ฐานข้อมูล เรื่อง ศาลเจ้าปึงเถ่ากง-ม่า (ศาลเจ้าพ่อเสือ)

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

ข้อมูลทั่วไป[แก้ไข]

ชื่อเรียก[แก้ไข]

         ศาลเจ้าปึงเถ่ากง-ม่า (ศาลเจ้าพ่อเสือ)

ศาสนา[แก้ไข]

         จีน

ที่ตั้ง[แก้ไข]

         115 วิจิตร 2 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร 62000

ที่ตั้งพิกัดทางภูมิศาสตร์[แก้ไข]

         16.46889,99.52822

หน่วยงานที่ดูแลรักษา[แก้ไข]

         คณะกรรมการศาลเจ้าพ่อเสือ

สถานการณ์ขึ้นทะเบียน[แก้ไข]

         อยู่ในระหว่างการดำเนินงานการขึ้นทะเบียน

วันเดือนปีก่อสร้าง[แก้ไข]

         เปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2556

ข้อมูลจำเพาะ[แก้ไข]

ประวัติความเป็นมา คำบอกเล่า ตำนาน[แก้ไข]

         ในอดีตกาลประมาณ 150 ปี ต้นสมัยแผ่นดินพระนั่งเกล้า ฯ รัชกาลที่ 3 กล่าวถึงวัดมหรรณพาราม เพราะเกี่ยวโยงกับประวัติเจ้าพ่อเสือ วัดมหรรณพ์ สร้างเมื่อสมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ผู้สร้างคือ กรมหมื่นอุดมรัตนราษี (พระองค์เจ้าอรรณพพระราชโอรสในสมเด็จพระนั่งเกล้า) สถานที่สร้างวัดยังเป็นป่า บริเวณหลังวัดมหรรณพ์ยังมีสัตว์อาศัยอยู่คือ เสือปลา เสือบอง อีเห็น กระต่าย งูเหลือม งูหลาม เป็นต้น มีหมู่บ้านเล็ก ๆ อยู่แห่งหนึ่ง โดยมากมีฐานะยากจน ยายผ่องกับนายสอนลูกชาย อยู่ด้วยกันเพียงสองคนแม่ลูกเท่านั้น นายสอนเป็นลูกที่มีความกตัญญูต่อแม่บังเกิดเกล้ายิ่งนัก สองชีวิตต้องทนอยู่กับความยากลำบาก ต้องผจญชีวิตกับอาชีพที่ไม่เป็นแก่นสารแบบหาเช้ากินค่ำ นายสอนลูกชายยายผ่องเป็นไข้มา 6-7 วัน เมื่ออาการค่อนข้างทุเลาบ้างแล้วก็เตรียมตัวจะเข้าป่าเพื่อหาหน่อไม้ เก็บผักหักฟืนตามเคย ถึงตัวจะลำบากยากเข็ญอย่างไร ก็ไม่ท้อถอย ตนก็เอาหาบขึ้นบ่าพร้อมทั้งมีดกับเสียมออกจากเรือนเข้าป่าทันที ชะตาร้ายกำลังเดินตามหลังนายสอนมาทุกย่างก้าว สถานที่เคยมีผักมีหน่อไม้มีฟืนก็ไม่มีเลย คิดว่าพรุ่งนี้จะต้องตัดไม้เผาถ่าน เมื่อเดินกลับมาเห็นกวางตัวหนึ่งนอตายอยู่ เพิ่งตายใหม่ ๆ ยังไม่เน่า แกคิดด้วยเชาว์ไวว่า กำลังตกอยู่ในระหว่างอันตรายแล้ว เพราะกวางนี้ถูกเสือกัดตายกินเนื้อยังไม่หมด มันต้องพักอยู่ในบริเวณใกล้ ๆ เจ้ากวางตัวนี้แน่ แต่อยากจะได้เนื้อเอาไปฝากแม่สักก้อนหนึ่ง เมื่อคิดดังนั้นแล้วก็ตัดความกลัวออกไป ตรงเข้าไปเอามีดเฉือนเนื้อโคนขาไปสองก้อน เอาใบบอนห่อแล้วเอาผ้าขาวม้าห่ออีกชั้นแล้วเอาคาดสะเอว รีบฉวยหาบขึ้นบ่าเดินเลาะไปตามริมหนองเพื่อเก็บสายบัว ทันใดนั้นนายสอนต้องสะดุ้งสุดตัว เพราะเจอเข้ากับเสือใหญ่อย่างจัง เมื่อมันเห็นนายสอนยืนอยู่ใกล้หนองน้ำ นายสอนเห็นดังนั้น ก็ชักมีดเหน็บปลายแหลมออกเตรียมป้องกันตัว จะหนีก็ไม่พ้น จำใจต้องสู้แม้จะตายก็ไม่เสียดายชีวิต เป็นห่วงแต่แม่คนเดียวเท่านั้น
           เจ้าเสือเห็นได้จังหวะก็เผ่นเข้ากัดทันที นายสอนก็เอี้ยวตัวเอามีดแทงถูกที่ต้นคอ เจ้าเสือยิ่งโกรธจัดเพราะถูกแทงจนเลือดสาด มันเผ่นเข้าใส่อย่างบ้าเลือด นายสอนหลบไม่ทัน จึงจ้วงแทงไปตรงหน้าเสือ ถูกที่แสกหน้าอย่างจัง เจ้าเสือถูกแทงถึงสองแผลแล้ว มันก็แผดเสียงลั่นด้วยโทสะของมัน แล้วก็เผ่นเข้าใส่นายสอนอย่างรวดเร็ว ไหนจะทานกำลังของมันได้ จึงเสียทีถูกมันฟัดอย่างเต็มที่ แล้วก็ฟัดเหวี่ยงเต็มที่ จนแขนขาดติดอยู่ที่ปากของมัน นายสอนเห็นเช่นนั้นก็ลุกวิ่งโดดลงไปในหนองแล้วดำน้ำหนีไปอยู่กลางหนอง เจ้าเสือก็ออกวิ่งตามไป เมื่อมันเห็นว่าจะทำอะไรนายสอนไม่ได้ มันก็กลับเอาแขนของนายสอนกินจนเกลี้ยง แล้วก็บ่ายหน้าเดินตรงไปที่ซากกวางของมันอีกครั้ง เมื่อนายสอนเห็นเสือไปนานแล้ว แน่ใจว่ามันคงไม่กลับมาอีก จึงขึ้นจากหนองน้ำหาทางลัดรีบกลับบ้าน ประมาณสองยามก็ถึงบ้านแต่อาการหนักมาก นายสอนนอนสลบอยู่แถว ๆ รั้วบ้านของตนเองยายแผ้วเป็นน้องของยายผ่องเป็นห่วงพี่สาวของตน เพราะยายผ่องร้องไห้ไม่หยุดเป็นลมหลายครั้ง 
         วันรุ่งขึ้นเช้ามืด ยายแผ้วเตรียมต้มข้าวต้มเสร็จแล้วก็ออกจากบ้านเอาไปให้พี่สาวของตนกิน เมื่อจวนจะถึงประตูรั้ว เห็นคนนอนตะแคง มีเลือดเกรอะกรังไปทั้งตัวก้มลงมองดูหน้า จำได้ว่าเป็นนายสอนหลานของแก จึงรีบเข้ารั้วขึ้นเรือน ตะโกนบอกยายผ่องว่า สอนกลับมาแล้วแต่นอนสลบอยู่นอกรั้ว ยายผ่องได้ยินว่า ลูกกลับมาแล้ว แกก็ลุกจากที่นอนรีบเดินไปหาลูกทันที ยายแผ้วก็เรียกชาวบ้านให้ช่วยกันหามนายสอนขึ้นบนเรือนแล้วให้หลานชายไปตามหมอคล้ายมาบำบัดปัดรังควานโดยเร็ว ประมาณครึ่งชั่วโมงนายสอนก็ฟื้น เบื้องต้นนายสอนก็แก้ผ้าขาวม้าออกจากสะเอวแล้วส่งให้ยายผ่อง บอกให้แม่เอาเนื้อกวางไป แม่เฒ่าถามว่า ได้เนื้อมาจากไหน นายสอนก็เล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตนจนละเอียด อีกสองชั่วโมงต่อมานายสอนก็ถึงแก่ความตายยายผ่องเป็นหญิงชราอนาถาไร้ที่พึ่ง แกก็ต้องดิ้นรนหาทางช่วยชีวิต ตามแบบและสติปัญญาของแก
         คุณยายได้ไปที่ว่าการอำเภอขอร้องนายอำเภอให้จับเสือมาลงโทษให้ได้ นายอำเภอแสงผู้พิทักษ์มวลชนได้ยินยายผ่องขอให้จับเสือมาทำโทษแทนลูกของแกก็นึกแปลกใจ ตั้งแต่เป็นนายอำเภอมาหลายปี ยังไม่เคยเจอกับคดีเช่นนี้ เมื่อนายอำเภอเห็นว่า แกพูดถูกและสงสารแกมาก จึงรับปากว่าจะจับเสือมาทำโทษให้ตามความประสงค์ แล้วให้คนไปตามปลัดโต ซึ่งมีความรู้ความสามารถและปฏิบัติหน้าที่ดีที่สุดมาหาทันที เมื่อปลัดโตไปหานายอำเภอก็แจ้งเรื่องให้ทราบ ปลัดโตก็รับปากทันที สามวันผ่านไป ขบวนล่าเสือของนายปลัดโตออกตะลุยป่าหลายทิศหลายทางถึงจะมีคนมากก็ตาม เมื่อปลัดโตประกาศว่าจะล่าเสือ ก็ขันอาสาเข้าร่วมขบวนตะลุยพยัคฆ์ร้ายกันมาก เริ่มวันที่สี่ก็ยังไม่ได้วี่แววหรือร่องรอยเลย เป็นอันว่าปลัดโตต้องประชุมพรรคพวกกันอีกครั้ง ตกลงที่ประชุมให้ยกขบวนกลับเสียก่อน เมื่อพรรคพวกพากันกลับแล้ว ปลัดโตเท่านั้นที่ยังไม่ยอมกลับบ้าน ได้แวะไปนมัสการหลวงพ่อบุญฤทธิ์ในพระอุโบสถ และนมัสการหลวงพ่อพระร่วงในพระวิหาร วัดมหรรณพาราม อ้อนวอนหลวงพ่อทั้งสองพระองค์ ขอให้ทรงช่วยดลบันดาลจับเสือร้ายให้ได้ การจับก็ขอรับรองว่าจะไม่ฆ่าเสือเป็นอันขาด ถึงแม้เสือจะทำร้ายก็ตาม ขอให้หลวงพ่อพระร่วงทรงช่วยกล่อมใจเสือร้าย ให้กลายเป็นเสือเลี้ยงให้ได้ ถ้าจับลูกเสือไม่ได้คราวนี้ลูกต้องลาออกจากตำแหน่งราชการทันที เมื่อนายปลัดโตได้กล่าวคำพรรณนาให้หลวงพ่อฟังจนหมดสิ้นแล้ว ก็กราบนมัสการลาหลวงพ่อออกจากพระวิหาร แทนที่จะกลับไปอำเภอเพื่อรายงานเสียก่อนแต่กลับเดินอ้อมไปทางหลังวัด ถึงต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งก็นั่งพักนั่งคิดอยู่สักพักหนึ่งก็หลับไปครั้นลืมตาตื่นขึ้นต้องสะดุ้งตกใจแทบขาดใจ เห็นเสือนอนหมอบอยู่ตรงหน้า คิดจะหนีก็หนีไม่พ้นคิดจะสู้ก็สู้ไม่ไหว เพราะเอาปืนพิงไว้กับต้นไม้ มีดก็วางไว้ห่างตัว จะลุกขึ้นเอาปืนยิงก็กลัวไม่ทันเสือ ได้แต่นั่งนึกภาวนาถึงหลวงพ่อพระร่วงขอให้ช่วยชีวิต และขอให้ทรงช่วยเปลี่ยนใจเสือให้กลับเป็นใจคน ให้รู้สึกผิดชอบชั่วดีให้จับเสือได้ง่าย ๆ เหมือนจับลูกแมว เสร็จอธิษฐานแล้วเห็นอาการของเสือไม่มีร่องรอยแห่งความดุร้ายเหลืออยู่เลย มันทำตาริบหรี่คล้ายกลับยอมให้จับโดยดี
         ปลัดแกล้งขู่สำทับว่า เจ้าเสือร้ายเจ้าฆ่านายสอนใช่หรือไม่? เสือพยักหน้ารับว่าจริงปลัดโตก็ว่า เจ้าเป็นตัวจริงแน่หรือ? เสือก็ก้มหัวให้ดูแผลที่ถูกนายสอนแทงที่หน้าผากแผลยังไม่หายมีรอยเลือดเกรอะกรังติดอยู่ที่หน้า ที่ต้นคอ ปลัดก็แน่ใจว่าเป็นตัวจริง เพราะรู้ว่านายสอนแทงเสือถูกที่หน้าผากกับต้นคอ ปลัดก็เอาเชือกผูกคอเสือแล้วจูงเสือไปที่ว่าการอำเภอ เมื่อถึงอำเภอก็ผูกเสือไว้กับเสา แล้วเข้าไปบอกนายอำเภอ นายอำเภอแสงตกใจร้องบอกให้ช่วยกันปิดประตูอย่าให้มันเข้ามาได้ ปลัดบอกว่ามันไม่ดุ ไม่กัดใคร ๆ ทั้งนั้น เมื่อนายอำเภอแน่ใจแล้วปลัดก็จูงเข้าไปที่ว่าการ แล้วสั่งให้ไปตามยายผ่องทันที นายอำเภอก็เริ่มพิจารณาคดี พูดเสียงดังถามเสือว่าเจ้าฆ่านายสอนตาย แล้วเอาแขนไปกินข้างหนึ่งจริงหรือไม่ เสือก็พยักหน้ารับว่าจริง เจ้ารู้ไหมว่าอาญาแผ่นดินตราเป็นกฎมายไว้สำหรับลงโทษผู้กระทำผิด เสือก็ก้มหัวรับรู้ นายอำเภอบอกว่า เจ้าจงฟังคำตัดสินเดี๋ยวนี้ เมื่อตัดสินต้องยอมรับโทษทันที เสือก้มหัวยอมรับ นายอำเภอก็แจ้งโทษให้ฟัง แล้วตัดสินประหารชีวิตทันที เสือก็ก้มหัวยอมรับโทษตามคำตัดสิน ลงนอนหมอบราบกับพื้นหลับตาเฉย แต่มีน้ำตาไหลซึม นายอำเภอ ปลัดโต และใคร ๆ ที่ยืนมุงดูอยู่แน่นอำเภอ เมื่อเห็นอาการของเสือเช่นนั้น ต่างก็สงสารบางคนน้ำตาไหล ไม่มีใครสักคนที่จะโกรธแค้นเสือ มีแต่สงสารไม่อยากให้นายอำเภอฆ่า เพราะมันแสดงอาการแสนที่จะสงสาร
         ฝ่ายยายผ่องเมื่อฟังคำพิพากษาตัดสินประหารชีวิตเสือ ได้เห็นอาการของมันทุกอย่าง และเห็นมันหมอบลงรับคำตัดสิน พร้อมกับเห็นน้ำตาไหลซึม อาการที่เคยโกรธเสือมาก่อน ก็พลันหายไปจนหมดสิ้น ยายผ่องร้องไห้แล้วพูดกับนายอำเภอว่า ขอชีวิตเสือไว้เถิดอย่าได้ฆ่ามันเลย ฉันไม่ขอเอาเรื่องโกรธแค้นกับมันอีกต่อไปแล้ว และขอให้นายอำเภอยกเสือตัวนี้ให้เป็นลูกของฉัน แทนลูกที่ตายไปแล้ว นายอำเภอแสงกับปลัดโต ซึ่งมีความสงสารมันเหมือนกับคนอื่น ๆ เมื่อได้ฟังคำขอร้องของยายผ่องเช่นนั้นก็รีบฉวยโอกาสตัดสินใหม่ทันที บอกกับเสือว่า จงฟังคำตัดสินใหม่ เสือก็ผงกหัวยอมรับฟัง นายอำเภอตัดสินว่า เมื่อเจ้ายอมรับผิดโดนดีแล้ว ก็ยกโทษประหารให้ แต่เจ้าต้องเป็นลูกของยายผ่อง และต้องรับเลี้ยงดูแกแทนลูกชายที่ตายไป เสือก็ลุกขึ้นยืน พร้อมกับพยักหน้าอยู่หลายครั้ง เมื่อเสร็จสิ้นการชำระคดีแปลกประหลาดแล้ว นายอำเภอก็สั่งปิดศาลทันที ตั้งแต่ยายผ่องได้เสือมาเป็นลูกแทนนายสอนแล้ว ก็มีความสุขยิ่งกว่าเดิมหลายเท่า เพราะเสือมิได้อยู่เฉย ๆ เข้าป่าหาอาหาร กัดเอาหมูบ้าง เอาเก้งบ้าง กวางบ้าง และจับสัตว์อื่น ๆ บ้าง เอามาให้ที่รักของมันอยู่เป็นนิจ แกก็แล่เนื้อกินบ้าง เอาเนื้อสดเนื้อแห้งขายชาวบ้านร้านค้าบ้างมิได้ขาด ยายผ่องตั้งชื่อเสือว่าสอนแทนลูกที่ตาย ในละแวกบ้านย่านนั้นไม่มีขโมยเลย แต่ก่อนหน้าเสือมาอยู่ ข้าวของเป็ดไก่ ไร่ผักมักจะหายกันบ่อย ๆ ถ้าวันไหนคืนไหนเสือไม่เข้าป่า มันจะส่งเสียงร้องคำรามดังไปไกล ทำให้เกิดความหวาดกลัวแก่เจ้าพวกหัวขโมยไม่กล้าย่างกรายเข้าไป ชาวบ้านร้านตลาดพลอยอยู่เย็นเป็นสุขไปด้วย วันหนึ่งเสือเข้าป่าแล้วหายไปถึงสามวันยังไม่กลับ ทำให้ยายร้องไห้คิดถึงไม่เป็นอันกินอันนอน ความทราบไปถึงนายอำเภอกับปลัด ทั้งสองคนรีบมาเยี่ยมทันที นายอำเภอขอให้ปลัดช่วยตามเสืออีกครั้งเพื่อช่วยชีวิตยาย ปลัดโตก็ออกเดินทางไปเพียงคนเดียว เพราะถือว่าไม่มีอันตรายใด ๆ จากสัตว์ แล้วไปพบคนกลุ่มหนึ่งกำลังล่าสัตว์อยู่ในป่า ปลัดโตเห็นคนกลุ่มนั้นก็จำได้ว่าเป็นพวกเดียวกันทั้งนั้น ต่างก็สนทนากันอยู่สักพักหนึ่ง ชายกลุ่มนั้นถามปลัดโตว่ามาทำไมในป่าคนเดียว ปลัดตอบว่ามาตามเสือ ชายกลุ่มนั้นบอกว่าพวกเขากำลังไล่ล้อมยิงเสืออยู่เหมือนกัน ปลัดถามว่าเสือมีลักษณะอย่างไร เมื่อได้รับคำตอบแล้ว ปลัดบอกว่าเป็นเสือตัวเดียวกันกับที่ตนกำลังตามหาและขอร้องมิให้ยิง ชายกลุ่มนั้นบอกว่าตามล่ามันมาสามวันแล้ว เพราะเสือตัวนี้ดุร้ายมาก เป็นอันว่าชายกลุ่มนั้นรับคำว่าไม่ล่าเสือตัวนี้อีก อีกสักครู่หนึ่งเขาเหล่านั้นเห็นเสือวิ่งลัดพุ่มไม้อยู่ข้างหน้า ปลัดก็ออกตามตะโกนเรียกชื่อมันอย่างดัง บอกกับเสือว่าให้รีบกลับบ้านโดยเร็ว เพราะยายผ่องเสียใจมากกำลังรออยู่ที่บ้านไม่ต้องกลัวใครยิงอีกแล้ว สักครู่ใหญ่เสือก็มาถึงตรงไปหายายเห็นแกเป็นลม มันก็หมอบเอาคางเชยที่เท้า ยายผ่องได้สติฟื้นขึ้นมองเห็นเสือก็ดีใจเอามือลูบหัวแล้วถามมัน ปลัดก็เล่าเรื่องที่โดนนักล่าสัตว์คอยดักยิงมันต้องหนีเตลิดเข้าป่าลึกเพื่อเอาตัวรอด มิเช่นนั้นก็ถูกยิงตายแน่ เสืออยู่กับยายผ่องประมาณเจ็ดปี ยายก็ถึงแก่กรรม เมื่อมันเห็นยายแม่ของมันเป็นลมตายเสียแล้ว มันก็ส่งเสียงร้องไม่หยุด เมื่อครบสามวันแล้วจึงช่วยกันเผา จัดทำเชิงตะกอนเตี้ย ๆ ขนเอาฟืนมามาก เผาศพเป็นกองไฟใหญ่ เผากันจริง ๆ ใครมีฟืนเท่าไรก็เผาจนหมดในระหว่างไฟกำลังโหมลุกเต็มที่อยู่นั้น เสือซึ่งมีอาการหงอยเหงา เศร้าซึมมาหลายวันแล้ว น้ำตาไหลเป็นทางมันจะนึกอย่างไรไม่ทราบ ก็ออกวิ่งวนไปรอบ ๆ กองไฟ ไม่รู้ว่ากี่รอบ ส่งเสียงร้องอยู่เรื่อย วิ่งไปร้องไป และขณะร้องคร่ำครวญอยู่นั้น ได้กระโจนเข้ากองไฟที่กำลังลุกโชติช่วง ถูกไฟเผาดิ้นทุรนทุรายอยู่ครู่หนึ่งก็ตายตามแม่ที่รักไป ยอมพลีชีพบูชาแม่ด้วยชีวิต ซึ่งอาจมีมนุษย์จำนวนน้อยนิดเท่านั้น จะกล้าเสียสละอย่างนี้ได้ ทำให้คนตกใจส่งเสียงร้องด้วยความหวาดเสียว
         เจ็ดวันผ่านไป การเผาศพระหว่างแม่ผู้เป็นมนุษย์กับลูกผู้เป็นสัตว์ ชาวบ้านรวมทั้งนายอำเภอแสงกับปลัดโตปรึกษากันว่าจะสร้างศาลให้เสือ ผู้มีความจงรักภักดีต่อแม่เฒ่าผ่อง ถือว่าเป็นสัตว์พิเศษกว่าสัตว์ทั้งหลาย เพราะร่างกายกับชีวิตเท่านั้นที่เป็นเสือ แต่ดวงจิตสูงส่งเป็นอัจฉริยจิต สถิตด้วยแสงธรรม การสร้างศาลประดิษฐานรูปเสือ ผู้คนสละทรัพย์สละแรงงาน ร่วมแรงร่วมใจกันเป็นจำนวนมาก สร้างใกล้ ๆ บริเวณหน้า วัดมหรรณพาราม เอากระดูกเสือบรรจุในแท่นปั้นรูปประดิษฐานบนแท่นอย่างสง่าน่าเกรงขาม อัญเชิญดวงวิญญาณเสือ ขอให้เป็นเทพเจ้าสิงสถิต ณ ศาลวิมานทองแห่งนี้ตลอดกัลป์เป็นนิรันดร ขอให้ปกปักรักษาประชาราษฎร์ให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข ทำมาหากินซื้อง่ายขายคล่อง เจริญสุขทุกทิวาราตรี เมื่อฉลองเสร็จแล้วติดแผ่นป้ายไว้ที่หน้าศาลจารึกชื่อว่า ศาลเจ้าพ่อเสือ (เสาวนีย์ หอมจันทร์, ม.ป.ป.)
         ศาลเจ้าใหญ่ในกทม.
         ศาลเจ้าจีนแต้จิ๋วที่ถือว่าเก่าแก่และมีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่ง คนจีนเรียกว่า "ตั่วเล่าเอี้ย" เป็นศาลเจ้าที่ประดิษฐาน เฮี้ยงเทียนเซียงตี่, รูปเจ้าพ่อเสือ, เจ้าพ่อกวนอู และ เจ้าแม่ทับทิม ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของทั้งคนไทยและจีนเป็นอย่างมาก ศาลเจ้าพ่อเสือ มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เดิมตั้งอยู่ริมถนนบำรุงเมือง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้ขยายถนนบำรุงเมือง และให้พระยาโชฎีกราชเศรษฐีย้ายศาลมาไว้ที่ทางสามแพร่ง ถนนตะนาว จนถึงปัจจุบัน ตัวอาคารของศาลเจ้าพ่อเสือ สร้างตามรูปแบบศาลเจ้าที่นิยมทางภาคใต้ของจีน เทพเจ้าประจำศาล คือ เสียนเทียนซั่งตี้หรือเจ้าพ่อเสือ ซึ่งเป็นที่เลื่องชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก สำหรับการสร้างศาลประดิษฐานรูปเสือนั้น เป็นการนำเอากระดูกเสือบรรจุในแท่นปั้นรูปประดิษฐานบนแท่น อัญเชิญดวงวิญญาณเสือขอให้ปกปักรักษาประชาชนให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข ตำนานของเจ้าพ่อเสือที่ชาวบ้านย่านนี้ เล่าขานมีความเชื่อมโยงกับหลวงพ่อพระร่วง วัดมหรรณพารา (วัดมหรรณพ์) ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ ระหว่างพี่น้องชาวไทยและชาวจีนในละแวกนี้ที่มีมาช้านาน ในแต่ละวัน ศาลเจ้าพ่อเสือจะคับคั่งไปด้วยผู้คน ที่พากันมากราบไหว้เพื่อ "เสริมอำนาจบารมี" โดยใช้ ธูป 18 ดอก และเทียนแดงคู่ เป็นเครื่องสักการะ วิธีสักการะ คือไหว้ด้วยธูป 18 ดอก ปัก 6 กระถาง เทียนแดง 1 คู่ และพวงมาลัย 1 พวง ส่วนการสักการะเจ้าพ่อเสือ จะต้องซื้อเครื่องเซ่น ประกอบด้วย หมูสามชั้น ไข่สด และข้าวเหนียวหวาน นอกจากนี้ ภายในศาลเจ้าพ่อเสือ ยังตกแต่งด้วยโบราณวัตถุ ซึ่งบางชิ้นมีอายุกว่า 100 ปี (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, ม.ป.ป.) โดยเปิดให้เข้าเยี่ยมชมทุกวัน ที่ตั้ง : 468 ถนนบ้านตะนาว แขวงศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ (ใกล้เสาชิงช้า) เปิดทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น. เวลาที่เหมาะสมสำหรับการไปสักการะคือ 06.00-17.00 น. และควรแต่งกายสุภาพ
         ความเชื่อเกี่ยวกับเสือ
         ทำไมถึงต้องเป็น”เสือ”เนื่องจากช่วงปีใหม่และตรุณจีนที่ศาลเจ้าพ่อเสือจะมีบุคคลหลากหลายไปกราบไหว้ขอพรจำนวนมากเพราะ "เสือ" เป็นสัตว์ที่คนจีนเชื่อว่ามีฤทธิ์เดชมากสามารถปราบผีหรือสิ่งเลวร้ายของชีวิตได้หากบ้านหรือสำนักงานใครตั้งอยู่บริเวณทางสามแพร่งหรือจุดที่ถือกันว่าจะมีวิญญาณเลวร้ายพุ่งเข้าบ้านจะนิยมเอาเสือคาบดาบไปแขวนไว้ที่หน้าบ้านหรือสำนักงานเพื่อขจัดสิ่งเลวร้ายเคราะห์ร้ายที่จะมากล้ำกรายให้อยู่รอดปลอดภัยหรือว่าบรรเทาลงได้ซึ่งพฤติกรรมของคนไทยในปัจจุบันอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับความเชื่อของคนไทยในยุคปัจจุบันคือการไหว้พระ 9 วัดในกรุงเทพมหานครวัด 9 วัดที่นิยมไปไหว้พระนั้นแล้วไม่มีหลักฐานอะไรที่ระบุไว้แน่นอนชัดเจนเป็นเพียงกระแสความเชื่อของคนไทยในยุคปัจจุบันเท่าที่ได้ยินได้ฟังมาเป็นวัด 7 วัดส่วนอีก 2 แห่งไม่ใช้วัด แต่เป็นศาลเทพรักษ์ต่อมามีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับกิจกรรมไหว้พระ 9 วัดดังนั้นเพื่อความรู้ความเข้าใจต่อปรากฏการณ์เกี่ยวกับความเชื่อดังกล่าวอย่างศาลเจ้าพ่อเสือก็เป็นหนึ่งในการท่องเที่ยวที่ได้มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในส่วนของเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนได้เข้ามาเคราพกราบไหว้ตามความเชื่อการมีอำนาจบารมีและการเสริมอำนาจบารมีซึ่งเป็นทัศนคติของบุคคลที่มีความเชื่อในศาลเจ้าพ่อเสือ (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, 2554 อ้างถึงใน วรวิทย์ คุณเจริญ และคนอื่น ๆ, 2554, หน้า 300)
         ศาลเทพเจ้า “ปึงเถ่ากง-ม่า"
         ศาลเจ้าพ่อเสือในกำแพงเพชร เป็นศาลเจ้าที่คนไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดมีความเคารพนับถือและศรัทธาเป็นอย่างมาก โดยมีความเชื่อว่าเทพเจ้าทุกองค์จะดลบันดาลประทานพร และเพื่อความเป็นสิริมงคลมีความสุขในชีวิต และมีความเจริญก้าวหน้าในการประกอบอาชีพการงาน ธุรกิจการค้า ปกป้องคุ้มครองบ้านเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุข ถือปฏิบัติติดต่อกันมาอย่างยาวนาน (ไทยรัฐออนไลน์, 2561) นอกจากนี้ยังมีศาลเทพเจ้าจีนที่คนไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดกำแพงเพชรเคารพนับถืออีกเป็นจำนวนมาก เทพเจ้าปึงเถ่ากงม่า มีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชนชาวไทยเชื้อสายจีนอย่างยิ่ง เพราะช่วยดูแลทุกข์สุขของผู้คนและชุมชน เป็นเทพเจ้าที่คุ้มครองปกป้องรักษาชุมชน หรือเจ้าที่ ของท้องถิ่น
         ปึงเถ่ากง-ม่า เป็นเทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ ที่เชื่อว่าถ้าได้กราบไหว้จะได้รับผลบันดาลให้ครอบครัว อยู่เย็นเป็นสุข ประกอบกิจการงานสำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี มีความเจริญรุ่งเรือง ศาลเจ้าปึงเถ่ากง-ม่า เป็นศาลเทพเจ้าที่คนไทยเชื้อสายจีน เคารพนับถือและมีความศรัทธาอย่างยิ่ง เป็นศูนย์รวมแห่งความรัก ความสามัคคี แสดงออกถึงน้ำใจไมตรีอันดีต่อกันตลอดม
ภาพที่ 1 ศาลเจ้าปึงเถ่ากงม่า (ศาลเจ้าพ่อเสือ) จังหวัดกำแพงเพชร.jpg

ภาพที่ 1 ศาลเจ้าปึงเถ่ากงม่า (ศาลเจ้าพ่อเสือ) จังหวัดกำแพงเพชร

         ศาลเจ้าปึงเถ่ากง-ม่า จังหวัดกำแพงเพชร สถิตอยู่คู่เมืองกำแพงเพชร นับร้อยปีมาแล้ว เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพสักการะของชาวไทยเชื้อสายจีน และประชาชนทั่วไป มากราบไหว้ขอพร ให้ปกป้องคุ้มครอง และขอให้มีความสุข ความเจริญรุ่งเรืองมาช้านาน เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวกำแพงเพชร การเซ่นไหว้ศาลเจ้าปึงเถ่ากงม่า มีคติความเชื่อกันว่า ณ ปีนั้นเมื่อท่านได้ดูแลปกปักรักษา ให้ทำมาหากินและเป็นสุขแล้ว ครั้งถึงปลายปีก่อนที่จะเข้าเทศกาลสิ้นปี ในฐานะที่เป็นเทพารักษ์ ปกปักรักษาเขตเมือง ทำหน้าที่คุ้มครองและป้องกันภัยอันตรายให้แก่ประชาชน ชุมชนแล้ว ก็เดินทางสู่สวรรค์เพื่อถวายรายงานต่อเง็กเซียนฮ่องเต้ ให้ได้ทราบว่าประชาชนมีความเป็นอยู่อย่างไร จึงเป็นที่มาของการจัดงานเซ่นไหว้และแสดงงิ้ว (อุปรากรจีน) ตามประเพณีท้องถิ่น เพื่อสักการะต่อเทพเจ้าปึงเถ่ากง-ม่า รวมถึงได้มีการบวงสรวงบนบานศาลกล่าว ขอให้ปกป้อง รักษาและขอให้ทํามาหากิน อยู่เย็นเป็นสุขตลอดไป ก่อให้เกิดประเพณีอันดีงามเป็นวัฒนธรรม สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันศาลเจ้าปึงเถ่ากงม่ามีความชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา ชุมชนจังหวัดใกล้เคียง และประชาชนชาวกำแพงเพชร จึงร่วมสมานฉันท์พร้อมใจกันบูรณปฏิสังขรณ์ศาลเจ้าปึงเถ่ากงม่า ให้มีความสง่างามสมเป็น “ศรัทธาสถาน” ที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยเชื้อสายจีน และประชาชนชาวจังหวัดกําแพงเพชร แสดงให้เห็นว่าศาลเจ้าปึงเถ่ากง-ม่า จังหวัดกำแพงเพชร สถิตอยู่คู่เมืองกำแพงเพชร นับร้อยปีมาแล้ว มีการไหว้สักการะกันมาอย่างยาวนาน ก่อให้เกิดประเพณีอันดีงามเป็นวัฒนธรรมสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ที่ประดิษสถานเดิมคือ ตรงโรงแรมนวรัตน์และได้บูรณปฏิสังขรณ์ศาลเจ้าปึงเถ่ากงม่า โดยยอดค่าก่อสร้างศาลเจ้าพ่อเสืออยู่ที่ 25,999,999 บาท และเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2556 เป็นการรวมตัวกันของผู้คนที่ศรัทธาในศาลเจ้าพ่อเสือปึงเถ่ากงม่าจังหวัดกำแพงเพชร 

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม[แก้ไข]

         ลักษณะอาคารของศาลเจ้าพ่อเสือสร้างตามรูปแบบศาลเจ้าที่นิยมทางภาคใต้ของจีน โดยลักษณะทางสถาปัตยกรรมของศาลเจ้าพ่อเสือในจังหวัดกำแพงเพชร มีการแบ่งรูปแบบตามลักษณะความเชื่อที่สะท้อนผ่านงานสถาปัตยกรรม จิตรกรรม และประติมากรรม ด้านหน้าทางเข้าศาลเจ้าพ่อเสือจะมีสิงโต หินอ่อนยักษ์ 1 คู่ คู่เล็ก 1 คู่ ลวดลายตามเสาและซุ้มประตูจะตกแต่งด้วยมังกรตามความเชื่อของจีน ด้านในรั้วจะมีศาลใหญ่ 1 ศาลและศาลเล็กรอบ ๆ อีก 4 ศาล บนผนังหรือเพดานจะประกอบไปด้วยมังกร เสือ และตำนานเทพเจ้าจีนหลาย ๆ องค์ มีกระถางธูปใหญ่ที่เห็นได้ชัดเจนอยู่บริเวณลานกว้างหน้าศาลใหญ่ 

บุคคลที่เกี่ยวข้อง[แก้ไข]

         ศาลเจ้าพ่อเสือ ปึงเถ่ากง-ม่า จ.กำแพงเพชร

วิธี/ขั้นตอน/กระบวนการในการสักการะ[แก้ไข]

         วิธีการสักการะศาลเจ้าพ่อเสือปึงเถ่ากงม่าจังหวัดกำแพงเพชร จะแบ่งเป็นขั้นเป็นตอน โดยการกำหนดจุดการไหว้ มีทั้งหมด 10 จุดด้วยกันในแต่ละจุดจะใช้จำนวนธูปในการไหว้เทพเจ้าองค์นั้น ๆ ไม่เหมือนกัน รวมแล้วถ้าไหว้ครบทั้ง 10 จุดจะใช้ธูป 28 ดอก ลำดับขั้นตอนในการสักการะมีดังนี้
         เริ่มแรกเลยต้องจุดเทียน เติมน้ำมันตะเกียงด้านหน้าศาล
จุดที่ 1      จะเป็นการไหว้เทพยดาฟ้าดินใช้ธูป 3 ดอก
จุดที่ 2-4   จะเป็นการไหว้ปึงเถ่ากงม่าและเทพเจ้าทุกองค์ในศาลเจ้าใหญ่ โดยจะใช้ธูป 9 ดอกปักลงไปที่กระถางธูปใหญ่ทั้ง 3 กระถาง กระถางละ 3 ดอก
จุดที่ 5      จะเป็นการไหว้เจ้าแม่กวนอิม ใช้ธูป 3 ดอก
จุดที่ 6      จะเป็นการไหว้เทพมังกร ใช้ธูป 3 ดอก
จุดที่ 7      จะเป็นการไหว้พระสังกัจจายน์ ใช้ธูป 3 ดอก
จุดที่ 8      จะเป็นการไหว้แปะกงแปะม่า จะใช้ธูป 5 ดอก
จุดที่ 9-10 จะเป็นการไหว้หมึ่งซิ้งเทพรักษาประตู ใช้ธูป 2 ดอกโดยปักข้างซ้าย1ดอกข้างขวา 1 ดอก ดังภาพที่ 2 ถึง ภาพที่ 9
ภาพที่ 2 จุดสักการะจุดที่ 1 ไหว้เทพยดาฟ้าดิน.jpg

ภาพที่ 2 จุดสักการะจุดที่ 1 ไหว้เทพยดาฟ้าดิน

ภาพที่ 3 จุดสักการะจุดที่ 2 ถึงจุดที่ 4.jpg

ภาพที่ 3 จุดสักการะจุดที่ 2 ถึงจุดที่ 4 ไหว้ปึงเถ่ากงม่าและเทพเจ้าทุกองค์ในศาลเจ้าใหญ่

ภาพที่ 4 จุดสักการะจุดที่ 5 ไหว้เจ้าแม่กวนอิม.jpg

ภาพที่ 4 จุดสักการะจุดที่ 5 ไหว้เจ้าแม่กวนอิม

ภาพที่ 5 จุดสักการะจุดที่ 6 ไหว้เทพมังกร.jpg

ภาพที่ 5 จุดสักการะจุดที่ 6 ไหว้เทพมังกร

ภาพที่ 6 จุดสักการะจุดที่ 7 ไหว้พระสังกัจจายน์.jpg

ภาพที่ 6 จุดสักการะจุดที่ 7 ไหว้พระสังกัจจายน์

ภาพที่ 7 จุดสักการะจุดที่ 8 ไหว้แปะกงแปะม่า.jpg

ภาพที่ 7 จุดสักการะจุดที่ 8 ไหว้แปะกงแปะม่า

ภาพที่ 8 จุดสักการะจุดที่ 9 ไหว้หมึ่งซิ้งเทพรักษาประตู.jpg

ภาพที่ 8 จุดสักการะจุดที่ 9 ไหว้หมึ่งซิ้งเทพรักษาประตู

ภาพที่ 9 จุดสักการะจุดที่ 10 ไหว้หมึ่งซิ้งเทพรักษาประตู.jpg

ภาพที่ 9 จุดสักการะจุดที่ 10 ไหว้หมึ่งซิ้งเทพรักษาประตู

         หลังจากที่ไหว้ครบ 10 จุดแล้ว ให้เข้าไปด้านในศาลได้ โดยวิธีการสักการะศาลองค์เทพเจ้าด้านใดจะเริ่มจากเทพปึงเถ่ากงม่าที่อยู่ตรงกลางศาลและวนขวาทวนเข็มนาฬิกาตามลำดับ เทพแต่ละองค์จะมีคำอธิฐานที่ไม่เหมือนกัน บางองค์จะมีสิ่งของที่ต้องถวายเพิ่ม ตัวอย่างที่ยกมานี้จะเป็นคำอธิฐานขอพรจาก ตั๋วเหล่าเอี๊ยกง (เจ้าพ่อเสือ)
         ขอองค์เจ้าตั๋วเหล่าเอี๊ย ได้ช่วยปกป้องคุ้มครอง ข้าพเจ้า... ชื่อ... อยู่บ้านเลขที่............................. ให้ติดสิ่งใดหวังสิ่งใดขอให้ได้ดังหวังทุกประการ ขอได้โปรดช่วยโอบอุ้ม ดวงชะตาของข้าพเจ้า ให้ปราศจากภัยทั้งปวง ขอให้ข้าพเจ้าและ ครอบครัวพบแต่สิ่งดี ๆ ขอให้สุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ดังภาพที่ 10
ภาพที่ 10 ตั๋วเหล่าเอี๊ยกง (เจ้าพ่อเสือ).jpg

ภาพที่ 10 ตั๋วเหล่าเอี๊ยกง (เจ้าพ่อเสือ)

         สำหรับผู้ที่มาแก้ปีชง สิ่งที่ต้องเตรียมมาเอง มีดังนี้
            1. หมูสามชั้นดิบ 1 ชิ้น
            2. ไข่ไก่ดิบ 3 ฟอง
            3. ส้ม 4 ลูก
            4. ข้าวเหนียวแดง 2 ห่อ
            5. พวงมาลัย (ดอกดาวเรือง) 1 พวง
            6. เหรียญบาทเท่าจำนวนปีนักษัตรที่เกิด
         หากมาแก้ปีชงแทนผู้อื่นให้เตรียมเสื้อเจ้าของปีชงมาด้วย (ซักทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว) ในวันแก้ปีชงไม่สวมชุดสีดำ

ข้อมูลการสำรวจ[แก้ไข]

แหล่งอ้างอิง[แก้ไข]

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (ม.ป.ป.). ศาลเจ้าพ่อเสือ. เข้าถึงได้จาก https://thai.tourismthailand.org/Attraction/ศาลเจ้าพ่อเสือ
ไทยรัฐออนไลน์. (2561). กำแพงเพชรคนไทยเชื้อสายจีนเตรียมของเซ่นไหว้สักการะเจ้าพ่อเสือตรุษจีน. เข้าถึงได้จาก https://www.thairath.co.th/news/local/north/1204852  
วรวิทย์ คุณเจริญ, จารุภัทร์ มังคลสุด และ ประสพชัย พสุนนท์. (2554). พฤติกรรมและปัจจัยการบูชาศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร. รายงานการประชุมทางวิชาการ ประจำปี ๒๕๕๔ (หน้า 300-310). 
     เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยแม่โจ้. 
เสาวนีย์ หอมจันทร์. (ม.ป.ป.). ศาลเจ้าพ่อเสือถนนตะนาว แขวงเจ้าพ่อเสื้อ เขตพระนคร กรุงเทพ. เข้าถึงได้จาก http://www.alternativecomplete.com/tiger1.html

วันเดือนปีที่สำรวจ[แก้ไข]

         27 กันยายน 2564

วันปรับปรุงข้อมูล[แก้ไข]

         2 พฤษจิกายน 2564

ผู้สำรวจข้อมูล[แก้ไข]

         อาจารย์ยุชิตา  กันหามิ่ง อาจารย์โปรแกรมวิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงงเพชร
         นายภูชิชย์ จำปาเทศ และ นางสาวนุชสรา เดชะมา นักศึกษาโปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงงเพชร

คำสำคัญ(tag)[แก้ไข]

        ศาลเจ้าพ่อเสือ, ประวัติศาลเจ้าพ่อเสือ, พฤติกรรมและปัจจัยการบูชาศาลเจ้าพ่อเสือเขตพระนคร