงานก็ไม่ยั่งยืน 4. เรื่องสั้นประเภทแสดงความสำคัญของฉาก ให้ฉากเป็นสิ่งสำคัญของเรื่อง เป็นการแสดงถึงอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมต่อชีวิตมนุษย์ มาลัย ชูพินิจ เขียนเรื่องประเภทนี้ได้ดี โดยมักกำหนดให้ฉากหรือสิ่งแวดล้อมเป็นผู้แก้ปัญหาชีวิตของมนุษย์หรือเปลี่ยนแปลงชีวิตมนุษย์ เช่น เรื่องน้ำเหนือ 3. บทละคร งานเขียนประเภทบทละครของมาลัย ชูพินิจ มี 2 ประเภท คือ 3.1 บทละครพูด บทละครพูดของมาลัย ชูพินิจ มีจุดมุ่งหมายคือเขียนให้อ่านเพื่อความบันเทิง มิใช่เขียนเพื่อการแสดงบนเวที ซึ่งเขาได้ประพันธ์ไว้มากมายได้แก่ นักเลงดี, ละครพูด, วันว่าง, แม่เลี้ยง, เพลงลา, รังรัก, การทดลองของแพรว, ฎีกา 5 บาท, เมืองใหม่, ทายาทรัก, เลขานุการินี, สามชาย, ลิปสติก, ตามใจท่าน, ช.ต.พ., ไข้รายแรก, นักย่องเบา, ยามพักฟื้น, วันดีวันร้าย, แขกนอกบัญชี, ลึกลับตลอดกาล, บ้านของเรา, สองสมัย, ไล่เบี้ย, แม่ปลาช่อน, ครูมวย, รสนิยม, นักเรียนใหม่ , ชีวิตเช่า, สองสมัย ฯลฯ 3.2 บทละครวิทยุและโทรทัศน์ บทละครวิทยุของมาลัย ชูพินิจ มีเพียงเรื่องเดียวและมีชื่อเสียงมาก คือเรื่อง ล่องไพร สำหรับบทละครโทรทัศน์นั้น มาลัย ชูพินิจเริ่มเขียนเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2502 ด้วยเรื่อง สกุณาจากรัง แสดงโดยคณะกัญชลิกา ออกอากาศ ณ สถานีวิทยุไทยโทรทัศน์ และหลังจากนั้นได้เขียนบทละครให้เป็นประจำเฉลี่ยประมาณเดือนละ 1 เรื่อง บทละครที่เขียนให้แก่คณะกัญชลิกาใช้ชื่อว่า ละครชีวิตครอบครัว เนื้อเรื่องเกี่ยวกับปัญหาชีวิตครอบครัว จุดมุ่งหมายเพื่อแสดงคติสอนใจและเพื่อแนะแนวทางแก้ปัญหาชีวิต ส่วนใหญ่เป็นบทละครที่เขียนขึ้นใหม่เพื่อการแสดงโดยเฉพาะ มีเพียงบางเรื่องที่ดัดแปลงจากเรื่องสั้นของตนเอง เช่นเรื่อง ตายทั้งเป็นและธาตุดิน เป็นต้น มาลัย ชูพินิจ เขียนบทละครโทรทัศน์ให้กับคณะกัญชลิกาติดต่อกันมาเป็นเวลาประมาณ 3 ปี จึงหยุดเขียน เนื่องจากมีงานด้านอื่นเพิ่มขึ้น บทละครที่เขียนให้แก่คณะกัญชลิกาส่วนหนึ่ง ได้แก่เรื่อง นามหล่อนคือหญิง, สามชีวิต, แกะในหนังราชสีห์, โคกตะแบก, ล็อตเตอรี่ที่หนึ่ง และเลขานุการใหม่ นอกจากคณะกัญชลิกาแล้ว มาลัย ชูพินิจ ยังเขียนให้แก่คณะพงษ์ลดา พิมลพรรณ และแก่สถาบันต่างๆ ซึ่งแสดงเพื่อการกุศล เช่น มูลนิธิราชประชาสมาสัยในพระบรมราชูปถัมภ์ เช่นเรื่อง ฝันร้าย เขียนจากเค้าโครงเรื่องของคุณหญิงอุศนา ปราโมช แสดงเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2502 4. งานเขียนคอลัมน์ประเภทต่าง ๆ งานเขียนคอลัมน์ของมาลัย ชูพินิจ มีดังนี้ - คอลัมน์ ระหว่างบรรทัด เป็นคอลัมน์ที่มีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมตั้งแต่การเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา กีฬา และอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนเรา - คอลัมน์ ระหว่างยก เป็นบทนำที่เขียนเป็นประจำในหนังสือพิมพ์สังเวียนซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ เกี่ยวกับวงการกีฬาและเน้นหนักในเรื่องมวยเป็นสำคัญ โดยใช้นามปากกาว่า สมิงกะหร่อง เป็นบทนำประเภทที่มีชื่อเรื่อง - คอลัมน์ ระหว่างสัปดาห์ เป็นคอลัมน์ประจำสัปดาห์ในหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย (รายวัน) และมีกำเนิดมาพร้อมๆกับคอลัมน์ระหว่างบรรทัด ซึ่งเป็นคอลัมน์ที่เหมือนกันในด้านความมุ่งหมายและลักษณะการเขียน ต่างแต่ว่า คอลัมน์นี้จะหยิบยกเรื่องที่น่าสนใจในรอบสัปดาห์เรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือหลายๆเรื่อง มาสรุปและแสดงทัศนะของผู้เขียน ข้อแตกต่างอีกประการหนึ่งคือ คอลัมน์นี้ค่อนข้างมีเนื้อหาเบากว่าระหว่างบรรทัด บางครั้งจึงมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการพักผ่อนหย่อนใจหรืออื่นๆที่ผู้อ่านไม่ต้องใช้ความคิดในขณะที่อ่านมากนัก - คอลัมน์ น้อย อินทนนท์ เขียน... เป็นคอลัมน์ประจำในสยามสมัยรายสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่ฉบับครบรอบปีที่ 15 เป็นต้นมา เป็นคอลัมน์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสาธารณกิจเป็นส่วนใหญ่ โดยเน้นหนักไปในเรื่องการเมืองภายในประเทศ วิธีเขียนจึงมีลักษณะเป็นแบบวิเคราะห์ประกอบกับแบบพรรณนา - คอลัมน์ หมายเหตุ เป็นคอลัมน์ที่เปิดขึ้นในสยามสมัยรายสัปดาห์ โดยมาลัย ชูพินิจ เขียนแทนธนาลัย ซึ่งหยุดพักการเขียนเพื่อการอุปสมบท ใช้นามปากกาว่า น้อย อินทนนท์ ใช้วิธีเขียนแบบบทความประเภทวิเคราะห์ผสมกับพรรณนา เนื้อหาเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง - คอลัมน์ พูดกันฉันเพื่อน ใช้นามปากกา ผู้นำในไทยใหม่ (รายวัน) บางฉบับ เช่น ฉบับที่ 3 มกราคม 2473 แสดงข้อคิดเห็นว่าผู้ที่ก้าวไปสู่ความมีชื่อเสียงด้วยการโป้ปดมดเท็จตลบตะแลงย่อมจะทานอานุภาพความจริงไปไม่ได้ และจะต้องตกลงมาอย่างไม่เป็นท่าในวันหนึ่ง - คอลัมน์ของนักคิด ใช้นามปากกา นายดอกไม้, ม.ชูพินิจ แสดงทัศนะและปรัชญาชีวิตอย่างสั้นๆในหนังสือพิมพ์ผู้นำ - คอลัมน์ ประชาชน เป็นคอลัมน์แสดงแง่คิดจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวมและสวัสดิภาพของประชาชน - คอลัมน์ ป.ล. เป็นคอลัมน์ที่มีลักษณะเด่นและนำชื่อเสียงมาสู่ผู้เขียนเป็นอย่างมาก - คอลัมน์ แว่นใจ ในพิมพ์ไทยรายเดือน ใช้นามปากกาต่างๆกัน เช่น จิตรลดา, ฮ.ฮ.ฮ, ก.ก.ก, ฐ.ฐ.ฐ แสดงข้อคิดและปรัชญาชีวิต - คอลัมน์ ชีวิตในเดือนนี้ ในปิยมิตรรายเดือน ใช้นามปากกา นายฉันทนา แสดงทัศนะและปรัชญาชีวิต - คอลัมน์ บทเรียนจากชีวิต ในพิมพ์ไทยรายเดือน ใช้นามปากกาต่างๆกัน เช่น น.น.น, ส.ส.ส แสดงทัศนะและปรัชญาชีวิต - คอลัมน์ อาณาจักรของข้าพเจ้า ในแสนสุข ใช้นามปากกา ม.ชูพินิจ แสดงทัศนะและปรัชญาชีวิต - คอลัมน์ หน้าของผู้หญิง เป็นงานเขียนที่เริ่มมาตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.2473 เป็นต้นมาในหนังสือพิมพ์ไทยใหม่(รายวัน) ใช้นามปากกาต่างๆกัน เช่น นายดอกไม้, ผู้นำ, เรไร, นายฉันทนา เป็นต้น - คอลัมน์ เพื่อผู้หญิง ใช้นามปากกา เรไร เนื้อหาของคอลัมน์มีขอบเขตกว้างขวางมาก นับตั้งแต่การเย็บปักษ์ถักร้อย การบริหารร่างกาย แบบบ้านและแบบเครื่องเรือนเครื่องใช้สำหรับสตรีไปจนถึงแฟชั่นเครื่องแต่งกายของสตรีด้วย - คอลัมน์ ปัญหาชีวิต โดยผุสดี เป็นคอลัมน์สำหรับผู้หญิงอีกแบบหนึ่งในประชามิตรรายสัปดาห์ มาลัย ชูพินิจใช้วิธีเขียนแบบเป็นจดหมายจากพี่ถึงน้อง แนะนำแนวทางที่ควรประพฤติและปฏิบัติตนของหญิงวัยรุ่น ซึ่งนอกจากจะเกี่ยวกับความรัก การคบเพื่อนต่างเพศแล้ว ยังแนะนำเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยอีกด้วย - คอลัมน์ หน้าของคนหนุ่ม โดยเรไร ในไทยใหม่ เป็นข้อเขียนเกี่ยวกับทัศนะและเรื่องราวต่างๆที่ผู้ชายควรรู้ รวมทั้งสอนกีฬาประเภทต่างๆ - คอลัมน์ เพื่อผู้ชาย โดยเรียมเอง ที่ประชาชาติรายสัปดาห์ เป็นข้อเขียนเกี่ยวกับทัศนะและเรื่องราวต่างๆที่ผู้ชายควรรู้ รวมทั้งสอนกีฬาประเภทต่างๆ - คอลัมน์ บ้านและโรงเรียน โดยผุสดี ซึ่งลักษณะการเขียนแต่ละบทแต่ละตอนแสดงออกถึงความเข้าใจในจิตวิทยาของเด็กและความเอาใจใส่ของผู้เขียนที่มีต่อเยาวชนได้เป็นอย่างดีจนไม่น่าเชื่อว่าผู้เขียนเป็นผู้ชาย - คอลัมน์ ความในใจ โดยอุมา ในประชามิตร-สุภาพบุรุษ เป็นคอลัมน์ตอบปัญหาชีวิต ซึ่งส่วนมากเกี่ยวกับความรักของหนุ่มสาว 5. สารคดี มาลัย ชูพินิจ มักเขียนสารคดีประเภทชีวประวัติบุคคลสำคัญของต่างประเทศ เช่น เรื่องโซเครตีส เจ้าลัทธิและมหาปราชญ์คนแรกแห่งกรีก ใช้นามปากกา ม.ชูพินิจ, เดวิด ทิฟวิงสโตน วีรบุรุษเอกของแอฟริกา ใช้นามปากกา นายดอกไม้ , ความรักของจินตกวีเอกอิตาลี ใช้นามปากกา ผู้นำ เป็นต้น เมื่อทำหนังสือพิมพ์ ผู้นำ เขาเขียนสารคดีประเภทนี้อีกหลายเรื่อง ซึ่งยังคงเป็นเรื่องที่แปลและเรียบเรียงจากต้นฉบับภาษาต่างประเทศ เช่นชายผู้แปลงเพศอยู่อย่างผู้หญิงตลอดชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องของเชวา เทียร์ เดออง ผู้แปลงเพศเป็นหญิงมาตลอดเวลา 40 ปีโดยไม่มีใครจับได้, เจ้าแห่งความเร็วและความตาย เรื่องของเซอร์มัลคมเค็มเบิล นักแข่งรถเร็วที่สุดในสมัยนั้น ในปี พ.ศ.2475 เขาเริ่มเขียนสารคดีเชิงข่าว มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์ของโลกในขณะนั้น โดยเขียนแบบข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์คือใช้การพาดหัวแทนชื่อเรื่อง เช่น ญี่ปุ่นว่าจะรบอเมริกาแน่ในขั้นต้นจะยึดเกาะฮาวาย ซึ่งแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษที่แปลจากภาษาญี่ปุ่น เขียนโดย นายพลโท กิโอ คัตสุชาโต ในปีเดียวกัน เขาเขียนสารคดีท่องเที่ยวเป็นครั้งแรกใน ผู้นำ คือเรื่องชีวิตของการท่องเที่ยวภาคเหนือ ซึ่งเป็นเรื่องการท่องเที่ยวครั้งใหญ่ของเขา สารคดีอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเขาทำขึ้นในระยะแรกคือ สารคดีภาพข่าว ซึ่งเป็นการรวบรวมภาพในเรื่องต่างๆกัน เช่น ชีวิตของพีระ, สงครามอิตาลี-อะบิสซิเนีย และจีนรบญี่ปุ่น เป็นต้น สารคดีที่นำชื่อเสียงมาสู่มาลัย ชูพินิจ อย่างแท้จริงคือ สารคดีเบื้องหลังข่าว เรื่อง บันทึกจอมพลและเสือฝ้ายสิบทิศ 6. งานแปล มาลัย ชูพินิจ เริ่มงานแปลตั้งแต่ พ.ศ.2469 ผลงานแปลในระยะแรกเริ่มนี้ได้แก่ เรื่องสั้นชื่อ สามวันจากนารี ซึ่งตีพิมพ์ในศัพท์ไทย ฉบับเดือนมิถุนายน 2469 และสิเหน่ห์นางละคร ในสมานมิตรบันเทิง หลังจากนั้นเขาก็เริ่มสนใจในงานเขียนของมาเรีย คอเรลลี่ นักเขียนชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียง โดยทดลองแปลเรื่องสั้นก่อน เช่นเรื่อง ผู้คงแก่เรียน (The Stepping Stone), ธาตุหญิง (The Withering of a Rose) และไปสวรรค์ (The Distance voice) เป็นต้น เมื่อได้ผลเป็นที่พอใจแล้วจึงเริ่มแปลและเรียบเรียงเรื่องเถ้าสวาท (Wormwood) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2471 แปลจบในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน แล้วมอบให้สำนักพิมพ์นายเทพปรีชาจัดพิมพ์จำหน่าย ผลงานชิ้นสำคัญต่อมาคือเรื่อง เต็ลมา (Thelma) ของคอเรลลี่ เช่นเดียวกันใน พ.ศ.2479 ส่งพิมพ์เป็นตอนๆในสยามนิกร แต่หลังจากแปลได้เพียงภาคแรก สยามนิกรก็หยุดกิจการไปชั่วคราว ทำให้มาลัย ชูพินิจชะงักการแปลไปด้วย จนกระทั่งสำนักพิมพ์พิพัฒน์พานิชมาติดต่อขอนำไปพิมพ์เป็นเล่ม เขาจึงแปลต่อให้จนจบใน พ.ศ.2485 มาลัย ชูพินิจได้นำเรื่อง The Sorrow of Satan ของคอเรลลี่มาเขียนเป็นเรื่องค่าของคน โดยดัดแปลงตัวละครและบรรยากาศให้เป็นไทยอีกด้วย นอกจากผลงานด้านการประพันธ์แล้ว ครูมาลัย ชูพินิจ ยังมีผลงานที่อุทิศตนเพื่อประโยชน์แก่สังคม โดยให้ความสนใจงานด้านการศึกษา และงานเกี่ยงกับเยาวชนการปฏิบัติเพื่อสังคม ดังนี้ - กรรมการในคณะกรรมการฝ่ายการสื่อสารมวลชนของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ - กรรมการบริหารมูลนิธิช่วยนักเรียนที่ขาดแคลนในพระบรมราชินูปถัมภ์ - กรรมการมูลนิธิราชประชาสมาสัย - กรรมการสภาสังคมสงเคราะห์ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ - ที่ปรึกษาสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ - กรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า - อุปนายกสมาคมภาษาและหนังสือ - อุปนายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
การดำเนินชีวิต[แก้ไข]
มาลัย ชูพินิจ เป็นชาวกำแพงเพชรโดยกำเนิด บิดามารดาคือ นายสอนและนางระเบียบ ชูพินิจ ตระกูลชูพินิจ มีบรรพบุรุษสืบต่อมาจากตระกูล ณ บางช้าง ซึ่งนิยมรับราชการสืบต่อกันมา จนกระทั่งถึงชั้นปู่ของมาลัย ชูพินิจ ซึ่งได้ย้ายไปรับราชการประจำอยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชรในรัชกาลที่ 5 แต่บิดามารดาของมาลัย ชูพินิจ มิได้รับราชการตามบรรพบุรุษ หากหันมาค้าไม้สักและไม้กระยาเลย อันเป็นทรัพยากรธรรมชาติสำคัญของจังหวัดนั้น ดังที่มาลัย ชูพินิจ เคยเล่าถึงประสบการณ์ในวัยเด็กของเขา สมัยที่ได้เคยติดตามบิดามารดานำแพไม้จากจังหวัดกำแพงเพชรลงมาขายที่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ทุกหน้าน้ำไว้ตอนหนึ่งว่า” ปีหนึ่ง ฉันได้ประสบเหตุการณ์ที่ยังพิมพ์อยู่ในความทรงจำของฉัน จนกระทั่งบัดนี้ ปีนั้น บิดาของฉันซื้อไม้รายทางมาจากคลองจ้าว ลงมาจนถึงปากอ่าวใต้จังหวัดกำแพงเพชร ได้ไม้ 3 แพด้วยกัน การเดินทางครั้งนั้น แม้ตามประเพณีจะได้ดูฤกษ์ยาม เส้นวักแม่ย่านางกันเป็นอย่างดี แพของเราก็ประสบเคราะห์นับแต่ออกล่องในวันแรก แพหนึ่งโดนตอแตกที่ท้ายบ้านโคนเมื่อเวลาใกล้ค่ำ แต่เมื่อพยายามรวบรวมขึ้นใหม่สิ้นเวลาไป 3 วัน เราก็ออกแพกันต่อไป เหตุร้ายครั้งที่สอง เกิดขึ้นเมื่อถึงแม่ลาด เหนือวังคณธี ซึ่งเป็นที่ขึ้นชื่อลือชาอยู่ในสมัยนั้นว่า จระเข้ดุและชุม” มาลัย ชูพินิจ มีน้องชายร่วมมารดา 1 คน หากเสียชีวิตแต่เยาว์วัย ด้วยไข้ทรพิษ เขาเคยเขียนถึงความทรงจำเกี่ยวกับน้องเอาไว้ว่า “วัยเด็กเป็น วัยซนสำหรับทุกคน ข้าพเจ้าก็หนีไม่พ้นกฎข้อนั้น แต่น้องชายข้าพเจ้าเอาชนะไปได้ด้วยความแก่นแก้วของเขา และเมื่อเรามีน้องที่เก่งกว่าอย่างข้าพเจ้ามี พี่กลายเป็นลูกน้องไป ข้าพเจ้ายังจำได้ว่า ขณะที่อยู่ในวัยนั้น ก่อนที่ไข้ทรพิษจะพรากเราจากกันไป น้องชายของข้าพเจ้าจะต้องมีเรื่องวิ่งเข้ามาหาแม่ทุกวัน ไม่ไปชกต่อยกับลูกเพื่อนบ้าน ก็ต้องผิดคำสั่งท่านสมภารที่วัด ซึ่งสอนหนังสือ หรือพ่อผู้มักจะพูดด้วยไม้เรียวมากกว่าวาจาดุดัน” ต่อมา เมื่อมาลัย ชูพินิจ มีอายุประมาณ 10 ขวบเศษมารดาได้เสียชีวิตลง หลังมรณกรรมของมารดา บิดาของเขาได้แต่งงานใหม่ และมีบุตรชาย หญิงซึ่งนับเป็นน้องต่างมารดาของมาลัย ชูพินิจ อีก 4 คน มาลัย ชูพินิจ ใช้ชีวิตวัยเด็กที่ตำบลคลองสวนหมาก จังหวัดกำแพงเพชร อยู่จนอายุประมาณ 10 ขวบเศษ จึงได้เดินทางไปพำนักอยู่ที่กรุงเทพมหานคร เพื่อศึกษาต่อ โดยในชั้นแรกได้พักอาศัยอยู่กับญาติผู้หนึ่ง จนย่างเข้าวัยรุ่น จึงได้เข้าไปอาศัยอยู่กับพระยามหาอำมาตยาธิบดี ที่ตำบลยศเส มาลัย ชูพินิจ ได้รับการศึกษาขั้นต้นที่วัดบรมธาตุ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้บ้านที่ตำบลคลองสวนหมาก จังหวัดกำแพงเพชร แล้วย้ายไปเรียนที่โรงเรียนประจำจังหวัดกำแพงเพชร จนจบประถมศึกษา แล้วเริ่มเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนวัดบพิตรพิมุข ใน พ.ศ.2459 โดยเป็นนักเรียนรุ่นเดียวกับ นายเฉลิม วุฒิโฆษิต, พลตำรวจตรี ไมตรี บานเย็น, นายทอง เอกบุศร์, นายนิยม ทองชิตร และนายใช้ แม้นมาศ เป็นต้น มาลัย ชูพินิจ ได้ชื่อว่าเป็นเพื่อนที่มีความโอบอ้อมอารี ใจเย็น และเรียน เก่งผู้หนึ่ง ในขณะที่เรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยมีขุนสัมฤทธิ์วรรณาการ เป็นครูใหญ่ และครูสำรวย ศิริรักษ์ เป็นครูประจำชั้น กระทรวงธรรมการ กำลังประสบปัญหาขาดแคลนครู เนื่องจากในสมัยนั้น อาชีพครูเป็นอาชีพที่ไม่ค่อยก้าวหน้า เงินเดือนน้อย ประกอบกับคำพังเพยที่ว่า "อาชีพครู เหมือนเรือจ้าง” จึงทำให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาส่วนใหญ่ไปประกอบอาชีพอื่นกันมาก มาลัย ชูพินิจ และเพื่อนร่วมชั้น ประมาณ 30 คน ได้รับการชักชวนและหว่านล้อมจาก พระนิพันธ์ – นิติสิทธิ์ ผู้ตรวจแขวงจากกระทรวงธรรมการ ให้เรียนวิชาครู โดยกระทรวงจะรับเป็นนักเรียนทุนของกระทรวง ทั้งหมดจึงตกลงใจที่จะเรียนวิชาครู โดยเริ่มเรียนควบคู่กับวิชาสามัญวันละหนึ่งชั่วโมง เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2464 แล้ว มาลัย ชูพินิจ และเพื่อนที่ตกลงเรียนวิชาครูทั้งหมดได้ย้ายไปเรียนวิชาครูโดยเฉพาะที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ขณะที่เรียนต่อมาได้ประมาณ 3 เดือน เพื่อนส่วนใหญ่เกิดความเบื่อหน่ายวิชาครู จึงพากันหยุดเรียนจนเหลือนักเรียนประมาณ 10 คนเท่านั้น ประกอบกับขุนสุนทรภาษิต ซึ่งเป็นอาจารย์เก่าปรารถนาจะเห็นศิษย์มีความก้าวหน้าในอาชีพต่อไป จึงได้เรียกนักเรียนที่เหลือมาชี้แจงฐานะของอาชีพครูในขณะนั้นว่าเป็นอาชีพที่มีโอกาสก้าวหน้าน้อยมาก ในที่สุดเพื่อนๆจึงลาออกกันหมดเหลือเพียง มาลัย ชูพินิจ และ นายทอง เอกบุศร์ เพียงสองคนเท่านั้น ที่ยังคงเรียนต่อไป สาเหตุที่มาลัย ชูพินิจ ตัดสินใจเรียนวิชาครูต่อมาทั้งที่รู้ว่าเป็นอาชีพที่ไม่ก้าวหน้านั้น คงจะเป็นเพราะเขาเห็นว่าวิชาครูเป็นเวิชาที่เขาจะเรียนได้โดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนนั่นเอง ทั้งนี้เนื่องจากฐานะทางบ้านของเขาในขณะนั้นอยู่ในภาวะที่ขาดแคลน การค้าไม้ของบิดามารดาประสบกับความขาดทุนอย่างย่อยยับจากความตกต่ำของตลาดไม้ใน พ.ศ.2463 ในฐานะที่เป็นลูกคนโตและมีโอกาสเข้ามาศึกษาเล่าเรียนในกรุงเทพฯ มาลัย ชูพินิจ จึงไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงจากผลของเคราะห์กรรมนี้ได้ ซึ่งเขาก็ได้ยอมรับและต่อสู้กับความจำเป็นนี้อย่างสุขุมและรอบคอบ เกินกว่าวัย 15 ปี เป็นอย่างมาก ขณะที่เขาเข้าเรียนวิชาครูที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศน์ ใน พ.ศ.2464 โดยมี พระยาผดุงวิทยาเสริม (กำจัด พลางกูร) เป็นอาจารย์ใหญ่นั้น เพื่อนร่วมรุ่นที่สนิทกันมาก ได้แก่ เอื้อ บุษปะเกศ หงสกุล นักประพันธ์ผู้มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่งของไทย ที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศน์ มาลัย ชูพินิจ มีครูที่สอนวิชาการประพันธ์และภาษาไทยอยู่สองคน คือ ขุนสุนทรภาษิต (ถนอม เกยานนท์) และพระวรเวทย์พิสิษฐ์ ครั้งหนึ่งในชั่วโมงกวีนิพนธ์ ขุนสุนทรภาษิตให้นักเรียนแต่งลิลิตพรรณนาถึงภาพพระนครที่มองเห็นจากเครื่องบินซึ่งผ่านมาทางพระบรมรูปทรงม้าโดยใช้เวลา 45นาที ผลปรากฏว่า ในจำนวนนักเรียนประมาณ 50-60 คนนั้น มีเพียงสองคนคือ มาลัย ชูพินิจ และเอื้อ บุษปะเกศ หงสกุลที่ได้คำชมเชย และขุนสุนทรภาษิตได้ทำนายไว้ว่า ทั้งสองคนนี้ จะต้องเป็นนักประพันธ์ในอนาคต โดยเฉพาะเอื้อ บุษปะเกศ หงสกุลนั้น มีทีท่าว่าจะเป็นนักกฎหมายด้วย ซึ่งคำทำนายของท่านนี้ต่อมาได้เป็นความจริงทุกประการ เมื่อจบการศึกษาวิชาครูจากโรงเรียนวัดบวรนิเวศใน พ.ศ.2465 แล้ว มาลัย ชูพินิจได้กลับเข้าเรียนวิชาสามัญในมัธยมศึกษาปีที่ (มัธยมศกษาปีที่ 4 ในปัจจุบัน) ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ได้หมายเลขประจำตัว 4422 และเรียนจบชั้นมัธยมบริบูรณ์ เมื่อ พ.ศ.2467 ในขณะที่เรียนอยู่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย มาลัย ชูพินิจ ได้ใช้เวลาว่างในตอนกลางคืนเรียนกวดวิชาภาษาอังกฤษที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ เขาจึงได้ ชื่อว่าเป็นนักเรียนเก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ด้วยผู้หนึ่ง อาชีพครู เมื่อสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมบริบูรณ์จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยแล้ว มาลัย ชูพินิจ ได้เริ่มอาชีพครูของเขาที่โรงเรียนวัดสระเกศ เมื่อ พ.ศ.2467 โดยสอนอยู่ที่เรือนศรียาภัย แต่เนื่องจากความอายที่จะได้ชื่อว่าเป็นครูโรงเรียนวัดสระเกศ ซึ่งในสมัยนั้นมีคำพังเพยวลีหนึ่งว่า แร้งวัดสระเกศ และเพื่อนฝูงมักจะล้ออยู่เสมอ เขาจึงมักเรียกชื่อโรงเรียนของเขาตามชื่อเรือนที่ใช้เป็นห้องเรียนว่า โรงเรียนศรียาภัย หลังจากมีอาชีพเป็นครูได้ไม่นานนัก มาลัย ชูพินิจ ก็ย้ายออกมาจากบ้านพระยาอำมาตยาธิบดี ไปเช่าที่ปลูกบ้านอยู่กับเพื่อนๆข้างโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ใกล้สะพานมัฆวาน ถนนราชดำเนิน ตรงข้ามกับบ้านของเอื้อ บุษปะเกศ หงสกุล และติดกับบ้านของนงเยาว์ ประภาสถิต ผู้ซึ่งต่อมาคือนักประพันสตรีที่มีชื่อเสียงมากในยุคเดียวกับมาลัย ชูพินิจ ใช้นามปากกาว่า น.ประภาสถิต ในขณะที่รับราชการ เป็นครูที่โรงเรียนวัดสระเกศนี้ ความจำเป็นในการครองชีพและความรับผิดชอบต่อครอบครัว ทำให้มาลัย ชูพินิจ พยายามทำงานทุกอย่างที่จะทำให้มีรายได้เพิ่มพูนจากเงินเดือนเพียงเล็กน้อยของอาชีพครู จากความเป็นเด็กรุ่นหนุ่มที่เอาการเอางาน และมุ่งหน้าที่จะทำงาน เพื่อก่อร่างสร้างตัวอย่างจริงจังของเขา และเพื่อนสนิทอีกราว 4-5 คน ซึ่งต่อมาได้เป็นกลุ่มผู้ให้กำเนิด คณะสุภาพบุรุษ ทำให้ มาลัย ชูพินิจ และเพื่อนได้รับการเมตตาจากคหบดีผู้หนึ่ง คือ นายแตงโม จันทวิมพ์ เจ้าของโรงพิมพ์แห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ใกล้ปากตรอกพระยาสุนทรพิมล หัวลำโพง ท่านผู้นี้ได้ช่วยตั้งโรงเรียนสอนหนังสือภาษาไทยและอังกฤษ ให้ที่ถนนรองเมือง คือ โรงเรียนรวมการสอน ซึ่งได้รวมสำนักงานรับจ้างแปลหนังสือต่างประเทศไว้ด้วย โดยใช้ชื่อว่า สำนักงานรวมการแปล ลาออกจากครู มาลัย ชูพินิจ รับราชการเป็นครูอยู่ได้สองปี ก็ตัดสินใจลาออกเมื่อ พ.ศ.2469 เนื่องจากในขณะที่โรงเรียนปิดภาคปลายนั้น เขาได้รับจดหมายจากสหายผู้หนึ่ง ซึ่งทำงานอยู่ที่จังหวัดสงขลาว่า ต้องการบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ไทยใต้ ซึ่งเป็นหนังสือออกใหม่ในจังหวัดนั้น มาลัย ชูพินิจ จึงเดินทางไปทันที และเมื่อถึงกำหนดโรงเรียนเปิดเทอมต้นแล้ว เขาก็ยังไม่กลับมาสอนหนังสือ เพียงแต่ส่งใบลาพักมา เท่านั้น หลังจากยื่นใบลาบ่อยครั้งเข้า เขาก็ตัดสินใจลาออกจากราชการ อาชีพแรกของเขาได้สิ้นสุดลงแล้ว เป็นอาชีพที่เขาจำเป็นต้องทำเพราะมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว แต่เมื่อเขาไม่สามารถจะฝืนความรู้สึกของเขาได้ เขาจึงต้องเลือกทางเดินใหม่อย่างที่ชีวิตเขาต้องการ นั่นคือ อาชีพนักหนังสือพิมพ์ ซึ่งต่อมาเขาไม่อาจแยกมันออกได้จากอาชีพนักประพันธ์ และได้เป็นอาชีพเดียวที่เขายึดถือตลอดมาเป็นเวลา 37 ปี จนถึงวันสุดท้ายแห่งชีวิต ก้าวแรกในวงการประพันธ์ ในสมัยที่เรียนชั้นมัธยมศึกษาอยู่ที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศนั้น มาลัย ชูพินิชและเพื่อนๆที่มีความสนใจตรงกันได้ชวนกันออกหนังสือพิมพ์ในห้องเรียน โดยร่วมกันเขียนเรื่องลงในสมุดเรียนแล้วหมุนเวียนกันอ่านในระหว่างเพื่อนๆ เรื่องที่เขียนส่วนมากเป็นการหยอกล้อเย้าแหย่และค่อนแคะกันเอง จะมีนิยายบ้างก็น้อยมาก แต่ในขณะนั้นไม่มีใครมั่นหมายจะเป็นนักประพันธ์ในอนาคตเลยสักคน ก้าวต่อมา มาลัย ชูพินิจ เริ่มมีผลงานเขียนอยู่ในหนังสือแถลงการณ์ศึกษาเทพศิรินทร์ สมัยที่ไปเรียนพิเศษตอนกลางคืนที่นั่น จนพอจะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของผู้ที่เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเดียวกัน แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ผลงานในระยะแรกเริ่มของเขาไม่มีหลงเหลืออยู่เลย มาลัย ชูพินิจ เริ่มสนใจงานประพันธ์อย่างจริงจังภายหลังจากสำเร็จการศึกษาและทำงานเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนวัดสระเกศแล้ว เขาใช้เวลาว่างส่งไปลงหนังสือพิมพ์รายวันและรายสัปดาห์ที่แพร่หลายอยู่ในขณะนั้น ในระยะนี้เองที่ชีวิตของเขาแวดล้อมไปด้วยมิตรสหายที่มีความสนใจในงานเขียนหนังสือด้วยกัน เขาเริ่มผลิตงานประพันธ์ออกมาด้วยความรักที่จะเขียนอย่างแท้จริง มาลัย ชูพินิจ เริ่มงานเขียนของเขาในระหว่าง พ.ศ.2467-2468 แบบใดนั้นไม่มีหลักฐานเหลือพอให้ศึกษาได้ แต่ผลงานของเขาใน พ.ศ.2469 ซึ่งเป็นยุคแรก ส่วนเมากลงพิมพ์ใน เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์, ไทยเขษม , ดรุณเกษม , สวนอักษร และสมานมิตรบันเทิง ซึ่งเป็นนิตยสารที่มีผู้อ่านนิยมมากในขณะนั้น ใน พ.ศ.2469-2470 มาลัย ชูพินิจ เป็นนักเขียนที่มีฝีมือพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว จากนักเขียนที่ส่งเรื่องไปให้บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ต่างๆพิจารณากลายเป็นนักเขียนที่บรรณาธิการต้องขอให้ส่งเรื่องไปให้ตีพิมพ์ในหนังสือของตน การที่มาลัย ชูพินิจ มีงานเขียนประเภทต่างๆลงพิมพ์ในหนังสือที่มีชื่อเสียงของยุคในขณะที่มีวัยเพียง 20 ปีเท่านั้น แสดงให้เห็นความสามารถที่แท้จริงของเขาในการพลิกแพลงวิธีการเขียนให้มีลักษณะตามกันไปตามจุดประสงค์ของเขา ซึ่งต่อมาความสามารถนได้วิวัฒนาการไปตามประสบการณ์และความชำนาญ จนทำให้เขาได้ชื่อในเวลาต่อมาว่าเป็นทั้งนักหนังสือพิมพ์และนักประพันธ์สามารถผลิตผลงานทั้งสองประเภทได้อย่างดีที่สุดและด้วยความรอบรู้อย่างยากที่จะมีใครทัดเทียมได้ อาชีพนักหนังสือพิมพ์ ก่อนหน้าที่มาลัย ชูพินิจ จะยึดงานหนังสือพิมพ์เป็นอาชีพนั้น เขาเคยทำงานด้านนี้มาก่อนในฐานะงานอดิเรก โดยทำควบคู่ไปกับอาชีพครูและการเขียนหนังสือ การทำหนังสือพิมพ์ของเขานั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากการได้รู้จักกับนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ นักหนังสือพิมพ์คนสำคัญคนหนึ่งของไทย และได้รวมกลุ่มกับสหายรุ่นราวคราวเดียวกัน ซึ่งมีอุดมการณ์และความสนใจคล้ายคลึงกันหลายคน โดยได้พบปะสังสรรค์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และวิพากษ์วิจารณ์งานเขียนของกันและกันอยู่เป็นประจำ เมื่อได้ประชุมปรึกษากัน ได้ตกลงกันออกหนังสือพิมพ์รายทศฉบับหนึ่งให้ชื่อว่า สาส์นสหาย เป็นหนังสือขนาดแปดหน้ายก หนาประมาณ 6-8 ยก มาลัย ชูพินิจ ใช้เวลาหลังโรงเรียนเลิกเขียนหนังสือที่สำนักงานจนใกล้ค่ำ จึงไปสอนหนังสือที่โรงเรียนรวมการสอน เป็นเช่นนี้ทุกวันเว้นแต่วันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งไม่ได้ไปสอนหนังสือ ก็นั่งทำงานกันอยู่ที่สำนักงานสาส์นสหาย จนถึง 20.00-21.00 น. เป็นประจำ หลังจากทำกันมาได้ 9 เดือน หนังสือพิมพ์ สาส์นสหาย ได้ประสบปัญหาเก็บเงินจากผู้อ่านไม่ได้ จึงจำเป็นต้องยุบกิจการหนังสือพิมพ์ จากสาส์นสหาย กุหลาบ สายประดิษฐ์ และมาลัย ชูพินิจ ได้ร่วมงานกับเฉวียง เศวตะทัต ออกหนังสือพิมพ์เสียงไทย รายวัน ซึ่งเป็นการทำหนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกในชีวิตการทำหนังสือพิมพ์ของมาลัย ชูพินิจ แต่ก็ประสบกับความล้มเหลวอีก และเมื่อได้งานชิ้นใหม่อีก คือการทำหนังสือพิมพ์ข่าวด่วนรายวันของนายแตงโม จันทวิมพ์ ทั้งสองคนก็บรรลุความสำเร็จในการทำหนังสือพิมพ์ล้มอีกครั้งหนึ่ง เมื่อประสบกับความล้มเหลวในการทำหนังสือพิมพ์ถึงสามครั้งติดต่อกันเช่นนี้ มาลัย ชูพินิจและกุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็เลิกล้มความตั้งใจที่จะทำหนังสือพิมพ์ไปพักหนึ่ง หันกลับไปเขียนเรื่องประโลมใจออกจำหน่ายกัน โดยกุหลาบ สายประดิษฐ์เป็นผู้คิดตั้งสำนักพิมพ์นายเทพปรีชาขึ้น เพื่อพิมพ์หนังสือออกจำหน่ายเอง นับเป็นการริเริ่มของนักประพันธ์ที่เขียนเอง พิมพ์เอง เป็นครั้งแรกในประวัติการประพันธ์ของไทย อย่างไรก็ดีการเขียนหนังสือป้อนสำนักพิมพ์นายเทพปรีชา เป็นเพียงงานชิ้นหนึ่งในระหว่างที่ประกอบอาชีพครูของมาลัย ชูพินิจเท่านั้น แม้จะมีรายได้ดีเพียงไรก็ตาม มาลัย ชูพินิจก็ยังต้องแสวงหางานตามความถนัดของเขาต่อไป คือการทำหนังสือพิมพ์ ซึ่งในที่สุดเขาก็ได้สมความปรารถนา งานชิ้นนั้นคือ การทำหนังสือพิมพ์ไทยใต้ หนังสือพิมพ์ไทยใต้ เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกที่มาลัย ชูพินิจ ตั้งใจจะทำเป็นอาชีพมิใช่งานอดิเรกอย่างที่เคยทำมา ทั้งเป็นการเริ่มต้นจากจุดสุดยอดของงานหนังสือพิมพ์ คือปฏิบัติงานที่เป็นหน้าที่ของบรรณาธิการ แม้จะมิได้เป็นบรรณาธิการโดยตำแหน่ง เมื่ออายุเพียง 20 ปีเท่านั้น ในระหว่างที่มาลัย ชูพินิจทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการอยู่นี้ นายเจ้ง เลขะกุล ได้พยายามก่อตั้งบริษัทไทยใต้เพื่อขยายงานด้านหนังสือพิมพ์และการค้าขาย แต่ไม่สำเร็จ ทำให้หมดทุนที่จะดำเนินกิจการหนังสือพิมพ์ต่อไปได้ หลังจากที่ได้ทำงานกันเป็นเวลา 1 ปีเต็ม ขณะนั้นเอง กุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็มีจดหมายไปชวนให้กลับกรุงเทพฯ เพื่อช่วยกันทำงานหนังสือพิมพ์ บางกอกการเมืองและสุภาพบุรุษ มาลัย ชูพินิจจึงตัดสินใจกลับกรุงเทพฯ เพื่อเริ่มงานชิ้นใหม่ต่อไป เมื่อกลับเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ในพ.ศ. 2470 มาลัย ชูพินิจได้เข้าประจำทำงานในแผนกสารคดีของหนังสือพิมพ์รายวันบางกอกการเมือง ของนายหอม นิลรัตน์ โดยมีนายกุหลาบ สายประดิษฐ์เป็นบรรณาธิการ หลังจากทำงานกันได้ประมาณ 3 เดือน กองบรรณาธิการก็ต้องลาออกทั้งคณะ เนื่องจากนายโพยม โรจนวิภาค ได้เขียนข่าวพระยาสมบัติบริหาร เจ้ากรมมหาดเล็กหกล้มต่อหน้าพระที่นั่ง และกุหลาบ สายประดิษฐ์ ผู้เป็นบรรณาธิการได้เสนอเป็นข่าวพาดหัวเป็นที่โจษจันกันทั่วเมือง ทำให้หนังสือพิมพ์ขายดีมาก แต่ผู้เป็นข่าวได้รับความอับอายและมีความโกรธ จึงต่อว่าไปยังนาหอม นิลรัตน์ ผู้เป็นเจ้าของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ถูกตำหนิจากนายทุนจึงขอลาออกทั้งคณะ การเริ่มอาชีพนักหนังสือพิมพ์ที่ไม่มีความแน่นอนในระยะแรกนี้ นับเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญที่สุดในชีวิตของมาลัย ชูพินิจ ความจำเป็นในการดำรงชีวิตของครอบครัวทำให้เขาเริ่มรู้สึกตัวว่า เขาควรจะต้องจับงานอย่างหนึ่งอย่างใดให้เป็นหลักแหล่งมั่นคงลงไป เมื่อตัดสินใจเด็ดขาดที่จะประกอบอาชีพเป็นนักหนังสือพิมพ์แล้ว มาลัย ชูพินิจก็เริ่มอาชีพที่เขาเลือกแล้วอย่างจริงจัง งานชิ้นต่อมาของเขาคือการทำหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษรายปักษ์ การทำหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษรายปักษ์ หลังจากออกจำหน่ายได้ไม่ถึง 2 ปีก็ต้องหยุดพิมพ์เพราะขาดทุน ทั้งนี้เนื่องจากเก็บเงินจากสายส่งหรือเอเย่นต์ผู้รับไปจำหน่ายไม่ได้ สาเหตุอีกประการหนึ่งคือ ชาวคณะสุภาพบุรุษหลายคนต้องไปดำเนินการออกหนังสือพิมพ์ไทยใหม่รายวัน ซึ่งนายเอก วีศกุล แนะนำมาให้ เป็นเหตุให้สุภาพบุรุษขาดคนดำเนินงานอย่างเพียงพอ เมื่อประสบปัญหาทางการเงินด้วยจึงตัดสินใจยุบสุภาพบุรุษเพื่อไปทำไทยใหม่แต่เพียงฉบับเดียว หนังสือพิมพ์ไทยใหม่ เป็นหนังสือของนายบรรจง ศรีสุชาติ ในนามของบริษัทไทยใหม่จำกัด กุหลาบ สายประดิษฐ์เป็นบรรณาธิการ และมาลัย ชูพินิจเป็นหัวหน้าแผนกสารคดีและบันเทิงคดี มีหน้าที่จัดทำฉบับพิเศษวันอาทิตย์ เมื่อทำงานที่ไทยใหม่ได้ 1 ปี มาลัย ชูพินิจมีความรู้สึกว่า เขาได้ผ่านการทดลองของชีวิตหนังสือพิมพ์รายวันไปสู่ความมั่นใจยิ่งขึ้นว่า เขากับอาชีพหนังสือพิมพ์และการประพันธ์ไปด้วยกันได้เป็นอย่างดี แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ขณะที่ไทยใหม่กำลังก้าวหน้าอยู่ในวงการหนังสือพิมพ์และจำหน่ายได้ดีนั้น ข้าราชการผู้ใหญ่ท่านหนึ่งประสงค์จะเข้ามามีหุ้นส่วน เพื่อที่จะควบคุมนโยบายของหนังสือพิมพ์ซึ่งคณะผู้จัดทำไม่ต้องการให้ทำเช่นนั้น เมื่อนายทุนผู้เป็นเจ้าของกิจการยืนยันที่จะรับบุคคลผู้นี้เข้าเป็นหุ้นส่วนให้จงได้ คณะผู้จัดทำ รวมทั้งมาลัย ชูพินิจ จึงพากันลาออกทั้งคณะ โดยที่ยังไม่มีจุดหมายปลายทางอยู่ข้างหน้าเลย เป็นทหาร เมื่อลาออกจากไทยใหม่ มาลัย ชูพินิจ ก็ถูกเกณฑ์ทหารเป็นเวลา 1 ปี โดยเป็นทหารอยู่กรมเสนารักษ์ทหารบก ซึ่งตั้งอยู่ที่ปากคลองหลอด ท่าช้างวังหน้า การที่มาลัย ชูพินิจเพิ่งจะรับเกณฑ์ทหารเมื่ออายุประมาณ 25 ปีนั้นเนื่องจากขณะที่เขามีอายุครบเกณฑ์ทหารในปี พ.ศ.2469 เขายังรับราชการเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนวัดสระเกศ จึงได้รับยกเว้นจากการเกณฑ์ทหาร และอยู่ในฐานะทหารกองหนุนขั้นที่1 ประเภท 1 มีกำหนดเวลา 7 ปี เมื่อลาออกจากอาชีพครูในพ.ศ. 2469 โดยที่ยังไม่พ้นจากฐานะทหารกองหนุน เขาจึงต้องเข้ารับหมายเรียกเกณฑ์ทหารตามพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร พ.ศ. 2460 ในระหว่างที่เป็นทหารและว่างงานหนังสือพิมพ์อยู่นี้ มาลัย ชูพินิจตกอยู่ในสภาพที่อดมื้อกินมื้อ ย่ำกันตั้งแต่บางลำพูถึงบางรักด้วยรองเท้าคู่เดียวขาดแล้วขาดอีก ครั้นแล้ว พัฒน์ เนตรรังสี เพื่อนเก่าผู้หนึ่งก็นำข่าวดีมาบอกว่า นายเอ็ม อิสไมล์และนายเทียน เหลียวรักวงศ์ เจ้าของโรงพิมพ์สยามพาณิชยการ ถนนสีลม ต้องการจะออกหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ฉบับหนึ่ง ภายหลังที่ได้ปรึกษาหารือกันอยู่ระยะหนึ่ง หนังสือพิมพ์ผู้นำ ซึ่งมาลัย ชูพินิจ เป็นผู้ตั้งชื่อ ก็ออกวางตลาด ในขณะที่กำลังทำหนังสือพิมพ์ผู้นำ และประสบปัญหาทางด้านทุนรอนอยู่นั่นเอง พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ทรงมีพระประสงค์จะออกหนังสือพิมพ์รายวันสักฉบับหนึ่ง จึงให้ระคน เภคะนันท์ ตามตัวกุหลาบ สายประดิษฐ์ ไปเข้าเฝ้าและทรงปรึกษาหารือในเรื่องนี้ ในที่สุดก็ตกลงพระทัยจะออกหนังสือพิมพ์รายวันปะชาชาติ การจัดตั้งกองบรรณาธิการและธุรการสำเร็จขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยประกอบไปด้วยพวกที่ออกมาจากไทยใหม่และสุริยานั่นเอง จึงเป็นอันว่าผู้นำต้องหยุดพิมพ์จำหน่ายไปหลังจากดำเนินกิจการมาได้ไม่ถึงปี หนังสือพิมพ์ประชาชาติ เป็นหนังสือพิมพ์การเมืองฉบับแรกของเมืองไทย ดำเนินการภายใต้ความอำนวยการของพลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ซึ่งขณะนั้นคือหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ และมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หม่อมพร้อยสุภิณ วรวรรณ ชายาและพระยาศรีบัญชาเป็นเจ้าของ นายกุหลาบ สายประดิษฐ์เป็นบรรณาธิการ และมาลัย ชูพินิจ เป็นหัวหน้าแผนกสารคดีและบันเทิงคดี ต่อมาได้เลื่อนเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ และในที่สุดก็ได้เป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ทั้งรายวันและรายสัปดาห์ อย่างไรก็ดี แม้ว่าการอยู่ประชาชาติ จะทำให้เขาได้มีความรู้และประสบการณ์มากที่สุดและอบอุ่นที่สุด แต่มาลัย ชูพินิจก็ต้องลาออกจากตำแหน่งบรรณาธิการในพ.ศ. 2480 เพื่อไปทำไร่อยู่ที่หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทำไร่ถั่วเหลือง สด กูรมะโรหิต เคยกล่าวไว้ว่า”สไตล์ของมาลัย ชูพินิจคือธรรมชาติ” เขามีไร่นาเป่าเขาอยู่ในหัวใจตลอดเวลา มีความเพ้อฝันในเรื่องการทำไร่มากเพราะความเงียบสงบและต้องการมีชีวิตอยู่ในแวดวงของธรรมชาติอย่างแท้จริง นอกจากนี้เขายังรักชีวิตผจญภัยเป็นชีวิตจิตใจ รักการต่อสู้ การก่อร่างสร้างตัวด้วยหยาดเหงื่ออย่างลูกผู้ชาย ด้วยเหตุนี้การที่เขาอพยพครอบครัวไปทำไร่ถั่วเหลืองอยู่ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในพ.ศ. 2480นั้นจึงเป็นสิ่งปกติธรรมดาในสายตาของมิตรสหายที่เข้าใจธรรมชาติของมาลัย ชูพินิจเป็นอย่างดี
ในขณะที่ทำไร่ถั่วเหลืองอยู่นั้น มาลัย ชูพินิจได้ใช้เวลาว่างจากการทำไร่ เขียนหนังสือมาลงที่ประชาชาติรายสัปดาห์อยู่เป็นประจำ โดยได้รับค่าเขียนพิเศษอยู่ที่เดือนละ 50 บาท นอกจากที่ประชาชาติแล้ว เขายังเขียนส่งให้ประชามิตร ซึ่งนายสนิท เจริญรัฐ , นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ และนายสด กูรมะโรหิต จัดตั้งขึ้นใหม่โดยได้รับเงินอีกเดือนละ 70 บาท ด้วยเงินสองจำนวนนี้ มาลัย ชูพินิจคิดว่า เขาจะครองชีวิตอยู่ที่ไร่ถั่วเหลืองของเขาต่อไปได้อย่างสบาย เขาวาดแผนการไว้ว่า เขาจะสร้างนวนิยายเรื่องใหม่ของเขาที่นี่ ตั้งใจจะให้เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดและดีที่สุด มาลัย ชูพินิจทำงานอยู่ที่ประชามิตรจนถึงพ.ศ.2486 ก็ลาออกเนื่องจากสุขภาพไม่สมบูรณ์ ประกอบกับเวลานั้นประเทศไทยอยู่ในภาวะสงครามติดต่อมาตั้งแต่ประเทศญี่ปุ่นประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ทำให้เศรษฐกิจของไทยตกต่ำ เครื่องอุปโภคบริโภคทั้งหลายมีราคาสูง สิ่งที่กระทบกระเทือนต่อวงการหนังสือพิมพ์และการประพันธ์ของไทยเป็นอย่างมากก็คืออุปกรณ์การพิมพ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระดาษพิมพ์หาซื้อได้ยากและราคาแพง เนื่องจากต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ สิ่งพิมพ์ทุกประเภทต้องพิมพ์ด้วยกระดาษซึ่งผลิตในประเทศไทยและมีคุณภาพต่ำ หนังสือพิมพ์หลายฉบับประสบกับความขาดทุนและขาดแคลนกระดาษจนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ต้องเลิกพิมพ์จำหน่ายไปหลายฉบับ มาลัย ชูพินิจ ได้รับเชิญเข้าร่วมก่อตั้งบริษัทไทยพณิชยการยุคใหม่ ในฐานะที่ปรึกษา และหุ้นส่วนของบริษัทฯ พร้อมกับนายธนวนต์ จาตุประยูร ซึ่งอารีย์ ลีวีระ ถือว่าทั้งสองคนคือพลังร่วมในการทำงานหนังสือพิมพ์ของเขา บริษัทไทยพณิชยการจำกัดในยุคที่ อารีย์ ลีวีระ ,มาลัย ชูพินิจ และธนวนต์ จาตุประยูร ร่วมดำเนินงานด้วยกันนั้นได้เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและเป็นผู้นำในการพัฒนากิจการหนังสือพิมพ์รายวันแห่งยุค เริ่มด้วยการปรับปรุงให้หนังสือพิมพ์รายวันสยามนิกรเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของประเทศไทยที่เสนอข่าวต่างประเทศถึง 30% ของเนื้อหาทั้งหมดในฉบับทั้งนี้โดยตระหนักดีว่า ต่อไปในอนาคตโลกจะแคบเข้าทุกวัน หนังสือพิมพ์จึงควรจะลงข่าวต่างประเทศ เพื่อความรอบรู้ของประชาชนให้มากขึ้น มาลัย ชูพินิจ ทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาของหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย และพร้อมกันนั้นก็เป็นนักเขียนประจำของบริษัท ไทยพณิชยการ จำกัดด้วย การทำงานของเขามีขอบเขตกว้างขวางมาก เริ่มตั้งแต่การควบคุมนโยบายของหนังสือพิมพ์ให้เป็นไปตามหลักการที่บริษัทฯได้วางไว้ การตรวจรูปเล่มและความเรียบร้อยของหนังสือก่อนขึ้นแท่น โดยเฉพาะหน้า 1 จะต้องผ่านการตรวจของเขาอย่างรอบคอบ มาลัย ชูพินิจเขียนบทนำ ซึ่งเป็นบทบรรณาธิการโดยสับเปลี่ยนกับบุศย์ สิมะเสถียรและคนอื่นๆ เขียนคอลัมน์ประจำ เช่น ระหว่างบันทึก , ป.ล. , คอลัมน์วิจารณ์หนังสือ , โทรทัศน์และข่าวกีฬา , สารคดี , นวนิยายและเรื่องสั้น โดยใช้นามปากกาต่างๆกัน ได้แก่ ม.ชูพินิจ , นายฉันทนา , น้อย อินทนนท์ , สมิงกะหร่อง , เรไร, ผุสดี เป็นต้น ซึ่งงานประเภทต่างๆนี้ มาลัย ชูพินิจ สมารถเขียนได้วันต่อวันซึ่งนับว่าเป็นอัจฉริยะอย่างยิ่ง ยากที่จะหาผู้ใดทัดเทียมได้ มาลัย ชูพินิจใช้ชีวิตนักหนังสือพิมพ์และนักประพันธ์ของเขาอยู่ที่บริษัทไทยพณิชยการจำกัด เป็นเวลายาวนานถึง 17 ปี นับแต่พ.ศ.2489 จนถึง พ.ศ.2506
บุคลิกลักษณะและอุปนิสัย โดยลักษณะภายนอก มาลัย ชูพินิจ เป็นคนที่มีรูปร่างโปร่งบาง กิริยาท่าทางนุ่มนวล สุภาพอ่อนโยนและสงบเสงี่ยม ไม่ค่อยเอาใจใส่ในร่างกายและการแต่งกายนัก เป็นคนพูดเพราะ มีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสเสมอ ไม่เคยแสดงความรู้สึกไม่พอใจหรืออารมณ์ไม่ดีใดๆออกทางสีหน้าเลย จัดว่าเป็นบุคคลที่ควบคุมอารมณ์ได้ดีเยี่ยมผู้หนึ่ง บุคลิกลักษณะพิเศษที่เจตนาและอยู่ในความทรงจำของผู้ที่ได้รู้จักทุกคน คือ ผมที่ปรกหน้าและริมฝีปากที่คาบบุหรี่อยู่เป็นนิจ ส่วนลักษณะภายในของมาลัย ชูพินิจนั้น เป็นลักษณะที่มีความขัดแย้งอยู่ในตัวเอง เขาเป็นคนเปิดเผยแต่ค่อนข้างขี้อาย เป็นคนอ่อนหวานและสะเทือนใจง่าย ในขณะที่เป็นคนแข็งแรง ทรหดอดทนอย่างหาตัวจับได้ยากและมีการตัดสินใจที่เด็ดขาด เขาเป็นคนยึดมั่นในสิ่งที่ตนเชื่อถือ แต่ไม่ใช่คนที่ถือว่าความคิดเห็นของตนถูกต้องเสมอไป มักจะฟังความคิดเห็นของคนอื่นอยู่เสมอ เมื่อถึงเวลาจะต้องวินิจฉัยตกลงใจในปัญหาใดๆก็มักจะไม่ถือความเห็นของตนเป็นที่ตั้ง เขาเป็นคนหยิ่งและถือตัวในแง่ของนักต่อสู้และผู้ที่มีความมานะบากบั่นสร้างตนเอง เขาถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาได้มาจะต้องได้มาจากการกระทำของเขาเอง และต้องได้อย่างสมบูรณ์ มาลัย ชูพินิจเป็นคนซื่อ จิตใจบริสุทธ์และน้ำใจประเสริฐอย่างยิ่ง เขาเป็นคนอารมณ์เย็น สุขุม ไม่ค่อยจะขุ่นเคืองใครง่ายๆ กับมิตรสหาย เขาเป็นคนโอบอ้อมอารีไม่เอารัดเอาเปรียบเพื่อนฝูง คุณสมบัติข้อหนึ่งซึ่งรู้จักกันดีในหมู่คณะที่เคยรู้จักกันมาก็คือ เขามีความสามารถเป็นพิเศษในด้านการประสานรอยร้าวฉานและสร้างความสามัคคีแก่หมู่คณะ เมื่อมีกรณีที่แตกร้าวกันขึ้นแล้ว มาลัย ชูพินิจมักจะเป็นผู้เข้าไปไกล่เกลี่ยและประสานรอยร้าวได้เป็นอย่างดี โดยการพูดด้วยน้ำเสียงเนิบๆและชักเหตุผลต่างๆให้ฟัง แม้ว่าผู้นั้นจะโกรธเคืองกันอย่างไรก็ตาม แต่เมื่อได้พบกับมาลัย ชูพินิจแล้ว ก็กลับหายโกรธกันได้ มาลัย ชูพินิจได้ชื่อว่าเป็นมิตรที่ดีของเพื่อนในยามยาก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ในสมัยที่ทำหนังสือพิมพ์ประชามิตรอยู่นั้น ครั้งหนึ่งตำรวจสันนิบาลได้เข้ามาตรวจค้นโรงพิมพ์และจับนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ไปขังไว้ที่สถานีตำรวจพระราชวังด้วยข้อหาทางการเมือง ขณะนั้นมาลัย ชูพินิจก็หายหน้าไป เพื่อนหลายคนคิดว่าเขาอาจกลัวเป็นปลาติดร่างแหไปด้วย แต่แท้ที่จริงแล้วเขาไปขอความช่วยเหลือจากท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ซึ่งเคยรู้จักกันมาตั้งแต่ครั้งไปเช่าบ้านอยู่ที่แพร่งสรรพศาสตร์ซอยเดียวกัน สมัยที่จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ยังเป็นร้อยโททหารปืนใหญ่อยู่ ท่านผู้หญิงฯก็รับปากจะช่วย และในที่สุดนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ก็ได้รับอิสรภาพ กับผู้ใต้บังคับบัญชา มาลัย ชูพินิจ ปกครองเขาเหล่านั้นด้วยความเห็นอกเห็นใจและเมตตาปราณี พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นทางด้านกำลัง , ความคิดหรือการเงิน ไม่ว่าจะเป็นงานในหน้าที่หรือเรื่องส่วนตัว ครอบครัว มาลัย ชูพินิจ สมรสกับนางสาวสงวน จันทร์สิงห์ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2479 ทั้งสองได้พบและรู้จักกันเมื่อครั้งมาลัย ชูพินิจเป็นครูสอนพิเศษวิชาภาษาอังกฤษอยู่ที่โรงเรียนรวมการสอนและนางสาวสงวน จันทร์สิงห์ไปเรียนพิเศษอยู่ที่นั่น มาลัย ชูพินิจ มีบุตรและธิดารวม 5 คน คือ
1. นายสุคต ชูพินิจ | นิติศาสตร์บัณฑิต | มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ |
2. นายกิตติ ชูพินิจ | รัฐศาสตร์บัณฑิต | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
3. นางขนิษฐา ณ บางช้าง | ศิลปบัณฑิต(โบราณคดี) | มหาวิทยาลัยศิลปากร |
4. นางสาวโสมนัส ชูพินิจ | อักษรศาสตร์บัณฑิต | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย |
5. นางสาวสมาพร ชูพินิจ | คณะศิลปศาสตร์ | มหาวิทยาลัยรามคำแหง |
ชีวิตครอบครัวของมาลัย ชูพินิจเป็นชีวิตที่สงบ ราบรื่นและมีความสุข แม้จะมีงานในตำแหน่งหน้าที่ต่างๆเป็นอันมาก แต่มาลัย ชูพินิจก็สามารถแบ่งเวลาสำหรับครอบครัวได้เสมอ เขาเป็นพ่อที่ลูกจะเข้าไปหาเพื่อปรึกษาและขอคำแนะนำได้ทุกเวลาและทุกกรณี ครอบครัวของมาลัย ชูพินิจ เป็นครอบครัวแบบไทยแท้คือพ่อบ้านเป็นผู้รับผิดชอบทางการเงินและงานอาชีพของตนเท่านั้น ส่วนความเป็นอยู่ของครอบครัวเป็นภาระหน้าที่ของภรรยาซึ่งมิได้ทำงานนอกบ้าน ลักณะแบบไทยแท้ของครอบครัวนี้อีกอย่างหนึ่งคือการมีบุคคลอื่นอีกหลายคนเข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกัน โดยมีที่พักอาศัยอยู่ต่างหากจากบุคคลในครอบครัว บุคคลเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นญาติของนางสงวน ชูพินิจ ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดภาคใต้และเข้ามาศึกษาต่อในกรุงเทพมหานคร บางคนเป็นเพียงคนรู้จักและได้คุ้นเคยกันต่อมา บางคนเป็นมิตรสหายของบุตรชายหญิง ทั้งหมดนี้อยู่ในความรับผิดชอบของนางสงวน ชูพินิจ ซึ่งจะต้องดูแลให้ความสะดวกสบายในเรื่องความเป็นอยู่และควบคุมในด้านการเรียนและความประพฤติ ผู้ที่อยู่ในความอุปการะของมาลัย ชูพินิจนี้ นอกจากนักเรียน นิสิต นักศึกษาแล้ว ยังมีบุคคลที่มีงานทำเป็นหลักแล้วและบ้างที่มีครอบครัวเป็นของตนแล้วพักอาศัยอยู่ด้วย วิธีทำงาน เนื่องจากมาลัย ชูพินิจเป็นผู้ชอบดำเนินชีวิตอย่างง่ายๆ ไม่มีพิธีการหรือแบบแผนใด ๆ การทำงานของเขาจึงมีลักษณะเดียวกัน แม้จะมีผลงานเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ปรากฏว่า เขาต้องทำงานอย่างคร่ำเคร่งในที่ทำงาน ซึ่งคงจะเป็นเพราะความเป็นผู้มีสมาธิอย่างดีเลิศในการทำงาน แม้จะนั่งเขียนอยู่ท่ามกลางเสียงดังสนั่นของแท่นพิมพ์ เสียงพัดลม เสียงรถกลางถนนวิ่งจอแจ เสียงคนตะโกนคุยกันโหวกเหวกก็ตาม มาลัย ชูพินิจ ชอบนั่งรวมกลุ่มกับเพื่อนร่วมงาน ไม่เคยมีห้องทำงานส่วนตัว ไม่ว่าจะมีตำแหน่งหน้าที่สูงเพียงใดในสำนักงาน ชอบปล่อยตัวตามสบาย เขียนไปคุยไป ไม่ค่อยหยุดเขียนเพื่อค้นคว้าหรืออ่านหนังสือเหมือนเช่นอยู่ที่บ้าน มาลัย ชูพินิจ มีพลังความคิดและจินตนาการที่หลั่งไหลอย่างไม่มีหยุดยั้ง เขาสามารถเขียนหนังสือได้ติดต่อกันไปจนจบโดยไม่ต้องหยุดคิดหรือหมดอารมณ์ที่จะเขียนใดๆทั้งสิ้น มีความกระตือรือร้นในการทำงานอยู่เสมอและมักนิยมปฏิบัติงานด้วยตัวเองมากกว่าการออกคำสั่งให้ผู้อื่นทำ มาลัย ชูพินิจ เขียนหนังสือได้รวดเร็วมาก เขาสามารถเขียนเรื่องข้อคิดในตอนเช้า ติดตามด้วยบทวิจารณ์การเมือง ต่อด้วยหมัดๆมวยๆ แถมนวนิยาย แล้วตามด้วยเรื่องดอกไม้ เรื่องสมรส ฯลฯ ในตอนบ่าย ทั้งหมดนี้สามารถจะเขียนได้ในวันเดียว ต้นฉบับของเขาเขียนด้วยลายมือตัวเล็กๆถี่ยิบ เรียงเป็นระเบียบตัวหนังสือขนาดหนึ่งหน้ากระดาษของเขาจะเท่ากับสามหรือสี่หน้าของนักเขียนทั่วๆไป ถึงแม้จะมีงานประเภทต่างๆให้ทำเป็นประจำวัน วันละหลายๆชิ้นก็ตาม แต่มาลัย ชูพินิจก็สามารถผลิตงานเขียนของเขาออกมาได้อย่างประณีตและไม่มีความสับสน ทั้งนี้ เขาเปิดเผยวิธีการทำงานว่า เคล็ดลับของการทำงานของเขานั้น อยู่ที่การบังคับสมองมิให้วุ่นวาย เขียนเรื่องใด ทุ่มเทสมองให้เรื่องนั้น พอเขียนได้ตามที่ต้องการก็เปลี่ยนไปเขียนเรื่องอื่น โดยลืมเรื่องที่เขียนมาหยกๆให้หมด เมื่อทำได้เช่นนี้ เราก็เหมือนมีชีวิตใหม่สำหรับเขียนเรื่องใหม่อยู่เรื่อย งานอดิเรก แม้จะได้ชื่อว่า เป็นผู้ที่อุทิศเวลาเกือบทั้งหมดให้กับงาน แต่มาลัย ชูพินิจก็สามารถเจียดเวลาเพื่องานอดิเรกและสิ่งที่เขาสนใจเป็นพิเศษได้ งานอดิเรกของเขามีเป็นจำนวนมาก ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความสัมพันธ์กับงานประจำของเขาทั้งสิ้น ได้แก่ การอ่านหนังสือ , การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ , กีฬามวย , การเลี้ยงกล้วยไม้ และการเล่นดนตรี เป็นต้น ถึงแก่กรรม มาลัย ชูพินิจ เป็นผู้ที่ทำงานหนักมาตลอดชีวิต โดยมิได้คำนึงถึงสุขภาพของตนเอง แม้กระนั้นเขาก็ยังคงเป็นผู้มีสุขภาพดีและแข็งแรงอยู่เสมอ จนกระทั่งประมาณต้นปี 2506 สุขภาพเขาเริ่มทรุดโทรมลง มีอาการเจ็บป่วยบ่อย ๆ แต่ก็ยังคงทำงานในหน้าที่ของเขาต่อไปโดยไม่หยุดยั้ง ประมาณเดือนกรกฎาคม 2506 ก่อนหน้าที่จะเดินทางไปสำรวจความขาดแคลนของนักเรียนในภาคเหนือ ตามโครงการของมูลนิธิช่วยนักเรียนที่ขาดแคลนในพระบรมราชินูปถัมภ์ ซึ่งเขาเป็นกรรมการอยู่ เขาก็ล้มเจ็บลง แต่ยังไม่ทันที่จะหายเขาก็ได้เดินทางไปภาคเหนือตามโครงการนั้น ๆ จนเสร็จสิ้นภาระ จึงเดินทางกลับกรุงเทพฯและล้มเจ็บอีกครั้งหนึ่ง จนต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จากการตรวจรักษาของแพทย์ปรากฏว่า เขาเป็นมะเร็งที่ปอดขั้นร้ายแรง มาลัย ชูพินิจถึงแก่กรรม ณ ห้อง 22 ตึกปัญจราชินี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2502 เวลา 17.45 น.
ข้อมูลการสำรวจ[แก้ไข]
วันเดือนปีที่สำรวจ[แก้ไข]
วันที่ 25 กันยายน 2562
ผู้สำรวจ[แก้ไข]
ผศ.ดร.พธูรำไพ ประภัสสร นางสาวภัทราพร ชูทอง
คำสำคัญ (tag)[แก้ไข]
ครูมาลัย ชูพินิจ, นักประพันธ์ชาวกำแพงเพชรผู้สร้างสรรค์