ฐานข้อมูล เรื่อง โบราณสถานที่เกี่ยวข้องกับพะโป้ ตำบลนครชุม จังหวัดกำแพงเพชร

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อเรียกแหล่งโบราณสถาน

         บ้านพะโป้

ชื่อเรียกอื่น ๆ

         บ้านห้าง ร.5

ที่ตั้ง (ที่อยู่)

         บ้านเลขที่ 124 หมู่ 6 ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร 62130	

ที่ตั้งพิกัดทางภูมิศาสตร์

         16.4838832, 99.4916676, บ้านโบราณสมัยรัชกาลที่ 5 (เทศบาลตำบลนครชุม จังหวัดกำแพงเพชร, 2558)

สภาพธรณีวิทยา

         ลักษณะทางธรณีวิทยาของพื้นที่ในจังหวัดกำแพงเพชร ประกอบด้วยหินหลายชนิด ได้แก่ หินตะกอนหินแปร หินอัคนี และ ตะกอนร่วน พื้นที่ส่วนใหญ่บริเวณตอนกลางซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองโบราณ และ พื้นที่ทางด้านตะวันออกของจังหวัดเป็นตะกอนร่วนที่สะสมตัวโดยทางน้ำ ตะกอนเชิงเขา ตะกอนที่เกิดจากการพุผังอยู่กับที่ (กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2555)

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

         เอกชน (อยู่ในการดูแลรักษาของทายาทที่สืบทอดภายในตระกูล)

สถานการณ์ขึ้นทะเบียน

         ไม่ได้ขึ้นทะเบียน เนื่องจากอยู่ในความดูแลของเอกชน (ทายาทที่สืบทอดภายในตระกูล)

ข้อมูลทางโบราณคดี

ประวัติความเป็นมา/คำบอกเล่า/ตำนาน

         บ้านพะโป้ หรือ บ้านห้าง ร.5 ตั้งอยู่ที่ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ใกล้วัดสว่างอารมณ์ เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง รูปแบบไทยผสมตะวันตก ประดับด้วยไม้ฉลุลายอย่างประณีต เป็นบ้านของพะโป้ คหบดีชาวพม่า ซึ่งมีอาชีพค้าไม้ที่บริเวณปากคลองสวนหมาก เมืองนครชุม ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยได้ซื้อบ้านมาจากพระยาราม ครั้งหนึ่งสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จประพาสต้น เมืองกำแพงเพชร เมื่อปี พ.ศ. 2449 ได้เสด็จเยือนบ้านพะโป้ จนเป็นที่มาของชื่อ บ้านห้าง ร.5  ตามประวัติกล่าวว่า มองสุภอ หรือ พระยาตะก่า พี่ชายพะโป้ ได้เข้ามาขอรับเช่าทำการค้าไม้ จากพระยากำแพงเพชร (อ่อง) ในราวปลายรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2418 และ ได้ถึงแก่กรรม ต่อมา ปี พ.ศ. 2429 พะโป้ได้เริ่มทำการค้าไม้ โดยตั้งบ้านเรือนที่บริเวณปากคลองสวนหมาก ซึ่งเป็นทำเลในการชักลากลำเลียงซุงไม้จากป่าส่งลงไปยังเมืองนครสวรรค์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าไม้ ที่ใหญ่ที่สุดของภาคเหนือตอนล่าง (ชินแสงทริปดอทคอม, ม.ป.ป.) แสดงให้เห็นว่าบ้านพะโป้ ตั้งอยู่ที่ตำบลนครชุม ชุมชนคลองสวนหมาก อยู่บริเวณใกล้เคียงกับวัดสว่างอารมณ์ (ด้านหลังวัด) ในอดีตบ้านพะโป้เป็นศูนย์รวมของชาวบ้านคลองสวนหมาก มีลักษณะเป็นบ้านไม้สองชั้นหลังใหญ่ มีนอกชาน มีแพยื่นออกไปบริเวณริมคลองสำหรับให้บ่าวไพร่ใช้ล้างจาน มีลานกว้างบริเวณหน้าบ้านสำหรับการพักไม้รอส่งไปยังเมืองนครสวรรค์ มีรั้วไม้อยู่ติดกับริมคลองสวนหมากเนื่องจากเป็นทำเลที่เหมาะกับการค้าขายไม้ บ้านพะโป้ในอดีตนับว่าเป็นบ้านที่แสดงให้เห็นถึงฐานะทางการเงินชัดเจน เนื่องจากสมัยนั้นไม่ค่อยมีบ้านลักษณะเช่นเดียวกับบ้านพะโป้มากนัก โดยบ้านพะโป้มีอีกชื่อหนึ่งคือ “บ้านห้าง ร.5” เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาเยือน ณ เรือนไม้แห่งนี้ ชาวบ้านจึงได้เรียกต่อ ๆ กันมาว่า บ้านห้าง ร.5 บางคำบอกเล่าก็กล่าวว่า รัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นไปบนบ้านพะโป้ บ้างก็ว่าท่านไม่ได้เสด็จขึ้นไปด้านบนบ้านเพียงแต่เสด็จประพาสผ่านไปเฉย ๆ ไม่มีใครรู้ได้ว่าความจริงในตอนนั้นเป็นอย่างไร
4-1.jpg

ภาพที่ 1 บ้านพะโป้ในปัจจุบัน
(เทศบาลตำบลนครชุม จังหวัดกำแพงเพชร, 2558)

         จากหนังสือเมืองโบราณกล่าวไว้ว่า “พะโป้” เป็นพ่อค้าไม้ และ เป็นคหบดีใหญ่ชาวกระเหรี่ยง ผู้ปฏิสังขรณ์เจดีย์โบราณพระบรมธาตุนครชุม ต่อจากแซงพอ หรือพญาตะก่าผู้เป็นพี่ชาย ที่เคยรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 คราวเสด็จประพาสต้น ครั้งที่ 2 และ มีภาพตัวบ้านในอัลบั้มภาพทรงถ่าย อันเป็นคราวพระพุทธเจ้าหลวง (ฆรณี แสงรุจิ และศรันย์ ทองปาน, 2536) แสดงให้เห็นว่า พะโป้เจ้าของบ้าน มีชื่อเต็มๆ คือ พะโป้พะเลวาซวยล่า สะมะเย เป็นพ่อค้าไม้ผู้มั่งคั่งชาวกะเหรี่ยงอยู่ในบังคับของอังกฤษ เดินทางจากพม่าเข้ามาทำไม้ในเขตพื้นที่ป่าคลองสวนหมาก ซึ่งมีบ้านเรือนอยู่ริมคลองสวนหมากใกล้กับบ้านห้าง พะโป้ และ พญาตะก่า (พี่ชาย) ได้ร่วมกัน บูรณะองค์พระเจดีย์ และ ยกยอดฉัตรวัดพระบรมธาตุเจดียาราม
4-2.jpg

ภาพที่ 2 พะโป้และแม่ทองย้อย ภรรยา
(ฆรณี แสงรุจิ และศรันย์ ทองปาน, 2536)

         ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ก็เคยเสด็จประพาสต้นที่บ้านคหบดีคนนี้ด้วยเมื่อปี 2449 มีพระราชหัตถเลขาไว้ว่า “เลยไปคลองสวนหมาก (บริเวณนครชุม) ในคลองนี้น้ำไหลเชี่ยวแต่น้ำใสเพราะเป็นลำห้วย ถ้าไปตามลำคลอง 3 วันจึงถึงป่าไม้ ป่าไม้นี้ พะโป้กะเหรี่ยงในบังคับอังกฤษเป็นคนทำ” ป่าไม้คลองสวนหมากเป็นป่าไม้สักที่สำคัญของกำแพงเพชร ที่พะโป้ได้รับช่วงต่อจากเจ้าเมืองกำแพงเพชร พะโป้ได้สร้างคฤหาสน์ขึ้นริมฝั่งคลองสวนหมาก เป็นสถาปัตยกรรมไทยผสมผสานตะวันตก สร้างด้วยไม้สักสองชั้นประดับด้วยลายฉลุสวยงาม ว่ากันว่าเป็นออฟฟิศของบริษัท ตั้งอยู่ไม่ไกลจากวัดสว่างอารมณ์ เพื่อทำการค้าไม้ส่งไปยังกรุงเทพฯ โดยชักลากไม้ผ่านลำคลองสวนหมากซึ่งไหลจากเทือกเขาตะนาวศรี ทางทิศตะวันตก เข้าแม่น้ำปิง เพื่อส่งไปพระนคร (Teenee.com, 2559) แสดงให้เห็นว่าเมื่อปีพุทธศักราช 2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสต้น ณ ตำบลนครชุม พระองค์มาอยู่ที่ปากคลองสวนหมากทั้งวัน บ้านปากคลองสวนหมากเป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ในเมืองกำแพงเพชร ชาวบ้านคลองสวนหมากยังเล่าขานกัน และ ประทับใจจนมาถึงปัจจุบัน พระองค์ทรงพระราชหัตถเลขาถึงการเสด็จประพาสต้นในครั้งนี้ บรรยายถึงเส้นทางการเดินทางมายังชุมชนบ้านคลองสวนหมาก
4-3.jpg

ภาพที่ 3 พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสต้นบ้านปากคลองสวนหมาก
(วันวานและข่าวสาร, 2559)

         “พะโป้” หนึ่งในตัวละครของนวนิยายชื่อดังที่ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์หลายเวอร์ชั่น ชั่วฟ้าดินสลาย เรื่องราวของคหบดีชื่อ พะโป้ นายห้างค้าไม้ชาวกะเหรี่ยงที่มาทำธุรกิจในเมืองกำแพงเพชร ได้พบรักกับ ยุพดี หญิงสาวสวย และตกลงใจพาเธอมาอยู่ด้วยกันที่กำแพงเพชร พะโป้มีหลานชื่อ ส่างหมอง เป็นหนุ่มรูปงาม ต่อมา ยุพดี กับ ส่างหมอง เริ่มรักกัน และมีความสัมพันธ์อันลึกซึ้ง จนพะโป้จับได้ และใส่โซ่ตรวนทั้งสองใช้ชีวิตด้วยกันเกิดเป็นโศกนาฏกรรมขึ้น ก่อนหน้านี้หลายคนอาจคิดว่า ชั่วฟ้าดินสลาย อาจเป็นนวนิยาย ที่มาลัย ชูพินิจ แต่งขึ้น โดยไร้ข้อเท็จจริง ทว่าพะโป้กลับมีตัวตนในประวัติศาสตร์ เป็นคหบดีชาวกะเหรี่ยงที่เข้ามาทำการค้าไม้ที่นครชุม จังหวัดกำแพงเพชร (Teenee.com, 2559) แสดงให้เห็นว่าชื่อของพะโป้ ได้ไปปรากฏอยู่ในนวนิยายของ ครูมาลัย ชูพินิจ ในเรื่องชั่วฟ้าดินสลาย นวนิยายโศกนาฏกรรมแห่งความรัก เรื่องราวของคหบดีชาวกะเหรี่ยงที่ได้มาทำการค้าไม้ และ ได้พบรักกับนางยุพดี ทั้งสองได้ตกลงปลงใจมาอยู่ด้วยที่จังหวัดกำแพงเพชร แต่นางยุพดีก็ได้ลักลอบคบชู้กับหลานชายของพะโป้ เมื่อพะโป้จับได้จึงจับทั้งสองใส่โซ่ตรวนให้อยู่ด้วยกันตราบชั่วฟ้าดินสลายเป็นที่มาของชื่อนวนิยาย “ชั่วฟ้าดินสลาย” ของครูมาลัย ชูพินิจ ดังภาพที่ 4 - 5
4-4.jpg

ภาพที่ 4 ปกภาพยนตร์ “ชั่วฟ้าดินสลาย” สร้างครั้งที่ 4
(หอภาพยนตร์, ม.ป.ป.)

4-5.jpg

ภาพที่ 5 ปกภาพยนตร์ “ชั่วฟ้าดินสลาย”
(ธนพล น้อยชูชื่น, 2562)

         นอกจากนี้ยังมีผลงานของครูมาลัยที่บันทึกเรื่องราวของนครชุม และ คลองสวนหมาก ไว้อย่างละเอียดครบถ้วนในหนังสือ “ ทุ่งมหาราช ” อีกด้วย ความเป็นมาของนวนิยายทุ่งมหาราช ผู้ประพันธ์ได้บอกไว้ในคำนำตอนหนึ่งว่า เขียนจากความทรงจำรำลึกถึงเหตุการณ์ประจำยุค ประจำสมัย ซึ่งผ่านมาในชีวิตของเขา และ ก่อนหน้าเขาขึ้นไป ภาพชีวิตและเหตุการณ์ประทับใจ ยังพิมพ์อยู่ในอนุสติ เพราะเขาได้เคยผ่านชีวิต เช่นนั้น อย่างที่ชาวบ้านทั้งหลายได้ผ่านมา ความยิ่งใหญ่ในการเสียสละและความทรหดอดทน อดกลั้นของชาวบ้านรุ่นนั้นและยุคนั้น บรรยากาศแห่งภราดรภาพ ที่แสนอบอุ่นประทับใจ ในย่อหน้าสุดท้ายของคำนำเขากล่าวว่าขออุทิศ “ทุ่งมหาราช” ให้เรื่องเล็ก ๆ ที่พยายามจะเข้าให้ถึงส่วนลึกแห่งความยิ่งใหญ่ ในการใช้ชีวิตของมนุษย์เรา เพื่อความสุขและสวัสดิภาพของส่วนรวม..ซึ่งเป็นพฤติการณ์และความยิ่งใหญ่ของคนเหล่านั้น ด้วยประการฉะนี้ภาพของชีวิต “รื่น” ตัวเอกของเรื่องทุ่งมหาราชจึงถูกกำหนดให้มีความยิ่งใหญ่ในการใช้ชีวิตของเขา ดังที่ปรากฏในนวนิยาย หน้า 255 ตอนหนึ่งว่า “ชีวิตของรื่นเป็นทุ่งใหญ่...ทุ่งมหาราช ซึ่งใครต่อใครต้องพึ่งเพื่อดำรงชีวิตอยู่ด้วยกัน” นวนิยายของชีวิตที่มีความยิ่งใหญ่เหมือนทุ่งใหญ่...ทุ่งมหาราช จึงได้ชื่อว่า “ทุ่งมหาราช” ภาพชีวิตและเหตุการณ์ของเรื่อง ถ้าถือเอาการจบชีวิตของตัวเอกขุนนิคมบริบาล (รื่น) ซึ่งสิ้นอานุในปี พ.ศ.2493 อายุ 92 ภาพชีวิตเหตุการณ์ในนวนิยาย “ทุ่งมหาราช” ก็ พ.ศ. 2401 – 2493 โดยประมาณ (สันติ อภัยราช, 2558) แสดงให้เห็นว่าหนังสือนวนิยายทุ่งมหาราชเป็นหนังสือที่ครู มาลัย ชูพินิจ ได้ทำการประพันธ์ขึ้นเพื่อบันทึกเหตุการณ์ประจำยุคสมัยรัชกาลที่ 5 และ ก่อนหน้านั้น โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในหนังสือนวนิยายเกิดขึ้นที่ชุมชนคลองสวนหมาก ตำบลนครชุม จังหวัดกำแพงเพชร เป็นการกล่าวถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านในสมัยนั้น บรรยายให้เห็นถึงสภาพแวดล้อม สภาพชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมต่าง ๆ มีการกล่าวถึงสถานที่ และตัวบุคคลที่มีอยู่จริงในสมัยนั้น โดยเรื่องราวของพะโป้ก็ถูกกล่าวถึงในหนังสือนวนิยายเล่มนี้ด้วย อยู่ในเนื้อหาตอนหนึ่งของหนังสือในตอน ชั่วฟ้าดินสลาย นั่นเอง เรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นถูกนำเสนอผ่านตัวละครที่ครู มาลัย ได้สร้างขึ้น ทั้งการใช้ชีวิต เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวละคร
4-6.jpg

ภาพที่ 6 หนังสือนวนิยายทุ่งมหาราช ”
(khunmaebook, 2564)

ลักษณะสิ่งปลูกสร้าง

         เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น สร้างด้วยไม้สักทั้งหลังรูปแบบไทยผสมตะวันตก ประดับด้วยไม้ฉลุลายอย่างประณีต บริเวณเชิงชายประดับด้วยไม้ฉลุลายอย่างประณีต เสารับชายคา และลูกกรงกันตก กลึงให้ดูอ่อนช้อย (จุฑามณี แพงรักษ์ และคณะ, 2563)

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

         บ้านพะโป้ เป็นบ้านสองชั้นใต้ถุนสูงหลังใหญ่ หลังคาปั้นหยาประยุกต์สร้างด้วยไม้สักทั้งหลังรูปแบบไทยผสมตะวันตกประดับด้วยไม้ฉลุลายอย่างประณีต ขนาด หน้ากว้าง 20.50 เมตร ลึก 11.50 เมตร ในอดีตมีเรือนประกอบด้านข้างอีกสองหลัง มีนอกชานแล่นกลางขนาดกว้าง 10 เมตร ยาวเกือบ 20 เมตร เชื่อมบ้านสามหลังเข้าด้วยกันด้านหลังมีสะพานเชื่อมต่อไปยังครัว และห้องน้ำห้องส้วม ห่างจากตัวบ้านราว 7 เมตร โครงสร้างทั้งหมดทำด้วยไม้เบญจพรรณปลูกสร้างให้เหมาะกับ “สำนักงานค้าไม้” ระเบียงด้านหลังทั้งหมดได้กั้นเป็นห้องทำงานเพื่อให้กว้างขวางขึ้น ชั้นล่างเรือนใหญ่มี 4 ห้อง คือ ห้องพัสดุกองช้าง ห้องเสมียนพนักงาน ห้องโถงใหญ่เป็นห้อง ทำงานของพะโป้มีบันไดขึ้นลง 2 ทาง ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ชั้นบนมี ลักษณะเหมือนชั้นล่าง แต่มีระเบียงยื่นออกไปทางคลองสวนหมาก เล่าว่าพะโป้นั่งชมการต่อแพบนเรือนหรืออาคาร สำนักงานนี้เอง อาคารสำนักงานเป็นเรือนที่สร้างได้ละเอียดอ่อนมีลายฉลุแบบเครือเถารอบเรือนสวยงามสมกับเป็น เรือนเรือนและอาคารสำนักงานสำหรับคหบดีเล่าว่าพะโป้นั่งชมการต่อแพบนเรือนหรืออาคารสำนักงานนี้เอง อาคารสำนักงานเป็นเรือนที่สร้างได้ละเอียดอ่อนมีลายฉลุแบบเครือเถารอบเรือนสวยงามสมกับเป็นเรือนและ อาคาร สำนักงานสำหรับคหบดี (จุฑามณี แพงรักษ์และคณะ, 2565)

ยุคทางโบราณคดี

         ยุคประวัติศาสตร์ รัชกาลที่ 5 อยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์

สมัย/วัฒนธรรม

         สมัยรัชกาลที่ 5 ในสมัยนั้นมีการรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาใช้ในประเทศไทยมากขึ้น

อายุทางโบราณคดี

         117 ปี (นับตั้งแต่พะโป้ย้ายมาอยู่ที่บ้านพะโป้ หรือ บ้านห้างร.5 ตำบลนครชุม จังหวัดกำแพงเพชร)

อายุทางวิทยาศาสตร์

         -

อายุทางตำนาน

         ตำนานชั่วฟ้าดินสลาย และ ตำนานทุ่งมหาราช อายุประมาณ 69 ปี ที่มา : มาลัย ชูพินิจ (นามปากกา เรียมเอง) ผู้เขียนหนังสือทุ่งมหาราช

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

         แหล่งที่อยู่อาศัย

ข้อมูลการสำรวจ

แหล่งอ้างอิง

กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2555). การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี. https://www.dmr.go.th/wp-content/uploads/2022/11/การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณีจังหวัดกำแพงเพชร.pdf
คณะผู้วิจัยจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (ม.ป.ป.). บ้านห้าง ร.5. http://site001.ap.tu.ac.th/kampangpetch/house01_baanhang.html
ฆรณี แสงรุจิ และศรันย์ ทองปาน. (2536). พะโป้. วารสารเมืองโบราณ, 19(2), 5-7.
จุฑามณี แพงรักษ์, เมธา โคแก้ว และพัชรีรัต หารไชย. (15 มีนาคม 2565). การศึกษาลักษณะสถาปัตยกรรม บ้านพะโป้ จังหวัดกำแพงเพชร. สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. https://research.kpru.ac.th/research2/pages/filere/1648474869.pdf
ชินแสงทริปดอทคอม. (ม.ป.ป.). บ้านห้างร.5. https://www.chinsangtrip.com/location_detail.php?lcid=2539
เทศบาลตำบลนครชุม จังหวัดกำแพงเพชร. (8 พฤศจิกายน 2558). บ้านห้างโบราณสมัยรัชกาลที่ 5. https://www.nakhonchum.go.th/travel/detail/196/data.html
ธนพล น้อยชูชื่น. (10 ธันวาคม 2562). ภาพปกภาพยนตร์ชั่วฟ้าดินสลาย. Beartai. https://www.beartai.com/lifestyle/384470 
วันวานและข่าวสาร. (21 กรกฎาคม 2559). ล่องเรือตามรอยเสด็จประพาสต้นลำน้ำมะขามเฒ่า... [Image]. Facebook. https://www.facebook.com/188583217968299/photos/ล่องเรือตามรอยเสด็จประพาสต้นลำน้ำมะขามเฒ่า-หนึ่งในพระกรณียกิจที่ทรงประทับใจพสกนิ/637982456361704/
สันติ อภัยราช. (14 มิถุนายน 2558). ตามรอยประวัติศาสตร์กำแพงเพชรจากนวนิยาย “ทุ่งมหาราช” ของ “เรียมเอง” เรืองศักดิ์. http://www.suntiapairach.com/letter/index.php?topic=1185.0 &fbclid=IwAR2S1ZQ53m3qc97ErpW6jc63JIDHRwrWKJA6ZG2XPf0UEAZ7iUnvPyYbBBE
หอภาพยนตร์. (ม.ป.ป.). ชั่วฟ้าดินสลาย. https://www.fapot.or.th/main/heritage/view/89
Khunmaebook. (13 พฤษภาคม 2564). ทุ่งมหาราช ได้รับคัดเลือกเป็นหนังสือดี 100 เล่ม ที่คนไทยควรอ่าน. https://www.kunmaebook.com/product/2513/ทุ่งมหาราช-ได้รับคัดเลือกเป็นหนังสือดี-100-เล่ม-ที่คนไทยควรอ่าน
TeeNee.Com. (19 พฤษภาคม 2559). บ้านพะโป้ แห่งวรรณกรรมสุดอมตะโศกนาฏกรรมรัก ชั่วฟ้าดินสลาย. https://variety.teenee.com/world/75324.html

วันเดือนปีที่สำรวจ

30 กันยายน พ.ศ.2566

วันปรับปรุงข้อมูล

31 ตุลาคม พ.ศ.2566

ผู้สำรวจข้อมูล

สุชาวดี นิลขำ จุฑามาศ หลาบโพธิ์

คำสำคัญ (tag)

บ้านพะโป้, บ้านห้าง ร.5, ตำนานชั่วฟ้าดินสลาย, ตำนานทุ่งมหาราช, ครูมาลัย ชูพินิจ, กำแพงเพชร, ตำบลนครชุม, คลองสวนหมาก