การแห่พระด้วยเกวียนในงานประเพณีวันสงกรานต์
(เปลี่ยนทางจาก พูดคุย:กลุ่มชาติพันธุ์ ชุมชนและสังคม : หมู่บ้านกะเหรี่ยงน้ำตกคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร)
ไบยังการนำทาง
ไปยังการค้นหา
เนื้อหา
- 1 ที่มาประเพณีสงกรานต์
- 2 ประเพณีสงกรานต์ในแต่ละท้องถิ่น
- 3 ความเป็นมาของอำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร
- 4 ประเพณีการแห่พระด้วยเกวียน ในอำเภอลานกระบือ
- 5 จุดเด่นของประเพณีสงกรานต์และแห่พระด้วยเกวียน ที่มีผลต่อชื่อเสียงหรือเศรษฐกิจในกำแพงเพชร
- 6 สาระสำคัญที่ได้จากประเพณีการแห่พระอำเภอลานกระบือ เนื่องในประเพณีวันสงกรานต์
- 7 แนวทางในการอนุรักษ์และส่งเสริมประเพณีสงกรานต์และประเพณีแห่พระด้วยเกวียน
- 8 บทสรุป
ที่มาประเพณีสงกรานต์[แก้ไข]
วันสงกรานต์ หรือ ประเพณีสงกรานต์ เป็นวันฉลองการขึ้นปีใหม่ของไทย ซึ่งโดยทั่วไปจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน ตรงกับเดือนห้าตามจันทรคติ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยมีประเพณีสงกรานต์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว ในกฎมณเฑียรบาล ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดฯให้ ตราขึ้น กล่าวถึง การพระราชพิธีเผด็จศกและพระราชพิธีลดแจตร พระราชพิธีเผด็จศกเป็นพิธีการเกี่ยวกับการตัดจากปีเก่าขึ้นสู่ปีใหม่ ส่วนพระราชพิธีลดแจตรนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงสันนิษฐานว่าหมายถึงพระราชพิธีรดน้ำเดือน 5 แสดงว่าประเพณีสงกรานต์ของหลวงมีมาตั้งแต่ต้นสมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว ในสมัยก่อนไทยใช้จุลศักราช การขึ้นปีใหม่จึงเป็นการขึ้นจุลศักราชใหม่ คำว่า “สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า การเคลื่อนที่ หรือการเคลื่อนย้าย หมายถึง การเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์จากราศีหนึ่งสู่อีกราศีหนึ่ง ตามความหมายในภาษาสันสกฤตสงกรานต์จึงเกิดขึ้นทุกเดือน ส่วนระยะเวลาที่คนไทยเรียกว่า “สงกรานต์” นั้น เป็นช่วงที่พระอาทิตย์เคลื่อนย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ นับว่าเป็นมหาสงกรานต์ เพราะเป็นวันและเวลาตั้งต้นปีใหม่ตามสุริยคติ ซึ่งถือปฏิบัติในอินเดีย อินเดียซึ่งนับถือศาสนาฮินดูมีประเพณีฉลองปีใหม่ที่เรียกว่าทิวาลี(Diwali) ในฤดูใบไม้ผลิ เป็นเวลานานมาแล้วในสมัยโบราณไทยนับเดือนตามจันทรคติและฉลองการขึ้นปีใหม่ในเดือนอ้ายซึ่งตรงกับเดือนธันวาคม ประเพณีสงกรานต์จึงน่าจะเป็นประเพณีฉลองการขึ้นปีใหม่ที่รับมาจากอินเดีย เนื่องจากเดือนเมษายนเป็นเวลาที่คนไทยว่างจากการทำนาจึงเป็นการเหมาะสมสำหรับคนไทยที่จะฉลอง ปีใหม่ในช่วงเวลานั้นด้วย ในการฉลองการขึ้นปีใหม่อินเดียมีงานเรียกว่า โหลี(Holi) และมีตำนานเล่าถึงงานโหลีนี้หลายสำนวนอธิบายความเป็นมาของการเล่นสาดน้ำสี ในงานฉลองโหลีนี้คนอินเดียมีการเล่นสาดแป้งและน้ำสีใส่กัน คนไทยซึ่งนับถือพระพุทธศาสนามีประเพณีฉลองสงกรานต์ด้วยการทำบุญ รดน้ำและสาดน้ำเพื่อแสดงความกตัญญู และแสดงความปรารถนาดีต่อกัน นอกจากนี้ยังมีตำนานซึ่งอธิบายความเป็นมาของประเพณีสงกรานต์ ตลอดจนการทำนายเรื่องดินฟ้าอากาศ การผลิตพืชผลและเหตุการณ์บ้านเมืองด้วย ประเพณีสงกรานต์เป็นการฉลองการขึ้นปีใหม่ตามสุริยคติแต่เนื่องจากยังนิยมนับวันทางจันทรคติกันอยู่ ช่วงเวลาฉลองสงกรานต์ในแต่ละท้องถิ่นจึงอาจไม่ตรงกันทีเดียว โดยปกติอยู่ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน ในล้านนาบางปีสงกรานต์อาจอยู่ในช่วงวันที่ 14-16 เมษายน ในภาคกลางนิยมทำบุญตักบาตร ในวันที่ 13 เมษายน ถือเป็นวันมหาสงกรานต์คือเป็นวันที่พระอาทิตย์ก้าวเข้าสู่ราศีเมษ เป็นวันสิ้นปีเก่า วันที่ 14 เมษายน เป็นวันเนา คือวันที่เชื่อมต่อระหว่างปีเก่ากับปีใหม่ และวันที่ 15 เมษายน เป็นวันเถลิงศกขึ้นปีใหม่ ประเพณีสงกรานต์ นอกจากเป็นประเพณีการขึ้นปีใหม่ของไทยแล้วยังพบว่าประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวสหภาพพม่า ประเทศกัมพูชา ตลอดจนกลุ่มชนที่พูดภาษาตระกูลไทหลายกลุ่มก็มีประเพณีสงกรานต์เป็นประเพณีการขึ้นปีใหม่ด้วย เช่น ไทลื้อในเขตปกครองตนเองสิบสองพันนา และไทเหนือในเขตปกครองตนเองใต้คง มณฑลยูนนานสาธารณรัฐประชาชนจีน ไทขึนและไทใหญ่ในสหภาพพม่า ไทพ่าเก ไทอ่ายตอนและไทคำตี่หรือไทคำที่ในรัฐอัสสัมและรัฐอรุณาจัลประเทศ ประเทศอินเดียน่าสังเกตว่า สังคมที่มีประเพณีสงกรานต์ล้วนเป็นสังคมที่นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายหินยาน (กระทรวงวัฒนธรรม, 2560)
ประเพณีสงกรานต์ในแต่ละท้องถิ่น[แก้ไข]
สงกรานต์ภาคเหนือ (สงกรานต์ล้านนา) หรือ “ประเพณีปี๋ใหม่เมือง” อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เริ่มตั้งแต่ “วันสังขารล่อง”(13 เม.ย.) ที่มีการทำความสะอาดบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล “วันเนา”หรือ “วันเน่า”(14 เม.ย.) วันที่ห้ามใครด่าทอว่าร้ายเพราะจะทำให้โชคร้ายไปตลอดทั้งปี “วันพญาวัน” หรือ “วันเถลิงศก” (15 เม.ย.) วันนี้ชาวบ้านจะตื่นแต่เช้าทำบุญตักบาตรเข้าวัดฟังธรรม ก่อนจะไปรดน้ำดำหัวขอขมาญาติผู้ใหญ่ในช่วงบ่าย “วันปากปี”(16 เม.ย.) ชาวบ้านจะพากันไปรดน้ำเจ้าอาวาสตามวัดต่างๆ เพื่อขอขมาคารวะ และ “วันปากเดือน”(17 เม.ย.) เป็นวันที่ชาวบ้านส่งเคราะห์ต่างๆออกไปจากตัว เพื่อปิดฉากประเพณีสงกรานต์ล้านนา สงกรานต์ภาคอีสาน นิยมจัดกันอย่างเรียบง่าย แต่ว่ามากไปด้วยความอบอุ่น โดยคนอีสานจะเรียกประเพณีสงกรานต์ว่า “บุญเดือนห้า” หรือ “ตรุษสงกรานต์” และจะถือฤกษ์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เวลาบ่าย 3 โมง เป็นเวลาเริ่มงานโดยพระสงฆ์จะตีกลองโฮมเปิดศักราช จากนั้นญาติโยมจะจัดเตรียมน้ำอบหาบไปรวมกันที่ศาลาวัดเพื่อสรงน้ำพระพุทธรูป แล้วต่อด้วยการรดน้ำดำหัว ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติผู้ใหญ่ เพื่อขอขมาลาโทษจากนั้นก็จะเป็นการเล่นสาดน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน สงกรานต์ภาคใต้ ตามความเชื่อของประเพณีสงกรานต์แบบดั้งเดิมที่ภาคใต้แล้ว สงกรานต์เป็นช่วงเวลาแห่งการผลัดเปลี่ยนเทวดาผู้รักษาดวงชะตาบ้านเมือง พวกเขาจึงถือเอาวันแรกของสงกรานต์ (13 เม.ย.) เป็น “วันส่งเจ้าเมืองเก่า” โดยจะทำพิธีสะเดาะเคราะห์สิ่งไม่ดีออกไป ส่วน “วันว่าง” (14 เม.ย.) ชาวนครจะไปทำบุญตักบาตรที่วัด และสรงน้ำพระพุทธรูป และวันสุดท้ายเป็น “วันรับเจ้าเมืองใหม่” (15 เม.ย.) จะทำพิธีต้อนรับเทวดาองค์ใหม่ด้วยการแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างสวยงามส่งท้ายสงกรานต์ประเพณีสงกรานต์ สงกรานต์ภาคกลาง เริ่มขึ้นในวันที่ 13 เมษายน เป็นวัน“มหาสงกรานต์” วันที่ 14 เป็น “วันกลาง” หรือ “วันเนา” วันที่ 15 เป็น “วันเถลิงศก” ทั้ง 3 วันประชาชนจะประกอบพิธีทางศาสนา มีการทำบุญ ตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ การสรงน้ำพระ การขนทรายเข้าวัดก่อพระเจดีย์ทราย
ภาพที่ 1 ประเพณีสงกรานต์
(ที่มา : กระทรวงวัฒนธรรม, 2560)
ความเป็นมาของอำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร[แก้ไข]
อำเภอลานกระบือ เดิมมีชื่อว่าบ้านลานควาย เนื่องจากบริเวณวัดแก้วสุริย์ฉาย มีดินโป่งอุดมสมบูรณ์ จึงมีควายป่ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นลานขนาดใหญ่ เรียกกันสามัญว่าลานควาย เมื่อตั้งเป็นบ้านเรือนขึ้น เรียกกันว่า บ้านลานควาย ต่อมายกฐานะเป็นตำบลและเปลี่ยนชื่อเป็นตำบลลานกระบือเพราะคนที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่บ้านลานควายเป็นชาวอีสาน การเรียกบ้านลานควายเมื่อเป็นภาษาอีสานจึงกลายเป็นอย่างอื่น เพื่อความเหมาะสมจึงเปลี่ยนชื่อเป็นลานกระบือในที่สุด ตำบลลานกระบือเดิมขึ้นอยู่กับอำเภอพรานกระต่าย เมื่อ พ.ศ. 2520 ได้แยกและยกฐานะ เป็นกิ่งอำเภอลานกระบือมี 3 ตำบล คือ ตำบลลานกระบือ ตำบลหนองหลวงและตำบลช่องลม และยกฐานะจากกิ่งอำเภอ เป็นอำเภอลานกระบือ ในปี พ.ศ.2527 โดยเป็นหนึ่งในสิบเอ็ดอำเภอของจังหวัดกำแพงเพชร (สันติ อภัยราช, 2550) อำเภอลานกระบือ มีประเพณีสำคัญ ได้แก่ 1.พิธีกวนข้าวทิพย์ 2.การแห่พระเนื่องในวันสงกรานต์ 3.วันเข้าพรรษา 4.วันออกพรรษา 5.การบวช และ 6.การแต่งงาน โดยประเพณีแห่พระด้วยเกวียนเป็นประเพณีที่ขึ้นชื่อของคนในท้องถิ่น ซึ่งเป็นประเพณีที่จัดในช่วงประเพณีสงกรานต์
ภาพที่ 2 ประเพณีสงกรานต์ ในจังหวัดกำแพงเพชร
(ที่มา : สันติ อภัยราช, 2550)
ประเพณีการแห่พระด้วยเกวียน ในอำเภอลานกระบือ[แก้ไข]
ประเพณีการแห่พระลานกระบือ ที่เรียกว่า “แห่พระ” เนื่องมาจากการประชาชนได้อัญเชิญพระพุทธรูปและนิมนต์พระสงฆ์ขึ้นล้อเกวียนแห่ไปตามหมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำในวันสงกรานต์ ประเพณีการแห่พระลานกระบือเป็นประเพณีที่ชาวบ้านตำบลลานกระบือดั่งเดิมได้ปฏิบัติสืบทอดกันมานาน และมีอยู่ช่วงหนึ่งได้หายไปจนกระทั่งมีผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟัง สำนักงานเทศบาลตำบลลานกระบือจึงได้ฟื้นฟูประเพณีการแห่พระขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2545 การจัดงานจะจัดในช่วงวันสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 13 - 16 เมษายน ซึ่งแต่เดิมประชาชนในเขตเทศบาลตำบลลานกระบือ จัดการแห่พระเป็นเวลา 4 วัน ต่อมาลดลงเหลือ 2 วัน ปัจจุบันเหลือ 1 วัน โดยจัดในพิธีแห่พระในวันที่ 16 เมษายน เป็นประเพณีการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ที่ยึดถือปฏิบัติมาแต่โบราณ ช่วงวันสงกรานต์ จึงเป็นวันแห่งความเอื้ออาทร ความรักความผูกพันที่มีต่อกันทั้งในครอบครัว ชุมชน สังคม และ ศาสนา ดังนี้ คุณค่าต่อครอบครัวทำให้สมาชิกของครอบครัวได้มีโอกาสมาอยู่ร่วมกัน เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทิตา เช่น ช่วยกันทำความสะอาดบ้าน จัดบ้านใหม่ ช่วยกันทำขนมไว้ทำบุญและเลี้ยงลูกหลาน เช่น ข้าวต้มมัด แกงบวชฟักทอง ขนมเปียกปูน ฯลฯ จัดหาผ้าใหม่มอบให้คนรักนับถือ รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ รวมทั้งแสดงความกตัญญู กตเวทิตาต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ด้วยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้คุณค่าต่อชุมชนทำให้เกิดความ สมัครสมานสามัคคีในชุมชน เช่น ส่งขนม / ของกินให้แก่กันและกันร่วมกันทำบุญให้ทาน พบปะสังสรรค์สนุกสนานรื่นเริงร่วมกันคุณค่าต่อสังคมทำให้มีความเอื้ออาทรต่อบุคคลในสังคมและร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยการช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือน วัดวาอาราม ที่สาธารณะ และอาคารสถานที่ต่าง ๆ ในระหว่างวันที่ 13 - 16 เมษายน ของทุกปี ชาวอำเภอลานกระบือทุกตำบลจะจัดประเพณีสงกรานต์ โดยมีกิจกรรมที่คล้าย ๆ กันคือ การทำบุญตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา สรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ รดน้ำให้กัน และบางตำบลอาจมีกิจกรรมบันเทิงต่าง ๆ มากมาย โดยแต่ละกิจกรรมจะแฝงไว้ด้วยคุณค่าและแสดงออกถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย
ภาพที่ 3 ประเพณีแห่พระด้วยเกวียน อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร
(ที่มา : สันติ อภัยราช, 2550)
ซึ่งจากการศึกษาวิจัยด้านประวัติศาสตร์ลานกระบือ เชื่อว่าประเพณีแห่พระด้วยเกวียนนี้มีมา ไม่ต่ำกว่า 300 ปี เพราะมีหลักฐานการสร้างบ้านแปงเมืองของบรรพบุรุษ ที่บริเวณวัดแก้วสุริย์ฉาย อำเภอลานกระบือ ประเพณีแห่พระด้วยเกวียน เป็นภูมิปัญญาของชาวอำเภอลานกระบือ ที่สืบทอดกันมาเป็นเวลานาน เนื่องจากในอดีตถนนหนทางในเขต อำเภอลานกระบือ ซึ่งเป็นชนบท การเดินทางไม่สะดวกเหมือนเช่นในปัจจุบัน ชาวบ้านต้องอาศัยเกวียนในการเดินทางติดต่อกัน ระหว่างอำเภอ และหมู่บ้าน และในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จึงมีการแห่พระด้วยเกวียน ดังนั้นจึงจัดการแห่พระด้วยเกวียนขึ้นในช่วงสงกรานต์ขึ้น ซึ่งแสดงออกถึงความรัก ความสามัคคี ความร่วมมือร่วมใจของประชาชน โดยใช้ประเพณีเป็นตัวประสานให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขรักษาความเป็นไทย และประเพณีท้องถิ่นไว้ สืบชั่วลูกชั่วหลาน (อาทิตย์ สุวรรณโชติ, 2561)
จุดเด่นของประเพณีสงกรานต์และแห่พระด้วยเกวียน ที่มีผลต่อชื่อเสียงหรือเศรษฐกิจในกำแพงเพชร[แก้ไข]
ประเพณีสงกรานต์ของประชาชนภายในเขตเทศบาลตำบลลานกระบือ อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร ที่จัดงานสงกรานต์สืบต่อกันมาจนเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นประจำทุกปี ซึ่งการจัดงานวันสงกรานต์จะมีลักษณะเด่นและแตกต่างจากที่อื่น ๆ ก็คือ ประเพณีการแห่พระ จะทำกันในวันที่ 15 เมษายนของทุกปี กิจกรรมประเพณีสงกรานต์ที่ประชาชนในเขตเทศบาลได้ปฏิบัติสืบทอดกันมา จากการสอบถามชาวบ้าน โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ ในอำเภอลานกระบือ สามารถนำข้อมูลมาสรุปได้ดังนี้ ก่อนวันสงกรานต์ (วันที่ 12 เมษายน) พี่ น้องและญาติ ที่ไปทำงานที่อื่น จะเดินทางกลับมาบ้าน เพื่อมาทำบุญร่วมกัน เป็นการพบปะสังสรรค์และเล่นสาดน้ำกันตามประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมา ในวันนี้มักจะเป็นการเตรียมความพร้อม เพื่อความเป็นสิริมงคลในการจะเริ่มต้นชีวิตวันขึ้นปีใหม่ไทยโบราณการเตรียมตัวในเรื่องต่าง ๆ เช่น การจัดเตรียมเสื้อผ้าซักรีดให้สะอาด การจัดทำอาหารไปทำบุญ ส่วนใหญ่จะเป็นขนมสำรับอาหารจะจัดเตรียมในช่วงเวลาเช้าของวันที่ 13 เมษายน วันที่ 13 - 15 เมษายน ช่วงเวลาเช้าทุกคนทุกครอบครัวยิ้มแย้มแจ่มใส จิตใจเบิกบาน พากันไปทำบุญตักบาตร นำอาหารไปถวายพระที่วัดแก้วสุริย์ฉาย ถือเป็นการสืบทอดและทำนุบำรุงพุทธศาสนา อีกทั้งช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้เป็นการรู้จักการให้ การเสียสละ โดยไม่มุ่งหวังสิ่งใดตอบแทน เมื่อทำบุญแล้วก็จะทำการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ หรือการทำบุญอัฐิ เป็นการแสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณหรือญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว มีบางคนนำสัตว์น้ำไปปล่อยในสระน้ำของวัด เป็นการทำบุญเพื่อแสดงความกรุณาต่อสัตว์ เช่น การปล่อยปลา ผู้ที่ปล่อยปลาจะต้องจัดหามาเองอาจจะซื้อจากตลาดสด หรือจับมาจากแอ่งและ หนองน้ำจากท้องทุ่งนาของตน ซึ่งในช่วงสงกรานต์เป็นหน้าแล้งอากาศร้อนจัด น้ำแห้งขอดปลาก็ตกคลัก (ตกคลัก หมายถึง ไม่มีที่ไปมีน้ำเหลืออยู่น้อยไม่สามารถไปที่อื่นได้) อีกไม่ช้าพอน้ำแห้งหมดปลาเหล่านั้น ก็จะต้องตาย ถ้าเป็นลูกปลาจะกินไม่ได้เนื้อได้หนังอะไรก็เลี้ยงไว้ในตุ่มเอาบุญ แล้วนำไปปล่อยในวันสงกรานต์ สำหรับผู้ที่ปล่อยเต่าหรือตะพาบ มีความเชื่อว่า หากปล่อยเต่าหรือตะพาบจะทำให้มีอายุจะยืนยาว จึงเกิดเป็นประเพณีปล่อยปลา และ ปล่อยนกด้วย วันที่ 15 เมษายน หลังจากทำบุญตักบาตรในช่วงเช้าเสร็จแล้ว เวลาประมาณ 09.00 น. ชาวบ้านในเขตเทศบาลตำบลลานกระบือ ประกอบด้วยบุคคลทุกเพศทุกวัย ต่างเดินทางไปรวมกันที่วัดแก้วสุริย์ฉาย ตำบลลานกระบือ เพื่อร่วมกิจกรรมการก่อเจดีย์ทราย มีทั้งผู้เชียร์ ผู้ชมและผู้เข้าแข่งขัน การแข่งขันมีเงินรางวัลจากสำนักงานเทศบาลตำบลลานกระบือเป็นเดิมพัน หลักเกณฑ์การแข่งขันกำหนดระยะเวลาแข่งขัน 1 ชั่วโมง โดยผู้เข้าร่วมแข่งขันแต่ละทีมจะต้องแต่งกายชุดพื้นบ้าน ผู้ชายสวมกางเกงขาก๊วย ผ้าขาวม้าคาดพุง ผู้หญิงนุ่งผ้าถุง เสื้อคอกระเช้า ดูแล้วสวยงาม แบบย้อนยุค อุปกรณ์ตกแต่งกองทรายประกอบด้วย พวงเต่ารั้ง ธง สายรุ้งหรืออุปกรณ์อื่นๆ เพื่อให้เกิดความสวยงาม คณะที่เข้าแข่งขันต้องเป็นผู้จัดเตรียมหามาเอง เมื่อถึงเวลาแข่งขันคณะกรรมการจะให้สัญญาณโดยเป่านกหวีด ผู้เข้าแข่งขันต่างวิ่งไปตักทรายมาก่อให้เป็นกอง และตกแต่งให้สวยงามตามแบบที่ทีมกำหนด สำหรับทรายที่นำมาก่อเจดีย์ สำนักงานเทศบาลตำบลลานกระบือเป็นหน่วยงานที่จัดเตรียมไว้ให้ ซึ่งต่างจากสมัยโบราณที่ทุกคนต้องไปจัดหาและนำทรายไปก่อเป็นเจดีย์ที่วัด คนสมัยก่อนส่วนใหญ่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ ในวัดดังนั้น เขาก็ถือว่าทรายอาจติดเท้าออกไป เมื่อถึงปีจึงควรจะขนทรายไปใช้คืน จุดประสงค์ก็คือ ให้พระภิกษุได้ใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างหรือใช้ถมพื้นต่อไป ปัจจุบันการก่อเจดีย์ อาจจะเหลือเพียงรูปแบบ จึงอาจจะปรับเปลี่ยนไปทำบุญในรูปแบบอื่นแทน ได้เวลาประมาณบ่ายโมงจะมีชาวบ้านในเขตเทศบาลตำบลลานกระบือแต่ละหมู่บ้าน มาพร้อมเพรียงกัน ณ บริเวณวัดแก้วสุริย์ฉาย ตำบลลานกระบือ ซึ่งชาวบ้านจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งจะจัดเตรียมอุปกรณ์ในการตกแต่งล้อเกวียนซึ่งจะจัดหามาเอง เช่น ก้านมะพร้าว ดอกไม้ ใบตอง ฯลฯ ประดับประดาให้เกิดความสวยงาม เพื่อนำไปใช้ในพิธีการแห่พระ ในวันที่ 16 เมษายน ส่วนที่สองจะแข่งขันกีฬา กีฬาในแต่ละปีจะไม่เหมือนกัน กล่าวคือ บางปีแข่งขันพื้นบ้าน เช่น วิ่งกระสอบ บางปีแข่งขันฟุตบอล หากเป็นการแข่งขันฟุตบอลจะแข่งขันที่สนามโรงเรียนอนุบาลลานกระบือ ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามเยืองวัดแก้วสุริย์ฉาย คณะที่ชนะการแข่งขันจะได้รับรางวัลจากสำนักงานเทศบาลตำบลลานกระบือ ซึ่งในแต่ละปีเงินรางวัลจะไม่เท่ากันภาคกลางคืนมีการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม เช่น การประกวดครอบครัวอบอุ่น ประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง ลิเก รำวงย้อนยุค ฯลฯ ซึ่งเป็นการส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมให้ลูกหลานในท้องถิ่นได้มีโอกาสชม และร่วมกันอนุรักษ์ให้คงอยู่สืบไป โดยสำนักงานเทศบาลตำบลลานกระบือได้ตั้งงบประมาณอุดหนุนกิจกรรมดังกล่าวไว้เพื่อดำเนินการเป็นประจำทุกปี วันที่ 16 เมษายน หลังจากทำบุญตักบาตรในช่วงเช้าเสร็จแล้ว เวลาประมาณ 09.00 น. ชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านในเขตเทศบาลตำบลลานกระบือ จะมารวมกันที่ขบวนล้อเกวียนของตนที่จัดตกแต่งไว้ ณ บริเวณวัดแก้วสุริย์ฉาย ตำบลลานกระบือ อีกครั้งหนึ่งวันนี้จะเป็นวันที่ทุกคนมีความสนุกสนานรื่นเริงกันเต็มที่ เนื่องจากเป็นวันสุดท้ายของประเพณีสงกรานต์ ผู้ที่มาร่วมขบวนแต่ละหมู่บ้านจะจัดเตรียมมโหรีบรรเลง เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน เช่น แคนวงประยุกต์ เครื่องขยายเสียงเปิดเพลงจังหวะเร้าใจ ทุกคนภายในบริเวณงานจะร้องรำ และเล่นสาดน้ำกันอย่าง มีความสุขจากนั้นก็จะเริ่มจัดขบวนเพื่อทำพิธีแห่พระ โดยจัดขบวนเรียงลำดับ ดังนี้ ขบวนแรก อัญเชิญพระพุทธรูป และรูปหล่อหลวงพ่อกลับ หลวงพ่อขำ ขึ้นไปประดิษฐานบนล้อเกวียน ซึ่งหลวงพ่อกลับ หลวงพ่อขำเป็นอดีตพระเกจิอาจารย์ที่ชาวอำเภอลานกระบือเคารพนับถือ ขบวนต่อมา เป็นล้อเกวียนที่แต่ละหมู่บ้านจัดตกแต่งไว้อย่างสวยงาม ด้านหน้าของล้อเกวียน แต่ละเล่มจะอัญเชิญพระพุทธรูป จำนวน 1 องค์ ขันน้ำมนต์ 3 ลูก พระภิกษุ สามเณร เล่มละ 4 - 5 รูป ก่อนออกจากวัดจะทำพิธีจุดธูปเทียน พร้อมด้วยดอกไม้ บูชาพระรัตนตรัย ทายกอาราธนาพระปริตร จากนั้นนิมนต์พระภิกษุสามเณรขึ้นล้อเกวียน สวดมนต์ให้พร พร้อมประพรมน้ำมนต์แก่ประชาชนที่มารอสรงน้ำพระ ระหว่างทางในแต่ละหมู่บ้านของเขตเทศบาลตำบลลานกระบือ จุดประสงค์เพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่ผู้เฒ่าผู้แก่หรือผู้ที่ไม่มีโอกาสเดินทางไปสรงน้ำพระที่วัด หลังจากเดินทางไปครบทุกหมู่บ้าน โดยพระภิกษุสงฆ์ สามเณรจะกลับมาฉันภัตตาหารเพลที่วัดแก้วสุริย์ฉายเวลาประมาณ 13.00 น. ประชาชนในเขตเทศบาลตำบลลานกระบือและหมู่บ้านใกล้เคียงมาร่วมสรงน้ำพระพุทธรูป รูปหล่อหลวงพ่อกลับ หลวงพ่อขำ และพระภิกษุ สามเณร พร้อมกับถวายสบงให้พระภิกษุ สามเณร เรียกว่า “ผ้าอาบน้ำฝน” เพื่อแสดงความเคารพต่อปูชนียบุคคลที่ดำรงสืบทอดพระพุทธศาสนา และเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวเมื่อเสร็จพิธีสรงน้ำพระแล้ว จะทำพิธีรดน้ำขอพรจากผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน เพื่อเป็นการแสดงความเคารพและความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ โดยเฉพาะผู้มีอาวุโสน้อยพึงปฏิบัติต่อผู้มีอาวุโสมากบางครอบครัวมีลูกหลานจำนวนมาก ก็จะทำพิธีรดน้ำขอพรพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย โดยจะมีเพื่อนบ้านมาร่วมงานด้วย ซึ่งลูกหลานจะมีอาหารเลี้ยงรับรองแขกผู้มาร่วมงาน มีการร้องรำ และแห่ไปรดน้ำขอพรผู้เฒ่าผู้แก่ที่ลูกหลานจัดให้ในบ้านอื่น ๆ ไป มีบางรายเมื่อเสร็จพิธีรดน้ำขอพรพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย บ้านสุดท้ายกลับบ้านตนเองไม่ถูก ต้องมีเพื่อนบ้านพาไปส่งถึงบ้าน (สันติ อภัยราช, 2550)
ภาพที่ 4 บรรยากาศประเพณีแห่พระด้วยเกวียน อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร
(ที่มา : อาทิตย์ สุวรรณโชติ, 2561)
สาระสำคัญที่ได้จากประเพณีการแห่พระอำเภอลานกระบือ เนื่องในประเพณีวันสงกรานต์[แก้ไข]
1. คุณค่าต่อสังคม เป็นกิจกรรมที่คนในท้องถิ่นได้มีโอกาสมารวมกัน ร่วมกันสืบสานประเพณีการแห่พระอำเภอลานกระบือ เนื่องในประเพณีวันสงกรานต์ซึ่งเคยปฏิบัติกันมาสืบต่อกันมา มีการทำงานร่วมกัน มีการช่วยเหลือและแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบ ก่อให้เกิดความรักความสามัคคีในหมู่คณะ ประกอบกับประเพณีสงกรานต์ เป็นการสืบทอดประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน มีความหมายและมีคุณค่าต่อสังคมเป็นอย่างดี เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก ในขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงของสังคม นำพาคุณค่าของวันสงกรานต์ให้ถอยห่างออกไปจากความดีงามแบบเดิม เราจึงควรหันกลับมาปกป้องความงดงามแห่งประเพณีนี้อย่างเข้มแข็งและจริงจัง และควรที่จะช่วยกันอนุรักษ์และสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของไทยอย่าให้เบี่ยงเบนจนไม่เหลือความงดงามและคุณค่าของวัฒนธรรมไทย 2. เป็นกิจกรรมที่ฟื้นฟู และอนุรักษ์ประเพณี อันมีลักษณะเด่นแตกต่างจากที่อื่น ๆ ให้คงอยู่เคียงคู่กับอำเภอลานกระบือสืบไป 3. คุณค่าต่อศาสนา กล่าวคือ พระพุทธรูป รูปหล่อพระสงฆ์ พระสงฆ์และสามเณร เป็นตัวแทน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพิธีการแห่พระ ประชาชนในท้องถิ่นในฐานะพุทธศาสนิกชน ได้มีโอกาสสรงน้ำพระ การทำบุญให้ทาน ซึ่งเป็นการเกื้อกูลสูงสุดของมนุษย์ชาติและการถือศีลปฏิบัติธรรม ซึ่งเป็นเหตุแห่งความเจริญรุ่งเรืองของชีวิต และสามารถสืบทอดพระพุทธศาสนามาได้จนถึงปัจจุบัน
แนวทางในการอนุรักษ์และส่งเสริมประเพณีสงกรานต์และประเพณีแห่พระด้วยเกวียน[แก้ไข]
ข้อควรปฏิบัติในวันสงกรานต์ ก่อนวันสงกรานต์ มักจะเป็นการเตรียมความพร้อม เพื่อความเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นชีวิตวันขึ้นปีใหม่ การเตรียมตัวในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำความสะอาด การจัดทำอาหารไปทำบุญจะทำให้เรารู้สึกสดชื่นมีความหวัง และรอคอยด้วยความสุข การได้ทำความสะอาดบ้าน ก็เหมือนการได้ฝึกชำระจิตใจล่วงหน้าไปในตัวช่วงวันสงกรานต์มาถึง จะเป็นเวลาที่ทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใส จิตใจเบิกบาน ซึ่งกิจกรรมควรปฏิบัติ ได้แก่ 1.ทำบุญตักบาตร 2.ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ หรือ การทำบุญอัฐิ 3.การสรงน้ำพระ 4.การปล่อยนก ปล่อยปลา 5.การก่อเจดีย์ทราย 6.การดน้ำขอพรผู้ใหญ่ 7.ส่งเสริมการละเล่นพื้นบ้าน 8.เล่นน้ำสงกรานต์อย่างสุภาพ สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติในวันสงกรานต์ ไม่ควรรดด้วยน้ำสกปรกหรือน้ำแข็ง ไม่ควรสาดหรือเล่นน้ำขณะที่ รถวิ่งหรือเล่นน้ำอย่างรุนแรง ไม่ควรลวนลามเพศตรงข้าม ไม่ควรเล่นด้วยแป้งหรือสี ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และไม่ใช้ท่อพีวีซีฉีดน้ำ ในส่วนของการอนุรักษ์และส่งเสริมประเพณีแห่พระด้วยเกวียน ควรมีการมีการประชาสัมพันธ์ ในพื้นที่และอำเภอใกล้เคียงเพิ่มขึ้น เนื่องจากยังคงเป็นประเพณีที่พึ่งนำกลับมาฟื้นฟู และเพิ่มกิจกรรมการแสดงเพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวและสามารถเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน
บทสรุป[แก้ไข]
ประเพณีแห่พระด้วยเกวียน เป็นประเพณีที่จัดในช่วงประเพณีสงกรานต์ ในอำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งมีมาอย่างยาวนานกว่า 300 ปี ที่สะท้อนวิถีชีวิตและความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และยังคงอนุรักษ์ความเป็นไทย อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ประเพณีสงกรานต์ควบคู่กันไปด้วย หากใครได้มีโอกาสแวะเยี่ยมชมจังหวัดกำแพงเพชร ก็ควรหาโอกาสมาร่วมงานประเพณีแห่พระด้วยเกวียน ซึ่งเป็นประเพณีที่เรียบง่ายและสะท้อนการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน